วิสัยทัศน์และแนวคิดในการพัฒนาบัณฑิตวิทยาลัย (2551-2565) (1/2)


วิสัยทัศน์และแนวคิดในการพัฒนาบัณฑิตวิทยาลัย (2551-2565)

“To foster excellence in graduate education and research”

"องค์กรหลักในการบริหารจัดการบัณฑิตศึกษาที่เป็นเลิศและกลไกสำคัญของการเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย"

         เนื้อหา 
                  1. บัณฑิตวิทยาลัยในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต 
                  2. วิสัยทัศน์ร่วม 
                  3. บัณฑิตวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยวิจัย 
                  4. บัณฑิตวิทยาลัยกับสถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา 
                  5. บัณฑิตวิทยาลัยกับการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี 
                  6. บัณฑิตวิทยาลัยกับภาคีและเครือข่าย (อ่านได้ในบันทึกถัดไป)
                  7. ความสอดคล้องกับแผนของมหาวิทยาลัย  (อ่านได้ในบันทึกถัดไป)
                  8. ปัจจัยสู่ความสำเร็จ  (อ่านได้ในบันทึกถัดไป)
                  9. เป้าหมายเชิงยุทธวิธี (อ่านได้ในบันทึกถัดไป)

เอกสารแจกเพื่อแสดงความคิดเห็นในการปรับโครงสร้างบัณฑิตศึกษาและการวิจัยของมหาวิทยาลัยนเรศวร
ในที่ประชุมประชาคมบัณฑิตวิทยาลัย เพื่อจัดทำ “แผนยุทธศาสตร์ 15 ปี” วันที่ 20 พฤศจิกายน 2551
ในที่ประชุมคณะกรรมการปรับปรุงโครงสร้างบัณฑิตวิทยาลัย ครั้งที่ 3/2551 วันที่ 26 พฤศจิกายน 2551
ในที่ประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย ครั้งที่ 19/2551 วันที่ 3 ธันวาคม 2551
และในที่ประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัย ครั้งที่ 140 (1/2552) วันที่ 10 มกราคม 2552

โดย ผศ.ดร.วิบูลย์  วัฒนาธร
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพ
รักษาการในตำแหน่งคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยนเรศวร

(ฉบับวันที่ 20 พฤศจิกายน 2551)

...................................................................................................................

GS 2565 : (1) บัณฑิตวิทยาลัยในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

         บัณฑิตวิทยาลัย (Graduate School, GS) เป็นหน่วยงานหลักเก่าแก่ที่จัดตั้งขึ้นมาพร้อม ๆ กับการสถาปนามหาวิทยาลัยนเรศวรในปี พ.ศ. 2533 และที่ผ่านมาก็ได้แสดงบทบาทหน้าที่ของตัวเองด้วยดีมาโดยตลอด จนกระทั่งปลายปี 2546 เมื่อสภามหาวิทยาลัยได้มอบนโยบายเชิงเป้าหมายให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวรเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย ภายในปี 2549” ก็มีเสียงเรียกร้องให้บัณฑิตวิทยาลัยช่วยปรับบทบาทหน้าที่ของตนเองให้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนามหาวิทยาลัยดังขึ้นเรื่อย ๆ พร้อม ๆ กันในช่วงเวลานั้นก็มีเสียงเรียกร้องให้มีการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามศูนย์วิทยบริการที่บัณฑิตวิทยาลัยรับผิดชอบ (รวม 9 ศูนย์) ก็ดังขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน นอกจากนี้ยังมีสัญญาณที่สำคัญคือจำนวนผู้เรียนตามศูนย์วิทยบริการต่าง ๆ เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง และผลการประเมินของมหาวิทยาลัยในด้านการเรียนการสอนในช่วงเวลานั้นก็ออกมาไม่ดีนัก ทั้งหมดนี้เป็นเหตุให้มีมติจากสภามหาวิทยาลัยเมื่อปลายปี 2549 ให้บัณฑิตวิทยาลัยยุติการรับนิสิตที่จะเข้ามาเรียนทั้ง 9 ศูนย์และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อปรับโครงสร้างบัณฑิตวิทยาลัยให้สามารถทำหน้าที่ให้ดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี การปรับโครงสร้างดังกล่าวก็ยังหาข้อสรุปสุดท้ายที่ชัดเจนไม่ได้จนกระทั่งถึงปัจจุบัน (20 พ.ย. 51)

         ณ ขณะนี้บัณฑิตวิทยาลัยยังคงทำหน้าที่หลักในการจัดการศึกษาให้กับนิสิตปริญญาโทรุ่นสุดท้ายที่ยังค้างอยู่ในศูนย์วิทยบริการทั้ง 9 ศูนย์ เมื่อผ่านปีการศึกษานี้ไปแล้วศูนย์ทุกศูนย์ก็จะไม่มีนิสิตให้บัณฑิตวิทยาลัยต้องรับผิดชอบอีกต่อไป นอกเสียจากจะมีมติจากสภามหาวิทยาลัยเปลี่ยนนโยบายอนุญาตให้บัณฑิตวิทยาลัยสามารถรับนิสิตเข้าศึกษาต่อไปได้ดังเดิม

         อย่างไรก็ดี จากการวิจัยสถาบันและจากการออกเยี่ยมศูนย์วิทยบริการทั้งหมดของผู้บริหารบัณฑิตวิทยาลัย ทำให้ทราบว่า ความเป็นจริงแล้วคนในชุมชนยังคงได้รับประโยชน์จากการมีศูนย์วิทยบริการของมหาวิทยาลัยอยู่อีกมาก เช่น นอกจากนิสิตปัจจุบันแล้วยังมีศิษย์เก่าและคนในชุมชน นิยมมาใช้บริการห้องสมุดและ Digital database ที่ศูนย์วิทยบริการกันเป็นจำนวนมาก เพื่อการค้นคว้าพัฒนาตนเองและพัฒนางาน และที่สำคัญคือ คนในชุมชนยังมีความต้องการให้มหาวิทยาลัยเปิดทำการรับนิสิตเข้าศึกษาต่อไปเหมือนเดิม และยังให้คำแนะนำเรื่องการจัดการเรียนการสอนและบริการวิชาการในหลักสูตรใหม่ ๆ ที่หลากหลายที่ตรงกับความต้องการของการพัฒนาคนและพัฒนางานในชุมชน และที่เป็นการสอดคล้องส่งเสริมนโยบายการกระจายอำนาจการปกครองของรัฐบาล ซึ่งจำเป็นต้องมีการพัฒนาคนเข้ามารองรับนโยบายอีกจำนวนมาก

         วิสัยทัศน์และแนวคิดในการพัฒนาบัณฑิตวิทยาลัยฉบับนี้เขียนขึ้นมาจากความต้องการเห็นในอนาคตว่า “บัณฑิตวิทยาลัย” จะเป็น “บัณฑิตวิทยาลัยที่แท้จริง” ที่เข้มแข็ง ที่เลี้ยงตัวเองได้ และที่สำคัญคือเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนามหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัย”

................................................................................................................... (กลับด้านบน)

GS 2565 : (2) วิสัยทัศน์ร่วม

         วิสัยทัศน์ร่วม (Shared vision) ที่เกิดจากการระดมความคิดเห็นในหลายวาระหลายเวทีได้ผลออกมาทำนองเดียวกันว่า ในอนาคตอยากเห็นบัณฑิตวิทยาลัยมีพันธกิจ (mission) และโครงสร้างการทำงานดังแสดงในภาพ

 

 กล่าวคือ :-

         (1) บัณฑิตวิทยาลัยเป็น “บัณฑิตวิทยาลัยที่แท้จริง” และเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและมีรายได้เลี้ยงตัวเองโดยไม่เป็นภาระของมหาวิทยาลัย

         (2) พันธกิจที่สำคัญมี 2 ด้านคือ

         2.1 Non-profit mission

                  2.1.1 ส่งเสริมและสนับสนุน (supporter and stimulator) ให้บัณฑิตศึกษาของมหาวิทยาลัยมีความเข้มแข็งและเป็นสากล โดยเป็น “หน่วยงานกลาง” ในการกำหนด standards และ policies ด้าน “graduate education” และ “research” ของมหาวิทยาลัย ผ่านการทำงานแบบ partnerships กับคณะ / วิทยาลัยต่าง ๆ

         2.2  Profit mission

                  2.2.1 จัดการศึกษาด้วยตนเอง โดยจัดการศึกษาใน 9 ศูนย์เดิม พัฒนาหลักสูตรใหม่ที่เน้นสหวิทยาการ (ร่วมมือกับทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย)

                  2.2.2 ให้บริการวิชาการกับเครือข่ายศิษย์เก่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษาต่าง ๆ โดยใช้ความต้องการของ customers แต่ละกลุ่มและใช้ทรัพยากรใน 9 ศูนย์เป็นหลักในการให้บริการที่หลากหลายตั้งแต่เวทีชาวบ้านถึงเวทีนานาชาติ

         (3) การติดตามและการประเมินผล แยกเป็นปีละ 2 ครั้งดังนี้

         3.1 สำหรับ non-profit mission ให้ประเมินตามปีงบประมาณเหมือน non-teaching unit โดยมี KPI ดังแสดงในภาพ

         3.2 สำหรับ profit mission ให้ประเมินตามปีการศึกษาเหมือน teaching unit แต่ต้องปรับวิธีการและเกณฑ์การประเมินให้สอดคล้องกับบริบทของบัณฑิตวิทยาลัย โดยมี KPI ดังแสดงในภาพ

...................................................................................................................(กลับด้านบน)

GS 2565 : (3) บัณฑิตวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยวิจัย


        ภาพรวมแนวคิดในการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยให้ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัยและบทบาทของบัณฑิตวิทยาลัยในฐานะหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ ดังแสดงในภาพ

 

...................................................................................................................(กลับด้านบน)

GS 2565 
: (4) บัณฑิตวิทยาลัยกับสถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา

         • ภายในปี 2556 มหาวิทยาลัยนเรศวรจะเป็น Top ten research university ของประเทศไทย และมีความพร้อมที่ก้าวสู่การเป็น world class university ในลำดับถัดไป

         • IRDA (สถาบันบริหารการวิจัยและพัฒนา) ควรจะเป็นหัวหอกในการบริหารจัดการงานวิจัยทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมทั้งการบริหารกองทุนวิจัยของมหาวิทยาลัย

         • บัณฑิตวิทยาลัยควรจะเป็นหัวหอกในการบริหารจัดการบัณฑิตศึกษาอย่างครบวงจรตั้งแต่รับนิสิตเข้ามาจนจบออกไปเป็นมหาบัณฑิต ดุษฎีบัณฑิต และศิษย์เก่า

         • IRDA และบัณฑิตวิทยาลัยจะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการเสริมพลังซึ่งกันและกัน (synergy) ในการขับเคลื่อนสู่การเป็นมหาวิทยาลัยวิจัย และนี่คือหัวใจสำคัญของการพัฒนามหาวิทยาลัยนเรศวรในช่วงเวลานี้

         • แนวคิดคือ output ที่สำคัญของ IRDA คือ จำนวนผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ ดังนั้น ถ้า IRDA grant ทุนให้กับ “อาจารย์และนิสิตบัณฑิตศึกษา” เพื่อช่วยกันทำวิจัย ย่อมจะได้ผลงานวิจัยที่มากกว่าและดีกว่าการให้ทุนกับ “อาจารย์อย่างเดียว” โดยสรุปคือ อาจารย์มีผู้ช่วยที่ดีที่จะช่วยกันผลิตผลงานวิจัยให้มากขึ้นและดีขึ้น

         • ส่วน output ที่สำคัญของบัณฑิตวิทยาลัยคือ จำนวนและคุณภาพของมหาบัณฑิตและดุษฎีบัณฑิต (ซึ่งก็คือนักวิจัย) ดังนั้น ถ้าบัณฑิตวิทยาลัยร่วมมือกับ IRDA ดี ๆ ก็จะทำให้นิสิตบัณฑิตศึกษาได้ที่ปรึกษาที่ดี ได้มีทุนวิจัย TA/RA จากอาจารย์ที่ปรึกษามาประกอบการคัดเลือกผู้สมัครเข้าเรียนได้เป็นอย่างดีด้วย โดยสรุปคือ นิสิตมีอาจารย์ที่ปรึกษาที่ดี และมีทุนวิจัยมาช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่าย

         • มหาวิทยาลัยควรจะสนับสนุนและส่งเสริมให้บัณฑิตวิทยาลัยและ IRDA เป็น “หน่วยงานกลาง” ที่สามารถมีรายได้เลี้ยงตัวเองเพื่อทำหน้าที่สำคัญให้กับมหาวิทยาลัยได้เป็นอย่างดี โดยไม่เป็นภาระของมหาวิทยาลัย

...................................................................................................................(กลับด้านบน)

GS 2565 
: (5) บัณฑิตวิทยาลัยกับการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรี

         • เครื่องมือ (tools) สำคัญที่จะนำมาใช้ในการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างอาจารย์และนิสิตคือ “การวิจัย” และ “การจัดการความรู้”  โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกิดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญพร้อมๆ กับการให้การศึกษาลักษณะ Innovation-based education (เน้นสร้างองค์ความรู้ มิใช่บริโภคความรู้เพียงอย่างเดียว)

         • บัณฑิตศึกษาแผน ก. เน้นการใช้ “วิจัย” เป็นเครื่องมือหลักในการให้การศึกษา ส่วนแผน ข. เน้นการใช้ “การจัดการความรู้ (Tacit to Tacit, T2T)” เป็นเครื่องมือหลัก

         • จัดให้มีการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบด้านการจัดการศึกษา “ระดับปริญญาตรี” และ “ระดับบัณฑิตศึกษา” อย่างชัดเจน

         • นิสิตระดับปริญญาตรีจะได้รับการดูแลอย่างดีจากรองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและรองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต ตั้งแต่รับเข้าจนจบและเป็นศิษย์เก่า โดยมีกองบริการการศึกษา และกองกิจการนิสิตเป็นหน่วยงานให้การสนับสนุนหลัก

         • นิสิตระดับบัณฑิตศึกษาจะได้รับการดูแลอย่างดีจากรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบัณฑิตศึกษา คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และผู้อำนวยการ IRDA ตั้งแต่รับเข้าจนจบและเป็นศิษย์เก่า โดยมีบัณฑิตวิทยาลัยและ IRDA เป็นหน่วยงานให้การสนับสนุนหลัก

         • กระบวนการที่จะช่วยทำให้ “บัณฑิตวิทยาลัย” ให้เป็น “บัณฑิตวิทยาลัยที่แท้จริง” ดังแสดงในภาพ


 

 ...................................................................................................................

 

อ่านบันทึกถัดไป

 

         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 224316เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2008 15:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ท่านครับ

  • ผมว่าบัณฑิตวิทยาลัย เป็นเสมือนมหาวิทยาลัยซ้อนมหาวิทยาลัยนะครับ
  • บัณฑิตมหาวิทยาลัยของหลายมหาวิทยาลัย ทำตัวเป็นเขื่อนกั้น มากกว่าจะทำหน้าที่หลักคือส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพงานวิจัยครับ
  • ขอบพระคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท