อำนาจ กับ การบริหารองค์กร


หัวหน้าที่ไร้อำนาจ มีแนวโน้มที่จะทำตัวเป็นเผด็จการกับลูกน้องของตน ก่อให้เกิดการจัดการที่ไม่มีประสิทธิผล ไร้แบบแผน ปิดกั้น และ มีการบังคับจิตใจ

วันนี้ หยิบหนังสือซึ่งซื้อไว้นานแล้วมาอ่าน เรื่อง “Power, Influence and Persuasion” ชื่อภาษาไทยว่า “กลวิธีปกครองคน” เป็นหนังสือในชุด “Harvard business essential series” ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอันโด่งดัง เพิ่งอ่านได้เพียงบทเดียว แต่เห็นว่ามีประโยชน์ทั้งผู้ที่เป็นหัวหน้า และ ผู้ใต้บังคับบัญชา จึงอดใจไม่ไหว (ที่จะอ่านจนจบก่อน ซึ่งคงเป็นไปไม่ได้เลย)ที่จะนำมาเล่าให้ชาว Gotoknow ได้รับรู้ด้วย (อย่างย่อๆ) ค่ะ

ในบทนำ ผู้เขียนให้ความหมายของ “power” หรือ อำนาจ ในที่นี้ว่าเป็น “เป็นศักยภาพในการจัดสรรทรัพยากร การตัดสินใจ และการจูงใจให้มีการตัดสินใจ” ดังนั้น ความหมายในที่นี้ ไม่ได้ผูกยึดกับ ผู้ที่อยู่ในตำแหน่งบริหารเสมอไป ผู้บริหารที่ขาดศักยภาพดังกล่าว ก็ถือว่า เป็นผู้บริหารหรือหัวหน้าที่ไร้อำนาจ

อำนาจเป็นสิ่งจำเป็น โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงอำนาจ หลายคงจะมองอย่างน่าสงสัย หวาดระแวง หรือ พานไม่ชอบเอาเสียเลย จนถึงขั้นเกิดความไม่ไว้วางใจในผู้ที่แสวงหาอำนาจ (เหตุนี้เอง ในการเมืองระบบประชาธิปไตย จึงเกิดระบบการตรวจสอบและ เกิดมาตรการการกระจายอำนาจ) อย่างไรก็ตาม อำนาจก็ เป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ ไม่มีสังคม หรือ องค์กรใด ที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่โดยปราศจากอำนาจได้ (เมืองไทยเรา ตอนนี้ก็เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนยิ่ง) เพราะหากไม่มีกิจกรรมแห่งการใช้อำนาจ องค์กร หรือ บ้านเมือง ก็คงไร้ซึ่งระเบียบ เกิดความวุ่นวาย และ ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กรได้ และที่ดูจะขัดแย้งกับความจริงที่ว่า คนส่วนใหญ่ไม่ไว้วางในผู้มีอำนาจ แต่ผู้คนมักทำสิ่งตรงข้ามในที่ทำงาน พนักงานจำนวนมาก มักทำงานให้แก่ผู้มีอำนาจมากกว่าผู้ไม่มีอำนาจ

มีหลักฐานแสดงว่า หัวหน้าที่ไร้อำนาจ มีแนวโน้มที่จะทำตัวเป็นเผด็จการกับลูกน้อง  ก่อให้เกิดการจัดการที่ไม่มีประสิทธิผล ไร้แบบแผน ปิดกั้น และ มีการบังคับจิตใจ นำไปสู่ความผิดหวัง เสียขวัญ และขาดประสิทธิผลในหมู่ลูกน้อง ดังนั้น การใช้อำนาจอย่างชาญฉลาด จึงมีแนวโน้มก่อให้เกิดประสิทธิผล และแรงจูงใจ มากกว่าการบีบบังคับ

อาการแสดงของหัวหน้าที่ไร้อำนาจ หากหัวหน้า รู้สึกถึงความไม่มีอำนาจ พวกเขาก็จะแสดงอาการต่างๆ ออกมา ให้เราพอสังเกตได้เช่น

  • หัวหน้าระดับต้น จะเริ่มดูแลและควบคุมงานอย่างใกล้ชิดให้เป็นไปตามระเบียบ (แบบว่า จู้จี้จุกจิกมากขึ้น) พยายามทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง ปิดกั้นการพัฒนา และ ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ลูกน้อง
  • หัวหน้าระดับกลาง จะเริ่มปกป้องอาณาเขต และควบคุมข้อมูลข่าวสาร (ประมาณว่า นี่คือหน่วยงานของของฉัน ใครอย่ามายุ่ง) ทำตัวไม่เป็นมืออาชีพ ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
  • ผู้บริหารระดับสูง จะมุ่งเน้นที่การตัดต้นทุนภายใน และการสร้างผลงานแบบชั่วคราว และ สื่อสารแบบบงการ

ก็ลองมองดูรอบๆ ตัวนะคะ หัวหน้าเรา หรือ หัวหน้าที่เรารู้จัก มีอาการเหล่านี้หรือไม่  อย่างน้อย เราก็จะได้เข้าใจเขาว่า เขากำลังอยู่ในความทุกข์ อันเนื่องมาจากการไร้อำนาจ

แล้วจะนำบทต่อไปมาเล่าให้ฟังอีก

หมายเลขบันทึก: 56247เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2006 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 14:35 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ขอบคุณเกร็ดความรู้ดีๆ ค่ะ

ขอบคุณค่ะอาจารย์ อ่านแล้วทำให้เข้าใจพฤติกรรมและมองเห็นเข้าไปในใจของคนค่ะ

 

สวัสดีค่ะอาจารย์  

           อยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับการควบคุมอย่างเข้มงวดเกินไปกับการควบคุมแบบหละหลวมต่างกันอย่างไรและใช้วิธีไหนดีในการควบคุมจึงจะดีพร้อมยกตัวอย่างประกอบ

ขอบคุณค่ะ

หากมีเวลาอ่านหนังสือต่อ จะนำมาเขียนเล่าให้ฟัง (แต่คงกำหนดเวลาไม่ได้)

เอาเป็นความเห็นส่วนตัว และ จากประสบการณ์เท่าที่มี  เดินสายกลาง ดีที่สุด ไม่เข้ม ไม่หลวมจนเกินไป  ส่วนตัวอย่างคงต้องคุยกันยาว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท