(2550-8-28) : การเดินทางและ (อีก) ต้นทุนของความยุติธรรม ในคดีไต่สวนการตาย


หมายเหตุ: ‘นักสังเกตการณ์ (The Observer)’ เป็นการรวมกันเฉพาะกิจของ ‘ผู้ปฏิบัติงาน’ ในองค์กรที่มุ่งส่งเสริมหลักการปกครองโดยกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชน หากทว่า-ต่างสังกัด เราเห็นว่า-เมื่อข้ามพ้นไปจากเส้น Job Description แล้ว มีข้อมูลและอีกหลายแง่มุมที่ไม่ถูกเอ่ยถึง ...เรื่องราว ผ่าน ‘สายตา’ ของนักสังเกตการณ์จึงเริ่มต้นขึ้น-นอกจากจะเป็นการเพิ่มพื้นที่ให้กับหลายประเด็นที่หล่นหายไป เรายังคาดหวังว่า มันจะเป็นเฟืองเล็กๆ ที่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและความยุติธรรม

การเดินทางและ (อีก) ต้นทุนของความยุติธรรม
ในคดีไต่สวนการตาย
นักสังเกตการณ์ (The Observer)
28 สิงหาคม 2550
 

 -1-

                    “ผมมาศาลทุกครั้ง ...นานกี่ปีผมก็จะมา ผมอยากรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกผม ...มันตายเพราะอะไร”
                          คุณลุงวัย 80 ปีเศษพ่อของ 1 ใน 19 ผู้เสียชีวิตในคดีไต่สวนการตายกรณี
                          สะบ้าย้อย 
คดีหมายเลขดำที่ ช.30/2547 ศาลจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2550

มันเป็นเวลา 2 ปีเศษ ..นับจาก-นัดแรก เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2548-ที่ศาลจังหวัดสงขลาดำเนินคดีไต่สวนการตาย “กรณีสะบ้าย้อย” คุณลุงกับเพื่อนบ้าน รวม 19 ครอบครัว ต้องเดินทางจากบ้านที่สะบ้าย้อยเพื่อมาศาล “กรณีสะบ้าย้อย” เป็นหนึ่งใน 13 จุดใน เหตุการณ์กรือเซะ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 [1} 

สื่อมวลชนรายงานเหตุการณ์ในวันนั้นว่า มีกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบกว่า 20 คนบุกโจมตีหน่วยบริการประชาชน อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา และได้ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทำให้ผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิตจำนวน 19 คน ซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเยาวชนในพื้นที่ที่ยังอยู่ในวัยเรียน เป็นนักกีฬาและชอบช่วยเหลืองานด้านศาสนา เนื่องจากการเสียชีวิตดังกล่าว เป็น การตายโดยผู้อื่นทำให้ตาย (มาตรา 150 วรรคแรก ประมวลวิธีพิจารณาความอาญา) กฎหมายจึงกำหนดว่า จะต้องทำการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย (ม.150 วรรค 3)

ยิ่งไปกว่านั้นกรณีนี้เป็น ความตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ พนักงานสอบสวนจึงต้องทำสำนวนชันสูตรพลิกศพส่งให้พนักงานอัยการภายใน 30 วัน (มาตรา 150 วรรค 4) และเมื่ออัยการได้รับสำนวนดังกล่าว ก็ต้องทำคำร้องต่อศาลเพื่อให้ศาลทำการไต่สวนการตาย ภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับสำนวน (มาตรา 150 วรรค 5)

นับจากวันที่อัยการยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดสงขลาเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2547 และวันที่ 21 กันยายน 2550 ที่จะถึงนี้ คือวันสุดท้ายของการพิจารณาคดี ..รวมเวลาร่วม 3 ปี 6 วัน.. 

อย่างไรก็ดี ใช่ว่ากระบวนการยุติธรรมในคดีไต่สวนการตายนี้จะยุติลงในวันสุดท้ายของการนั่งพิจารณาคดีของศาล ขั้นตอนต่อไปคือผู้พิพากษาจะต้องมีคำสั่งกำหนดนัดวันเพื่ออ่านคำพิพากษา ซึ่งยังไม่มีใครรู้ได้ว่าเมื่อไร และยิ่งไปกว่านั้น คล้ายคลึงกับคำถามของคุณลุง-มันเป็นคำถามในใจของใครหลายคนที่มีประสบการณ์ร่วมกันมาตั้งแต่คดีไต่สวนการตายกรณีกรือเซะ ว่า-แล้วความจริงแบบไหนกันที่เราจะได้รับเป็นคำตอบ ?

 -2-

 ..จากเอกสารของทางราชการระบุว่า กลุ่มเยาวชนดังกล่าวได้ยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ
และได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติราชการตามหน้าที่ใช้อาวุธยิงเพื่อป้องกันตัวเป็นเหตุให้กลุ่มเยาวชนถึงแก่ความตายในที่เกิดเหตุ .. 
[ขณะที่] หนังสือรับรองการตาย ระบุว่าตายเนื่องจากถูกยิงตาย 10 คน โดยไม่บอกอวัยวะส่วนที่ถูกยิง และอีก 8 คนระบุว่า กระสุนปืนทำลายก้านสมองบ้าง ตกเลือดในสมองจากการบาดเจ็บจากกระสุนปืนบ้าง กระสุนเจาะหัวใจบ้าง และไม่มีข้อมูล 1 คน
กรณีจึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ในสถานการณ์ปะทะกันแบบจู่โจมและมีการยิงต่อสู้กัน ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ในที่โล่งแจ้ง (หน่วยบริการประชาชนอ.สะบ้าย้อย และริมรั้วบ้านพักครู) หรือในสถานที่กำบัง (ร้านอาหารสวยนะ) เหตุใดผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่จึงถูกยิงจากข้างหลัง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งถูกยิงที่ก้านสมองซึ่งอยู่ด้านหลังศีรษะบริเวณท้ายทอยถึง
8 คน..”
 

จาก “รายงานการรวบรวมข้อมูลเหตุการณ์ความรุนแรงในภาคใต้  เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547
โดยคณะอนุกรรมการรวบรวมข้อมูลกรณีเหตุการณ์รุนแรงในภาคใต้
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน,
2549, หน้า 18

ภายใต้กระบวนการไต่สวนการตายตามมาตรา 150 แห่งประมวลวิธีพิจารณาความอาญา มันยังไม่ใช่จุดเริ่มต้นของการกล่าวโทษใครสักคนหนึ่งว่ากระทำความผิดทางอาญา และผลของการไต่สวนการตายจะไม่มีการชี้ว่า การกระทำให้คนอื่นเสียชีวิตนั้น เป็นความผิดทางอาญาหรือไม่ เพราะการไต่สวนการตาย ไม่ใช่การวินิจฉัยคำฟ้องในคดีอาญา

ในขณะที่จุดประสงค์ของการชันสูตรพลิกศพ คือ แสวงหาข้อเท็จจริงที่ว่า “ผู้ตายเป็นใครและตายด้วยสาเหตุอะไร” แต่เมื่อความตายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน หรือในระหว่างการควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่ การชันสูตรพลิกศพจะต้องเพิ่มมาตรการตรวจสอบโดยศาล โดยดำเนินกระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และรวบรวมพยานหลักฐานในเบื้องต้น หรือ “การไต่สวนการตาย” เพื่อให้ความเป็นธรรมทั้งแก่ญาติของผู้เสียชีวิต และเจ้าพนักงานว่า “ความตายนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่”

และหากศาลมีคำสั่งว่าความตายดังกล่าวมีสาเหตุจากการกระทำที่ผิดกฎหมาย ขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมทางอาญาจะเริ่มต้นโดยย้อนกลับไปยังพนักงานสอบสวนที่จะพิจารณาทำสำนวนฟ้องส่งต่ออัยการ และอัยการจะพิจารณาทำคำสั่ง “ฟ้อง” ต่อศาล 

ในคดีไต่สวนการตายกรณีกรือเซะ ศาลจังหวัดปัตตานีได้มีคำสั่งว่าผู้ตายทั้ง 32 คือใครบ้าง ระบุสถานที่และเวลาที่เสียชีวิต ส่วนเหตุและพฤติการณ์ที่ตายคือ “ถูกกระสุนปืนและระเบิดถูกอวัยวะสำคัญ” เนื่องจากได้ใช้อาวุธมีดและปืนต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจ ภายใต้การสั่งการของพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี, พันเอกมนัส คงแป้น และพันโทธนภัทร นาคชัยยะ[2] 

จากคำสั่งของศาลจังหวัดปัตตานี อาจทำให้เข้าใจว่าโจทย์ ของมาตรา 150 ได้รับคำตอบครบถ้วนแล้ว หากทว่า มีข้อน่าสังเกตคือ อาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้คือ ปืน เครื่องยิงระเบิดอาร์ พี จี รวมถึงเครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79 [3] กลับไม่ปรากฎในเนื้อหาตอนท้ายของคำสั่งศาลจังหวัดปัตตานี

ซึ่งนั่นเท่ากับประเด็นนี้ไม่ถูกนำมาพิจารณาเพื่อ “ชี้” ไปถึงประเด็นที่ว่า ความตายที่เกิดขึ้นนั้น เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ [4]

ซึ่งประเด็นนี้สำคัญ เพราะมันเป็น เจตนารมณ์ที่แท้จริงของการไต่สวนการตาย เช่นเดียวกับเป็นคำถามสำคัญของญาติผู้เสียชีวิต... 

นับจากการยื่นคำร้องไต่สวนการตายในกรณีกรือเซะ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2547 จนถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 ที่ศาลจังหวัดปัตตานีมีคำสั่ง ..เป็นระยะเวลาร่วม 2 ปี 4 เดือน สำหรับการแสวงหาความจริงในความตายที่มัสยิดกรือเซะ

  -3- 

ระหว่างการพิจารณาคดีไต่สวนการตายกรณีกรือเซะ และกรณีสะบ้าย้อย --ผ่านสายตาของ นักสังเกตการณ์.. 

เช่นเดียวกับคดีทั่วไป ในห้องพิจารณาคดี นอกจากจะมีผู้พิพากษา อัยการและทนายความแล้ว ญาติของผู้เสียชีวิตจำนวนหนึ่งก็มาร่วมรับรู้การก้าวเดินของกระบวนการยุติธรรมด้วย-เกือบทุกนัด นอกจากนี้ยังมีบุคคลทั่วไปมาร่วมสังเกตการณ์บ้างเป็นครั้งคราว “เกือบทุกนัด” นั้น หมายความว่า ภายใต้กระบวนการ “พิจารณาคดีต่อเนื่อง” ที่แต่ละเดือน นัดเกือบทุกอาทิตย์ และอาทิตย์ละ 4 วันติดต่อกัน

จริงอยู่ว่า เพื่อให้คดีดำเนินอย่างต่อเนื่องไปอย่างรวดเร็ว แต่ความต่อเนื่องและรวดเร็วรูปแบบนี้ ก็มี ต้นทุน ในตัวเอง ครอบครัวผู้เสียชีวิตเป็นเพียงชาวประมง หรือไม่ก็ชาวบ้านที่ยังชีพด้วยการรับจ้างรายวัน มีความแตกต่างอย่างหนึ่งที่ไม่อยากจะเรียกว่ามันเป็น “โชคดี” ..แต่มันก็กลายเป็นเงื่อนไขที่ดี เมื่อเทียบกับญาติผู้เสียหายในคดีไต่สวนการตายคดีอื่น

กรณีของสะบ้าย้อย-ญาติผู้เสียหายได้รับเงินสนับสนุนการเดินทางมาศาลจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นเงินภายใต้การเยียวยาของภาครัฐ ทุกนัดพิจารณาคดี ที่หน้าห้องพิจารณาคดีไต่สวนการตายกรณีสะบ้าย้อย ญาติของผู้เสียชีวิตจะมาถึงก่อนใครๆ

คุณลุง เล่าให้ฟังว่า คุณลุงกับเพื่อนบ้านทั้ง 19 ครอบครัว มาศาลเกือบทุกนัด อาจมีบางครอบครัว ที่สักนัดหรือ 2 นัดที่มาศาลไม่ได้

..ออกจากบ้านกันตั้งแต่หกโมงเช้า บางคนห่อข้าวเช้ามากินในรถ มาถึงศาลก็เกือบเก้าโมงเช้า

“เข้าใจบ้าง ไม่เข้าใจบ้าง ไม่ได้เข้าใจทุกอย่าง ไม่เข้าใจก็มี”

คุณลุงตอบยิ้มยิงฟัน กับคำถามของนักสังเกตการณ์ที่ว่า เข้าใจที่ทนายกับอัยการพูดหรือเปล่าคะ?” 

เรื่องนี้เป็นความจริงที่สุด ผู้เสียหายและญาติผู้เสียหายเป็นคนไทยดั้งเดิมในพื้นที่ที่ยังคงเอกลักษณ์การสื่อสารโดยใช้ภาษาพื้นถิ่น เมื่อต้องมาฟัง “ภาษากฎหมาย” อาการเบื้องต้นจึงเป็นอาการร่วมของหลายคนที่ไม่ได้ร่ำเรียนกฎหมายมา คือหลายคนได้ยินได้ฟังภาษากฎหมายแล้วถึงกับส่ายหน้า!!

 “ถามทนาย ตรงไหนไม่เข้าใจก็ถามให้เขาพูดให้ฟังอีกที” 

โดยวิธีนี้-ความรับรู้และความเข้าใจของคุณลุงและญาติคนอื่นๆ ต่อคำถามและเรื่องราวภายในห้องพิจารณาคดีจึงไม่ใช่เรื่องยาก

แม้รอยยิ้มตาหยีของคุณลุงจะเป็นเสน่ห์เฉพาะตัว แต่ท่าทีดูเขินอายกับคนแปลกหน้า หากทว่าเป็นมิตรนั้น กลับเป็นลักษณะร่วมกันของหลายครอบครัวในคดีนี้

หลายครั้งที่คำถามทั้งในเชิงชวนคุยและถามเอาความของ นักสังเกตการณ์ จะเต็มไปด้วยความระมัดระวัง ด้วยไม่ต้องการไปย้ำซ้ำความรู้สึกของผู้เป็นพ่อแม่ และเมียผู้สูญเสีย แต่ระหว่างการสนทนาจนถึงวันสุดท้ายของการพบกันที่ศาล คำตอบต่อหลายคำถามทำให้ นักสังเกตการณ์ เรียนรู้ถึงความเข้มแข็งของผู้สูญเสีย โดยเฉพาะความอดทนอย่างมุ่งมั่นที่จะรอคอยผลของการค้นหาความจริงจากกระบวนการยุติธรรม

-4- 

         เอ็นจีโอพามาหรือเปล่า ..”
          “เปล่า พวกเรามากันเอง พวกเราเป็นญาติของผู้ตายจริงๆ
        
[ผู้พิพากษาพูดต่อว่า “มาแบบนี้ ก็เสียเงินค่าใช้จ่ายเยอะน่ะสิ” ]
         ...ถึงมาแล้ว ต้องเสียค่าใช้จ่ายเยอะ เราก็ยังอยากจะมา
 
                  
ญาติของผู้เสียชีวิตในคดีไต่สวนการตายกรณีตากใบ (คดีหมายเลขดำ ที่ ช.16/2548) ที่เข้ารับฟังการพิจารณาคดี ตอบคำถามของผู้พิพากษาศาลจังหวัดสงขลา เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2550

วันนั้น-เป็นครั้งที่ 2 ที่ที่นั่งสำหรับผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีมีคนนั่งเต็ม ..นัดอื่นๆ นั้น ว่างเปล่า

วันนั้น-ญาติผู้เสียหายมากัน 5-6 ครอบครัว จำนวน 7-8 คน ล้วนเป็น สาว-สาวมีชายหนุ่มเพียงคนเดียวซึ่งทำหน้าที่ขับรถ ก่อนแยกย้ายกันไปพักเที่ยง ผู้พิพากษาเอ่ยถามญาติๆ ว่า “จะอยู่ฟังการพิจารณาจนเสร็จการสืบวันนี้หรือเปล่าครับ?

ญาติรายหนึ่งได้ลุกขึ้นยืนตอบศาลว่า “คงกลับตอนประมาณบ่าย 2 เพราะตอนนี้สถานการณ์ไม่ค่อยดี เรือใบ เต็มไปหมด”

ด้วยสารพัดเหตุผลในใจ ..มื้ออาหารเที่ยงวันนั้น นักสังเกตการณ์ จึงขอตามไปด้วย บนโต๊ะอาหารวันนั้น รสชาติอาหารมุสลิมแตกต่างออกไปจาก 3-4 ร้านเจ้าประจำเล็กน้อย

มีคุณน้าคนหนึ่งพกห่ออาหารมาจากบ้าน ด้วยคำถาม-จึงได้รับคำตอบว่า-พวกเธอมีเงินกองกลางสำหรับค่าน้ำมันจากนราธิวาส ที่จริงวันนี้จะมีคนมาเยอะกว่านี้ แต่หลายคนเปลี่ยนใจเช้าวันนี้เอง ด้วยเหตุผลว่า

“กลัว ไม่กล้ามา” 

กลุ่มญาติเดินทางกลับนราธิวาสหลังจากอาหารเที่ยง ทุกคนบอกว่า จะมาอีก แต่คงมาต่อเนื่อง 4 วันตามที่ศาลนัดแต่ละอาทิตย์ไม่ได้

การสูญเสียสามีหรือลูกชายคนโตจากกรณีตากใบ ทำให้หน้าที่หลักในการหาเลี้ยงครอบครัวกลายเป็นภาระใหม่สำหรับพวกเธอ เพิ่มเติมขึ้นจากหน้าที่ดูแลลูกๆ

หลังจากวันนั้น ที่นั่งสำหรับผู้เข้าฟังการพิจารณาคดีกลับมาว่างเปล่าเหมือนเดิม..

ร่วมเดือนถัดมา ..หัวค่ำของเย็นวันหนึ่ง เสียงจากเพื่อนนักข่าวที่พบกันบ่อยๆ ในคดีนี้ส่งข่าวมาว่า หนึ่งในญาติผู้เสียหายที่มาศาลวันนั้น ถูกเอ่ยถึงโดยถูกทักว่าเป็น “พวกรับจ้างพาญาติมาศาล”

..ความกังวลในใจของเธอเพิ่มขึ้น หลายคนติดต่อเธอไม่ได้ เธอปิดเครื่องไม่รับสายใครอยู่พักใหญ่.. 

ความตายที่ตากใบซึ่งเกิดขึ้นเมื่อตุลาคม 2547 เพิ่งจะเข้าสู่กระบวนการไต่สวนการตายเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2550 โดย 4 นัดแรกเป็นการสืบพยานผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับการชันสูตรพลิกศพ ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี

หลังจากนั้นมา การพิจารณาคดีดำเนินต่อโดยศาลจังหวัดสงขลา โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 5 มิถุนายน 2550 เป็นต้นมา พยานจำนวน 300 รายชื่อ ที่อัยการยื่นตามบัญชีระบุพยาน จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2550 สืบพยานไปแล้วเกือบ 20 ราย

โดยหลักแล้ว คดีนี้น่าจะได้รับการพิจารณาคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส แต่อัยการทำเรื่องขอโอนมายังศาลอาญาที่กรุงเทพ ด้วยเหตุผลของ ความปลอดภัยแต่เนื่องจากเพื่อการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และประโยชน์ของญาติผู้เสียหาย ทนายความของผู้เสียหายจึงคัดค้านคำขอดังกล่าว ท้ายที่สุดคดีจึงมาตกอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดสงขลา

มีข้อสังเกตเพิ่มเติมถึงการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของญาติผู้เสียหายในกรณีคดีการไต่สวนการตาย.. การมาร่วมแสวงหาความจริงไปกับกระบวนยุติธรรม หรือความสามารถในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม (access to justice)

มิใช่ลำพังเพียงการใช้สิทธิและเสรีภาพที่กฎหมายและรัฐธรรมนูญรับรอง หากยังมี หลายอย่างที่ต้องแลกเปลี่ยนเพื่อได้มา ไม่ว่าจะเป็นการเดินทางที่หมายถึงค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายประจำเดือน อาทิ ค่ารถ ค่าน้ำมันมาศาล กรณีกรือเซะครอบครัวผู้เสียชีวิตเดินทางจากบ้านมาศาลจังหวัดปัตตานี, กรณีสะบ้ายย้อย เดินทางจากอำเภอสะบ้าย้อยมาศาลจังหวัดสงขลา (กรณีสะบ้ายย้อย เป็นกรณีเดียวที่ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับเงินช่วยเหลือสำหรับค่าเดินทางมาศาล) กรณีตากใบจากตำบลตากใบ จ.นราธิวาส-จ.ปัตตานี-ศาลจังหวัดสงขลานราธิวาส 255 กิโลเมตร (33+126+96 กิโลเมตร), ค่าอาหารกลางวัน, มื้อเย็นหิ้วท้องกลับไปกินข้าวที่บ้าน, การสูญเสียรายได้ต่อวัน, การต้องรีบกลับบ้านให้เร็วที่สุด..

ซึ่งบางครั้งอาจหมายถึงระยะเวลาในการร่วมค้นหาความจริงไปกับกระบวนการยุติธรรมในแต่ละวันที่มา ต้องลดจำนวนชั่วโมงลงไป, การเผชิญกับ เรือใบ--ความเสี่ยงที่มองไม่เห็น ไม่ว่าจะนับตั้งแต่ออกจากบ้าน ระหว่างเดินทาง และแม้ว่าจะกลับไปถึงบ้านแล้วก็ตาม.. กรณีของหนึ่งในครอบครัวผู้เสียหายจากกรณีตากใบเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เป็นกรณีตัวอย่างที่ดี.. 

ที่สำคัญ.. ต่อร่องรอยของ (ตัวอย่าง) ต้นทุนของความยุติธรรมเหล่านี้ แล้วความจริงแบบไหนกันที่พวกเราจะได้รับเป็นคำตอบ?

เชิงอรรถ
[1] เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 สื่อมวลชนได้รายงานข่าวมีกลุ่มคนจำนวนหนึ่งก่อความไม่สงบ บุกเข้าทำร้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทำลายทรัพย์สินของทางราชการ โดยได้ดำเนินการพร้อมกันในพื้นที่ 3 จังหวัดคือ สงขลา ปัตตานี และยะลา ทั้งหมด 13 จุด ได้แก่ (1) ป้อมตำรวจสะบ้าย้อย อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา (2) ฐานปฏิบัติการกองร้อย ร.4151 กิ่งอำเภอกรงปีนัง จ.ยะลา (3) ที่ว่าการอำเภอกรงปีนัง จ.ยะลา (4) สถานีตำรวจภูธรกิ่งอำเภอกรงปีนัง จ.ยะลา (5) จุดตรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ (นปพ.) (6) ฐานปฏิบัติการตำรวจตะเวณชายแดน 4202 ม.2 บ้านบาเจาะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา (7) ฐานปฏิบัติการทหารที่ 4151 บ้านบัวทอง ต.บ้านแหร อ.ธารโต จ.ยะลา (8) ฐานปฏิบัติการทหาร ตำบลตาเซ๊ะ อ.เมือง จ.ยะลา (9) ฐานปฏิบัติการตำรวจตะเวณชายแดน ชุดสันตินิมิตร บ้านบาโงย ต.บาโงย อ.รามัน จ.ยะลา (10) มัสยิดกรือเซะ อ.เมือง จ.ปัตตานี (11) ฐานทหาร ต.ตาเสน อ.เมือง จ.ปัตตานี (12) จุดตรวจบ้านเกาะหม้อแกง ต.ท่าตำซา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี (13) สถานีตำรวจภูธรอ.แม่ลาน จ.ปัตตานี
[2] “....จึงมีคำสั่งว่าผู้ตายคือ นายสการียา ยูโซ๊ะ นายนาซามี ดอแต นายฮามะ สาและ นายรอลือรี ดอเลาะ นายดือราเซะ หะยีดอเลาะ นายนุ๊ ดอเลาะแม นายวัสรี ละแมะ นายดูแลดาโอะ อูแวลือโมะ นายอิบรอเฮม บูตัดสา นายบาฮารูดิ้ง สาและ นายมาสาและ กาซอ นายมะสอและ สาและ นายมะแอ หะหลี นายอับดุลรอซะ ลูโบะ นายไซนูดิน มะหะหมัด นายดับดุลเลาะ อาแว นายซัมซูดิน กาลอ นายอดุลย์ ละแม ชายไม่ทราบชื่ออายุ ประมาณ 30 ปี เศษ ไม่ทราบเชื้อชาติสัญชาติ นายอับดุลราซิ มามะ นายอับดุลเลาะ หวังหลี นายวาหะ มะเด๊ะแล นายสะมาแอ ลาเตะ นายมูฮัมหมัด สาและ นายอับดุลเลาะ สะแลมัน นายสุลกิฟลี จินตรา นายอัสรี โด๊ะแว นายซาการียา สาและ นายอิบรอฮิม ซาเระ นายดลรียะ เดสุหลง นายอิสมัน อีแด นายมะยาลี ดอเลาะ ทั้งหมดตายที่ตำบลตันหลงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 สำหรับนายฮามะ สาและ นายนาซามี ดอแต นายมู ฮัมหมัด สาและ นายอิบรอเฮม ซาเระ ตายเวลา 5 นาฬิกา ผู้ตายที่เหลือตายเวลา 14 นาฬิกา เหตุและพฤติการณ์ที่ตาย คือ นายฮามะ สาและ นายนาซามี ดอแด นายมูฮัมหมัด สาและ นายอิบรอเฮม ซาเระ ได้ใช้อาวุธมีดและปืนต่อสู้กับเจ้าที่ทหารตำรวจ ประจำป้อมจุดตรวจกรือเซะหลายคน ส่วนผู้ตายที่เหลือได้ใช้อาวุธมีดและปืนต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ที่ปิดล้อมมัสยิดกรือเซะภายใต้การสั่งการของพลเอกพัลลภ ปิ่นมณี พันเอกมนัส คงแป้น และพันโทธนภัทร นาคชัยยะ ผู้ตายทั้งหมดถึงแก่ความตายเนื่องจากถูกกระสุนปืนและระเบิดถูกอวัยวะสำคัญ”, ดู คำสั่งศาลจังหวัดปัตตานี คดีหมายเลขดำที่ ช.4/2547 คดีหมายเลขแดงที่ ช.3/2549 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549 
[3] คำสั่งศาลจังหวัดปัตตานี คดีหมายเลขดำที่ ช.4/2547 คดีหมายเลขแดงที่ ช.3/2549 เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2549
 

[4] ณรงค์ ใจหาญ, “หลักกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เล่ม 1, พิมพ์ครั้งที่ 8, 2547, หน้า 321.

หมายเลขบันทึก: 160833เขียนเมื่อ 22 มกราคม 2008 23:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 เมษายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท