จิตฝึกดนตรี...ชีวิตสุขใจ


ขอขอบคุณทีมงาน G2K ที่ช่วยประชาสัมพันธ์โครงการวิจัยนี้และขอขอบคุณอาสาสมัครผู้สูงอายุกับทีม OnetoFive Piano อ่านรายละเอียดที่ http://gotoknow.org/blog/otpop/368406

วันพระวันนี้...ผมรู้สึกปิติยินดีที่โครงการวิจัยการฝึกดนตรีในผู้สูงอายุไทยโดยร่วมมือกับทีมนักดนตรีบำบัดจาก One to Five Piano (หัวหน้าทีม อ.ตรีรัตน์ อ.อ๋า และ อ.พล) กับคุณหมออุดม ตลอดจนอาสาสมัครผู้เข้าร่วมโครงการที่มีความมุ่งมั่นและเสียสละเวลามาร่วมฝึกดนตรีรวม 7 สัปดาห์ๆ ละครั้ง ทุกวันจันทร์ เวลา 9.00-12.00 น. ณ ห้องปฏิบัติการกิจกรรมบำบัด คณะกายภาพบำบัด ม.มหิดล ศาลายา

เหตุผลที่ผมรับรู้สุขภาพจิตของตนเองด้วยความสุขแห่งชีวิตที่เรียกว่า "สุขใจ" เพราะอาสาสมัครสามท่านแรกของโครงการฯ ได้ประสบความสำเร็จในการฝึกดนตรีจนครบ 7 ครั้งและสามารถใช้จิตรับรู้การทำงานของสมองผ่านระบบการมองเห็น การได้ยิน และกายสัมผัสเคลื่อนไหวนิ้วมือทั้ง 10 บนเครื่องดนตรี และเล่นดนตรีด้วยความสุขทางจิตใจได้ไพเราะอย่างน่ามหัศจรรย์

แววตาที่เปล่งประกายบนใบหน้าที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มปรากฎขึ้นกับอาสาสมัครทั้ง 3 ท่าน และทุกท่านเคลื่อนไหวนิ้วมือทั้ง 10 อย่างคล่องแคล่ว ผมได้ลองวัดเวลาการตอบสนองทางจิตประสาทสรีรวิทยาเบื้องต้นพบว่า ทั้ง 3 ท่านมีเวลาตอบสนองเร็วขึ้นเป็นคู่ระบบ เช่น ระบบกายสัมผัสกับระบบการมองเห็น ระบบกายสัมผัสกับระบบการได้ยิน เป็นต้น

สิ่งที่ผมสังเกตในฐานะนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม คือ "สัมพันธภาพทางจิตสังคมที่งดงามระหว่างทีมนักดนตรีบำบัดและผู้สูงอายุที่ฝึกดนตรีได้ตามโปรแกรม" ผู้สูงอายุมีความมั่นใจในการแสดงอารมณ์และความคิดอย่างเปิดใจและใสสะอาด การแสดงสีหน้าท่าทางและการสื่อสารเต็มเปี่ยมไปด้วยความจริงใจและความสุข

ผมเกือบหลั่งน้ำตาเมื่อเห็นแววตาของผู้สูงอายุท่านหนึ่งที่กล่าวลาว่า "เสียดาย ไม่อยากเรียนจบแค่วันนี้ อยากมีโอกาสได้พบอาจารย์อีก ขอบคุณสำหรับความสุขที่โครงการวิจัยนี้ได้แบ่งปัน จบการฝึกดนตรีแล้วหรือนี่ ลาก่อนแล้วคงได้มีโอกาสพบกันนะ"

ผมได้ขอชื่อ ที่อยู่ และเบอร์ติดต่อ เพื่อรวบรวมไว้ในการนัดหมายผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ จนครบโปรแกรม มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักดนตรีบำบัด (อ.ตรีรัตน์ เสริมว่าควรจัดตั้งเป็นชมรมผู้สูงอายุสุขภาพดีด้วยดนตรี - อาจมาเล่นฝึกดนตรีที่ท้าทายและร้องประสานเสียง) ซึ่งนับเป็นตัวอย่างของ "ผู้สูงอายุที่ประสบผลสำเร็จด้านคุณภาพชีวิต" และเต็มไปด้วยบุคลิกภาพที่รู้จักหากิจกรรมการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าด้วยตนเอง ไม่ปล่อยให้ตนเองอยู่ว่าง รู้จักจัดการสุขภาพกายและจิตของตนเองได้ดีตั้งแต่วัยทำงาน น่าเป็นตัวอย่างแก่ผู้สูงอายุไทยทั้งหลายที่อยู่ว่างกับโรคเรื้อรังและไม่ค้นหาความสุขจากการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตตามปรัชญากิจกรรมบำบัดสากล"   

อ.ตรีรัตน์ อ.อ๋า และอ.พล ได้สอนผมให้เรียนรู้ "กระบวนการสอนดนตรีแบบ One to Five" ซึ่งต้องรู้จักตนเองผ่านการปฏิบัติเอง ก่อนหน้านี้ผมไม่มีโอกาสได้ฝึกดนตรีในโครงการวิจัยของตนเองเลย เพราะมัวประสานงานกลุ่มอาสาสมัครและเก็บข้อมูลวิจัย อ.พล ได้แนะนำให้ผมทำความเข้าใจดนตรีด้วยการลงมือเล่นเอง จะได้ตอบคำถามในใจของผมว่า "กิจกรรมบำบัดด้วยดนตรีและดนตรีบำบัดแบบเล่นเองได้ผลอย่างไร"

ผมได้เริ่มเรียนแบบฝึกหัดที่ 1 แรกๆ อ.พล สะท้อนให้ผมรู้จักตนเองจากลักษณะการวางนิ้วมือทั้ง 10 ว่ามีความเป็นผู้นำ แต่ขาดความมั่นใจในการตัดสินใจ ลังเลและครุ่นคิดไม่เป็นตัวของตัวเอง ซึ่งก็จริง...จากนั้นไม่ว่าจะผิดถูกอย่างไร ขอจงคิดก่อนสัมผัสคีย์บอร์ดแต่ละตัวเลขดนตรี ปล่อยใจสบายๆ อย่ากังวลใดๆ ปล่อยให้จังหวะลมหายใจประสานกับจังหวะดนตรีอย่างช้าๆ นุ่มนวล คุ้นเคย และมั่นใจ เวลาเล่นผิด ต้องไม่คิดเล่นย้อนกลับใหม่ นำจิตมุ่งเล่นไปข้างหน้า เรียนรู้ด้วยจิตผ่อนคลาย จากเล่นผิดพลาดก็นำถึงเล่นได้ดีขึ้น สุดท้ายผมรู้สึกสุขใจเมื่อเล่นเพลงได้หนึ่งเพลงด้วยจิตที่ผ่อนคลายและด้วยใจที่เป็นสุข

นอกจากนี้ อ.อ๋า ได้ให้กำลังใจและค่อยๆ เรียนรู้ห้องดนตรี เสียงเต็ม เสียงกึ่ง และคีย์ระดับต่างๆ ที่ไม่ยากที่ผมจะทำความเข้าใจ การลดและการเพิ่มเสียงในแต่ละนิ้วล้วนมีความหมายที่เป็นจังหวะแห่งชีวิตของผมเอง

อ.ตรีรัตน์ เติมเต็มปรัชญาชีวิตทางจิตสังคม ที่ไม่ได้เขียนไว้ในตำรา หากแต่ประสบการณ์ของอาจารย์ที่ถ่ายทอดมาจากครูดนตรีที่มีชื่อเสียงและจากความรักที่จะบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นอย่างจริงใจ มีสัจจะ มีความรับผิดชอบ รู้จักคิดวางแผนก่อนกระทำการใดๆ และกระทำการนั้นได้จริงและเข้าใจอย่างลึกซึ้ง พร้อมสอนทักษะชีวิตอื่นๆ ของคนที่ควรกระทำด้วย เช่น ผู้ที่เรียนรู้สิ่งใดๆ อย่างตั้งใจถ่องแท้ ไม่โอ้อวดสิ่งที่ไม่รู้จริง และพึงเข้าใจรู้แจ้งเรียนรู้ชีวิตที่ทำได้จริงกับตนเองและช่วยเหลือผู้อื่นโดยปราศจากมุ่งประโยชน์ส่วนตน เป็นต้น  

ผมตั้งใจว่าจะค่อยๆ บันทึกประสบการณ์การเรียนรู้เหล่านี้ รวมกับการค้นคว้างานวิชาการเชิงวิจัยและกิจกรรมบำบัดจิตสังคม ที่ตอนนี้ผมพบว่า การฝึกดนตรีด้วยคุณค่าภายในจิตใจมันสะท้อนความหมายของผู้เรียนรู้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ จิตฝึกกายและใจผ่านความคิดและความรู้สึกที่หลากหลายช่วยประสานความสุขและความดีงาม ที่อาจไม่จำเป็นต้องพิสูจน์เหตุผลทางวิทยาศาสตร์ หลายคนที่เป็นนักวิชาการหรือคนที่เชื่อมั่นในความรู้แบบผิวเผินและมั่นใจเกินพอดี มักใช้อารมณ์ตัดสินงานสร้างสรรค์ข้างต้น ก็เพราะไม่กล้าที่จะเรียนรู้ด้วยการลองปฏิบัติจริงอย่างเปิดใจและลึกซึ้ง และการกระทำใดๆ ก็ควรทำบุญทำกรรมให้เหมาะสมตามหลักพระพุทธเจ้าและอัจฉริยะของโลกหลายท่าน ที่ฝึกฝนสิ่งใดๆ อย่างแน่วแน่และจริงจัง รู้ลึกเพื่อนำสิ่งนั้นๆ มาช่วยเหลือผู้อื่นมากกว่ามุ่งประโยชน์ส่วนตน

บันทึกนี้แสดงปรากฎการณ์ชีวิตที่มีฐานปิรามิดแห่งความรู้รอบชีวิตที่กว้างและมั่นคง พร้อมที่จะต่อยอดการประยุกต์ความรู้ในหลายๆ บริบทของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไร้ขีดจำกัด ซึ่งสอดคล้องเป็นกิจกรรมการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าตามปรัชญากิจกรรมบำบัดสากล ที่ไม่จำเป็นต้องอาศัยสื่อกิจกรรม กระบวน หรือวิธีการจากนักกิจกรรมบำบัดเลย นั่นคือ นักกิจกรรมบำบัดที่ดีที่สุดคือผู้ที่ใช้จิต (ความคิดและความรู้ความเข้าใจ) ฝึกดนตรีและสะท้อนดนตรีออกมาด้วยใจที่มีชีวิตชีวา ผลสุดท้ายคือ การพัฒนากายและจิตที่มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีถ้วนหน้า

 

หมายเลขบันทึก: 378788เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2010 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ชื่นชมความงอกงามที่ทำได้ประจักษ์ แก่มวลมนุษย์ครับ..

ขอบคุณสำหรับคำชื่นชมจากคุณราชิต สุพร ครับ

สวัสดีค่ะมาขอบคุณกิจกรรมดนตรีบำบัดค่ะ  วันนี้มีประชุมด่วนของCAB ประชุมเสร็จเลขางานเบาหวานเชิญร่วมถอดบทเรียนสำหรับแกนนำเชี่ยวชาญงานเบาหวาน ซึ่งคงต้องเร่งเตรียมงาน มีผู้สนใจงานวิจัยดนตรีบำบัดโดยเฉพาะเลขางานccc ได้เล่าให้ฟังและกำลังมองว่า ทำอย่างไร ผู้ป่วยเบาหวานผู้สูงอายุ ของโรงพยาบาล หรือแม้แต่ผู้เกษียณอายุราชการจึงจะได้รับโอกาสแบบนี้บ้าง

เอาบันทึกมาฝากค่ะ http://gotoknow.org/blog/krutoiting/383151

และตั้งใจไว้ว่าจะไปร่วมกิจกรรมให้ครบ 7 ครั้ง

ขอบคุณนะคะ

ขอบพระคุณสำหรับความตั้งใจของคุณ krutoiting มากครับ

แนะนำผู้สนใจมาเข้าร่วมโปรแกรมกิจกรรมบำบัดด้วยการฝึกดนตรีได้ตลอดทั้งปี

ยินดีต้อนรับเสมอครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท