Gotoknow กับ สังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge-base Society)


อรรถรสของเรื่องราวต่าง ๆ แสดงออกมาทางรูปธรรมในส่วนของ "มิตรภาพ" ที่มิใช่เป็นเพียง "สังคมเสมือน (Visual Communities)"

การมองถึงอรรถประโยชน์ของชุมชน Gotoknow แห่งนี้ ถ้าหากมองในมิติของ "การจัดการความรู้ (Knowledge Management) แล้ว สิ่งที่ถือว่าโดดเด่นมากคือภาพของ "Story Telling"

การถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตของสมาชิก (Blogger) ในรุ่น วัย สาขาชีพใด ๆ ล้วนแล้วแต่เป็น "เสน่ห์" ที่ทำให้บุคคลทั้งหลายชื่นใจเมื่อได้สัมผัส

การถ่ายทอดเรื่องราวผ่านบล็อค หรือเว็ปไซด์ จะมีข้อดีอยู่อย่างหนึ่งก็คือ "เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม" สำหรับผู้ที่ต้องการจะเล่าเรื่อง

ความพร้อมถือว่าเป็น "จุดแข็ง" ของการนำเสนอ story telling ผ่านทางเว็บไซต์ เพราะบางครั้งสำหรับเรื่องบางเรื่องนั้นเป็นเรื่องที่ฝังลึกอยู่ในจิตในใจ ถ้าเกิดขึ้นมาเมื่อใดก็อยากจะถ่ายทอดออกไปในทันที...

เมื่อก่อนข้าพเจ้าเอง ในครั้งเมื่อที่ทำงานวิจัยและได้มีโอกาสลงพื้นที่ บางครั้งได้พบ ได้เห็นอะไรก็อยากจะถ่ายทอด อยากจะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ใครสักคนหนึ่งนั้นได้ฟัง

เดิมก็ได้แต่เพียงจดเป็นบันทึกเล็ก ๆ (Short Note) ใส่ไว้ในสมุดบ้าง หรือจดใส่ไดอารี่บ้าง แต่นั่นก็เป็นการ "กระชากความรู้" ได้ในระดับหนึ่ง เพราะเขียนไว้เพื่อกันลืมบ้าง เขียนไว้เพื่ออ่านเองบ้าง

แต่การเขียนเรื่องราวประทับใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันใน Gotoknow จะมีสิ่งที่คอยกระซิบอยู่ข้าง ๆ หูเราเสมอว่า "มีคนอื่นอ่านนะ" ดังนั้น ความตั้งใจในการเขียนของเรานั้นจะมีมากขึ้น ซึ่งความตั้งใจที่มากขึ้นนี้เอง ทำให้เกิด "กำลังจิต กำลังใจ"

ดังนั้น ถ้าหากจะมองในสายตานักจัดการความรู้แล้ว บันทึกใน Gotoknow ส่วนมากจะเป็นส่วนของ Story telling คือ การถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ที่สมาชิกได้ถ่ายทอดออกมาจากการดำเนินชีวิตในประจำวัน

สิ่งที่ถ่ายทอดออกมานั้นก็จะมีที่มาทั้งจากงานประจำ คือ อาชีพของสมาชิกซึ่งมีอยู่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ครู อาจารย์ หมอ พยาบาล นักการเกษตร นักวิทยาศาสตร์ หรือแม้กระทั่ง "ปราชญ์ท้องถิ่น" ซึ่งแต่ละเรื่องจากแต่ละสาขาอาชีพนั้น สามารถเปิดโลกทัศน์ให้กับมุมมองใหม่ของชีวิต

และข้อสำคัญที่สืบเนื่องให้การเล่าเรื่องมีรสชาติยิ่งขึ้น ก็คือ การเปิดให้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระทั้งในส่วนของผู้ที่เป็นสมาชิกหรือบุคคลภายนอก ซึ่งจะเปิดกว้างในระดับใดก็ขึ้นอยู่กับผู้เขียน (Blogger) จะ "พึงพอใจ"

ทำให้สังคม Gotoknow เป็นสังคมที่เปิดกว้างทางความรู้มาก นอกจากผู้เขียนจะมีโอกาสได้เล่าเรื่องราวอันเป็น "ความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge)" ของตนเองแล้ว ยังมีโอกาสที่จะได้รับความเมตตาจาก "คุณอำนวย (Facilitator)" จากทั่วประเทศมาตั้งคำถามชวนให้คิด สะกิดต่อม "เอ๊ะ!!!" อยู่เสมอ

อรรถรสของเรื่องราวต่าง ๆ แสดงออกมาทางรูปธรรมในส่วนของ "มิตรภาพ" ที่มิใช่เป็นเพียง "สังคมเสมือน (Visual Communities)"

ภาพการพบปะกันของบุคคลต่าง ๆ ที่มีจุดเริ่มต้นจากการสนทนากันผ่านทางหน้าจอคอมพิวเตอร์นั้น เป็นจุดสร้างความสัมพันธ์อันดีงามที่กำลังเลือนหายไปจากสังคมไทย

การที่สมาชิกแต่ละคนได้มีโอกาสเดินทางไปในจังหวัดใด แล้วได้มีโอกาสพบกับ "เพื่อน" ที่มีไมตรี รับรอง ดูแล ด้วยจิตใจที่ดีงามนั้น เป็น "พลังในการพัฒนา (Power of Development)"

 Gotoknow จึงเป็นสังคมที่เปิดมิตรภาพของบุคคลในทุกสาขาอาชีพ ซึ่งแต่เดิมถูกกำแพงในหน่วยงานขวางกั้นเรื่องราวที่จะเป็นจุดเชื่อมต่อของ "องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization : LO)

ในจุดนี้เองถือว่า Gotoknow ได้เป็นตัวอย่างในการสร้าง "สังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Socialization : LS)" อันเป็น Knowledge-base Society ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสังคมไทย

การปฏิรูปหรือพัฒนาใด ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศกว่า 5 ปีที่ผ่านมานั้นคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า "ชุมชนแห่งการเรียนรู้ (Learning Community : LC)" แห่งนี้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังเป็น "พลังเงียบแห่งการพัฒนา"

จากภาพในอดีตที่ในแต่ละหน่วยงานมีบุคลากรเฉพาะที่ขึ้นชื่ออยู่ในทะเบียนขององค์กรเท่านั้น ภาพในวันนี้แต่ละหน่วยงานมีบุคลากรเพิ่มขึ้นอย่างมากมายเพราะหน่วยงานต่าง ๆ นั้นก็มีสมาชิกจาก Gotoknow เพิ่มเข้าไปในหน่วยงาน

ถึงแม้ว่า URL ของ Gotoknow จะไม่มีตัวย่อของ World wide Web (WWW) แต่ข้าพเจ้าก็เห็นว่า Gotoknow สามารถสร้างเครือข่ายพื้นที่แห่งการเรียนรู้ (Learning Area Network : LAN) ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง...

หมายเลขบันทึก: 394867เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2010 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียน ท่านอาจารย์ ปภังกร G2K เป็น Social Network ที่ทำให้เราได้เรียนรู้ เรื่องราวดีดี มากมายและหลากหลาย นะครับ

เรียน ท่านอาจารย์หมอจิตเจริญ กำลังคิดอยู่ว่าจะหารูปภาพกิจกรรมดี ๆ ที่ไหนหนอมาเพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น ขอบพระคุณท่านอาจารย์หมอเป็นอย่างสูงที่ช่วยมาเติมเต็ม

ในทัศนะส่วนตัวของข้าพเจ้าเห็นว่า story telling ใน Gotoknow แห่งนี้มีคุณค่าอย่างมาก แต่ยังขาดการ "ให้คุณค่า" หรือนำไปใช้ประโยชน์มากเท่าที่ควร

หลาย ๆ ครั้งเราอาจจะให้คุณค่ากับ story telling ที่เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการมากกว่า คือ เรื่องเล่าต่าง ๆ ที่เกิดในห้องประชุม สัมมนาตามสถาบันการศึกษาหรือโรงแรม ซึ่งหลาย ๆ ครั้งเรื่องเล่าที่เกิดในห้องสี่เหลี่ยม ๆ นั้นถูกนำไปใช้อ้างอิงในงานวิจัย เอกสาร หรือตำราทางวิชาการกันค่อนข้างมาก

แต่ในประสบการณ์ส่วนตัวของข้าพเจ้า (ซึ่งอาจจะผิด) ในแต่ละครั้งที่ต้องเดินทางไปประชุมตามสถานที่ต่าง ๆ นั้น โอกาสที่จะได้พูดมีน้อยมาก ถึงแม้ว่าจะมีการแบ่งกลุ่มย่อยแล้ว แต่ละครั้งก็จะได้พูดประมาณ 5-10 นาที หรือบางครั้งเดินทางไปทั้งวันได้พูดแค่ 15 นาที และหลายครั้งนั้นมิใช่สิ่งที่ "ความรู้ฝังลึก (Tacit knowledge)" เพราะด้วยสถานที่และโอกาสไม่เอื้ออำนวย เพราะการขุดความรู้ขึ้นมาจากจิตนั้นต้องอาศัย "ความสงบ" เป็นพื้นฐาน จำเป็นที่จะต้องใช้องค์ประกอบแวดล้อมเพื่อทำให้ความรู้ฝังลึกนั้น "ผุด" หรือที่นักวิชาการหลาย ๆ ท่านใช้คำว่า "ปิ๊งแว๊บ" ให้เกิดขึ้นมา

ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้น่าจะมีการให้คุณค่ากับ story telling ใน Gotoknow นี้มากขึ้น เพราะเรื่องเล่าต่าง ๆ ในนี้ ส่วนใหญ่แล้วเกิดขึ้นจาก "สภาวะอารมณ์ที่เหมาะสม" ของตัวผู้เล่า ว่าเขาต้องการเล่าเรื่องใด ในเวลาใด และมีเหตุปัจจัยใดมีสนับสนุนที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ นั้นออกมา

บางครั้งสำหรับบางเรื่องต้องใช้เวลามากในการเล่า
บางครั้งสำหรับบางเรื่องต้องใช้องค์ประกอบคือ "เพื่อน ๆ" เป็น Facilitator ในการช่วยขุด ช่วยคุ้ย โดยข้าพเจ้าคิดว่าผู้เชี่ยวชาญระดับต้น ๆ หรือหัวกะทิด้าน KM ของเมืองไทยส่วนใหญ่ก็อยู่ใน Gotoknow แห่งนี้ทั้งสิ้น ดังนั้น เรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจากสังคมแห่งนี้จึงจะเป็นประโยชน์ทางด้านวิชาการของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากนักวิชาการบ้านเราหันมาให้คุณค่ากันอย่างจริงจัง

หรือถ้าหากจะมีการชักชวนผู้ที่เข้าไปร่วมประชุมตามสถานที่ต่าง ๆ นั้นเข้ามาต่อยอดในสิ่งที่อยากจะพูดแล้วยังไม่ได้พูด พูดแล้วยังไม่พูดไม่จบ หรือมีความรู้ใด ๆ ผุดขึ้นมาอีกหลังจากเวทีอย่างเป็นทางการนั้น ก็จะทำให้คุณภาพของรายงานทางวิชาการจากเวทีในครั้งนั้นสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

การทำ story telling ใน Web blog นี้ นอกจากจะเกิดประโยชน์กับผู้ที่ต้องการข้อมูลไปใช้ในด้านต่าง ๆ แล้ว ผลประโยชน์โดยตรงยังเกิดจากผู้เล่าเองด้วย เพราะจะช่วยทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพในการเล่าเรื่องให้ชัดเจน และเฉียบคมมากยิ่งขึ้น

นักมวยจะขึ้นเวทีจริงก็ย่อมต้องซ้อมเป็นประจำและสม่ำเสมอ ดังนั้นเมื่อมีเวที G2K แห่งนี้ ทุก ๆ คนก็สามารถเข้ามาฟิตซ้อมเพื่อเสริมสร้างศักยภาพของตนเองให้เกิดขึ้นได้อย่างไม่มีขีดจำกัดด้านเวลาและสถานที่

ภาพการเรียนรู้ที่งดงามจะหมุนวนกันเป็นเกลียวระหว่างผู้ให้และผู้รับ ยิ่งหมุนเกลียวมากเท่าใด อะไรต่ออะไรที่บิดเบี้ยวก็จะปรับเปลี่ยนจนเข้ากันได้ เกลียวความรู้ที่งดงามนี้จะช่วยเสริมสร้างวิชาการไทย ซึ่งจะต่อยอดสู่สังคมไทยให้มั่นคง

สังคมแห่งการเรียนรู้ (Knowledge-base Society) ถ้าหากจะมองภาพโดยทั่วไปที่ผ่านมานั้น ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้นั้นจะเป็น "ผู้รับ" แต่ฝ่ายเดียว

แต่ภาพลักษณ์ใหม่ของ Gotoknow ที่สร้างให้กับสังคมไทยเป็นการเรียนรู้ที่ Blogger สามารถเป็นทั้ง "ผู้ให้" และ "ผู้รับ"

ข้อดีจากระบบของ Gotoknow ที่ข้าพเจ้าได้เคยสัมผัสมาตั้งแต่ช่วงแรก ๆ "สมัครง่ายมาก" ซึ่งในส่วนตัวของข้าพเจ้าเองมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องคอมพิวเตอร์และ Internet ไม่มากนักก็ยังสามารถสมัครเป็นสมาชิกและใช้งานระบบเพื่อการทำงานและเรียนรู้ได้อย่างไม่ยากเย็น

ช่วงแรก ๆ ต้องใช้คำว่า "คลำ" ไปเรื่อย ๆ แต่ทว่า การคลำใน Gotoknow นี้ จะเป็นการคลำแบบมี "พี่เลี้ยง" คือ ถ้าคลำแล้วไม่พบ ก็สามารถสอบถาม "รุ่นพี่" ที่มีความรู้ หรือที่ภาษาใน G2K แห่งนี้มักเรียกว่า Tacit knowledge ว่าสิ่งที่เรากำลังคลำนั้นอยู่ตรงไหน

ระบบรุ่นพี่ รุ่นน้องและสัมพันธภาพแห่งการเรียนรู้จึงเกิดขึ้นเป็นพลวัตนับตั้งแต่เรื่องของการสร้างบล็อ เขียนบันทึก การสร้างแพลนเนท หรือแม้กระทั่งในการตอบหรือแสดงความคิดเห็นในบันทึกต่าง ๆ

และข้อดีอย่างยิ่งอีกอย่างหนึ่งที่ข้าพเจ้าพบก็คือ Gotoknow เปิดโอกาสให้ทุก ๆ คนทั้งที่เป็นสมาชิกและมิใช่สมาชิกได้มีโอกาส "แสดงความคิด" ซึ่งต่อมาได้วิวัฒนาการมาเป็น "การต่อยอด" และ "เติมเต็ม" ในความรู้ซึ่งกันและกัน

ที่นี่มีผู้ดูแลระบบที่ "กล้า" และ "ทุ่มเท" มาก เพราะการเปิดให้แสดงความคิดเห็นแบบ open นั้น บาง Blog ค่อนข้างกลัวคนก่อกวนหรือผู้ไม่หวังดีเข้ามาโจมตีหรือสร้างความวุ่นวายในรูปแบบต่าง ๆ

แต่ g2k มีการจัดการปัญหานี้รวดเร็วมาก ไม่เฉพาะปัญหาของ spam เท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของเรื่องที่จะอ่อนไหวอย่างสังคมอย่างเช่นกรณีที่เกิดรัฐประหาร ก็มีการสื่อสารเพื่อป้องกันอย่างฉับไว บอกหลักการในการเขียนบันทึกและแสดงความคิดเห็นที่จะไม่ขัดต่อกฏหมายและศีลธรรมของบ้านเมือง เป็นการคุ้มครองทั้งสมาชิก เว็บไซด์ และผู้ใช้บริการทุก ๆ คนให้มี "สวัสดิภาพ"

ภาพการเติบโตของทีมงานผู้ดูแลระบบ เป็นภาพของกลุ่มคนที่เจริญเติบโตด้วยการเรียนรู้จาก "การปฏิบัติอย่างแท้จริง" กลุ่มคนเล็ก ๆ ที่ให้บริการสมาชิกจากทั่วประเทศ เป็นกลุ่มคนที่เปิดโอกาสการเรียนรู้ให้กับคนทั่วประเทศไทย และโยงใยเครือข่ายนักวิชาการจากทุกมุมโลก

หากจะนิยาม Gotoknow แห่งนี้โดยใช้คำว่า "ครอบครัว" คงจะสะท้อนภาพที่ชัดเจนของการที่พวกเราอยู่ร่วมกันมานานกว่า 5 ปี

ความรัก ความเอื้ออาทรที่มีแต่กัน เป็นความผูกพันธ์ที่สรรค์สร้าง "การเรียนรู้"

นอกจากนี้สิ่งที่จะไม่พูดถึงเป็นไม่ได้ คือ การสร้างสรรค์งานทางวิชาการที่แตกแขนงออกไปทั้งใน Learners.in.th Researchers.in.th Healthy.in.th  Portal.in.th ซึ่งสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นจากดวงใจของกลุ่มคนที่ใช้ชื่อว่า UsableLabs.org

KnowledgeVolution.org เป็นการผสานคำว่า Knowledge และ Evolution ได้อย่างกลมกลืนจนสามารถสร้างพลังในการขับเคลื่อนสังคมไทย

ความมุ่งมั่นในการเรียนรู้ของกลุ่มคนทั้งหลาย ย่อมสร้างสรรค์เมืองไทยให้มั่นคง...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท