ลุ่มน้ำแม่สอย ช่วงที่ 4


การเจรจาของชาวบ้านระหว่างพื้นราบและพื้นที่สูง

"เป็นโชคร้ายของประเทศไทยที่เป็นประเทศเดียวที่ประสบปัญหาเช่นนี้ ถ้าชาวเขาเหล่านี้อยู่ที่พม่า ลาว หรือเวียดนาม ก็จะไม่มีปัญหา เนื่องจากที่นั้นมีภูเขาสูงเป็นจำนวนมาก เมืองไทยอยู่ค่อนมาทางใต้จึงทำให้มีภูเขาไม่กี่แห่งสูงเกิน 1,000 เมตร (เท่าที่รู้มีภูเขาสูงระดับนี้เพียงสามแห่ง คือ ที่เขาช้าง เชียงดาวและอินทนนท์เท่านั้น) ในขณะที่ประเทศอื่นมีภูเขาสูงระดับ 2,000 เมตร อยู่มากมาย

     ด้วยเหตุนี้ป่าต้นน้ำของเราจึงอยู่ที่ระดับความสูงเพียง 1,000 เมตร ประกอบกับความสูงขนาดนี้เหมาะแก่การปลูกฝิ่นและข้าว เพราะถ้าปลูกสูงกว่าระดับ 1,000 เมตร ฝิ่นขึ้นแต่ข้าวไม่ขึ้น ถ้าปลูกที่ระดับต่ำกว่านั้น ปลูกข้าวได้แต่ปลูกฝิ่นไม่ได้

     ระดับความสูง 1,000 เมตร จึงเป็นระดับเดียวที่ชาวเขาสามารถปลูกได้ทั้งสองอย่างและเป็นระดับเดียวกับป่าต้นน้ำของเรา และเมื่อป่าต้นน้ำถูกตัด เราก็ไม่มีน้ำไหลลงสู่แม่น้ำทั้งสี่สาย ปิง วัง ยม น่าน ทำให้เกิดความเดือดร้อน และ..เมื่อไม่มีน้ำจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่ควรมีมนุษย์อาศัยอยู่บนต้นน้ำ

     เพราะฉะนั้นเมื่อมีใครบอกว่า ป่าต้นน้ำถูกทำลายโดยสัมปทานป่านั้นไม่ใช่ อย่างไม้สักจะขึ้นดีที่ความสูงไม่เกิน 600 เมตร พวกไม้เนื้อแข็ง ไม้มะค่าจะอยู่ต่ำกว่า 300 เมตร ฉะนั้นป่าต้นน้ำของเราจะมีแต่ต้นไม้ที่ไม่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจ

     สิ่งที่ทำลายต้นน้ำ คือไฟป่า  ...และ..หลังจากไฟป่า ก็คือ การยึดถือครอบครองและปลูกพืชเศรษฐกิจหมุนเวียนกันไปทุกๆ ปี ไม่มีโอกาสที่ป่าบนภูเขาสูงจะได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาจนกลับมาทำหน้าที่เป็นต้นน้ำลาธารได้อีก ประกอบกับจำนวนประชากรบนภูเขาสูงเพิ่มมากขึ้นอย่างไม่อาจควบคุมได้ ป่าต้นน้ำก็จะถูกทำลายกว้างออกไปเรื่อยๆ จนอยู่ใน สภาพวิกฤติจนถึงทุกวันนี้ " บทสรุปของ ม.ร.ว. สมานสนิท สวัสดิวัตน์ รองประธานมูลนิธิธรรมนาถที่กล่าวให้เห็นภาพรวมของภูเขาสูงและปัญหาที่เกิดขึ้นกับป่าต้นน้ำของประเทศไทยในปัจจุบัน

     บทสรุปข้างต้นแนะให้เห็นความสำคัญและเน้นย้ำว่าไม่ควรจะมีมนุษย์เข้าไปบุกรุกป่าต้นน้ำ เพื่อใช้ประโยชน์ส่วนตน แต่ป่าต้นน้ำแม่สอยยังคงมีชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเข้าไปครอบครองและยึดเป็นที่ทำกิน ชาวบ้านแม่สอยจึงได้ส่งทูต (เรียกให้หรู) เพื่อไปเจรจาให้ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งย้ายลงมาจากป่าต้นน้ำโดยยื่นข้อเสนอให้พื้นที่ทำกินที่เห็นว่าเป็นส่วนที่ดีที่สุดจำนวน 200 ไร่ ใน "โครงการหมู่บ้านป่าไม้จอมทอง 2"  

     แต่ก็ไม่เป็นผล  เพราะมีผู้มีอิทธิพลเข้าไปโฆษณาและหว่านล้อมไม่ให้ย้ายลงไปอยู่ข้างล่าง พร้อมทั้งรับปากว่าจะพัฒนาให้มีความเจริญรุ่งเรือง พอมีเงินเข้ามาก็เปลี่ยนชาวไทยภูเขาเผ่าม้งให้ปลูกพืชเศรษฐกิจ มีกลุ่มองค์กรมาสนับสนุน หลายฝ่ายเข้ามาเป็นปัจจัยแทรกซ้อน การแก้ปัญหาจึงยาก การผลักดันให้มีการย้ายออกจึงไม่สำเร็จ

     (เคยดูโฆษณาหนึ่งที่เขาสื่อให้เห็นว่าชาวเขาที่เราคนพื้นราบเห็นว่าอยู่บนเขาไม่น่าจะเจริญ แต่ก็ยังมีมือถือไว้ใช้ "เดี๋ยวนี้..เขาพัฒนาแหล้ว" กลายเป็นคำพูดฮิตติดปากสำหรับล้อเลียนคนที่ไม่ทันสมัยของคนเมืองพื้นราบ) ตอนนั้นดูขำ แต่ตอนนี้ขำไม่ออกซะแล้ว

     ในเมื่อเจรจาก็แล้ว หว่านล้อม ทั้งยื่นข้อเสนอหลายครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล ชาวบ้านจึงใช้วิธีหักดิบแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง เพราะในช่วงนั้นไม่สามารถพึ่งพากับทางราชการฝ่ายปกครอง คือ อำเภอ ประกอบกับทางอำเภอจอมทองไม่เห็นด้วยกับการย้ายชุมชนลงมาอยู่ในพื้นราบจะด้วยเหตุผลหรือสาเหตุใดก็ตาม จึงไม่สนับสนุนการทำงานของชาวบ้าน

     ชาวบ้านตำบลแม่สอยจึงรวบรวมพลพรรคของตนขึ้นไปทำรั้วลวดหนามตลอดแนวสันปันน้ำแม่สอยเป็นทางยาวประมาณ 14  กิโลเมตร เพื่อแสดงเจตนาอย่างชัดเจนในการที่จะคุ้มครองรักษาป่าต้นน้ำของตนเอง และอนุญาตให้ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเก็บผลผลิตกะหล่ำปลีที่อยู่ในแนวรั้วลวดหนามออกมาได้ แต่จะเข้าไปทำอีกไม่ได้

     ในขณะเดียวกัน ชาวอำเภอจอมทอง จำนวนกว่า 500 คน และผู้นำชาวบ้านได้ยื่นหนังสือต่อ พลเอกชาติชาย  ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีเมื่อคราวไปประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ในปี  2530 ขอให้ย้ายราษฎรชาวเขาบ้านป่ากล้วยลงมาอยู่ในพื้นราบ  คณะรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้จังหวัดเชียงใหม่จัดทำ  "โครงการพื้นที่รองรับชาวเขาจังหวัดเชียงใหม่"  ขึ้นในปี พ.ศ.2532 ได้จัดเตรียมพื้นที่บริเวณตำบลข่วงเปา  อำเภอจอมทอง พื้นที่ประมาณ 4,500 ไร่โดยจะจัดสรรที่ดินให้ครอบครัวละ 14  ไร่  และงบประมาณจำนวน 75  ล้านบาทเพื่อเตรียมพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกินและแหล่งน้ำไว้รองรับราษฎรชาวเขาดังกล่าว  จัดทำโครงการดังกล่าวได้เงียบหายไป (จากการติดตามเรื่องภายหลังในปี พ.ศ.2535  จึงได้ทราบว่า  สภาความมั่นคงแห่งชาติได้สรุปเรื่องว่า  ความขัดแย้งในการใช้ทรัพยากรป่าไม้ระหว่างชาวตำบลแม่สอยและราษฎรชาวเขาบ้านป่ากล้วยได้ยุติแล้ว  จึงไม่จำเป็นต้องดำเนินงานโครงการจัดหาพื้นที่รองรับชาวเขาฯ  ในขณะที่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่เป็นไปในทางตรงกันข้าม  เป็นที่รับรู้กันในกลุ่มผู้เกี่ยวข้องว่าเป็นด้วยอิทธิพล อำนาจ บางอย่างที่ไม่อาจระบุได้ )

     หลังจากชาวบ้านแม่สอยได้พื้นที่ป่าต้นน้ำกลับมาจากชาวไทยภูเขาเผ่าม้งแล้ว ได้ร่วมกันพัฒนา ฟื้นฟูพันธุ์ไม้ ปลูกป่าทดแทนในพื้นที่ที่ถูกทำลาย เฝ้าระวังและดับไฟป่าทุกปีทั้งป่าส่วนบน ส่วนกลางและส่วนล่าง จนป่าต้นน้ำแม่สอยฟื้นตัว ตอนหน้าหนูมานีจะพาไปดูผลตอบแทนความสำเร็จที่ได้มาจากการร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านลุ่มน้ำแม่สอย.

 

หมายเลขบันทึก: 260719เขียนเมื่อ 12 พฤษภาคม 2009 16:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ต้องร่วมมือกันค่ะ ขอบคุณทุกคนที่รักษาธรรมชาติอันสวยงาม ให้ลูกหลานค่ะ

เป็นคนแม่สอยเหมือนกันแต่ทำไมชาวบ้านทั้งหมดหมุ่บ้านรวมทั้งบ้านในตำบลแม่สอยต่างๆเขาอยากให้สร้างกันขึ้นละค่ะ แลก็เป็นโครงการหลวงด้วย ดิฉันเกิดและโตที่นี่ยังอยากให้เขาสร้างเลย แต่กลับมีกลุ่มคนบางคนที่ไม่อยากให้สร้างอยากจะถามว่าแกนนำของการคัดค้านนี้ ทำไมเวลาเขาประชุมกันเรื่องนี้หรือเรื่องในหมุ่บ้าน ถึงไม่ให้ความร่วมมือเลย ล่ะค่ะ เม้นๆๆๆๆๆ น่ะคร้าๆๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท