แนวทางการเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง


เขียนขึ้นมาจากความกังวลของกลุ่มผู้ปกครองที่ต้องการให้ลูกมีความเชื่อมั่นในตัวเอง

 

การเพิ่มความเชื่อมั่นในตนเอง

 

1.   ลดความคาดหวังของผู้ปกครองลงบ้าง อย่าให้ลูกที่คุณรักเป็นทุกอย่างในสิ่งที่คุณอยากให้เป็น เพราะคนเรามีศักยภาพและความสามารถแตกต่างกัน

 

2.   อย่าสร้างความกดดันให้ลูก โดยการให้ลูกทำทุกอย่างที่ผู้ปกครองคาดหวัง อยากให้มี อยากให้ได้ อยากให้เป็น แต่ตัวผู้ปกครองลืมถามน้องว่าสิ่งที่ผู้ปกครองให้น้องมี น้องได้ น้องเป็น ว่าจริงๆแล้วเป็นสิ่งที่น้องอยากมี อยากได้ อยากเป็นหรือไม่

 

3.   ผู้ปกครองควรมีความเข้าใจในศักยภาพและความสามารถของน้อง อย่าพยายามเร่งให้น้องทำกิจกรรมต่างๆมากจนเกินไป เพราะศักยภาพหรือความสามารถบางอย่างถ้ายังไม่ถึงวัยที่ควรจะทำได้ บางทีผู้ปกครองสอนน้องเท่าไหร่ น้องก็ยังทำได้ไม่ดีและอาจจะเกิดผลเสียตามมามากกว่าสิ่งที่ผู้ปกครองต้องการ

 

4.   แต่ละคนมีความแตกต่างกัน อย่าพูดหรือแสดงกิริยาเปรียบเทียบลูกที่คุณรักกับเพื่อนของลูก แต่ให้ดูที่ความพยายามหรือความตั้งใจของลูกที่คุณรักมากกว่าการดูที่ผลงานอย่างเดียว

 

5.   พฤติกรรมหรือการแสดงออกของน้องบางอย่างเป็นพฤติกรรมตามวัย ไม่ควรวิตกกังวลมากจนเกินไปแต่ไม่ใช่ไม่สนใจหรือไม่ใส่ใจ ถ้าพฤติกรรมหรือการแสดงออกนั้นไม่เหมาะสม ผู้ปกครองต้องค่อยๆแสดงออกให้น้องดูถึงการแสดงพฤติกรรมที่เหมาะสม หรือพูดสอนน้องผ่านนิทานถึงพฤติกรรมหรือการแสดงออกที่ไม่เหมาะสมว่าไม่ดีหรือไม่เหมาะสมอย่างไร

 

6.   ผู้ปกครองควรให้โอกาสน้องในการเลือกคิด ทำ ตัดสินใจ ด้วยตนเอง และเคารพในการคิด ทำ ตัดสินใจ ของน้อง แม้การคิด ทำ ตัดสินใจในบางครั้ง อาจไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นที่ชื่นชอบของผู้ปกครอง แต่ผู้ปกครองควรให้น้องได้มีประสบการณ์คิด ทำ ตัดสินใจด้วยตนเองเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติ

 

7.   ผู้ปกครองควรให้โอกาสและเวลาในการทำกิจกรรมต่างๆของน้อง อย่าเพิ่งไปแทรกการทำกิจกรรมของน้อง ถึงแม้น้องจะทำไม่ถูก ไม่เหมาะสม เพื่อให้น้องได้มีโอกาสเรียนรู้การแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

 

8.   ให้โอกาสน้องในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวน้องด้วยตนเองก่อน (ไม่อันตราย) ก่อนที่ผู้ปกครองจะเข้าไปแทรกหรือเข้าไปช่วยเหลือ แล้วผู้ปกครองค่อยๆพูดเสนอความคิดเห็น เช่น ถ้าเป็นคุณแม่นะ คุณแม่จะทำ.......................น้องไก่คิดว่าไงคะ

 

9.   ในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต บางอย่างน้องทำได้ยังไม่ดีหรือไม่เรียบร้อย ผู้ปกครองอย่าเพิ่งไปตำหนิ ให้พูดชมถึงความพยายามและความตั้งใจของน้อง

 

10. เวลาพูดสอน/แนะนำน้อง ให้ใช้คำพูดด้านบวกอย่าพูดตำหนิหรือคำพูดด้านลบ และควรมองน้องในแง่บวกมากกว่ามองในแง่ลบ

11. ผู้ปกครองควรให้โอกาสน้องทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต โดยไม่มีเงื่อนไขบ้างในบางสถานการณ์/เหตุการณ์ เพื่อให้น้องได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงด้วยตนเอง (ถูก ผิด เรียนรู้ด้วยตนเอง)

 

12. อย่ารำคาญ หรือห้ามเมื่อน้องอยากเข้าไปทำกิจกรรมต่างๆที่ผู้ปกครองทำ (ถ้ากิจกรรมที่ผู้ปกครองทำมีอันตราย ผู้ปกครองค่อยๆพูด แนะนำ หรืออธิบายให้น้องฟังว่าเพราะอะไรผู้ปกครองถึงห้าม ภาษาที่ใช้ในการพูด แนะนำ หรืออธิบาย ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สั้น และกระชับ)

 

13. ให้น้องลงมือทำกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จได้ด้วยตนเอง กิจกรรมที่ให้น้องทำไม่ควรเป็นกิจกรรมที่ยากเกินความสามารถและมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน เมื่อน้องสามารถทำได้ ผู้ปกครองปรับกิจกรรมให้มีความยากและซับซ้อนขึ้น

 

14. ให้น้องได้มีโอกาสเลือกทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตด้วยตนเอง เช่น เสื้อผ้า หรือการทำกิจกรรมต่างๆในชีวิตประจำวัน เพียงผู้ปกครองช่วยดูแลความเหมาะสม

 

15. ให้น้องได้มีส่วนร่วมในการดูแลบ้าน เช่น ช่วยจัดช้อนส้อมวางบนจาน เพื่อให้น้องเรียนรู้การเป็นส่วนหนึ่งในบ้านและฝึกความรับผิดชอบให้กับน้อง

 

16. ผู้ปกครองควรให้น้องมีเวลาพักผ่อนเล่นตามอัธยาศัยบ้าง อย่าทำให้น้องสูญเสียเวลาแห่งความเป็นเด็กเลย และการเรียนรู้ของเด็กส่วนมากมาจากการเล่น สิ่งที่ผู้ปกครองควรคำนึงถึงคือการเลือกซื้อของเล่นหรือสื่อที่จะนำมาให้น้องเล่น และในการเล่นตามอัธยาศัยผู้ปกครองควรมีการจัดตารางเวลาที่ชัดเจน และให้น้องเป็นคนเลือกเองว่าตนเองจะเล่นอะไร เล่นเสร็จเอามาเก็บ ถึงจะมีโอกาสเลือกของเล่นชิ้นใหม่ (ถ้าเวลาในการเล่นยังไม่หมด)

 

17. หาเวลาทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น น้องเด็ดผัก คุณพ่อสับหมู คุณแม่เป็นคนผัด เพื่อให้น้องเรียนรู้การทำงานร่วมกัน เราเก่ง/ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องช่วยกันทำ

 

18. ให้โอกาสน้องได้มีส่วนร่วมในการวางแผนทำกิจกรรมต่างๆในครองครัว เช่น วันหยุดจะไปทานอาหารที่ร้านไหนดี ให้แต่ละคนเสนอความคิดเห็นและบอกเหตุผล และลงคะแนนเสียง ยอมรับฟังเสียงส่วนใหญ่ (ผู้ปกครองไม่ควรตามใจน้องตลอด เพื่อฝึกให้น้องได้เรียนรู้การเคารพเสียงส่วนใหญ่ ความผิดหวัง ไม่เป็นไปตามที่ตนเองต้องการ เพื่อที่น้องจะได้ลดการเอาแต่ใจตนเอง ได้เข้าใจกฏ กติกา ของสังคม เพราะในชีวิตจริงไม่มีใครเข้าใจและทำตามในสิ่งที่น้องต้องการได้ตลอด)

 

19. อย่าซื้อของให้น้องง่ายเกินไป ควรคำนึงถึงความเหมาะสมและความจำเป็น และควรฝึกให้น้องอดออม สะสมเงินเพื่อซื้อของที่น้องอยากได้หรือสะสมแต้ม เพื่อที่น้องจะได้ภาคภูมิใจในสิ่งของที่น้องได้มาจากการสะสมการทำความดี

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 173201เขียนเมื่อ 26 มีนาคม 2008 15:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นคำแนะนำที่ดีมากๆ ครับ สำหรับผูปกครอง พ่อแม่

ที่ควรนำเอาไปใช้

ขอบคุณมากครับ

บทความดีๆขออนุญาตนำไปรวมครับ  ขอบคุณมากครับ

                                                                    รวมตะกอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท