ลุถึงซึ่ง "ความกลัว..."


ปุจฉา... เรานั้นเล่ากลัวตายหรือกลัวทุกข์?
วิสัชนา... บางคนนั้นกลัวความทุกข์จึงต้องหนีไปหาความตาย
แต่คนส่วนใหญ่นั้นเล่ากลัวความตาย ชีวิตนี้จึงจำต้องทุกข์ไปจนตาย อนิจจา...

ความกลัวนั้นมันเป็นเรื่องธรรมดา คนที่ยังไม่ตายนั้นเป็นธรรมดาที่ต้องกลัว

ความกลัวนั้นมีมูลเหตุเกิดจาก “การรู้ไม่จริง...”
ถ้ารู้จริงเราจะไม่กลัว เพราะเข้าใจความเป็นไปและความเป็นมาของสรรพสิ่ง
ถ้าไม่รู้ไม่จริง ไม่รู้จริงถึงแก่นแล้ว เขาก็ต้องกลัว และกลัวไปจนตาย

ความรู้ใดในโลกนี้เล่าจะเข้าถึงความจริง...?
ความจริงนั้นมีหลายระดับ ทั้งความจริงระดับกายสัมพัส และความจริงระดับ “จิต” สัมผัส

คนในสังคมนี้ส่วนใหญ่จะกลัวความจริงในระดับ “จิต” สัมผัส
เพราะในสังคมทุกวันนี้ เป็นสังคมแห่งความรู้ที่กำลังระเบิด (Knowledge Explosion) และความรู้ที่ระเบิดออกมานั้นเป็นความรู้ในระดับ “กาย” สัมผัสทั้งสิ้น
 
ในทุกวันนี้ความรู้ในระดับกายสัมผัสทำให้เราหายกลัวไปหลายอย่าง ก็เนื่องได้เรารู้และเข้าใจในเรื่องนั้น

ถึงแม้ว่าจะมีความรู้ในระดับจิตสัมผัสหลุดออกมาบ้าง แต่ก็เป็นแค่ “ความรู้” ความรู้ระดับจิตสัมผัสหรือที่เรียกกันว่า “ปัญญาญาณ” นั้น ผู้รู้มิสามารถรู้ได้เพียงแค่การอ่าน การฟัง หรือว่าการคิด แต่ความรู้ระดับจิตสัมผัสนั้น จะต้องเข้าถึงด้วยการ “ภาวนา”

การอ่านมาก ฟังมาก คิดมาก พูดมาก นั่นก็ได้แต่ความรู้ ความรู้ที่จะไปประกอบอาชีพ รู้เรื่องปัญญาเห็นแจ้ง แต่ไม่มีปัญญาเห็นแจ้งนะ ถ้าจะหลุดพ้นจากความกลัวได้ต้องไม่ใช่แค่รู้ แต่ต้อง “มี”

“ภาวนามยปัญญา” จึงเป็นดั่งระเบิดปรมณูที่จะทำลายความกลัวให้หมดสิ้นไปจากชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งความกลัวสองสิ่งที่มนุษย์ทุกผู้ทุกคนกลัวแบบสุด ๆ นั้น “กลัวทุกข์ และกลัวตาย”

เมื่อคนส่วนใหญ่ในสังคมรู้ จัดการความรู้ มีความรู้อยู่แค่ในระดับของปัญญาที่เกิดจากการฟัง และปัญญาที่เกิดจากการคิด คนทั้งหลายเหล่านั้นก็ต้องกลัวไปจนตาย

อยากมีปัญญา จะไม่มีปัญญา
หากจะมีปัญญาระดับจิตสัมผัสต้องนำชีวิตเข้าแลก

เข้าแลกโดยตัดความอยากนั้นเสียเป็นประการที่หนึ่ง
ความอยากเป็นทางขวางกั้นและเป็นศัตรูอันสำคัญในการบรรลุถึง “ปัญญาญาณ”

หลากหลายคนวิ่งวุ่นวกวนไปอบรมที่สำนักโน้น ไปเข้าคอร์สที่สำนักนี้ ก็เพื่อ “อยาก” จะมีสมาธิ อยากจะบรรลุ อยากจะพบเห็นสวรรค์ อยากจะเจอเทวดา อยากจะมีวิมานเมื่อยามตาย
ความอยากนี้แล เป็นสิ่งที่น่ากลัวนัก...

ทำชีวิตให้เป็นธรรมชาติ ธรรมดา
เจริญสติให้ได้ในอริยบท ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน
มีสติกำกับอยู่ในทุกลมหายใจ


ทำไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวปัญญาที่เราตั้งหมายไว้นั้นก็จะเกิดขึ้นเอง


ประหนึ่งกับเรากินข้าว เรามีหน้าที่กินก็กินไป กินไปเรื่อย ๆ กินเข้าไปเดี๋ยวก็อิ่มเอง
แต่ทุกวันนี้เรากินข้าวคำหนึ่งก็หวัง ก็อยากว่าจะให้อิ่มสักปีหนึ่ง กินข้าวอยู่แต่ในก็นึกว่าตัวเองกินก๋วยเตี๋ยวอยู่ ปากกินข้าวอยู่ใจก็นึกไปหาแฮมเบอร์เกอร์ หาหูฉลาม ความสุขสงบในใจก็ไม่มี มีแต่ความเร่าร้อน กระวนกระวาย แล้วสติจะอยู่กับกายกับใจได้อย่างไร การทำแบบนี้ผู้กินข้าวนั้นก็เปรียบเหมือนหนึ่งกินข้าวมือหนึ่ง แล้วก็เอาอีกมือหนึ่งจกคอให้อาเจียนออกมา แล้วถ้าหาก “ศีล ๕” ไม่มีอยู่ในพื้นฐานจิต ไม่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่มีในทุกลมหายใจแล้ว ก็ยิ่งไปที่ยากเข้าไปใหญ่

การจะได้ปัญญาญาณจากการดำเนินชีวิตในสังคมนี้เป็นเรื่องยากนัก เพราะการที่จะได้ปัญญาญาณนั้น เราจะต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่หยุด และที่สำคัญ “ไม่ผิดศีล”


คนในสังคมทุกวันนี้การผิดศีลเป็นเรื่องคนธรรมดา แต่การถือศีล มีศีล กลายเป็นเรื่องของคนบ้าไป
คนใจแข็ง ใจดี ถึงจะถือศีล มีศีล และสู้ต่อโลกธรรมที่สำคัญ คือ การนินทาได้

การจะมีปัญญาญาณ ซึ่งจะบรรลุถึงความกลัวโดยการเจริญด้วย ศีล สมาธิ และปัญญา ขอให้ระลึกถึงการจุดไฟด้วยการใช้ไม้สีไฟเป็นสำคัญ
การสีไม้ให้เกิดไฟได้นั้น ผู้สีจะต้องสีอย่างสม่ำเสมอ สีไปเรื่อย ๆ สีไม่หยุด เพราะถ้าหยุดสีไม้เมื่อใด ความร้อนที่สั่งสมมาก็จะเรือนหายไป ถ้ากลับไปสีใหม่ก็ต้องเริ่มสั่งสมความร้อนใหม่กันร่ำไปทุกเวลา
การที่ใช้เวลาเจริญสมาธิเพียงแค่ตื่นเช้า ก่อนนอน หรือไม่ก็แค่ไปเข้าคอร์ส ถือศีล เสาร์อาทิตย์ ก็เปรียบหนึ่งกับการถู ๆ หยุด ๆ วันไหนมีแรงฮึดก็สีซะเต็มที่ เหนื่อยแทบแย่ แต่ก็ไม่ได้อะไร แถมยังหมดกำลังใจอีกต่างหากวันไหนอยากสีก็สี วันไหนไม่อยากก็ตะเลิดเปิดเปิงไป

การที่จะให้ได้ปัญญาญาณนั้น ต้องปฏิบัติเป็นกิจวัตร
เหนื่อยก็ปฏิบัติ ไม่เหนื่อยก็ปฏิบัติ อยากก็ปฏิบัติ ไม่อยากก็ปฏิบัติ ปฏิบัติไปเรื่อย ๆ ข้าวที่เรากินไปเรื่อย ๆ เดี๋ยวก็อิ่มเอง แต่อย่าไปล้วงคอให้อาเจียนออกก่อนเสียเล่าโดยการ “ผิดศีล” ทั้งกาย วาจา และใจ

เมื่อเราได้ปัญญาญาณ นั่นคือ “ปัญญาเห็นแจ้งแล้ว” เมื่อนั้น เราจะลุได้เสียซึ่ง “ความกลัว”
เพราะเราได้เข้าใจถึงความเป็นมา ต้นเหตุ และความที่จะเป็นไปแล้ว เราก็ไม่รู้จะกลัวไปทำไม เน๊อะ...!

 

หมายเลขบันทึก: 189257เขียนเมื่อ 20 มิถุนายน 2008 17:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 19:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

นมัสการค่ะ

  • ความกลัวอยู่ที่ใจ...ก็พยายามจะแก้ไขที่ใจค่ะ
  • ขอบคุณบทความเตือนใจ...ที่มีประโยชน์จริงๆค่ะ.

คนพาล ไม่ให้ทานเพราะ "กลัว" ว่าจะยากจน

แต่บัณฑิตชนนั้น "กลัว" ยากจน จึงขวนขวายในการให้ทาน...

ขอบพระคุณมากคะ

ที่ท่านสุญญตา ช่วยเขียนบทความตามคำขอให้ได้ อ่านเรื่องความกลัว คะ

ท่านกล่าวได้จับใจ....

ความกลัวที่อยู่กับเราในการดำเนินชีวิตประจำวัน ทำให้ขาดอิสระ เหมือนราวอยู่ในถ้ำมืด

เมื่อความกลัวเกิดขึ้นเมื่อใดอีกตอนนี้อีก เราอาจบอกว่าฉันรู้จักเธอแล้ว และก็ต้อนรับมันด้วยความมีสติ

ความรู้สึกทุกข์อันเกิดจากความกลัว ที่ถูกโอบล้อมด้วยสติ.... มันจะสูญเสียพลกำลังไป เรื่อยๆ

ใช้ความเบิกบาน ความรักเมตตา มาแทนที่

อารมณ์หนึ่งๆ มันจะผ่านมาแปปๆ จะช้าเร็ว แล้วก็จะผ่านไป

นี่คือธรรมชาติของมัน

เราจึงไม่ควรจม หรืออยู่กับทุกข์ (ในใจเราเอง) จากความกลัว ด้วยเล่า

ผิดถูก ..ขอคำแนะนำท่านด้วยคะ

ชอบที่คุณผึ้งงานพูดจัง

ความกลัวอยู่ที่ใจ...ก็พยายามจะแก้ไขที่ใจค่ะ

ความกลัวในปัจจุบันนั้นย้ายรากไปปักฐานอยู่ที่ "สมอง" อันความรู้นั้นและเป็นต้นเหตุแห่งความกลัว...

รู้มากก็กลัวมาก รู้ดีก็ยุ่ง รู้ไม่ดีก็ยุ่ง

เรารู้จักผี เราก็เลยกลัวผี เรามีความรู้เรื่องมี เราก็เลยกลัวผี

สุนัข หรือ สัตว์ต่าง ๆ ที่อยู่ในป่า อยู่กลางป่าช้า สัตว์ต่าง ๆ ที่มนุษย์เรียกว่าเดรัจฉานนั้น เขาไม่มีชุดความรู้เรื่องผี เขาก็เลย "ไม่กลัวผี..."

ความรู้ที่บรรจุเข้ามาในสมอง เข้ามาฝังอยู่ในความจำนั้นแล เป็นบ่อเกิดและมูลเหตุแห่งความกลัว "ไม่รู้จัก ก็ตัดความกลัวไปได้อย่างหนึ่ง"

แต่ถ้ารู้แจ้ง "ความกลัว" นั้นก็ไม่มี...

ปัญญานั้นและจะลุถึงซึ่ง "ความกลัว..."

สาธุ ..ขอบพระคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท