ท่าสักไดอารี่ วิจัยชุมชน (9) : นำเสนอและปิดโครงการในชุมชน


         8 ตุลาคม 2548 เริ่มจากการนัดหมายของเพื่อนๆนักศึกษา ที่นัดหมายเจอกันเพื่อเริ่มต้นการเดินทางบริเวณด้านหน้าเสาธง ภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ เวลา 07.30 น. และจะเดินทางไปพอรวมตัวกันจนครบก็เริ่มเดินทางโดยมาทางบ้านเกาะ การที่ต่างคนต่างก็ลองๆมาตามเส้นทางที่อาจารย์แนะนำโดยสอบถามทางที่ชาวบ้านมาโดยตลอดเส้นทางการเดินทาง  ซึ่งในวันนี้นักศึกษาทุกคนมาด้วยความเต็มใจ เพราะงานในวันนี้อาจารย์ไม่ได้บังคับให้มา เมื่อไปถึงเสร็จทรงผมบางคนเปลี่ยนไป เพื่อนบางคนที่มาสำรวจครั้งก่อนได้คุ้นเคยกับลุงๆป้าๆทักทายกันอย่างเป็นกันเอง


                พอมาถึงชาวบ้านบางส่วนส่วนมากเป็นผู้ชายและสถานที่เรียบร้อยแล้ว จากนั้นผมก็เรียกนักศึกษาทั้งหมดเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงหมายกำหนดการละการจัดแบ่งหน้าที่ในการปฏิบัติงานนักศึกษาตั้งใจฟังต่างให้ความสนใจทุกขั้นตอนงานที่อาจารย์ได้มอบหมายและทำงานที่ได้รับมอบหมายไม่มีการเกี่ยงงานแต่อย่างใด ในระหว่างประชุมเตรียมงานกันนั้นก็มีนักศึกษาเดินทางเข้ามาเรื่อย ๆ บางกลุ่มเดินทางมาช้าเพราะหลงทาง อาจารย์ชี้แจงและแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบให้นักศึกษาเกี่ยวกับการนำเสนอผลการวิจัย คนที่มีหน้าที่ลงทะเบียนก็มีหน้าที่ลงทะเบียน เมื่อเพื่อนที่หน้าที่รับลงทะเบียนก็นำกระดาษที่เตรียมมาให้กับผู้ที่เข้าร่วมประชุมลงทะเบียน และให้นักศึกษาลงทะเบียน


                จากการพูดคุยกับชาวบ้านคร่าว ๆ ก่อนเปิดการประชุมหมู่บ้านอย่างเป็นทางการ บางส่วนมาไม่ได้เพราะติดงานต้องออกไปทำงานแต่เช้า พอถึงเวลาประมาณ 09.00 น.มีกลุ่มชาวบ้านเริ่มทยอยมาลงชื่อเข้าร่วมการประชุมเป็นการประชุมทั้งกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มนักศึกษามีการนั่งพูดคุยกันอย่างเป็นกันเองและยังมีการจับกลุ่มพูดคุยและมีการเตรียมหัวข้อก่อนการเริ่มประชุม

                จากนั้นก็เป็นการประชุมหมู่บ้าน ซึ่งท่านกำนันได้กล่าวทักทายชาวบ้าน กล่าวต้อนรับอาจารย์และนักศึกษา จากนั้นก็มอบหมายให้ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้พูดเรื่องต่างๆ ที่ได้รับมาจากทางอำเภอเพื่อแจ้งและชี้แจงให้กับชาวบ้านทราบ ซึ่งขั้นตอนตรงนี้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับวัตถุประสงค์ของเราที่มาวันนี้สักเท่าไหร่ แต่จากการสังเกตพบว่านักศึกษาส่วนมากต่างให้ความสนใจทุกกระบวนการตั้งแต่เริ่มแรกของการประชุมส่วนมากต่างจดบันทึกกันอย่างละเอียด ทุกอิริยาบถทั้งของคนในชุมชนหรือแม้แต่นักศึกษาด้วยกันเอง ทุกคนมีความกระตือรือร้นกันมาก มีการพูดคุยซักถามเรื่องต่าง ๆ นา ๆ ซึ่งชาวบ้านก็ให้ความเป็นกันเองมาก ซึ่งเป็นบรรยากาศที่น่าประทับใจมาก

 
                พอถึงเวลา 10.45 น. การนำเสนอผลการศึกษาข้อมูลชุมชนก็ได้เริ่มขึ้น  อาจารย์เริ่มเกริ่นนำและสร้างความเป็นกันเองกับชาวบ้านโดยพูดถึงเรื่องทั่วๆไปก่อนที่จะเข้าเรื่องที่เตรียมมา
                “คุณลุง เมื่อเดือนก่อนนักศึกษาไปรบกวนคุณลุงหรือเปล่า”
                “ไม่รบกวนหรอก อยากให้มาบ่อย ๆ”
                “แล้วพวกหนูล่ะ จำคุณลุงได้ไหม”
                “จำได้ค่ะ คุณลุงพูดตลกดีก็เลยจำได้”
                “ลุงหนิท วันนี้เตรียมข้าวไว้พอหรือเปล่า นักศึกษากินข้าวจุนะ”
                “พอครับ ผมกะว่า 3 คนกระป๋อง กระป๋องนึงก็ลิตรนึง พอครับ ไม่มีปัญหา”
                จากนั้นก็เริ่มรู้สึกว่าชาวบ้านเริ่มผ่อนคลาย ไม่เกร็งเหมือนตอนที่ประชุมหมู่บ้าน และตอนที่มีการทำแผนข้อมูลไปติดกระดานชาวบ้านก็งงว่าเขาทำอะไรกันบางคนก็แสดงสีหน้าเบื่อหน่ายขึ้นมาเพราะต่างคิดว่าเสียเวลาไม่เห็นจะมีอะไร น่าเบื่อ หลังจากนั้นชาวบ้านเริ่มที่จะพูดคุยหยอกล้อกันทั้งระหว่างอาจารย์ และนักศึกษา
               
                ชาร์ตแผ่นแรกเรื่องค่าใช้จ่ายในครัวเรือนชาวบ้านรับรู้ตัวเลขที่เฉลี่ยออกมาก็รู้สึกตกตะลึงกับข้อมูล เพราะไม่เคยรู้ว่าค่าใช้จ่ายที่มีอยู่ประจำวัน รวม ๆ กันแล้วทั้งหมู่บ้านจะเยอะขนาดนั้น จากนั้นก็เริ่มมีเสียงวิพากวิจารณ์จากชาวบ้านที่นั่งอยู่ในที่นั่งจนเสียงค่อยๆ ดังขึ้นเรื่อยๆ  พอเริ่มมีการแจ้งข้อมูลในเรื่องต่างๆ ละเอียดมากขึ้นและเป็นตัวเลข  ที่สูง ชาวบ้านก็เริ่มมีความสนใจในตัวเลขที่มีการชี้แจงให้ทราบ ชาวบ้านจึงมีความสนใจที่จะแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยกันพอพูดถึงเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายภายในครัวเรือนเมื่อเห็นชาร์จชาวบ้านบางคนตกใจกับตัวเลขของค่าใช้จ่าย ไม่น่าเชื่อว่าเราจะซื้อของกินมากขนาดนี้ บางคนก็เริ่มคิดหาทางที่จะทำให้รายจ่ายนั้นน้อยลง
                “บรรยากาศแบบนั้นเป็นบรรยากาศที่น่าภูมิใจมาก เพราะข้อมูลที่เราร่วมลงมือลงแรงทำมา เริ่มที่จะเกิดประโยชน์ขึ้นมาจริง ๆ”


                จากนั้นเวทีก็ได้ดำเนินต่อไป ชาร์จแผ่นที่สองที่สามก็เริ่มตามมา เมื่อมีคำถามจากอาจารย์ชาวบ้านก็เป็นคนตอบและคำถามปรับเปลี่ยนกันไปดูเหมือนกับบรรยากาศนั้นจะเป็นกันเองมาก
                จากนั้นเป็นการนำเสนอเรื่องการปริมาณการบริโภคข้าวของชาวท่าสัก ซึ่งอาชีพหลักของชาวท่าสักก็คือการปลูกข้าว สามารถทำนาได้ถึง 5 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี แต่ตัวเลขที่น่าตกใจก็คือ ชาวท่าสักส่วนใหญ่ต้องซื้อข้าวมาบริโภคภายในครัวเรือน ทั้ง ๆ ที่ปลูกข้าวกันทั้งตำบล
                “กำนันซื้อข้าวกินเองหรือทำกินเองครับ”
                “ผมพึ่งไปซื้อจากโลตัสมานี้เอง”
                “ทำไมต้องซื้อข้าวทานเอง”
                “เก็บไว้ไม่ได้ ไม่มีที่เก็บ ง่ายดี”
                “จะทำไงโดยที่เราไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อข้าว”
                “ไม่ได้ ยังไงก็ไม่ได้ ผมกินข้าวหอมมะลิ ส่วนข้าวที่เราปลูกนั้นจะกินไม่ได้เพราะข้าวมันแข็ง”
                “ทำไมไม่ปลูกข้าวหอมมะลิเองหล่ะ”
                “เราแก้ไขไม่ได้เราปลูกข้าวแข็งเราจะได้ 100 ถัง/ไร่ ส่วนข้าวหอม 50 ถัง/ไร่ ผลผลิตจะต่างกันมากและข้าวหอมมะลิมีการดูแลและเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำให้มาตรฐานของข้าวหอมมะลิน้อย ได้กำไรน้อยกว่า”
                “เค้าทำนาปี แต่เราทำนาปีแต่เอาไปทำเฉพาะข้าวเม่า”
                “จะปลูกได้ คือ นาอิน นายาง”
                “มันแข็งไม่อร่อยก็เลยไปซื้อข้าวอ่อนที่ตลาดหรือโลตัส”
                “ถ้าปลูกข้าวอ่อนต้องใช้เงินทุนมาก ผลผลิตที่ได้น้อยกว่าปลูกข้าวแข็ง”
                “ลักษณะของลำต้นและความทนทานของต้นข้าวหอมมะลิไม่แข็งแรง”
                “ถ้านำมาปลูกในพื้นที่อาจทำให้ผลผลิตข้าวในแปลงอื่น ๆ เสียหาย”
                “ถ้าหากเก็บไว้กิน ก็ไม่มีที่ตากข้าวเพราะข้าวที่พึ่งเกี่ยวใหม่จะมีความชื้นสูง”
                “ถ้าบ้านไหนปลูกข้าวปีละครั้งจะไม่มีเงินส่งให้ลูกเรียนปริญญาตรี”
                นักศึกษาและชาวบ้านพอใจเป็นอย่างยิ่งแล้วปรบมือดังสนั่น
                ชาวบ้านยิ้มบ้างก็หัวเราะมีเสียงดังเล็กน้อยบรรยากาศช่วงนั้นเป็นภาพที่สวยงามมาก ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านหรือนักศึกษาทุกๆ คน ต่างก็ให้ความร่วมมือกันทำงาน และรับผิดชอบหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างดี  บางคนก็ตั้งใจจดบันทึกสังเกตการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นอย่าง ขะมักเขม้น โดยนักศึกษาบางส่วนก็จัดเตรียมอาหารเพื่อที่จะรับประทานกันในมื้อกลางวัน
               
                หลังจากนั้นก็เป็นเรื่องที่ทำให้พวกเราเกิดอาการใจหายใจคว่ำกันเล็กน้อย เพราะข้อมูลที่เราเก็บมาได้และนำเสนอวันนี้ ดันเป็นความลับของหมู่บ้าน
                “ต่อไปก็เรื่องเงินกู้นะ ท่าสักมีเงินกู้สหกรณ์จำนวน............... บาท”
                 “มีสหกรณ์ด้วยเหรอ”
                 “มีครับ”
                 “เมื่อก่อนไม่มีไม่ใช่เหรอ”
                 “มีครับ”
                “มันแอบไปกู้กันตั้งแต่เมื่อไหร่...เนี่ย”
                “ทำไมท่าสักมีหนี้เยอะจัง”
                “หนี้เยอะ แล้วจะแก้ไขอย่างไรดีล่ะครับ”
                “ต้องให้ทักษิณ มาปลดหนี้ให้”
                เฮ้........... (ทุกคนพร้อมใจกันร้องเฮออกมาอย่างมิได้นัดหมาย)
                นักศึกษาบางคนก็พูดคุยกับชาวบ้านที่นั่งข้าง ๆ จนได้ทราบเรื่องชื่อของวัดว่าเป็นชื่อของผู้ให้ที่ดินหรือบริจาคที่ดินเพื่อสร้างวัด ส่วนเรื่องเกี่ยวกับการประชุมครั้งที่ผ่านๆมาป้าบอกว่าในการประชุมแต่ละครั้งคนก็ไม่ค่อยเยอะ
                เรื่องที่สนุกสนานและเป็นประเด็นมากที่สุดในวันนี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ข้าว” เป็นเรื่องที่มีสนทนากันนานมากกว่าเรื่องอื่นๆ ทำให้ทราบพวกเราทราบสาเหตุของการปลูกข้าวแล้วขายไม่หมดและการซื้อข้าวมากินซึ่งสาเหตุก็เพราะว่าไม่มีทีเก็บข้าวที่ปลูกมันแข็งต้องการขายออกไปจะซื้อข้าวอ่อนมากิน (เหมือนบ้านเราเลย) ถ้ามีการนำเอาข้าวหอมมะลิมาปลูกก็จะต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิดผลผลิตก็ได้น้อย ซึ่งขึ้นอยู่กับพื้นที่ อาจจะทำให้ข้าวเกิดการกลายพันธุ์ ส่วนข้าวธรรมดาที่ปลูกกันนั้นมีความต้านทานของมากข้าวชนิดนี้จะทำได้ 3 ฤดู ถ้าข้าวหอมจะทำได้แค่ 1 ฤดู
                ในวันนี้ทุกคนที่มาเข้าร่วมประชุม ได้รับรู้ถึงรายได้และค่าใช้จ่ายที่แท้จริงในชีวิตประจำวัน ในแต่ละเดือนแต่ละปีรายได้
                จากนั้นต่างร่วมกันรับประทานอาหาร นักศึกษาทุกคนรู้สึกมีความสุขและความพึงพอใจกับผลงานที่ได้ปฏิบัติออกมาและต่างมีความประทับใจกับความมีน้ำใจของชาวบ้านรับกลุ่มนักศึกษาเป็นอย่างดีและชาวบ้านทุกคนก็ต่างพอใจและเต็มใจที่จะให้ความร่วมมือกับอาจารย์และคณะนักศึกษาเสมอเช่นกัน


                จากทานข้าวกันเสร็จเรียบร้อย ก็มีการประชุมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำการสรุปความรู้ที่นักศึกษาได้รับจากกิจกรรมนี้ โดยตั้งประเด็นว่า ได้อะไรบ้างจากการที่มาวันนี้   นักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า การมาทำเราควรที่จะให้ความเป็นกันเองกับชาวบ้าน จะต้องภาษาเป็นภาษาที่เข้าใจง่ายชาวบ้านถึงจะให้ความเป็นกันเองกับเรา อีกคนหนึ่งก็บอกว่าได้ความรู้เรื่องข้าว 1 เกวียนบ้าน เท่ากับ 150 ถัง และชี้แจงหมายกำหนดการและการจัดแบ่งหน้าที่ในกิจกรรมต่อไป โดยการปฏิบัติงานนักศึกษาทุกคนตั้งใจฟังเป็นอย่างดี ให้ความสนใจทุกขั้นตอนงานที่อาจารย์ได้มอบหมายและทำงานที่ได้รับมอบหมาย และอาจารย์ก็นัดหมายให้รวบรวมข้อมูลหลังจากที่นำงานไปเสนอให้ชุมชนแล้ว โดยจะแบ่งงาน แต่ละคนไปทำมาในวันที่ 9-12 ตุลาคม 2548 แล้วนำข้อมูลมารวมกันในวันที่ 13 ตุลาคม อาจารย์ได้กล่าวขอบคุณแม่ครัวที่ช่วยเป็นธุระในการจัดทำอาหารแต่เช้ามืด

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

ฉันมิใช่ "ครูดี" แต่ฉันเป็นคนมีหัวใจที่ทำเพื่อ "ศิษย์"

 

หมายเลขบันทึก: 28665เขียนเมื่อ 15 พฤษภาคม 2006 02:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท