ตัวอย่างผ้า : R2R ฉบับชุมชนไทย


พัฒนาเพื่อชีวิต ทดลองเพื่อชีวิต สังเกตเพื่อชีวิต การวิจัยที่เนียนอยู่ในเนื้องานและเนียนอยู่ในชีวิต

 

 

 

 

 

 

ท่านทราบไหมครับว่า

หน้าปกสมุดเล่มนี้ คืออะไร?

สิ่งใดซ่อนอยู่หลังหน้าปกสมุดเล่มนี้?

.....

....

...

..

.

ด้านหลังของปกสมุดเล่มนั้นคือ "ตัวอย่างผ้า"

ลายและสี

ของกลุ่มทอผ้าบ้านตาล ต.ทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์

"การนำสิ่งที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด"

ความหมายของการจัดการ (Manament) ที่ได้พิสูจน์เชิงประจักษ์ว่า คนไทย ชุมชนไทย รู้จักคำนี้และสามารถ "จัดการ" สิ่งต่าง ๆ ได้ดีเยี่ยมกว่านักวิชาการหลาย ๆ ท่านที่ลงไปจัดเวที จัดอบรม หรือทำงานพัฒนาเพื่อช่วยเขาตามหลักทฤษฎีทางตะวันตกเสียอีก

 

 

ภูมิปัญญาการจัดการของคนไทย ไม่แพ้คนชาติใดในโลก

ภูมิปัญญาต่าง ๆ เหล่านี้ ถูกปลูกฝังอยู่ในสายเลือด ถูกปลูกฝังอยู่ในวิถีชีวิตความเป็นไทย

การเรียนรู้ ปรับปรุง พัฒนา และประยุกต์ใช้ คนไทยเราทำกันเป็นประจำ

ดังนั้นจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า "วิจัย คือ ชีวิต"

เพียงแต่เขาไม่ได้เรียกสิ่งที่เขาทำว่าเป็น "การวิจัย" แค่นั้นเอง

การทอผ้า เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาชั่วนาตาปี โดยเฉพาะชาวลับแล ที่สืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของชาวเชียงแสน ผ้าทอจึงเป็นสิ่งที่ผูกพันธ์กับวิถีชีวิตมานานแสนนาน

ทอใส่ ทอใช้ ทอให้

ทอใส่ไปวัด ทอใช้ในชีวิตประจำวัน ทอให้คนที่ตนเองรัก

ผ้าทอแต่ละผืนจึงอุดมไปด้วยกลิ่นไอแห่งวิถีชีวิตและวิถีแห่งวัฒนธรรม

จากฝ้ายสู่ฟืม

จากใช้สู่ขาย

OTOP หรือผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ นโยบายของรัฐที่ออกมาในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา เปลี่ยนวิถีชีวิตจากการทำใช้ เป็นทำขายและซื้อใช้

ทุก ๆ อย่างถูกปรับเปลี่ยน

นโยบายหนึ่งกับอีกหลายแสนวิถีชีวิต

คนเราจะอยู่ได้อย่างไรถ้าไร้ซึ่งการปรับตัว

จากการทอใส่ เลือกสีตามที่ตนเองชอบตนเองรัก

เปลี่ยนเป็นการทอขาย

"สีแดง" แดงเฉดไหน

"สีเขียว" เขียวอย่างไร

ต่างคนก็ต่างจิตใจต่าง เขียวเขากับเขียวเรา อาจจะคนละเขียวก็ได้

ดังนั้น ตัวอย่างผ้า ตัวอย่างสี ตัวอย่างลาย เป็นทางออก และเป็นทางออกที่ใช้การจัดการฉบับภูมิปัญญาไทย

ปกสมุดเล่มเก่า ๆ ที่ไร้คุณค่า เปลี่ยนมาเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่ทรงอานุภาพ

ปกสมุดที่ไม่มีค่าไม่มีราคา เปลี่ยนมาเป็นการสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้ให้กับพี่น้องกลุ่มทอผ้า

พี่ ป้า น้า อา ของเรามิได้หยุดแค่นั้น

ทุกท่านทำงาน คิด และพัฒนากันเป็นวงจร ไม่หยุดนิ่งและหยุดเฉย

เพราะสิ่งเหล่านั้นคือ "ชีวิต"

พัฒนาเพื่อชีวิต ทดลองเพื่อชีวิต สังเกตเพื่อชีวิต

ดังนั้นจึงกลายเป็น

"การวิจัยเพื่อชีวิต"

การวิจัยที่เนียนอยู่ในเนื้องานและเนียนอยู่ในชีวิต

R2R & R2L (Research to Routine & Research to Live)

จากปกสมุด ที่มีสื่อกลางคือลวดเย็บกระดาษ นำผ้าและกระดาษมาติดเรียงกันตามเฉดตามสีสัน

 

จากนั้น ปรับปรุงและพัฒนา ทอไล่ลำดับสี มาเป็นตัวอย่างผ้าชั้นดี

หลากสีหลายสัน บรรจงทอกระตุกพลัน จนออกมาเป็นงานสังสรรค์ที่สวยงาม

R2R งานวิจัยฉบับไทย  สร้างด้วยใจใส่ฝีมือและวิถี

งานชีวิตสรรค์สร้างสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่บอกว่าคือชาติไทย

 

ปภังกร วงศ์ชิดวรรณ

 

หมายเลขบันทึก: 50767เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2006 05:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 09:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

     เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ การวิจัยเป็นเรื่องที่อยู่ในชีวิต   ชาวบ้านเขาทำวิจัยกันอยู่แล้วนะครับ

เป็นประโยชน์มากครับอาจารย์

ออตมีโอกาสเข้าไปศึกษาการจัดการความรู้แบบฉบับชาวบ้านหลายแห่ง ผ้าขิดของชาวผู้ไทจะสืบทอดลวดลายกันผ่าน ผ้าแส่ว ส่วนคนลาวสืบทอดกันผ่านผืนผ้า

ผ้าแส่วคือผ้าผืนเล็ก ๆขนาดหกสิบคูณหกสิบเซนติเมตร ในผืนผ้านี้จะบันทึกลายขิดของชาวผู้ไทเอาไว้ดังนั้นบ้านทุกหลังจะต้องมีผ้าแส่งเพราะเวลานำมาทออีกครั้งจะกลับไปเปิดผ้าแส่วดู ถือว่าเป็นตำราอย่างดี ดังนั้นลายผ้าขิดของชาวผู้ไทจึงสูญหายน้อย

ผ้าผืนสำหรับคนลาว เมื่อคนลาวจะทอผ้ามัดหมี่จะเอาผืนผ้ามากางออกเป็นตัวอย่าง อยากได้ลายไหนก็เอามากางไว้และลอกเลย บางคนเก่งจำเอาก็เอาจากความจำของตนเอง ดังนั้นคนอีสานจึงต้องมีผ้ามูนเก็บเอาไว้ประจำตระกูล ผ้ามูนเหล่านี้คือตำราเล่มใหญ่ของคนลาวอีสาน

การจัดการความรู้แบบฉบับของชาวบ้านนะครับ จัดการหนึ่งแต่ได้ผลหลายประการ

ท่านพี่วีรยุทธ

  • ขอบพระคุณเป็นอย่างยิ่งครับที่มาเติมเต็มบันทึกนี้ให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นครับ
  • ทุก ๆ คนในชุมชนทำวิจัยในชีวิตและใช้ชีวิตในการทำวิจัยกันทุกวันและทุก ๆ วินาทีเลยครับ

คุณออต

  • ขอบพระคุณและยินดีเป็นอย่างยิ่งเลยครับคุณออต
  • ภูมิปัญญาผ้าทอของแต่ละที่เป็นสิ่งที่ทรงคุณค่ามาก ๆ เลยครับ อยากเห็นความสวยงามของผ้าขิดชาวภูไทและผ้ามัดหมี่มาก ๆ เลยครับ

ขอพลังแห่งความรู้จงสถิตกับทุก ๆ ท่านตลอดไปครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท