ท่าสักไดอารี่ วิจัยชุมชน (11) : เสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชน


นักวิจัยมีบทบาทเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ เป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกในการออกแบบ อำนวยความสะดวกในการจัดกระบวนการ จดบันทึก โดยยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง,ถ้าเปลี่ยนจิตสำนึกปุ๊บจะเกิดความสุขขึ้นปั๊บ,เมื่อคิดพึ่งพิง ก็อ่อนแออยู่เรื่อยไป

 

 

 

 

การเสริมสร้างเศรษฐกิจของครัวเรือน
               
                “ทำไมค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือนมากจังเลย”
                “จะต้องลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลงบ้าง”
                การจัดกิจกรรมสนทนาตามแบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างในเรื่องของ ค่าใช้จ่าย รายได้ และหนี้สินของครัวเรือนที่นักศึกษาได้ลงไปทำในพื้นที่ตำบลท่าสักแล้วนั้น ถือได้ว่า เป็นการเสริมสร้างเศรษฐกิจของครัวเรือน ซึ่งจะเป็นฐานรากของการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน 

 


                กิจกรรมที่จัดขึ้นมุ่งเน้นให้คนในครัวเรือน ได้มองย้อนกลับไปในตัวของตัวเอง มองกลับเข้าไปในบ้านของตัวเอง เป็นกิจกรรมที่สร้างกระบวนการคิด เมื่อเกิดการคิดคนเราก็จะรู้ว่าตนเองมีปัญหาหรือจุดอ่อนทางด้านใดบ้าง ในทางกลับกันก็จะมองเห็นจุดแข็งหรือความสามารถของตนเองที่จะใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ เหล่านั้นได้ ซึ่งจัดได้ว่าเป็นการแก้ไขปัญหาแบบพึ่งตนเองแบบยั่งยืน ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าเป็นการเสริมสร้าง “เศรษฐกิจแห่งการพึ่งตนเอง” เป็นหลักการที่สำคัญของทางพุทธศาสนาที่ว่า อัตตาหิ อัตตโนนาโถ (ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน) การพึ่งตนเองได้คือความเข้มแข็ง ถ้าครอบครัวพึ่งตนเองได้ เศรษฐกิจในชุมชนจะเข้มแข็ง  การพึ่งตนเองได้คือความเข้มแข็งที่ยั่งยืน


                นักวิจัยมีบทบาทเป็นผู้ร่วมเรียนรู้ เป็นผู้เอื้ออำนวยความสะดวกในการออกแบบ อำนวยความสะดวกในการจัดกระบวนการ จดบันทึก โดยยึดชุมชนเป็นศูนย์กลาง

 


                “จากที่เราเห็นผัก หมู ไก่ ตรงเนี้ย ตัวเลขมันไม่น้อยนะ สมมติว่าเราจะริเริ่ม ถ้าเรามีตัวเลือกปุ๊บไม่ต้องไปอื่นไกล ขายภายในหมู่บ้านของเรา ตอนนี้ไม่รู้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายอะไรเพิ่มขึ้นหรือเปล่า เพราะตอนนี้วันหนึ่งเราจ่ายอะไรไปบ้าง ค่าน้ำมันเท่าไหร่”
                “ให้มีการปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ คือ ปลูกกินกันเองถ้าเหลือก็แบ่งปันกัน     
(นำเสนอข้อมูลชุมชน 8 ต.ค. 48)

 


                “ปีหนึ่งๆ เราหมดเงินไปกับการดื่มกระทิงแดงอยู่มาก ต่อไปนี้จะลดเว้นค่าดื่มกระทิงแดงลง”

 


                ความคิดริเริ่มในการที่จะแก้ไขปัญหา เป็นการจุดประกายความคิดของทุก ๆ คนที่อยู่ในชุมชน ประกอบกับทุนชุมชนทางด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการคมนาคมที่สะดวก ทั้งทางถนน รถยนต์ หรือแม้กระทั่ง รถไฟ ความขยันขันแข็งของชาวท่าสัก ผนวกกับความรู้ในเรื่องของปัญหา ต้นเหตุของปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหา สิ่งที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหา... เศรษฐกิจครอบครัวของทุกคนในบ้านท่าสัก คงจะเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้ในเร็ววัน


การเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนบ้านท่าสัก
                “ชาวบ้านปลูกข้าว เก็บเกี่ยวในวันนั้นเกิด ขายในวันนั้น”
                “ไม่มีที่เก็บข้าว“
                “ขายข้าวและซื้อข้าวกิน”
                “ถ้าปลูกข้าวอ่อนชาวบ้านต้องใช้เงินทุนมาก ผลผลิตที่ได้น้อยกว่าปลูกข้าวแข็ง”
                “เราแก้ไขไม่ได้เราปลูกข้าวแข็งเราจะได้ 100 ถัง/ไร่ ส่วนข้าวหอม 50 ถัง/ไร่ ผลผลิตจะต่างกันมากและข้าวหอมมะลิมีการดูแลและเสียค่าใช้จ่ายมาก ทำให้มาตรฐานของข้าวหอมมะลิน้อย ได้กำไรน้อยกว่า”
(ศาลาการเปรียญวัดท่าสัก : เวทีชุมชน 8 ต.ค. 48)
                อาชีพที่สร้างรายได้หลักให้กับชุมชนท่าสักก็คือ การเกษตร และการทำการเกษตรที่สร้างเงินให้กับท่าสักก็คือ “ข้าว” ชาวท่าสักส่วนใหญ่ปลูกข้าว แต่พอได้ผลผลิตก็จะนำไปขายหมด จากนั้นก็จะต้องไปซื้อข้าวจากร้านค้ามากิน การที่เขาปลูกข้าวแล้วไม่ได้นำมาเก็บไว้กินเพราะเกิดจากปัญหาหลากหลายประการด้วยกัน ปัญหาที่สำคัญก็คือข้าวที่ปลูกนั้นกินไม่อร่อยเพราะเป็นข้าวแข็ง
                “ก็สมชื่อของมันน่ะครับอาจารย์ พอหุงเสร็จใหม่ ๆ ก็พอกินได้ แต่พอเย็นแล้ว แข็งอย่าบอกใครเลย”
                “บ้านเราเวลาปลูกข้าวใช้รถดูดข้าว ข้าวก็ไม่แห้ง ต้องมาเสียเวลาตากข้าว หาสถานที่ตากข้าวอีกเพราะต้องใช้สถานที่กว้างมากๆ ไหนจะมีสัตว์มากวนข้าวอีก และที่สำคัญเวลาฝนตกเก็บไม่ทัน ข้าวที่ตากไว้ก็ใช้ไม่ได้เพราะข้าวเปียกฝนข้าวจะงอกเป็นต้นข้าวอีกรอบหนึ่ง”
                “ราคาขายข้าวกิโลกรัมละ 8 บาท ซื้อกินราคา 12 บาท”
                มีผู้ให้ความคิดว่าควรจะมีกระบวนการเกิดขึ้น คือ ให้ชาวบ้านทำนาบ้านละ 2-3 ไร่ และนำมารวมกันทั้งหมู่บ้าน จัดหาสถานที่ตากข้าวและทำยุ้งเก็บข้าวไว้ภายในหมู่บ้านและทำโรงสีข้าวของหมู่บ้านขึ้น
                “คือว่าตอนนั้นมันเป็นกลุ่มของชลประทานสูบน้ำซึ่งมีเงินเหมือนอยู่ก้อนหนึ่ง อันนี้มันมีข้อแม้ว่าในกลุ่มของแต่ละกลุ่มในหมู่บ้านจะต้องเข้าสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบล”
                “ทางชาวนาเขาว่า เขาเกี่ยวข้าวขายข้าว เขาเกี่ยวข้าวเปลือกมาเลยขายเดี๋ยวนั้นเลย ราคามันก็เป็นยังไงครับ ราคามันก็ต่ำ แต่ถ้าหากว่าเรามีลานตากข้าว ถ้าเราเกี่ยวแล้วมีโอกาสได้ตากความชื้นมันจะเป็นยังไง ความชื้นมันจะเป็นยังไง ความชื้น มันก็ลด ราคาก็จะดีขึ้น”
               
                “เรามีงบของผู้ว่า CEO คือการบริหารส่วนจังหวัดแบบบูรณาการ หรือที่เราเรียกกันว่างบผู้ว่า CEO มันก็จะสามารถสนับสนุนในส่วนนี้ หากเป็นปัญหาของเกษตรกรจริง ๆ เราก็สามารถที่จะ หนึ่งเราก็ไม่สามารถซื้อที่ได้ ถ้ามีเงินอยู่แล้ว แต่ว่าเอาเป็นงบที่จะจัดทำเป็นงบต่างๆ ที่จัดทำเป็นลาน และจัดซื้อวัสดุต่างๆ ที่จะทำตลาดนัดได้ ส่วนที่จะไปซื้อคงจะไม่ได้จากการที่บริจาคที่ แล้วก็ของบประมาณในการก่อสร้างขึ้นได้ แต่ตอนนี้เป็นปัญหาของชาวบ้าน และเป็นประโยชน์ของชาวบ้านทำให้ราคาผลผลิตดีขึ้น ก็จะของรับการสนับสนุนของบจากการ   บริหารจังหวัดแบบบูรณาการ โดยเสนอผ่านทางอำเภอ หรือถ้าเกี่ยวกับด้านการเกษตรก็ผ่านทางเกษตรมาได้ในตอนนี้”
(ห้องประชุมคณะวิทยาการจัดการ : สรุปโครงการ 13 ต.ค. 48)
                “ผู้ใหญ่เตรียมซื้อที่แล้วครับ แต่ยังอยู่ในขั้นตอนตกลงถามราคาอยู่ เป็นเงินของกลุ่มคลองน้ำเขาครับมันรวมถึงหมู่ 1 หมู่ 5 ประมาณนี้ ทั้งในเขต นอกเขตรวมกันหมดเลย”
                “การปลูกข้าวต้องดูพื้นที่ด้วยว่าบริเวณไหนหรือในเขตอำเภอไหนปลูกข้าวแบบไหนได้บ้าง
                “ต้องแบ่งโซนแบ่งอะไรกันให้ดี ไม่งั้นมันจะกลายพันธุ์”
                “ข้าวหอมมะลิบางที่ปลูกแล้วหอมบางที่ปลูกแล้วไม่หอม ราคาข้าวก็ยังแตกต่างกันไม่มากด้วย”
                “งบประมาณมีอยู่แล้วแต่ทางนี้ 1 เราจะให้เกษตรกรนั้นทำข้าวเป็นพวกข้าวพันธุ์ ข้าวปลีก ปัญหาที่เรามีมาในท่าสัก ข้าว กข เวลามาสีขายแล้วมันไม่มีคนซื้อเลย ไปขายให้ใครในตลาด ข้าวในตลาดส่วนใหญ่จะเป็นข้าวพื้นเมือง ที่เป็น ข้าว กข พันธุ์ดีเลย สู้ข้าวพื้นเมืองไม่ได้ ซึ่งข้าวพื้นเมืองมาจาก นาอิน นายาง อ.ทองแสนขันเป็นข้าวพื้นเมืองเป็นข้าวนาปี  ซึ่งทำให้เราแข่งขันไม่ได้ ปัญหาในการปลูกข้าวมันต้องมีที่ดินก่อน พอมีที่ดินปุ๊บ สมมติว่าถ้าไม่มีที่ดินโครงการต่อเนื่องก็จะ ขยายออกไปไม่ได้ มันก็จะไปสะดุดตรงที่ดินเป็นหลัก ที่ดินแปลงนี้เอากลุ่มมาตั้งตรงนี้ เหมือนคอรุมเขาอยากได้ หลายครัว และเข้าเริ่มขยายตอนนี้การขยายพันธุ์ข้าว คิดดูแต่ละปีเราไปซื้อพันธุ์ข้าวเท่าไหร่
                “เราจะทำกันเองได้ไหม ถ้าจะทำเราต้องรวมกลุ่มกันคนละ 15,000 บาท ถึงจะรวมกลุ่มกันได้ และถ้าเรารวมกลุ่มกันไม่ถึง 50 คน ก็ไม่ได้ อีกอย่างการรวมกลุ่มของกลุ่มเราไม่คอยเข้มแข็ง หลวมๆ รวมกันเพื่อของบประมาณ ไม่ใช่ว่ารวมเพื่อความเข้มแข็ง แต่ถ้าจะรวมกันเพื่อเอาเงินนะมี พอได้เสร็จพอได้เงินมาแล้วก็กระจายกันออกไป ก็เลยไม่เข้มแข้ง ตอนนี้ก็มีโครงการเตาอบพริก เราปลูกพริก สีมันต้องสด ถ้าสีเกรียมจะขายไม่ได้ ค่าใช้จ่ายก็สูง”


                ถ้างั้นเราวางระบบแล้วเข้าร่วมประชุมเดือนหน้า ว่าเราจะทำอย่างไรดี มันมีตัวคิดเยอะเลยแหละ  มันเป็นตัวตัดสินใจในเศรษฐกิจชุมชนของเรา มันทำให้เรารู้รายได้ เราคิดเอาเอง เราจะทำนาข้าวเท่าไหร่มันก็เป็นของเรา”
(แกนนำชุมชนคนหนึ่งในท่าสัก)

 


                ข้อคิดและแนวทางแก้ไขปรับปรุงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนไม่ว่าจะภายในครอบครัวก็ดีหรือของทั้งชุมชนก็ดีต้องการที่จะให้มีการพัฒนาในเรื่องของรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆให้ดีกว่าที่เป็นอยู่
                มาคุยเรื่องของค่าใช้จ่ายที่ทำลายสุขภาพกันบ้าง
                “ค่าบุหรี่”
                “ถ้ามองเรามองอย่างนี้เหมือนกับว่าพี่....... สูบบุหรี่คนเดียว สูบไปกี่ซองๆ ก็ไม่มีผล แต่ถ้าเออนำ 10 คน ภายในหมู่บ้านเข้ามาสูบมันก็ไม่น้อย”


                ในการประชุมวันนนั้นมีการเสนอว่า ต้องมีการผลิตอาหารที่สามารถปลูกเองได้เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเอง ชาวบ้านก็มีความเห็นว่าการที่เราได้เข้าไปมีส่วนในการที่ให้คนในหมู่บ้านได้รู้จักตนเอง รู้จักการสำรวจตนเองเกี่ยวกับการมีหนี้สิน สาเหตุของการเป็นหนี้เพื่อจะได้ลดค่าใช้จ่ายในส่วนที่ลดได้เพื่อเป็นการลดหนี้สินลง
                มีคุณลุงคนหนึ่งหัวเราะ และพูดเรื่องค่าใช้จ่ายในการดื่มกระทิงว่า


                จาการทำงานดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการปิดจุดอ่อนทางด้านค่าใช้จ่ายและต้นเหตุแห่งการเกิดค่าใช้จ่ายของครอบครัว เช่น การซื้ออาหารมาบริโภคในแต่ละวัน วัตถุดิบในการประกอบอาหารบางชนิด คนในชุมชนสามารถผลิตเองได้ อาทิเช่น ขิง ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กระเพรา โหระพา เมื่อลดรายจ่ายก็ถือเป็นการเพิ่มรายได้ของครอบครัว เป็นการขจัดต้นเหตุแห่งหนี้สิน เมื่อค่าใช้จ่ายน้อยลง รายได้ที่มีอยู่เดิมก็ถือว่าเพิ่มขึ้นโดยปริยาย
                “ถ้าเปลี่ยนจิตสำนึกปุ๊บจะเกิดความสุขขึ้นปั๊บ ไม่ต้องรอใครมาช่วยเหลือ  การไม่มีเงิน ไม่ได้แปลว่าไม่มีอะไร ท่านยังมีใจ มีปัญญา ซึ่งมีค่ามากกว่าเงิน” (ประเวศ วะสี : 2542, 19)
                ไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากคนอื่น ๆ ไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ ไม่ต้องรอนายกฯ มาช่วยปลดหนี้ให้ เพราะว่า เมื่อคิดพึ่งพิง ก็อ่อนแออยู่เรื่อยไป ไม่มีใครช่วยแก้ไขปัญหาของเราได้เท่ากับตัวของเราเอง 
                จากนั้นพัฒนาจุดแข็งของตนเองจึงเริ่มขั้นตอนของการค้นหาศักยภาพ ความสามารถที่มีอยู่ในตนเองหรือจุดแข็งที่สามารถเพิ่มรายได้ของครอบครัวได้ เช่น ท่าสัก มีทุนที่สำคัญมากกว่าชุมชนอื่น ๆ ก็คือ พื้นดินที่เป็นที่ราบกว้างใหญ่ มีน้ำที่สามารถใช้ได้ตลอดปี อากาศที่เหมาะสมกับการ  ปลูกพืช



ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท