จดหมายถึงญาติมิตรพัฒนาสังคม ฉบับที่ 19 (18 มิ.ย. 50)


กรณี ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน ได้สร้างปรากฏการณ์  ความก้าวหน้า ใน ความไม่ก้าวหน้า อย่างน่าสนใจและอย่างมีคุณค่ายิ่ง 

                เป็นเวลาเกือบ 2 สัปดาห์แล้วที่เรื่องของ ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน เป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ ทางโทรทัศน์ ทางวิทยุ รวมทั้งมีบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่างๆต่อเนื่องมาทุกวัน และมีท่าทีว่าจะยังคงมีข่าวและบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่อไปอีกระยะหนึ่งอย่างแน่นอน

                เรื่องร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนเริ่มเป็นข่าวหน้า 1 ครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน โดยมีเนื้อข่าวว่าร่าง พรบ. นี้ถูกคัดค้านในที่ประชุม ครม. ในขณะที่ผมได้ชี้แจงต่อ ครม. ว่าร่าง พรบ. ฉบับนี้มีความสำคัญเป็นลำดับที่หนึ่งของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ และเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของกระทรวงฯที่สนองนโยบายด้านสังคมของรัฐบาลตามที่ได้แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ภายหลังการเข้ามารับหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน

                เมื่อเรื่องนี้เป็นข่าวแพร่สะพัดออกไป ก็ได้มีเสียงทั้งสนับสนุนและคัดค้านจากหลายๆฝ่าย หลายๆกลุ่ม หลายๆบุคคล

                สื่อมวลชนส่วนใหญ่ นักพัฒนาโดยรวม นักวิชาการโดยรวม องค์กรชุมชนโดยรวม ได้ให้ความเห็นในเชิงสนับสนุน ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน

                ส่วนเสียงคัดค้านมาจากกระทรวงมหาดไทย สมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้ง 3 สถาบัน (ได้แก่ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย และสมาคมสันติบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย) กับสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เป็นหลัก

                ในจังหวัดต่างๆหลายจังหวัด ได้มีกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน

                แต่ก็มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนหนึ่ง ตลอดจนกำนันผู้ใหญ่บ้านบางคนได้พูดสนับสนุนร่าง พรบ. ฉบับนี้ 

                ทางด้านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีสมาชิกจำนวนหนึ่งประกาศว่าจะนำเสนอร่าง พรบ. ในสาระทำนองเดียวกันเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ด้วยไม่ว่ารัฐบาลจะเสนอร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนตามข้อเสนอของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯหรือไม่ก็ตาม

                สำหรับนักวิชาการ ได้มีการจัดสัมมนาพิจารณาร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนที่จุฬาลงกรณ์มหาลัยไปแล้ว และทราบว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กับมหาวิทยาลัยในภูมิภาคจำนวนหนึ่งกำลังจะจัดสัมมนาในเรื่องนี้เช่นกัน

                และพอจะคาดหมายได้ว่า การตื่นตัวรับรู้ การศึกษาเรียนรู้ การวิเคราะห์วิจารณ์ การพินิจพิจารณา ฯลฯ เรื่องร่าง พรบ. สภาองค์ชุมชนและประเด็นที่เกี่ยวพันกัน จะเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและอย่างต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งเป็นอย่างน้อย

                ดังนั้น แม้ว่า ครม. จะยังไม่เห็นชอบร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชน และได้ส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาประเด็นที่ขัดแย้งกันอยู่ก่อนนำมาให้ ครม. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในขณะที่ยังมีเสียงคัดค้านจากกระทรวงมหาดไทย และกลุ่มองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจำนวนมาก ซึ่งหมายความว่าความก้าวหน้าของร่าง พรบ. ฉบับนี้ คงต้องเกิดการสะดุดหรือชลอในช่วงเวลาหนึ่งเป็นอย่างน้อย

                แต่จากปรากฏการณ์ดังที่ผมได้ลำดับมาโดยสังเขป อาจกล่าวได้ว่ากรณี ร่าง พรบ. สภาองค์กรชุมชนนี้ ได้สร้าง ความก้าวหน้า ใน ความไม่ก้าวหน้า ได้อย่างน่าสนใจและอย่างมีคุณค่าทีเดียว!

                                                                                                สวัสดีครับ

                                                                                                       ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม
คำสำคัญ (Tags): #รองนายก
หมายเลขบันทึก: 104237เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2007 11:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

กราบเรียนท่านอาจารย์ค่ะ

นักวิชาการของสถาบันต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคกลางและตะวันตกจำนวนหนึ่งกำลังขับเคลื่อนเรื่องนีอยู่เช่นกันค่ะ โดยเราจะมีการสัมมนาเวทีนโยบายสาธารณะภาคตะวันตกเรื่อง "สภาองค์กรชุมชนสร้างความเข้มแข็งชุมชนรากฐานจริงหรือ?" ระหว่างวันที่ 27-28 มิถุนายนนี้ ที่ห้องประชุม "ภูมิแผ่นดิน" มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรีค่ะ นอกจากเวทีสัมมนาที่มีตัวแทนนักวิชาการและตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว จะมีการศึกษาดูงานที่ "ศูนย์เรียนรู้บ้านหนองกลางดง" ตำบลศิลาลอย อำเภอสามร้อยยอด จังหวัดประจวบฯด้วยค่ะ

เรื่องพรบ.สภาองค์กรชุมชนนี้ เป็นสิ่งที่นักวิชาการ นักพัฒนา นักปกครอง องค์กรชุมชน และภาคีภาคส่วนต่าง ๆ คงต้อง "เรียนรู้" ร่วมกันอย่างเข้มข้นและจริงจังภายใต้ความเป็น "กัลยาณมิตร" ค่ะ ประเด็นสำคัญที่ได้เรียนให้ท่านอาจารย์ทราบแล้วในเวทีการสัมมนาสถาบันการเงินชุมชนที่บ้านหนองสาหร่าย อำเภอพนมทวนจังหวัดกาญจนบุรีเมื่อวันเสาร์ที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา คือ จะทำอย่างไรให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องสภาองค์กรชุมชนในวงกว้าง โดยเฉพาะในส่วนของ "ภาครัฐ" ที่ทำงานด้านการพัฒนา การสร้าง "วงเรียนรู้" อย่างเป็นระบบและต่อเนื่องของภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีบทบาทในการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อการ "หนุนเสริม" ซึ่งกันและกันมากกว่าการขัดแย้งกัน

ชุมชนมี "วิถี" ที่เป็นของตนเอง ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้ามาทำงานในชุมชนควรทำหน้าที่เป็น "พี่เลี้ยง" สนับสนุนให้เกิด "กระบวนการเรียนรู้" ของชุมชน เพื่อให้ชุมชนเรียนรู้ที่จะ "จัดการ" ชุมชนให้เข้มแข็งภายใต้ "ทุน" ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชนและภายใต้"บริบท" ที่เป็นจริงของแต่ละชุมชน ซึ่งในพื้นที่ภาคตะวันตก(และในพื้นที่ภาคอื่น ๆ เช่นกัน)ได้มีความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในการทำงานด้านนี้มาระยะหนึ่งแล้วค่ะ เท่าที่ได้ลงทำงานในพื้นที่ร่วมกับองค์กรชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นพบว่าอปท.หลายแห่งเข้าใจถึงความสำคัญของพรบ.สภาองค์กรชุมชนค่ะ

ตัวเองคิดว่าการมีพรบ.สภาองค์กรชุมชนรองรับ จะช่วยทำให้การทำงานขององค์กรชุมชนราบรื่นขึ้นค่ะ เพราะหลายคนของหน่วยราชการบางแห่งยังคงเข้าใจว่าองค์กรต่าง ๆ ที่ทำงานเพื่อชุมชนเหล่านี้เป็นองค์กรที่สร้างปัญหา  ยกตัวอย่างช่วงที่ทำงานโครงการวิจัยเรื่องการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี มีข้อค้นพบว่าองค์กรที่จดทะเบียนเป็น "สหกรณ์" แม้จะทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่เพียงใด หากแต่ได้รับการยอมรับเพราะการได้ "ขึ้นทะเบียน" ในขณะที่องค์กรชุมชนหรือ "สหกรณ์ภาคประชาชน" เช่น กลุ่มสัจจะฯ กลุ่มแผนแม่บทฯ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ และอีกหลาย ๆ กลุ่ม ถูกกล่าวหาจากหน่วยราชการว่าเป็น "กลุ่มเถื่อน" ซึ่งคำนี้บั่นทอนกำลังใจของคนทำงานเพื่อชุมชนไม่น้อยค่ะ

อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับความจริงว่า องค์กรชุมชนที่มีอยู่เป็นจำนวนมากนั้น หากวิเคราะห์แล้วจะพบว่าองค์กรชุมชนที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายอย่างแท้จริงมีอยู่ไม่มากนัก การวางแผนงานเพื่อ "การขยายผล" จากองค์กรชุมชน "ต้นแบบ" สู่องค์กรชุมชน "เครือข่าย" จึงเป็นสิ่งจำเป็นมาก เนื่องจากองค์กรชุมชนส่วนใหญ่ยังคงต้องการ "การเรียนรู้" เพื่อการพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งในอีกหลาย ๆ ด้าน เพื่อที่จะสามารถเป็น "แกน" ในการขับเคลื่อนให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชนให้ได้จริง การมีพรบ. สภาองค์กรชุมชนเพื่อช่วยเสริมสร้างให้เกิดความเข้มแข็งขององค์กรชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ดีและจำเป็นค่ะ ขณะเดียวกันคงต้องมาช่วยกันพิจารณาในรายละเอียดของเนื้อหาพรบ.ซึ่งเป็นภารกิจที่คงต้องร่วมทำกันต่อไปค่ะ

หวังเช่นกันว่าว่าบ้านเมืองของเราจะมี "ความก้าวหน้า" เกิดขึ้นบ้างในความ "ไม่ก้าวหน้า" ที่เห็นและเป็นอยู่ค่ะ  

 

 

  • ขอบคุณครับ ท่าน รองนายก ไพบูลย์ฯ ที่ท่าน ได้จุดประกาย ให้สังคม ได้รับรู้
  • ผมเป็นข้าราชการคนหนึ่ง และเคยทำงานด้านสังคม ชุมชน มาด้วย เห็นด้วย กับ พรบ.ฉบับนี้มาก และอีกหลายๆคนที่ท่านได้กล่าวมา ก็เห็นด้วยเช่นกัน เพราะเดี๋ยวนี้ มีภาคประชาชนเข้ามา มีส่วนร่วมใน อปท.มากขึ้น แต่ไม่มากพอที่จะไปเปลี่ยนแปลง ความคิดดั้งเดิมได้
  • ขอให้กำลังใจ ท่านรองฯต่อสู้เพื่อสังคมต่อไปครับ ยังมีคนเห็นด้วยกับท่านอีกมาก แต่ไม่มีโอกาส แสดงความคิดเห็น ครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

     ผมขอให้กำลังใจนะครับ

ผมสักเกตเห็นว่าอะไรที่ดีๆ มักจะได้มาด้วยความยากลำบาก ต้องผ่านอุปสรรคมากมายกว่าจะได้มันมา ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับ พรบ.ฉบับนี้ เพราะคิดว่าประชาชนอย่างผมจะได้ประโยชน์มาก ขอเป็นกำลังใจให้ครับท่าน

หนึ่งในรากฐานของชุมชน

นี่ถือเป็นการสร้างรากฐานให้กับชุมชนอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งน่าจะได้ผลไปในทางที่เจริญก้าวหน้าขึ้น

ถึงแม้จะเปลี่ยนแปลงความคิดดั่งเดิมของประชาชนได้ มันก็อาจจะซึมซับบ้างก็ได้

ผมเห็นด้วยกับร่าง พรบ. ฉบับนี้

อุปสรรค นำมาซึ่งความสำเร็จ  ครับ

สู้ต่อไปเพื่อชุมชน

ผมดีใจ และขอบพระคุณทุกท่านที่มีส่วนผลักดันจนเกิดการตื่นตัวของภาคสังคม

-ภาคประชาชนตื่นตัวเพราะเห็นคุณค่าของตนเองในการมีส่วนร่วมพัฒนาบ้านเมืองให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นธรรม

-ภาครัฐตื่นตัวเพราะต่อไปการทำงานต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ ทำเพื่อประชาชนไม่ใช่ทำเพราะปกป้องผลประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง

-ภาคนักปกครองตื่นตัวเพราะเคยชินกับการเป็นผู้ปกครอง ไม่ชินกับการทำงานร่วมกับประชาชน ทำตัวเป็นเจ้านายประชาชน เลยกลัวถูกตรวจสอบ

-ภาคธุรกิจตื่นตัวเพราะแต่ก่อนเคยอาศัยพรรคพวกที่เป็นนักปกครองดูแลผลประโยชน์ให้ ต่อไปจะทำอะไรต้องระวังมากขึ้นจะอาศัยเส้นสายก็ลำบาก

....ผมเป็นข้าราชการเหมือนกันครับ มาทำงานอยู่ต่างถิ่น มีโอกาสได้ร่วมงานกับชาวบ้านและข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ่อยเข้าก็เลยรวมกลุ่มกันทำงานช่วยเหลือสังคม ด้วยเงินทุนของตัวสมาชิกเอง ทำมาร่วมสิบปี ชุมชนเริ่มตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและบ้านเมือง นำศักยภาพของพื้นที่มาเป็นทุนในการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน พัฒนาอาชีพให้รองรับกับการท่องเที่ยวโดยไม่เปลี่ยนวิถีชีวิตให้ตอบสนองกับบริษัทท่องเที่ยวที่ต้องการความสะดวกสบาย

...แต่ภาครัฐต้องการให้มีการพัฒนาเรื่องการค้าชายแดน อำนวยความสะดวกให้แก่นักธุรกิจบางกลุ่ม โดยใช้นโยบายรัฐเป็นเครื่องมือ เมื่อประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโครงการใหญ่ๆของภาครัฐ ได้มีการใช้สิทธิพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย ในการปกป้องทรัพยากร และวัฒนธรรมท้องถิ่น เรียกร้องตามครรลอง คือยื่นหนังสือขอให้ทบทวนมติ ครม. ซึ่งก็เป็นผลให้ระงับโครงการไป  แต่ภาคธุรกิจ พ่อค้า และข้าราชการบางคนที่ลืมไปว่า "ข้าราชการ" หมายถึงอะไร ออกมาด่าชาวบ้านว่าขัดขวางความเจริญ แต่พอชาวบ้านถามกลับว่า"เจ้านายครับแล้วที่ทำผ่านมานี้มีความเจริญอันใดตกถึงท้องถิ่นบ้าง" ก็โมโหพาลมาเอาเรื่องกับกลุ่มคนพลัดถิ่นหาว่าเป็น เอ็น จี โอ มาปลุกปั่นคนในพื้นที่ให้ต่อต้านรัฐ

..ล่าสุดในวันที่ ๒๘ มิ.ย. นี้ เขาเอาคณะอาจารย์จากจุฬาฯมาวิจัยสำรวจผลกระทบจากการพัฒนาของภาครัฐ  ก็เริ่มต้นว่าชาวบ้านเรื่องมาก จะทำอะไรทีต้องมานั่งศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ทันกินบ้านเมืองไม่เจริญเดี๋ยวจะไม่ทันเวียตนาม ลาว เขาหรอก พอมีคนพูดถึงสิทธิชุมชนตามรัฐธรรมนูญ  สิ่งที่อาจารย์จากจุฬาฯ พูดออกมาทำให้ผมหมดศรัทธาในตัวคนพูดทันที คือ "นั่นมันรัฐธรรมนูญปี ๔๐ นะครับเขาไม่ใช้กันแล้ว" พร้อมกับหันมากระแนะกระแหนผมว่า "ท่าน เอ็น จี โอ ใหญ่"

...ถ้าผมเป็น เอ็น จี โอ ผมจะภูมิใจมากที่มันมีความหมายเป็นภาพของกลุ่มคนที่รักชาติบ้านเมือง ห่วงใยสังคม เสียสละและดำเนินกิจการบนพื้นฐานของธรรมาภิบาล ยึดหลักความถูกต้องตามระบอบประชาธิปไตย

..แต่ผมก็ยังเป็น"ข้าราชการ"คนพลัดถิ่นที่ยึดมั่นในความหมายของคำว่า"ข้าราชการ"ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานให้ว่า คือคนที่ทำงานแทนพระเจ้าอยู่หัวในการดูแลทุกข์สุกของประชาชน ช่วยเหลือประชาชน ให้เขาดูแลตัวเองได้  ผมภูมิใจในความเป็นข้าราชการของผมมาก  แต่พอเห็นข้าราชการฝ่ายปกครองออกมาคัดค้าน พรบ.ชุมชนแล้วรู้สึกสลดหดหู่จริง ๆ เสียดายเงินเดือนที่มาจากภาษีของชาวบ้านจังเลย

.....ผมนับเวลาถอยหลังว่า อีก ๕ ปี ผมจะเออรี่ฯแล้วครับ ......"ผมอายที่จะบอกคนอื่นว่าเป็นข้าราชการเหมือนกับพวกที่ออกทีวี นั้น"

คนพลัดถิ่น

 

ศุภัชณัฏฐ์ (วุฒธิชัย) หลักเมือง
   ผมให้กำลังอาจารย์นะครับ เนื่องจากเป็นกฎหมาย ที่ล้ำสมัยจนหลายคนคิดตามไม่ทัน (โดยเฉพาะ      ข้าราชการยุคเดิม ๆ ที่ติดยึดกับอำนาจอยู่) ก็ต้องเดินหน้าต่อไปครับ  ให้กำลังใจครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท