ซ.ซวง
นาย นพรัตน์ รัตนพงศ์ผาสุข

Dialogue ครั้งนี้มีผลลัพท์...แต่ยังจับไม่ถูกแก่น


...กระบวนการ Dialogue นั้นสามารถเทียบเคียงได้กับการต่อ "จิ๊กซอว์"...

23-24 เม.ย. 52  ที่ผ่านมา

ที่ทำงานผมมีการจัดกิจกรรมพิเศษครบรอบ 61 ปี

มีการจัดกิจกรรมฐานการเรียนรู้ต่างๆ มากมาย  ทั้งกิจกรรมด้านส่งเสริมนวัตกรรม ความปลอดภัย เสริมสร้างทีมงานด้วยศาสตร์ "นพลักษณ์"   รวมทั้งรณรงค์สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ๆ ที่จะนำพาหน่วยงานให้ก้าวหน้าไปอย่างมั่นคง   และที่ขาดไม่ได้ก็คือกิจกรรม Dialogue นั่นเองครับ

รูปแบบกิจกรรมจะทำออกมาในลักษณะฐานการเรียนรู้ ใครสนใจเข้าฐานไหนก็ไปลงทะเบียนตามอัธยาศัย  แต่สำหรับ Dialogue นี่ถือเป็นไฟล์ทบังคับ ที่ทุกคนจะต้องกลับมาร่วมกันทำกิจกรรม โดยจัดให้เป็นกิจกรรมที่อยู่ในช่วงท้ายสุด

Dialogue ที่เตรียมกันในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับครั้งที่ผ่านๆ มา  เพราะทีมงานได้รับโจทย์มาว่า อยากจะได้ผลลัพท์อะไรที่เป็นรูปธรรม ที่จับต้องได้

ทีมงานมีความหนักใจมากครับ เพราะทราบดีว่า โดยหลักการของ Dialogue นั้น  มันไม่ได้ถูกใช้เพื่อการหาผลลัพท์  และห้ามคาดหวังผล  แต่ก็ต้องพยายามทำออกมาให้ดีที่สุดเช่นกัน

และนั่นจึงนำมาสู่ ประเด็นที่จะถูกใช้ในวงสนทนา "ร่วมใจฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ"  โดยหวังว่า เสร็จจากกระบวนการ Dialogue น่าจะมีข้อเสนอแนะอะไรดีๆ จากวง เพื่อนำไปปรับใช้ให้ได้จริงๆ

เดิมที กิจกรรม Dialouge นี้ทีมงานวางแผนกันว่าจะเริ่มทำกันในวันศุกร์ที่ 24 เม.ย. 52 เวลาบ่ายโมงครึ่ง  แล้วจะจบที่ประมาณ 3 โมงครึ่ง  แต่เอาเข้าจริงก็ช้ากว่ากำหนดไปประมาณ 20 นาที  จึงจะเริ่มต้นได้   เนื่องจากต้องรอสมาชิกหลายๆ ท่านที่ค่อยๆ ทยอยมา    ทีมงานผิดหวังเล็กๆ ที่คาดการณ์ว่า จะมีคนมาร่วมประมาณ 150 แต่เอาเข้าจริง เหลือเพียง 50 เห็นจะได้   ใจแป้วไปพอสมควร แต่ก็ยิ้มสู้และปลอบใจกันเองเหมือนในหลายๆ ครั้งว่า "เน้นคุณภาพ ไม่เอาปริมาณ"

เริ่มกิจกรรมในครั้งนี้ พี่อ๊อดก็มีการบรรยายทำความเข้าใจเรื่องแนวคิด หลักการ Dialogue  เบื้องต้นประมาณ 40 นาที  

จากนั้นก็ฟังเพลงบรรเลงเบาๆ  สงบจิตใจ ฝึกฟังเสียงของความคิด อีกเป็นเวลาประมาณ 5 นาที

แล้วก็เริ่มให้เหล่าสมาชิกร่วมกันบรรเลงเพลงสนทนากันตามอัธยาศัย

 

หลังจากปล่อยให้แต่ละวง (มีประมาณ 5 วงๆ ละราวๆ 10 ท่าน) สนทนากันไปได้ประมาณ 30 นาที   พี่อ๊อดก็ยุติการสนทนา พักคอฟฟี่เบรก  แล้วก็ให้แต่ละวงช่วยสรุป ประเด็นการสนทนา โดยให้เลือกมาเพียงแค่ 1 ประเด็น เพื่อนำเสนอ

เมื่อทุกวงนำเสนอเสร็จ  ก็เพิ่มสีสันให้สนุกสนานเล็กๆ ด้วยการให้โหวตเลือก ข้อเสนอแนะที่แต่ละวงโดนใจที่สุด  แล้วก็มีการมอบรางวัลเล็กๆ น้อยๆ พอให้สนุกสนาน ประทับใจกันเล็กๆ ก่อนแยกย้ายกันกลับ

และนี่ก็คือบรรยากาศโดยรวมของกิจกรรม Dialogue ซึ่งมีผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรม  ตามที่หลายๆ ฝ่ายอยากจะเห็น

แต่ทว่า....มันยังขาดอะไรบางอย่างที่หายไป

แม้ครั้งนี้จะได้ "ผลลัพท์" ที่น่าพึงพอใจในระดับหนึ่ง

แต่ในมุมมองของทีมงาน ต่างเห็นตรงกันว่า

เรายังสัมผัสไม่ได้ถึง "แก่นแท้" หรือ "จิตวิญญาณ" ของวง Dialogue เลย

หากจะถามว่า แล้วอะไรล่ะ คือ แก่นแท้  หรือคือ จิตวิญญาณ ของการ Dialogue

คำตอบอาจซ่อนอยู่ในเคล็ดวิชา ที่ท่านอาจารย์ ดร.มนต์ชัย พินิจจิตรสมุทร ได้ฝากไว้ให้แก่ทีมงาน

Meaning Flow หรือ Stream of Meaning  (อาจแปลเป็นไทยได้ว่า กระแสแห่ง "ความหมาย" )

ยังขาดหายไปในทุกๆ วงสนทนา

ผลจากการ AAR ของทีมงาน มีข้อสังเกตดังนี้ 

1. ประเด็นการสนทนา "ร่วมใจฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ"  นั้นอาจเป็นหัวข้อที่แคบเกินไป  ที่บีบให้ทุกคนต้องพยายามหาผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรม   ทำให้วงขาดอิสรภาพในการแสดงความคิดเห็น  ซึ่งอาจเป็นผลกระทบมาจากการที่เราต้องการคาดหวังให้มี "ผลลัพท์" ที่เป็นรูปธรรมมากเกินไป  ซึ่งทำให้ขัดกับปรัชญาพื้นฐานของการ Dialogue ที่ไม่ให้คาดหวังผลที่เฉพาะเจาะจง   การพูดคุยในครั้งนี้  จึงทำให้เราไปไม่ถึง Dialogue   ได้เพียงแค่การระดมความคิดแบบ Brain Strom กันเท่านั้น

2. เวลาการสนทนา  เป็นปัจจัยสำคัญอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีผลต่อบรรยากาศการพูดคุยกัน   การเริ่มกำหนดการที่ช้ากว่ากำหนดไปถึงเกือบครึ่งชั่วโมง  ก็เลยมีผลทำให้เวลาในการสนทนาของกลุ่ม ที่เดิมคาดว่าน่าจะได้คุยกันราว 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง ก็ลดลงมาเหลือแค่ประมาณครึ่งชั่วโมง   ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มา พบว่าเวลาที่น้อยขนาดนี้ยากเหลือเกินที่จะเห็นบรรยากาศการพูดคุยแบบ Dialogue ได้

3. ช่วงเวลาที่ Dialogue   บ่ายแก่ๆ ของวันศุกร์แห่งชาติ   คงทำให้ใครหลายๆ คนกระวนกระวายไม่น้อยทีเดียว ที่จะต้องมานั่งสนทนากันในเวลาช่วงนี้      นอกจากนี้  สมาชิกหลายๆ ท่านที่เดินทางมาร่วมงานจากต่างจังหวัด  ก็มีจำนวนหนึ่งที่จะต้องรีบเดินทางกลับ   จึงอาจเป็นเหตุปัจจัยประกอบที่ทำให้รบกวนบรรยากาศการสนทนา  และยังมีผลทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมสนทนาลดจำนวนลงไปมาก

แต่อย่างไรก็ตาม  ปัจจัยหลักของการไปไม่ถึง Dialogue น่าจะมาจากประเด็นหัวข้อการสนทนา  ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงความต้องการผลลัพท์จากการพูดคุยที่เป็นรูปธรรม  อันอาจขัดต่อแนวคิดปรัชญาการพูดคุยแบบ Dialogue

 

ผลการ AAR ของตัวผมเอง ถึงกิจกรรมที่ผ่านมา เป็นดังนี้....

นานมาแล้ว ที่ผมเคยถามตัวเองว่า  Dialogue มันต่างกับการ Brain Strom ตรงไหนกันนะ...

ได้ยินแว่วๆ ถึงเสียงพี่อ๊อดขณะที่ทำ AAR กันว่า

"พี่ว่า Brain Strom มันเป็นคำถามปลายปิด  แต่ Dialogue มันเป็นคำถามปลายเปิด"

ใช่เลยครับ!!!

เมื่อผมย้อนดูกลับไปในบันทึกหลายๆ บันทึก  ที่เราคิดว่าได้พบกับ Dialogue  มันจะมีจุดร่วมประการหนึ่งที่สำคัญก็คือ  "ประเด็น"  การสนทนานั้นจะต้องเป็นประเด็นที่มี Meaning กว้างๆ   เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนทุกคนได้มีโอกาสนำ Meaning ของตัวเองที่ไม่เหมือนใคร  ออกมาแชร์กัน    และหากคนในวงเปิดใจรับฟัง Meaning ของคนอื่น   เราอาจจะได้พบ "ความหมายใหม่"  เราอาจจะได้เห็นกระแสแห่งความหมายใหม่ๆ ที่ไหลเวียนในวงสนทนา  ผมคิดว่า นี่คือนัยยะแห่ง Meaning Flow หรือ Stream of Meaning ของกระบวนการ Dialogue

ผมนึกไปถึงวง Dialogue ครั้งหนึ่งในงาน ตลาดนัดความรู้ เมื่อปี 51 ที่ผ่านมา

ในครั้งนั้นพี่อ๊อดได้ใช้ประเด็นกว้างๆ ให้คนในวงได้แสดงความคิดเห็นเรื่องเกี่ยวกับงาน "ตลาดนัดความรู้" 

ผมจำได้ดีว่า ครั้งนั้น เป็นความบังเอิญที่มีพี่คนนึงในวง (รู้สึกจะเป็น พี่พงศ์ชัย)  ที่ได้แสดงความคิดเห็นต่อความหมายของคำว่า "ตลาดนัด"  ในทำนองว่า ต้องมีผู้ซื้อและผู้ขายความ  ซึ่งตลาดนัดความรู้ก็ควรจะมีความหมายในลักษณะคล้ายๆ กัน  โดยอาจมีหลายๆ ท่านที่อาจนำความรู้มาขาย หรือแลกเปลี่ยนกับท่านอื่นๆ    การพูดคุยในครั้งนั้น ได้ทำให้หลายๆ คน เห็นความหมายใหม่ของงาน "ตลาดนัดความรู้"  และทำให้หลายๆ คน อยากมีส่วนร่วม อยากเข้ามาขายความรู้ที่ตัวเองมี  แทนที่จะทำตัวเป็นผู้ซื้อตลอดไป

ผมกำลังมองว่า  แท้ที่จริง ประโยชน์ของ Dialogue นั้น  มันคือการทำให้ทุกคน ได้คิดร่วมกัน ค้นพบร่วมกัน และเห็นร่วมกันถึง "ความหมายใหม่" เป็นความหมายร่วมที่เกิดได้โดยอาศัยกระบวนการฟังอย่างลึกซึ้ง  เพื่อให้ยอมรับ และเข้าใจ ในมุมมองที่แตกต่างกับมุมมองของเรา   

ผมคิดว่ากระบวนการ Dialogue นั้นสามารถเทียบเคียงได้กับการต่อ "จิ๊กซอว์"   โดยที่ความคิดความเห็นของแต่ละคนก็เหมือน แผ่นจิ๊กซอว์คนละชิ้น    ไม่มีชิ้นของใครชิ้นใดชิ้นหนึ่ง ที่จะทำให้เราเห็นถึง "ภาพรวม" ของจิ๊กซอว์ทั้งภาพได้    ซึ่งหากทุกคนเต็มใจที่จะนำภาพของตัวเองออกมา และเต็มใจที่จะนำชิ้นส่วนของตัวเอง มาต่อร่วมกันกับชิ้นส่วนของผู้อื่นๆ  เมื่อนั้น   ทุกคนจึงจะสามารถเห็นภาพรวมของจิ๊กซอว์ภาพนั้นได้  

 (เหมือนมนุษย์ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์แห่งอารมณ์ทั้งมวล .. อิ ๆ ไม่เกี่ยว ๆ)

ประโยชน์ที่แท้จริงของ Dialogue นั้น มันคือการทำให้เรามีความเข้าใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  ในแง่มุมใหม่ๆ ที่กว้างใหญ่กว่าเดิม  มันเป็นการขยายทัศนะของเรา ด้วยการพยายามทำความเข้าใจทัศนะของผู้อื่น  ซึ่งหากทุกคนทำได้และเห็นภาพรวมเดียวกันได้  การกระทำใดๆ ต่อไปนั้นก็จะง่ายดาย และมีความสอดคล้องกลมกลืนกันมากขึ้น  ทั้งนี้เนื่องจากทุกคนเห็นพ้องในภาพรวมเดียวกัน

ผมคิดว่า Dialogue มิใช่กระบวนการเพื่อแสวงหา คำตอบสุดท้ายของอะไรบางอย่าง   แต่มันน่าจะเป็นกระบวนการแรกๆ  ที่เราควรจะต้องหันหน้าเข้าหากัน เปิดใจ พูดคุย เพื่อให้เห็นในสิ่งเดียวกัน  ที่ไม่ใช่การเห็นไปตามความคิดความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือของใครคนใดคนหนึ่ง   หากแต่เป็นการเห็นเห็นร่วมกันในความหลายหลาย  ที่จะนำไปสู่ภาพรวมเดียวกัน อยากเรียกสั้นๆ ว่ามันเป็น "กระบวนการจูนความคิด ความเข้าใจ หรือความหมายให้ตรงกัน"  และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน

ไม่ว่าจะเป็น Dialogue  Discussion  หรือ Brain Strom   ก็ดี  แต่ละกระบวนการ หรือวิธีการ ย่อมมีปรัชญา แนวคิด ตลอดจนการนำไปใช้ที่แตกต่างกัน   เราก็ควรพิจารณาถึงความแตกต่างของแต่ละกระบวนการให้ถ่องแท้ แล้วเลือกใช้อย่างเหมาะสม   ก็จะเกิดประโยชน์และผลลัพท์สูงสุด

แต่ถึงที่สุดแล้ว ผมคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างก็น่าจะถูกหยิบมาใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์

เราอาจใช้ Dialogue ในตอนเริ่มต้น เพื่อสร้างความเข้าใจ ให้เห็นภาพรวม หรือสร้างความหมายใหม่ๆ ให้เห็นไปในแนวทางเดียวกัน

และเมื่อเห็นพ้องกันแล้วจะ Discussion หรือจะ Brain Strom กันไป ก็จะได้ผลลัพท์หรือคำตอบที่สมบูรณ์ และกว้างขวาง   เพราะไม่ต้องมัวมาทะเลาะกัน อันเนื่องมาจากการที่แต่ละคนมีเข้าใจ และมีความหมายของตนเองที่แตกต่างกันไป คนละทางสองทาง 

และที่กล่าวไปทั้งหมดก็เป็น ความรู้ความเข้าใจอันจำกัดของผมในวันนี้ ที่มีต่อกระบวนการ Dialogue  ครับ

ข้อสรุปและข้อคิดเห็นส่วนตัวต่อกิจกรรมในครั้งนี้จึงพูดได้สั้นๆ ว่า...

Dialogue ครั้งนี้ มีผลลัพท์ (จากการ Brain Strom)  แต่จับไม่ถึงแก่น (ไม่มี Meaning Flow)

เป็นความสำเร็จที่ยังไม่เสร็จดี

และเป็นความอัดอั้นตันใจของใครบางคน ที่ยังรู้สึกไม่สะใจ กับ Dialogue  ที่ไม่ใช่ Dialogue

ก็คงต้องตั้งหลัก ตั้งสติเพื่อตามหา Meaning กันต่อไป

มีใครเห็นบ้างมั๊ยครับว่าตอนนี้มัน Flow ไปไหนแล้วเนี่ย

ช่วยบอกผมทีสิครับ

เฮ้อ!!!.........เหนื่อยจัง แต่ตังค์ยังอยู่ครบ

หมายเลขบันทึก: 259202เขียนเมื่อ 4 พฤษภาคม 2009 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

ตามที่เข้าใจนะคะ Dialogue  คือการกระตุ้นให้เกิดการสนทนา  ซึ่งเป็นการตั้งคำถาม หรือการสนทนาระหว่างกันเป็นกลไกที่สำคัญในการสื่อสาร  เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่ขัดแย้งกัน
Dialogue มีความแตกต่างจากการโต้เถียง  Debate  การสนทนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น  แต่ไม่ใช่การโต้แย้ง ใช่ไหมคะ

เขียนเล่าเรื่องได้ดีมากครับ หากจำได้ ผมเคยบอกเล่าว่า

ความเป็นจริง Dialogue (อันนี้พูดถึง Pure Dialogue)

เราจะได้รับผลงานผ่านทักษะของบุคคลที่มีขึ้น และผ่านกระบวนการอื่น

(ที่เราต้องตั้งเจตนาในมุมกลับไว้ว่า Unpredictable Outcomes)

กระบวนการสนทนาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ แต่นำทักษะแบบ Dialogue ไปใช้

อาจจะเป็น Productive Conversation อันเป็นการ Discussion ที่ไม่มีจุดประสงค์ (High Quality Discussion/ Skillful Discussion)

Pure Dialogue จะเป็นส่วนสร้างเสริมทักษะบุคคลให้เข้มแข็ง

ขณะส่วนอื่นๆ อาจจะก่อให้เกิดผลได้ แต่สองสวนนี้ต้องไม่ connected กัน ครับ

ให้กระบวนการเป็นไปธรรมชาติ โดยทักษะนั้นต้องติดเข้ากับบุคคล เห็นการปป.ในบุคคล โดยหัวใจสำคัญใน Dialogue คือการฟังอย่างละเอียด ครับ

สวัสดีค่ะ

  • พี่คิมมาอ่าน..เพราะอยากรู้ค่ะ
  • รู้เรื่องบ้าง..ไม่รู้เรื่องบ้าง
  • แต่อย่างไร..ก็จะมาอ่านอีกหลาย ๆครั้ง
  • ความคิดจะเปลี่ยนไปเองค่ะ

P

ขอบคุณครับ คุณพี่ Sasinand ที่เข้ามาแลกเปลี่ยนกัน

คุณพี่พูดถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะกรณีที่มีความขัดแย้งกัน 

ในมุมมองผมนะครับ ผมคิดว่า หากมีกรณีที่ขัดแย้งทางความคิดกันอย่างรุนแรง  จะ Dialogue ได้ยากมากๆ  เพราะแต่ละฝ่ายจะมีสภาวะของการปิดกั้นทางใจอยู่ในตัวเป็นพื้นฐาน

ในขณะเดียวกัน คนที่ฝึกทักษะ Dialogue จนชำนาญ  ก็จะไม่มีความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรงระหว่างกัน 

ความขัดแย้งทางความคิดอย่างรุนแรง  และ Dialogue จึงดูเหมือนเป็นสองสิ่งที่ไม่อาจดำรงอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน

ผมคิดว่า ...

วงสนทนาใดเต็มไปด้วยความรุนแรงทั้งทางความคิด และวาจา จะไม่มีทางจะเกิด Dialogue

และในทางกลับกัน  ในการสนทนาแบบ Dialogue  นั้น  มันก็จะไม่มีภาพของความขัดแย้งอย่างรุนแรงให้เห็น   แต่จะเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการยอมรับ สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ จากความหลากหลายทางความคิด  เป็นเอกภาพที่ดำรงอยู่ในท่ามกลางความหลากหลายครับ

ขอบคุณครับ คุณพี่ครูคิม

ผมคิดว่าคุณพี่เองก็ผ่านประสบการณ์ Dialogue มาไม่น้อย

โดยเฉพาะเวลาที่คุณพี่ได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู กับกัลยาณมิตรจากหลายๆ ที่  เช่นเวลาไปที่มหาชีวาลัยของท่านครูบาฯ

ผมคิดว่า บรรยากาศตรงนั้นมันก็น่าจะเป็น Dialogue อยู่แล้ว  เวลาที่เราคุยกัน แลกเปลี่ยนกันฉันท์กัลยาณมิตร   เพียงแต่ไม่มีใครพูด หรือบอกว่ามันเป็นการ Dialogue

ไม่ต้องกังวลเรื่องรู้เรื่อง หรือไม่รู้นะครับ

ยังไงคุณพี่ก็ใช้ Dialogue เป็นโดยไม่รู้ตัวอยู่แล้วครับ

ทักษะประสบการณ์เรื่อง Dialogue สำคัญกว่าความรู้จริงๆ ครับ

ขอขอบพระคุณอย่างสูงครับ ท่านอาจารย์ ดร.มนต์ชัย ที่กรุณาให้เกียรติมาให้ข้อแนะนำที่มีคุณค่ายิ่ง

ขอบคุณที่อาจารย์กลับมาให้สติ ทำให้ต้องกลับมาทบทวนครับถึงวัตถุประสงค์ของการจัด Dialogue ในแต่ละครั้ง ๆ

ผมคิดว่า บางครั้งเราก็ลืมตัวลืมใจ ให้ไปคาดหวังผลลัพท์ ที่อยู่ไกลเกินไป จนละเลยการสร้าง "ทักษะพื้นฐาน" ที่มั่นคง

ต่อไปทีมงานคงต้องนำไปเป็นบทเรียนสำคัญ ที่จะต้องประเมินผู้เข้าร่วม Dialogue ก่อนว่า  มีทักษะ Dialogue กันขนาดไหน

ถ้าให้ผมประเมินด้วยตัวเองตอนนี้ ผมคิดว่า เรายังไม่สามารถไปถึงขั้น High Quality Discussion หรือ Skill Full Discussion ได้เลยครับ

ปัญหาสำคัญของเราน่าจะอยู่ที่เรื่องของ "ความต่อเนื่อง" ที่ยังไม่มีให้เห็น และไม่สามารถพัฒนาทักษะ จนเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในตัวคนได้

ผ่านไปปีครึ่งแล้วนับจากที่อาจารย์มาถ่ายทอด พึ่งจะมีหน่วยงานเดียว ที่ได้ฝึกทักษะไปเป็นครั้งที่ 3  แต่ก็ยังไม่ต่อเนื่องอยู่ดี  หน่วยงานอื่นๆส่วนใหญ่จะมาเรียนรู้กันแค่ครั้งเดียว แล้วก็เงียบไปเลยครับ

ก็คงต้องเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทีมงานจะต้องขบคิดกันต่อไปครับ

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ ที่ยังคงติดตาม ให้กำลังใจ และช่วยประคับประคองมาตลอดเวลา

ผมคิดว่า..ตราบที่อยู่ๆจะเกณฑ์คนมานั่งห้องประชุมแล้วให้ทำ Dialogue

คงได้ผลยากครับ เพราะไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความ"อยาก" แต่ดูเหมือนจะเป็นการ"ยัดเยียด"มากเกินไป

อีกอย่างบรรยากาศไม่เหมาะที่จะ Dialogue ด้วยนะครับ อาทิ

-ความอึกทึกในห้องประชุมและวงข้างๆ

-ความคุ้นเคยของเพื่อนร่วมวง (ไม่คุ้นเคยกัน..คุยกันธรรมดายังไม่ค่อย..)

-หลายท่านไม่ทราบว่า Dialogue คืออะไร กติการมายาทเป็นอย่างไร

พึ่งรู้คร่าวๆกันวันนั้น

(สมมุติว่าผมรู้วิธีขับเครื่องบิน แต่ไม่เคยขับมาก่อน

คงไม่คาดหวังว่าผมจะนำเครื่องขึ้นบินในครั้งแรก..)

(และสมมุติว่า เราแอบคาดหวังอะไรกับมันบ้าง ควรหวังกับกลุ่มคนที่เคยฝึกฝนมาแล้วพอสมควร..)

แก่นแท้" หรือ "จิตวิญญาณ" ของวง Dialogue อยู่ตรงไหน ??

นี่ก็เป็นปัญหาหนึ่งของเหล่า KFC (KI)(อย่างผม)ที่ไม่กล้าหยิบเอาไปใช้สักที

เหมือนเราจะไปบอกคนว่า...สูเจ้าเอ๋ย การบรรลุอรหันต์นี่ประเสริฐสุดนะ

แต่ตนเองก็ไม่เคยบรรลุหรือไม่ใช่อรหันต์...ไม่รู้จะนำทางอย่างไร...

  • เขาพูดกันเล่นๆ ว่า "dialogue นั่น ดอกอะไร"
  • สุดท้าย เราต้อง "ระวังจิต" ตัวเอง ไม่ให้ Down ลงไปกว่าที่ควรจะเป็น..ครับ

ศาสตร์หลายศาสตร์มากมายหลายความเห็น ศาสตร์หลายศาสตร์ย่อมเป็นเช่นความหมาย

ศาสตร์ทุกศาสตร์ต้องซึมลึกเข้าใจกาย ศาสตร์ทุกศาสตร์จะเปลี่ยนได้แค่บางคน

คนเผยแพร่แน่แท้ต้องฟันฝ่า ต้องรู้ค่ารู้เคารพรู้ฝึกฝน

เพราะว่าศาสตร์จะเข้าจิตต้องเตือนตน ต้องอดทนจนอาจสร้างเป็นตำรา

Dialougeศาสตร์นี้มีดีแน่ แต่จะแก้ต้องรักแท้แก้ได้หนา

คนต่างถิ่นต่างที่มีราคา เปลี่ยนคิดเห็นที่ผ่านมายากเจียนตาย

ในพระไตรปิฎกยกพระสูตร พระองค์พูดถึงการฟังเป็นความหมาย

เพราะการฟังฟังยากฟังจากใจ จะทำได้อาจต้องฟังหลายครั้งครา

ขึ้นกับจิตแต่ละดวงที่สะสม หรือเพาะบ่มค้นคิดแสวงหา

แต่ผู้ให้จะย้อนกลับการรับมา ให้มากกว่าให้จากใจใครสุขกัน

ให้ความรู้เพื่อแก้ไขให้ต่อเนื่อง แค่นี้เรื่องDialougeก็สวรรค์

ส่วนผู้รับรับได้เท่าไหรนั้น ต้องติดตามดูแลกันด้วยยินดี

ขอยกย่องผู้ท่องโลกด้วยความรู้ สร้างค่าครูอยู่ในตนเช่นแบบนี้

เชื่อว่าโลกรู้หรือไม่เรารู้ดี ชั่วชีวีไม่ตายเปล่าเราเชื่อกัน

Dialouge วันหน้าหรือวันไหน จงจำไว้ต้องทำอย่างสร้างสรรค์

หาเวทีสำแดงทุกวี่วัน ด้วยจิตมั่นฟังกันด้วยความดี

อู๊ย ๆ ๆ แสบตาจัง ๆ

อยู่ดีๆ มี "เถ้าทุลีทอง" ลอยมาเข้าตาแต่เช้า

ทำให้ต้องขยี้ตาให้หายเคือง

ขยี้เสร็จก็ ตาสว่างกระจ่างใสในบัดดล

ขอบคุณมากๆ จริงๆ ครับ

สำหรับกำลังใจ ข้อแนะนำ และแง่คิดต่างๆ ที่ร้อยเรียงเป็นบทกลอนอันไพเรา เพราะพริ้ง กินใจ จนต้องของประทับไว้ใน "ซวง"

นับถือ ๆ ๆ

เพราะท่านสามารถบูรณาการทั้งกระบวนยุทธกลอน และทั้งความเข้าใจใน Dialogue อันสูงส่ง เข้าไว้ด้วยกันอย่างเนียนๆ

อยากรู้จักกันให้ใกล้ชิดขึ้นอีกนิดครับ

อยากเป็นกัลยาณมิตร

หรือจะให้เป็นศิษย์ก็ยอมครับ

P

ขอบคุณครับ ท่านอาจารย์ beeman

เป็นข้อคิดเห็นที่มีคุณค่ามากเลยครับ

ไม่ทราบว่าผมจะขอสรุปแบบนี้ได้มั๊ยครับว่า...

จะดู "ดอกอะไร" ให้เห็นชัดๆ ต้องหมั่น "ดูจิต" ตัวเองด้วย

P

ตื่นเต้น...ระคนไปกับความตื่นตะลึงพรึงเพริดครับ

ที่ได้เจอพี่ rungxp ที่นี่

(เอ๊ะๆ เมื่อไหร่จะเปลี่ยนเป็น rungvista หรือ rung7 ซะทีล่ะครับ )

 

ไม่คิดว่าจะมีวันนี้...วันที่ชาวชมรม KFC ลูกน้องท่านนายพล KM

จะได้มาพบมาเจอ มาแลกเปลี่ยนกันที่นี่

หวังว่าจะมีชาว KFC รายต่อไป ที่จะเข้ามาแลกเปลี่ยนกันอีกนะครับ

....

ขอขอบคุณพี่ rungxp มากครับ สำหรับเสียงสะท้อนงามๆ ที่จริงใจ และตรงไปตรงมา

เสียงสะท้อนจากพี่ คงเป็นสิ่งที่พวกเราต้องนำมาคิดร่วมกัน และหาหนทางแก้ไขร่วมกัน เพื่อเดินไปพร้อมๆ กันอย่างมั่นคงในอนาคต

ส่วนเริ่มก้าวแรกนั้น

ผมคิดว่าถ้าเราเห็นว่า สิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและมีคุณค่า

ก็ลงมือทำมันไปเถอะครับ

ทำมันทั้งที่ไม่รู้นั่นแหละครับ

แล้วเราก็จะค่อยๆ เรียนรู้ และพัฒนาต่อไป

ผมคิดว่า ไม่มีใครเกิดมาแล้วเป็น "อรหันต์" เลยนะครับ

ก็ต้องไต่ระดับมาจากปุถุชนคนกิเลสหนา

แล้วก็พัฒนาไปทีละนิด ทีละน้อย

วันนึงก็น่าจะไปถึงฝันได้ครับ

....

ขอให้กำลังใจพี่ rungxp นะครับ

ผมว่าอย่างน้อยพี่ก็มีแนวร่วมเป็นผู้บริหารอย่างพี่พงศ์ ที่เข้าใจ Dialogue และน่าจะให้การสนับสนุนได้เป็นอย่างดีแน่ๆ ครับ

ผมเชื่อว่า ด้วยความตั้งใจ และความสามารถขนาดพี่

สบม. จริงๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท