ความทรงจำที่เป็นปัจจุบันเกี่ยวกับ "เล้าข้าว"


เล้าข้าวคงไม่เพียงเป็นแค่สถาปัตยกรรมพื้นบ้านของชาวนาเท่านั้น หากแต่ในทางคติชนวิทยานั้นกลับมีเรื่องราวมากมายให้ชวนขบคิดอย่างไม่รู้จบ

พักนี้ผมรู้สึกว่าตนเองมีภาระหลายอย่างต้องสะสาง  ทั้งงานเก่าและงานใหม่ต่างแยกเขี้ยวคำรามใส่ผมอยู่ไม่เว้นวัน  ยิ่งการกลับเข้าสู่งานที่มี "ตำแหน่ง"  ยิ่งทำให้ผมรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า  ตนเองแบกรับอะไรอยู่มากมิใช่น้อย  โดยเฉพาะการมารับช่วงต่อในภาวะที่การงานต่าง ๆ ได้พร้อมใจกันดาหน้าตบเท้าเข้าประชิดแบบไม่พูดพร่ำทำเพลง  เลยยิ่งพลอยย้ำให้ผมรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่า การจัดการกับความสุขของแต่ละวันนั้น  ผมยังต้อง "ลงแรง"  อีกมากโขเลยทีเดียว

เช่นเดียวกับเช้าตรู่ของวันเสาร์   ผมตัดสินใจหอบหิ้วครอบครัวเดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติภูผานของจังหวัดขอนแก่น  โดยมีภารกิจอย่างเป็นทางการคือการไปเป็นวิทยากรให้กับนิสิตที่จัด "เสวนากิจกรรมนำสู่ธรรมชาติ"  ส่วนภารกิจอย่างไม่เป็นทางการนั้นก็คือ  การพาคนของความรักไปพักผ่อนแบบง่ายๆ สบาย ๆ ด้วยการกางเต็นท์นอนฟังเสียงลมหนาวจากผืนป่า  ด้วยหวังว่า  วิธีการเช่นนี้จะช่วยให้พละกำลังของชีวิตหวนกลับมาเยือนตัวเองอย่างจริงจังอีกสักหน

ตลอดเส้นทางไปกลับ  ผมขับรถไม่เร็วนัก  แต่ในความไม่เร็วนั้นกลับไม่เคยได้จอดแวะตามรายทางเท่าที่ควร  ซึ่งผมเองก็แปลกใจมิใช่น้อย  เพราะโดยปกติแล้ว  เมื่อมีโอกาสเดินทางฝ่าสายถนนอันรายรอบไปด้วยทุ่งข้าวอันเหลืองเรืองรองเช่นนี้   ผมมักไม่ละเลยที่จะหยุดรถเพื่อลงไปสัมผัสกับวิถีของท้องทุ่ง  โดยเริ่มจากการยืนนิ่งเพ่งมองไปสู่ท้องทุ่งอันแสนงาม  พร้อม ๆ  กับการหลับตาลงอย่างช้า ๆ  จากนั้นก็สูดเอากลิ่นอายอันมีชีวิตเข้ามาสู่ตัวเองอย่างละเมียดละไม  และนั่นยังหมายถึงการหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพเหล่านั้นไว้ ราวกับว่าวันข้างหน้าอาจไม่พบเจอบรรยากาศเฉกเช่นวันนี้


ท้องทุ่งของวันนี้เหลืองงามอย่างมีชีวิต  ผืนนาหลายแปลงคึกคักไปด้วยเสียงคำรามลั่นของรถเกี่ยวข้าวอันทรงพลังที่ยิ่งดูยิ่งไม่รู้สึกถึงความเหน็ดเหนื่อย  ขณะที่บางแห่ง  มีคนเพียงไม่ถึงสิบคนกำลังก้ม ๆ เงย ๆ เกี่ยวข้าวอยู่ขะมักเขม้น  เช่นเดียวกับบางแห่ง  ทุ่งทั้งทุ่งก็ปรากฏกองฟางเล็กใหญ่ยืนท้าแดดหนาวอยู่อย่างไม่สะทกสะท้าน  และบางแห่งก็เริ่มมีการลำเลียงข้าวเปลือกออกจากแปลงนา  ซึ่งผมก็ไม่รู้หรอกว่าการลำเลียงขนถ่ายที่ว่านั้น  มีเล้าข้าวในเรือนบ้านเป็นจุดหมาย  หรือโรงสีของนายเงินเป็นจุดหมายปลายทางกันแน่

ภาพที่ผมได้พานพบจากการเดินทางในวันหยุดเช่นนี้  เป็นเสมือนสายลมแห่งความทรงจำที่พัดพาให้ผมหวนกลับไปสู่วังวนชีวิตในวัยเด็กของตนเองอย่างง่ายดาย

 

 

ผมหวนคิดถึงภาพของเล้าข้าว (ยุ้งฉาง)  ของชาวนา หรือแต่เล้าข้าวที่ปลูกไว้ข้าง ๆ ตัวบ้านของผมเอง  ซึ่งเท่าที่จำความได้ก็มีทั้งที่มุงหลังคาด้วยไม้ หรือไม่ก็มุงด้วยสังกะสี  ส่วนฝาของเล้าข้าวนั้นก็มีทั้งที่ทำด้วยแผ่นไม้หนา ๆ  หรือไม่ก็เป็นแผ่นสังกะสี  แต่ที่เก่าแก่หรือโบราณหน่อย  ก็ดูเหมือนจะเป็นไม้ไผ่สาน ๆ กันให้แน่นหนา  และฉาบด้วยโคลนผสมแกลบ หรือบางทีถ้าจำไม่ผิดก็มีขี้วัวขึ้ควายเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย 

ขณะที่ประตูนั้นมักนิยมนำไม้แผ่นหนาหลาย ๆ แผ่นเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ  โดยที่ขาดไม่ได้ก็คือชานขนาดเล็ก ๆ ยื่นออกมาจากตัวเล้าข้าว  เพื่อใช้สำหรับพักข้าวชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากการลำเลียงเข้าออก  รวมถึงการเก็บวางสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ  ด้วยเช่นกัน  และชานเล็ก ๆ นี่เองที่ช่วยให้ผมได้ยืนเกาะประตูเล้าข้าวชะแง้มองแม่ที่กำลังตวงข้าวเปลือกใส่กระสอบเพื่อนำไปสีที่โรงสี  หรือไม่ก็แบ่งปันให้กับเครือญาติ

 

 

 

ชีวิตในวัยเด็ก  ผมไม่ค่อยมีโอกาสเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่ปรากฏในตัวเล้าข้าวเท่าใดนัก  อีกทั้งส่วนก็ไม่ค่อยชอบที่จะมุดตัวเข้าไปในนั้น  เพราะผมเป็นคนแพ้ฝุ่น  จึงกลัวที่จะระคายเคืองกับละอองฝุ่นที่แปดปนอยู่กับข้าวเปลือก  และที่สำคัญที่ต้องขอสารภาพแบบตรง ๆ ในที่นี้เลยก็คือ  ผมกลัวเจ้าตุ๊กแกที่มักแฝงตัวอยู่ในนั้น  เพราะแต่ละตัวที่เคยปรากฏตัวออกมาให้ยลโฉมนั้น  ล้วนแล้วแต่ตัวโต ๆ หัวโต ๆ  แทบทั้งสิ้น  มิหนำซ้ำยังมีลายน่าเกลียดน่ากลัวอย่างบอกไม่ถูก ... เคยมีคนมาขอส่องไฟจับเจ้าตุ๊กแกตามเล้าข้าวในตอนกลางคืน  เห็นว่านำไปขายได้ตัวละ 10 - 12 บาทเลยทีเดียว

 

จะว่าไปแล้ว  เล้าข้าวคงไม่เพียงเป็นแค่สถาปัตยกรรมพื้นบ้านของชาวนาเท่านั้น  หากแต่ในทางคติชนวิทยานั้นกลับมีเรื่องราวมากมายให้ชวนขบคิดอย่างไม่รู้จบ  จะทั้งในมิติของการปลูกสร้าง  การใช้สอย  หรือแม้แต่ความเชื่ออันผูกแน่นไว้กับพิธีกรรมต่าง ๆ ก็ล้วนแล้วแต่น่าสนใจอยู่อย่างไม่รู้จบ ยกตัวอย่างเช่น  เท่าที่จำได้ แม่ไม่เคยขึ้นไปบนเล้าเพื่อตักข้าวในวันที่ตรงกับ "ศีลเล็กศีลใหญ่" (8 ค่ำ และ 15 ค่ำ)  รวมถึงการไม่ตักข้าวในยามที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าไปแล้ว  หรือแม้แต่ก่อนการนำข้าวเปลือกขึ้นเล้าข้าว  แม่ก็จะทำพิธีกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ เป็นต้นว่า นำเอาฟางข้าวและน้ำเจ้า หรือ "ใบคูนใบยอ"  มาวางไว้บริเวณประตูเล้า  หรือไม่บางทีก็เหน็บไว้ตามฝาผนังของตัวเล้า  ซึ่งท่านบอกว่าเป็นการอัญเชิญให้แม่โพสพมาดูแลรักษาข้าวในยุ้งฉาง  เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล  ส่วนใบคูนก็เสมือนการช่วยให้เกิดความค้ำคูน มีผลผลิตเยอะ ๆ  ให้ข้าวออกดอกออกผล  พอถึง "วันพระวันเจ้า" บางครั้งหลังสวดมนต์เย็นเสร็จ  แม่ หรือพ่อก็มอบหน้าที่ให้ผมนำธูปเทียนและดอกไม้ไปปักไว้ใกล้ ๆ กับตัวเล้าด้วยเหมือนกัน -


ขณะที่พ่อก็เคยได้เปรยให้ฟังบ้างเหมือนกันว่า  เล้าข้าวที่ดีนั้นจะต้องไม่ปลูกอยู่ห่างจากตัวบ้านมากนัก  ไม่อยู่บนจอมปลวก  และต้องไม่นำไม้ที่ไม่เป็นมงคลมาปลูกเป็นเล้าข้าว เช่น ไม้ที่ยืนต้นตาย ไม้ที่เป็นโพรง ไม้ที่ถูกฟ้าผ่า เป็นต้น 

 

 

ผมไม่รู้หรอกว่า  สิ่งที่ได้ฟังและได้เห็นในวัยเด็กนั้นจะจริงหรือเท็จ  แต่ผมก็ยังจดจำและผูกพันกับบรรยากาศเช่นนั้นสืบมาจนถึงทุกวันนี้  เฉกเช่นกับการจดจำได้อย่างแม่นยำว่าในเล้าข้าวนั้นก็หาใช่จะมีแต่เฉพาะข้าวเปลือกเท่านั้นที่ถูกนำไปจัดเก็บไว้  แต่กลับพบว่าบรรดาของแห้งประเภทกระเทียม หัวหอม  พริกหรือแม้แต่ข้าวโพดก็นิยมนำไปแขวนไว้ในนั้นด้วยเช่นกัน 

 

ในทำนองเดียวกันนี้  สิ่งหนึ่งที่พบเห็นบ่อยครั้งไม่แพ้กันก็คือ  ในงานบุญ หรืองานแต่งงาน  บางครั้งก็มักนำเอาเนื้อวัวเนื้อควายไปเก็บไว้บนเล้า  เสร็จแล้วก็ทยอยนำออกมาประกอบอาหาร และแจกจ่ายให้กับคนที่มาร่วมงาน  ขณะที่ใต้ถุนของตัวเล้าก็มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า  โดยบางครัวเรือนก็ใช้เป็นที่แขวนอุปกรณ์เครื่องไม้เครื่องมือหาเลี้ยงชีพของชาวนา  ทั้งจอบ ตะกร้า กะบุง  คันไถ  คราด  รวมไปถึงการทำเป็นคอกหมู หรือไม่ก็เล้าไก่  บางทีด้านข้างยังเคยขุดเป็นแปลงปลูกผักสวนครัวเลยก็มี 

สิ่งเหล่านี้สำหรับผมแล้ว  ถือได้ว่า เป็นภาพ "ความทรงจำ" (ที่เป็นปัจจุบัน)  ที่มีคุณค่าอย่างมหาศาล และจะยังคงอยู่กับตัวผมสืบต่อไปอย่างไม่รู้จบ

  

หมายเลขบันทึก: 226467เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2008 22:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีค่ะ

ข้าวฟ่างอ่านแล้ว

ซึ้งเลยค่ะ

จะติดตามบันทึกนะคะ

อ่านแล้ว นึกถึงวัยเด็กเช่นกัน ปัจจุบันเรายังมีโอกาสเห็นเล้าข้าวที่สวยงาม โอกาสข้างหน้าเราหวังว่าเล้าข้าวน่าจะอยู่คู่ประเทศไทยต่อไปนะคะ

ข้อเขียนดีดี ของน้องชาย พี่ยังรอติดตามอ่านเสมอนะ

  • สวัสดีคะคะอาจารย์
  • คิดถึงเล้าข้าวของคุณยายที่พยัคภูมิพสัย
  • ตอนนี้ไม่เหลือให้เห็นแล้ว
  • จำได้แต่เวลามีการจัดงาน คุณยายนำเนื้อไปไว้ในเล้าข้าว
  • และเวลากลับบ้านคุณยายที่ไรคุณยายไปเอาข้าวมาสีให้ แต่ต้องไปให้ถุกวันนะ จำไม่ไดวันไหน ห้ามเปิดเล้าข้าว

สวัสดีคะ เห็นแล้วที่บ้านนกตอนเด็ก ก็มีคะ ย่า ปู่ ทำคะ ขอบคุณอาจารย์คะที่นำมาฝาก

สวัสดีครับ

ผมก็เพิ่งเอาข้าวขึ้นเหล้าเมื่อคืน

ผมว่าจะชวนพี่ไปกินข้าวป่าอยู่

เคิก()ตั้งหลายอาทิตย์

รู้สึกส่วง(โล่งอก)ที่เสร็จ

รู้สึกอบอุ่นมากครับ

เพื่อนไปช่วยเยอะเลย

ช่วงนี้หนาวแล้ว

อย่าลืมรักษาสุขภาพด้วยนะครับ

ปล.ใบประกาศด้วย น้องฝากมา

อาจารย์ครับ

@ สมัยเป็นเด็กน้อย 101 เห็นเฮือนต่อเล้านำครับ นึกถึงภาพในอดีต "บุญสู่ขวัญข้าว" หลังฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าว ตามด้วย "บุญกุ้มข้าวใหญ่" ที่ชาวบ้านนำข้าวมาถวายวัดรวม "กองข้าว" กลางลานวัด

@ ขณะที่ประตูนั้นมักนิยมนำไม้แผ่นหนาหลาย ๆ แผ่นเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ โดยนัยการเรียงซ้อนไม้เป็นชั้นๆ เป็นการเก็บสถิติอย่างหนึ่งว่าปีที่แล้ว ได้ข้าวมากน้อยขนาดไหน ถ้าได้มายชั้นไม้ก็มากตามไปด้วย

@ ส่วนใต้เล้าข้าวจะทำเป็นคอกหมู คุณพ่อ-คุณแม่ จะใช้ถ่านเขียนตามขื่อ คาน ต้นเสาเล้า ระบุวันที่หมูออกลูก เลขเด็ด ปริมาณข้าว(ถ้ง)ที่ได้ในแต่ละปี เตือนความทรงจำได้เป็นอย่างดี

@ บางครั้งจะทำเป็นครัว โดยแยกจากตัวบ้าน มีเตาไฟที่ใช้ฟืนเป็นเชื้อเพลิง เวลาดัง(ก่อ)ไฟ ควันงี้..สุดจะบรรยาย

@ คืดฮอดบ้านเฮาเนาะ...

ชีวิตจริงที่ http://learners.in.th/blog/research/63569

เดือนเอ้ย  เดือนสิบเอ็ดลมพานต้อง  เดือนสิบสองน้ำหมองฮั่ว

สีขัวนัวน้ำหมอกย้อย   หัวใจล้มจั่งจ่มหา

คิดเห็นลุงและป้า  อาวอาผู้เฒ่าเก่า

พากันเอาเข้าขึ้นเล้า   สาแล้วล่ะตั่วนอ

เฮ็ดให้ผมคิดพ้อ  มูลมังเก่าไทอีสาน

เดือนสิบสองมีงาน  ทอดกฐินแต่คราวนั้น

เสร็จจากงานกฐินนั้น  เก็บกำเข้าดอแก่

ทั้งเฒ่าพ่อ เฒ่าแม่  ซ่อยกันเกี่ยวกองไว้  ใส่ลานพ้อมพ่ำดี

ยินเสียงวีวีก้อง  สายสนูเจ้าแล่นว่าง

พวกคนหนุ่มผู้สาว  เกี่ยวเข้าไปกะพ่องเล่น  ผญาเกี้ยวเจ้าใส่กัน

นับตั้งแต่มื่อนั้น   จนมาฮอดมื่อนี่  บ่โดนนานเจ้าจักหน่อย

พวกหมู่เด็กหนุ่มน้อย  ลืมจ้อยฮีตอีสาน

................โอ้ย..พอล่ะ

เขียนไปหลายแฮ่งอยากไห้

คิดฮอดแฮง

ได้ความรู้..ที่ไม่เคยรู้สำหรับเด็กเมืองอย่างดิฉัน มาก ๆ ๆ ๆ...

ชอบคำว่า "คนของความรัก"

ขอยืมไปใช้ ด้วยคน..ค่ะ 

สวัสดีครับ

  • แถวบ้านเรียกเรือนข้าว
  • ทรงคล้ายๆกับทางใต้
  • ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับ.. น้องข้าวฟ่าง

ขอบคุณนะครับสำหรับการติดตามบันทึก.

และกำลังคิดอยู่เหมือนกันว่า จะนำเอาความทรงจำใดดีมาเขียนถึงเรื่องราวในทำนองนี้ต่อไป..

ตั้งใจเรียน ตั้งใจเรียนนะครับ, เป็นกำลังใจให้อยู่ตรงนี้แหละ

สวัสดีครับ พี่แก้ว..อุบล จ๋วงพานิช

เล้าชาว - ฉางข้าว  มีเรื่องราวมากมายในเชิงภูมิปัญญาอัดแน่นอยู่ตรงนั้น  ผมเองก็จำไม่ได้หมด แต่เท่าที่จำความได้ก็ประทับใจเป็นที่สุดแล้ว  เคยปีนตามแม่  เห็นแม่ตวงข้าวเปลือกไปโรงสีแต่ละครั้งแล้วน่าสนุกมาก และจะภูมิใจเสมอว่าในเล้าข้าวของเรามีข้าวเยอะพอสมควร  ซึ่งเหลือพอที่จะแบ่งปันให้คนอื่นได้เป็นระยะ ๆ  .. หรือแต่แบ่งให้หยิบยืมไปก่อน

ทุกวันนี้,  ผลผลิตไม่ดีนัก แต่เล้าข้าวที่บ้านก็หยัดยืนอยู่อย่างทระนง

เห็นคุณแผ่นดิน เขียนเรื่อง เล้าข้าว ผมก็เลยหยิบภาพเล้าข้าว(ซอมข้าว)มาฝาก เป็นเล้าที่ใช้ไม้ไผ่สานเป็นผนังเล้าแล้วเอาดินโพนผสมกับขี้ควายทาทั้งภายนอกภายในเหมือนฉาบปูน เมื่อแห้งแล้วจะอยู่ทนทานนานปี ประโยชน์ของการใช้ขี้ควายเป็นตัวประสานอุดรูรั่วจากการสานไม้ไผ่แล้ว ขี้ควายยังส่งกลิ่นรบกวนแมลงที่จะมาทำลายข้าวเปลือก ดังนั้นเล้าข้าวแบบนี้จึงหมดปัญหาเรื่องแมลงทำลายข้าวได้เป็นอย่างดี นับเป็นภูมิปัญญาอันชาญฉลาดของชาวอีสานจริง

 

 

อยากทราบวิธีหรือพิธีกรรมเกี่ยวกับการย้ายเล้าช้าวในบริเวณบ้าน สอบถามผู้อาวุโสในชุมชนหลายรายไม่ได้คำตอบชัดเจน มีแต่ห้ามอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ตอบไม่ได้ชัดว่าต้องทำอย่างไรจึงถูกธรรมเนียมอีสาน  คนภาคกลางมาอยู่อีสานก็งง ค้นหาความรู้หลายที่ไม่ได้คำตอบ ช่วยหน่อยนะตรับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท