ลักษณะะบุรุษโทษ ๑๘ ประการ


อธิบายบุรุษโทษ ๑๘ ประการ คือ

 

๑.     พลังกปาทะ              เท้าทั้งสองข้างใหญ่และคด

๒.   อัทธนขะ                     เล็บทั้งหมดกุด

๓.   โอพัทธปิณฑิกะ          ปลีน่องทู่ ยานลงภายใต้

๔.   ทีโฆตตโรฏฐะ             ริมฝีปากยาวปิดริมฝีปากล่าง

๕.   จปละ                         น้ำลายไหลออกยืดทั้งสองแก้ม

๖.   กฬาระ                        เขี้ยวงอกออกพ้นปากเหมือนเขี้ยวหมู

๗.  ภัคคนาสกะ                  จมูกหักฟุบดูน่าชัง

๘.   กุมโภทระ                    ท้องป่องเป็นกระเปาะดั่งหม้อใหญ่

๙.   ภัคคปิฏฐิ                      สันหลังหักไหล่หักค่อนคดโก่ง

๑๐. วิสมจักษุ                       ตาถลนลึกทรลักษณ์ ข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งใหญ่ไม่

                                         เสมอกัน

๑๑.โลหมัสสุ                        หนวดเครามีพรรณดั่งลวดทองแดง

๑๒. หริตเกสะ                      ผมโหรงเหลืองดั่งสีลาน

๑๓. วลีนะ                            ตามตัวสะครานคร่ำด้วยแถวเอ็นนูนเกะกะ

๑๔. ติลกาหกะ                     มีต่อมแมลงวันและตกกระดั่งโรยงา

๑๕. ปิงคละ                         ลูกตาเหลือก เหล่ เหลือง ดั่งตาแมว

๑๖. วินตะ                           ร่างกายคดค้อมในที่ทั้งสาม คือ คอ หลัง สะเอว

๑๗. วิกฏะ                           เท้าทั้งสองเหหันห่างเกะกะ

๑๘. พรหาขระ                     ขนตามตัวยาวหยาบดั่งแปงหมู

 

   

     ท่านว่าลักษณะเหล่านี้มีอยู่ในชูชก และชูชกเองก็รูปร่างอัปลักษณ์  แต่ภรรยาคนที่สอง กลับเป็นสาวสวย ชื่อว่านางอมิตตา   จะด้วยบุพพกรรมอะไรของชูชกก็ไม่ทราบได้   และเหตุที่อมิตตาได้สามีเป็นชูชกทั้ง ๆ ที่ตนเองก็ยังสวยสาว ก็เพราะในอดีตนางคนนี้ได้ถวายดอกบัวเหี่ยวเฉาแก่พระ   ด้วยอำนาจบุพพกรรมอันนั้นจึงส่งผลดังกล่าว   ดังคำกลอนที่อาจารย์บานเย็น ลิ้มสวัสดิ์ ว่าไว้ว่า...

           

        ท่านยกเหตุเทศน์เมื่อคราวก่อน            แม่บังอรมีจิตคิดเลื่อมใส

    เอาบัวโหยโรยร่วงพวงมาลัย                    บูชาให้แก่พระเป็นประเดิม

    ภายหลังเจ้าเอาประทุมที่ตูมสวย               บูชาด้วยบรรจงจิตคิดส่งเสริม

   ผลบัวโรยโหยซ้ำกระหน่ำเติม                   ได้ผัวเริ่มแรกปะเหลือชรา

   ทั้งรูปชั่วตัวดำซ้ำยากเข็ญ                       ผู้ใดเห็นต้องหลบไม่คบหา

   ผลปทุมตูมดีมีราคา                                ภายหลังมาได้หนุ่มชุ่มฤดี

   พิเคราะห์ดูดูไปมิใคร่เหมาะ                      นางทำเพราะใจสะอาดประสาทศรี

  ได้อย่างไรก็ทำไปให้ตามมี                        มิใช่ชี้เจตนาว่าเลวทราม

  ครั้นทำไปได้ผลแก่ตนชั่ว                          คนก็กลัวเลิกทำซ้ำเหยียดหยาม

   ที่แก้ไว้ใช่ว่าจะพางาม                             ขอฝากความตอนนี้ให้พิจารณ์

 

โทษอัปปรีย์อัฏฐารส (บุรุษโทษ ๑๘ ประการ)

 

เท้าทั้งสองมองดูใหญ่ทู่คด                     เล็บดำหมดเน่าหมองน้ำหนองไหล

ทั้งปลีน่องของเฒ่าผิดเค้าไกล                อุปไมยกระติกย้อยพลอยระทม

ริมฝีปากฟากบนหล่นระย้า                     ปิดโอษฐาเบื้องล่างช่างไม่สม

ยามจะปล่อยถ้อยคำพร่ำคารม                น้ำลายถ่มไหลมาไม่น่าดู

อีกเขี้ยวฟันดั้นด้นมาพ้นปาก                  ประหลาดหลากแลเหลียวดังเขี้ยวหมู

จมูกฟุบยุบชิดหักปิดรู                           แสนอุดอู้อื้ออ้าไม่น่าเชย

ดูพุงเพาะกระเปาะตั้งดังหม้อใหญ่            หรือเท่าไหประหลาดอนาจเหวย

สันหลังโค้งโก่งกงไม่ตรงเลย                  ออเฒ่าเอ๋ยรักใครจะได้ปอง

ตาเหลือเหล่เซเซาไม่เท่าคู่                     ใหญ่เล็กดูแปลกไพล่ไปทั้งสอง

ดูผู้ใดไพล่พล้ำผิดทำนอง                      หนวดเคราของคุณตาก็น่ากลัว

เหมือนทองแดงแข็งกล้าน่าขืนข่ม           จะพิศผมเผ้าเรืองเหลืองสลัว

เอ็นใหญ่น้อยพร้อยพรั่งไปทั้งตัว             หม่นมองมัวมูลแห่งแมลงวัน

เป็นหย่อมย้ายปรายโปรยโรยงาทั่ว          ลูกตามัวพิลึกให้นึกขัน

ราววกับว่าตาแมวไม่แคล้วกัน                  รูปกายนั้นค้อมคดหักหดพัง

คอสะเอวเลวทรามไม่งามงด                   โค้งเคี้ยวคดคู้ค้อมพร้อมด้วยหลัง

เหมือนผีแกล้งแต่งปั้นมันประดัง              น่าเกลียดชังสมเพชทุเรศตา

ในที่ต่อข้อกระดูกไม่ถูกที่                       ห่างกันนี่ผิดหลักขำหนักหนา

ยามเยื้องย่างครางเสียงสำเนียงมา          พะเผาะพะผะผ่าไม่น่าฟัง

จะดูขนยลแข็งดังแปรงหมู                      หากถูกถูทิ่มแทงคงแหนงหนัง

ตัวสูงเกินเดินโย่งผังโผงดัง                     คล้ายเปรตชั่งผิดคนก่นระทม

ใครได้เห็นเป็นทักว่ายักษ์เปรต                 แสนทุเรศสกปรกรกหมักหมม

ใจก็บาปหยาบช้าทั้งคารม                       สมาคมคบค้าจะกาลี

โทษเหล่านี้มีอยู่ในชูชก                          ชาตาตกชี้ชัดน่าบัดสี

สุดอาภัพอัปลักษณ์หมักราคี                    ถ้าใครมีเป็นกรรมที่ทำมา

ถึงกัญญานารีไมตรีรัก                            ร่วมสมัครกาเมสิเนหา

เป็นกาลีมีโทษโหดเหลือตรา                    ไม่ควรกล้าเชิดชูเป็นคู่เชย

             

 

     (หนังสือเล่มที่อ้างคำกลอนของอาจารย์   บานเย็น   ลิ้มสวัสดิ์   นี้เก่ามาก   เปิดแรงไม่ได้ขาดง่ายมาก   แต่สภาพหนังสือยังสมบูรณ์ดีทุกอย่าง   ต้องถนอมอย่างมาก   ได้มาจากเจ้าประคุณสมเด็จพระมหาวีรวงศ์   วัดสัมพันธวงศาราม  พระนครฯ   ชื่อหนังสือ ”มหาชาติคำกลอน”  พิมพ์ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดการพิมพ์พระนคร   ๙๒-๙๔ ถนนบุญศิริ   พระนคร   นายบุญธรรม   สุนทรวาที   ผู้พิมพ์และผู้โฆษณา  ๒๕๑๓ .....  ส่วนลักษณะบุรุษโทษ  ๑๘  ประการ   ที่เป็นภาษาบาลีนั้น   อ้างอิงมาจากหนังสือที่ระลึก   งานพระราชทานเพลิงศพ   พระครูคัมภีร์ศีลคุณ   อดีตเจ้าอาวาสวัดสระทอง บ้านผักกาดหญ้า)

 

 

     สำหรับลักษณะบุรุษโทษ  ๑๘  ประการ  มีในผู้หญิงมั้ย  ไม่สามารถระบุลงไปได้ชัดเจนต้องค้นดูหลักฐานให้แน่ชัดก่อน   แต่ในธรรมบทก็ปรากฏมีเรื่องนางปัญจปาปา   ผู้มีลักษณะอัปลักษณ์  ๕  อย่าง   แต่นางนี้มีสามีเป็นพระราชาถึง   ๒   องค์   รูปทรงองค์เอวภายนอกอัปลักษณ์   จนได้ชื่อปัญจปาปา   นางบาปห้าอย่าง   แต่ถ้าใครได้แตะเนื้อต้องตัวนางก็จะเกิดหลงรักนางทันที   คือ  ไม่สามารถตั้งอยู่ในอำนาจของตนได้..  เรื่องนี้ก็มีเหตุ แต่ไม่เล่าในที่นี้  

 

     พูดมาถึงเรื่องนี้ก็ทำให้นึกถึงบทละครเรื่องระเด่นลันได   ของพระมหามนตรี   (ทรัพย์)    ที่เป็นบทชมนางประแดะที่มีลักษณะอัปลักษณ์  จะว่าชมก็ไม่ใช่   ประชดก็ไม่เชิง   ถ้าเป็นรสวรรณคดี   ก็ไม่รู้จะเรียกนารีปราโมทย์หรือไม่   ดังใจความว่า..

 

                สูงระหงทรงเพรียวเรียวรูด        งามละม้ายคลายอูฐกะหลาป๋า

           พิศแต่หัวตลอดเท้าขาวแต่ตา         ทั้งสองแก้มกัลยาดังลูกยอ

           คิ้วก่งเหมือนกงเขาดีดฝ้าย            จมูกละม้ายคล้ายพร้าขอ

           หูกลวงดวงพักตร์หักงอ                 ลำคอโตตันสั้นกลม

          สองเต้าห้อยตุงดังถุงตะเคียว          โคนเหี่ยวแห้งรวบเหมือนบวบต้ม

          เสวยสลายาจุกพระโอษฐ์อม            มันน่าเชยน่าชมนางเทวี

 

หมายเลขบันทึก: 430247เขียนเมื่อ 8 มีนาคม 2011 21:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

นมัสการหลวงพี่

  • นึกภาพตามแล้วน่ากลัวจังเลยเนาะ ชีวิตจริงมีไหมนี่

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

  • เป็นบันทึกที่ได้ใจความสมบูรณ์จริง ๆ ค่ะ
  • ชัดเจนทั้งข้อความสนับสนุน และแหล่งอ้างอิง
  • ครูอิงเคยดูเทศน์มหาชาติทรงเครื่อง ตอน กัณหาชาลี  ตอนนั้นเป็นลิเกคณะอะไรจำไม่ได้ค่ะ เพราะยังเด็ก
  • ต้องร้องไห้  ตอนที่ชูชก ลากตัวกัณหาชาลีไปจากแม่ สงสารพระนางมัทรีมากค่ะ
  • ลักษณะบุรุษโทษทั้ง 18 ประการมีจริงที่ชูชก  เขาช่างหาคนเป็นชูกชกได้เหมาะสมจริง ๆ ค่ะ (ลิเกหน่ะค่ะ  รู้สึกจะชื่อคณะ ราหุล จำได้ลาง ๆ ค่ะ)
  • ส่วนเรื่องนางอมิตดานั้น ครูอิงเห็นด้วยกับบทกลอนนะคะ  นางตั้งใจทำบุญแม้ดอกบัวจะเหี่ยว แต่ก็เพราะเป็นความตั้งใจ
  • ทำให้คิดถึงภาพที่ หญิงชรา มอบดอกไม้ให้ในหลวงของเรา  แม้ดอกไม้จะเหี่ยวเฉาแต่ตอนหลังก็ได้กลายเป็นดอกไม้ที่สวยที่สุดในโลก
  • พระคุณเจ้าคะ  นมัสการถามข้อสงสัยอน่อยนะคะ

            การใช้สรรพนามแทนพระ เราจะใช้อย่างไรบ้าง ในกรณีต่อไปนี้ค่ะ

  1. พระที่อายุมากกว่าเรา เราใช้ หลวงพี่   มากกว่า หลาย ๆ ปี ก็เป็น หลวงพ่อ หลวงตา หลวงลุง  หลวงปู่
  2. ถ้าพระอายุน้อยกว่า  แทนว่า หลวงน้องหรือเปล่าคะ อิ...อิ...อิ...
  3. แล้วถ้าพระเป็นลูกหล่ะคะ  จะแทนอย่างไรคะ  ตอนลูกบวชเณร ก็แทนว่า "ลูกเณร" หากลูกบวชพระแทนว่าอย่างไรคะ 
  4. การตักบาตรพระ  หากเราต้องการใส่ผลไม้ที่ต้องปอกเปลือกเช่น มะม่วง ถ้าเราปอกเปลือกหั่นเป็นชิ้นพอคำ  ทิ้งไว้ไม่นานมะม่วงก็จะดำไม่น่าฉัน และกว่าจะถึงวัดมะม่วงอาจเละเสียก่อนก็ได้ ถ้าถวายพระเป็นผล(หมายถึงถวายตอนบิณฑบาตหน่ะค่ะ) ก็ดูไม่ดี  ควรปฏิบัติอย่างไรถึงจะเหมาะสมคะ คือตอนนี้มะม่วงเยอะ อยากตักบาตรด้วยข้าวเหนียวมะม่วง  และมะม่วงสุก  (ของโปรดของคุณพ่อที่ล่วงลับ)

      ขอบพระคุณพระคุณเจ้าล่วงหน้า สำหรับคำอธิบายค่ะ

     เรื่องดอกบัวที่คุณยายคนที่ไปรอรับเสด็จ ที่จริงดอกบัวที่ยายคนนี้เตรียมไปยังสดชื่น ยังสวยอยู่ แต่ยายไปรอรับเสด็จตั้งแต่เช้าจนเที่ยงกว่าจะได้ชมพระบารมี ดอกก็บัวขาดน้ำและตากแดดนานก็เลยเหี่ยวเฉาก่อน  กว่าจะได้ถวายกับพระหัตถ์ ก็กลายเป็นดอกบัวเฉา คนที่ถ่ายภาพนี้ เป็นหัวหน้าช่างภาพส่วนพระองค์  เพราะฉะนั้นเรื่องนี้จะเหมือนอมิตตาหรือไม่นั้นก็ต้องดูที่เจตนาตอนแรก  เจตนาตอนแรกของคุณยายคนนี้ตั้งใจจะถวายดอกบัวที่กำลังบานสวย แต่เจตนาของอมิตตาในคราวที่ถวายดอกบัวเหี่ยวเฉาเป็นอย่างไร ไม่ชัดเจน อย่างน้อยหละไม่ถูกต้องตามหลักสัปปุริสทาน คือการให้ทานของคนฉลาด ส่วนเรื่องที่คุณครูถามจะตอบในภายหลัง...

     คุณโยมยายก็แวะมา   ชีวิตของคนเราจริง ๆ   มีจริงเหมือนลักษณะบุรุษโทษ ๑๘  ประการหรือไม่นั้น   คุณยายเป็นพยาบาลคงจะได้เห็นอยู่เสมอ   แต่ก็คงจะไม่ครบทั้ง  ๑๘  ประการ   อย่างมากก็คงมีสองสามประการที่อัปลักษณ์ มองดูแล้วสะดุดตา

นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

เก็บความคิดเห็นเป็นบันทึก  คลอดแล้วค่ะ  ประเดิมด้วย ความคิดเห็นของพระคุณเจ้าค่ะ

สืบเนื่องจาก บันทึก ชอบ ชัง ดิบ ดี

     บทอุทิศบุญที่มีคำว่า  "ทุรภาคอภัพฐาน สิบแปดประการ" นั้น เป็นอินทรวิเชียรฉันท์จริง ๆ  ที่เห็นมีสัมผัสระหว่างคำสุดท้ายในวรรคแรก  กับคำที่สามในวรรคที่สองนั้น  ท่านว่าเป็นสัมผัสไม่บังคับ  แต่นักแต่งปัจจุบันนิยมทำให้มีจะได้เพิ่มความไพเราะ  สมัยก่อนท่านไม่มีสัมผัส ลักษณะนี้ก็คงจะเหมือนกับกาพย์ยานี  ในวรรคสุดท้าย  สุนทรภู่ก็เติมสัมผัสลงไปอีกเพื่อเพิ่มความไพเราะ

     แต่กาพย์ยานี  ๑๑  ก็ได้แบบมาจาก  อินทรวิเชียรฉันท์ในบทรัตนสูตร  ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า  ยานีธ ภูตา-    นิ สมาคตานิ   เพียงไม่มี  ครุ-ลหุ  เท่านั้นเอง

กราบขอบพระคุณเจ้าค่ะ  จะติดตามอ่าน และปฏิบัติ อย่างดี ที่สุดเจ้าค่ะ 

 

ขอบคุณคุณครูIco48 ที่แวะมาเยี่ยมชม

ขอให้คุณครูมีสุขภาพแข็งแรง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท