"อาและ" อาสาปลูกป่า ภูมิใจได้ทำงานสนองน้ำพระราชหฤทัย "สมเด็จย่า"


โครงการปลูกป่าถาวรฯ เฉลิมพระเกียรติ แปลงที่ 33 ดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ซึ่งได้ยึดแนวทางพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ที่ว่า “ปลูกป่าแก้จน ให้คนอยู่กับป่า” เพื่อฟื้นฟูป่าควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ จนเวลานี้ได้สัมผัสและเก็บเกี่ยวดอกผลที่งอกเงยจากป่าสมบูรณ์มาอุ้มชูเลี้ยงดูชีวิตตนเองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เป็นเวลากว่า 4 ปีแล้วที่ชาวบ้านกว่า ๗ พันชีวิตจาก ๑,๓๐๐ ครัวเรือนใน 18 หมู่บ้านของตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้เข้ามามีส่วนร่วมใน โครงการปลูกป่าถาวรฯ เฉลิมพระเกียรติ แปลงที่ ๓๓ ดำเนินการโดยมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในการสนับสนุนของธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ซึ่งได้ยึดแนวทางพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี “สมเด็จย่า” ที่ว่า “ปลูกป่าแก้จน ให้คนอยู่กับป่า” เพื่อฟื้นฟูป่าควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ จนเวลานี้ได้สัมผัสและเก็บเกี่ยวดอกผลที่งอกเงยจากป่าสมบูรณ์มาอุ้มชูเลี้ยงดูชีวิตตนเองเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ นอกจากโครงการฯ จะตั้งใจให้เกิดการฟื้นฟูป่าบนพื้นที่ ๑๔,๐๑๕ ไร่ของเทือกเขาป่าพญาไพรให้กลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้งแล้ว ที่สำคัญยังได้ดึง “การมีส่วนร่วมของชุมชนทุกภาคส่วนให้เข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการฟื้นฟูป่า” ซึ่งถือเป็นแหล่งต้นน้ำและแหล่งอาหารของชุมชน เป้าหมายก็เพื่อให้เกิดความรัก ความหวงแหน และความรู้สึกเป็นเจ้าของป่าที่ต้องช่วยกันถนอมใช้อย่างยั่งยืน แสดงออกทั้งในรูปแบบของการประชุมระดมความคิดเห็น และ การจัดตั้งอาสาสมัครปลูกป่า (อสป.) ที่นับได้ว่าเป็นต้นกล้าต้นแรกของการ “ปลูกคนให้รักป่า” โดยให้แต่ละหมู่บ้านได้เลือกตัวแทนเข้ามาทำงานเป็นตัวกลางในการประสานความเข้าใจและประสานความร่วมมือระหว่างชุมชนกับโครงการฯ อสป.นับได้ว่าเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนงานในโครงการปลูกป่าฯ ให้ประสบผลสำเร็จ

ในจำนวนตัวแทนชาวบ้านนี้เอง “อาและ อ่วยแม” ชาวอาข่าจากหมู่บ้านพญาไพรเล่ามา วัย ๓๘ ปี ที่วันนี้ก้าวมาเป็นเจ้าหน้าที่โครงการปลูกป่าฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลการปลูกชาน้ำมันของโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน มูลนิธิชัยพัฒนา อย่างเต็มตัว หนึ่งในผู้นำที่ถูกเลือกมาเป็น อสป.ในโครงการ ซึ่งตลอดระยะเวลาในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพลิกฟื้นคืนความสมบูรณ์ให้แก่เทือกเขาป่าพญาไพรนับเป็นช่วงเวลาที่เขามีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง

แรกเริ่มเดิมที อุปนิสัยส่วนตัวของอาและก็เป็นคนมีอัธยาศัยดี เสียสละ ชอบช่วยเหลือคนอื่นอยู่แล้ว โดยเป็นตัวแทนของครอบครัวช่วยงานชุมชนเสมอๆ เพราะทราบดีว่าคนเราหากจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุข ก็ต้องรู้จักการพึ่งพาอาศัยกัน อาและพูดให้ฟังว่า
“คนเราเกิดมาแล้วถ้าสามารถทำอะไรให้คนอื่นเขาได้ เราก็รู้สึกภูมิใจไปด้วย เพราะคนที่ยากจนกว่าเรายังมี คนที่ลำบากกว่าเราก็ยังมี”

ด้วยความตั้งใจดีนี้ทำให้ที่ผ่านมาอาและได้รับความไว้ใจจากชาวบ้านให้เป็นสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นานถึง ๗ ปี ประกอบความจัดเจนพูดได้ถึง ๔ ภาษา คือ ภาษาอาข่า ภาษาลาหู่ ภาษาจีน และภาษาไทย .....

เมื่อครั้งโครงการปลูกป่าฯ เข้ามายังพื้นที่เมื่อมิถุนายน ๒๕๔๘ อาและได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนชาวบ้านสังเกตการณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่โครงการฯ เนื่องจากชาวบ้านกลัวว่าพื้นที่ทำกินของพวกเขาจะถูกโครงการฯ ยึดเพื่อนำไปเป็นพื้นที่ปลูกป่า ทั้งยังเป็นตัวกลางประสานงาน ลดช่องว่างระหว่างภาษาให้กับเจ้าหน้าที่โครงการปลูกป่าฯ และคนพื้นที่ ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของคน ๒ กลุ่มนี้มาโดยตลอด......

อาและ อ่วยแม

ชาวบ้านช่วยกันถางวัชพืชออกจากโคน
กล้าไม้ในป่าอนุรักษ์ของโครงการฯ โดยมีค่าจ้างวันละ 100 บาท กลไกหนึ่งในการฟื้นฟูป่าแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะปลูกสำนึกความเป็นเจ้าของของป่าทีละน้อยๆ

อาและเล่าว่า ครั้งแรกเมื่อได้ยินว่าจะมีโครงการปลูกป่าฯ เข้ามาในพื้นที่ ชาวบ้านก็กังวลใจอยู่ไม่น้อย เพราะกลัวว่าโครงการปลูกป่าฯ จะทำให้พวกเขาไร้ที่ดินทำกิน “พอได้ยินว่าจะมีโครงการฯ เข้ามาปลูกป่า ผู้นำก็มาชี้แจงและระดมความคิดเห็นกันว่าชาวบ้านจะเห็นด้วยไหม แรกๆ ชาวบ้านไม่ยอม โต้แย้งกันระหว่างผู้อาวุโสในชุมชนและผู้นำทางการที่มาแจ้งข่าว ที่ชาวบ้านไม่ยอมเพราะกลัวจะเสียพื้นที่ทำกิน แต่ชาวบ้านจำนวนมากก็รู้มาจากญาติๆ ที่อยู่ดอยตุงดีว่า โครงการปลูกป่าฯ ที่ดอยตุง ทางโครงการฯ ไม่เอาเปรียบชาวบ้าน แต่ก็ยังไม่มั่นใจ เพราะไม่ทราบหลักการทำงานของโครงการฯ ชาวบ้านบางส่วนก็กลัวว่าเมื่อปลูกป่าหมดแล้วจะเอาพื้นที่ไหนทำมาหากิน”

ส่วนตัวอาและเองยอมรับว่าเวลานั้นก็มีความกังวลใจในตัวโครงการฯ อยู่เช่นกัน เป็นที่มาที่ทำให้เขาตัดสินใจวางมือจากหน้าที่การงานที่แปลงเกษตรของครอบครัวมาทำหน้าที่เป็นหูเป็นตาแทนชาวบ้านตลอด ๓ เดือนแรกของโครงการฯ ทั้งๆ ที่ไม่มีค่าตอบแทนใดๆ เพื่อดูว่า “โครงการฯ นี้เป็นของจริงหรือไม่ ทำงานกันจริงๆ หรือแค่มาดูแล้วทิ้งไปเหมือนกับโครงการอื่นๆ”

เมื่อเวลาผ่านไป ๓ เดือน ตัวอาและเองจึงมีความเชื่อมั่นในโครงการฯ มากขึ้น จากการที่โครงการฯ ได้ทำตามคำมั่นสัญญาว่าจะยึดหลัก ให้ความนับถือ เกรงใจ ไม่เอาเปรียบชาวบ้าน และนำเงื่อนไขของชาวบ้านมาเป็นแนวทางหลักของโครงการฯ อาและได้ขยับบทบาทจากผู้สังเกตการณ์มาเป็นอาสาสมัครปลูกป่าของหมู่บ้านและทำหน้าที่ของเขาอย่างขันแข็ง อย่างไรก็ดี การทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นในโครงการฯ ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อาและอธิบายต่อไปว่า แรกๆ ชาวบ้านครึ่งต่อครึ่งไม่เชื่อว่าโครงการฯ จะต้องการฟื้นฟูป่าอย่างจริงจัง หรือจะรับฟังปัญหาของชาวบ้านจริงๆ หรือไม่

อาและในหมวกของผู้สังเกตการณ์จึงทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ต้อง....

วางตัวให้เป็นกลางมากที่สุด ทั้งนำข่าวสารจากโครงการฯ ไปสื่อสารกับชาวบ้าน กับทั้งคอยชี้แปลงและให้ข้อมูลแปลงทำกินของชาวบ้านแก่เจ้าหน้าที่เพื่อการจัดสรรที่ดินทำกินใหม่ นอกพื้นที่ทำกินเดิมซึ่งอยู่ในพื้นที่วนอุทยานและเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญซึ่งควรอนุรักษ์ไว้ พร้อมกันนั้นอาและยังเป็นปากเสียงแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการถูกยึดพื้นที่ทำกิน

ติดแท็กบนกล้าไม้ที่ชาวบ้านนำไปปลูกเพื่อติดตาม
ความเจริญเติบโต

“มีอยู่คนหนึ่งไม่มีที่ทำกิน ต่อมาญาติให้ที่แปลงหนึ่งเพื่อปลูกชา กำลังได้ผล พอดีกับที่โครงการฯ เข้ามาและต้องย้ายที่ของเขาเพราะอยู่ต้นน้ำ ก็มีคนไปบอกเขาว่าที่ของเธอถูกยึดแล้ว ก็เสียใจร้องไห้เลย ไม่ยอมกินข้าว ๓ วัน ๔ วัน เราก็ไปช่วยพูดกับทางโครงการฯ ให้เขาเข้าใจความเป็นจริงที่ถูกต้อง โครงการก็จัดหาพื้นที่ให้ใหม่ และยอมให้เก็บผลผลิตชาต่อไปได้ จนกระทั่งพื้นที่ใหม่จะได้ผลผลิต แต่ทั้งนี้ก็ห้ามตัดไม้ในพื้นที่เดิมเพิ่มอีก” อาและเล่าให้ฟังอย่างน่าสนใจ เช่นเดียวกับพื้นที่ทำกินของชาวบ้านคนอื่นๆ ซึ่งอาและก็เอาใจใส่อาสาเป็นธุระให้ทุกคนจนมีหลักฐานพื้นที่ทำกินเป็นของตัวเอง

“เราฟังเสียงส่วนมาก เหตุผลของหลายฝ่าย และความคิดเห็นของผู้นำชุมชน เชื่อว่าเราทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว อย่างเรื่องการปลูกชาน้ำมัน ต่อไปชาน้ำมันจะเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ มาตอนนี้ ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ปลูกป่าพอใจที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ เพราะชาวบ้านในพื้นที่โครงการฯ มีพื้นที่ทำกินของตัวเองชัดเจนทุกคน”

แต่ในขณะที่ช่วยคนอื่น ตัวอาและเองกลับต้องเสียที่ดินกว่า ๓๐ ไร่ไปในครั้งนั้น เนื่องจากการสื่อข้อมูลที่คลาดเคลื่อนว่าทางโครงการฯ ต้องการให้เฉพาะผู้ปลูกไม้ผลเท่านั้นที่มีสิทธิ์ยืนยันที่ทำกินได้ แต่ตัวอาและเองมีแต่พื้นที่ปลูกไม้ล้มลุกอย่างข้าวและข้าวโพดจึงไม่ได้ยืนยันสิทธิ์ แม้ภายหลังอาและจะทราบข่าวสารที่ถูกต้อง แต่เขาก็ไม่คิด...

ทวงสิทธิ์เพราะเห็นว่าโครงการฯ ได้ผ่านขั้นตอนการจัดสรรที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว การทวงสิทธิ์ในตอนนี้อาจทำให้เกิดตัวอย่างที่ไม่ดีแก่ชาวบ้าน อาและเองจึงยินดีที่จะไม่ทำการใดๆ แม้จะเสียดายบ้าง แต่ก็ไม่ได้ติดใจอะไร และยังคงทำหน้าที่ของตนต่อไปอย่างมีความสุข เพราะมีหลักคิดว่าเขาในฐานะผู้ที่ชาวบ้านเชื่อมั่นจะต้องทำให้เขาดูก่อนเป็นคนแรก เมื่ออาและยอมย้ายพื้นที่ทำกินออกจากพื้นที่ต้นน้ำโดยไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง คนอื่นๆ ก็ทำตามโดยไม่รู้สึกตะขิดตะขวงใจ

หลังจากการดำเนินโครงการผ่านไปจนครบขวบปี ผืนป่าต้นน้ำและป่าอนุรักษ์เริ่มกลับฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มจากป่าเศรษฐกิจ ป่าใช้สอย และพื้นที่ทำกินที่จัดสรรโดยโครงการฯ เวลานี้ ชาวบ้านในตำบลเทอดไทยซึ่งเคยมีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนเพียง ๑ หมื่น ๘ พันบาท/ปีเมื่อตอนเริ่มโครงการ ก็เพิ่มสูงขึ้นเป็นเฉลี่ย ๔ หมื่นบาทต่อครัวเรือน เสียงสะท้อนความไม่พอใจก็หมดไป

ปัจจุบัน อาและได้เปลี่ยนหน้าที่จากการเป็นอาสาสมัครปลูกป่ามาเป็นเจ้าหน้าที่โครงการปลูกป่าฯ อย่างเต็มตัว มีหน้าที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านดูแลป่า พร้อมกันนั้นก็เตรียมพร้อมสำหรับหน้าที่ดูแลการปลูกชาน้ำมันของชาวบ้านในโครงการศึกษาและพัฒนาการปลูกชาน้ำมัน สิ่งที่เขาภูมิใจที่สุดของการได้ทำหน้าที่อาสาสมัครปลูกป่า และเจ้าหน้าที่โครงการปลูกป่าฯ ก็คือ การได้ช่วยเหลือชุมชน และได้ปฏิบัติงานสนองพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า

ป่าที่ฟื้นคืนความสมบูรณ์

“เมื่อก่อนนี้เราและชาวบ้านรู้จักแต่การทำลายป่า เมื่อป่าหมดเราก็อยู่ไม่ได้ หากไม่มีสมเด็จย่า ไม่มีโครงการปลูกป่าฯ หมู่บ้านก็คงไม่เจริญ โรคภัยไข้เจ็บก็ไม่หมดไป และป่าไม้ก็จะไม่เหลือ แต่ตอนนี้เราได้ทำงาน ได้ดูแลรักษาป่าจนฟื้นคืนกลับมา ๗๐-๘๐% แล้ว เมื่อโครงการฯ เข้ามา ชาวบ้านก็มีพื้นที่ทำกิน มีอาชีพยั่งยืน และมีน้ำกินน้ำใช้อะไรหมด นอกจากนั้นก็ทำให้ชาวบ้านได้เข้าใจ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของป่าไม้ ไม่ต้องเป็นห่วงแล้ว
จุดนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ”

ชาน้ำมันในแปลงทดลองปลูกของโครงการฯ

หน่อไม้ ผลิตผลที่งอกเงยจากป่าสมบูรณ์ที่ชาวบ้าน
สามารถนำไปประกอบอาหาร ลดรายจ่ายในครัวเรือนได้

ดาวน์โหลด

Source:http://www.scbfoundation.com/news_info_detail_th.php?cat_id=1&nid=364

หมายเลขบันทึก: 288781เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2015 14:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

การทำความดี

กว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าดีจริง

ไม่มีวัตถุประสงค์แอบแฝง

ต้องใช้เวลาและกำลังใจอย่างสูง

บอกกล่าวถึงต้นกล้าความดีอื่นๆด้วยว่าอย่าท้อนะจ๊ะ

มาชม

มาเชียร์

มาทักทายนะครับ

ขอบคุณค่ะ คุณจันทร์ยิ้ม..ความตั้งใจทำดีร่วมกัน คือรากฐานของแผ่นดินไทยนะคะ...

124 ขอยืมรูปนี้..เพื่อสะท้อนว่าผลของความพยายามทำสิ่งดีๆๆคือน้ำผึ้งที่หอมหวานค่ะ...

     ขอบคุณค่ะ อ.umi ..ขอให้มีความสุขค่ะ..

Sa404274_resize 

  • มาชื่นชมอาและและทีมงานของธนาคารที่สนับสนุนให้คนทำความดีครับ ตอนนี้ได้น้องตุ๊กตาเต็มเลยครับ ดีใจแทนเด็กๆๆครับ
  • ส่งน้องตุ๊กตาให้น้องตุ๊กแก
  • ขอบคุณพี่ใหญ่มากๆๆครับ

ยินดีด้วยนะคะ อ.ขจิตและกัลยาณมิตรที่จะไปให้ความสุขแก่น้องๆ ..พี่ใหญ่จะคอยอ่านเรื่องเล่าจากทุกคนค่ะ...

มาสวัสดี ตอนเย็น เจ้า กลับบ้าน ก่อนนะคะ

สวัสดีค่ะครูใหม่บ้าน น้ำจุน ป้าใหญ่ตามไปเอารูปพี่พอคนเก่ง ทำของเล่นน่ารัก มาไว้ที่นี่นะเจ้า...

255204

อ่านแล้ว  เกิดความภาคภูมิใจ จริงๆ ค่ะ 

ยังมีอีกหลายเรื่องราว ในเมืองไทย ของเรา ที่อยู่ตามมุมต่างๆ

ที่เรายังรู้ไม่หมด..... ขอเป็นกำลังใจ ให้กับทุก ๆโครงการ ... นะคะ

"สีหน้าและแววตา ของหนูน้อย ทั้ง 4 ท่าน ...กับของมีค่า ที่ถืออยู่ในมือ

ที่เข้าใจว่า คงจะเป็น "ผลงานนวัตกรรม ทรงคุณค่า" กับความสดชื่นของบรรยากาศริมน้ำ  .... อยากจะเข้าไปอยู่ด้วยในภาพจัง นะคะ.....

 

 ขอบคุณนะคะที่ให้ความสนใจและสนับสนุน จะได้ทะยอยนำมาเสนออีกค่ะ..

  • อันนี้ดีจริงครับ ร่วมกันระหว่างองค์กรพัฒนาเอกชน ได้แล้ว 
  • ยังสร้างความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับองค์กรพัฒนา ได้ด้วย  
  • แถมยังสร้างความร่วมมือระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน ได้อีก
  • สำคัญการเป็นผู้สนับสนุน ที่วางตัวสนับสนุนให้ทั้งองค์กรที่ทำงานและชาวบ้านทำงานได้อย่างมีความสุข 
  • เยี่ยมจริง  

ขอบคุณค่ะ คุณตาเหลิมที่สนับสนุนโครงการนี้..จะได้นำความคืบหน้ามาเล่าอย่างต่อเนื่องนะคะ...

375074_9760314_0 

สวัสดีค่ะพี่นงนาท

ในความชื่นชมคำคมนี้ค่ะ“คนเราเกิดมาแล้วถ้าสามารถทำอะไรให้คนอื่นเขาได้ เราก็รู้สึกภูมิใจไปด้วย เพราะคนที่ยากจนกว่าเรายังมี คนที่ลำบากกว่าเราก็ยังมี”
การเจ็บป่วยที่เป็น ทำให้ทราบว่า คนเป็นมากกว่าเราก็เยอะ จะมัวทุกข์อยู่ไย ขอบคุณเรื่องราวดี ๆ ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท