หนังสือ "รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว"


หนังสือ "รอให้ถึงอนุบาลก็สายเสียแล้ว"
เขียนโดย  มาซารุ อิบุกะ 
แปลโดย  ธีระ สุมิตร และ พรอนงค์ นิยมค้า

1.  ศักยภาพของเด็กเล็ก

2.  สภาวะความเป็นจริงของการเรียนรู้ ในระยะปฐมวัย

3.  สิ่งดีสำหรับเด็กเล็ก  คืออะไรบ้าง

4.  หลักในการฝึกเด็ก

5.  บทบาทของแม่

เอามาให้อ่านเป็นตัวอย่างสัก 3 หน้าครับ

มีทั้งหมด 5 ตอน 100 หน้า หากท่านใดสนใจจะอ่านทั้งหมดไปที่

http://www.rmutphysics.com/CHARUD/scibook/baby/index/index2.htm

ตอนที่ 1

ศักยภาพของเด็กเล็ก

1. รอให้เข้าโรงเรียนอนุบาลก่อนก็สายเสียแล้ว

    

      ก่อนที่ผมจะเริ่มเรื่อง ผมอยากให้คุณนึกถึงสมัยที่คุณยังเป็นนักเรียนสักหน่อย ในชั้นเรียนของคุณคงมีคนหัวดีมาก และคนที่หัวทื่อไม่เอาไหน ใช่ไหมครับ คนที่หัวดีนั้นทั้งๆที่ไม่ได้คร่ำเคร่งเรียนเท่าไร แต่ได้คะแนนเยี่ยมทุกที่ ส่วนคนที่ไม่เอาไหนนั้นต่อให้ขยันดูหนังสืออย่างไร ผลลัพธ์ก็คงเหมือนเดิมทุกคนคงเคยมีเพื่อนแบบนี้มาแล้ว ทางฝ่ายคุณครูมักจะปลอบใจว่า “ คนเราไม่ได้เกิดมาเป็นคนโง่หรือฉลาด มันขึ้นอยู่กับความพยายามนะนักเรียน "

      แต่ความรู้สึกของพวกเรา เรามักคิดว่าความโง่หรือฉลาดคงถูกกำหนดมาตั้งแต่กำเนิดแล้ว ที่จริงมันเป็นเรื่องอย่างไรกันนะ? คุณครูบอกว่า “ โง่หรือฉลาดไม่ใช่เรื่องของกำเนิด มันขึ้นอยู่กับความพยายาม "กับความรู้สึกของพวกเราที่ว่า “ โง่หรือฉลาดมันถูกกำหนดมาตั้งแต่แรกเกิดแล้ว " ฝ่ายไหนถูกฝ่ายไหนผิดกันแน่

     ถ้าจะให้ผมเป็นคนตัดสิน ผมก็จะบอกถูกทั้งคู่ว่าและผิดทั้งคู่ คุณก็อาจจะว่าผม พูดแบบกำปั้นทุบดินก็ได้ แต่ไม่ใช่อย่างนั้นแน่

    ถ้าเริ่มจากบทสรุปก็กล่าวได้ว่าความสามารถและอุปนิสัยของคนเราไม่ได้เป็นของติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด แต่จะถูกกำหนดภายในระยะเวลาหนึ่ง เราถกเถียงกันมานานแล้วว่า คนเรานั้นถูกกำหนดโดยกรรมพันธุ์ ประเภท “ เชื้อไม่ทิ้งแถว " ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น “ หรือว่าถูกกำหนดด้วยการศึกษาและสภาพแวดล้อมกันแน่เรื่องนี้หาบทสรุปไม่ได้มาเป็นเวลานาน

     แต่เมื่อไม่นานมานี้ การศึกษาทางชีววิทยาเกี่ยวกับสมองและกรรมพันธุ์ก้าวหน้าขึ้น จนกระทั่งพบว่า ความสามารถและอุปนิสัยของคนนั้น ส่วนใหญ่จะก่อรูปเรียบร้อยระหว่างอายุ 0- 3 ขวบ กล่าวคือ คนเรานั้นตอนแรกเกิดเหมือนกันหมด ไม่มีคนที่เกิดมาเป็น” อัจฉริยบุคคล " หรือเกิดมาเป็น “ ไอ้งั่ง ” แต่การศึกษาตั้งแต่แรกเกิดนั่นแหละ สามารถทำให้คนเป็น ” อัจฉริยบุคคล " ก็ได้หรือเป็น “ ไอ้งั่ง " ก็ได้ถ้าอยากจะทำ

    อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า เราจะสามารถทำให้คนเป็น อัจฉริยะเมื่อไรก็ได้ เช่น เติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็ทำได้ เพราะความสามารถและอุปนิสัย ส่วนใหญ่ของคนเราจะถูกกำหนดในช่วงอายุ 0-3ขวบ เพราะฉะนั้น เมื่อเด็กเริ่มไปโรงเรียนแล้ว ความแตกต่างที่เด็กหัวดีที่อะไรอะไรก็ง่ายไปหมด กับเด็กหัวทึบอะไรมันก็ยากไปหมด จึงเกิดขึ้น

    จุดสำคัญก็คือ การเลี้ยงดูเด็กระหว่างอายุ 0-3 ขวบ ถ้ารอให้เข้าโรงเรียนอนุบาลเสียก่อนก็สายไปเสียแล้ว

 

ตอนที่ 1

ศักยภาพของเด็กเล็ก

2. ไม่ว่าเด็กคนไหน ก็เลี้ยงให้ดีได้

    คงมีคนไม่น้อยที่สงสัยว่าผมซึ่งเป็นช่างเทคนิคและนักธุรกิจทำไมถึงได้ข้ามประตูมาสนใจเรื่อง “ การศึกษาในวัยเด็กเล็ก “ ที่จริงการที่ผมสนใจเรื่องสำคัญแบบนี้เป็นของธรรมดาที่สุด และเมื่อรู้สึกว่าคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายนั่นแหละที่ละเลยปัญหานี้ ทำให้ผมยิ่งอยู่เฉยไม่ได้

   แน่นอน ไม่ใช่ว่าผมจะไม่มีแรงอะไรโดยตรงเสียเลยที่กระตุ้นให้สนใจปัญหานี้ แรงกระตุ้นอย่างหนึ่งคือเรื่องวุ่นวายมากในมหาวิทยาลัยในระยะปี 1965-1970 (พ.ศ.2508-2513) เป็นช่วงที่เกิดความวุ่นวายมากในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศญี่ปุ่นเพราะบรรดานักศึกษาก่อการสไตร์คกันอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ผมเกิดความสงสัยในระบบการศึกษาของเรา และอีกอย่างหนึ่งก็คือผมเป็นพ่อคนหนึ่งที่มีปัญหาในเรื่องลูก

    ความจริงผมมีลูกปัญญาอ่อนอยู่คนหนึ่ง ในช่วงที่ลูกผมคนนี้ยังอยู่ในวัยเด็กเล็ก ผมไม่รู้เลยว่าเด็กที่มีชะตากรรมแบบนี้ ก็มีโอกาสพัฒนาความสามารถขึ้นมาได้ในระดับหนึ่ง ถ้าหากเริ่มทำตั้งแต่แรกเกิด สิ่งที่ทำให้ผมตาสว่างในเรื่องนี้ก็คือคำพูดของอาจารย์ซูซูกิ ชินอิชิ ซึ่งมีชื่อเสียงทั่วโลกในการสอนไวโอลินแก่เด็กเล็ก ท่านกล่าวว่า “ ไม่ว่าเด็กคนไหนก็ดีได้ ขึ้นอยู่กับวิธีเลี้ยง “ เมื่อผมได้ยินเรื่องนี้และได้เห็นผลงานที่น่าทึ่งสมกับคำพูดของท่าน ทำให้ผมรู้สึกเสียดายที่สุดที่ผมในฐานะที่เป็นพ่อ ไม่ได้ทำอะไรให้แก่ลูกของผมเลย

    เรื่องความวุ่นวายในมหาวิทยาลัยก็เช่นเดียวกัน ทำให้ผมคิดถึงปัญหาการศึกษาว่าการศึกษาคืออะไร ควรจะเป็นอย่างไร ตอนแรกผมคิดถึงเรื่องการศึกษาในมหาวิทยาลัย ปัญหาต่างๆในระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่พอผมคิดเรื่องนี้อย่างจริงจัง ก็ทำให้ผมพบว่าปัญหามันเกิดตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมปลายแล้ว และสาวไปถึงระดับมัธยมต้น ระดับประถม จนกระทั่งได้บทสรุปว่าแม้แต่ระดับอนุบาลก็สายไปเสียแล้วกระมัง ความคิดอย่างนี้เกิดไปตรงกับความคิดของอาจารย์ ซูซูกิ ชินอิชิ ซึ่งทดลองเรื่องการศึกษาของเด็กเล็กมานานแล้ว

    อาจารย์ ซูซูกิท่านเริ่ม การศึกษาแบบ ซูซูกิ ( Suzuki method ) ซึ่งเป็นระบบอาจารย์ ซูซูกิในวัยเด็กเล็กตามแบบฉบับของท่านมาตั้ง 30 ปีเศษแล้ว ก่อนหน้านั้นท่านก็สอนตามแบบทั่วๆไป คือเริ่มตั้งแต่ระดับประถมศึกษา มัธยมขึ้นไป แต่ปรากฏว่าในหมู่เด็กที่เริ่มเรียนในระดับนี้ จะเกิดความแตกต่างอย่างมากระหว่างเด็กที่เก่งไปเร็วกับเด็กที่เรียนไปได้ช้าอย่างแก้ไม่ตก อาจารย์จึงทดลองให้เด็กเรียนเร็วขึ้น เพื่อดูผลว่าจะเป็นอย่างไร ในที่สุดก็ลดอายุของเด็กลงเรื่อยๆปรากฏว่าเรื่องที่ผมคิดได้จากปัญหาความวุ่นวายในมหาวิทยาลัยนั้น อาจารย์ ซูซูกิท่านเริ่มทดลองมาตั้งแต่ 30ปีก่อนแล้ว อาจารย์ ซูซูกิท่านสอนไวโอลิน เรื่องนี้เพราะบังเอิญท่านเป็นนักไวโอลินเท่านั้นเอง แต่วิธีการของท่านใช้ได้ในการศึกษาทุกแขนง เพราะผมคิดแบบนี้ ถึงได้เหยียบเข้ามาในการศึกษาของเด็กเล็ก

 

ตอนที่ 1

ศักยภาพของเด็กเล็ก

3. การศึกษาในวัยเด็กเล็กไม่ใช่การผลิตอัจฉริยบุคคล

    

 

ก่อนหน้านี้ผมเคยกล่าวว่า “ การศึกษาในช่วงอายุ 0-3 ขวบ สามารถทำคนให้เป็นอัจฉริยะ ถ้าอยากจะทำ “

    พอผมพูดเรื่องนี้ คุณแม่หลายคนคงจะวิจารณ์ว่า “ ถ้าอย่างนั้นการศึกษาในวัยเด็กเล็ก คือการศึกษาเพื่อสร้างอัจฉริยบุคคลอย่างนั้นหรือ “

      คำตอบของผมก็คือ “ไม่ใช่ “ จุดประสงค์ประการเดียวของการศึกษาในวัยเด็กเล็กคือ “ เพื่อสร้างเด็กให้เป็นคนที่มีไหวพริบดี ร่างกายแข็งแรง ร่าเริงและอ่อนโยน “

    คนเรานั้น ถ้าหากไม่มีข้อบกพร่องทางร่างกายแล้ว ทุกคนเหมือนกันหมดตอนแรกเกิด เรื่องที่เด็กกลายเป็นเด็กฉลาด เด็กโง่ เด็กที่มีนิสัยอ่อนโยนหรือดื้อรั้นหยาบกระด้างนั้น ทั้งหมดเป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ ไม่ว่าเด็กคนไหน ถ้าหากได้รับในสิ่งที่เขาควรได้รับในเวลาที่เหมาะสม เขาจะกลายเป็นคนที่มีสติปัญญาและอุปนิสัยดีเลิศในอนาคต

    คุณอาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงอยู่บ้าง ถ้าผมจะเปรียบคนกับหมา แต่ไม่ว่าจะเป็นหมาพันธุ์ดีแค่ไหนก็ตาม ถ้าหากปล่อยให้ไปเข้ากลุ่มกับหมากลางถนน มันจะค่อยๆติดนิสัยป่าเถื่อน และในที่สุดมันจะกลายเป็นหมากลางถนนไปด้วย เด็กแรกเกิดนั้นมีสมองพัฒนาน้อยกว่าสมองของหมาเสียอีก เพราะฉะนั้นการเลี้ยงดูที่ผิดพลาดอาจกลายเป็นหมากลางถนนไปได้อย่างง่ายดาย

    หลายปีก่อน เกิดคดีสยองขวัญขึ้นในญี่ปุ่น โดยเด็กหนุ่มคนหนึ่งทำการฆาตกรรมผู้เคราะห์ร้ายหลายคนด้วยอาวุธปืน โดยไม่มีเหตุผลใดใดทั้งสิ้น ต่อมาเด็กหนุ่มคนนั้นเขียนบันทึกจากในคุกออกเผยแพร่ ตอนหนึ่งในบันทึกเขียนว่า “ นิสัยสันดานของคนนั้น เขาว่าถูกสร้างขึ้นภายในอายุ 5 ขวบ ชั่วชีวิตคนนั้นอายุ 5 ปีมันน้อยนิด ถ้าหากมันสร้างสันดานที่กำหนดชีวิตของคนได้ละก็มันช่างเป็นช่วงเวลาสำคัญเหลือเกิน แต่ว่าพ่อแม่ทั้งหลายถึงได้ละเลยมันเสียนักนะ!" ( จาก “น้ำตาของความโง่” ) บันทึกของเขาเขียนวิจารณ์ชีวิตในวัยเยาว์เอาไว้อย่างเจ็บปวด อ่านข้อความอย่างนี้แล้ว มีพ่อแม่คนไหนบางจะไม่สะเทือนใจ

    ผมคิดว่าอุดมศึกษาในวัยเด็กเล็ก คือเพื่อไม่ให้เกิดเด็กโชคร้ายแบบเด็กหนุ่มคนนี้ เพื่อไม่ให้หมากลายเป็นหมากลางถนน ซึ่งจุดสำคัญที่สุดขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดที่เดียว

    การให้เด็กฟังดนตรีดีๆ ให้เด็กเรียนไวโอลินนั้น ไม่ใช่เพื่อสร้างอัจฉริยบุคคลทางดนตรี การสอนภาษาอังกฤษ สอนให้อ่านหนังสือ ไม่ใช่เพื่อสร้างอัจฉริยบุคคลทางภาษา รวมทั้งไม่ใช่การเตรียมเด็กเพื่อให้เข้าโรงเรียนอนุบาลดีๆหรือโรงเรียนประถมดีๆ แต่อย่างไร การเรียนไวโอลิน ภาษาอังกฤษ และการอ่านหนังสือ ตัวอักษรนั้นเป็นเพียงมาตรการอย่างหนึ่ง ในการค้นหาความสามารถอันมหาศาลในตัวเด็กเท่านั้น

คำสำคัญ (Tags): #อนุบาล
หมายเลขบันทึก: 187300เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2008 14:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 10:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ขอบคุณค่ะ กำลังคิดจะซื้อหามาอ่านพอดีเลยค่ะ :)

สวัสดีค่ะ

มาเยี่ยม และเป็นกำลังใจให้ค่ะ

มารายงานว่า 3 หนุ่มที่บ้านก็เป็นส่วนหนึ่งของผลที่เกิดจากการนำเอาวิธีในหนังสือเล่มนี้ไปปฏิบัติค่ะ เสียดายที่หาไม่เจอเสียแล้ว สงสัยจะให้ใครไปอ่านเมื่อนานมาแล้วค่ะ

ยินดีกับทุกท่านที่แวะมาครับผม

ยินดีกับทุกท่านที่แวะมาครับผม

การให้เด็กฟังดนตรีดีๆ ให้เด็กเรียนไวโอลินนั้น ไม่ใช่เพื่อสร้างอัจฉริยบุคคลทางดนตรี การสอนภาษาอังกฤษ สอนให้อ่านหนังสือ ไม่ใช่เพื่อสร้างอัจฉริยบุคคลทางภาษา รวมทั้งไม่ใช่การเตรียมเด็กเพื่อให้เข้าโรงเรียนอนุบาลดีๆหรือโรงเรียนประถมดีๆ แต่อย่างไร การเรียนไวโอลิน ภาษาอังกฤษ และการอ่านหนังสือ ตัวอักษรนั้นเป็นเพียงมาตรการอย่างหนึ่ง ในการค้นหาความสามารถอันมหาศาลในตัวเด็กเท่านั้น

******************************************

เห็นด้วยตรงนี้มากเลยค่ะ

ส่วนตัว เป็นคนร้องเพลงผิดคีย์ เล่นดนตรีไม่เป็น มาก่อน

แต่ชอบฟังและชอบแอบร้อง

เมื่อมีลูก ทำยังไงดี

ร้องเลยค่ะ ทุกเพลง ทุกประเภท ไม่จำกัดว่าต้องคลาสสิค

ร้องจนทุกวันนี้ ลูกเรากลายเป็นคนบอก, สอนเราว่าตรงนี้ต้องคีย์สูง ตรงนี้..ต่ำ

ส่วนหนึ่ง อ่านมาจากหนังสือเล่มนี้+วิธีที่เราคิดว่า ต้องได้ผลกับลูกของเรา

พูดยาวแต่วกวน อิ อิ เริ่มง่วง

นอนก่อน คุยใหม่ค่ะ

ด.ช.ปริญญ์ พุมมาจันทร์

เนื้อหาดีมากเลยนะครับเหมาะสำหรับเด็กมากเลยครับและเป็นหนังสือที่ดีมีประโยชน์ต่อเด็กมากครับ ขอบคุณครับ

เนื้อหาดีมากเลยคะ

ขอบคุณนะ อาจารย์สั่งทำรายงานพอดีเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท