เรียนล่วงหน้า (7) : แกลมอ พิธีกรรมของชาวอีสานใต้ที่ผมไม่เคยดู ..ไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็น


ความน่าพึงใจที่เห็นคนหนุ่มสาวยังยึดมั่นและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมพื้นถิ่นของตนเอง โดยไม่รู้สึกว่าวัฒนธรรมของตนเอง “ด้อย” ไปกว่าวัฒนธรรมใด ๆ
   

แกลมอ ..บอกตามตรงในชีวิตของผม,    ผมไม่เคยได้ยินคำ ๆ นี้มาก่อนเลยแม้แต่น้อย  กระทั่งในวันนั้น (3  พฤษภาคม)  นิสิตเรียนล่วงหน้า กลุ่มที่  7  ได้แสดงแสงยานุภาพทางการแสดง  โดยเลือกเอา  แกลมอ   มาแสดงบนเวทีนั่นแหละ  ถึงได้รู้  ได้เห็นกับตาว่าเป็นเช่นไรกันแน่ !

 

 

 

แต่การแสดงในวันนั้นต้องถือว่า เหนือความคาดหมาย  อย่างที่สุด   ตลอดระยะเวลาที่การแสดงดำเนินไปนั้น   ผู้คนที่นั่งชมต่างเงียบงันราวกับต้องมนต์   ส่วนหนึ่ง (เพียงไม่กี่คน)  อดรนทนไม่ไหวถึงขั้นขออนุญาตลุกเดินออกไปจากบริเวณงาน  เพียงเพราะหวาดกลัวต่อบรรยากาศที่เกิดขึ้น...

 

 

 

และก่อนการแสดงเพียงไม่กี่วัน   ผมก็พอทราบมาบ้างว่า   กลุ่มนี้ทุ่มเทกายและใจต่อการแสดงเป็นอย่างมาก   เริ่มจากการคัดสรรนางรำที่มีทักษะ,   การทำความเข้าใจในเรื่องเนื้อหาการแสดงกับเพื่อน ๆ  รวมถึงการเดินทางกลับไปยัง จ.สุรินทร์  เพื่อนำชุดแต่งกายจากบ้านเกิดมาสวมใส่ให้ดูสมจริง

 

   

นั่นแหละ  คือ  สิ่งที่ผมประทับใจ, ประหลาดใจ  และถือเป็นปรากฏการณ์เหนือความคาดหมายเกินกว่าที่ผมตั้งไว้อย่างลิบลับ

 

 

 

    

 

แกลมอ   เป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นของชาวอีสานตอนล่างที่สืบเชื้อสายมาจากขอม    ส่วนใหญ่ก็คือคนเมืองช้าง (สุรินทร์)  นั่นเอง   ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมที่จัดขึ้นเพื่อรักษาผู้ป่วย  โดยการเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาเป่าปัดรักษาอาการเจ็บไข้ของลูกหลาน  รวมถึงการขอความช่วยเหลือผ่าน แม่หมอ  (คนทรง)  ในการไต่ถามถึงสาเหตุของการเจ็บไข้สู่แนวทางการบำบัดรักษา

 

 

    

ในพิธีกรรมดังกล่าวนี้   จะต้องมีการตระเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ให้ครบครัน อาทิ พานบายศรี,  ดอกไม้ธูปเทียน,  เงินทองของใช้, เสื้อผ้าหน้าแพร ของประดับ,  ดาบ 1  เล่ม,  ไข่ไก่ 1 ฟอง,  หมากพรู  เป็นต้น

 

 

    

ในเย็นวันนั้น,   นิสิตได้ผูกเรื่องราวขึ้นจากการที่กลุ่มวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งล้อมวงดื่มสุราฮาเฮอย่างถึงพริกถึงขิง   ครั้นเมาได้ที่ก็เดินไปปัสสาวะอย่างไม่เป็นที่เป็นทาง    ซึ่งการปัสสาวะครั้งนั้นกลับกลายเป็นการไปฉี่รดศาลพระภูมิของชุมชน   และทันทีที่กลับมานั่งในวงเหล้า   ก็ล้มชักดิ้นชักงอหมดสติลงอย่างรวดเร็ว   ทั้งพ่อแม่และเพื่อน ๆ  ต่างช่วยกันปฐมพยาบาลอย่างเต็มที่แต่ก็ไม่มีท่าทีว่าจะฟื้นคืนสติเลยแม้แต่น้อย  จึงต้องพาไปให้   แม่หมอ  ได้ใช้พิธีกรรม  แกลมอ  ช่วยเหลือ  ทั้งการสอบถามสาเหตุและการนำไปสู่การบำบัดรักษา

 

 

     

 

แม่หมอ   เริ่มต้นพิธีกรรมด้วยการอัญเชิญดวงวิญญาณของบรรพบุรุษมาเข้าประทับร่างทรงของตนเอง  และเมื่อร่างกายของแม่หมอถูกประทับทรงเป็นที่เรียบร้อยก็จะมีอาการสั่นเทิ้มไปทั้งร่าง  จากนั้นผู้คนก็จะห้อมล้อมเข้าไปผูกข้อมือให้แม่หมอ   พร้อมทั้งแจ้งเจตนารมณ์ให้ทราบว่าต้องการสิ่งใด  และเมื่อแม่หมอได้ดื่มกินเครื่องเซ่นสังเวยเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะลุกขึ้นร่ายรำไปรอบ ๆ  เครื่องสังเวย  รวมถึงการร่ายรำไปรอบ ๆ  คนที่ล้มป่วยไม่ได้สติ  

 

 

 

 

 

เวลาผ่านไปได้สักระยะ    เมื่อแม่หมอมีท่าทีของการรับรู้ถึงสาเหตุของการเจ็บไข้ที่แน่ชัดแล้ว  ก็เริ่มเข้าสู่พิธีกรรมรักษาคนป่วยด้วยการร่ายรำปัดรังควานจนช่วยให้คนป่วยฟื้นคืนสติและในที่สุดก็หายเจ็บไข้เป็นปลิดทิ้ง   จากนั้นจึงได้นำพาเจ้าหนุ่มคะนองคนนั้นไปขอขมาลาโทษต่อศาลพระภูมิ  ซึ่งนำพาความปลื้มปิติมาสู่ผู้คนและญาติมิตร

 

     

ตลอดการแสดงของนิสิต,  ไม่เพียงแต่เฉพาะผมเท่านั้นที่นั่งชมอย่างตั้งอกตั้งใจ  แต่นิสิตทั้งปวงก็นิ่งเงียบ   ใจจดใจจ่ออย่างไม่ไหวติง, ไม่แพ้กัน

 

 

    

บรรยากาศที่ถูกจัดแต่งด้วยแสงไฟอันสลัว ๆ  กอปรกับควันธูปที่ลอยอ้อยอิ่งอยู่บนเวทียิ่งชวนให้บรรยากาศการแสดงดูขรึมขลัง -  น่าเกรงกลัวไปโดยปริยาย   ยิ่งดนตรีที่โหยหวนและนางรำที่กรีดกรายอย่างเนิบช้า   ยิ่งเติมบรรยากาศให้ชวนวังเวงใจอย่างเหลือหลาย..

 

 

       

 

นั่นเป็นแต่เพียงบรรยากาศที่เกิดขึ้นในเวทีแห่งความคิดของนิสิตใหม่   ซึ่งผมไม่คาดคิดว่าพวกเขาจะมุ่งมั่นและจริงจังกับ บทเรียน  ที่ให้ไปมากมายถึงเพียงนี้   และโดยส่วนตัวแล้ว    ผมค่อนข้างให้เครดิตการแสดงของกลุ่มนี้เป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะหัวเรือใหญ่ที่สามารถขับศักยภาพของวิถีวัฒนธรรมของตนเองออกสู่ผองเพื่อนได้อย่างมีพลัง

 

 

 

   

ปรากฏการณ์เช่นนี้   คือความน่าพึงใจที่เห็นคนหนุ่มสาวยังยึดมั่นและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมพื้นถิ่นของตนเอง  โดยไม่รู้สึกว่าวัฒนธรรมของตนเอง ด้อย  ไปกว่าวัฒนธรรมใด ๆ   เพราะนั่นคือการสะท้อนให้เห็นถึงว่า   นิสิตท่านนั้น  มีศรัทธาอันแรงกล้าต่อรากเหง้าทางวัฒนธรรมของตนเองอย่างเห็นได้ชัด

 

 

 

 

 

 

ผมยังไม่มีเวลาและโอกาสได้ค้นคว้าเพิ่มเติมเกี่ยวกับพิธี  แกลมอ  แต่ก็ตั้งใจว่าจะศึกษามาประดับชีวิตตนเองในไม่ช้า   และจะว่าไปแล้ว แกลมอ  ก็ละม้ายคล้ายเคียงกับการ รำผีฟ้า  ของชาวอีสาน    ซึ่งต่างก็เป็นส่วนหนึ่งในพิธีกรรมของการบำบัดรักษาผู้ป่วย  เพียงแต่แกลมอ  จะสัมพันธ์กับการบนบานศาลกล่าวในโอกาสต่าง ๆ  และดวงวิญญาณของบรรพบุรุษก็จะคอยทำหน้าที่ปกปักษ์รักษาชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุขด้วยก็เท่านั้นเอง    

 

แล้วท่านล่ะครับ    เคยพบเห็นพิธีกรรมเช่นนี้บ้างหรือเปล่า  ?

 

 

 

 

 หรือหากท่านใดมีความรู้ในเรื่องดังกล่าวนี้  คงต้องรบกวนให้ความกรุณา  ต่อยอดความรู้แก่ผม  ในบันทึกนี้สักครั้ง... (จะเป็นพระคุณอย่างสูง..นะครับ)

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 95684เขียนเมื่อ 11 พฤษภาคม 2007 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (43)
รำผีฟ้า ผู้ป่วยก็ลุกขึ้นมารำด้วยหรือเปล่าครับ? (ผมพยายามประมวลจากคำบอกเล่า)

น่าสนใจนะครับ พิธีกรรมที่แปลกๆ

ผมเองก็พบเห็นพิธีกรรมของพี่น้องชาวไทยภูเขา ที่แปลก วันหน้าผมจะเอามาเล่าสู่กันฟังครับ

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน

เบิร์ดนึกถึง " ผีฟ้า " จริงๆแหละค่ะ...ดูๆแล้วทั้งน่าทึ่งน่าชื่นชมตรงที่น้องๆเค้าทำอย่างจริงจัง มีการเรียนรู้จริง..และที่น่าทึ่งกว่านั้นคือไม่มี " สิ่งใดเกิดขึ้น "...

ขอบคุณสำหรับบันทึกที่เล่าขานประเพณีที่น่าสนใจอันนี้นะคะ..

ยังมีประเพณีพื้นบ้านอีสานอีกมากมายที่ไม่ได้รื้อพื้นและไม่ได้สืบทอดเพราะอาจเป็นความเจริญทางวัตถุมากไปทำให้ขาดการเชื่อมต่อ เพราะรอยต่อที่ขาดหาย.....

 สวัสดีครับ

P

เท่าที่ผมเคยรับรู้มาบ้างนั้น ..ผีฟ้า หมายถึงเทวดา  ตอนเด้ก ๆ แม่เคยเล่าให้ฟังว่าผีฟ้า คือพระอินทร์ที่มีอิทธิฤทธิ์ปราบผีสางนางไม้ได้

การรำผีฟ้า..จะมีการรำอยู่ประมาณ  3  คน (หรือเปล่า)  คือ  แม่หมอ,  หมอแคน  และคนป่วย..

ส่วนข้างล่างจากนี้ไป ผมสืบค้นมาจาก google  แต่ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง

รำผีฟ้า เป็นการแสดงท่าทางฟ้อนรำประกอบพิธีกรรมโบราณของชาวอีสาน ซึ่งมีหลงเหลืออยู่บ้างในปัจจุบัน พิธีกรรมมีจุดมุ่งหมายคือเป็นการรักษา
คนป่วยแบบโบราณ รำผีฟ้าเป็นการรำที่แสดงออกซึ่งความเชื่ออย่างหนึ่งของคนอีสาน จึงไม่ใช่การละเล่นหรือการแสดงเพื่อความสนุกสนานบันเทิงใจ
ตามที่ปรากฏอยู่ทั่วไป แต่เป็นการรำเพื่อบูชาเทพเจ้าที่ชาวอีสานเคารพนับถือ ชาวอีสานเชื่อกันว่า พระยาแถนเป็นผู้สร้างมนุษย์ให้เกิดมาและควบคุม
ความเป็นไปของมนุษย์ทุกอย่างเมื่อเจ็บไข้ได้ป่วย จึงเชื่อกันว่าเกิดจากการดลบันดาลของพระยาแถน ชาวอีสานนิยมทำพิธีอ้อนวอนให้พระองค์
โปรดปรานคนป่วย ผู้ทำพิธีนี้ คือหมอลำผีฟ้า หมอลำผีฟ้าจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการติดต่อกับพระยาแถนและญาติผู้ป่วยหรือผู้ป่วย ผู้ที่เป็นหมอลำผีฟ้า
อาจจะเป็นหญิงสาวหรือหญิงชรา ซึ่งจะต้องมีความสามารถในการ “รำ” ด้วย เพราะการรำนั้นเป็นวิธีการติดต่อสื่อสารกับพระยาแถน โดยจะต้องมีหมอแคน
เป่าแคนประกอบทำนองรำของหมอลำผีฟ้า ข้อความในการรำนั้นจะเป็นการบูชาพระยาแถน ขอความอนุเคราะห์ให้ช่วยรักษาคนเจ็บ เมื่อติดต่อแล้ว
ก็จะมีการออกท่าทางฟ้อนรำ เรียกการฟ้อนรำนั้นว่า “รำผีฟ้า” การออกท่าทางฟ้อนรำ นอกจากหมอผีจะเป็นผู้ฟ้อนรำแล้ว บางทีก็มีบริวารของหมอลำผีฟ้า
ร่วมฟ้อนรำด้วย

สวัสดีครับอาจารย์

           ผมมีประสบการณ์ตรงที่อยากจะขออนุญาตแบ่งปันครับ

         ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมน้องๆที่สามารถนำกิจกรรมนี้มาแสดงมากๆครับ  และขอบคุณที่อาจารย์นำมาช่วยสื่อสารเพิ่มเติมครับ

       แกลมอ....คำๆนี้น่าจะเป็นภาษาส่วย(กวย)ที่เป็นคนท้องถิ่นในจังหวัดสุรินทร์  ศรีษะเกษ  และบุรีรัมย์บางส่วนครับ   

      แกล..แปลว่า..เล่น หรือ  การเล่นครับ(คำกิริยา)     ส่วน  มอ..แปลว่า หมอ(ภาษาลาว) เช่นหมอผี  หมอแคนประมาณนี้นะครับ    อันที่จริงผมคิดเองนะครับว่า  คำว่ามอน่าจะเพี้ยนมาจากคำว่าหมอครับอาจารย์

  พิธีกรรมนี้จะมีทั้งชาวส่วยและชาวลาวครับ(ผมเป็นลูกครึ่งลาว-ส่วย)  แถวบ้านจะมีหมู่บ้านลาวและส่วยไกล้ๆกัน ปนกันครัย   ข้อมูลที่ถามจากแม่เพิ่มคือคนลาวเรียกว่าเล่นหมอ  หรือแล่นแถน หรือลำแถน (ลาวจังหวัดอื่นอาจสิเอิ้นวา..ลำฝีฟ้ากะได้ครับ

แล้วทำไมต้องแกลมอ...หรือมาเล่นแถน  ..เล่นเพื่ออะไร???

  • เริ่มต้นด้วยมีคนเจ็บป่วยในครอบครัวครับ
  • การเล่นเพื่อบวงสรวงและบูชานางฟ้า  หรือฝีฟ้า  หรือสิ่งศักดิ์สิทธ์ให้มาช่วยดูและ  รักษาปัดเป่าความเจ็บป่วย  หรือขอโทษ  ขอขมากับสิ่งที่ทำให้ผีบรรพบุรุษหรือสิ่งที่มาทำให้เกิดความไม่สบายต่อคนในครอบครัวครับ

องค์ประกอบของการแกลมอหรือเล่นแถน???

  • เริ่มต้นที่ความเจ็บป่วยของคนใดคนหนึ่ง
  • มีการไปดูหมอ  และทราบสาเหตุการป่วย  ไม่สบาย  นำไปส่การรำแถน
  • ญาติจะเตรียมงาน  โดยไปเชิญครูบาหรือแม่หมอมาทำพิธีในคืนที่จะเล่นแถน  และเชิญคนที่นับถือแถน   นับถือผีฟ้าหรือมีองค์ประจำตัวมาร่วมรำแถนด้วย
  • เตรียมงาน  โดยจัดเวที  เป็นเสาสี่มุม  มุงด้านบนด้วยใบมะพร้าว(สมัยนี้น่าจะเป็นอย่างอื่นก็ได้ครับ)    มีเสาร์ที่ 5ตรงกลางเพื่อวางดอกไม้  และของบวงสรวงหรือบูชา
  • องค์ประกอบ  หรือสิ่งที่เตรียมนั่นมีหลายอย่างมากครับ  ผมจำได้ไม่หมดที่แม่เล่ามานะครับ  ตอนเด็กๆก็เคยเห็นบ้าง

                                    มีต่อนะครับ(หมอพัท...)

           

       

P เขาบอกว่าคนที่จะรำผีฟ้า ได้ต้องสืบทอดกันมาทางสายเลือด (นับทางผู้หญิงด้วย)?
 
นี่อาจจะเป็นประเด็นที่แตกต่าง? 

สวัสดีครับ คุณเอก

P

แกลมอ  อ่านว่า "แกล - มอ"   และเข้าใจว่าอีสานทั่วไปเรียกกันว่า "ผีฟ้า"  นั่นเอง (กระมัง)  บางที่เรียก "เข้าแม่มด" 

แต่หลังจากที่ผมค้นอ่านเพิ่มเติมจากเว็บไซต์  ก็พอประมวลมาเพิ่มเติมได้ดังนี้  นะครับ

มะมว๊ด มอ-ออ

เป็นพิธีกรรมที่สำคัญของคนไทยเขมรและไทยกูย ในจังหวัดสุรินทร์ แทบทุกตำบล จะมีแม่ครูมะม๊วด หรือแม่ มอ-ออ อันเป็นตัวเอก ในพิธธีกรรมดังกล่าว  ชาวไทยเขมรใช้พิธีกรรมมะม๊วด  ชาวไทยกูยใช้พิธีกรรม แกล มอ-ออ  ตามกาละและเทศะ 2-3 แบบ กล่าวคือ แบบที่หนึ่งเป็นการเข้าทรงเพื่อรักษาผู้ป่วย เรีกขวัญผู้ป่วย ถือเป็นการรักษาทางจิต ที่ใช้เสียงเพลงกล่อมบรรเลง

 แบบที่ 2 เข้าทรงเพื่อเสี่ยงทาย อย่างน้อยเป็นการปลอบขวัญ ให้ความทุกข์ของคนคลี่คลายลง   

แบบที่ 3 เข้าทรงเพื่อบูชาครู

สวัสดีครับ  คุณเบิร์ด
P

ผมก็ดีใจเช่นกันที่กิจกรรมวันนั้น "ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้น" 

ขอบคุณนะครับที่ยังเป็นกำลังใจเติมเต็มความคิดอย่างต่อเนื่อง  

 แกลมอ..ต่อนะครับ

ขณะมีพิธีกรรมีอะไรบ้าง???

  • ครับจะมีหมอแคนคอยเป่าแคนเพื่อให้ผู้รำได้รำไปรอบๆเสาร์ตรงกลาง
  • เรื่มต้นจะมีแม่หมอ  หรือคูบา..เริ่มต้น ลำเป็นภาษาพูดก่อนแล้วค่อลุกขึ้นรำ
  • คนที่ถือผี หรือมีแถนในตัวที่จะมาร่วมรำก็จะเริ่มต้นด้วยการนั่ง พนมดอกไม้อธิษฐาน  แล้วก็จะลูกขึ้นรำไปรอบๆเช่นกันครับ  ถ้าใครเหนื่อยก็พัก
  • ทุกคนที่แถนของตนเองเข้าแล้ว  จะมีอาการแปลกๆ  ไม่เหมือนเดิมครับ(ช่วงนี้ผมเดินหนีทุกทีครับ  ไม่อยากเห็นคุณแม่ตัวเอง  อายยย.ๆๆ)  เช่นบางคนก็จะร้องให้ด้วย รำไปด้วย   บางคนเสียงดังพูดโวยวายน่ากลัว  บางคนก็เคลื่อนไหวรุนแรง  บางคนรำด้วยวิ่งไปด้วย  บางคนก็จะรำช้าๆ  แล้วแต่ตัวตนของแถนที่ตนเองนับถือ
  • เขาจะเริ่มรำช่วง 20-21.00น เมื่อถึงดึกๆเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง  ก็จะพักและทำพิธ๊ ถวายของบูชา  คือเอาไปขึ้นบ้านคนที่เจ็บป่วย    หลังจากนั้นก็จะเริ่มมารำกันต่อครับ
  • เวลาที่เลิกไม่แน่นอนครับ  แล้วแต่สมาชิก ตอนเป็นเด็กผมเห็นเลิกกันก็เกือบเช้า  เมื่อกี้ถามแม่ว่าถ้าส่วนใหญ่สนุกกัน(ไม่รู้คนรำ  หรือว่าแถนที่ถือสนุก)    ก็อาจจะถึง7.00 น หรือ 8.00 น ครับ

  เพิ่มเติมนะครับ

  • คนที่ถือหมอ(ถือผี)..แต่ละคนจะมีห้าง  หรือมีหิ้งคล้ายหิ้งพระเพื่อไว้บูชากราบว่ายครับ  คนที่จะถือแต่ละคนจะมีเหตุการณ์เจ็บป่วยแบบเกือบตายแล้วเมื่อไปดูหมอแล้ว  เขาก็จะบอกว่าจะมีแถนต้องการมาอยู่ด้วย  ก็ต้องรำและทำพิธีรับเอาครับ  หลังจากนั้นก็จะหายป่วย  สบายขึ้น(เป็นความเชื่อนะครับ
  • .. 
  • ตอนนี้แถวบ้านก็มีรำบ้างแต่ก็ไม่บ่อยเหมือนก่อนๆครับ  จำได้ว่าตอนเด็กๆมีทุกเดือนเลยครับ  แบบว่าชอบ  สนุกได้วิ่งเล่น  ได้กินแกงอาหารที่เขาทำเพื่อทานร่วมกัน   ..อืม  แต่พอแม่แถนเข้าแล้วจะรีบกลับบ้านทันทีครับ  เพราะอะไร...อืม  แถนแม่จะแบบ  Over  acting มากกว่าคนอื่นมากๆเลยครับ
  • ..
  • ผมเองก็เคยป่วยจนต้องทำพิธีนี้แล้วเช่นกันตอนเด็กด้วยครับ

  

             ขอขอบคุณอาจารย์มากครับ  รู้สึกดีจังเลยครับ  ที่ได้เล่าสิ่งที่ตนเองได้เรียนรู้และสัมผัส  แม้ว่ามันจะนานมาแล้วมากครับ(10ปี)   ถ้าอาจารย์สนใจอยากได้รายละเอียดเพิ่มเติมผมจะให้คุณแม่เล่าให้ฟังก็ได้นะครับ (ถ้าฟังลาวออกเด้อครับ..)  แม่ใจดีไม่ต้องเกรงใจถามพี่เอก จตุพรได้เลยครับ....  สุพัฒน์   ..ปาย

 

สวัสดีครับ น.เมืองสรวง  

ตอนเด็ก ๆ  บ้านผมมีรำผีฟ้ารักษาคนไข้ด้วยเหมือนกัน  รู้สึกจะเคยตามแม่ไปดูครั้งหนึ่ง   แต่ภาพเหล่านั้นก็เลือนลางเต็มทน

สังคมเปลี่ยนแปลง,  พิธีกรรม ซึ่งหมายถึงความเชื่อก็เปลี่ยนไปตามสังคมเช่นกัน

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ
P

ผมประทับใจกับการมาเยือนของหมอพัทฯ (สุพัฒน์)  มากนะครับ .. และยิ่งได้รับทราบข้อมูลอันเป็นปากคำประวัติศาสตร์จากคนพื้นถิ่น (ลาว -ส่วย) .. เช่นนี้ก็ยิ่งช่วยให้เห็นข้อมูลที่บอกกล่าวมีความน่าสนใจเป็นพิเศษ 

ผมชื่นชอบกับการสังเคราะห์ของหมอพัทมาก  โดยเฉพาะในการวิเคราะห์ภาษาราวกับนักภาษาศาสตร์   ("มอ"  กับ "หมอ")  ซึ่งผมเองยังคาดไม่ถึงและนึกไม่ได้ในประเด็นนี้เลย...

แต่ตอนนี้ชัดเจนบ้างแล้ว คือ  เป็นประเพณีเดียวกับ "ผีฟ้า"  ในอีสานเหนือและอีสานตอนกลางนั่นเอง

ขอบคุณจริง ๆ ครับ

สวัสดีค่ะ

มีเรื่องเล่าอย่างนี้ ในละครทีวีด้วยค่ะ เรื่องจริงก็ยังมีอีกนะคะ แต่เป็นความเชื่อของเขาค่ะ

สวัสดีครับ

  ขอโทษทุกๆท่าด้วยนะครับที่เขียนตก  เขียนผิดบ้าง แบบว่าพิมพ์ไม่ค่อยเก่งนะครับ  วันหลังขอจะแก้ตัวครับ

สวัสดีค่ะคุณแผ่นดิน P

 

ทึ้งกับนักศึกษาที่ทุ่มเทกับบทเรียนที่ให้ดีค่ะ นั่นอาจจะเป็นเพราะว่าอาจารย์แผ่นดิน ทำให้เค้ามีแรงบันดาลใจ แล้วทำให้อยากทำให้เต็มที่เพื่อให้การแสดงสมจริง ถึงขนาดกลับไปเอาเครื่องแต่งกาย

น่ายินดีค่ะ

^____^

 

ป.ล. เดี๋ยวจะลองถามเพื่อนจากสุรินทร์ดู ได้ความไงจะมาเล่าให้ฟังนะ

ขอบคุณมากครับ ที่ช่วยกรุณาต่อยอดความคิดและความรู้อย่างต่อเนื่อง
P

เท่าที่ประมวลได้ (เช่นกัน)  ผีฟ้ามีการสืบต่อในทางสายเลือด  ถ้าเป็นผู้ชาย  ครั้นจะรำในพิธีก็ต้องแต่งกายเป็นหญิงอยู่วันยังค่ำ

ขอบคุณอีกครั้งครับ...

ผมได้มุมมองใหม่ ๆ แปลก ๆ  จากบ่าววีร์เสมอ

ขอบพระคุณหมอพัทอีกรอบครับ..

P

ผมนั่งอ่านอย่างช้า ๆ  เพื่อเรียนรู้และซึมซับกับคำบอกเล่าจากปากคำประวัติศาสตร์ของหมอพัท  ถึงแม้บางห้วงดูจะขาดห้วงไปบ้าง  แต่สำหรับผมแล้วถือว่าชัดเจนยิ่งนัก  และมีชีวิตมากกว่าการไปอ่านจากเอกสารใด ๆ ...

คนที่ถือหมอ(ถือผี)..แต่ละคนจะมีห้าง  หรือมีหิ้งคล้ายหิ้งพระเพื่อไว้บูชากราบไหว้ครับ  คนที่จะถือแต่ละคนจะมีเหตุการณ์เจ็บป่วยแบบเกือบตายแล้วเมื่อไปดูหมอแล้ว  เขาก็จะบอกว่าจะมีแถนต้องการมาอยู่ด้วย  ก็ต้องรำและทำพิธีรับเอาครับ  หลังจากนั้นก็จะหายป่วย  สบายขึ้น (เป็นความเชื่อนะครับ)

...กรณีหายเจ็บแล้ว  ก็แสดงว่าแถนจะอยู่กับคนนั้นต่อไปใช่ไหมครับ...  เพราะส่วนหนึ่งเข้าใจว่า  การล้มเจ็บมาจากสาเหตุที่ผีแถนต้องการจะมาอยู่ด้วยนั่นเอง

...

คุณแม่ของหมอสุพัฒน์  ไปอยู่ที่เมืองปายด้วยเหรอครับ...

ผมเป็นลูกอีสานพันเปอร์เซ็นต์...ชอบลาว  เว้าอีสาน ครับ

ขอบคุณมาก ๆ  ....อีกครั้ง, ครับคุณหมอสุพัฒน์

สวัสดีครับ
P

ผมชอบศึกษาเรื่องวิถีความเชื่อของแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มาก   แต่เอาเข้าจริง ๆ  ก็ไม่มีเวลาท่องแวะไปศึกษาอย่างจริงจัง

เรื่องความเชื่อและศรัทธาของผู้คนนี้ลี้ลับน่าดู...และไม่มีที่ว่างสำหรับเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์

ขอบพระคุณครับ

P

ไม่เป็นไรครับ  พิมพ์ผิดบ้าง เล็ก ๆ น้อย ๆ  ดูเป็นธรรมชาติดีออก  ...  ที่สำคัญคือการได้ความสดของเนื้อหาต่างหากที่ผมถือว่ายิ่งใหญ่นัก

ขอบคุณอีกครั้งครับ

สวัสดีครับคุณ  P   แผ่นดิน

เรื่อง "แกลมอ" ไม่ทราบอ่านออกเสียงอย่างไรครับ  เพราะว่ายังไม่เคยได้ยินคำ หรือ ประเพณีนี้

 

ที่บ้านเคยแต่เห็นเรื่องผีฉมก (ฉะ-มก) หรือ ผีทะมก(ทะ-มก) 

สำหรับผีฉมก  ชอบเข้าสิงร่างคนที่มีร่างกายอ่อนแอ โดยเฉพาะผู้หญิงสูงอายุ  เคยเห็นอยู่บ่อยๆ  โดยคนที่ถูกผีฉมกเข้าสิง  จะขอกินโน่นกินนี่  จะกลัวสัตว์บางชนิด  เช่น  ที่เคยเห็นผีตนนี้จะกลัวคางคก  เมื่อเข้าสิงร่าง ญาติคนที่ถูกผีเข้าจะหาคางคกมาล่อ  ผีกลัวก็จะออกจากร่างไป  บางครั้งผีที่เข้าเราไม่รู้มาจากไหน เราต้องไปนิมนต์พระมาไล่ผีออกให้

 

บ้างครั้งภาษาเรียกผิดเพี้ยนไปเป็นคำพูดติดปากว่าผ๊ทะมก  ซึ่ง ทะมก เป็นภาษาท้องถิ่น  แปลว่า ตระกะ ,มูมมาม  เหมือนผีฉมกที่ชอบขอกินโน่นกินนี่

 

แต่ตามหนังสือบันทึกของอาจารย์เปลื้อง ศรีวโรทัย เขียนรวบรวมเกี่ยวกับประวัติบ้านพลับพลา  อ.โชคชัย คำว่า ทะมก   เป็นภาษามอญ  ซึ่งแปลว่า ทิศตะวันออก  ดังนั้น คำว่า ฉมก หรือ ทะมก  ที่แปลว่าตระกะ,มูมมาม  น่าจะมาจากภาษาขอม  ซึ่งมีอารยธรรมเข้ามาอยู่ก่อนชาวมอญนั่นเอง

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ
P
IS

ตอนแรกผมก็วิตกไม่น้อยที่เห็นนิสิตทุ่มเทมากมายปานนี้, และรู้สึกผิดเล็ก ๆ  ว่าไม่ควรสั่งงาน หรือให้โจทย์บทเรียนในทำนองนี้

แต่เมื่อเห็นความสุขของพวกเขา  ซึ่งหมายถึงความสุขที่นิสิตได้คิดได้ทำด้วยตัวเอง,  ความกังวลใด ๆ ที่เกิดขึ้นก่อนนั้นก็หดหายจากจางโดยไม่เหลือสิ่งใดอยู่ในหัวสมองของผมอีกเลย

ขอบคุณนะครับ...และจะรอข่าวสารข้อมูลเพิ่มเติมอีกครั้ง

สวัสดีครับอาจารย์

P

 

  • ครับส่วนมากก็หายเจ็บป่วยครับ  แม่บอกว่าตอนนั้นที่ตนเองป่วยไป รพ หลายครั้งมากก็ไม่หายครับ   ที่หมู่บ้านรอบข้าง  บ้านพี่ป้าน้าอาก็ถือแถนกันทุกคนครับ
  • ผมยังนึกภาพที่หิ้งตัวเองออกเลยครับตอนนี้  มันอยู่ที่เดิมตลอด  ตอนที่ผมเป็นเด็กผมมีความรู้สึกกลัวๆนะครับ  ไม่กล้าขึ้นบ้านคนเดียว
  • ตอนนี้คุณแม่ผมอยู่ที่บ้าน  ศีขรภูมิที่สุรินทร์ครับ  วันก่อนผมเพิ่งไปรับครึ่งทางที่กรุงเทพมาเที่ยวครับ  มาอยู่ได้5 วันก็บ่นอยากกลับบ้านแล้วครับ   เมื่อวันเสาร์ที่แล้วเลยมาส่งขึ้นรถไฟที่เชียงใหม่    ที่บ้านก็ยังมีวิถีชีวิตเดิมๆเหมือนที่ผมยังเด็กครับ  ทำนาปลูกข้าว  หน้าแล้งแม่ก็จะมัดหมี่  ครับ(แบบว่าไม่ยอมเลิกทำ  แต่ว่าทำน้อยลงครับ แม่บอกมันจะเหงา..)
  • เรื่องคุยกับแม่เป็นเรื่องจริงนะครับ  แม่ยินดีนะครับ  และผมก็บอกแม่ไว้แล้วละ   พอดีตอนที่เขียนเนี่ยผมก็โทรไปถามรายละเอียดท่านบางอย่างเหมือนกันครับ  แบบว่าผมจำไม่ได้ทั้งหมดครับ 
  • ผมเคยได้โควต้าคุรุทายาทครูวิทย์เคมีที่  มมส ตอนที่จบม.6 จากรร.สุรวิทยาคารนะครับ  มีเพื่อนสนิทเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่สาธิต มมส.ด้วย...ครับ     
  • ผมกะเป็นคนอีสานแท่ๆคับ  แบบว่าอยู่กับไฮ่กับนาจนอายุ 15 พุ่นละ จบหลักสูตรปริญญาซาวนาจากมหาลัยพ่อแม่ตั้งแต่อายุ12แล้วเด้อครับ  เฮ็ดเป็นซูอย่างแล้วตัว
  • ผมกำลังจะหัดเขียนเรื่องราวตอนเด็กๆครับ  กลัวว่าจะลืมนะ  คิดว่าเด็กรุ่นนี้คงไม่ค่อยมีเช่น  การทำนา  การไปส่องกับ  การตีตั๊กแตน  การไปยิงกะปอม  การไปหาแมงจุดจี่  การไปขุดแมงอิซอน  อีกหลายกิจกรรมในวัยเด็กครับ  ผมว่ามันเป็นการเรียนรู้ที่ยอดเยี่ยมมากครับอาจารย์
  • ขอบคุณหลายครับ  มวนขนาด ได้เว้าสา กับคนบ้านเดียวกัน  (ลาวบ้านผมอาจจะห้วยๆไปทางส่วยหน่อยนะครับเพราะมันกลืนกันบ้าง  คุณแม่ผมชอบพูดลาวปนส่วย...)

                              บักพัท....คับ

สวัสดีครับ  พี่สมนึก

P

แกลมอ  อ่านว่า  "แกล - มอ" ...

ขอบพระคุณพี่สมนึกมากครับที่ช่วยกรุณาบอกเล่าเรื่อง "ผีฉมก"  ให้ฟัง  เป็นการเติมให้บันทึกนี้มีความรู้ที่หลากหลายขึ้น   ได้ความรู้ทั้งในแง่ตำนาน  รวมถึงความรู้เรื่องภาษาศาสตร์อย่างน่าทึ่ง

แปลกดีนะครับพี่ฉมกเป็นผีที่กลัวสัตว์บางชนิด  กรณีคางคก  ผมว่าไม่เฉพาะผีเท่านั้นที่กลัว  ผมเองยังกลัวเลยครับ

 

สวัสดีครับ
P

แมนคือว่านั่นแหละ    แถบสุรินทร์  (ศรีขรภูมิ)  กะเป็นหม่องที่มีพิธีแกลมออยู่ดู๋ ๆ

มักหลาย, ดีใจนำที่มี "อีแม"   ยังมีความรู้เรื่องวัฒนธรรมอยู่เต็มพุงเลย,  นั่นแหล่ว  อีแมฮังสิคักกว่าห้องสมุดพุ่นตั้ว... บ่ต้องเสียเวลาไปค้นคว้า  แคนั่งให้เพิ่นเล่าให้ฟังก็ถือว่า   สุดยอดแล้ว

เว้าเพิ้นหมูที่เรียน มมส  แล้วสอนหนังสืออยู่สาธิต  เพิ่นซืออีกหยังล่ะทือผมฮู้จัก... เพิ่นจบประมาณปีได๋ล่ะน้อ  ...ส่วนผมจบ มมส ปี 2538   เป็นรุ่นแรกของ มมส (วาสั่น)...

ม่วนขนาดคือกันเด้อที่ได้เว้าอีสานบ้านเฮาอย่างเต็มที่

...

อยู่ดี มีแฮง  ..แข็งแฮงหลาย ๆ เด้อ...ทั้งจะของและครอบครัว ลุกเมียถ้วนหน้า  พอแม  ลุงป้า กะให้แข็งแฮงคือกัน

....

บัก นัด

 

นอกจากการรำแกลมอแล้ว ยังมีพิธีกรรมคล้ายกันอีก เช่น หมอลำทรง ลำเสี่ยงข้อง

ลำผีฟ้า รำแม่มด โจลมะม๊วด ลำแม่สะเอิง ฯ หลายอย่างที่กล่าวมาส่วนมาอยู่ที่

อีสานล่าง แถว สุรินทร์ ศรีสะเกษ (บ้านผมก็มีพิธีกรรมแบบนี้ ผมเองก็เคยเข้าร่วม

ขนรุกไปหมด ผมเองก็เชื่ออยู่บ้างเพราะผมเองเคยเห็นมากับตา จะว่าไปแล้วก็ถือว่าเป็น

ความเชื่อส่วนบุคคล ...ครับ) ปล. หมุ่มศรีสะเกษ

ความเชื่อเกี่ยวกับการรำแม่มด

ชนเผ่าเขมรมีความเชื่อว่า เป็นการละเล่นแก้บนที่เจ้าภาพได้แก้บนบานเอาไว้ เมื่อผู้ป่วยได้หายจากอาการเจ็บไข้ได้ป่วย และคนทุกคนมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องคุ้มครองบุคคลนั้น อยู่ประจำตัวในขณะมีชีวิตอยู่ซึ่งเรียกว่าเป็นครู หรือ “กรู” ในภาษาเขมร และเมื่อเสียชีวิตไปแล้ววิญญาณของบรรพบุรุษก็ยังวนเวียนอยู่เพื่อคอยปกป้องดู แลลูกหลานของตน ให้อยู่เย็นเป็นสุข มีความเจริญรุ่งเรืองในการประกอบสัมมาอาชีพ ตามความเชื่อนี้ชนเผ่าเขมรจึงมีความเคารพและไม่ล่วงเกินต่อกันและกันเนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการทำผิดต่อครู ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบุคคลอื่นรวมถึงมีความเคารพยำเกรงต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และมีจารีตการปฏิบัติ ที่แสดงออกถึงการระลึกถึงบุญคุณ บรรพบุรุษอยู่เสมอ เช่น ก่อนการประกอบพิธีกรรมทุกอย่างของชนเผ่าเขมร ต้องมีการเส้นไหว้เพื่อบอกกล่าวต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว เช่น ก่อนลงมือทำนาในครั้งแรกงานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ ฯลฯ รวมถึงการเส้นไหว้บรรพบุรุษที่จัดขึ้น ทุกปีเพื่อเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ และทำทานแก่ผีที่ไม่มีญาติ เรียกว่า“สารทเขมร”หรือ ประเพณี “แซนโดนตา” แปลว่าการเส้นไหว้ต่อบรรพบุรุษ ซึ่งนับว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และจัดสืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายา

แต่การรำแม่มดไม่หมายความว่าจะรักคนเจ็บคนป่วยได้เสมอไปบางรายหลังจากที่ได้บนบานไว้แล้วเป็นปีเป็นเดือนคนป่วยอากาไม่ดีขึ้นเลยก็มี ญาติเกรงว่าผู้ป่วยจะเสียชีวิตเสียก่อนก็รีบชิงเล่นแม่มดทั้งที่คนป่วยยังนอนป่วยหนักอยู่ในบ้าน บางรายคนป่วยได้เสียชีวิตลงทั้งๆที่ยังเล่นแม่มดอยู่ก็มชาวบ้านก็จะลงความเห็นว่า อาจทำผิดต่อภูตผีปีศาจหรือเทพาอารักษ์ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านที่มีมาช้านานยากที่เปลี่ยนแปลงความรู้สึก เพราะประเพณีนี้มีมาแต่โบราณไม่รู้ว่าได้เริ่มมาตั้งแต่สมัยใด และมักจะพูดกันว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ เพราะคนที่หายเป็นปกติจากการเล่นแม่มดก็มีหลายราย

ธีระพงษ์ วิยาสิงห์

แกลมอ คือ การละเล่นของชาวไทยกูยหรือส่วยในจังหวัดสุรินทร์ ในแต่ละปีชาวกูยจะมีการขึ้นแถน หรือภาษาส่วย (เซาะภาแทน)13ค่ำเดือนยี่ จะเป็นการขอขมาต่อผีมอ

แกล ภาษาส่วย แปลว่าเล่น ในฐานะผมเป็นชาวกูยสุรินทร์คนหนึ่งจะขอเสริมเรื่องรำแกลมอ ข้างต้น แกลมอเป็นการเล่นเพื่อรักษาคนป่วยที่เกิดขึ้นเเบบไม่ทราบสาเหตุ โดยความเชื่อของชาวกูย จะเล่นกลางวันจะเล่นทั้งวัน จะมีแม่มอประมาณ 7คน โดยการเล่นจะเป็นการเล่นในลักษณะห่วงช้างห่วงม้าของตน

ขั้นแรกในการรำ (1.)เป็นขั้นอัญเชิญดวงวิญญาณของผีบรรพบุรุษลงมาประทับร่างของแม่มอจนครบทั้ง 7นาง ( 2. )นางรำจะลุกขึ้นรำรอบปะรำ3รอบ (3.)แม่มอจะกินบายศรี ที่จัดไว้นั้น คือกล้วย ข้าวต้ม (4.)ร่ายรำกวาดแมงมุมโดยถือ เรือ ขันดอกไม้ เส้นด้าย ต้นกล้วย รำรอบ 3รอบ (5.)เล่นช้างม้า แม่มอจะถือช้างม้า ให้คนนอกเข้ามาแย่ง ช้างกับม้าโดยแม่มอจะหึงห่วงมาก (6.)แม่มอจะทำพิธีอาบน้ำให้แม่มอที่ไม่สบาย (7.)จะทำการออกตามช้างม้า โดยให้คนนอกออกตาม 4ทิศ (8.)เมื่อได้ช้างกลับแม่มอทุกนางจะทำการออกคล้องช้าง คล้องม้า โดยรอบนี้คนนอกเป็นคนถือช้าง ม้า

(9.)เป็นการขึ้นบ้านหรือเหยียบหิ้ง (10.)สู่ขวัญช้างม้า ผูกข้อมือให้คนที่ไม่สบาย

(11.)ร่ายรำ3รอบ (12.)กินบ่ายศรี (13.)ทำการอัญเชิญผีบรรพบุรุษออกจากร่าง

สวัสดีค่ะพี่แผ่นดิน

แกลมอ

อ่านว่า แกน-มอ

หรือ แกน-ละ-มอ

อ่านยังไงค่ะ

โอ้โห ใครทำให้บันทึกพี่แผ่นดิน

ตั้งแต่ปี 50 มาโผล่หน้าบ้านล่ะเนี๊ยะ อิอิ

ตามมาอ่านย้อนยุคเลยกอ

สวัสดีค่ะพี่แผ่นดิน สบายดีหรือปล่าวค่ะ ช่วงนี้ฝนตกบ่อยดูแลตัวเองด้วยน่ะค่ะ

หวัดดีคร่า

เคยเห็นครับ

เพราะบ้านผมอยู่ประโคนชัย บุรีรัมย์

พิธ๊กรรม ความเชื่อ ผ่านเข้ามาในชีวิต เรียนรู้บ้าง ใส่ใจบ้าง สนใจบ้างตามโอกาส

แต่หลายครั้ง ไม่ได้รับความสนใจจากผมและหลายๆคน

เมื่อคราหนึ่ง เวลาผ่านไป กลับทำให้นึกเสียดาย.................เวลา

ที่บ้านผมเรียก ปัลโจลมะม๊วด หรือรำแม่มด พิธีกรรมคล้ายๆกัน แกลมอ เป็ของชนเผ่าส่วย เห็นจะเป็นอย่างนั้น

แกลมอแถวบ้านไม่เหมือนนี้เลย เพราะเราก้ลูก กูยนะ

อยากให้เเสดงเหมือนบ้านๆๆ

น่าสนใจกว่า

เคยเห้นเป็นนางรำแกลมอด้วย.....เคยแสดออกทีวีด้วยนะคะ

เป็นคนสำโรงทาบถ้าอยากดูเข้าไปค้นหาที่Google

เพิ่มเติมการรำแกลมอ

การรำแกลมอเป็นการรำในตอนเช้าผู้ที่จะรำนั้นจะต้องเป็นญาติของผู้ป่วยการที่เราจะรู้ว่าคนนั้นป่วยเป็นอะไรจะต้องพาไปรักษาที่โรงพยาบาลถ้ารักษาไม่หายจะต้องไปดูตำราว่าโดนภูตผีปีศาจทำร้ายหรือเปล่าถ้าโดนภูตผีปีศาจทำร้ายจะต้องแก้บนโดยการรำแกลมอ

สู้สำโรงทาบไม่ได้หรอกต้องมาดูด้วยตนเองนะ

ผมหนุ่ยครับผมก็ไม่ค่อยรู้เท่าไหร่ครับแต่ผมก็จะบอกเพื่อความเข้าใจผมลำรักษาคนตั้งแต่อายุ12ปีตอนนั้นแม่ผมได้ไปเข้าผีฟ้ามาพอไปเขาแล้วได้ประมาน7ปีแม่ผมก็เสียด้วยโรคต่างๆผมก็เลยต้องต่อผีฟ้าจากแม่ผมก็เลยคิดว่าชีวิตนี้ผมจะรักษาคนด้วยกับการลำผีฟ้าผมก็เลยออกจากบ้านมาตั้งแต่อายุ12ปีมาต่างจังหวัดเพื่อมาเรียนทำธิทีลำผีฟ้าจนอายุได้15ปีผมก็เริมรักษาคนมาจนผมอายุได้20ปีพอดีผมจำได้ว่าผมลำให้กับคนแรกคนนั้นมาหาอาจารย์อาจารย์บอกให้ผมลำดูสิผมก็เลยตั้งคายขึ้นคายผมก็จะมีบายศรีสมัยโบราณพานหมากแก้วนำหนึ่งแก้วแล้วผมก็จะเริมร่ายลำไปพอเข้าทรงแล้วผมก้จะเอาไข่ดิบมาตั้งเสี่ยงทายว่าจะรักษาคนนี้ได้ไหมถ้ารักษาได้ก็จะรักษาไปคนหนึ่งต้องลำสองครั่งลำครั้งแรกเรียกว่าลำสอแห่ลงลำครั้งที่สองเรียกว่าลำคายใหญ่ผมทำแบบนี้มาได้ห้าปีนี้ครับผมจะนับลูกศิลผมตอนผมปรงพาข้าวเพราะวันนั้นลูกศิลจะมาเข้าทรงที่บ้านผมทั้งหมดแล้วแต่ผมจะบอกมาปีหนึ่งผมจะทำครั้งเดียวทั้งคนอายุ20ถึง90ปีจะมาคาระวะผมทุกปีเพราะผมเคยลำรักษาเขามาแล้วเขาเลยมาเป็นลูกศิลปีนี้ผมรวมลูกศิลได้อยู่ประมาร300ต้นๆผมก็ขอไห้ความรู้เท่านี้ละครับ ถ้าจะถามหรืองงโทรมาเลยครับยินดีที่จะไห้ความรู้ครับโทร0804637704/0862441946ครีบ

ผมลืมไปว่าผมยังไม่แก่นะครับแต่ผมต้องทำตามหน้าที่

บ้านผมก็มีครับเป็นการเล่นแบบแกลมอแต่บ้านผมเรียกลำอ้อบ้านผมเป็นลาวแต่เล่นแบบกวยในครอบครัวผมมีคนเป็นอ้ออยู่1คนคือยายผมปีหนึ่งเล่นสองครั้งแต่ละปีผมจะส่งยายไปเล่นที่บ้านของหมอลำ หมอลำเป็นอาจารย์ใหญ่ที่เป็นคนเริ่มพิธีแต่ละหมู่บ้านในตำบลจะมีอ้อหมู่บ้านละ4-5คนในหมู่บ้านผมมีอยู่8คน ผมก็รู้แค่นี้และคับเดี๋ยวมาเล่าให้ฟังใหม่

ได้โปรดกรุณาเรียกเราว่า กูย กุย โกย แทนคำว่า ส่วย "ขอบคุณที่กรุณา"

ชาวกูยเป็นกลุ่มที่มีวัฒนธรรมสุงมาก่อนดังจะปรากฏในพงสาวดารเมืองละแวกว่ากลุ่มชาวกูยเป็นกลุ่มที่มีอาณาจักร"ตะบองคะมุน"ซึ่งมีความเจริญและร่งเรืองในสมัยอดีตมีความสามารถในการถลุงโลหะการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์สวยงาม(เป็นคำกล่าวของนักสำรวจและประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศษ)และยังปรากฏในพงศาวดารของกรุงศรีอยุธยาว่าชาวกูยได้ส่งราชทูตมาเจริญสำพันธมไมตรีกับอยุธยาเพื่อทำการข้าขายอีกด้วยและปรากฏในหังสือที่เป็นหลักฐานในสมัยอยุธยาตอนปลายว่ากลุ่ชาวกูยได้ช่วยติดตามช้างเผือกกับนายทองด้วง(คาดว่าน่าจะเป็น ร1)ในสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์แล้วเกิดความดีความชอบเลยยกฐานะให้เป็นเมืองตั้งแต่ปีพศ2303ไดแต่งตั้งให้เป็นเมือง สุรินทร์(ตามสร้อยของชื่อเจ้าเมือง)สังฆะ ขุขันธุ ลำดวน รัตนบุรี

และต่อมาในสมัย ร3ยังพระราชทานศักดิ์ของเจ้าเมืองเปนถึงพระยาอีกด้วย

และเมืองที่เป็น "เมืองเอกซึ่งแบ่งการปกครองหลายเมืองนั้นปรากฏว่ามีเมือง อุบลราชธานี สุรินทร์ สังฆะ ขุขันธุ นครราชสีมา ที่มีการแบ่งเขตการปกครองเป็นหัวเมือง ดั้งนั้นชาวกูยก็เป็นอีกชาติพันธุ์หนึ่งที่มีความเจริญเทียบเท่ากับชาติพันธุ์อื่นๆๆๆและยังเป็นบรรพบุรุษของคนในเขตอีสานใต้อีกด้วย"ฤ

อยากรู้จักคุณ นวน จังครับ ว่าคุณนวนเป็นคนที่ไหนเพราะที่บ้านของผมที่จังหวัดสุรินทร์ก็เรียก อ้อ เหมือนกัน และที่สำคัญทั้งตระกูลผมเป็น อ้อ ทั้งหมด ซึ่งเป็นพิธีกรรมที่ศักดิ์สิทธิ์มากครับ ผมอยากจะศึกษาเรื่องนี้มากๆ เลยครับ ยังไงถ้าคุณนวนหรือท่านอื่นได้อ่านข้อความของผมหรือมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องราวดังกล่าวกรุณาติดต่อผมด้วยนะครับ 0892820538

ลืมบอกไปว่าผมต้องการอนุรักษ์พิธีกรรมนี้ให้อยู่คู่กับวิถีของคนอิสานตลอดไปครับ

แกลมอไม่ไช่การละเล่นถ้าไม่รู้จิงอย่าเอามาเผยแพร่ และแกลมอก็มีเฉพาะกลู่มชาวกวยกูย (ส่วย)ไม่ไช่เขมร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท