มหันตภัย พายุไซโคลนนาร์กีส


พายุไซโคลนนาร์กีส

ข่าวพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่าจัดเป็นมหันตภัยครั้งใหญ่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายมากมาย !! มาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเกิดพายุไซโคลน องค์ประกอบของพายุไซโคลน และความน่าจะเป็นที่พายุจะพัดผ่านประเทศไทย ฯลฯ ในบทความนี้กันค่ะ...

ข่าวพายุไซโคลนนาร์กีสถล่มพม่า  ถือเป็นข่าวใหญ่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจอย่างยิ่ง เพราะมหันตภัยครั้งนี้ได้คร่าชีวิตชาวพม่าไปนับหมื่นคน  สูญหายอีกหลายหมื่นชีวิต  บ้านเรือน  ทรัพย์สิน และสาธารณูปโภคต่าง ๆ เสียหายยับเยิน

แม้ปัจจุบันประเทศไทยเราจะไม่ได้รับผลกระทบจากพายุต่าง ๆ รุ่นแรงเทียบเท่ากับพม่า  แต่นับวันพายุขนาดใหญ่ที่เกิดในภูมิภาคนี้ก็มีมากขึ้น  และเกิดบ่อยขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีต  อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก  จากภาวะโลกร้อนก็มีส่วนแต่ไม่ใช่สาเหตุทั้งหมด  ซึ่งนักวิชาการไทยชี้ว่า  ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงเช่นกันที่จะประสบกับพายุไต้ฝุ่นในพื้นที่ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย


นาร์กีสคร่าชีวิตช่าวพม่านับหมื่น
2  พฤษภาคม  2551  กรมอุตุนิยมวิทยาของไทยประกาศเตือนภัย “โคลนนาร์กีส”  ฉบับที่ 4 ว่าไซโคลนนาร์กีส  ( Nargis )  บริเวณอ่าวเบงกอลตอนกลาง  เมื่อเวลา  04.00  น.  วันนี้ ( 2 พ.ค. )..กำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วลม  18  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  โดยมีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ  148  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  คาดว่าจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งของประเทศในคืนนี้...


5  พฤษภาคม  2551  สำนักข่าวต่างประเทศอ้างสถานีโทรทัศน์ของรัฐบาลพม่า  รายงานว่า  พายุดังกล่าวมีความเร็วลม  190  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ขึ้นฝั่งพม่าตั้งแต่วันที่  3  พฤษภาคม  ที่ผ่านมา  ได้พัดกระหน่ำเข้าพื้นที่แถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี  และนครย่างกุ้ง  เมืองหลวงของพม่า  ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย  351  คน..      ( ต่อมาภายหลังมีรายงานยอดผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงกว่า 34,000  คน  ขณะที่เจ้าหน้าที่ต่างชาติประเมินว่า  อาจมีผู้เสียชีวิตถึง  100,000  คน )  ยอดผู้สูญหายอีกกว่า  40,000  คน  ( ภายหลังรายงานลดเหลือกว่า 20,000 คน )  และจำนวนผู้ประสบภัยอีกนับล้านคน


รายงานข่าวยังระบุอีกว่า  บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี ได้รับผลกระทบหนักมากทั้งจากฝน ลม  และคลื่นในแม่น้ำ  อาคารมากกว่า  20,000 หลัง  พังทลาย  ไฟฟ้า  ประปา  โทรศัพท์  ใช้การไม่ได้  รัฐบาลทหารพม่าประกาศให้พื้นที่  5  แห่ง  เป็นเขตภัยพิบัติ  ประกอบด้วย  แถบลุ่มแม่น้ำอิระวดี  นครย่างกุ้ง  พะโค  รัฐกะเหรี่ยง  และรัฐมอญ

 

 




ภาพความเสียหายบริเวณที่พายุไซโคลนนาร์กีสเคลื่อนผ่าน

 
 ข้อมูลของพายุไซโคลนนาร์กีส

พายุไซโคลนนาร์กีส
นาร์กีส เป็นชื่อของเด็กหญิงชาวมุสลิม แปลว่า ดอกไม้ และใช้เป็นฃื่อพายุไซโคลนที่เสนอโดยประเทศปากีสถาน
ไซโคลนนาร์กีส เป็นพายุหมุนที่เกินขึ้นในอ่าวเบงกอล จัดเป็นพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) ชนิดหนึ่ง


 ข้อมูลของพายุไซโคลนนาร์กีส ประกอบด้วย


ประเด็น รายละเอียด
การก่อตัว วันที่ 27  เมษายน  2551
แหล่งกำเนิด

อ่าวเบงกอลตอนกลาง
มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด  15.9 องศาเหนือ ลองติจูด 93.7 องศาตะวันออก

ความเร็วลม 215 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ความกดอากาศต่ำ 962 มิลลิบาร์
อัตราเร็วในการเคลื่อนที่ ประมาณ 16-18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
วันที่สร้างความเสียหาย วันที่ 3 พฤษภาคม 2551
พื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดี และนครย่างกุ้ง  ประเทศพม่า

พายุไซโคลน  
พายุไซโคลน  เป็นพายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone)  ที่เกิดขึ้นในบริเวณอ่าวเบงกอลหรือก่อตัวจาหย่อมความกดอากาศต่ำในทะเล  แล้วไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ จนกลางไปเป็นพายุดีเปรสซัน พายุโซนร้อน และพายุหมุนเขตร้อน  ตามระดับความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางของพายุ



ชื่อพายุ

พายุดีเปรสชัน
(Depression)

พายุโซนร้อน
(Tropical Storm)
พายุหมุนเขตร้อน
(Tropical Cyclone)
กำลังแรง อ่อน ปานกลาง รุนแรง

ความเร็วลมสูงสุด
ใกล้ศูนย์กลาง

ไม่เกิน 61 กม./ซม. ระหว่าง 62-117 กม./ซม. ตั้งแต่ 118 กม./ซม. ขึ้นไป
การตั้งชื่อ  ไม่มีการตั้งชื่อพายุ มีการตั้งชื่อพายุ มีการตั้งชื่อพายุ
หมายเหตุ : การเรียกชนิดของพายุจะแตกต่างกันตามแหล่งที่เกิด เช่น
        - เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก มหาสมุทรแปซิฟิกใต้และทะเลขีนใต้เรียกว่า พายุไต้ฝุ่น
        - เกิดในอ่าวเบงกอลหรือมหาสมุทรอินเดีย เรียก  พายุไซโคลน
        -  เกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ ทะเลแคริบเบียน  อ่าวเม็กซิโก และทางด้านตะวันตกของแม็กซิโก เรียก พายุเฮอร์ริเคน
        - เกิดในทะเลประเทศฟิลิปปินส์ เรียก พายุบาเกียว
        - เกิดแถบทวีปออสเตรเลีย เรียก พายุวิลลี-วิลลี่
 
การก่อตัวของพายุไซโคลน
พายุไซโคลน เป็นพายุที่เกิดขึ้นในบริเวณแถบเขตร้อน ก่อตัวขึ้นในทะเลที่มีความกดอากาศต่ำ ซึ่งมีน้ำอุ่นอย่างน้อย 27 องศาเซลเซียส และมีปริมาณไอน้ำสูง อากาศที่ร้อนเหนือน้ำอุ่นจะลอยตัวสูงขึ้น และอากาศบริเวณโดยรอบที่เย็นกว่าจะพัดเข้ามาแทนที่ แต่เนื่องจากโลกหมุน ทำให้ลมที่พัดเข้ามา เกิดการหมุนไปด้วย โดยพายุหมุนเขตร้อนเหนือเส้นศูนย์สูตรจะหมุนในทิศทางทวนเข็มนาฬิกา

พายุหมุนเขตร้อนเมื่ออยู่ในสภาวะที่เจริญเติบโตเต็มที่  จะเป็นพายุที่มีความรุนแรงที่สุดชนิดหนึ่งในบรรดาพายุที่เกิดขึ้นในโลก มีเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 กิโลเมตรขึ้นไป และเกิดขึ้นพร้อมกับลมที่พัดแรงมาก
ผ่าพายุไซโคลน
การก่อตัวของพายุไซโคลนแต่ละครั้ง ประกอบด้วยส่วนประกอบสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่
ตาพายุ (Eye) เป็นบริเวณจุดศูนย์กลางของการหมุนของพายุ และเป็นบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ ลมพัดเบา ไม่มีฝน มีเส้นผ่านศูนย์ลางประมาณ 10-50 กิโลเมตรของตาพายุ หรือกำแพงตา (Eye Wall) เป็นพื้นที่รอบๆตาพายุ เป็นบริเวณที่ประกอบด้วยลมที่พัดรุนแรงที่สุดบริเวณแถบฝน (Rainbands) เป็นบริเวณที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง และแพร่กระจายอยู่ในบริเวณส่วนเมฆพายุ เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีวงจรการเกิดไอน้ำ และมีการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ เพื่อป้อนให้แก่พายุ


ภาพโครงสร้างพายุหมุนเขตร้อน


พายุหมุนเขตร้อนในประเทศไทย

ประเทศไทยตั้งอยู่ระหว่างแหล่งกำเนิดของพายุหมุนเขตร้อนทั้งสองด้าน คือ ด้านชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ทางมหาสมุทรแปซิฟิกและทะเลจีนใต้ กับด้านชายฝั่งทะเลตะวันตก ทางอ่าวเบงกอลและทะเลอันดามัน พายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย ส่วนใหญ่มาจากฝั่งตะวันออกคือด้านทะเลจีนใต้ มากกว่าทางด้านตะวันตกคือด้านอ่าวเบงกอล และพายุส่วนใหญ่มักจะอ่อนกำลักลงกลายเป็นพายุดีเปรสชันก่อนที่จะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่ง

จากสถิติในรอบ 48 ปีที่ผ่านมา มีพายุหมุนเขตร้อนเข้าสู่ประเทศไทยทั้งหมด 164 ลูก (โดยเฉลี่ยแล้วปีละ 3-4 ลูก) และมีเพียง 11 ครั้งเท่านั้น ที่มีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อยหรือไต้ฝุ่นและในจำนวน 11 ครั้งนี้ มีเพียงครั้งเดียวทีพายุมีกำลังแรงเป็นไต้ฝุ่น คือ “พายุไต้ฝุ่นเกย์” ที่เคลื่อนเข้าสู่จังหวัดชุมพร เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2532 สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและผู้คนจำนวนมาก

ในเดือนตุลาคม ถือได้ว่าเป็นเดือนที่ต้องจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะพายุมีโอกาสเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทยมากที่สุด รองลงมาคือเดือนกันยายน


ภาพทางเดินพายุหมุนเขตร้อนที่เคลื่อนที่ผ่านประเทศไทย


 อำนาจการทำลายของพายุไซโคลน

  • เกิดฝนตกหนัก อาจตกติดต่อกันหนึ่งถึงสองวัน จนก่อให้เกิดน้ำท่วม
  • ความแรงของลมพายุก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งปลูกสร้างต่างๆ และเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
  • การหมุนของลมพายุ สามารถพัดหอบน้ำทะเลติดขึ้นมาด้วย ซึ่งจะมีความสูงมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับความเร็วของลม และลักษณะภูมิประเทศ ทำให้เกิดเป็นกำแพงน้ำในบริเวณรอบนอกที่สูงกว่า บริเวณตรงแกนกลาง (คิดถึงการคนน้ำในแก้ว) กำแพงน้ำนี้จะก่อให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่พุ่งเข้าสู่ฝั่งเรียกว่า น้ำขึ้นจากพายุ (storm surge) และเกิดน้ำท่วมขังบนพื้นดินได้
จากการผสมโรงกันด้วยปัจจัยของ ลม ฝน และน้ำท่วม จึงทำให้ผู้คนและบ้านเรือนที่อยู่ตามชายฝั่งกระทั่งลึกเข้าไปในแผ่นดินที่ไกลมากขึ้น เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตผู้คนและทรัพย์สินอย่างมหาศาล
 
บทสัมภาษณ์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา กับพายุไซโคลนนาร์กีส ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายงานวิเคราะห์วิจัยและฝึกอบรมการเปลี่ยนแปลงของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ปรึกษาฝ่ายวิชาการของศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทยเกี่ยวกับพายุไซโคลนนาร์กีส และโอกาสที่ประเทศไทยจะประสบกับพายุไต้ฝุ่นมีมากน้อยแค่ไหน
 สาเหตุของการเกิดพายุไซโคลนนาร์กีสเป็นอย่างไร ?
ถ้าพูดถึงสาเหตุการเกิดพายุลูกนี้คงไม่ได้เป็นเรื่องแปลกอะไร เพราะช่วงเดือนมีนาถึงพฤษภา เป็นปกติอยู่แล้วที่จะมีพายุไซโคลนเกิดขึ้นในอ่าวเบงกอล แต่ที่ผิดปกติคือเรื่องทิศทางการเกิด คือปกติพายุจะเคลื่อนตัวไปทางตะวันตกหรือขึ้นเหนือ แต่นี่เป็นการเบี่ยงมาทางทิศตะวันออกโดยตรง ซึ่งจากสถิติย้อนหลังไป 50-60 ปี ไม่เคยมีปรากฏขึ้นเลย สิ่งที่เราสนใจก็คือ อาจเป็นไปได้ว่าอุณหภูมิของพื้นดินในช่วงนั้นสูงกว่าปกติ ชักนำให้ลมพายุจากทะเลวิ่งเข้าหาฝั่ง
 พายุไซโคลนนาร์กีสมีส่วนเกี่ยวพันกับภาวะโลกร้อยหรือไม่ ?
เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีปัจจัยอ่นอีกมากมายที่เรายังไม่เข้าใจ ส่วนปัญหาที่ทำให้เกิดความรุนแรง เป็นเพราะเราไม่ได้ตระหนักหรือคาดคิดมาก่อนว่ามันจะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากในอดีตไม่เคยมี ทำให้เราไม่ได้เตรียมการรับมือที่ดี
โอกาสจะเกิดพายุไซโคลนเช่นนี้กับประเทศไทยมีมากน้อยแค่ไหน ?
หากเป็นพายุที่เกิดในอ่าวเบงกอล แล้วพัดเข้าไทยในพ้นที่หกจังหวัดแถบฝั่งอันดามัน ถ้าเป็นเช่นนั้น พายุจะต้องเข้ามาในระดับละติจูดที่ต่ำลงมา (เมื่อเทียบกับพม่า) ซึ่งแรงที่ทำให้ลมเกิดการหมุนในละติจูดที่ต่ำนี้จะมีค่าน้อย ส่งผลให้ลมพายุที่จะพัดเข้าฝั่งตะวันตกของไทยจึงมีโอกาสน้อย และน้อยกว่าพม่ามาก แต่ถาเป็นพายุที่เกิทางฝั่งทะเลจีนใต้ หรือด้านทะเลอ่าวไท โดยเฉพาะในปีนี้จะประมาทไม่ได้ เนื่องจากสถิติที่ผ่านมา ช่วงเวลาสามถึงสี่ปี จะมีพายุเข้ามาลูกหนึ่ง แล้วนี่ก็ผ่านมาแล้วสามถึงสี่ปี แต่จะบอกว่าเป็นรอบของการเกิดแน่นอนก็ยังบอกไม่ได้ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้นจะต้องมีคำอธิบายที่ชัดเจน และยิ่งถ้าปีนี้มีการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญมาประกอบ โอกาสเสี่ยงที่จะเจอพายุก็มีสูง โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายน ต้องจับตาดูพายุในทะเลเป็นพิเศษอีก 2-3 เดือนข้างหน้า คงจะบอกแนวโน้นได้ชัดเจนมากขึ้น โดยดูว่าเอลนีโญจะก่อตัวหรือไม่ ถ้าก่อตัวขึ้นมา ความเสี่ยงที่จะเกิดพายะก็มีสูงขึ้นตามไปด้วย
เมื่อรู้ว่าจะเกิดพายุ เราจะจัดการกับมันได้หรือไม่ ?
คงไม่ได้ เพราะอย่างการจะไปสลายพายุ มันเป็นศาสตร์ที่เทคโนโลยีเรายังไปไม่ถึง คงทำได้แค่เตือนภัยและอพยพเป็นหลัก คือพยายามลดความสูญเสียโดยตรงที่จะเกิดกับชีวิตคนให้ได้มากที่สุด ส่วนทรัพย์สินที่ขนย้ายไม่ได้ ก็คงต้องหาทางป้องกันเท่าที่จะทำได้
 ความถี่ของการเกิดพายุและความรุนแรงมีแนวโน้มเป็นอย่างไร ?
มีสถิติค่อนข้างชัดเจนว่าจะเกิดถี่มากขึ้น เมื่อก่อนโดยเฉลี่ยประมาณแปดปีจึงจะเกิดครั้งหนึ่ง แต่ตอนนี้เป็นประมาณสามปีต่อครั้ง และเป็นพายุขนาดใหญ่ที่เรียกว่าไต้ฝุ่น คือ มีระดับความเร็วลม 63 นอต (ประมาณ 117 กม./ชม.) ขึ้นไป โดยพบว่ามีมากขึ้น ขณะที่พายุขนาดเล็กระดับดีเปรสชันลดลง และลดลงมากด้วย ทำให้จำนวนพายุโดยรวมมีจำนวนลดลง แต่สัดส่วนของพายุขนาดใหญ่มีมากขึ้น นี่แหละเป็นสาเหตุที่น่ากังวล




 

หมายเลขบันทึก: 183245เขียนเมื่อ 19 พฤษภาคม 2008 15:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 4 พฤษภาคม 2012 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เข้ามาอ่านแล้วได้ความรู้ดี ขอขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ คุณครู ปฐมา

  • ขอบคุณค่ะที่ช่วยให้เข้าถึงข้อมูลมหันตภัยนี้
  • ได้ประโยชน์มากค่ะ คอยติดตามอยู่เหมือนกันค่ะ
  • เคยบันทึกเกี่ยวกับภัยธรรมชาติไว้ด้วย ที่นี่ ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท