กิจกรรมบำบัดการรู้คิดเมื่อสมองบาดเจ็บ


ต่อยอดจาก http://gotoknow.org/blog/otpop/371435 และทบทวนที่มาจาก Buss, P.A., Chippendale, J.L., Hagen, C., Klauber, K.W. & Minteer, M. (1984). Sensory stimulation: A guide for the family of brain injured patients. San Diego (CA): Sharp Memorial Hospital.

กิจกรรมบำบัดด้วยเทคนิคการกระตุ้นการรับความรู้สึก

1. การได้ยิน

  • อธิบายและสาธิตกับตัวผู้บำบัดก่อนกระตุ้นผู้ป่วย
  • ใช้โปรแกรมทีวีหรือวิทยุที่ผู้ป่วยชอบ (ระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 10 นาที) ขณะที่เปิดโปรแกรม ไม่ควรทำกิจกรรมอื่น เช่น การสนทนากับผู้อื่นในห้องนั้น
  • ใช้หนังสือพูดได้หรือทำเทปเสียงที่คุ้นเคยจากครอบครัวและเพื่อนในการพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นปัจจุบัน  (ระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกิน 10 นาที)
  • ตบมือหรือสั่นกระดิ่งไม่เกิน 10 วินาที ขณะที่เปลี่ยนตำแหน่งการเคลื่อนไหวรอบเตียงผู้ป่วย

2. การมองเห็น

  • อธิบายและสาธิตกับตัวผู้บำบัดก่อนกระตุ้นผู้ป่วย
  • ใช้วัตถุและสถานที่สีสดใสในมุมมองของผู้ป่วย กระตุ้นให้ผู้ป่วยมองตามวัตถุในช่วงเวลาสั้นๆ การกระตุ้นที่มากเกินไปอาจทำให้แย่ลงกว่าไม่กระตุ้นใดๆ เลย
  • ใช้วัตถุที่คุ้นเคยและมีความหมายกับผู้ป่วย เช่น รูปภาพ ภาพวาด โปสเตอร์

3. การสัมผัส

  • อธิบายและสาธิตกับตัวผู้บำบัดก่อนกระตุ้นผู้ป่วย
  • ถูแขนหรือขาของผู้ป่วยด้วยผิวสัมผัสที่หลากหลาย เช่น ขนนก ผ้าขนหนูหยาบ ถูโลชั่นบนแขนและขา ใช้ผิวสัมผัสอย่างสร้างสรรค์ ไม่ระคายเคือง
  • การให้แรงกดที่คงที่อาจไม่ระคายเคืองกับผู้ป่วย เมื่อเปรียบเทียบกับการสัมผัสเบาๆ

4. การดมกลิ่น

  • อธิบายและสาธิตกับตัวผู้บำบัดก่อนกระตุ้นผู้ป่วย
  • ใช้กลิ่นที่สดชื่นและไม่ระคายเคือง
  • ใช้กลิ่นที่คุ้นเคย เช่น น้ำหอม โลชั่นโกนหนวด
  • กลิ่นสังเคราะห์ที่หลากหลาย
  • ให้การกระตุ้นกลิ่นไม่เกิน 1 นาที

5. การรับรส

  • อธิบายและสาธิตกับตัวผู้บำบัดก่อนกระตุ้นผู้ป่วย
  • ขั้นตอนคล้ายกับการดมกลิ่น แต่ต้องยืนยันร่วมกับการบำบัดสภาวะการกลืนลำบากจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ด้วย

6. การเคลื่อนไหว

  • อธิบายและสาธิตกับตัวผู้บำบัดก่อนกระตุ้นผู้ป่วย
  • ขั้นตอนคล้ายกับการดมกลิ่น แต่ต้องยืนยันจากทีมบุคลากรทางการแพทย์ด้วย
  • ขยับแขนหรือขา (งอและเหยียด)
  • เขย่าช้าๆ ในช่วงเวลาสั้นๆ

กิจกรรมบำบัดการรู้คิดในการสื่อสาร

  • พูดด้วยเสียงดังปกติ
  • พูดช้าๆ แต่ไม่เหมือนที่พูดกับเด็ก
  • พูดประโยคสั้นๆ
  • หยุดระหว่างประโยคเพื่อให้ผู้ป่วยมีเวลาคิดและเข้าใจสิ่งที่ผู้บำบัดพูด
  • ให้เวลาผู้ป่วยมากกว่าหนึ่งนาทีในการตอบสนองคำถามหรือคำแนะนำหนึ่งข้อก่อนที่จะพูดข้ออื่นๆ ซึ่งแต่ละข้อจะใช้เวลาไม่คงที่นัก
  • ใช้ภาษาท่าทางและการแสดงสีหน้าเพื่อสื่อสารกับผู้ป่วย
  • เมื่อผู้ป่วยเริ่มสื่อสารได้คงที่ ผู้บำบัดสังเกตภาษาสื่อสารจากการกระพริบตา การแสดงสีหน้า และการใช้ภาษามือ
  • เลือกภาษาสื่อสารที่คงที่มาแยกแยะความหมายของคำว่า “ใช่” และ “ไม่ใช่” โดยแนะนำผู้ดูแลด้วย เช่น กระพริบตาหนึ่งครั้งคือ “ใช่” กระพริบตาสองครั้งคือ “ไม่ใช่” ยกหนึ่งนิ้วคือ “ใช่” ยกสองนิ้วคือ “ไม่ใช่” แบมือคือ “ใช่” กำมือคือ “ไม่ใช่” ทั้งนี้แนะนำและติดป้ายให้บุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยข้างเตียงรับทราบด้วย

กิจกรรมบำบัดการรู้คิดในการกินอาหาร

ข้อพิจารณาทั่วไป

  • ปรึกษานักโภชนาการหรือพยาบาลเกี่ยวกับอาหารที่ผู้ป่วยชอบและไม่ชอบ
  • ควรให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งสบายบนเตียงปรับระดับได้หรือบนที่นั่งเพื่อกินอาหาร
  • อย่าเปิดทีวี/วิทยุ และพูดคุยขณะผู้ป่วยสนใจและมีสมาธิในการกินอาหาร
  • ดึงม่านปิดบังสิ่งเร้าความสนใจผู้ป่วยในกรณีมีคนในห้องมาก ควรมีผู้ฝึกหนึ่งต่อหนึ่งกับผู้ป่วย

เมื่อจัดมื้ออาหาร

  • ตัดชิ้นอาหารหรือเตรียมอาหารก่อนนำเสนอผู้ป่วย
  • แนะนำผู้ป่วยถึงความจริงที่ต้องกินอาหารด้วยประโยคสั้นๆ เช่น นี่คือไข่สำหรับคุณ
  • จัดอาหารหนึ่งอย่างต่อหน้าผู้ป่วยในช่วงเวลาหนึ่ง ส่วนอาหารอื่นๆ ให้จัดไว้ให้พ้นสายตาผู้ป่วยก่อน
  • ใช้อุปกรณ์ช่วย เช่น ช้อนเสริมด้าม อุปกรณ์ดามมือ

ขณะกินอาหาร

  • พยายามให้ผู้ป่วยกินอาหารด้วยตนเองมากที่สุดเท่าที่ทำได้ อาจใช้เวลานานและมีอุปสรรคบ่อยครั้ง ผู้บำบัดและผู้ดูแลต้องอดทน อย่าช่วยป้อนอาหารผู้ป่วยทันที ให้กระตุ้นผู้ป่วยเกิดการเรียนรู้ทักษะซ้ำๆ
  • ถ้าผู้ป่วยมีปัญหาในการนำอาหารเข้าปากด้วยช้อนหรือมือ  ผู้บำบัดเคาะแขนท่อนล่างไปยังปาก แล้วช่วยนำแขนยกขึ้นจากจานไปปาก นำมือผู้บำบัดวางบนมือผู้ป่วยเพื่อช่วยเหลือ และชมเชยผู้ป่วยทุกครั้ง

กิจกรรมบำบัดการรู้คิดในการดูแลสุขอนามัย

  • เมื่อผู้ป่วยตื่นตัวและตอบสนองคำสั่งง่ายๆ ผู้บำบัดควรกระตุ้นให้ผู้ป่วยพยายามดูแลสุขอนามัยด้วยตนเองมากที่สุด เช่น ชำระล้าง หวีผม ทาโลชั่น โกนหนวด และแต่งตัว
  • จำกัดตัวเลือกให้มีหนึ่งวัตถุหนึ่งขั้นตอนของการทำกิจกรรมในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น นำเสนอหวีคนละเวลากับแปรง
  • อย่าคุยกับผู้อื่นขณะฝึกผู้ป่วย และอธิบายผู้ป่วยว่า “ผู้บำบัดกำลังจะฝึกอะไร” ถ้าผู้ป่วยไม่ยอมทำกิจกรรมด้วยวิธีการใดๆ ก็ไม่ควรบังคับทำ และปล่อยให้ผู้ป่วยทำกิจกรรมด้วยตนเองให้มากที่สุด

 

หมายเลขบันทึก: 385520เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2010 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 23:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • สวัสดีครับอาจารย์
  • การกระตุ้นสัมผัสป็นสิ่งจำเป็นในการฟื้นฟู้ผู้ป่วยที่สมองบาดเจ็บในระยะฟื้นฟู
  • ขอบคุณบันทึกที่ให้ความรู้ดีๆ ในการนำไปใช้ครับ

ยินดีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยความขอบคุณในการประยุกต์ใช้ความรู้ครับคุณชำนาญ เขื่อนแก้ว

อาจารย์คะ ในผู้ป่วยบาดเจ็บศีรษะเล็กน้อยที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรู้คิด ไม่ทราบว่ามีโปรแกรมการฟื้นฟุูเฉพาะหรือไม่

เพราะเท่าที่ review ดูส่วนใหญ่จะมีในผู้ป่วย stroke หรือไม่ก็ผู้ป่วยบาดเจ็บศีรษะรุนแรง ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณครับคุณรมณ์ฤดี

ในกรณีผู้ป่วยบาดเจ็บเล็กน้อยทางการรู้คิด มีโปรแกรมเฉพาะเช่นกัน อาทิ การจัดการความล้าทางการรู้คิด การจัดการความเครียดจากการรู้คิด การพัฒนาความจำจากการรู้คิด การผ่อนคลายจากการรู้คิด การฝึกดนตรีและศิลปะในเวลาว่างของการรู้คิด เป็นต้น แต่ต้องมีการประเมินระดับการรู้คิดและการวัดระบบประสาทจิตวิทยาร่วมด้วย หากสนใจติดต่อทางอีเมล์ [email protected] ครับ

ขอบคุณค่ะ อาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท