ธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม และบทบาทของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย


            (22 เม.ย. 49) ไปบรรยายใน “หลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน” (หลักสูตร วตท.) รุ่นที่ 2 จัดโดย “สถาบันวิทยาการตลาดทุน” (Capital Market Academy) ซึ่งเป็นองค์กรในสังกัดและสนับสนุนโดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
            บรรยายในหัวข้อ “ธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม” (Corporate Social Responsibility-CSR) โดยใช้ Power Point และเอกสารดังต่อไปนี้ประกอบการบรรยาย

                                                     คำนิยม


หนังสือแปล    “ปลดปล่อยวิญญาณธุรกิจ สู่การเป็นยอดองค์กร”
ผู้แปล            ไพโรจน์ ภูมิประดิษฐ์
จากต้นฉบับ    Liberating the Corporate Soul: Building a Visionary Organization
ขียนโดย       Richard Barrett


            ผมดีใจที่ได้อ่าน Liberating the Corporate Soul: Building a Visionary Organization เขียนโดย Richard Barrett และแปลเป็นไทยโดย ไพโรจน์ ภูมิประดิษฐ์ ใช้ชื่อหนังสือภาษาไทยว่า ปลดปล่อยวิญญาณธุรกิจ สู่การเป็นยอดองค์กร ผมอ่านแบบไม่อยากวาง เพราะประทับใจและจุใจเอามากๆ
            เป็นหนังสือน้อยเล่มเกี่ยวกับธุรกิจที่มองเรื่องคุณค่า ปรัชญา คุณธรรม และการมุ่งประโยชน์ส่วนรวม ว่าเป็นปัจจัยสำคัญมากที่จะนำพาธุรกิจสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืนและยาวนานในคริสต์ศตวรรษที่ 21
            โลกทุกวันนี้ถูกครอบงำด้วยระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งทำให้เกิดความก้าวหน้าทางวัตถุและการเติบโตทางการเงินอย่างต่อเนื่องชนิดยั้งไม่อยู่ แต่ขณะเดียวกันก็นำมาซึ่งความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน โดยที่คนจนยังคงมีจำนวนมากกว่าคนรวย การแก่งแย่งแข่งขันแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา หรือใครเก่งใครได้ ใครไม่เก่งก็ต้องอด ความแตกแยกขัดแย้งภายในสังคมและระหว่างสังคม การเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
            ธุรกิจภายใต้ระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งมีบทบาทและทรงอิทธิพลมากขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะในยุคสมัยที่เรียกว่าโลกาภิวัตน์ จึงถูกมองว่าเป็นต้นเหตุหรือมีส่วนเป็นต้นเหตุของสภาพการณ์อันไม่พึงปรารถนาดังกล่าวข้างต้น หรืออย่างน้อยที่สุดก็ถือว่าธุรกิจไม่ได้มีส่วนช่วยเท่าที่ควรในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเหล่านั้น
            หนังสือแปล ปลดปล่อยวิญญาณธุรกิจ สู่การเป็นยอดองค์กร ฉบับนี้จึงถือว่าเหมาะกับความต้องการของยุคสมัยเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนได้ชี้ให้เห็นอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเข้าใจง่ายว่าธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จในคริสต์ศตวรรษที่ 21 จะต้องเป็นธุรกิจที่มี “จิตสำนึก” (Consciousness) สูง และเป็น “จิตสำนึก” ที่ได้ดุลยภาพระหว่าง “จิตสำนึกภายใน” ซึ่งเกี่ยวกับความสำเร็จในเชิงผลการดำเนินงานขององค์กร และ “จิตสำนึกภายนอก” ซึ่งได้แก่การมุ่งสร้างความสำเร็จในฐานะเป็น “สมาชิก” ที่ดีของชุมชนและสังคม รวมถึงการสร้างสรรค์ประโยชน์อันเป็นส่วนรวม การมีส่วนร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาสังคมให้เกิดความสันติสุขที่ถ้วนทั่วและยั่งยืน เป็นต้น
            จุดเด่นอีกประการหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ คือ การชี้ให้เห็นถึงคุณค่าและพลังของการผสมผสานระหว่าง “จิตสำนึก” “คุณค่า” “พันธกิจ” “เป้าหมาย” ของ “พนักงาน” ของ “หน่วยงาน” และของ “องค์กร” เข้าด้วยกันอย่างผสมผสานกลมกลืน สามารถทำให้เกิดพลังสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่พนักงานและผู้บริหารมีความสุขและแรงบันดาลใจสูง ทุ่มเทความพยายามและใช้ศักยภาพเต็มที่ให้แก่ภารกิจขององค์กร ทำให้องค์กรมีความเข้มแข็ง มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มีคุณธรรม ประสบความสำเร็จสูงทั้งในเชิงธุรกิจ (ได้แก่การเติบโตและผลกำไร เป็นต้น) และการมีบทบาทสร้างสรรค์ในชุมชนและสังคมไปพร้อมกัน
            หนังสือเล่มนี้ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่มีคุณค่า รวมถึงการอธิบายขั้นตอนวิธีปฏิบัติที่จะนำไปสู่การเป็น “องค์กรแห่งวิสัยทัศน์” หรือ “องค์กรแห่งอุดมทัศน์” (Visionary Organization) ความแตกต่างระหว่าง “ผู้นำ” กับ “ผู้จัดการ” และวิธีการพัฒนาผู้นำในองค์กร เป็นต้น
            ประเทศไทยเราทุกวันนี้กำลังต้องการ “ผู้นำ” ที่มีคุณภาพในทุกวงการไม่ว่าจะเป็นวงการภาครัฐ วงการภาคธุรกิจ หรือวงการภาคประชาสังคม-ภาคประชาชน โดยเฉพาะเราต้องการ “ผู้นำ” ที่มี “จิตสำนึกสูง” ซึ่งมีคุลยภาพระหว่าง “จิตสำนึกภายใน” (เกี่ยวกับตนเองและองค์กรที่ตนบริหาร) และ “จิตสำนึกภายนอก” (เกี่ยวกับส่วนรวม ชุมชนและสังคม)
            ขณะเดียวกัน เราก็ต้องการ “องค์กรแห่งวิสัยทัศน์-อุดมทัศน์” (Visionary Organization) ทั้งในภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม-ภาคประชาชน
            ทั้ง “ผู้นำที่มีจิตสำนึกสูง” และ “องค์กรแห่งวิสัยทัศน์-อุดมทัศน์” จะช่วยให้ประเทศไทย สังคมไทย มีความเจริญก้าวหน้าไปในทิศทางแห่งความสันติสุขถ้วนทั่วที่มั่นคงและยั่งยืน ได้ดียิ่งขึ้น
            ต้องขอบคุณ Richard Barrett ผู้เขียน และไพโรจน์ ภูมิประดิษฐ์ ผู้แปล ที่ช่วยให้เราได้อ่านหนังสือดีมากๆแห่งยุคสมัยอีกเล่มหนึ่ง

                                             โจทย์สำหรับการประชุมกลุ่ม เรื่อง
                                            “ธุรกิจกับความรับผิดชอบต่อสังคม”
                                     (Corporate Social Responsibility – CSR)


         1.   คิดตามลำพัง ค้นหากรณีความสำเร็จ หรือ เรื่องน่าชื่นชมว่าด้วย “ความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม” (Corporate Social Responsibility – CSR) ที่ท่านได้เกี่ยวข้องหรือประสบหรือรับรู้
               กรณีหรือเรื่องที่ว่านั้น เป็นอย่างไร เกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน ใครทำ ทำอย่างไร ได้ผลอย่างไร สำเร็จอย่างไร หรือน่าชื่นชมอย่างไร ฯลฯ
               ท่านอาจบันทึกย่อๆไว้ เพื่อสะดวกในการลำดับความคิดและจดจำก่อนนำไปเล่าให้ผู้อื่นฟัง
         2.   ผลัดกันเล่าเรื่องตามข้อ 1. ใช้เวลาคนละประมาณ 1.5 – 2 นาที โดยเล่าอย่างกระชับที่สุด เน้นสาระสำคัญเท่านั้น
               ควรมีสมาชิกกลุ่มหรือผู้ช่วยกลุ่มช่วยบันทึกสาระสำคัญของเรื่องที่เล่า และหรือเขียนบน ฟลิปชาร์ท (Flip Chart) เพื่อประโยชน์ในการเข้าใจและพิจารณาเรื่องร่วมกัน
         3.   ร่วมกันพิจารณาสังเคราะห์ข้อเท็จจริงและความเห็นจากเรื่องที่เล่าทั้งหมด
         4.   ร่วมกันพิจารณากำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ในการส่งเสริมความรับผิดชอบของธุรกิจต่อสังคม ภายในขอบเขตที่กลุ่มเลือก

(Corporate Social Responsibility – CSR)–(Flip Chart)

ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม
25 เมษายน 2549

 

คำสำคัญ (Tags): #การพัฒนาสังคม
หมายเลขบันทึก: 25448เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2006 19:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณคะ สำหรับเรื่องที่น่าสนใจ

ต้องทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับ ISO 26000

ต้องหาความรู้อีกมากคะ

ขอบคุณมากค่ะสำหรับความรู้ดีๆ แบบนี้

ขออนุญาตนำไปอ้างอิงกับรายการการศึกษาของดิฉันนะคะ

และดิฉันจะอ้างอิงถึงที่มาค่ะ

ขอบพระคุณในความกรุณาอีกครั้งค่ะ

Buskorn

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท