R2S : Research to Study



วิจัย การวิจัย แบบที่มีระเบียบวิธีการวิจัย (Methodology) เป็นสิ่งที่เข้ามาในสังคมไทย เมื่อใดผมก็ไม่ทราบเหมือนกันครับ แต่ก็น่าจะเข้ามาก่อนผมเกิดอย่างแน่นอน


จนตอนนี้เดินไปที่ใดในวงวิชาการบ้านเรา ก็จะขาดไม่ได้สำหรับการพูดถึงเรื่อง “การวิจัย”


สิ่งที่ผมพยายามที่จะเชื่อมโยงเข้ามาเพื่อพูดให้เห็นภาพมากขึ้นในบันทึก ก็เนื่องจากผมมาพบทางออกที่ดี ๆ สำหรับการวิจัยในบ้านเราอันหนึ่งก็คือเรื่องของ R2R นั่นก็คือ Research to Routine หรือการวิจัยในงานประจำ การวิจัยที่เนียนเข้าไปเนื้อหา ไม่ต้องวิจัยที่ไหน วิจัยที่งานตนเอง


ทำงานไป วิเคราะห์ไป แก้ไขไป


ไม่ต้องเสนอโครงการ ไม่ต้องของบ ไม่ต้องเข้าเล่ม ทำปุ๊บแก้ไขปั๊บ


เป็นงานหลักของผมในดุษฎีนิพนธ์ครั้งนี้ด้วยครับที่หาวิธีการ รูปแบบ ปัจจัยในการที่จะทำการส่งเสริมเรื่อง R2R ในหน่วยงานต่างๆ 


แต่หลังจากการไปชิมลาง พูดคุย ทดลองทำเบื้องต้น กลับมาอ่าน Blog ค้นคว้า หาข้อมูล เทคนิคต่าง ๆ ประมาณหนึ่งเดือนที่ผ่านมาแล้วก็พบว่าปัจจัยเหตุอันหนึ่งที่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมขึ้นมา จะทำให้การทำ R2R นั้นประสบความสำเร็จลุล่วงได้อย่างไม่ยากเย็นครับ

 

ก็คือเรื่องของ การทำ Research to Study

หรือปรับระบบการเรียนการสอนและการทำวิจัยในสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ให้เนียนเข้าไปในเนื้อของการเรียน 

เรียนไปทำไป เรียนปุ๊บทำปั๊บ ทำกับเรื่องเรียน และเรียนในเรื่องที่ทำ 


ประเด็นที่ผมลองไปชิมลางและลองนำกลับมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ได้นั้น ที่ทำให้ R2R ค่อนข้างยาก ประสบปัญหาและไม่ยั่งยืนนั้นก็คือ บุคลากรส่วนใหญ่ยังติดกับระบบ methodology ที่เรียนกันมาจากมหาวิทยาลัย


เพราะจะติดภาพของวิจัยที่มี ระบบ ระเบียบ ที่เป็นอะไรที่เป็นหลักเป็นการ มีแบบมีแผน ทำแบบง่าย ๆ ไม่ได้ ทุกอย่างต้องยุ่งยาก


ประมาณว่า พูดถึงเรื่องวิจัยทีไร ต้องกุมขมับเลยครับ


สิ่งนี้เกิดขึ้นมาจากวัฒนธรรมการทำวิจัยในการศึกษาในมหาวิทยาลัย


วิจัย วิทยานิพนธ์ โดยเฉพาะแบบเดี่ยวหรือคนทำเดียว “น่ากลัวมาก”


ความน่ากลัวของสิ่งเหล่านี้ ติดตามคอยมาหลอกมาหลอนถึงตอนที่ทำงาน


โดยเฉพาะยิ่งถ้าใครเรียนไปด้วยทำงานไปด้วยแล้ว ตอนที่ทำวิทยานิพนธ์ก่อนจบนี่ เลือดตาแทบกระเด็น


หลาย ๆ คนยังเรียนไม่จบเพราะติดค้างงานวิจัย ต้องลงทะเบียนรักษาสภาพไปเรื่อย ๆ


สถิติสูงมาก สำหรับนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่ต้องรักษาสภาพหรือติดค้างงานวิจัยจนไม่สามารถจบตามกำหนดหรือเกณฑ์เวลาเรียนต่ำสุดที่ตั้งไว้ได้


สิ่งเหล่านี้ส่งผลทำให้เวลาจะส่งเสริมการทำ R2R ภายในหน่วยงาน บางครั้งเจอ R ตัวแรก ก็หงายเก๋งไปตาม ๆ กันเลยครับ

Research  Research  Research  วิจัย วิจัย วิจัย


"แค่ตอนไปเรียนก็แทบแย่แล้ว ตอนทำงานจะให้ทำวิจัยอีกเหรอ"

ปัญหาการทำวิจัยตอนที่เรียนนั้นมีปัญหาที่สำคัญมาก ๆ อันหนึ่งก็คือ


การทำวิจัยในระหว่างเรียนนั้น "แยกระบบงานวิจัยกับระบบงานหลักซึ่งเป็นงานในหน้าที่ประจำของผู้เรียนออกจากกัน"


นักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาส่วนใหญ่ เป็นผู้มีงานทำแล้ว


แต่ตอนไปเรียน ตอนเสนอโครงร่าง ส่วนใหญ่อีกเหมือนกัน เสนอโครงร่างที่แยกออกจากงานของตนเองโดยสิ้นเชิง เวลาทำงานจึงทำให้เหมือนเป็นภาระที่ยุ่งยากเพิ่มขึ้น และยิ่งเป็นอะไรที่มีระบบระเบียบกฎเกณฑ์มาก ๆ ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ต้องยุ่งยากมากขึ้นไปอีกหลายเท่า


ประกอบกับการที่ยุคนี้เป็นยุควิจัยชุมชน มีการบูรณาการงานหลักกับชุมชนเข้าด้วยกัน จึงทำให้แนวโน้มของงานวิจัยทั้งตอนเรียนและในหน่วยงานเน้นลงไปทำวิจัยกับชุมชนเป็นหลัก

ไปเก็บข้อมูล สังเกต สัมภาษณ์ จัดเวที ถอดบทเรียน ยิ่งทำให้เกิด “การแยกตัวกันของงานกับการวิจัย" เกิดขึ้นตามมาเป็นวัฏจักร


จนทำให้เกิดความเชื่อที่ว่า งาน กับ การวิจัย เป็นคนละเรื่องกัน


ชุมชน (ชาวบ้าน) กับ ชุมชน (หน่วยงาน/องค์กร) เป็นคนละเรื่องกัน


พอเวลาที่พูดถึงงานวิจัย ทุกคนก็เล็งไปเลยว่า ต้องเป็น “ชุมชน (ชาวบ้าน)” เท่านั้น


การวิจัยที่ลงไปทำในพื้นที่ ลงไปทำในชุมชนเท่านั้น ถึงจะมีคุณค่า ถึงจะของบประมาณได้ หรือจะนำมาเป็นผลงานตามดัชนีชี้วัดได้


เพราะฉะนั้นเวลาที่มีการออกนโยบายการทำ “วิจัย” ใด ๆ มา ผู้บริหารก็จะมุ่งลงไปที่ “ชุมชน” เป็นหลัก


ต้องชุมชน ต้องชาวบ้าน ต้องลงพื้นที่ จัดเวที เชิญประชุม เป็นสูตรสำเร็จในการทำ “วิจัย”


สูตรสำเร็จเหล่านี้มาได้อย่างไร

"ได้มาจากตอนเรียนครับ"


ก็เรียนมาอย่างนี้ เขามาสอนมาอย่างนี้ ถ้าจะให้ทำใหม่ “ก็ต้องเรียนใหม่ สอนใหม่” งบประมาณการอบรมฯ แบบไม่มีวันจบสิ้น


แต่ถ้าจัดกระบวนการเรียนการสอนให้เสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ตอนไปเรียนก็น่าจะดีนะครับ

สร้างวัฒนธรรมการวิจัยในเนื้องาน R2R ตั้งแต่ในมหาวิทยาลัยในระหว่างที่เรียน


เรียนวิจัย และวิจัยเรื่องเรียน


Research to Routine


งานวิจัย และวิจัยเรื่องงาน


ทั้งสองสิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
เรียนวิจัย และไปวิจัยเรื่องงานของตนเอง ใช้งานของตนเองเป็น Best Case หรือ Case Study ในการศึกษา


ถอดบทเรียนตนเอง วิเคราะห์และวิจัยตนเอง หน่วยงานตนเอง แบบถึงกึ๋น


ไม่ต้องรอเรียนจบแล้วค่อยนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้อีกที รอเรียนให้รู้ก่อน ถึงค่อยนำมาทำ


เรียนปุ๊บได้ประโยชน์ปั๊บ

ทำแล้วได้ประโยชน์เลย

นอกจากได้ประโยชน์อย่างฉันพลันในขณะที่เรียนอยู่แล้ว ยังเป็นการสร้างค่านิยมที่ดีมากขึ้นกับการวิจัยที่ไม่จำเป็นต้องยากและห่างไกลตนเองเสมอไป

สิ่งเหล่านี้ก็เป็นประเด็นเล็ก ๆ ครับที่ขออนุญาตนำมาเสนอ และแลกเปลี่ยนกับทุก ๆ ท่านครับถ้าท่านใดมีสิ่งใดเพิ่มเติมเชิญแลกเปลี่ยนได้อย่างเต็มที่เลยนะครับ เพื่อเป็นการเรียนรู้ เติมเต็มและต่อยอดร่วมกันครับ

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

หมายเลขบันทึก: 50436เขียนเมื่อ 16 กันยายน 2006 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • อยากให้อ่านงานของคุณหมอประเวศ วะสีเรื่องเกี่ยวกับการวิจัย
  • ต้องชอบแน่เลยครับผม

อย่าลืมทำตาม...ข้อตกลงนะคะ...

ใส่ป้าย...R2R...ให้ด้วยนะคะ

*^__^*

กะปุ๋ม

555....

โอเคคะ...ลืมดูขออภัยด้วยนะคะ...

หวังว่าคงไม่จบเพียงแค่บันทึกนี้บันทึกเดียวนะคะ...

แซวๆๆ...คะ

*^__^*

กะปุ๋ม

      ขออนุญาตร่วมแลกเปลี่ยนด้วยค่ะ....

     ในปลายปีงบประมาณนี้ ไปจนถึงปีงบประมาณหน้าและอาจเป็นปีงบประมาณต่อไป ที่สำนักงานเขตฯ ของดิฉัน ท่าน ผอ.เขตฯ สนับสนุนและส่งเสริมให้ใช้กระบวนการวิจัยในการพัฒนางาน ถือเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ของเขตฯ แทนการเสนอเป็นแผนงาน โครงการ เหมือนที่เคยเป็นมา ซึ่งท่านบัญญัติศัพท์เรียกเครื่องมือนี้ว่าเป็นการวิจัย "ร่มเล็กในร่มใหญ่"

     งานวิจัยที่ศึกษานิเทศก์ต้องทำก็คือเรื่องของงานวิชาการที่แต่ละคนรับผิดชอบอยู่ โดยมีผู้บริหารโรงเรียนหรือคุณครูที่มีความสนใจอยู่ในประเด็นร่วมกับเรา พัฒนางานของตัวเองซึ่งเป็นเรื่องเดียวกับงานบริหารโรงเรียน หรืองานจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนโดยใช้กระบวนการวิจัย ร่วมกันไปพร้อม ๆ กัน ที่เขตฯ เราเรียกว่า PAR&D คือร่วมปฏิบัติการวิจัยและร่วมกันพัฒนานวัตกรรม ซึ่งอาจเป็นแนวทาง วิธีการ สื่อ เครื่องมือ ฯลฯ ที่ช่วยพัฒนาผู้เรียน

     เราเป็นร่มใหญ่ ผู้บริหารโรงเรียนหรือคุณครูเป็นร่มเล็ก ร่วมคิดร่วมทำโดยผนวกกระบวนการ KM เข้ากับกระบวนการวิจัย

      ดิฉันเห็นว่าการวิจัยไปพร้อมกับการทำงานด้วยแบบนี้ สนุกและได้ประโยชน์สำหรับงานของเราไปด้วยจริง ๆ ซึ่งดิฉันน่าจะได้นำมาเล่าในบันทึกของตัวเองในโอกาสต่อ ๆ ไป เมื่อได้เริ่มลงมือกันแล้วค่ะ

      ขอบคุณสำหรับการจุดประกายปัญญาค่ะ

  • Research to Routinงานวิจัย และวิจัยเรื่องงาน ทั้งสองสิ่งนี้น่าจะเป็นสิ่งที่สอดคล้องและเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกันเรียนวิจัย และไปวิจัยเรื่องงานของตนเอง ใช้งานของตนเองเป็น Best Case หรือ Case Study ในการศึกษาถอดบทเรียนตนเอง วิเคราะห์และวิจัยตนเอง หน่วยงานตนเอง แบบถึงกึ๋น ไม่ต้องรอเรียนจบแล้วค่อยนำความรู้ที่ได้มาประยุกต์ใช้อีกที รอเรียนให้รู้ก่อน ถึงค่อยนำมาทำ

 

  • ชอบมากเลยประโยคนี้.......จะรีบนำมาปรับใช้น่ะ....

 

  • ขอนุญาตนำเสนอ:อาจารย์เทียมจันทร์ ม.นเรศวรเคยให้ทำ Action Research แบบ A4คือทำอะไร ทำไมถึงทำ ทำอย่างไร ปรับแก้อย่างไร ทำแล้วได้อะไร(P-D-C-A ไปในตัว)และดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ(ครุฯ จุฬาฯ)ท่านก็ทำวิจัยเชิงลึกเช่นเรื่องกิ๊กและคำศัพท์วัยรุ่นอีกหลายๆคำ แล้วนำมาเขียนง่ายๆจนติดปากมาจนทุกวันนี้ ท่านทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่ายเสมอๆๆๆ(simplify)
  • เอา link ท่านอาจารย์หมอประเวศ มาฝากครับ
  • ขอบคุณครับผม
  • http://www.prawase.com/ ใน gotoknow มี งานวิจัยในชั้นเรียนนะครับ แต่ผมเขียนได้แค่ 3 บทเอง ยังไม่มีเวลาเอาลง
  • ขอบพระคุณท่าน ดร.ขจิตมาก ๆ เลยครับ
  • จะรีบติดตามเข้าไปอ่านครับผม ถ้าได้ผลอย่างไรแล้วจะรีบนำกลับมาแลกเปลี่ยนและเขียนเป็นบันทึกครับ
  • ขอพลังแห่งความรู้จงสถิตกับท่านตลอดไป
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท