Multiversity on Blog : เปิดใจให้ชุมชน


ข้อดีของการที่เราทำเครือข่ายการเรียนรู้ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่เรียกว่า Web Blog นี้ ก็คือ เราสามารถดึงผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความสนใจ ให้มี "ความเอาใจใส่" ในการเข้ามาเป็นคุณอำนวยในแต่ละเวทีของแต่ละสาขาวิชาให้กับ Web Blog ที่เราสร้างขึ้นมาได้

จุดสำคัญนั้นอยู่ที่ผู้บริหารของ Blog แต่ละบล็อคว่าจะมี "กึ๋น" หรือที่เรียกเป็นภาษาอย่างเป็นทางการว่า "บารมี" (ทศบารมี) โดยเฉพาะ "ปัญญาบารมี" เพียงพอหรือไม่ที่จะดึงใจปราชญ์ชาวบ้านหรือนักวิชาการให้มาร่วมปั่นเกลียวความรู้บน Blog แห่งนั้น ๆ

ผู้บริหารบล็อคหรือผู้ดูแลชุมชนต้องรู้จัก "เจ๊าะแจ๊" เกี้ยวพาราศี เหมือนกับการที่เราจะหาคนดี ๆ ให้เข้ามาอยู่ในบ้าน ต้องประคบ ประหงม ดูแลเอาใจใส่ ถามสารทุกข์ สุขดิบ ให้กำลังใจเพื่อให้เกิดกำลังกายในการเข้ามา Online และปั่นเกลียวความรู้ในชุมชน

การเชิญวิทยากรไปทำหน้าที่คุณอำนวยตามสถานที่ต่าง ๆ เรายังสามารถควักกระเป๋าจ่ายได้ทั้งค่าตัว ทั้งแรง ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก แล้วทำไมเล่าเราถึงไม่สามารถควักใจของเราออกมาเชื้อเชิญปราชญ์และนักวิชาการทั้งหลายที่เป็นสมาชิกของชุมชนอยู่แล้วให้มีบทบาทหน้าที่คุณอำนวยอย่างเป็นทางการ

เมื่อมี "ทุนชุมชน" อยู่ ต้องรู้จักใช้ทุนที่มีอยู่นั้นให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด คนหลาย ๆ คนในบล็อคแต่ละบล็อคนั้นเก่ง แต่ขาดคนเข้าไปเชื้อเชิญให้เขาแสดงความเก่งออกมาอย่างถูกที่ ตรงทาง

การที่มีผู้อาวุโสน้อยเป็นผู้บริหารชุมชนหรือสังคมในบล็อคนั้นก็มีข้อดีอย่างหนึ่ง ก็คือ มีอัตตาตัวตนน้อย มีความอ้อนน้อมถ่อมตนมาก แต่ยังขาดประสบการณ์ที่จะนำความอ่อนน้อมที่ตนเองมีนั้นไปเจ๊าะแจ๊ะเพื่อเชื้อเชิญสมาชิกให้กลายมาเป็นคุณอำนวยในชุมชน

เพราะการที่จะบริหารคนในชุมชนเสมือนแบบนี้ต้องทุ่มเทมาก เสียสละมาก การทำงานแปดโมงเช้าเลิกห้าโมงเย็นนั้นสามารถพูดได้เลยว่าไม่มีทางที่จะบริหารชุมชนเสมือนทางวิชาการให้ประสบความสำเร็จได้

ถ้าต้องการทำให้สำเร็จจริงต้องทุ่มเท... ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ ต้องใส่จิต ใส่ใจเข้ามาในบล็อคแห่งนั้นทั้งวัน ทั้งคืน

การเจ๊าะแจ๊ะกันนั้นจะใช้เวลาของเราเป็นที่ตั้งไม่ได้ เหมือนกับการไปจีบผู้หญิง สาวเจ้าว่างเมื่อไหร่เราก็ต้องเข้าไปในเวลานั้น

แล้วชุมชนใหญ่ ๆ แบบนี้มีสาวให้จีบหลายคน แต่ละคนมีความสามารถในแต่ละสาขาวิชา เราเป็นคนจีบคนเดียว ก็ต้องแบ่งเวลาไปเจ๊าะแจ๊ะกับคนโน้นคนนี้ให้ทั่วถึง อย่าไปจีบเขามาแล้วทิ้ง แล้วขว้าง แบบนั้นมันไม่ดีนะ

ทำงานไปนาน ๆ อย่าให้ความรู้สร้างอัตตาให้กับตนเอง...

การที่เราสามารถสร้างและพัฒนาระบบเพื่อบริการชุมชนขนาดนั้น และมีสมาชิกจากทั่วประเทศไทยที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิมาก ๆ นั้น บางครั้งก็สามารถทำให้เราเผลอคิดว่าตัวเองเจ๋ง ตัวเองเก่ง เจ๋งกว่าใครทั้งหลาย ทั้งปวง

คนละแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญกันคนละด้าน คนที่เก่งทางด้านวิชาการจะให้มาเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือคอมพิวเตอร์มาก ๆ มันก็ไม่ถูกต้อง

ภารโรงเขาก็เก่งเรื่องการกวาดพื้น คนสวนก็เก่งเรื่องการปลูกต้นไม้ นักวิชาการก็เก่งเรื่องการพูด การทำวิจัย โปรแกรมเมอร์ก็เก่งเรื่องการพัฒนาระบบ เก่งใคร เก่งมัน เชี่ยวกันคนละด้าน

เปิดใจรับคำวิพากษ์ และวิจารณ์

ในการทำงานทางด้านการจัดการความรู้ (Knowledge Management) บางที บางครั้งเวลาที่เรา "ปิ๊ง" อะไรขึ้นมาสักอย่าง โดยเฉพาะเวลาที่เข้ามาในชุมชน เข้ามาในระบบ อุปนิสัยของคนทางด้าน KM ก็จะรีบถอด รีบบันทึก Tacit Knowledge เหล่านี้โดยหวังดีว่า จะได้เกิดประโยชน์จากประสบการณ์จริงที่ได้ประสบจากการใช้ระบบนั้น แต่บางครั้งก็ต้องเสียวสันหลังว่า ถอดความจริงออกมามาก ๆ แล้วจะถูกตัดให้ขาดจากการเป็นสมาชิกของชุมชนแห่งนั้นหรือยัง

พื้นฐานจิตใจของคนที่ยังมิได้การฝึการปฏิบัติให้มีความอดทน อดกลั้น บางครั้งก็ไม่สามารถรับคำวิพากษ์อย่างตรงไป ตรงมาได้ สิ่งนี้ก็เป็นอุปสรรคในการพัฒนาอย่างหนึ่ง ที่คนรู้พูดไม่ได้ เพราะพูดไปกลัวคนฟังไม่เข้าใจ จะกลายเป็นปลาหมอ "ตายเพราะปาก"

ต้องเปิดใจรับคำวิพากษ์และวิจารณ์ให้ได้ องค์กรใดไม่มีความขัดแย้ง องค์กรนั้นไม่เจริญนะ (Conflict Mangement) ต้องรู้จักใช้พลังของแห่งความต่าง ต่างทางความคิด เปิดใจให้ใครต่อใครกล้าพูด กล้าทำ เพื่อที่น้อมนำความรู้ที่แตกต่างเหล่านั้นมาสร้างสรรค์พลังของชุมชน

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

๒๔ เมษายน ๒๕๕๓

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 353609เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2010 07:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:48 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ผู้ดูแลชุมชนต้องรู้จัก "เจ๊าะแจ๊" เกี้ยวพาราศี เหมือนกับการที่เราจะหาคนดี ๆ ให้เข้ามาอยู่ในบ้าน

เมื่อมี "ทุนชุมชน" อยู่ ต้องรู้จักใช้ทุนที่มีอยู่นั้นให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด

องค์กรใดไม่มีความขัดแย้ง องค์กรนั้นไม่เจริญนะ (Conflict Mangement) ต้องรู้จักใช้พลังของแห่งความต่าง ต่างทางความคิด เปิดใจให้ใครต่อใครกล้าพูด กล้าทำ เพื่อที่น้อมนำความรู้ที่แตกต่างเหล่านั้นมาสร้างสรรค์พลังของชุมชน

ขอบพระคุณในทุกความคิด  อ่านแล้วมันตรงใจค่ะ

ใน G2K มีผู้ที่ทรงความรู้ ทรงปัญญาเยอะ แต่ยังขาดคนที่จะเข้าไปดึง ไปขุด ไปปั่นความรู้ที่ฝังลึก (Tacit Knowledge) ของผู้รู้แต่ละคนให้พรั่งพรูออกมาอย่างสร้างสรรค์

คนเราถ้าอยู่เฉย ๆ ไม่มีอะไรไปกวน ไปปั่นก็ยากที่จะดึงความรู้ที่ทรงพลังนั้นออกมาได้

ถ้าเราสังเกตุให้ดีเวลาที่เรานั่งรถไปตรงไหน หรือว่ามีเหตุการณ์ใด ๆ เข้ามากระทบ ถ้าเกิดมันตรงกับประสบการณ์ในอดีตของเรา ความรู้และความรู้สึกเก่า ๆ ก็จะพุ่งพรวดขึ้นมา

คุณอำนวยในบล็อคแห่งนี้ (Multiversity on blog) ก็มีหน้าที่เช่นนั้น คือ มีจัดหน้าที่สิ่งแวดล้อม จัดองค์ประกอบส่งผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information systems) เพื่อไปฉุดกระชากความรู้ฝังลึกที่ถูกกลั่นแล้วเข้าไปนอนนิ่งอยู่ในจิตใจ

ความรู้ที่เรากันอยู่ส่วนใหญ่เป็นความรู้ที่ออกมาจากหัวสมอง คือ คิดเอา นึกเอา ส่วนใหญ่เป็น Explicit Knowledge แต่ถ้าจะให้ได้ Tacit Knowledge นั้นถ้าตนเองไม่ไปนั่งสมาธิเอง หรือมีจิตใจที่สงบจากการรักษาศีลอย่างสมบูรณ์พร้อมจริง ก็ต้องพึ่งพาผู้นำ ผู้ชักนำ จัดสิ่งเร้าเข้าไปกระตุ้น "ความทรงจำสีจาง ๆ" นั้นให้สดใสและแจ่มชัด จนสามารถสกัดออกมาเป็นบันทึกเพื่อสร้างคุณประโยชน์กับชุมชนแห่งนี้

ขอบพระคุณคุณ namsha ที่เป็นคุณอำนวยต้นแบบ ที่สามารถกระตุ้นให้ผมได้คิด ได้นึก ได้ฝึกสกัดความรู้สึกออกมาเป็นคำตอบจากบันทึกนี้

ผมเชื่อว่าคุณ namsha สามารถเป็นต้นแบบที่ดี เป็นบุคคลที่มีศักยภาพสามารถสรรค์สร้างวิชาการไทย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท