ใครเป็นใคร..บนถนนพลังเยาวชน พลังสังคม เพื่อการให้(๘)


เรื่องราวต่างๆ ทั้งที่เป็นปัญหาสาธารณะ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ดีงามของพี่น้องชาวมอแกลน แห่งบ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา บัดนี้ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของ “น้องหญิง” และพี่ๆ น้องๆ ในเครือข่าย ส่งผลให้ทุกวันนี้ สังคมภายนอกได้มีโอกาสรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนชาวเลแห่งนี้อย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน

 

 

 

 

น้องหญิง...ฉันคือ “ลูกเล” แห่งทับตะวัน

 

  นับเป็นเวลาเกือบ 5 ปี จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิพัดเข้าถล่มชายฝั่งทะเลอันดามัน ส่งผลให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก

 

         

 

   เหตุการณ์ดังกล่าวยังคงตราตรึงอยู่ในจิตใจของเธอเป็นอย่างดี เหมือนว่าเพิ่งผ่านช่วงเวลานั้นมาไม่นาน แต่ทว่า...เหตุการณ์ดังกล่าวกลับช่วยหล่อหลอมให้เด็กผู้หญิงคนหนึ่งเติบโตขึ้นเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมล้นด้วยพลังกระตือรือร้นในการต่อสู้เพื่อปกป้องวัฒนธรรมประเพณีของบรรพบุรุษ

  

    “อรวรรณ หาญทะเล” หรือ น้องหญิง วัย ๒๔ ปี เยาวชนชาวมอแกลน จากหมู่บ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา สะท้อนเรื่องราวกลุ่มชาติพันธุ์ของเธอผ่านประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ แม้ทุกวันนี้ต้องเผชิญกับ “ความเสี่ยง” ของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม แต่หลายกิจกรรมยังคงปฏิบัติสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

 

    น้องหญิงเล่าให้ฟังถึงความรู้พื้นบ้านด้านช่างฝีมือที่สอดแทรกในชีวิตประจำวันของชาวมอแกลน ว่า

 

     “แต่ดั้งเดิมบ้านของพวกเราสร้างโดยไม่ใช้ตะปูสักตัว ส่วนฝาก็ใช้ไม้ไผ่ขัดแตะ วัสดุส่วนใหญ่หาได้ง่ายในท้องถิ่น นอกจากนี้ยังมีเครื่องดนตรีหลายชนิด อาทิ เครื่องดนตรีประเภทสี เรียกว่า “ก่าติ้ง” ส่วนในด้านความเชื่อ ชาวมอแกลนมีพิธีไหว้พ่อตาสามพัน พิธีดังกล่าวจะเป็นงานรวมญาติเพื่อทำบุญสะเดาะเคราะห์”

 

 

    หากแต่ในอดีต แม้ว่าน้องหญิงจะมีสัญชาติไทย แต่ชีวิตของเธอต้องฝ่าฟันอคติเชิงชาติพันธุ์จากคนที่ไม่มีความเข้าใจในวัฒนธรรมชาวเล วันนั้นเธอเดินเท้าไปโรงเรียนกับเพื่อนๆ แต่เมื่อมีรถวิ่งผ่านไป เธอและเพื่อนๆกลับถูกเด็กบนรถขว้างปาด้วยก้อนหิน และน้ำแข็งปาใส่พวกเธอ พร้อมเสียงหัวเราะและคำเย้ยหยันว่า “ไอ้ลูกชาวเล” น้องหญิงเล่าว่า

 

       

 

“วันนั้นรู้สึกเสียใจมากจนร้องไห้ ไม่อยากไปโรงเรียนอีกต่อไปแล้ว เราเป็นลูกชาวเลแล้วผิดอะไร เราก็เป็นคนเหมือนกัน” แต่สุดท้ายเธอตระหนักได้ว่า การศึกษาจะเป็นตัวช่วยในชีวิตของเธอสามารถผ่านปัญหาและอุปสรรคต่างๆเหล่านั้นไปได้

 

ณ วันนี้ น้องหญิงจบจากการศึกษานอกโรงเรียน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖และกำลังวางแผนจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัย พร้อมกับสานต่องาน “เครือข่ายเยาวชนรักและฟื้นฟูชายฝั่งอันดามัน จังหวัดพังงา” ต่อไป

 

   เมื่อเธอย้อนภาพไปในช่วงหลังเหตุการณ์สึนามิในปี พ.ศ.๒๕๔๗ หมู่บ้านทับตะวันต้องประสบชะตากรรมจาก “คลื่นยักษ์ลูกที่สอง” ที่ถาโถมเข้าใส่พวกเขาอีกครั้ง แต่ภัยครั้งนี้ มิได้เกิดจากธรรมชาติ หากเป็นการบุกรุกที่ดินของกลุ่มนายทุน และกลุ่มผู้ที่ต้องการเข้ามายึดครองที่ดินที่ชาวบ้านทับตะวันอยู่อาศัยมาตั้งแต่บรรพบุรุษกว่าร้อยปี

    ปัญหาดังกล่าวทำให้น้องหญิงและพี่น้องแห่งบ้านทับตะวันต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อรักษาไว้ซึ่งสิทธิในที่ดินของตนเอง รวมถึงการปกป้องและเร่งฟื้นฟูวิถีวัฒนธรรมชาวเลให้คงอยู่ น้องหญิงเล่าย้อนถึงที่มาของเครือข่ายเยาวชนฯให้ฟังว่า

 

“ปี ๒๕๕๐ ตอนที่ผู้ใหญ่เขาคุยปัญหาต่างๆกัน เราก็อยู่ด้วย ทำให้เริ่มคิดกันว่าเยาวชนก็น่าจะทำอะไรได้เหมือนกัน เลยมีการชักชวนเยาวชนชาวเล จาก ๖ จังหวัดที่ประสบภัยสึนามิ มี พังงา ภูเก็ต กระบี่ สตูล ระนอง และตรัง ไปจัดค่ายกันที่เกาะลันตา กระบี่ แต่มาจริงแค่ ๓ จังหวัด พังงา ภูเก็ต กระบี่ เพราะบางกลุ่มมีปัญหาเรื่องการเดินทางมาลำบากเพราะอยู่ที่เกาะ ก็เลยเกิดเครือข่ายเยาวชนรักและฟื้นฟูชายฝั่งอันดามันขึ้น

 

                   

 

     ช่วงแรกๆ น้องหญิงและเพื่อนๆ ถูกท้าทายด้วยความเห็นต่างของผู้ใหญ่ทั้งจากในชุมชน และ เอ็นจีโอ ว่าพวกเธอไม่น่าจะสร้างเครือข่ายได้ แต่สุดท้ายน้องหญิงในบทบาทของ ผู้ประสานงาน” ก็พยายามพิสูจน์ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่เยาวชนอย่างพวกเธอก็สามารถช่วยแบ่งเบาปัญหาของผู้ใหญ่ได้ และได้รับการยอมรับในที่สุด

 

  แม้ว่าในปัจจุบัน เครือข่ายฯทั้ง ๖ จังหวัดยังไม่ชัดเจนนัก เธอจึงสานต่อกิจกรรมต่างๆในนาม “เครือข่ายเยาวชนรักและฟื้นฟูชายฝั่งอันดามัน จังหวัดพังงา” โดยมีสมาชิกชุมชนละประมาณ ๑๒ คน จาก ๒๓ ชุมชน

 

   กิจกรรมของเครือข่ายฯที่ผ่านมา คือพยายามสื่อสารปัญหาต่างๆของชาวบ้านผ่านช่องทางนักข่าวพลเมือง ช่อง ThaiPBS ไปจนถึงพื้นที่อื่นๆ เช่น ช่อง ๙นอกจากนี้ยังมีความพยายามที่จะสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆที่เป็นประโยชน์แก่ท้องถิ่น เช่น

   -- การจัดตั้งธนาคารขยะ

   -- การเปิดร้านค้าชุมชน

   --สอนการสกรีนเสื้อให้กับเด็กๆ 

  เพื่อส่งเสริมให้น้องๆ ได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมทั้งสร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ ให้กับเยาวชนอีกด้วย

 

    ปัญหาที่เธอและน้องๆกำลังเผชิญตอนนี้ คือ เงินทุนที่จะมาดำเนินการกิจกรรมต่างๆนั้นยังต้องรอการสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ

 

    สิ่งที่น้องหญิงสื่อสารกับเพื่อนๆและน้องๆคือ..

    -- คอยให้กำลังใจในการสานต่อกิจกรรมต่างๆ

    -- สร้างแนวคิดใหม่ที่ให้ตั้งต้นจากการออมของเครือข่าย

    --สะสมทุนเองพร้อมๆกับการสร้างสรรค์กิจกรรมไปทีละเล็กละน้อย ซึ่งเธอมองว่านี่คือสิ่งที่ยั่งยืนกว่า

 

  ทุกวันนี้ น้องหญิงและเพื่อนๆ พี่น้องในเครือข่ายยังคงพยายามสร้างความภาคภูมิใจให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่นับวันจะพากันละทิ้งรากเหง้าของตนเอง เนื่องจากอคติในสังคม

  ที่ผ่านมา น้องหญิงและเพื่อนๆมีการรวมกลุ่มเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรม เริ่มจากการเก็บข้อมูลประวัติชุมชน ประเพณี วัฒนธรรมและความรู้พื้นบ้าน และนับเป็นอีกก้าวหนึ่งของความสำเร็จของชุมชนบ้านทับตะวัน

    ในปัจจุบันนี้ “ศูนย์วัฒนธรรมมอแกลน” ได้ก่อตั้งขึ้น คอยทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวและสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับชาวมอแกลนให้กับคนภายนอกได้รับรู้ แต่ที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ศูนย์วัฒนธรรมฯดังกล่าวยังทำหน้าที่เป็นแหล่งเรียนรู้ชีวิตให้กับเยาวชนมอแกลนรุ่นใหม่ให้เข้าใจในรากเหง้าของพวกเขาได้เป็นอย่างดีที่สุด

 

    น้องหญิงและเพื่อนๆกำลังสืบค้นและรวบรวมประวัติและข้อมูลของชุมชนชาวเล ภูมิปัญญา ตลอดจนภาษาวัฒนธรรม มีการรวบรวมเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ โดยระหว่างเก็บข้อมูลน้องหญิงและเพื่อนๆก็ได้พบข้อเท็จจริงที่ว่าในชุมชนกว่า ๒๐๐ ครอบครัวนั้น มีเพียง ๕๐ กว่าครอบครัวที่ยังพูดภาษามอแกลนได้ คือสิ่งที่ทำให้น้องหญิงยิ่งเห็นความสำคัญต่อการสืบสานรากเหง้าของตนเองก่อนที่จะสูญหายไป ด้วยความมุ่งมั่นว่าข้อมูลที่ได้ทุ่มเทครั้งนี้จะสร้างความเข้าใจต่อชุมชนชาวเล ยอมรับการมีอยู่ของพวกเขา และมากไปกว่านั้นข้อมูลชุมนี้อาจจะได้ส่งมอบให้รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาชาวเลต่อไปเพื่อสนับสนุนให้การแก้ไขปัญหาต่างๆเกิดขึ้นจริง

 

     อย่างไรก็ตามภายใต้การก้าวเดินอย่างต่อเนื่อง เครือข่ายฯมีผู้ใหญ่ใจดีที่คอยสนับสนุน เช่น

   -- โครงการนำร่องอันดามัน แห่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาต่อการทำงานเก็บรวมรวมข้อมูล ไปจนถึงการทำงานของเครือข่าย

  -- สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนที่ช่วยสนับสนุนในด้านงบประมาณ ตลอดจนให้คำแนะนำต่อการหางบประมาณมาดำเนินกิจกรรมต่างๆ

 

   เรื่องราวต่างๆ ทั้งที่เป็นปัญหาสาธารณะ วัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ดีงามของพี่น้องชาวมอแกลน แห่งบ้านทับตะวัน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา บัดนี้ถูกถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของ “น้องหญิง” และพี่ๆ น้องๆ ในเครือข่าย ส่งผลให้ทุกวันนี้ สังคมภายนอกได้มีโอกาสรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นกับชุมชนชาวเลแห่งนี้อย่างที่ไม่เคยรู้มาก่อน

 

“ทุกวันนี้พวกเราสามารถพูดได้เต็มปากแล้วว่า พวกเราเป็นชาวเล เป็นมอแกลน” น้องหญิงกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างภูมิใจในรากเหง้าของตัวเธอเอง

 

ศูนย์วัฒนธรรมทับตะวัน หมู่ ๗ บ้านบางสักใต้ ตำบลบางม่วง อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ๘๒๐๐๐

 

น้องหญิง -คนไร้รัฐ / โซน ๕

ที่มา: "หนังสือร้อยพลังเยาวชน..พลังสังคม..ร่วมสร้างประเทศไทยด้วยการให้" ของโครงการมหกรรมพลังเยาวชน พลังสังคม ร่วมสร้างประเทศไทยด้วยการให้" ตุลาคม ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 308618เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2009 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (25)

มาชม

ย้อนรำลึกถึงคนที่พบภัยทางธรรมชาตินี้...

ขอบคุณ อ.Umi แทนพี่น้องชาวเล  ที่มาเยี่ยมอ่านค่ะ..

สวัสดีครับอาจารย์ ขอเป็นกำลังใจให้กับน้องหญิง เครือข่ายเยาวชนของพังงา ขอบพระคุณเรื่องราวดีๆจากอาจารย์  ครับ

ขอบคุณค่ะ คุณหนุ่มกร~natadee ที่มาเยี่ยมให้กำลังใจน้องหญิงของพวกเรา..

  • มาชื่นชมน้องหญิงและคุณนงนาทค่ะ
    ที่มาช่วยกันเรียงร้อยภาษาสู่ถนนสายวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างงดงาม
  • เป็นกำลังใจให้เสมอค่ะ
  • มาเชียร์น้องหญิงและทีมงานของพี่ใหญ่ครับ
  • เป็นพลังที่ดีงามมากๆๆ
  • ขอให้น้องหญิงประสบผลสำเร็จครับ

ขอบคุณ คุณธรรมทิพย์ ที่มาเยี่ยมให้กำลังใจน้องหญิงและเพื่อนๆชาวเล ค่ะ ขอยืมภาพดาราพราวบนท้องฟ้ามาประดับไว้ที่นี่นะคะ..

  

ขอบคุณ อ.ขจิต ที่มาเชียร์น้องหญิงและทีมงานชาวเลค่ะ..โครงการต่อยอดงานเหล่านี้ ยังทำอย่างต่อเนื่องค่ะ..ขอนำสวนผักเขียวๆมาประดับไว้ที่นี่นะคะ..

ขอบคุณเรื่องราวดีที่นำมาบอกเล่าให้ทราบ ชื่นชมทีมงาน

ของเป็นกำลังใจให้น้องหญิงและทีมงานของพี่ใหญ่นะคะ

สวัสดีค่ะคุณป้าใหญ่

ถ้ามีคนใดคนหนึ่งคิดโครงการดี ๆ แล้วหนูว่าจะต้องมีคนร่วมมือและช่วยกันส่งเสริมนะคะ  อย่างพี่หญิงหากไม่มีหน่วยงานของป้าใหญ่ไปเจอ  พี่เขาก็คงจะเพียงแต่ได้คิดลงมือทำแล้วก็ทำไม่ไหว  พี่หญิงเขาโชคดีค่ะ

ขอบคุณค่ะ ครูอรวรรณ สำหรัยกำลังใจต่อน้องหญิงและเพื่อนๆชาวเล..พี่ใหญ่ขอเก็บภาพครอบครัวน่าร้กไปเที่ยวลาว มาประดับไว้ที่นี่นะคะ..

น้องนัทจ๋า..ในการทำความดีนั้น..อย่างพี่หญิงข้างต้น คือตัวอย่างของการเริ่มคิดดีก่อน แล้วลงมือทำเองจากจุดเล็กๆ..ป้าใหญ่เคยลงไปเยี่ยมพูดคุยด้วยที่ทับตะวัน เห็นความมีศรัทธาที่มุ่งมั่นอย่างแรงกล้า..ผู้ใหญ่ทั้งหลายเพียงเข้าไปเติมต่อยอด เพื่อให้เกิดการขยายผลต่อไป..จุดเริ่มต้นสำคัญที่สุด..เพื่อนำไปสู่ปลายทางที่สดใสและยั่งยืน..

สวัสดีคะคุณป้าใหญ่คะ

ที่โรงเรียนของหนูมีกิจกรรมการเรียนการสอนจิตสาธารณะมาตั้งหนูอยู่ชั้น ป.3 ค่ะ  ทุกวันนี้คุณครูบอกว่ากระทรวงให้ทุกโรงเรียนสอน  แต่โรงเรียนของหนูก็ถูกมองผ่าน  เพราะคุณครูเขาคุยกันว่าพวกเราไม่มีพรรคพวก  ไม่มีคนเหลียวแลค่ะ

น่าสนใจมากที่น้องนัทถ่ายทอดเกี่ยวกับ "จิตอาสา" ว่า ..

  "แต่โรงเรียนของหนูก็ถูกมองผ่าน  เพราะคุณครูเขาคุยกันว่าพวกเราไม่มีพรรคพวก  ไม่มีคนเหลียวแลค่ะ"

ป้าใหญ่อยากให้กำลังใจรร.ของน้องนัท ให้เดินหน้า "จิตอาสา" ต่อไปตามศรัทธาและกำลังของตนเอง..ความดีที่เราทำไปนั้น ไม่ต้องคำนึงว่าต้องมีพรรคพวก หรือคนเหลียวแล..การเป็นผู้ให้ มีความยิ่งใหญ่อยู่ในตัวเองแล้ว..เราไม่ต้องไปเปรียบเทียบแข่งขันกับใครทั้งสิ้น..

อยากให้น้องนัทหาเวลาว่างไปอ่านที่ blog ครั้งก่อนๆ ที่ป้าใหญ่เล่าไว้เกี่ยวกับเพื่อนๆ "จิตอาสา"..มีกิจกรรมเล็กๆแค่ทำลูกโป่ง..เล่านิทาน ให้น้องผู้ป่วยในโรงพยาบาล ก็เป็นความภูมิใจแล้ว ที่เห็นรอยยิ้มอย่างมีความสุขของน้องๆ..

 

 

 

  • สวัสดีค่ะคุณนงนาท
  • ตามมาขอบคุณที่แวะไปเยี่ยมเยียน ร่วมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณพระปิยะมหาราช
  • ชื่นชม และให้กำลังใจน้องหญิง และครูนงนาท ที่ได้เผยแพร่เรื่องราวของผู้ที่ไดรับผลกระทบจากสึนามิ
  • เป็นประสบการณ์ที่ดีเยี่ยม ครั้งหนึ่งเมื่อได้รับชมภาพเหตุการณ์ สึนามิ ซึ่งท่านอัยการชาวเกาะและคณะจัดให้มีอาหมอเด้วยค่ะ
  • เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีประโยชน์มาก และทรงคุณค่าจริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะพี่นงนาท

มาให้กำลังใจเด็กใต้ ชายเล ตะกั่วป่า กับการสานต่อกิจกรรม “เครือข่ายเยาวชนรักและฟื้นฟูชายฝั่งอันดามัน จังหวัดพังงา”...มีความสุขกับการทำงานนะคะพี่

P ขอบคุณ คุณเอื้องแซะ ที่แวะมาให้กำลังใจน้องหญิงและเพื่อนค่ะ

Pขอบคุณน้อง Vij ที่มาเยี่ยมให้กำลังใจจิตอาสาชาวเลของเราค่ะ

วันนี้หญิงมีโอกาศได้ดูเมล์และเห็นตัวเองอยู่ในอินเตอร์ขอขอบคุณทุกคนมากที่ให้กำลังใจกันตลอดมาไม่ว่าหญิงจะเจออุปสรรคมากมายขนานไหนหญิงจะเอากำลังจากทุกคนมาเป็นแรงสู้ต่อไปค่ะ จาก หญิงลูกชาวเลคนนี้

หญิงขอรบกวนทุกคนช่วยหน่านะค่ะ คือพอมีหน่วยงานไหนที่ให้การสนัสนุนส่งเสริมด้านประเพณีวัฒนธรรม ภาษาชาวเล บ้างค่ะ ณ.ปัจจุบันเยาวชนชาวเลพูดภาษาตังเองไม่ได้ แต่มีทีมเยาวชนชาวเลและเครือข่ายชาติพันธ์ชาวเลมีการฟื้นฟูวัฒนธรรมตัวเองแต่ขาดการสนับสนุนและส่งเสริมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าใครทราบช่วยให้ข้อมูลหญิงด้วยนะค่ะ อีเมล์หญิง orawan1909 @hotmail.com ขอขอบคุณเป็นอย่างสูง

นางสาวนงนุช ของกิ่ง

ขอให้ทุกคนอย่าสิ้นหวังและมีกำลังใจที่จะก้าวเดินต่อไปในวันข้างหน้า ครอบครัวของเราก็อยู่ได้ด้วยกำลังใจ

สวัสดีครับ นาง นงนาท สนธิสุวรรณ

  • พาหลานม่อนมาเยี่ยมชื่นชม และให้กำลังใจพี่หญิง
  • และเป็นกำลังใจให้คุณยายนงนาทด้วยครับ
  • ด้วยความระลึกถึง

หญิงมอแกลนทับตะวัน

หญิงมอแกลนทับตะวัน

             ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจหญิงเรื่อยมา ตอนนี้หญิงยังคงฟื้นฟูวัฒนธรรมแกลน  และงานที่มากกว่านี้คือเรื่องการสืบค้นประวัติศาศตร์มอแกลน  เพราะมอแกลนปกปิดเรื่องราวตัวเองมากว่า400ปี แล้ว เป็นเรื่องที่ยากมากที่ผู้เฒ่าจะเล่าถึงประวัติตัวเอง แค่บอกว่า  พ่อตาสามพันบรรพบุรุษคนมอแกลน ทำให้พวกเรายังคงมีชีวิตถึงทุกวันนี้ และ  'ลูกหลานอ๋อบ้านเกิดเมืองนอนของเราอยู่นคร'  แต่ห้ามบอกกับคนอื่น นะว่าพวกเราเป็นมอแกลนไม่นั้นจะถูกฆ่าตายเจ็ดชั่วโคต

ท่านผอ.ประจักษ์../น้องหญิง../น้องนงนุช

* ขอบคุณค่ะที่เข้ามาแวะทักทายที่บันทึกนี้..

* ดีใจแทนน้องหญิงด้วยค่ะ ที่มีผู้ให้ความสนใจเรื่องราวดีๆเช่นนี้..และเป็นกำลังใจในการทำงานอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวแกลนค่ะ..

ขอเป็นกำลังใจให้น้องหญิงค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท