วาทกรรมพัฒนบูรณาการศาสตร์


กลัวว่าจะต้องลงไปทำบาปกับชุมชนอีกครับ ท่านอาจารย์หมอกรุณาส่งเสียให้เรียน แต่ผมดันถูกสร้างเพื่อไปทำบาปกับชุมชน ไม่อยากทำแบบนั้นอีกแล้วครับ

"นายรักษ์สุข" ชื่อนี้หายไปจากความทรงจำของผมเสียหลายเดือน นับตั้งแต่มีการปรับปรุงระบบของ Gotoknow

ผมนายปภังกร หรือ นายรักษ์สุข นามแฝงซึ้งใช้ในอดีต ซึ่ง นายบอน เคยเรียกบ่อย ๆ ก็เริ่มเลือนหายไป เพราะนายรักษ์สุขไม่ได้ไปตั้งค่าให้โชว์นามแฝงนี้ จนทำให้ นายรักษ์สุข หายไปจากความทรงจำของตนเองเสียนาน 

จนมาถึงวันนี้จากการเรียนในชั้นเรียน พัฒนบูรณาการศาสตร์ มีประเด็นที่น่าสนใจประเด็นหนึ่งที่ท่านอาจารย์ได้ถามนายรักษ์สุขว่า ทำไมเวลาคนเข้าไปทำการศึกษาวิจัยในชุมชนถึงได้เขียนแสดงถึงแต่สิ่งที่ดี ๆ ในชุมชน นำเสนอมิติที่สวยงาม มิติที่ดี ๆ ให้บุคคลภายนอกได้รู้จัก แต่ในส่วนของประเด็นที่ไม่ดี ไม่สวยงาม ทำไมนักวิจัยถึงไม่กล้านำสิ่งที่พบนั้นนำมาเสนอ จะได้นำสิ่งที่ไม่ดีต่าง ๆ เหล่านั้นมาแก้ไขกัน

ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่น่าคิดมาก ๆ เลย คืนนี้นายรักษ์สุข จึงได้หยิบยกประเด็นการนำเสนอในอีกมิติหนึ่ง ที่ต้องการหยิบยกมานำเสนอในลักษณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ติเพื่อก่อ เพราะนายรักษ์สุขเคยสอนนักศึกษาไว้เสมอว่า ความขัดแย้ง จะนำมาซึ่งความก้าวหน้าและสิ่งที่ดีขึ้น ถ้าเรารู้จักบริหารความขัดแย้งนั้นให้เกิดประโยชน์ องค์กรใดที่ไม่มีความขัดแย้งใด ๆ เลย ก็จะอยู่แบบราบเรียบ อยู่ไปได้เรื่อย ๆ ดี แต่ไม่ดีที่สุด โดยหวังว่าบุคคลหรือองค์กรที่นายรักษ์สุขอาจจะต้องพาดพิงในบันทึกนี้ จะเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงที่นายรักษ์สุขได้นำเสนอออกมาครับ 

นับตั้งแต่วันแรกที่นายรักษ์สุข ได้รู้จักกับพัฒนบูรณาการศาสตร์ จากท่าน ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช วันนั้นนายรักษ์สุขก็ดีใจอย่างสุด ๆ เลยว่า เจอแล้วสิ่งที่แล้วใฝ่ฝันไว้ ประกอบกับการที่นายรักษ์สุข ได้ไปพบกับ ศ.ดร.อภิชัย พันธเสน ท่านกล่าวกับผมว่า “ปัจจุบันเราผลิตและสร้างคนที่มีความรู้สูงๆมีมากมาย แต่คนเหล่านั้นไม่รู้ปัญหาที่แท้จริง เมื่อเอาบุคคลเหล่านั้นมาแก้ปัญหา กลับเป็นผู้สร้างปัญหาเสียเองยิ่งเป็นการตอกย้ำกับความฝันที่หวังไว้ เป็นประโยคสั้น ๆ แต่มีความหมายมากๆ ครับ ดังเช่นที่นายบอนเคยหยิบยกมาเชยชมกับพัฒนบูรณาการศาสตร์ว่าเป็นหลักสูตรในฝันและในบันทึก ตามรอยความคิด ก่อนจะเป็นบันทึก #3 การเชื่อมโยงพัฒนาบูรณาการศาสตร์กับมุมมองของคุณขจิต คุณปภังกร คุณนิว ครูน้อย-สิริพร และ ผอ.บวร

 

แต่มาวันนี้ นายรักษ์สุข ต้องเริ่มพบเจอกับความทุกข์ครับ ทุกข์และหมดแรงกับการที่ไม่ได้เจอกับสิ่งที่ตนเองนั้นฝันและตั้งเป้าหมายไว้ วันนี้นายรักษ์สุขได้เรียนรู้เรื่องของ วาทกรรม ซึ่งจะต้องมีทั้งทฤษฎี อุดมการณ์และบวกด้วยภาคปฏิบัติจริง เพื่อที่จะอธิบายถึงทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น นายรักษ์สุข ก็เริ่มเข้าใจว่า วาทกรรมพัฒนบูรณาการศาสตร์ ซึ่งผ่านการปฏิบัติจริงมาแล้วช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้นจะเป็นดั่งเช่น วาทกรรมการพัฒนา ในยุคต่าง ๆ ที่ผ่านมา ไม่มีผิด ที่ได้ติดตรึงข้อเท็จจริงที่สร้างขึ้นเหล่านั้นให้ดำรงอยู่และเป็นที่ยอมรับในสังคม กลายเป็นจารีต ความคิด ความเชื่อ และประเพณีที่นักวิชาการและนักพัฒนาพึงปฏิบัติ ซึ่งถูกการยอมรับผ่านสถาบันทางสังคมและสถาบันการศึกษา ถูกควบคุม จัดสรร และแจกจ่ายแนวคิดเพื่อทำให้เราเห็นหรือมองไม่เห็นบางสิ่งบางอย่างในสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้เป็นการปิดกั้น ห้าม ทำ พูดในสิ่งนั้นสิ่งนี้ 

สิ่งต่าง ๆ ที่เขียนไว้ตั้งแต่เป้าหมายในการจัดการตั้งสูตรก็ดี ความตั้งใจหลักของผู้ริเริ่มก่อตั้งหลักสูตรก็ดี สิ่งเหล่านั้นแทบจะไม่มีเกิดขึ้นเลยในระบบภาคปฏิบัติจริง (อันนี้ห้ามพูดด้วยหรือเปล่าครับ) 

ขอกล่าวย้อนไปถึงการที่นายรักษ์สุขสามารถทำงานต่าง ๆ ดังเช่นในอดีต และนำมาเขียนบันทึกต่าง ๆ ได้นั้น ก็เพราะเท้าและมือของนายรักษ์สุขเอง ได้เดินและไปสัมผัสกับสิ่งต่าง ๆ มากมายทั้งกับสิ่งที่สำเร็จและล้มเหลวและเป็นสิ่งที่ต้องแลกการเรียนรู้มาด้วยชีวิต

เมื่อก่อนนายรักษ์สุขเคยมีรถคันหรูขับ เคยมีเงินเดือนเดือนละหลาย ๆ หมื่น มีชีวิตที่หรูหรา มีหน้ามีตาในสังคม แต่วันนี้สิ่งเหล่านั้นได้มลายหายไป

แต่ตรงกันข้าม เหตุการณ์ที่ทำให้นายรักษ์สุขได้ประสบนี้คล้าย ๆ กับเป็นสิ่งที่สวรรค์รังสรรค์สร้างขึ้นมาให้นายรักษ์สุขเข้าใจคำว่า อุดมการณ์ของเศรษฐกิจพอเพียง นั้นเป็นอย่างไร

วันนี้นายรักษ์สุข ต้องเดินไปเรียนหนังสือ กับเงินติดกระเป๋าไม่กี่ร้อยบาท กับคำที่ติดหัวสมองตลอดเลยว่า เราต้องประหยัด ประหยัด แล้วก็ประหยัด เพราะไม่กี่ร้อยบาทจะต้องใช้ให้ตลอดเดือนนะ (ถ้าสั่งข้าวผัดกระเพา แล้วแม่ค้าถามว่าจะเอาไข่ดาวด้วยไหม ยังต้องขอคิดดูก่อนเลยครับ)

ทำให้นายรักษ์สุขต้องมองหันกลับไปในวันวานว่าเมื่อก่อน เราเคยแค่เรียนรู้ว่า เศรษฐกิจพอเพียง นั่นเป็นอย่างไร แต่ก็ไม่ได้ทำ เหมือนกับอีกหลาย ๆ ท่าน เคยเรียนรู้ เคยสอน เคยนำไปเผยแพร่ แต่ไม่เคยใช้กับชีวิตตนเอง

เหตุการณ์วันนั้นจนถึงวันนี้ทำให้นายรักษ์สุขรู้ซึ้งถึงคำว่า เศรษฐกิจพอเพียงนับตั้งแต่การลาออกจากงานเพื่อไปศึกษาต่อต่างประเทศต่อก็ต้องผิดหวังเพราะอคติของคนไทยต่อคนไทยด้วยกันในเรื่องของการทำ VISA นายรักษ์สุขเองต้องเผชิญกับความท้อแท้และสิ้นหวัง .

แต่นั่นแหละครับเหมือนสวรรค์รังสรรค์ให้นายรักษ์สุข ได้ออกมาสัมผัสกับมุมมองอีกหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะถ้านายรักษ์สุขยังมีรายได้อยู่เหมือนเดิม นายรักษ์สุขก็จะใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ (แถมยังมีหน้าไปสอนให้เขาประหยัดกันอีกครับ) ชาตินี้อาจจะคิดไม่ได้เลยก็ได้ครับถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นอย่างไร

รวมถึงการร่วมงานกับหน่วยงานราชการ  การทำงานกับ NGO การทำงานกับองค์กรภาคประชาชน การค้าขายของครอบครัว การทำงานในวงวิชาการ การศึกษา รวมถึงการทำงานร่วมหัวจมท้ายกับชุมชน ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า เบญจภาคี ในการพัฒนา นายรักษ์สุขได้มีโอกาสเอาชีวิตเข้าไปร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมงานกันมาในทุกภาคส่วน เพราะเนื่องจาก หลังชนฝา มีอะไรทำก็ต้องทำหมดครับ

ถ้าไม่ลาออกจากมหาวิทยาลัยฯ ในวันนั้น นายรักษ์สุขเองก็อาจจะไม่มีได้สัมผัสกับชีวิตในหลากหลายมิติขนาดนี้

ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เองทำให้นายรักษ์สุขเห็นว่า อุดมการณ์ มีค่าเหนือกว่าอื่น ๆ ใด

นายรักษ์สุขเคยปฏิเสธงานจากผู้ใหญ่ (ใหญ่มาก ๆ) ท่านหนึ่งในจังหวัด ซึ่งพร้อมจะให้เงินนายรักษ์สุขมากมายเพื่อแลกกับงานที่ขัดและทำลายอุดมการณ์ของตนเอง  ในวันนั้นนายรักษ์สุขปฏิเสธอย่างภาคภูมิใจในสิ่งที่จะมาทำร้ายอุดมการณ์ของตนเอง ตอนนั้นสถานภาพของนายรักษ์สุขเอง มิได้มีเงินมีทองมากมายนักหรอกนะครับที่ปฏิเสธท่านไป (ข้าวแทบไม่มีจะกินครับ) เพราะตอนนั้นนายรักษ์สุขได้ลาออกจากมหาวิทยาลัยฯ แล้ว

แต่ในทางตรงกันข้าม นายรักษ์สุขกลับไปรับงานที่นายรักษ์สุข รัก ตรงกับอุดมการณ์ที่ฝันมาโดยตลอด สหกรณ์อุตรดิตถ์ไดอารี่ เป็นการทำงานที่ได้เงินน้อยที่สุดแต่ทางกลับกันเป็นงานที่มีความสุขที่สุด เป็นการทำงานที่ได้ ความรู้ ปัญญา และกัลยาณมิตร มากที่สุดเลยครับรวมทั้งเปิดโอกาสให้นายรักษ์สุขมีวันนี้ 

ในชีวิตการทำงานของนายรักษ์สุขเอง มีจุดแปรเปลี่ยนที่ทำให้แนวความคิด (Paradigms) เปลี่ยนแปลงอยู่หลัก ๆ 3 ประการด้วยกันก็คือ

ครั้งแรกที่ทำงานวิจัยเรื่องของกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ได้ที่ปรึกษาชั้นยอด ที่พร่ำสอนสรรพวิชาในเรื่องของการทำงานแบบมีส่วนร่วมให้นายรักษ์สุข

ครั้งที่สองเป็นการทำงานวิจัยแบบมีส่วนร่วมเรื่องเศรษฐกิจชุมชนกับนักศึกษา

ครั้งที่สามก็คือการทำงานกับสำนักงานสหกรณ์อุตรดิตถ์

ในชีวิตนายรักษ์สุข เคยทำงานวิจัยตั้งแต่โครงการเล็ก ๆ หลักหมื่นจนกระทั่งถึงหลักล้าน หลงระเริงอยู่กับคำว่า นักวิจัยและนักพัฒนา  แต่กลับไม่น่าเชื่อครับว่า การทำวิจัยหลายสิบเรื่องจนถึงหลักร้อยเรื่องนั้น ทำให้เห็นสัจธรรมของการทำงานเป็นนักวิจัยและพัฒนา จนกระทั่งทำให้นายรักษ์สุขไม่อยากจะเป็นนักวิจัยและนักพัฒนาอีกเลย 

แต่สิ่งที่ได้พานพบกับภาพที่ไม่ดีในการทำงานวิจัยและงานพัฒนาในอดีตนั้น ประกอบกับการสิ่งท่านอาจารย์มารุตเคยพร่ำสอนอย่างปากเปียกปากแฉะตอนทำงานกองทุนหมู่บ้านฯ ที่นายรักษ์สุขไม่เคยได้เข้าใจเลย ทำให้ทำงานแบบผิด ๆ มาตลอด กลับมีสิ่งที่มาทำให้นายรักษ์สุขได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ตอนที่ทำงานวิจัยเรื่องเศรษฐกิจชุมชนกับนักศึกษา ท่าสักไดอารี่(1) : อารัมภบท

ซึ่งเป็นโครงการวิจัยซึ่งเริ่มต้นไม่มีทุนวิจัยเลยแม้แต่บาทเดียว มีแต่ใจที่อยากจะทำกัน ใจของนายรักษ์สุขตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่า อยากให้เด็กได้เรียนและรู้ความจริงถึงสิ่งที่เขามองเห็นว่าสวยงามบ้าง เละเทะบ้าง รวมถึงสิ่งที่เขามองข้ามนั่นก็คือชุมชนของเขาเอง และที่สำคัญเป็นสิ่งที่เด็กเองก็อยากที่จะเรียนรู้เช่นเดียวกัน เพราะไม่อยากให้เขาเป็นดั่งเช่นเราในอดีต

ถึงแม้ว่าระบบภายในมหาวิทยาลัยฯ ตอนนั้นไม่เอื้ออำนวยเลยที่จะให้เด็กลงไปทำงานกับชุมชนถึงแม้ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่นก็ตาม

แต่สองโครงการนั้นทั้งในพื้นที่ของอุตรดิตถ์และจังหวัดน่าน กับทีมงานร้อยกว่าชีวิต เงินทุนวิจัยทั้งโครงการ สามพันบาท ซึ่งได้รับการบริจาคเป็นเงินอุดหนุนจากนักศึกษา กศ.บป. วิทยาเขตน่าน ก็ทำให้นายรักษ์สุขและนักศึกษาได้ความรู้และปัญญาอย่างเอนกอนันต์  ส่งผลให้นายรักษ์สุขเองได้เข้าใจว่า แก่น ของการทำงานแบบมีส่วนร่วม มันเป็นแบบนี้นี่เอง

การทำงานแบบไม่มีเงินเป็นตัวตั้งทำให้นายรักษ์สุขคิดอะไรได้หลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานกับสำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ ทำงานกันโดยที่ไม่ต้องจัดทำโครงการ อยากทำวันนี้ วันนี้ทำเลย อยากทำพรุ่งนี้ พรุ่งนี้ทำเลย ไม่ต้องมีงบประมาณ ไม่ต้องจ่ายค่าวิทยากร จ่ายก็ได้ไม่จ่ายก็ได้ ไม่ต้องมีเบรค ไม่ต้องมีอาหาร คุยกันในสหกรณ์เนี่ยแหละ ใช้ทุนต่าง ๆ ที่มีอยู่ภายในสหกรณ์ ห้องประชุม โต๊ะ เก้าอี้ ไม่ต้องไปเช่าให้เสียเงิน ใครอยากมาก็มา ไม่อยากมาก็ไม่เป็นไร ออกไปพื้นที่ไหนก็ไปด้วยกัน ไม่ต้องห่วงค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าตอบแทน ไม่มีไม่เป็นไร "ไปทำงานร่วมกัน"  จนถึงวันนี้ กัลยาณมิตร เมื่อนายรักษ์สุขกลับไปอุตรดิตถ์มีค่ายิ่งใหญ่เสียกว่าสิ่งอื่นใด 

สิ่งที่นายรักษ์สุขพูดมาทั้งหมดนั้น เป็นสิ่งที่สร้างนายรักษ์สุขได้มาจนถึงวันนี้ กลับเริ่มถูกทำลายลงเพียงแค่ 3 สัปดาห์ของการมาเข้ามาอยู่ในวงเวียนของ วาทกรรมพัฒนบูรณาการศาสตร์เพราะนายรักษ์สุขไม่สามารถคิดและทำแบบเดิมได้อีกแล้ว

ปัจจุบันนายรักษ์สุขเข้ามาอยู่ในระบบการศึกษา ถูกควบคุมดูแลทางด้านความคิดจากหลักสูตรดังนั้นจะคิดโน่นคิดนี่จะเป็น กบฎทางวิชาการ ไม่ได้แล้วครับ

การเรียนที่ผ่านไปแค่ 3 ครั้ง ไม่น่าเชื่อว่าประสบการณ์ที่นายรักษ์สุขฝังรากลึกไว้หลายปี จนกลายมาเป็นแนวคิดและวิถีชีวิตนั้นกลับกลายถูกกลืนกินและทำลายไปอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

 จนวันนี้นายรักษ์สุข ต้องนอนสะดุ้งอีกครั้งจนอดใจไม่อยู่ต้องรีบมาเขียนบันทึกนี้ไว้ เพราะนายรักษ์สุข อาจจะไม่มีความรู้สึกแบบเดิมที่มีความสุขกับการทำงานเพื่ออุดมการณ์ของตนเองอีกแล้ว 

นายรักษ์สุขเริ่มสังเกตได้ว่า ช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาตัวเราเองเขียนบันทึกอะไรไปก็ไม่รู้ ไม่มีแก่นสาร หลักการ หรือแนวคิดหลักดังเช่นในอดีต วันนี้เขียนอย่างพรุ่งนี้เขียนอีกอย่าง แล้วแต่ว่า วันนี้นายรักษ์สุขจะได้เจอสิ่งที่หลักสูตรจัดเตรียมไว้หล่อหลอมนายรักษ์สุขอย่างไร  

ความตั้งใจของนายรักษ์สุขก่อนมาอุบลฯ หายไปไหนหมดแล้ว หมดไปตั้งแต่ได้เริ่มคุยหัวข้อและรูปแบบการวิจัยกับท่านประธานหลักสูตร รวมทั้งการประชุมหลักสูตรฯ ในวันพฤหัสที่ผ่านมา เป็นเครื่องชี้ให้นายรักษ์สุขต้องพูดกับตัวเองว่า

เราต้องกลับมาทำงานวิจัยแบบเดิมอีกแล้วเหรอ

แบบที่เน้นเราเรียนจบแต่ชุมชนไม่ได้อะไรเลย แต่นั่นก็นะ หลักสูตรฯถูกต้องเสมอ จะมาเรียนกับเขา ก็ต้องเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม หนึ่งปีกับการทำงานแบบมีส่วนร่วมจนได้วิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยแนวคิดและอุดมการณ์ กับ 3 ปีที่จะต้องกลับไปทำงานแบบเดิม ๆ นายรักษ์สุข ต้องถูกตบกลับเข้าแนวความคิด (Paradigm)เดิมๆ อีกแล้วเหรอ แล้วนายรักษ์สุขจะกลับมาเป็นแบบเมื่อวานนี้และวันนี้ได้อีกไหมเนี่ย  

จากนี้ไป "นายบอน" และทุก ๆ คน ก็อาจจะไม่เห็นนายรักษ์สุขเขียนอะไรที่โดนใจอีกแล้วไปอีกสัก 3 ปี หรือไม่ก็อาจจะเป็นตลอดชีวิตของนายรักษ์สุขเลยก็ได้นะครับ

เพราะต่อไปนี้ทุก ๆ คน จะได้เห็นแต่บันทึกของนายรักษ์สุขที่ต้องออกมาเป็นวิชาการ ว่าวันนี้นายรักษ์สุขต้องเรียนรู้จะต้องเขียนออกมาในแนวทางที่ว่า นายรักษ์สุขนี้ เก่งอย่างไร การที่จะแสดงถึงว่าเก่งอย่างไรนั้นก็จะต้องทำอย่างที่อาจารย์ได้ฝึกฝนนายรักษ์สุขมาแล้ว 3 ครั้งของการเรียนในชั้นเรียนก็คือ คุณต้องพูดออกมาให้เป็นภาษาทางวิชาการ ให้ดูน่าเชื่อถือ จะพูดเป็นนิยายฟังง่าย ๆ แบบเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว ต้องพูดต้องเขียนแบบแปลไทยเป็นไทยถึงจะ ถูกต้อง

เพราะฉะนั้น รางวัลขวัญใจเด็กตลาดสด คงจะเป็นรางวัลสุดท้ายที่นายรักษ์สุขจะได้รับครับ 

ไม่ใช่นายรักษ์สุขอยากเขียนแบบนั้นนะครับ แต่นายรักษ์สุขจะเขียนไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว เขียนตามสิ่งที่ถูกหล่อหลอมแบบใหม่ เขียนตามที่ถูกสอนและถูกสั่งให้เขียน

การสอนและสั่งที่มาในรูปของการฝึกหัดตามหลักสูตรฯ หัดให้เป็นนักวิชาการ หัดให้เป็นนักพัฒนา หัดให้เป็นนักสังคมศาสตร์ หัดให้เป็นคนช่างพูดมากกว่าช่างฟัง หัดให้เป็นผู้รู้มากกว่าผู้เรียนรู้ หัดให้เป็นเทวดามากกว่าเป็นคนเดินดินกินข้าวแกง

ซึ่งถ้านายบอนสังเกตและโดยเฉพาะพี่วีรยุทธจะเริ่มเห็นว่าบันทึกของนายรักษ์สุขเริ่มแปลก ๆ และเปลี่ยนไป ซึ่งนายรักษ์สุขเองก็แทบไม่ได้สังเกตเลยเหมือนกันว่าแนวคิดเราเปลี่ยนไปเร็วขนาดนี้เลยเหรอ

เราเริ่มจะมองชุมชนแบบเดิม ๆ อีกแล้วนะ เราเริ่มจะเห็นแก่ตัว เราอยากเรียนจบ อยากได้โน่นอยากได้นี่ อยากทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ ไม่นึกถึงชุมชนอีกแล้วนะ 

นับประสาอะไรกับ 3 ปี ครับ นี่แค่ 3 สัปดาห์ เรายังหลงเข้าไปใน วาทกรรมการพัฒนา ของสังคมศาสตร์อย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ไม่อยากคิดถึงวันข้างหน้าเลยครับ  

จนทำให้วันนี้ พลัง ของนายรักษ์สุขเริ่มหมดไป ความท้าทายและความใฝ่ฝันที่เป็นพลังให้นายรักษ์สุขตลอดหลายเดือนที่ผ่านมาเริ่มหายไปหมดแล้วครับ

สัปดาห์แรกของการมาที่อุบลฯ นายรักษ์สุขยังมีพลังนั้นอยู่เต็มเปี่ยม ทำงานได้อย่างไม่หลับไม่นอน แต่ตอนนี้ หมดแรง ครับ แรงขับเคลื่อนในตัวหายไป เพราะมองเห็นถึงสิ่งที่เราจะต้องทำและเป็นไปในอนาคตแล้ว แทบไม่อยากเดินไปถึงจุดนั้น

โดยเฉพาะยิ่งมาเจอระบบคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เนทของหลักสูตรฯ ที่ต้องพึ่งพาไสยศาสตร์ในการส่งบล็อค กับการทำงานที่สามารถทำเสร็จใน 1 ชั่วโมง กลับต้องทำ 4 ถึง 8 ชั่วโมง ส่งงานไปก็ภาวนาไป ภาวนาให้งานที่ส่งไปไม่ Error

โอม เพี้ยง.....ขอให้วันนี้กดส่งบันทึกให้สำเร็จได้ภายใน 3 ครั้ง ด้วยนะครับ  สาธุ สาธุ 

ถ้าตอนนี้หลาย ๆ ท่านมาเห็นนายรักษ์สุขส่งบันทึกลงบล็อคอาจจะหาว่านายรักษ์สุขบ้าก็ได้ครับ เพราะตอนกดส่งบันทึกแต่ละครั้งจะต้องยกมือสาธุ ๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ไปด้วยครับ ภาวนาขอให้ช่องทางเครือข่ายของมหาวิทยาลัยฯ ปลอดโปร่งอย่า Error อีกเลย เพราะไม่อย่างงั้นจะต้องจัด Formatใหม่  

นายรักษ์สุขเคยทำสถิติการกดส่งบันทึกไว้ 7 ครั้ง กับเวลา 4 ชั่วโมงครับ สำหรับการส่งบันทึกเพียงบันทึกเดียว (จนทำให้ต้องพึ่งพาไสยศาสตร์เลยครับ)

เพราะการเขียนแต่ละบันทึกนั้นนอกจากนายรักษ์สุขจะต้องใช้ทั้งความรู้ ประสบการณ์ แล้ว ยังจะต้องใช้อารมณ์และความรู้สึกที่สอดคล้องกลมกลืนจนสามารถผสมผสานกันจนสามารถถักทอร้อยเรียงออกมาเป็นคำพูดต่าง ๆ ได้ แต่ถ้าทำงานแบบที่ต้องตุ๊ม ๆ ต่อม ๆ ว่าวันนี้เนทจะดีไหมหนอ งานที่รังสรรค์ออกมาก็จะลดประสิทธิภาพลงตามลำดับอย่างแน่นอนครับ

แถมตอนนี้นายรักษ์สุขยังต้อง (นั่งเทียน) คิดหัวข้องานวิจัยและวางแผนการเรียนอีกครั้ง  ยิ่งคิดหัวข้อคิดถึงแผนปฏิบัติการตามที่หลักสูตรฯ ต้องการยิ่งหดหู่ครับ  

สุดท้ายนี้ถ้าอย่างไรเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ และครูบาอาจารย์ทุกท่าน ถ้าเห็นความผิดปกติของแนวคิดของนายรักษ์สุข ช่วยดึง ๆ ตบ ๆ ไว้ด้วยนะครับ ถ้าหากเห็นว่าเริ่มเข้าไปผิดร่องผิดรอยรีบเตือนเลยนะครับ เพราะนายรักษ์สุขเองกลัวว่าจะต้องลงไปทำบาปกับชุมชนอีกครับ ท่านอาจารย์หมอกรุณาส่งเสียให้เรียน แต่ผมดันถูกสร้างเพื่อไปทำบาปกับชุมชน ไม่อยากทำแบบนั้นอีกแล้วครับ เพราะไม่ใช่ผมจะบาปอยู่คนเดียว ผมกลัวว่าบาปนั้นจะส่งไปถึงผู้มีพระคุณที่ให้ทุนการศึกษาสร้างโอกาสให้ผมได้มาเรียนหนังสือในครั้งนี้ รวมถึงพ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่เสียสละเงินภาษีของท่านมาเพื่อพัฒนาพวกเราให้เป็นความหวังที่จะทำให้ทุก ๆ ท่านนั้น มีความสุข

 

หมายเลขบันทึก: 40900เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2006 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ชื่อนายรักษ์สุข เป็นชื่อที่นายบอนชอบครับ เลยเรียกให้ติดปาก แต่พักหลัง ๆ เรียกชื่อจริงบ้าง เกรงว่า ผู้อ่านที่ตามมาอ่านในช่วงหลังๆ จะนึกไม่ออกว่า รักษ์สุขคือใคร

วันเวลาทำให้ความคิดของแต่ละท่านเกิดการพัฒนาไป ที่ว่า แนวคิดจะผิดปกติไปนั้น นั่นคือ ปกติครับ เพราะ ได้มีการเรียนรู้มากขึ้น จนเติบโตทางความคิดนั่นเอง

หากความคิด แนวคิด ยังหมือนเดิม เมื่อเวลาผ่านไป เสมือนว่า เราอยู่ที่เดิม ย่ำอยู่จุดเดิมครับ เหมือนชุมชนที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา การทำงานชุมชนก็ต้องปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆตามสถานการณ์ครับ

:)))

   จากคำกล่าวด้านบน และแนวคิดที่ได้อ่านมาตั้งแต่ต้น  รู้สึกได้ว่าอาจารย์เป็นคนมีอุดมการณ์และน่าคบหายิ่งนัก   เพียงแต่ในบางครั้งก็ต้องยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนมิได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง  (ก็ไม่ใช่ 7eleven นี่นา !! )  จึงต้องมีการพักกันบ้าง !! และถ้าเหนื่อยนัก  ก็จงพักสักครู่   เพื่อเติมพลังและพร้อมกับมาสุ่กับ "ปัญหา"  อีกครั้ง.... //  สำหรับประเด็นนี้นิวกลับมองว่าอะไรที่ได้มายาก ๆ มันจะยิ่งมีความหมายและสร้างความภาคภูมิใจให้กับตัวเอง   สู้นะ  !!  จะเป็นกำลังใจให้เสมอ

จาก  น้องนิว เซล่ามูนสีชมพู  อิอิ.....

คนดีอย่าท้อแท้ครับอาจารย์ปภังกร...

วันนี้อาจารย์ยังทำอย่างที่วาดหวังไว้ไม่ได้ก็ไม่เป็นไรครับ

ชีวิตไม่ได้ตัดสินเพียงแค่วันวานและวันนี้

ผมขอเป็นกำลังใจให้อาจารย์ด้วยคนครับ

  • แวะมาให้กำลังใจครับ
  • ขอให้มีความสุขกับอาชีพที่ประเสริฐครับผม
  • สำนวน คุณหมอประเวศ วะสีครับ
  • มองเห็นพลังจากการเขียนบล็อกของอาจารย์  รู้สึกดีใจที่มีคนเข้าใจชุมชน แล้วส่งพลังผ่านบล็อก
  • เป็นธรรมดาครับ  เมื่อเราคิด..? นั่นเรากำลังติดกับดักแล้ว
  • สิ่งใดทำแล้ว   สิ่งนั้นดีสำหรับเราเสมอครับ

 

ขอบคุณคุณบอนมาก ๆ ครับ สำหรับข้อคิด "แนวคิดจะผิดปกติไปนั้น นั่นคือ ปกติครับ เพราะ ได้มีการเรียนรู้มากขึ้น จนเติบโตทางความคิดนั่นเอง"

ผมจะเติบโตอย่างถูกที่ถูกทางครับ

ขอบคุณน้องนิวสำหรับ 7-11 ครับ

เพราะตอนนี้ผมทำงานแทบจะไม่ได้พักเลย ขอบคุณที่มาเตือนสติครับ

ขอบคุณคุณจรัณธรครับ

ต้องสู้สิครับ ถึงแม้ว่าวันนี้จะทำสิ่งที่เราคาดหวังไม่ได้ ถ้าเราสู้ก็ยังมีวันหน้าที่เราสามารถทำได้ครับ

ขอบคุณพี่ขจิตครับ

"ขอให้มีความสุขกับอาชีพที่ประเสริฐครับผม"

อาชีพอะไรก็ไม่สำคัญใช่ไหมครับพี่ขจิต ถ้าใจเราทำแล้วมีความสุข

ขอบคุณพี่วีรยุทธมาก ๆ ครับ

ผมขอติดกับดัก Gotoknow ไปนาน ๆ ครับ

และรบกวนพี่วีรยุทธมาวางกับดักให้ผมเดินถูกที่ถูกทางบ่อย ๆ นะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท