บันทึกปลัดกระทรวง 11 - ข้อโต้แย้งเรื่องเขตพื้นที่การศึกษา


นับแต่ได้ให้สัมภาษณ์ไปถึงเรื่องการปรับบทบาทของสถาบันราชภัฎให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ
การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542   และเพื่อให้สถาบันราชภัฎเป็นสถาบันเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง  
ก็มีผู้ใหญ่หลายคนถามถึง   และแสดงความเห็นด้วยกับความคิดที่กล่าวไป   และอยากเห็นแนวปฏิบัติ
ที่เป็นรูปธรรม   พร้อมทั้งอยากเห็นบทความในเรื่องนี้   จึงคิดว่าจำเป็นต้องเขียนเพื่อทำให้ความคิด
ปรากฏชัดเจนยิ่งขึ้น   และเพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาความคิดไปสู่การปฏิบัติต่อไป

          การกล่าวว่าสถาบันราชภัฎเป็นสถาบันเพื่อพัฒนาท้องถิ่น   มิใช่คำพูดที่กล่าวกันลอยๆ แท้จริงแล้ว
ปรากฏอยู่ในพระราชบัญญัติสถาบันราชภัฎ  ที่ช่าวราชภัฎทุกคนท่องกันได้ขึ้นใจ   เห็นว่าจุดเด่นของ
ราชภัฎที่แตกต่างจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วไปก็คือตรงนี้   คือการเป็นสถาบันเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  
สถาบันอุดมศึกษาโดยทั่วไปจะเน้นความเป็นเลิศทางวิชาการ   การจัดการศึกษาในวิชาการและ
วิชาชีพชั้นสูง   และการค้นคว้าวิจัย  ไม่มีสถาบันอุดมศึกษาอื่นใดเลยที่กล่าวถึงการเป็นสถาบัน
อุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น

          ในยุคที่มีกระแสความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมอันเนื่องจากกระแสยุคไร้พรมแดนของโลก
อย่างเช่นทุกวันนี้   มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนอย่างมหาศาล  กลุ่มผู้ถูกกระทบและเสียเปรียบมากคือ
ผู้อยู่ในชนบทห่างไกลและผู้ด้อยการศึกษาทั้งหลาย  หากปราศจากการช่วยเหลือสนับสนุน   ย่อมทำให้
วิถีชีวิตของเขาเหล่านั้นกระทบกระเทือนอย่างแน่นอน   การมีสถาบันอุดมศึกษาเข้าไปช่วยเหลือย่อมเป็น
สิ่งที่ดีอย่างยิ่ง   เมื่อสถาบันราชภัฎประกาศตัวเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น   ทุกฝ่ายจึง
คาดหวังอยากเห็นบทบาทของสถาบันราชภัฎในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

          การมีบทบาทของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น  ก็คือบทบาทปกติที่สถาบันอุดมศึกษาพึงกระทำ
นั่นเอง  อันได้แก่  การสอน   เผยแพร่ความรู้  การวิจัย   การบริการสังคมต่างๆ   แต่ปรับให้มีเป้าหมายที่
ท้องถิ่น  คือ เพื่อประชาชนในพื้นที่บริการของสถาบันให้มากขึ้น   สถาบันอุดมศึกษาเช่นนี้อาจต้องเน้น
การพัฒนาองค์ความรู้และนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ   มากกว่าการพัฒนาองค์ความรู้เพื่อความเป็นเลิศ
ทางวิชาการ

          สถาบันราชภัฎทั้งหลายตั้งอยู่กระจายทั่วประเทศ   ประมาณว่าแห่งหนึ่งมีเขตพื้นที่บริการ 2-3 จังหวัด
เท่านั้น   ยกเว้นที่มีที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร   แต่ละแห่งมักมีเขตบริการที่ชัดเจน   และสามารถบริการ
การศึกษาได้กว้างขวางหลายสาขาวิชา   ทั้งด้านมนุษย์ศาสตร์  สังคมศาสตร์  ศึกษาศาสตร์  วิทยาศาสตร์  
และวิทยาศาสตร์ประยุกต์   และรวมถึงวิทยาการจัดการต่างๆ   สาขาวิชาที่จัดการสอน   จึงมีความเหมาะสม
กับการเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อท้องถิ่นอยู่มาก   สถาบันราชภัฎมีระบบรับนักเรียนที่หลากหลาย   มีระบบ
สอบคัดเลือก  มีระบบรับตามโควต้า   มีนักศึกษาภาคปกติ   และภาคพิเศษที่เรียกว่า กศบป. (การศึกษาของ
บุคลากรประจำการ)   ที่จัดสอนใน วันเสาร์ - อาทิตย์   มีนักศึกษาภาคพิเศษมากกว่านักศึกษาภาคปกติ  
ในภาคปกติรับนักศึกษาได้ปีละประมาณ 60,000 คน   ดูแล้วสถาบันราชภัฎน่าจะบริการการศึกษา
เพื่อประชาชนในท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี   แต่กระนั้นก็ยังมีจุดอ่อนที่น่าพิจารณาปรับปรุงอยู่พอสมควร
อันได้แก่

          1.   ระบบการรับนักศึกษายังเปิดกว้าง   เน้นการสอบแข่งขันคัดเลือก   ทำให้ไม่สามารถกำหนดได้ว่า
เป็นการมุ่งบริการการศึกษาเพื่อคนในท้องถิ่นอย่างแท้จริง  ไม่ได้ให้โอกาสคนในพื้นที่บริการเหนือคนนอก
พื้นที่บริการ
          2.   มีการจำแนกนักศึกษาเป็นสองระบบที่ชัดเจน   คือ ระบบปกติที่เรียนในเวลากับระบบพิเศษที่เรียน
นอกเวลา   เป็นระบบที่แข็งตัวเมื่อเข้าสู่ระบบใดระบบหนึ่งแล้ว ไม่สามารถโอนเข้าสู่อีกระบบได้ หากไม่ได้
สอบเข้าใหม่   เป็นระบบที่ขาดความยืดหยุ่นคล่องตัว   ขาดประสิทธิภาพ
          3.  ระบบการจัดการเรียนการสอนขาดความยืดหยุ่น  มักจัดเป็นสำรับโอกาสเลือกเรียนตามความถนัด
ความสนใจมีน้อย
          4.   ขาดการพัฒนาองค์ความรู้ท้องถิ่นอย่างจริงจัง   ทำให้ไม่สามารถบริการทางวิชาการแก่ท้องถิ่น  
หรือเป็นองค์กรกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเหมาะสมได้อย่างเต็มที่ ขาดแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับ
ท้องถิ่น
          5.   ยังไม่ได้ทำการศึกษาค้นคว้า หรือวิจัยเกี่ยวกับท้องถิ่นอย่างจริงจัง   งบประมาณเพื่อสนับสนุน
การวิจัยมีน้อย   อาจารย์ใช้เวลาเพื่อสอนในภาคปกติและภาคพิเศษเสียเป็นส่วนใหญ่   มีอาจารย์ที่สนใจ
การวิจัยไม่มากนัก
          6.   ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการบริการสู่ท้องถิ่นมากนัก   ขาดศูนย์บริการการศึกษาต่อเนื่อง

          เพื่อแก้ปัญหาจุดอ่อนของสถาบันราชภัฎที่ไม่สามารถทำบทบาทของสถาบันเพื่อพัฒนาท้องถิ่นได้อย่าง
เต็มที่   จึงเห็นว่าน่าจะมีการปรับปรุงหรือจะเรียกว่าปฏิรูป   เพื่อให้เป็นสถาบันเพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่สมบูรณ์
มากขึ้น  จุดหลักๆ ที่เห็นว่าควรเปลี่ยนแปลงปรับปรุง คือ
          1.   ระบบการรับนักศึกษาควรเป็นระบบที่ยืดหยุ่นหลากหลาย   รับผู้เรียนได้อย่างกว้างขวาง ไม่ควรมี
ระบบการสอบคัดเลือก   เพราะการสอบคัดเลือกเป็นการวัดความสามารถเพียงด้านเดียว   ไม่ส่งเสริม
การเรียนรู้ที่พัฒนาคนโดยรวม  ถ้ามองศักยภาพของสถาบันราชภัฎในการรับนักศึกษาแล้ว  สถาบันที่อยู่
นอกปริมณฑลกรุงเทพมหานคร   สามารถรับนักศึกษาที่มาสมัครได้ทั้งหมด  หรือเกือบทั้งหมด   ทั้งนี้
รวมถึงนักศึกษาภาคพิเศษด้วย   เห็นว่าน่าจะเลิกระบบสอบคัดเลือกได้   หากต้องคัดเลือกควรพิจารณา
ผลการเรียนแทน   เช่น กำหนดว่ามีผลการเรียนชั้นมัธยมศึกษา   ไม่น้อยกว่า 2.2 หรือ 2.5 เป็นต้น
(จะเป็นเท่าไรต้องศึกษาหาความเหมาะสมอีกทีหนึ่ง)   ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นอาจรับระบบเปิด   คือ รับทุกคน
ที่มีคุณสมบัติเข้าเรียน   แต่การจบการศึกษาขึ้นอยู่กับผลการเรียนของแต่ละคน   คิดว่าหลายแห่งอยู่ในวิสัย
ที่จะทำได้
          2.  ควรกำหนดเขตบริการการรับนักศึกษา   เพื่อให้สิทธิพิเศษบางประการกับผู้ที่อยู่ในพื้นที่บริการ เช่น
การกำหนดค่าบำรุงการศึกษาที่ต่างกัน (หากทำได้) หรือการกำหนดรับนักศึกษาในพื้นที่บริการในสัดส่วน
ที่สูงโดยไม่ต้องคัดเลือก   สำหรับนักศึกษานอกพื้นที่ต้องคัดเลือกเป็นพิเศษ เป็นต้น  วิธีนี้จะช่วยให้คนใน
พื้นที่มีโอกาสเข้าศึกษาได้มากขึ้น
          3.  ปรับระบบการเรียนจากที่มีสองระบบ   เป็นระบบเดียว คือ ไม่มีระบบภาคปกติ หรือระบบภาคพิเศษ  
รวมสองระบบเข้าด้วยกัน แล้วจัดการเรียนการสอนที่ยืดหยุ่นให้เลือกเรียน   อาจเปิดให้เลือกเรียนได้ตั้งแต่
เช้าถึงค่ำ รวมวันเสาร์ - อาทิตย์   ผู้เรียนจะได้เลือกเรียนตามความเหมาะสม   การเปิดระบบการเรียน
การสอนที่กว้าง จะทำให้ผู้เรียนมีเวลาศึกษาค้นคว้าได้มาก   และยังส่งเสริมโอกาสการทำงานระหว่าง
เรียนอีกด้วย   ปัญหาการทำเช่นนี้มักอยู่ที่ค่าบำรุงการศึกษาที่เคยเก็บต่างกัน   ซึ่งย่อมปรับเข้าหากันได้  
การปฏิบัติงานของผู้สอนจะต้องเปิดโอกาสให้ปฏิบัติได้หลากหลาย   โดยไม่ใช้ระบบเวลาทำงานแบบ
ราชการทั่วไป
          4.   ให้มีระบบลงทะเบียนเรียนอย่างแท้จริง   การจัดการเรียนการสอนไม่ควรจัดเป็นชุดสำเร็จรูป  
แต่เปิดโอกาสเลือกให้มากทั้งในและนอกเวลาปกติ   สามารถเลือกผสมกันได้   แต่เปิดโอกาสเลือกให้มาก
ทั้งในเวลาและนอกเวลาปกติ  สามารถเลือกผสมกันได้   ต้องปรับปรุงอาคารสถานที่ให้สามารถจัดสอน
กลุ่มใหญ่และกลุ่มเล็กได้ตามปริมาณของผู้ลงทะเบียนเรียน   และตามความเหมาะสมของธรรมชาติ
การเรียนรู้ในวิชานั้น ๆ
          5.  สถาบันราชภัฎแต่ละแห่งต้องให้ความสำคัญกับการบริการการศึกษาต่อเนื่อง (Continuing
Education)  เป็นพิเศษ   ควรมีศูนย์บริการการศึกษาต่อเนื่องเพื่อจัดอบรม สัมมนาให้บริการความรู้  
จัดกิจกรรมต่างๆ   เพื่อให้ประชาชนในเขตบริการได้มีโอกาสแสวงหาความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์กับ
การดำรงชีวิตและสอดคล้องกับวิถีชีวิต   และเพื่อเป็นศูนย์บริการการศึกษาตลอดชีวิตของคนในท้องถิ่น
          6.   สถาบันราชภัฎแต่ละแห่งต้องมีศูนย์ศึกษาค้นคว้าวิจัย   และมีระบบสารสนเทศที่เกี่ยวกับท้องถิ่น  
เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลและความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวกับท้องถิ่นและเป็นแหล่งให้บริการข้อมูลและความรู้
เหล่านี้ให้กับคนในท้องถิ่น   ผ่านกระบวนการศึกษาในรูปแบบต่างๆ ทั้งในระบบ นอกระบบ และตาม
อัธยาศัย
          7.  หลักสูตรต่างๆ ควรคำนึงถึงความต้องการของคนในท้องถิ่น   และส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่น
ควรสอดแทรกองค์ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่นในกระบวนการวิชาต่างๆ   ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติจริง
ในสังคม   เพื่อจะได้เข้าใจในสภาพของสังคมอย่างแท้จริง และเพื่อให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการพัฒนา
สังคมท้องถิ่น

          ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกที่ควรพิจารณาปรับปรุง   แต่เห็นว่าทั้งเจ็ดประการที่ยกมาน่าจะเป็นแนวทางหลัก
ไปสู่การปฏิรูปสถาบันราชภัฎ   ให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง   ความเป็นเลิศ
ของสถาบันอุดมศึกษา   ไม่จำเป็นต้องมุ่งหน้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัย การให้บริการท้องถิ่นที่ดีเลิศก็ย่อม
นำไปสู่ความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาได้   และยังเป็นประโยชน์ใหญ่หลวงต่อประเทศชาติอีกด้วย

   พนม พงษ์ไพบูลย์
                                                                    25 กันยายน 2543

หมายเลขบันทึก: 99922เขียนเมื่อ 1 มิถุนายน 2007 08:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 07:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ผมดีใจครับอาจารย์ที่ความหวังของ " คนชนบท" อย่างพวกผมจะได้ไม่โดดเดี่ยว เพราะที่ผ่านมา มีแต่นโยบาย แต่การปฏิบัติ อ่อนมาก เพราะตามกระแส มากกว่าการปฏิบัติครับ ....ผมเป็นบุคคลหนึ่งที่จบจากสถาบันการศึกษา ฯ ม. ราชภัฏ ฯ จึงมั่นใจได้ว่า....ม.ราชภัฏฯ สามารถขับเคลื่อน " นโยบายต่าง ๆ ได้ดีครับ......
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท