สะท้อนความคิดเห็นในประเด็น การประกันคุณภาพในระดับอุดมศึกษา


ความรู้มาจากการเรียนจากผู้อื่นและตัวเอง

การประกันคุณภาพในระดับอุดมศึกษา

******************************************************************************

ความคิดเรื่องการประกันคุณภาพอุดมศึกษาเกิดจากกระแสการวิจารณ์คุณภาพบัณฑิต อุดมศึกษา ควบคู่กับกระแสการประกันคุณภาพทั่วโลก ที่นำมาสู่ความพยายามพัฒนารูปแบบ และแนวทางการประกันคุณภาพของสถาบันอุดมสืกษาสังกัดต่าง ๆ ในปัจจุบัน ทั้งนี้งานวิชาการที่สำคัญมีทั้งเอกสารเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษาของทบวงมหาวิทยาลัย  และงานวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการประกันคุณภาพระดับอุดมศึกษาของประเทศต่าง ๆ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ นอกจากนี้แนวคิดเกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษา และแนวคิดเรื่องดัชนีบ่งชี้คุณภาพสถาบันอุดมศึกษากำลัง เป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้นในปัจจุบันอีกด้วย

กระแสการประกันคุณภาพกำลังแผ่ไปในวงการอุดมศึกษาทั่วโลก  อันเนื่องจากแนวโน้มการขยายเชิงปริมาณที่มีมาอย่างต่อเนื่องในรอบ 2-3 ทศวรรษในแทบทุกประเทศที่นำมาซึ่งปัญหาคุณภาพของผลผลิตของอุดมศึกษาประกอบกับสภาพความสัมพันธ์และพันธกิจที่สถาบันอุดมศึกษามีต่อสังคมและองค์กรต่างๆ มากขึ้น อันนำมาซึ่งข้อเรียกร้องและความคาดหวังให้ดำเนินภารกิจด้านต่างๆ อย่างมีคุณภาพ

จากการวิเคราะห์สภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาของการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา  ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

สภาพปัญหา

  1. สถาบันอุดมศึกษามุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนเชิงพาณิชย์  เน้นการผลิตบัณฑิตเชิงปริมาณมีลักษณะเป็นอุดมศึกษาเพื่อมวลชน(mass) ในขณะที่กลไกการควบคุมคุณภาพไม่เข้มแข็ง
  2. การจัดหลักสูตรการเรียนการสอนขาดการเน้นฝึกภาคปฏิบัติและการเชื่อมโยงกับการทำงานทำให้ผู้สำเร็จการศึกษาขาดคุณลักษณะที่สำคัญบางประการที่ผู้ใช้ต้องการ นอกจากนี้ การจัดหลักสูตรยังไม่สอดคล้องหรือไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการ  นอกจากนี้  การจัดหลักสูตรยังไม่สอดคล้องหรือไม่ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น อาทิ ผู้ทำงานแล้ว ผู้สูงอายุ ผู้มีควมสามารถพิเศษ ผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส ฯลฯ
  3. การผลิตกำลังคนยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการ โดยเฉพาะในสาขาที่ขาดแคลนและจำเป็นในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ อาทิ สาขาคอมพิวเตอร์ ICT เทคโนโลยีชีวภาพ  สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฯลฯ

สาเหตุของปัญหา

  1. การบริหารจัดการและภาวะผู้นำ  ระบบการบริหารจัดการที่อยู่ภายใต้ระบบราชการ  ทำให้ขาดความอิสระ  ความคล่องตัวในการบริหารจัดการ  รวมทั้งขาดระบบการพัฒนาผู้บริหารและคณาจารย์อย่างต่อเนื่อง  ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาคุณภาพอุดมศึกษา  ซึ่งเกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับสภามหาวิทยาลัยถึงรับมหาวิทยาลัย
  2. ขาดระบบและกลไกส่งเสริมการวิจัยและสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรมและการวิจัย ขาดระบบการสร้างความเข้มแข็งด้านการผลิตผลงานวิจัย  รวมทั้งระบบความเชื่อมโยงระหว่างอุดมศึกษาและภาคการผลิต
  3. การจัดการศึกษาเชิงพาณิชย์  จัดอุดมศึกษาในลักษณะเป็น mass ที่ไม่มีการควบคุมคุณภาพ  โดยสถาบันอุดมศึกษาขยายตัวเชิงปริมาณค่อนข้างมากอย่างต่อเนื่องและไร้ทิศทาง/จุดเน้นส่งผลให้เกิดการแข่งขันเพื่อแย่งชิงนักศึกษาในพื้นที่เดียวกัน  โดยไม่คำนึงถึงภาวะการทำงานของบัณฑิตที่จะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มต่อสังคมในอนาคตเป็นการผลิตที่เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ
  4. การจัดสรรงบประมาณยังไม่สะท้อนคุณภาพการศึกษาและยังมิได้ใช้เป็นกลไกกำกับเชิงนโยบายและการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานอุดมศึกษา  ทั้งในส่วนของงบประมาณเพื่อการจัดการเรียนการสอน งบประมาณวิจัยและค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของสถาบันอุดมศึกษา

จากสภาพปัญหาและสาเหตุของปัญหาซึ่งมหาวิทยาลัยแต่ละมหาวิทยาลัยต้องร่วมใจกันสร้างวัฒนธรรม "คุณภาพ" ที่มีความชัดเจน ต้องมีความเคร่งครัดในเรื่องของคุณภาพชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยของตน ในที่นี้หมายถึงชื่อเสียงในเชิงผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ  มิใช่ชื่อเสียงในเรื่องผลิตบัณฑิตจำนวนมาก  ถ้ามหาวิทยาลัยใดก็ตามที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยระดับสูง ได้แก่ อธิการบดี รองอธิการบดี หรือผู้ที่เกี่ยวข้องใดๆ ก็ตาม เช่น คณบดี รองคณบดี ถ้าท่านที่รับผิดชอบทั้งหลายเหล่านี้ไม่กำกับดูแลอย่างเคร่งครัดในเรื่องคุณภาพต้องการแต่เพียงจำนวนนักศึกษาที่มากขึ้น  ปัญหาก็จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยนั้นๆ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอาจจะไม่เห็นในวันสองวัน คงต้องรอบัณฑิตจบออกไปแล้วชาวบ้านชาวช่องเขารู้ว่าบัณฑิตที่ผลิตออกไปนั้นไม่มีคุณภาพ ผลกระทบจึงจะตามมาในอนาคตถ้าตราบใดก็ตามมีการขยายบัณฑิตศึกษาเพียงเพื่อจำนวนนักศึกษา  เพียงเพื่อทำกำไรจำนวนมากให้แก่มหาวิทยาลัย  จะมีผลกระทบเกิดขึ้นตามมาอย่างมากในภายหน้า ดังที่ได้กล่าวไว้เมื่อสักครู่นี้ว่า บัณฑิตที่ผลิตออกมาจำนวนมากไม่มีคุณภาพ  ไม่มีงานทำ  ก็มีผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย ผลกระทบต่อชื่อเสียงทั้งของมหาวิทยาลัยและผู้บริหาร

ดังนั้น  การประกันคุณภาพระดับอุดมศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษา นอกจากนี้ยังเป็นการกำหนดมาตรฐานของมหาวิทยาลัยเพื่อเทียบเคียงกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ  ทำให้มหาวิทยาลัยต้องพยายามแข่งขันกันด้วยคุณภาพตามมาตรฐาน  ในอนาคตมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงแต่ไม่เห็นความสำคัญของการประกันคุณภาพการศึกษาก็จะพ่ายแพ้ต่อมหาวิทยาลัยที่เห็นความสำคัญมากกว่าและดำเนินการประกันคุณภาพอย่างต่อเนื่อง

ในมุมมองของผมมองว่าไม่ว่าจะใช้รูปแบบการประกันคุณภาพแบบใดก็ตามทั้งของ  สกอ. แบบ TQA หรือแบบอื่นๆ ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดผลดีทั้งสิ้น  ประเด็นอยู่ที่การเลือกนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับสภาพสังคมทั้งในปัจจุบันและอนาคต  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยระดับชาติที่ต้องพัฒนาตนเองให้ก้าวสู่มหาวิทยาลัยนานาชาติ  จำเป็นต้องมีการประกันคุณภาพให้ได้มาตรฐานในระดับสากล

 

เมื่อพิจารณาการประกันคุณภาพที่เกี่ยวข้องการพัฒนาวิชาชีพครู

จากผลการสำรวจทัศนคติของผู้ใช้บริการและผู้เข้ารับบริการการศึกษาจำนวน 5,577 คน  ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติร่วมกับสวนดุสิตโพล เมื่อเดือนสิงหาคม 2540  พบว่า  ครูประถมศึกษาและครูมัธยมศึกษาตอนต้นมีคุณภาพต่ำลงกว่าเดิมและมีความจำเป็นต้องเร่งพัฒนา  และมีครูประมาณร้อยละ 20 ตอบว่า  จริงๆ แล้วไม่ต้องการเป็นครู  เพราะเห็นว่างานหนักและรายได้น้อย  ครูและผู้บริหารจำนวนไม่น้อยที่ประพฤติตนเสื่อมเสีย  ขาดคุณภาพด้านจริยธรรม

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะกระบวนการผลิตครูไม่ได้สร้างให้นักศึกษาครูมีวิญญาณความเป็นครู  ที่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม  สังคม  เศรษฐกิจและความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี   โดยประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่ได้เข้าศึกษาต่อในคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ตั้งแต่ในระดับปริญญาตรี(พ.ศ.2542)  ปริญญาโท(2548)  จนถึงปริญญาเอก(2552)  พบว่า  แทบทุกอย่างที่เคยเป็นศึกษาศาสตร์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย  นอกจากมีอาคารเรียนหลังใหม่(ที่ไม่ค่อยได้ใช้งานสำหรับนักศึกษาปริญญาเอก)  มีการเปิดเพลงในตอนพักเที่ยง  กระบวนการจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังคงเป็นแบบบรรยาย(โดยใช้คอมพิวเตอร์เป็นสื่อในการนำเสนอเนื้อหาที่ใช้ในการเรียนการสอน)

นอกจากนี้ยังขาดระบบประกันคุณภาพเฉพาะสำหรับการผลิตบัณฑิตครู ปัจจุบันนี้สถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากมีการเปิดสอนวิชาทางด้านการศึกษา  หลักสูตรการเรียนจะแตกต่างกันไปโดยมีจุดเน้นแตกต่างกัน ไม่มีระบบการตรวจสอบและควบคุม  หรือไม่มีงานวิเคราะห์วิจัยของคณาจารย์ระดับอุดมศึกษาเลยว่ารูปแบบวิธีเรียน  วิธีสอนหรือกระบวนการผลิตลักษณะใดจะได้ครูที่มีคุณภาพมากกว่า  ดังที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครที่กล่าวว่า  หลักสูตรปัจจุบันแตกต่างจากหลักสูตรเก่าหลายด้านเพราะมีฐานคิดที่ว่าจะต้องผลิตบัณฑิตออกไปให้เป็นครูมืออาชีพ  สอนได้  สอนเก่ง  ต้องสอนและสอนอย่างเดียว  เพราะสังเกตจากการให้นักศึกษาเลือกเรียนวิชาโทภายในคณะเท่านั้น  ซึ่งวิชาโทในคณะไม่เพียงพอต่อการตอบสนองความต้องการเขาเลย  ไปบังคับมากเกินไป  เช่น  ต้องเลือกวิชาโทที่เกี่ยวกับการสอนวิชาอื่นด้วย  วิธีคิดที่แปลก คือ ครูหนึ่งคนต้องสอนได้หลายวิชาแล้วจะเอาความเป็นวิชาชีพได้อย่างไร

                ข้อสังเกตเกี่ยวกับการประกันคุณภาพภายในและภายนอกของคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ คณะศึกษาศาสตร์ใช้เกณฑ์การประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ทุกคณะใช้ร่วมกัน  ซึ่งองค์ประกอบคุณภาพการศึกษาที่ใช้เป็นแนวทางในการควบคุม  ตรวจสอบและประเมินคุณภาพการศึกษา  มี 9 ด้าน 63 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ องค์ประกอบที่ 1 ปรัชญา ปณิธาน วัตถุประสงค์ และแผนดำเนินการ  มี  2  ตัวบ่งชี้  องค์ประกอบที่ 2 การเรียนการสอน  มี 24  ตัวบ่งชี้  องค์ประกอบที่ 3 กิจกรรมการพัฒนานักศึกษา  มี 3  ตัวบ่งชี้  องค์ประกอบที่ 4 การวิจัย  มี 7  ตัวบ่งชี้  องค์ประกอบที่ 5 การบริการทางวิชาการแก่สังคม  มี 6  ตัวบ่งชี้  องค์ประกอบที่ 6 การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม  มี 4  ตัวบ่งชี้  องค์ประกอบที่ 7 การบริหารและการจัดการ  มี 12  ตัวบ่งชี้    องค์ประกอบที่ 8 การเงินและงบประมาณ  2 ตัวบ่งชี้ องค์ประกอบที่ 9 ระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา  3 ตัวบ่งชี้ (รายละเอียดตามภาคผนวก ก)  ทั้งนี้ไม่มีองค์ประกอบ  หรือตัวบ่งชี้ใดเลยที่เน้นไปที่มาตรฐานทางด้านผู้เรียนอย่างชัดเจน  เช่น

  1. ไม่มีการประเมินเกี่ยวกับคุณธรรม  จริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ของนักศึกษาโดยเฉพาะ
  2. ไม่มีการประเมินเกี่ยวกับทักษะในการเป็นครู  ความรักและการทำงานร่วมกับผู้อื่น
  3. ไม่มีการประเมินความสามารถในการคิดวิเคราะห์  สังเคราะห์  มีวิจารณญาณ  ความคิดสร้างสรรค์  คิดใตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ (หลักสูตรของคณะศึกษาศาสตร์  ไม่มีวิชาที่สอนเกี่ยวกับการคิด  ในขณะที่จะผลิตครูไปเพื่อสอนให้นักเรียนคิดเป็น)

เป็นต้น

จากการที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ที่สอนในคณะเทคนิคการแพทย์  มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  ซึ่งท่านได้บอกว่าคณะเทคนิคการแพทย์ให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตที่มีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นอย่างมาก  มีการเพิ่มองค์ประกอบที่ 10 สำหรับใช้ในการประกันคุณภาพภายในของคณะ  โดยมีตัวบ่งชี้  2 ตัวบ่งชี้  คือ  ตัวบ่งชี้ที่ 10.1 : การบริหารจัดการสถานศึกษา 3 ดี (3D) คือ  สถานศึกษามีกระบวนการบริหารจัดการเพื่อเร่งรัดพัฒนาคุณภาพผู้เรียนโดยมีการวางแผนการจัดกิจกรรม จัดสภาพแวดล้อม และสิ่งอำนวยความสะดวกในสถานศึกษา มีความร่วมมือกับทุกฝ่าย และการติดตามประเมินผลตามแนวทางการดำเนินงานของสถานศึกษา 3 ดี (3D)การกำหนดนโยบาย จัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษาตามแนวนโยบาย 3 ดี (3D)  ได้แก่

  1. ด้านประชาธิปไตย (Democracy)  มีความตระหนัก เห็นความสำคัญ ศรัทธา และเชื่อมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งรังเกียจการทุจริต และต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง
  2. ด้านคุณธรรมจริยธรรมและความเป็นไทย (Decency)  มีคุณธรรม จริยธรรม ความดีงามรู้ผิดชอบชั่วดี มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และยึดถือปฏิบัติอยู่ในวิถีชีวิต
  3. ด้านภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด (Drug - Free)  รู้จักหลีกเลี่ยงห่างไกลยาเสพติด

และตัวบ่งชี้ที่ 10.2 : ผลที่เกิดกับผู้เรียนตามนโยบาย 3 ดี (3D) คือ  มีความรู้ เจตนคติที่ดีตลอดจนเกิดพฤติกรรม  สถานศึกษาได้พัฒนาคุณภาพของผู้เรียนทั้งในด้านการจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนการจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตามนโยบาย 3 ดี (3D) เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาธิปไตย รู้จักสิทธิและหน้าที่ของตน เคารพในสิทธิของผู้อื่น มีวินัย มีความประหยัด มีความกตัญญูกตเวที ซื่อสัตย์สุจริต รู้และตระหนักในโทษภัยของยาเสพติด สร้างภูมิคุ้มกันจากสิ่งเสพติดและอบายมุขต่าง ๆ ตลอดจนมีสุนทรียภาพและลักษณะนิสัยด้านศิลปะ ดนตรีและการกีฬาเพื่อให้ผู้เรียนสามารถดำรงตนอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

                หากคณะเทคนิคการแพทย์ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการผลิตบัณฑิตที่มี 3 ดี (3D)  ผมอาจจะไม่มีข้อเปรียบเทียบได้อย่างชัดเจนว่า  คณะศึกษาศาสตร์จะอยู่อย่างนิ่งเฉยเหมือนเดิมหรือควรจะปรับตัวเองให้ได้สมกับการเป็นคณะที่มุ่งผลิตบัณฑิตที่จะเป็นครู  ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่สร้างคนให้เป็นคนที่เก่ง ดี มีสุข  อย่างสมบูรณ์

แนวทางการแก้ไขปัญหา

                ผมมองว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาการผลิตครู  ให้มีคุณภาพนั้นจะต้องมีการกำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้  ที่เกี่ยวกับการผลิตครู  ตั้งแต่กระบวนการรับเข้า  กระบวนการผลิต  และกระบวนการเข้าสู่ความเป็นครู  ซึ่งที่ผ่านมาคณะมักจะทำหน้าที่ผลิตครู  แต่ไม่ได้มีการสนับสนุนให้ได้งานที่เหมาะสม  ทำให้มีหลายๆ  คนพลาดโอกาสในการเป็นครูหรือเลือกที่จะทำงานด้านอื่นแทนที่จะทำงานให้ตรงกับที่ได้ร่ำเรียนมา  และที่สำคัญ คือ  ไม่ได้กำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้ของบัณฑิตที่สำเร็จการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ไว้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

เมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2542  ในหมวดและมาตราดังต่อไปนี้

หมวด 7  มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา

มาตรา 47 ให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบการประกันคุณภาพภายใน และระบบการประกันคุณภาพภายนอก ระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

มาตรา 48 ให้หน่วยงานต้นสังกัดและสถานศึกษาจัดให้มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีการจัดทำรายงานประจำปีเสนอต่อหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเปิดเผยต่อสาธารณชน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และเพื่อรองรับการประกันคุณภาพภายนอก

มาตรา 49 ให้มีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา มีฐานะเป็นองค์การมหาชนทำหน้าที่พัฒนาเกณฑ์ วิธีการประเมินคุณภาพภายนอก และทำการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อให้มีการตรวจสอบคุณภาพของสถานศึกษา โดยคำนึงถึงความมุ่งหมายและหลักการ และแนวการจัดการศึกษาในแต่ละระดับตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้  ให้มีการประเมินผลคุณภาพภายนอกของสถานศึกษาทุกแห่งอย่างน้อยหนึ่งครั้งในทุกห้าปีนับตั้งแต่
การประเมินครั้งสุดท้าย และเสนอผลการประเมินต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน

มาตรา 50 ให้สถานศึกษาให้ความร่วมมือในการจัดเตรียมเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ที่มีข้อมูล เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา ตลอดจนให้บุคลากร คณะกรรมการของสถานศึกษา    รวมทั้งผู้ปกครองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสถานศึกษาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในส่วนที่พิจารณาเห็นว่า เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจของสถานศึกษา ตามคำร้องขอของสำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษาหรือบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง ที่ทำการประเมินคุณภาพภายนอกของสถานศึกษานั้น

มาตรา 51 ในกรณีที่ผลการประเมินภายนอกของสถานศึกษาใดไม่ได้ตามมาตรฐานที่กำหนดให้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา จัดทำข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขต่อหน่วยงานต้นสังกัด เพื่อให้สถานศึกษานั้นปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หากมิได้ดำเนินการ  ดังกล่าวให้สำนักงานรับรองมาตรฐาน และประเมินคุณภาพการศึกษารายงานต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานหรือคณะกรรมการการอุดมศึกษาเพื่อดำเนินการให้มีการปรับปรุงแก้ไข

หมวด 7  ครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา

มาตรา 52   ให้กระทรวงส่งเสริมให้มีระบบ กระบวนการผลิต การพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐานที่เหมาะสมกับการเป็นวิชาชีพชั้นสูง โดยการกำกับ  และประสานให้สถาบันที่ทำหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ รวมทั้งบุคลากรทางการศึกษาให้มีความพร้อมและมีความเข้มแข็งในการเตรียมบุคลากรใหม่และการพัฒนาบุคลากรประจำการอย่างต่อเนื่องรัฐพึงจัดสรรงบประมาณและจัดตั้งกองทุนพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาอย่างเพียงพอ

และตามยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการศึกษา (พ.ศ.2551-2555)  ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  กระทรวงศึกษาธิการ  ในยุทธศาสตร์ที่ 2  เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพคุณภาพครู  คณาจารย์  และบุคลากรทางการศึกษา  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครู  คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาพอเพียงตามเกณฑ์  มีคุณภาพสามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพมาตรฐาน  รวมทั้งมีระบบการผลิตและพัฒนาครู  คณาจารย์  และบุคลากรทางการศึกษา  เพื่อส่งเสริมคนดี  คนเก่งเข้ามาสู่วิชาชีพและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น  โดยมีการกำหนดกลยุทธ์/มาตรการสำคัญ  ที่เกี่ยวกับการผลิตครู  คือ  พัฒนาสถาบันอุดมศึกษาให้เป็นสถาบันการศึกษาแห่งชาติหรือ Nation Institute of Education ที่มีความเป็นเลิศด้านการผลิตและพัฒนาครู  เน้นภารกิจการผลิตครูใหม่  การพัฒนาครูประจำการและการวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านวิชาชีพครู  ทั้งนี้โรงเรียน  สถาบันการฝึกหัดครู  และสถาบันที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อที่จะประกันว่าการพัฒนาวิชาชีพครูนั้น  ต้องเริ่มต้นจากการเป็นนักศึกษาครูจนเข้าสู่ความเป็นครูโดยตลอดชีวิต

กอปรกับที่  อาจารย์วิชัย  ตันศิริ กล่าวว่า  ควรมีการพัฒนาระบบประกันคุณภาพด้านหลักสูตรคณาจารย์ กระบวนการผลิตบัณฑิตครู และคุณภาพบัณฑิตครู ให้สถาบันผลิตครูทุกแห่งใช้หลักประกันคุณภาพเดียวกัน และมีการปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรครูให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและ สังคมโลก โดยมีกระบวนการปลูกฝังลักษณะนิสัย บุคลิกภาพ อย่างเหมาะสม มีกระบวนการกล่อมเกลาอุปนิสัยและค่านิยมอย่างครบวงจรของการดำเนินชีวิต ตั้งแต่การกินอยู่หลับนอน พักผ่อนหย่อนใจ เล่นกีฬา การศึกษาเล่าเรียน ตลอดจนความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อน อาจารย์ ด้วยกระบวนการ residential college คือ อาจารย์และนักศึกษาจะอยู่ด้วยกัน มีการรับประทานอาหาร การศึกษาค้นคว้า การอภิปรายแลกเปลี่ยนพูดคุยและการถกปัญหาในกลุ่มเล็ก (tutorial group) กันเป็นประจำ

ดังนั้น  การจะพัฒนาวิชาชีพครูให้ประสบความสำเร็จได้นั้น  ต้องมีการวิจัยเพื่อกำหนดมาตรฐานและตัวบ่งชี้เฉพาะของสถาบันผลิตครู  ในทุกองค์ประกอบ  และสามารถนำไปใช้ได้จริงอย่างเร่งด่วน

 

หมายเลขบันทึก: 400261เขียนเมื่อ 1 ตุลาคม 2010 18:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 00:39 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีค่ะ ขอชื่นชมที่สามารถเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างสอดคล้อง แต่ในแนวคิดของพระพุทธองค์ กล่าวว่า อย่าเชื่อในคำกล่าวอ้าง ต้องเชื่อเมื่อลองปฏิบัติ ความน่าเชื่อถือของบทความที่สะท้อนคิดนั้นจะมีคุณภาพน่าเชื่อถือได้เพียงใด ควรต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง

ความครบถ้วนของข้อมูลที่นำมาเปรียบเทียบเป็นหัวใจสำคัญประการหนึ่งในการวิเคราะห์ คณะศึกษาศาสตร์เป็นคณะที่สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เช่นเดียวกับคณะเทคนิคการแพทย์ ย่อมใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งสิ้น สำหรับทักษะ คุณลักษณะวิชาชีพครู เป็นสิ่งที่พวกเราทุคนต้องตระหนักและปฏิบัติ มิใช่ใช้คุณนะทำ(คุณธรรม)อย่างเดียว ข้อมูลที่นำเสนอสะท้อนว่า 1.ท่านยังหาข้อมูลยังไม่ครบถ้วนเพียงพอ 2.การกล่าวอ้างในพื้นที่สาธารณะต้องระวังภาษาและการกล่าวทางลบ ที่อาจส่งผลกระทบต่อสถาบัน สำหรับปัจจัยข้อต่อไป ให้ลองค้นหาแลกเปลี่ยนในพื้นที่นี้ดูนะคะ เพราะมีผู้ทรงวุฒิมากมายในเวที่นี้ อย่างไรก็ตาม การที่ได้นำเสนอนั้นได้สะท้อนถึงความตั้งใจ ความสนใจอย่างมากของผู้เขียนในการไฝ่เรียนใฝ่รู้ ของชมเชยให้กำลังใจนะคะ อ.นิ่มอนงค์

กราบเรียนท่านอาจารย์

ขอกราบขอบพระคุณที่อาจารย์ได้สะท้อนมุมมองของอาจารย์ ซึ่งช่วยให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเก็บรวบรวมข้อมูล กอปรกับการที่ข้าพเจ้าได้ใช้ข้อมูลตามประสบการณ์การเป็นนักศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก คณะศึกษาศาสตร์ มช. มาซึ่งก็ยึดติดในภาพของนักศึกษาที่ต้องการได้รับความอนุเคราะห์ช่วยเหลือจากคณะ โดยไม่ได้นึกว่าตนเองต้องทำอะไรให้คณะบ้าง แต่อย่างไรก็ตามการสะท้อนคิดของผมก็มุ่งหวังว่าจะเกิดสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสถาบัน ประเด็นใดที่เป็นด้านลบบ้างก็ขอให้ผู้อ่านทุกท่านเข้าใจตรงกันว่าเป็นมุมมองของนักศึกษา โดยผมเชื่อว่าคณะศึกษาศาสตร์เป็นคณะที่ผมรักและศรัทธาเสมอมา และต้องการให้คณะของเรามีความเจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ด้วยความเคารพอย่างสูง......ปริวัตร เขื่อนแก้ว

สวัสดีค่ะ ลูกศิษย์ที่รัก หาวารสารตีพิมพ์บทความบ้างหรือยัง ลอง search หารแนวร่วมดูนะว่าใครคิดเห็นคล้าย แตกต่างจากเราบ้าง อาจารย์ว่าจะทำให้ใจเรากว้าง ขยายวงรับความคิดเหนมากขึ้น ให้กำลังใจนะ อย่าใจฝอ ถ้าใคร ment อะไรบ้าง เป็นเรื่องปกติ ถ้าไม่รัก ไม่มีใครมา ment หรอกนะคะ รักและเป็นห่วงเสมอ อ.นิ่ม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท