นศกบ.กับตายายผู้ยากไร้


ดร.ป๊อป พานศกบ.หรือนักศึกษากิจกรรมบำบัดพิมพ์ประไพ (ที่ 1 Admission ของรุ่นที่ 1 กิจกรรมบำบัด ม.มหิดล) กับคุณภรณ์ จิตอาสา ป.โท มัณฑนศิลป์ เยี่ยมคุณตา (ตาบอดซ้าย) กับคุณยาย (อัมพฤต์ขวา) ณ ชุมชนบางนา

นับเป็นครั้งแรก ที่ ดร. ป๊อป ติดต่อหลานคุณตาท่านหนึ่งที่ทำงาน 7-11 และคอยดูแลผู้สูงอายุทั้งสองท่าน ซึ่งอาศัยในที่ดินของโรงแรมแห่งหนึ่ง และได้รับความอนุเคราะห์จากทางโรงแรมและผู้ใจบุญช่วยเหลือสร้างที่พักให้ โดยทำเป็นเพิงสองชั้น เพราะชั้นล่างติดลำคลองน้ำเสีย หากฝนตกน้ำท่วม ก็นอนไม่ได้ เลยมีผู้ช่วยเหลือมาติดบันไดสูงชันเพื่อให้มีห้องบนหลังคาไว้หลับนอนได้

ดร.ป๊อป พบคุณตา ที่ คลินิกสายตาเลือนราง รพ.เลิศสิน ซึ่งเป็นระบบนำร่องของการประเมินร่วมกันระหว่างจักษุแพทย์ (นพ.วรากร) และนักกิจกรรมบำบัดจิตสังคม (ดร.ป๊อป) เพื่อเป็นการฝึกปฏิบัติงานนักศึกษากิจกรรมบำบัด (ชื่อย่อคือ นศกบ.) รุ่นแรก ม.มหิดล ในรูปแบบเฉพาะทางกลุ่มผู้รับบริการที่มีสายตาเลือนรางจากสาเหตุต่างๆ เช่น ความบกพร่องของการพัฒนาเด็ก ความบกพร่องของร่างกายจากโรคเบาหวานหรือโรคเรื้อรังอื่นๆ เป็นต้น แต่เมื่อสัมภาษณ์คุณตาถึงคุณภาพชีวิตและความสุขความสามารถในการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ก็จำเป็นต้องหยุดสัมภาษณ์ที่คลินิก และขออาสามาเยี่ยมบ้านเพื่อให้เข้าใจบริบทการดำเนินชีวิตหลังตาบอดหนึ่งข้าง และต้องดูแลภรรยา (คุณยาย) ที่มีอาการเกร็งของแขนและมือข้างขวา มีอาการอ่อนแรงของขาซีกขวา แบบอัมพฤต์จากหลอดเลือดหัวใจตีบ และไม่ได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพใดๆ มานาน 1 ปี กระบวนการฟื้นตัวเป็นไปโดยธรรมชาติ เนื่องจากคุณยายเป็นคน Active และมีมนุษย์สัมพันธ์ดี ก็สามารถพูดได้คล่องขึ้นกว่าตอนที่ป่วย แต่ก็มีบางคำไม่ชัด ต้องพูดเสียงดังๆ และช้าๆ มีอาการเหนื่อยง่าย และหายใจทางปาก ส่วนคุณตา เมื่อคุณหมอสั่งตัดแว่นสายตาให้ใหม่ฟรี ก็เห็นชัดขึ้นกว่าเดิม แม้ว่าจะเห็นเพียงตาข้างขวาข้างเดียว 

เมื่อสอบถามหลานของคุณตา พบว่า คุณตาถูกส่งตัวไป รพ.เลิศสิน จาก รพ.แห่งหนึ่งแถวบางนา แต่ไม่มีระบบสังคมสงเคราะห์ใดๆ มาช่วยเหลือ เช่น ค่าเดินทางจากที่พักไป รพ. เลิศสิน ขาไปและกลับ รวม 400 บาท ซึ่งหลานต้องออกค่าใช้จ่ายเอง ทั้งๆ ที่เงินจากการทำงานร้าน 7-11 ก็ไม่มากนัก

จากรูปข้างบน นศกบ. กำลังแนะนำและสอนการจัดท่าทางของแขนและมือเพื่อลดเกร็งและกระตุ้นทักษะการทำงานของมือ พร้อมกับสอนการดูแลระบบการหายใจที่ถูกต้องแก่คุณยายจะได้ไม่เหนื่อยง่าย นอกจากนี้ นศกบ.ยังได้วาดรูปมือข้างขวาที่เกร็งของคุณยายเพื่อเตรียมประดิษฐ์อุปกรณ์ดามมือจากพลาสติกพิเศษที่ช่วยจัดท่าทางของมือ ไม่ให้ผิดรูป พร้อมกับประเมินความสามารถของคุณยายในการดูแลตนเอง เช่น การนั่งอาบน้ำ การลุกนั่งเปลี่ยนเสื้อผ้า การนั่งขับถ่าย (หม้อรองถ่ายแบบนั่งสูงเกินไป เพราะได้รับบริจาค จึงไม่ได้ใช้ และใช้ผ้ารองถ่ายแบบทิ้งได้แทน) เป็นต้น ปัจจุบันมีคุณยายข้างบ้านช่วยเดินไปซื้ออาหารมาให้ทั้งสองตายาย เพราะที่พักอยู่ลึกจากทางเดินเรียบคลองถึงปากซอยติดถนนใหญ่ราว 5 กม. ดังรูปข้างล่าง

จากรูปข้างล่าง จิตอาสาทุกคนกำลังประเมินว่า คุณตาช่วยคุณยายให้ขึ้นบันไดสูงชันได้อย่างไร เวลาเข้านอน คุณยายต้องพักที่ขั้นบันไดกว้างที่สุดที่ขั้นที่ 6 มีราวเหล็กข้างขวา (ขณะขึ้น) ติดเพื่อให้คุณตาจับแล้วดันประคองคุณยายปีนขึ้นบันได แต่จริงๆ แล้วควรมีราวจับหรือเชือกผูกปมข้างซ้าย เพื่อให้คุณยายดึงขึ้นด้วยมือข้างที่มีแรงก็น่าจะดี จึงแนะนำให้ นศกบ. วางแผนเพื่อดัดแปรสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยให้คุณตาคุณยายไม่ต้องออกแรงมากเกินไปขณะขึ้นลงบันไดนี้ และนำเก้าอี้มาตั้งไว้ให้คุณยายประคองตัวขึ้นมานั่งก่อนเกาะราวหน้าต่างแล้วเดินไปที่เตียงนอน (เดิมคุณตาต้องยกคุณยายจากพื้นหลังปีนบันไดถึงชั้นบน) ที่สำคัญคุณตาต้องใจเย็นๆ ไม่เร่งเคลื่อนไหว จึงแนะนำการสงวนพลังงานเพื่อมิให้น้ำตาลในเลือดลดลงเร็วเกินไปด้วยเหตุของโรคเบาหวาน

จิตอาสาทุกคนรู้สึกดีใจที่ได้ทำความดีและใช้ความรู้ทางวิชาชีพกิจกรรมบำบัด และหากมีผู้มีจิตศรัทธาท่านใดอยากบริจาควัสดุอุปกรณ์หรือทุนทรัพย์เพื่อดัดแปรสิ่งแวดล้อมให้คุณตาคุณยายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ก็อีเมล์มาที่ ดร. ป๊อป ได้เพื่อเตรียมออกเยี่ยมบ้านและนำอุปกรณ์ดามมือไปให้คุณยาย ที่กำลังจะหาซื้อ เช่น เชือกปม ราวเหล็ก เก้าอี้นั่งถ่ายที่สูงพอเหมาะกับคุณยาย รถเข็นแบบพับได้ในกรณีที่คุณตาต้องพาคุณยายไปหาหมอ ฯลฯ แต่ ดร. ป๊อป ได้บอกคุณตาคุณยายว่า "ถ้าไม่ได้รับบริจาค ก็จะช่วยดัดแปรสิ่งแวดล้อมเท่าที่จะทำได้ สิ่งสำคัญคือ "การดูแลกันและกันของคุณตาและคุณยายให้มีสุขภาพดีด้วยตนเอง"

  

หมายเลขบันทึก: 424512เขียนเมื่อ 6 กุมภาพันธ์ 2011 10:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 15:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

วิชาชีพกิจกรรมบำบัดเป็นวิชาชีพที่ต้องมีใจรักจริงๆ และต้องเข้าไปปฏิบัติกับผู้ป่วยโดยตรง ดังนั้นนักศึกษากิจกรรมบำบัดที่เล่าเรียนมาต้องใช้ความรู้ทางวิชาชีพเพื่อให้คุณตา คุณยายใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข แม้พวกท่าน2ท่านจะมีบางอวัยวะที่ไม่สมบูรณ์ก็ตาม และอีกอย่างที่ได้จากบทความนี้ก็คือ ถึงแม้เีราจะมีอวัยวะใดที่ไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่เราก็สามารถปฏิบัติกับตัวเองและคนที่เรารักได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าเราไม่ท้อแท้ หรือถ้าเราใจไม่สู้ ดังนั้นเราควรจะ ^________^ สู้ต่ออุปสรรคใดที่ผ่านมาในชีวิตเราก็ตาม

ขอบคุณมากครับน้องโจ้ นักศึกษากิจกรรมบำบัดรุ่นที่ 4 ม.มหิดล

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท