ทำดี...ด้วยหัวใจ


...มันไม่ใช่แววตาที่มีความหวาดกลัวหรือห่างเหินอย่างเช่นที่เคยเห็นจากคนไข้คนอื่นๆ...

เช้าวันนั้นเริ่มเช้าวันทำงานด้วยการรับรายงานจากน้องผู้ไปเยี่ยมประเมินผู้ป่วยก่อนระงับความรู้สึกและผ่าตัดว่าจะมีผู้ป่วยเป็นคุณยายอายุ 81 ปี หายใจเองไม่ไหวต้องเจาะคอและหายใจโดยใช้เครื่องช่วยหายใจช่วยผ่านท่อทางเดินหายใจ(tracheostomy) จะมาทำผ่าตัด Closed Reduction เอากระดูกข้อสะโพกซึ่งผ่านการเปลี่ยนข้อสะโพกมาแล้วที่หลุดกลับเข้าที่

 ผู้เขียนติดตามถามข้อมูลของผู้ป่วยจากแพทย์ พชท./พจบ. ที่ช่วยประเมินไว้ให้เพิ่มเติม เนื่องจากเป็นผู้ป่วยสูงอายุ ปัญหาพื้นฐานด้านร่างกายทั่วไปคงมีเป็นธรรมดา

ด้านการดูแลทั่วไปไม่เป็นปัญหา เพราะในทีมทั้งแพทย์ผ่าตัดทางออร์โธปิดิกส์ พยาบาลส่งเครื่องมือและทีมระงับความรู้สึกวางแผนร่วมกันอย่างดี

แต่เพราะพังผืดยึดเหนียวแน่นทำให้การดึงกระดูกเข้าที่โดยไม่เปิดแผลผ่าตัดที่เรียกว่า Closed Reduction ไม่สามารถทำได้สำเร็จ แพทย์ผ่าตัดจึงขอเปลี่ยนแผนเป็น Open Wiring... ผู้เขียนทักเรื่องของการควรเตรียมเลือดสำรองกรณีฉุกเฉินเพิ่มเติมสำหรับการผ่าตัดชนิดเปิดเพราะคุณยายมีภาวะซีด

แพทย์ผ่าตัดรับฟัง เรารอการเตรียมเลือดสำรองและทำผ่าตัดต่อเมื่อพร้อม ซึ่งสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จในทุกเรื่อง

สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดมิใช่หัวใจสำคัญของเรื่องนี้ที่ผู้เขียนอยากจะเล่าสักนิด

 

...หัวใจของเรื่องอยู่ตรงนี้ต่างหาก...

เมื่อผู้เขียนเห็นผู้ป่วยถูกเข็นเข้ามาในห้องผ่าตัดพร้อมการหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจ ผู้เขียนเห็นคุณยายพยายามยกมือขึ้น...ผู้เขียนรีบเข้าไปหา

“คุณยายขา นี่เป็นห้องผ่าตัด เตียงผ่าตัดมันเล็กและแคบ คุณยายอย่าเพิ่งขยับนะคะ เดี๋ยวตกเตียง”

พร้อมกันนั้นผู้เขียนก็เอื้อมมือไปจับมือคุณยาย คุณยายกุมมือผู้เขียนไว้...

คุณยายจ้องมองและสบตาผู้เขียนราวคนเคยรู้จัก ผู้เขียนจึงถอดหน้ากากตนเองออกพร้อมทั้งยิ้มให้ ...ปากก็ยังคงชวนพูดคุยเพื่อคลายกังวล

เมื่อเตียงผ่าตัดเข้าที่ ผู้เขียนผูกหน้ากากตามเดิมและติดอุปกรณ์ต่างๆเพื่อเตรียมจะเริ่มการดมยาสลบ ขณะรออาจารย์แพทย์ดมยาผู้เขียนยืนข้างๆคุณยายอีกครั้ง คุณยายยกมือมาที่หน้าผู้เขียน เอามือเคาะเบาๆที่หน้ากากของผู้เขียน

“คุณยายอยากให้หนูเอาหน้ากากออกเหรอคะ?...” คุณยายยังจ้องมองหน้าผู้เขียนไม่พูดด้วย แต่คราวนี้เอามือยื่นมาที่คอและคลำที่สร้อยคอที่ผู้เขียนสวม

ผู้เขียนพูดหยอกล้อคุณยายต่อ มองเห็นแววตาที่เปล่งประกายสดใสและดูมีความสุขของคุณยาย

...มันไม่ใช่แววตาที่มีความหวาดกลัวหรือห่างเหินอย่างเช่นที่เคยเห็นจากคนไข้คนอื่นๆทั่วไป...

นี่แหละคือสิ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกว่า...

 วันนี้...ทำได้ดีที่สุด...ด้วยหัวใจ(จริงๆ)...

หมายเลขบันทึก: 403010เขียนเมื่อ 16 ตุลาคม 2010 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 18:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

   เป็นกำลังใจให้คนทำงานนะคะ ขอให้ทีมงานทุกท่านมีความสุขมากๆค่ะ

สวัสดีค่ะพี่กฤษณา

อยู่ใกล้ๆแต่ไม่เคยเจอกัน ติดตามผลงานและชื่นชมพี่มาตลอดค่ะ

น่าชื่นชมค่ะกับการทำงาน การประเมินผู้ป่วย ได้ช่วยเหลือทั้งทางร่างกายและทางจิตใจแก่คุณยาย ให้เวลา พูดคุย สัมผัส จากการแสดงออกคิดว่าคุณยายคงรู้สึกอุ่นใจมากกับการผ่าตัดครั้งนี้

บันทึกนี้เป็นแรงบันดาลใจที่ดีในการทำงานค่ะ ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณยาย

ขอบคุณและเป็นกำลังใจให้คุณยายและเพื่อนๆด้วยเช่นกันค่ะ

สวัสดีค่ะ คุณถาวร

พี่ยินดีมากๆค่ะที่มีเพื่อนร่วมวิชาชีพที่ขยันถ่ายทอดประสบการณ์ นำสิ่งดีๆถ่ายทอดในบันทึกอย่างสม่ำเสมอเช่นคุณถาวร ถือเป็นบุคคลที่ทรงคุณค่าในวงการพยาบาลเราค่ะ

พี่ไม่ค่อยได้ออกไปดูแลผู้ป่วยทางจิตเวช เราเลยไม่ค่อยได้พบกันนะคะ แต่ก็ยินดีมากๆค่ะที่ได้พูดคุยด้วย

หลายครั้งที่เราให้บริการผู้ป่วยแล้วมองข้ามเรื่องของสภาพจิตใจผู้ป่วยไป อาจจะด้วยภาระงานที่รีบเร่ง  จำนวนผู้ป่วยรอคอยมาก ต้อง run case ให้ไว

ครั้งนี้สะท้อนความรู้สึกของตนเองค่ะ... ว่าหลายๆครั้งเรามองข้ามผ่านสายตาที่รอคอย(การพูดคุยด้วย)ไป... คราวนี้จึงถือเสมือนว่าเป็นประสบการณ์ที่"โดนใจ"ตัวเองค่ะ ทำให้ต้องเตือนตนว่า... "ช้าลงสักนิด แล้วจะเห็นอะไรๆที่ชัดเจนขึ้น" (ดังที่อาจารย์ Pheonix เคยกล่าวไว้)

ขอบคุณมากๆนะคะสำหรับคำกล่าวชมที่ทำให้มีกำลังใจทำงานได้ไม่เหน็ดเหนื่อย

ขอบคุณค่ะ

  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาชม มาเชียร์ และมาเป็นกำลังใจให้กับคนทำดี...ด้วยหัวใจค่ะ
  • ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ รักษาสุขภาพด้วยค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

                       

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท