สหกรณ์อุตรดิตถ์ KM : ที่มาแห่งปัญญา


หลังจากที่สับสนและเป็นงงอยู่นานครับ ทั้งในส่วนเรื่องของบล็อกที่ต้องคอยเมียงมอง สคส. ว่าจะเอาเรื่องอุตรดิตถ์ไว้ในบล็อกไหนดี "ความรู้คือพลัง" หรือ "ไดอารี่ชีวิต" อันไหนดีนะ  

ตกลงเอาเป็นว่า ถ้าเกี่ยวกับเรื่อง KM เรื่อง PAR และเรื่องเรียนจะไว้บล็อกนี้นะครับ

ส่วนเรื่องไปท่องเที่ยวรายทาง เก็บเกี่ยวประสบการณ์อื่น ๆ ก็ขอไว้ในบล็อก "ไดอารี่ชีวิตนะครับ"

รวมถึงเรื่องที่ไปจัดกระบวนการ PAR อยู่ ซึ่งปิดฉากไปแล้วเมื่อช่วงหัวค่ำของวันพุธ (23 สิงหาคม) เมื่อวานนี้ หรือเมื่อเย็นนี้เองดีครับ

ตอนนี้ขออนุญาตกลับมาเป็น "นายรักษ์สุข" คนเดิมครับ

ที่ได้เก็บงาน "จัดการความรู้" ไว้เต็มกระเป๋า แต่ไม่ได้นำออกมาขึ้นบล็อก จนกระทั่งพี่ ๆ ที่สหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ เริ่มเคือง ๆ ครับ ว่าอาจารย์เมื่อไหร่จะนำขึ้นบล็อกเสียที

วันนี้ได้ฤกษ์เปิดประเดิมแบบเต็มที่ครับ แบบสบายใจ ๆ มาก ๆหลังจากที่ยกภูเขาออกจากอกครับ


สหกรณ์อุตรดิตถ์ KM

เป็นงานที่ผมร่วมทำกับท่านสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์คนเดิมครับ

"คุณจารุวรรณ นันทพงษ์"

จากการที่ท่านสหกรณ์จังหวัด ได้รับคำแนะนำจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ว่าถ้าจะหาคนทำงานแบบนี้ แบบถึงลูกถึงคน ต้องมาหา "ปภังกร" ครับ

หลังจากนั้นการทำงานของ "เรา" ก็เริ่มขึ้น

นับตั้งแต่เจอกันครั้งแรกที่สำนักวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์

ครั้งที่สอง ห้องสหกรณ์จังหวัด สำนักงานสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์

ครั้งที่สามและสี่ ห้องทำงานโครงการวิจัยแผนชีวิตภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดอุตรดิตถ์ ซึ่งเป็นโครงการร่วมระหว่าง พอช. และ สกว.

เพื่อประชุมวางแผนในการทำงาน "จัดการความรู้แบบมีส่วนร่วม" ครั้งนี้ครับ

 

"การจัดการความรู้แบบมีส่วนร่วม"

เป็นเทคนิคที่ผมเอาเทคนิคการทำงานวิจัยแบบ PAR ที่เน้นการมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ไข ร่วมติดตาม และร่วมรับผลประโยชน์ มาผนวกกับการจัดการความรู้ครับ

ซึ่งในสี่ครั้งแรกที่พบกัน ก็เพื่อคุยถึงเป้าหมายและจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการทำงานและเป้าหมายกันให้ชัดเจนครับ

โดยคุณจารุวรรณให้ความเป็นอิสระในการคิดกับผมอย่างเต็มที่ครับ

ซึ่งอันนี้เป็นประโยชน์กับผมมากครับ เพราะผมเป็นพวกชอบคิดใหม่ทำใหม่ ทำอะไรแปลก ๆ ลองโน่นลองนี่อยู่แล้วครับ

แต่ผมบอกคุณจารุวรรณไว้อย่างเดียวว่า ทุกอย่างที่ผมทำผมคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นลำดับแรกครับ และขออนุญาตเข้านอกออกในสำนักงานสหกรณ์ได้อย่างไม่จำกัด (ตลอดเวลา)

ซึ่งก็ได้รับความสะดวกเป็นอย่างดีครับ

หลังจากเมื่อคุยเป้าหมายและวัตถุประสงค์หลักในการทำงานกันเสร็จ กิจกรรมแรกอย่างเป็นทางการก็เริ่มขึ้นครับ

"การแนะนำตัวอย่างเป็นทางการ"

หลังจากที่คุยวัตถุประสงค์กันเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่ผมขอคุณจารุวรรณก็คือ ขอทราบแผนการปฏิบัติงาน แผนการประชุมของสหกรณ์หลัก ๆ ทั้งหมดครับ

มิได้เอาไปทำอะไรหรอกนะครับ จะเอาไปวางแผนว่าจะเข้าไปพบทุก ๆ คนในสหกรณ์ตอนไหนดี ที่เป็น "เวลาของเขา"

มิใช่เวลาที่เรานัดเพื่องานของเราครับ โดยผมจะหาเวลาที่เขาประชุมกันหรือเวลาที่เขาเรียนทางไกลกัน แล้วก็จะขอเวลาเข้าไปคุยกับเขาซักห้านาทีสิบนาทีครับ

โดยวันแรกก็มาถึง วันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ

วันนั้นช่วงบ่ายที่เสร็จสิ้นจากการประชุม ผมก็ได้เข้าไปพบกับพี่ ๆ ชาวสหกรณ์อุตรดิตถ์ เป็นครั้งแรก และกล่าวเปิดตัวในที่ชุมชนอย่างเป็นทางการ

หลักการนี้สำคัญมากครับ สำหรับการทำงานแบบ PAR เพราะจะแอบเข้าไป เข้าไปคุยแต่กับหัวหน้าอย่างเดียวไม่ได้นะครับ เดี๋ยวจะเริ่มมีคลื่นใต้น้ำ มีเสียงนินทาเกิดขึ้น ว่าเอาอีกแล้ว จะมีงานอะไรให้เราทำอีก

ดังนั้นถ้าจะเข้าไปทำงานแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนใดก็ตาม ต้องเปิดตัวอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุดครับ ก่อนที่จะมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกกันเกิดขึ้น

ในวันนั้นนอกเหนือจากเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีแผนที่จะ "การจัดการความรู้เพื่อร่วมคิด" ในการทำงานในครั้งนี้ครับ

 

หลังจากที่ผมแนะนำตัวและกล่าวถึงวัตถุประสงค์ที่คุยกับท่านสหกรณ์จังหวัดเรียบร้อยแล้ว

วันนั้นผมขอไม่ได้ท่านสหกรณ์เข้าไปในห้องประชุมด้วยครับ เพราะจะทำให้เสียแผนหมดครับ

เพราะถ้าท่านสหกรณ์เข้าไปด้วย "การร่วมคิด" จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร จะเกิดอาการเกรงใจกันเกิดขึ้น ให้ท่านสหกรณ์คิดและสหกรณ์ตัดสินใจครับ

เมื่อแนะนำตัวเสร็จก็เริ่มต้นด้วยการช่วยกันคิดชื่อโครงการครับ

บอกตรง ๆ ว่าผมก็จำชื่อโครงการไม่ได้ครับ เพราะผมไม่ได้เป็นคนคิดครับ

ทุกคนในห้องร่วมกันคิด

หัวข้อและรายละเอียดโครงการได้มาจากไหนเหรอครับ

ได้มาจากการจัดการความรู้เรื่องการประชุมที่ผ่าน ๆ มาครับ ว่าควรจะต้องชื่อและทำโครงการฯ อะไรดี

หลาย ๆ ท่านอาจจะงงนะครับว่า

อ้าว! ตกลงที่คุยกับท่านสหกรณ์จังหวัดไป 4 ครั้งและเริ่มมาพบกับชุมชนแล้ว ยังไม่ได้ทำโครงการกันอีกเหรอ

ใช่แล้ว ยังไม่ได้ทำโครงการครับ

อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้นครับ ถ้าอยากทำอะไรแปลก ๆ แบบคิดใหม่ทำใหม่ ต้องมาหา "ปภังกร" ครับ

ตอนแรกยังไม่มีโครงการครับ เพียงแต่ท่านสหกรณ์จังหวัดมีแนวคิดที่อยากจะทำ เมื่อมาเจอกับผม ผมก็อยากจะทำด้วย ดังนั้นเมื่อเป้าหมายชัดเจนตรงกันก็ลุยกันไปเลยครับ

"โครงการต้องเกิดจากการมีส่วนร่วม"

ดังนั้น การที่มีโครงการมาก่อนแล้วถึงจะเรียกทุกคนมาทำ แบบนี้ไม่ใช่แก่นแท้ของ PAR ครับ

ฉะนั้นตอนที่ทำโครงการ จะต้องร่วมคิด โดยการจัดการความรู้ในการทำโครงการที่ผ่านมาทั้งหมด ว่ามีปัญหา อุปสรรค มีข้อดีข้อเสียอย่างไร แล้วให้ทุก ๆ คนร่วมกันช่วยเขียน

วันนั้นคุยกันไปก็เขียนกันไปครับ ขึ้นคอมพิวเตอร์กันตรงนั้นเลย

จนได้ออกมาเป็นโครงการฯ คร่าว ๆ ครับ

หลังจากนั้นก็คิดกิจกรรมแรกกันเลยครับ ว่าจะทำกับเจ้าหน้าที่สหกรณ์ทั้งหมดควรจะทำอย่างไร

ไม่ต้องห่วงนะครับว่าโครงการฯ ยังไม่ได้เสนอจะทำได้อย่างไร

ทำไปก่อนครับ เสนอที่หลัง ไม่มีปัญหาครับ เพราะการทำงานของผมขึ้นอยู่กับ "ความอยาก" ครับ

ถ้าชุมชนอยากทำ พี่ ๆ ที่สหกรณ์อยากทำบอกได้เลยครับ พร้อมเมื่อไหร่ได้เมื่อนั้น

"ตีเหล็กต้องตีเมื่อร้อนครับ"

เมื่อมีคุณเอื้ออย่างท่านสหกรณ์จังหวัด สบายไปสิบอย่างครับ

เพราะงบประมาณไม่มีอะไรมากอยู่แล้วครับ

หลังจากประชุมกันแล้ว ก็ตกลงกันว่าจะใช้ห้องประชุมข้างใน (ที่ประชุมกันอยู่ตอนนี้ครับ) อย่างอื่นก็ไม่มีอะไรครับ เพราะห้องประชุมก็มีครบอยู่แล้วทั้งเครื่องเสียง โต๊ะ เก้าอี้ ส่วนอุปกรณ์สำนักงาน ก็ไม่ต้องใช้อะไรครับ หาได้ตาม office ทั่วไป ยืมมาใช้ก่อน

จะมีก็เพียงแค่กระดาษ proof เท่านั้นเองที่ต้องซื้อ ไม่กี่สิบบาทสำรองจ่ายไปก่อนได้ครับ

ส่วนค่าตัวผมนั้น ไม่ใช่ปัญหาครับ

ทำงานเอามันส์ครับ ทำงานเอาปัญญา ให้ก็เอาไม่ได้ก็ไม่เป็นไรครับ

หลังจากที่จัดการความรู้เรื่องโครงการกันเสร็จ ก็เริ่มติดรมณ์กันครับ

ก็เลยร่วมกันวางแผนในการทำกิจกรรมครั้งแรก

"การจัดการความรู้เรื่องจัดโต๊ะ"

จัดโต๊ะอย่างไรดีถึงจะเหมาะกับการทำงานตามโครงการนี้

สิ่งแรกที่ต้องเชื่อมั่นก็คือ "ทุกคนมีความรู้"

เพราะทุกท่านเคยเป็นทั้งนักเรียน ทำงานมานาน เคยไปประชุมที่โน่นที่นี่มากมาย รวมทั้งเคยไปจัดเวทีกับชุมชนอย่างนับไม่ถ้วน

จัดโต๊ะ จัดเวทีแบบไหนดี จัดการความรู้และวางแผนใช้งานจริงกันเลยครับ

วันนั้นเราก็ได้ข้อสรุปเรื่องจัดเก้าอี้และเวทีร่วมกันว่าจะทำอย่างไรครับ

เวลาชั่วโมงกว่า ๆ ที่พบปะกับชุมชนสหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ เต็มไปด้วยความประทับใจและอุดมไปด้วยปัญญาจริง ๆ ครับ

 


บันทึกมาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

ป.ล. เพิ่มเติมครับ

พี่ ๆ ทุกท่านที่มานั่งคุยกันประชุมกันครั้งนี้ มาด้วยใจกันครับ มิได้มีคำสั่งอย่างเป็นทางการครับ มีบอกกล่าวจนท่านสหกรณ์จังหวัดว่า ผมจะมาให้มาคุยกับอาจารย์หน่อย พอคุยไปคุยมาคนก็เริ่มเยอะขึ้นครับ

และที่ดีใจมาก ๆ ก็คือได้พบกับพี่โอ๋ (ผู้ชายเสื้อขาวรูปสุดท้ายครับ)

หลังจากที่ได้รู้จักกันมา 5-6 ปี เคยเจอกันตลอดเมื่อครั้งไปแข่งกีฬาราชภัฏ ตั้งแต่ผมเป็นนักศึกษาอยู่ราชภัฏกำแพงเพชร จนกระทั่งมาเป็นอาจารย์ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ แต่ก็ไม่รู้ว่าพี่แกทำงานสหกรณ์ครับ มาเจอกันอีกครั้งเมื่อพี่เขาย้ายจากสหกรณ์จังหวัดเพชรบูรณ์มาอยู่ที่สหกรณ์จังหวัดอุตรดิตถ์ครับ

 

หมายเลขบันทึก: 46085เขียนเมื่อ 24 สิงหาคม 2006 00:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • แวะมาเสริมปัญญา PAR ครับอาจารย์
  • ขอบคุณ

 

  • ยินดีเป็นอย่างยิ่งครับคุณ Panda
  • มาเสริมเต็มเต็มกันบ่อย ๆ จะได้ต่อยอดมากขึ้น ๆ ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท