UsableLabs.org ความสำเร็จที่กลมกล่อม...


Gotoknow เป็น Learning by Doing ที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เห็นชัดที่สุดในวงการวิชาการ ที่สามารถพัฒนางานได้จาก "การเรียนรู้" อย่างแท้จริง

บันทึกนี้ขอต่อยอดเรื่อง "ความกลมกล่อมของ Storytelling" จากบันทึก เรื่องเล่า (Storytelling) แบบกลมกล่อมเขียนได้ง่ายๆ และไม่ยากอยากที่คิด โดยในบันทึกดังกล่าวข้าพเจ้าก็ได้แสดงความเห็นไว้ในเบื้องต้น ดังนี้...

อื่ม... "กลมกล่อม" เป็นคำที่ "สมบูรณ์" มาก สมบูรณ์ทั้งตัวคำและสมบูรณ์ทั้งการกระทำของสมาชิกใน Gotoknow

เพราะการจะปรุงอาหารอย่างใดสักอย่างหนึ่งอย่างเช่นเรื่องเล่า (Story telling) ให้กลมกล่อมได้นั้นจะต้องมีทั้งผู้ปรุง ผู้ชม และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ผู้ชิม" หรือรวมไปถึงการเปิดใจรับจากคำติชมจาก "ผู้วิพากษ์" และ "ผู้วิจารณ์"

Gotoknow เปิดโอกาสให้ผู้ปรุงพบกับผู้ชิม แล้วสามารถให้ผู้ชิมนั้นมีโอกาส "วิพาก วิจารณ์"

หรือบางคนก็ชมอยู่ห่าง ๆ หรือบางคนก็มาทิ้งร่องรอยไว้บ้างเป็น "กำลังใจ"

แต่ไม่ว่าใครจะเข้ามาในฐานะ "ผู้ใด" ๆ ทุก ๆ ล้วนแต่ช่วยสร้างเสริมให้เรื่องเล่าที่ถ่ายทอดออกมาจากหัวใจนั้น "กลมกล่อม"...

ซึ่งในโอกาสนี้เองจึงขอมาต่อยอดจากสิ่งที่เคยคิดไว้เพื่อให้หมุนวนขึ้นไปให้เป็น "เกลียวความรู้..."


กว่าจะมาถึงวันนี้ที่อาหารแต่ละจานที่ Blogger ชาว Gotoknow ได้ร่วมกันปรุงขึ้นมาให้ทุก ๆ คนในสังคมได้ชิมได้ชมกันอย่าง "กลมกล่อมนั้น" มีเหตุ มีปัจจัยที่เกื้อหนุน "ความสำเร็จที่กลมกล่อม" นี้หลายประการด้วยกันคือ
ประการแรก ห้องครัวและเครื่องครัวที่เพรียบพร้อม ในเรื่องของเครื่องใช้ไม้สอยต่าง ๆ ในการทำงานที่ตระเตรียมไว้อย่างนี้ดีแล้วนั้นก็ต้องขอยกความดีทั้งหลายให้กับทีมงาน UsableLabs.org
ทีมงาน UsableLabs.org เป็นทีมงานเล็ก ๆ ที่สร้างผลงานใหญ่ ๆ ด้วยรากฐานจาก "การจัดการความรู้ (Knowledge Managment)" ซึ่งเป็นการเรียนรู้เพื่อปฏิวัติสังคมไทยเพื่อสร้างอนาคตใหม่ทางวิชาการ
รากฐานสำคัญจากผู้ก่อตั้ง "สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)" http://www.kmi.or.th/ ได้สร้าง "รูปแบบการพัฒนาด้วยการเรียนรู้" หรืออาจจะเรียกได้ว่า Gotoknow เป็น Learning by Doing ที่ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เห็นชัดที่สุดในวงการวิชาการ ที่สามารถพัฒนางานได้จาก "การเรียนรู้" อย่างแท้จริง  
 
เพราะการพัฒนาในสังคมนี้ไม่มี "ผลประโยชน์" ในเรื่องของธุรกิจและการค้า ที่จะเป็นเครื่องกระตุ้นให้ทั้งผู้บริหารและพนักงาน กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อที่จะได้มาซึ่ง "ผลประโยชน์" นั้น
 
ด้วยเหตุนี้เอง "การเรียนรู้" จึงเป็นพระเอกในการที่จะพัฒนาสังคมโดยเริ่มต้นจาก "บุคคล" เป็นสำคัญ
 
"บุคคลที่มีจิตใจใฝ่การเรียนรู้ ในทุก ๆ ลมหายใจของเขาย่อมจะพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา..."
 
คนที่ทำงานด้วยเงิน จะมีเวลาทำงานเพียงแค่แปดโมงเช้า ถึงห้าโมงเย็น แต่คนที่ทำงานด้วยใจที่ใฝ่การเรียนรู้นั้น ไปที่ไหน ๆ ก็มีความสุขใจในการขวนขวายหาความรู้ในการ "พัฒนา"
 
ดังนั้นเองวงจรของการจัดการความรู้ (KM) ก็จะหมุนวนเป็นเกลียวอยู่ตลอด นับตั้งแต่การมองโลกนี้อย่างมีเป้าหมาย มีการ Focus ทุกสิ่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจได้สัมผัส เสร็จแล้วก็นำมาบันทึกเข้าไว้ใน Memory ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นคือ "ใจ" ดวงนี้ จากนั้นจึงพินิจ พิเคราะห์ แล้วสกัดเข้ารวมไว้ใน "จิตใจ" เก็บไว้เพื่อเป็นคลังของ "ปัญญา"
 
การผสมผสานระหว่างคลื่นลูกใหม่และลูกเก่า รวมถึงความรู้ทั้งจากเมืองไทยและเมืองนอกนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญ...
 
ในอดีตในวงการวิชาการไทยเรามีปัญหามากเรื่องของการที่การที่นักวิชาการไปรับนำทฤษฎีหรือหลักการของต่างประเทศแล้วนำเข้ามาใช้โดยมิได้คำนึงถึงความ "เหมาะสม" สำหรับ "บริษัท" ของสังคมไทย
 
ด้วยเหตุนี้ "วงการวิชาการไทย" จึงเปรียบเสมือน "ยาขม" ของนักพัฒนา ทั้ง ๆ ที่ใคร ๆ ต่างก็ปลอมปะโลมใจกันบ้างว่า "หวานเป็นลม ขมเป็นยา"
 
ซึ่งแตกต่างจากที่นี่เพราะแกงหม้อนี้ "กลมกล่ม" ของขมก็ชมชอบได้ ของหวาน ๆ ก็ไม่เลี่ยนเกินไป... การนำทฤษฎีจากต่างประเทศแล้วนำมาประยุกต์ใช้โดยให้บุคลากรมี KM เป็นพื้นฐานของจิตใจถือว่าเป็น "บูรณาการทางความรู้" ที่สมบูรณ์
 
เพราะหลักการของ KM นั้นไม่ปิดกั้นความรู้นอก ไม่ปฏิเสธความรู้ใน ความรู้ใดเหมาะสมกับเรื่องและกาลใด สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่าง "กลมกลืน"
 
การผสานทฤษฎีกับการปฏิบัตินั้นต้องอาศัยบุคคลที่มีใจที่เปิดกว้างทางความคิด KM สร้างคนให้มีหัวใจที่เปิดกว้าง ไม่เชื่อในสิ่งที่ใครเขาบอกว่าดี ไม่ปฏิเสธในสิ่งที่ใครเขาบอกว่าไม่ดี ใครบอกอะไรก็ฟังไว้ จากนั้นจึงนำมา "วิจัยและพัฒนา (Research & Developement)"
 
พัฒนาการของ "ห้องครัว" ที่มี UsableLabs.org เป็นผู้ออกแบบและพัฒนานี้ จึงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวหน้ามาเป็นลำดับ
มีการจัดหาหม้อใบใหญ่ กะทะใบใหม่มาให้สมาชิกได้ใช้กันอยู่บ่อย ๆ
 
บางครั้งอุปกรณ์มาใหม่ ๆ ใช้ตอนแรกมันก็ไม่ค่อยถนัดมือ แต่นั่นก็ธรรมดาสำหรับของใหม่ ด้ามจับมันใหญ่ไปก็จับไม่ถนัด แต่ถ้าเราพิจารณาให้ดีอาจจะเป็นเพราะมือเราเล็ก จึงใช้ไม่ถนัดบ้าง แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ดีนะ เพราะเรา (Blogger) จะได้พัฒนามือไม้ของเราให้ใหญ่ตาม ไม่งั้นเราก็จะกลายเป็นคนงอมืองอเท้าไม่รู้จักการ "พัฒนา..."
 
ในปัจจุบันนี้ถือได้ว่าห้องครัวที่ชื่อ Gotoknow นี้เพรียบพร้อม ขนาดห้องพร้อมทั้งอุปกรณ์มีให้บริการอย่างพอเหมาะ พอดี เป็นอุปกรณ์ที่เน้น "อรรถประโยชน์" เป็นหลัก ไม่หรูหรา ฟุ่มเฟือย ถือว่าเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
การมีห้องครัวที่พร้อม สะอาด และดี ย่อมเป็นปัจจัยสำคัญที่อาหารได้ออกมานั้นมี "คุณภาพ"
การเรียนรู้จากผู้ปฏิบัติที่ทำตัวอย่างไว้ดี ย่อมเป็นโอกาสที่ดีสำหรับการ "พัฒนา..."
หมายเลขบันทึก: 395994เขียนเมื่อ 20 กันยายน 2010 11:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

"กลมกล่อม" ขอบคุณค่ะ..จากหลากหลายความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์...มากด้วยความแบ่งปันทุกข์สุข..ทุกรสรูปแบบของความเห็นที่เอื้อเฟื้ออย่างกัลยาณมิตร..ที่นี่คือ G2K...

 

สวัสดีค่ะท่านIco64

  คุณยายมาเป็นกำลังใจให้ค่ะ

ความกลมกล่อมที่เกิดขึ้นในวันนี้ทั้งในฝ่ายของผู้ใช้ (Blogger) และทีมงานที่จัดสร้างและดูเว็บไซต์แห่งนี้นั้นเป็นพลังที่เกิดขึ้นจาก "การจัดการความรู้ตามธรรมชาติ"

เมื่อผู้ก่อตั้งคิดและสร้าง Blog มาให้เรา (User) เล่น เราก็เล่น เล่นไปลองไป ลองผิด ลองถูก ถูกก็จำไว้ ผิดก็จำไว้ จดใส่จิตใส่ใจอันไหนดีก็ทำ อันไหนไม่ดีก็เลิกทำ

ในตัวมนุษย์ทุก ๆ คนนั้นมี "พลังแห่งการพัฒนา" อยู่ด้วยกันทุกคน

สังคมแห่งนี้เป็นผู้สร้างบ้านเพื่อให้โอกาสในการที่จะพัฒนาตนเอง

Blog เป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์จากการเขียนไดอารี่ในสมุดหรือกระดาษเล่มเล็ก ๆ ที่หลาย ๆ คนเคยเขียนตอนเป็นเด็ก จากสมุดเล่มเล็ก ๆ วันนี้ได้พัฒนาเป็นห้องสมุดที่กว้างใหญ่

ไดอารี่ชีวิตของคนแต่ละคน ได้ถูกเรียงร้อย ถ่ายทอด นำเสนอ เพื่อเป็นสื่อกลางที่จะได้พบเจอ "เพื่อน" ทางหน้าจอ

เพื่อนคนหนึ่งเขียนเพื่อ "ให้" เพื่อนอีกคนได้อ่าน เมื่อเพื่อนอีกคนได้อ่านก็แสดงความคิดเห็นตอบรับเพื่อ "ให้" กำลังใจซึ่งกันและกัน

อุปกรณ์อิเลคทรอนิคส์ที่มีหน้าจอ แป้นพิมพ์ และหน่วยประมวลผลนี้สามารถสร้าง "มิตรภาพ" ที่โยงใยเครือข่ายของคนไทยได้อย่างไม่มีกำแพงของหน่วยงานใด ๆ มาขวางกั้น

ตัวหนังสือดำ ๆ ที่สามารถมองเห็นได้จากหน้าจอสีขาว ๆ เป็นสื่อกลางที่ถ่ายทอดเรื่องราวจากคนหนึ่งไปสู่คนมากมายในสังคม

ความสุข ความทุกข์ ความเหงา ความเศร้า เรื่องราวต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตทั้งนอดีต ปัจจุบัน รวมถึงที่คาดหวังว่าจะทำในอนาคตได้ถูกปลดเปลื้องจากหัวใจบันทึกไว้ ณ ที่แห่งนี้

เรื่องราวของคนทำงานที่มักถูกมองว่าเป็น "วิชาการ" ได้ถูกนำมา "จัดการ" เพื่อให้ได้เรื่องราวที่ "กลมกล่อม"

หลาย ๆ คนมาใหม่ ๆ ก็หุงข้าวไหม้บ้าง แฉะบ้าง อ่านเอกสารทางวิชาการแล้วแข็งกระโด๊ก กระเด๊ก

วันนี้เรื่องราวทางวิชาการแบบง่าย ๆ มีหลายแบบหลากสไตล์ หรือจะเป็นการทำวิจัยที่ใคร ๆ เบือนหน้าหนี วันนี้ก็มี R2R (Research to Routine) เอาไว้พึ่งพาในการดำเนินชีวิตอย่างมี "ระเบียบวิธี" (Methodology)

การฝึกซ้อม ฝึกฝนเป็นสิ่งที่สำคัญ การที่เราสามารถทำงานวิชาการได้อย่างกลมกล่มอย่างทุกวันนี้นั้นก็เพราะมี "เวที"

เวทีนี้จึงเป็นเวทีที่ยิ่งใหญ่ ห้องครัวใหญ่ ๆ ที่มีอุปกรณ์ครบครัน

เวทีที่มีเพื่อนคอยย้ำเตือน ให้ความรู้ ให้กำลังใจ

เวทีนี้จึงเป็นเวทีของคนใด ๆ ที่มีหัวใจที่ขับเคลื่อนไปด้วย "การจัดการความรู้..."

 

ในฐานะสมาชิกใหม่ ขอชื่นชมและแสดงคิดเห็นต่อสิ่งดี ๆ มีสาระ มีพลังที่จะหยิบยื่นสิ่งดี ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นำสิ่งที่เป็นประโยชน์ไปเผยแพร่ต่อ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่สามารถเขียนสื่อสารที่ให้อารมณ์และความรู้สึกเช่นคุณต่อไป ขอขอบคุณจริง ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท