ประวัติบ้านผักกาดหญ้า


 

พระครูพรหมจริยาภิรม (พรหม สุปญฺโญ)

บูรพาจารย์ผู้ก่อตั้งวัดสุปัญญาราม ผู้มีอุปการคุณกับชาวบ้านผักกาดหญ้า

 

 

 

พระราชสิทธาจารย์ (บุญเรือง ปภสฺสโร)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสุปัญญาราม  บูรพาจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านผักกาดหญ้า

 

พระครูวินัยรสสุนทร (รส ปญฺญาพโล)

อดีตเจ้าอาวาสวัดสุปัญญาราม บูรพาจารย์ผู้เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้าน

            

 

  คำขวัญบ้านผักกาดหญ้า     

"  ผักกาดหญ้า ผ้าไหมชั้นนำ  เลิศล้ำเรือแข่ง แหล่งบัณฑิต ผลผลิตชั้นดี บารมีเจ้าปู่ขุนศักดิ์" 

    


ต้นผักกาดหญ้า ต้นนี้ปลูกที่โรงเรียนบ้านผักกาดหญ้าโรตารี่อุทิศ สัญลักษณ์หมู่บ้าน

 

     บ้านผักกาดหญ้าถือว่าเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาน่าศึกษาเพราะเป็นหมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในหลาย  ๆ  ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องประเพณีวัฒนธรรม   ที่ผักกาดหญ้าก็มีประเพณีแข่งเรือยาว ซึ่งก็ไม่รู้ว่าประเพณีแข่งเรือยาวนี้เริ่มมีขึ้นในบ้านผักกาดหญ้าในครั้งใด   ในด้านบุคลากรทางศาสนา   ในอดีตก็เคยมีพระเถระผู้ใหญ่ซึ่งเป็นที่เคารพนับถือของคนในจังหวัดร้อยเอ็ด   หรือในจังหวัดอื่น  ๆ   ซึ่งก็เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าหลวงพ่อเมืองเสล ฯ   ซึ่งนามจริง  ๆ   ของท่าน   ก็คือ     พระราชสิทธาจารย์  (บุญเรือง   ปภสฺสโร)  และอีกรูปหนึ่งคือ   พระเดชพระคุณ พระครูวินัยรสสุนทร  (รส ปญฺญาพโล)   ซึ่งพระคุณท่านทั้ง   ๒   รูป   ในคราวแรกที่อุปสมบท ท่านทั้งสองก็จำพรรษาอยู่ที่บ้านผักกาดหญ้านี้   และเคยเป็นเจ้าอาวาสที่วัดสุปัญญาราม   อยู่หลายปี   ในที่สุดท่านก็ได้รับบัญชาจากพระผู้ใหญ่ให้ไปเป็นเจ้าอาวาสที่วัดมิ่งเมือง   อ.เสลภูมิ   ในกาลต่อมา ในด้านการศึกษาก็ปรากฏว่าชาวผักกาดหญ้าเป็นหมู่บ้านที่ฝักใฝ่ในการศึกษา   ลูกหลานชาวผักกาดหญ้าก็ล้วนแล้วแต่เป็นข้าราชการเกือบทุกครัวเรือน   ในด้านเป็นร่องรอยแหล่งอารยธรรมแต่โบราณก็ปรากฏว่ามีหินศิลาเป็นรูปสี่เหลี่ยมขนาดกว้าง-ยาวประมาณ   ๒   เมตร   ตรงกลางมีรู ซึ่งขุดพบที่บริเวณนาของชาวบ้าน ภายหลังนำมาไว้ที่วัด  (หินลักษณะนี้ ข้าพเจ้าเคยเห็นที่จังหวัดอุบลฯ และที่สุโขทัย มีปรากฏมากมาย  เห็นเขาเขียนเป็นภาษาบาลีว่า "ปีฐะปิณฑิกา" ก็คือแท่นสำหรับรองรับศิวลึงค์นั่นเอง เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งในศาสนาฮินดู ซึ่งแผ่อิทธิพลมาในแถบนี้ก่อนพระพุทธศาสนา... /พระมหาวินัย ภูริปัญโญ)  ในด้านบุคคลที่มีความสำคัญในอดีต   ก็ปรากฏมีเรื่องราวเจ้าปู่ขุนศักดิ์   ซึ่งประวัติเล่าว่าท่านเคยเป็นทหารมาก่อน   แล้วมาเสียชีวิตในบริเวณนี้ จนเป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านในกาลต่อมา   ในด้านเกษตรกรรมบ้านผักกาดหญ้าก็เป็นหมู่บ้านหนึ่งที่อุดมสมบูรณ์ มีแม่น้ำชีไหลผ่าน มีแหล่งน้ำธรรมชาติหลายแห่ง ทั้งพื้นดินก็มีความอุดมสมบูรณ์ ด้วยประการดังกล่าวมานี้      ข้าพเจ้าจึงได้รวบรวมเสาะหาประวัติเกี่ยวกับชุมชนผักกาดหญ้าจากหนังสือเก่า ๆ ที่ผู้รู้ท่านทำไว้ แล้วนำมาไว้ในที่นี้  เพื่อเป็นประโยชน์ในการศึกษาค้นคว้าของคนในชุมชน และคนอื่นๆ  ที่สนใจในเรื่องประวัติ    ประวัติผักกาดหญ้าเรื่องราวมีดังนี้

 

 

 

เจ้าปู่ขุนศักดิ์ รุ่นฉลองอุโบสถ ปี ๒๕๔๕

สิ่งศักสิทธิ์ที่ชาวบ้านผักกาดหญ้า และชาวตำบลนาเลิงเคารพนับถือ

 

 

หินก้อนนี้ขุดได้จากนาของชาวบ้าน นำมาไว้ที่วัด

 

     ในสมัย   เมื่อยังไม่มีชื่อหมู่บ้าน   แต่เดิมบ้านผักกาดหญ้า   เป็นป่ากะยาเลย   มีไม้ต่าง   ๆ  มากมาย   เช่นไม้ประดู่   ไม้แดง   ไม้เต็ง   ไม้รัง   ไม้ยาง   ไม้หลุมพอ   ฯลฯ   และมีผักผักกาดหญ้าเป็นส่วนมาก ผักชนิดหนึ่ง   มีต้นเป็นพุ่มสูงประมาณ   ๑-๒   เมตร   ลำต้นและกิ่งเป็นหนามแหลมคม   ใบแสกคล้ายใบกระถิน   มีกลิ่นฉุน    รสอมเปรี้ยวมีดอกสีเหลือง    ใช้รับประทานกับอาหารจำพวกห่อหมก   เช่นหมกหน่อไม้   หรือรับประทานสด  ๆ   กับ   ลาบ   ก้อย   เรียกตามภาษาอีสานว่า   “ต้นผักกาดหญ้า”   ทุกวันนี้เห็นสูญพันธุ์ไปมาก   มีเหลือปลูกไว้เป็นสัญลักษณ์บ้านเพียงเล็กน้อย   คือเห็นมีปลูกที่ศาลาอิสรานุสรณ์   ๑   ตรงทางเข้าหมู่บ้าน   ที่โรงเรียนก็มี   ที่บ้านคุณตาสมจิตร   โฮมแพนก็มี   ที่บ้านยายติ๋มก็มี   ที่บ้านคุณยายเทียม   คุณตาลีก็มี   นี่เท่าที่เห็นชัด    ส่วนที่อื่นไม่เห็น   แต่ก็คงจะมีอยู่ประปราย ความจริงก็ควรจะหามาปลูก   เพราะพื้นดิน   อากาศ   เหมาะแก่ต้นผักชนิดนี้    และจะได้เห็นเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน นับวันผักกาดหญ้าจะสูญพันธุ์

 

     พูดถึงสัตว์ป่าแต่เดิมในอดีตก็มีมาก   เช่น   นกกระบัว   นกเขาเขียวออดออ   นกเป้า   นกเป็ดน้ำ   สาระพัดนก   และมีหนองน้ำใหญ่   ๆ   อยู่หลายหนองด้วยกัน  เช่น  หนองนาแซง   หนองสองห้อง   หนองหล่ม   หนองเสือน้อย   หนองผักก้าม

 

     ต่อมามีพ่อใหญ่สุวอ   ซึ่งเป็นคนบ้านขวาวใหญ่   มาเลี้ยงช้าง    แล้วปลูกกระท่อมเล็กๆนอนเลี้ยงช้างอยู่   พอถึงเวลาน้ำหลาก   ก็ขึ้นไปพักอยู่บ้านขวาว   พอน้ำลดก็ลงมาเลี้ยงช้างอีก   นานเข้าก็มีเพื่อนฝูงบ้านเดียวกันมาด้วย   ที่ใดพอเป็นที่นาก็พากันถากถางไป   นานเข้าก็กลายเป็นไร่นากันหมด

 

     เมื่อ   พ.ศ.   ๒๔๔๐ ก็เลยพากันปลูกบ้านขึ้นเป็นที่อยู่อาศัย   ก็เลยกลายเป็นหมู่บ้านและขนานนามว่า   "บ้านผักกาดหญ้า"   เพราะได้ถางป่าผักกาดหญ้าเป็นที่ปลูกบ้าน   ตอนแรกมีประมาณ   ๓๐ หลังคาเรือน

 

     พ.ศ.   ๒๔๔๕   เลยพร้อมใจกันตั้งวัดขึ้นที่เหนือบ้าน   ให้ชื่อว่า   วัดเหนือ    ตั้งอยู่ที่บริเวณโรงเรียนบ้านผักกาดหญ้าโรตารี่อุทิศในปัจจุบัน   และได้ทำสีมา  (สิมน้ำ)  ไว้ที่หนองนาพ่อใหญ่สุวอ   แม่แป้ แต่ก่อนยังไม่มีนามสกุล   ที่แห่งนั้นจึงได้นามว่าหนองสิมมาเท่าทุกวันนี้    ปัจจุบันนี้ได้กลายเป็นนาของคุณตานรินทร์ไปแล้ว   บ้านผักกาดหญ้านี้   ได้ตั้งมาเป็นสองคุ้ม   เพราะมีร่องน้ำเป็นที่กั้นเขตแดน เรียกว่า   "ร่องหว้า"   เพราะมีต้นหว้าใหญ่อยู่ที่นั้น   การไปมาของชาวบ้านสองคุ้ม   ก็ได้ทำสะพานไม้โดยใช้กระดานแผ่นเดียวต่อกันไป    ยาวในราวสิบกว่าวาจึงข้ามได้

 

 

อุโบสถวัดสุปัญญารามในปัจจุบัน

 

   ต่อมาทางอำเภอเสลภูมิ   มีนายขัตติยะ   ประทุมทิพย์   เป็นนายอำเภอ   แต่ก่อนนายอำเภอคนนี้เคยเป็นนายอำเภอมาจากกาฬสินธุ์ ตอนนั้นร้อยเอ็ดยังไม่ได้ยกฐานะเป็นมณฑล   ก็ได้ไปขึ้นที่กาฬสินธุ์อยู่ก่อน   นายอำเภอจึงได้มาตั้ง   "พ่อใหญ่ผ่าย"   ขึ้นเป็นกวนบ้าน คือผู้ใหญ่บ้านในสมัยนี้

 

     ประมาณ   พ.ศ.๒๔๔๘   มีญาครูสา   เจ้าอาวาสวัดเหนือ   ได้ย้ายวัดเหนือขึ้นไปอยู่ที่ดอนส้มโรง   ริมฝั่งชี   มีท่าร้านหญ้า   ทางคุ้มใต้เห็นว่าวัดเหนือไกลจากคุ้มใต้มาก   จึงได้นิมนต์เอา   "หลวงสังกะราช"   มาจากทางบ้านหนาด   อำเภอดินแดง   (ธวัชบุรีในปัจจุบัน)   ให้พาญาติโยมบ้านผักกาดหญ้า   ตั้งวัดขึ้นอีกวัดหนึ่งเรียกชื่อว่า   "วัดใต้"   ต่อมาความเจริญได้ทวีขึ้นโดยลำดับ   นายอำเภอขัตติยะ จึงได้ยกฐานะพ่อใหญ่ผ่ายขึ้นเป็นตาแสง   (กำนัน)

 

     บรรพบุรุษผู้นำกลุ่มที่อพยพมาจากแหล่งต่าง  ๆ   ได้ลงหลักปักฐานสร้างเป็นหมู่บ้านขึ้น   โดยให้ชื่อว่า   "บ้านผักกาดหญ้า"   โดยถือเอาชื่อผักกาดหญ้าที่มีอยู่เป็นจำนวนมากเป็นชื่อ    ต่อมาบ้านผักกาดหญ้าได้แบ่งออกเป็น   ๒   คุ้ม   คือคุ้มเหนือและคุ้มใต้   กำหนดเขตคลองร่องหว้าเป็นแดน   และได้ตั้งหมู่บ้านเป็นหลักปกครอง   คุ้มเหนือเป็นเขตหมู่ที่   ๑๒   ตำบลกลาง   ปัจจุบันเป็นหมู่ที่   ๓   ตำบลนาเลิง   คุ้มใต้เป็นเขตหมู่บ้าน   ที่  ๑๓   ตำบลกลาง   ปัจจุบันเป็นหมู่ที่   ๔   ตำบลนาเลิง

 

     บรรพบุรุษผู้อพยพมาตั้งบ้าน    ตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าในหมู่หมู่บ้าน   ผู้ที่สร้างบ้านแปลงเมืองแห่งนี้   มีเป็นกลุ่ม  ๆ   ดังนี้

 

     กลุ่มที่   ๑   มีพ่อใหญ่วรราช   แม่ใหญ่แป้    เป็นหัวหน้า   อพยพมาจากบ้านขวาว   กลุ่มนี้มีทายาทสืบมา  คือพ่อใหญ่บุตรา   พรหมชัยนันท์   โยมบิดาของหลวงปู่พระราชสิทธาจารย์  

     กลุ่มที่   ๒   มีพ่อใหญ่แก้ว    อพยพมาจากบ้านโนนแฮด   หัวดอน อำเภออาจสามารถ   มีทายาทติดตาม   คือ   พ่อใหญ่ชานนท์   อัตโน (จารย์ครูโส)   เป็นบิดาของพ่อใหญ่ฮ้อยสม   อัตโน

     กลุ่มที่   ๓   พ่อใหญ่ปุ่ง   อพยพมาจากบ้านหนองหล่ม   ซองแมว อำเภอธวัชบุรี   มีทายาทติดตาม   คือ   แม่ใหญ่พิมพ์    เป็นมารดาของพ่อใหญ่อักษร   (คำ   พลกลาง)

     กลุ่มที่   ๔   มีพ่อใหญ่จันทบาล อพยพมาจากบ้านหวาย   ไม่ทราบว่าเป็นอำเภอไหน   จะลองสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านดูอีกที

 

บรรพบุรุษชาวบ้านผักกาดหญ้าคุ้มเหนือ

๑.พ่อใหญ่ชานนท์     อัตโน     มาจากบ้านโนนแฮด

๒.พ่อใหญ่บุตรา   พรหมชัยนันท์   มาจากบ้านโนนแพง      อ.เสลภูมิ

๓.พ่อใหญ่สุรินทร์      โชติสว่าง    มาจากบ้านขวาว    อ.เสลภูมิ

๔.พ่อใหญ่ดี      อนุฮาด     มาจากบ้านกุดแข้    อ.เสลภูมิ

๕.พ่อใหญ่สุพรรณ      ชิชัย     มาจากบ้านบ้านขวาว     อ.เสลภูมิ

๖.พ่อใหญ่ทอง    มหาพล       มาจากบ้านขมิ้น     อ.ธวัชบุรี

๗.พ่อใหญ่อักษร   (คำ  พลกลาง)  มาจากบ้านหนองหล่มซองแมว

   อ.อาสามารถ

๘.พ่อใหญ่โท     ปราบสงบ    มาจากบ้านหัน     อ.เสลภูมิ

๙.พ่อใหญ่ธรรมา     สาระจูม      มาจากบ้านหวาย

๑๐.พ่อใหญ่โท         สงเคราะห์      มาจากบ้านโนนแฮด

๑๑.พ่อใหญ่ญา      สิงสู่ถ้ำ      มาจากบ้านขวาว  อ.เสลภูมิ

๑๒.พ่อใหญ่โส      พลภวา     มาจากบ้านขมิ้น    อ.ธวัชบุรี

๑๓.แม่ใหญ่พั้ว     พลกลาง  มาจากบ้านหนองหล่มซองแมว

    อ.อาสามารถ

 

บรรพบุรุษชาวบ้านผักกาดหญ้าคุ้มใต้

๑.พ่อใหญ่เป็ง   แสงเสดาะ     มาจากบ้านหัน      อ.เสลภูมิ

๒.พ่อใหญ่เคน     กลางบุรัมย์    มาจากบ้านน้ำคำ    อ.อาสามารถ

๓.พ่อใหญ่ขุนเทพ    พลคชา     มาจากบ้านโนนแฮด

๔.พ่อใหญ่ราชโยธา    เหมโส     มาจากบ้านโนนแฮด

๕.พ่อใหญ่ซาเนตร    กลางบุรัมย์      มาจากบ้านเหล่าคำไซ

๖.พ่อใหญ่พรหมวิเศษ      มาจากบ้านโนนแฮด

๗.พ่อใหญ่ฮ้อยสม       อัตโน     เกิดที่บ้านผักกาดหญ้า

๘.พ่อใหญ่เลื่อน    ศรแผลง    มาจากบ้านกุดแข้       อ.เสลภูมิ

๙.พ่อใหญ่พล    ไกรฤาชา   เกิดที่บ้านผักกาดหญ้า

 

     เมื่อคนหลายกลุ่มเข้ามารวมกันแล้วก็ได้    ทำความเจริญขึ้นโดยลำดับ   ประมาณ   พ.ศ.   ๒๔๕๐    ทางวัดใต้ได้ก่อตั้งอุโบสถชั่วคราวขึ้นหลังหนึ่ง   ทำเป็นเสาไม้   ใช้แผลงกั้นไว้   สมัยนั้นหลวงตาสังกะราชเป็นพระอุปัชฌาย์   ประมาณ   พ.ศ.๒๔๖๐    จึงได้ยกขึ้นเป็นอุโบสถถาวร   ใช้คอนกรีตสมัยนั้น   คือใช้หินปูนผสมกับน้ำยางบงและน้ำหนังควาย   สำหรับปูนก็พร้อมกันไปเก็บเอาที่ท่าบ้านน้ำคำ   ที่ปัจจุบันชาวบ้านเรียกว่าปากขุมปูนเดี๋ยวนี้    และรับซื้อหินปูนที่พ่อค้าเขาเอามาจากภูเขามาขาย   ใช้ไฟเผาให้เป็นปูนแล้ว   ผสมกับน้ำหนังควายและน้ำยางบง    ให้เหนียวแล้วทาเป็นคอนกรีตต่อไป

 

     วัดใต้   (วัดสระทอง)   สมัยพระทองหลั่น   คมฺภีโร   เป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.  ๒๔๗๕   ได้ยกศาลานาบุญขึ้นหลังหนึ่งทำด้วยดินเผา    และได้ทำกำแพงดินเผาล้อมวัดพอดี   ทำอยู่   ๔   ปี   ทั้งกำแพงทั้งศาลา จึงสำเร็จ   นับว่าเจริญมากในสมัยนั้น    และมีการเรียนนักธรรมกันมากในสมัยนั้น    โดยพระอาจารย์ทองหลั่น   คมฺภีโร   เป็นอาจารย์สอน   มีถึงนักธรรมชั้นเอก   การศึกษาค่อย  ๆ    เจริญมาโดยลำดับตามยุคตามสมัย   ต่อไปนี้ราว   พ.ศ.  ๒๔๗๘    อาจารย์สอนปริยัติธรรมก็ได้ลาสิกขาออกไป   เป็นธรรมดา    แต่การศึกษาธรรมวินัยก็ยังคงเป็นไปตามสภาพเดิม

 

     พ.ศ.  ๒๔๘๐   มีท่านพระครูพรหมจริยาภิรม    มาจากทางวัดเกตุการาม จังหวัดสมุทรสงคราม   แต่มาตุภูมิของท่านอยู่ที่บ้านขวาวใหญ่    ตำบลขวาว อำเภอเสลภูมินี่เอง   ได้มายกฐานะวัดเหนือขึ้นเป็นวัดสังกัดธรรมยุติกวงศ์   และขนานนามว่า   "วัดสุปัญญาราม"  ตามนามฉายาของท่านเอง ท่านพระครูพรหม นามฉายาว่า "สุปญฺโญ"   ท่านองค์นี้นับว่าเชี่ยวชาญมาก    มองเห็นการณ์ไกลพอสมควร   เห็นว่าบ้านหนึ่งมีสองนิกายต่อไปอาจเกิดปัญหาขึ้น   ท่านจึงมาเปลี่ยนแปลงวัดใต้เป็นวัดธรรมยุตอีกเหมือนกัน   ขนานนามว่า   "วัดสระทอง"  ได้มอบให้หลวงพ่อ   "พระราชสิทธาจารย์"    มาเป็นเจ้าอาวาส    สมัยที่พระคุณท่านยังเป็น   "ญาคูเรือง"   อยู่    สมัยนี้การศึกษาพระปริยัติธรรมก็นับว่าเจริญขึ้นมาโดยลำดับ

 


หนังสือครั้งฉลองวัดสุปัญญาราม พ.ศ. ๒๔๘๒ หลักฐานที่กล่าวถึงบ้านผักกาดหญ้า และวัดสุปัญญาราม

 

 

 

หนังสือวิสุทธิมัค ที่ท่านพระครูพรหมจริยาภิรมย์ได้สร้างถวายวัดสุปัญญาราม

เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๖ ราคาเล่มละ ๓ บาท เป็นหนังสือเล่มใหญ่ 

 

     ผู้ใหญ่บ้าน   แบ่งเป็น   ๒   หมู่บ้าน   แต่ก่อนเป็นหมู่ที่   ๑๒-๑๓ ตำบลกลาง    ต่อมาแยกเป็นตำบลนาเลิง

หมู่บ้านผักกาดหญ้า   คุ้มเหนือ   เป็นหมู่ที่   ๓   ตำบลนาเลิง

หมู่บ้านผักกาดหญ้า    คุ้มใต้      เป็นหมู่ที่  ๔     ตำบลนาเลิง

 

หมู่ที่   ๓   ตำบลนาเลิง   มีผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว ๗ คน 

๑.พ่อใหญ่อักษร        (คำ  พลกลาง)

๒.พ่อใหญ่กัณหา       สงเคราะห์

๓.ผู้ใหญ่โชติ            แสงเสดาะ   

๔.ผู้ใหญ่ประวัติ         บุญศิริ

๕.ผู้ใหญ่สมผล         ทิพยมาตย์

๖.ผู้ใหญ่วิบูลย์          สิงห์สู่ถ้ำ

๗.ผู้ใหญ่บุญเลี้ยง สุดเสน่ห์

ปัจจุบันมีผู้ใหญ่รังษี พรหมชัยนันท์ เป็นผู้ใหญ่บ้าน

 

หมู่ที่   ๔   ตำบลนาเลิง   มีผู้ใหญ่บ้านมาแล้ว   ๘   คน

๑.พ่อใหญ่ฝ่าย     (เกิดที่บ้านโนนแฮด   บิดาแม่ย่าทา  ขุนเทพ)

๒.พ่อใหญ่พิมพ์    (ซาเนตร)   กลางบุรัมย์

๓.พ่อใหญ่สม     อัตโน

๔.พ่อใหญ่พล      ไกรฤาชา

๕.พ่อใหญ่ผลู(ผู)    พลคะชา

๖.พ่อใหญ่ทองดี      สิงห์ศรีโว

๗.ผู้ใหญ่ทวี             เหมโส

๘.ผู้ใหญ่สุปัญ          แก้วโสภา

ปัจจุบัน   ผู้ใหญ่โกศล    กรมสิงห์   เป็นผู้ใหญ่บ้าน

 

สถานที่สำคัญของหมู่บ้าน

๑.วัดสุปัญญาราม

๒.วัดสระทอง

๓.คารวะสถานปู่ขุนศักดิ์

๔.คารวะสถานปู่คำสิงห์    

 

ในสมัยที่ผู้ใหญ่สมผล ทิพยมาตย์ เป็นผู้ใหญ่บ้านได้แบ่งบ้านผักกาดหญ้า หมู่ ๓ ออกเป็น ๙ คุ้ม ดังนี้ 

๑.  คุ้มเพชรบูรพา   หัวหน้าคุ้ม นายกุศล  สิทธิศาสตร์

๒.  คุ้มสุปัญญารามอนุสรณ์   หัวหน้าคุ้ม  นายเฉลิม  สิงห์ไกรหาญ

๓.  คุ้มพินัยธรเรืองราช    หัวหน้าคุ้ม  นายสมหมาย  อุ่นผ่อง

๔.  คุ้มเมรุมาศเรืองศรี    หัวหน้าคุ้ม  นายยศ  กิ่งไทสงค์

๕.  คุ้มโรตารี่เกรียงไกร    หัวหน้าคุ้ม  นายสายเทพ  สิงห์สีโว

๖.  คุ้มสุริยาเรืองเดช    หัวหน้าคุ้ม  นายสำราญ  กัณหา

๗.  คุ้มรัตนเศรษฐ์ดำเนิน    หัวหน้าคุ้ม  นายบุญเลี้ยง  สุดเสน่ห์

๘.  คุ้มศิวิลัยร่องหว้า    หัวหน้าคุ้ม  นายวรานุกูล  เหมโส

๙.  คุ้มทุ่งม่องพัฒนา   หัวหน้าคุ้ม  นายประสิทธิ์  ศรีผาวงศ์

 

ข้อมูลประชากร

 บ้านผักกาดหญ้าหมู่ ๓ มีจำนวน ๑๐๖ หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด ๕๗๗ คน แยกเป็นชาย ๓๐๔ คน หญิง ๒๗๓ คน

-  เด็ก ๐-๕ ปี มี ๓๒ คน   เด็กวัยเรียน ๖-๑๔ ปี ๕๗  คน

-  วัยรุ่น ๑๕- ๑๙ ปี มี ๓๙ คน   วัยทำงาน ๒๐ –๖๐ ปี มี ๓๔๖ คน

-  ผู้สูงอายุ ๖๐ ปีขึ้นไป ๑๑๒ คน   ผู้พิการ ๒๘ คน หญิงมีครรภ์ ไม่มี

 -  ผู้ป่วยเบาหวาน ๓๒ คน   ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ๒๘ คน

 

พื้นที่และอาณาเขตติดต่อ

บ้านผักกาดหญ้าหมู่ที่ ๓  ต.นาเลิง   อ.เสลภูมิ  จ.ร้อยเอ็ด  มีเนื้อที่ประมาณ  ๑,๙๐๐ ไร่    แยกเป็นพื้นที่ทำการเกษตร   ๑.๕๕๐   ไร่  เป็นที่อยู่อาศัย   ๓๕๐  ไร่

 

มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ดังนี้

ทิศเหนือ          ติดต่อกับ      ลำน้ำชี

ทิศตะวันออก   ติดต่อกับ      บ้านแห่ หมู่ที่ ๙

ทิศตะวันตก     ติดต่อกับ      ลำน้ำชี

ทิศใต้               ติดต่อกับ      บ้านคุ้งสะอาด

 

การคมนาคม

ห่างจากอำเภอเสลภูมิ       ๑๐   กิโลเมตร

ห่างจากจังหวัดร้อยเอ็ด    ๔๐   กิโลเมตร

ห่างจากโรงพยาบาลเสลภูมิ     ๑๐   กิโลเมตร

 

สิ่งสาธารณประโยชน์

โรงเรียนประถมศึกษา   ๑ แห่ง

หอกระจายข่าว  ๓  แห่ง

โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ๑ แห่ง

 

ลักษณะภูมิประเทศและสภาพทางเศรษฐกิจ

พื้นที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำชีเหมาะแก่การทำนาทำสวน   และเลี้ยงปลา   การคมนาคมภายในหมู่บ้านเป็นถนนคอนกรีต   และถนนลาดยาง

ประชาชนประกอบอาชีพเกษตรกรรม    ร้อยละ ๙๕

รับราชการ  ค้าขาย  รับจ้าง  ร้อยละ ๕

 

ขออนุโมทนาขอบคุณ

  • บันทึกประวัติบ้านผักกาดหญ้านี้ ข้อมูลได้จากหนังสือคำอธิบายบุญกิริยาวัตถุ ของหลวงปู่ทองหลั่น คมฺภีโร ( พระครูคัมภีร์ศีลคุณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระทอง ซึ่งท่านได้เรียบเรียงไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘

  • ขอขอบคุณคุณครูภาทิพ ศรีสุทธิ์ โรงเรียนสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี 

  • ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันบางส่วน ได้มาจากศาลาอิสรานุสรณ์ ๑ ตรงทางเข้าหมู่บ้าน ซึ่งได้อาศัยเด็กหญิงสิริญญากร ศรีไชยวาน เป็นคนรวมรวมเขียนมาให้

  • จึงขอขอบคุณผู้มีส่วนร่วมในการทำบันทึกไว้ในที่นี้ด้วย

                                                                       พระมหาวินัย

หมายเลขบันทึก: 431450เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2011 20:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2013 17:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (84)

อยู่บ้านผักกาดหญ้ามาตั้งแต่เกิด ได้ยินพ่อเล่าให้ฟังแต่คราวๆแต่เพิ่งได้รู้ประวัติอย่างละเอียดก็วันนี้เองค่ะ ภูมิใจและดีใจจริงๆที่มีบรรพบุรุษที่เก่งขนาดนี้

โอ้วววว เยี่ยมเลยครับท่านพระมหาวินัย ได้ความรู้หลายครับ
.....ผมขอเสริมนิดหน่อย หมู่4 ก็มีชื่อ้คุมครับ ตั้งโดยคุณปู่นิคม กลางบุรัมย์
คุ้มมหาเศรษฐี อยู่ถนนเส้นบ้านลุงคม นามบุญลือ
คุ้มกลางสามัคคี เส้นบ้านผมเอง (อ.อำนาจ สุปราณี)
คุ้มอัศวิน1 คือคุ้มถนนราดยางต้นหูม่บ้าน
คุ้มอัศวิน2 คือคุ้มถนนราดยางท้ายหมู่บ้าน

แต่คุ้มอัศวินทั้งสอง ผมไม่ค่อยมันใจเท่าไหร่เรื่องที่ตั้ง แต่คิดว่าใช่ครับ อันนี้พ่อนะจะทราบ ^_^

จากใจครูผู้เกษียณ
(คุณครูอินทรีย์ – คุณครูทองคำ ลาน้ำเที่ยง)

๐ อยู่กับงานการสอนค่อนชีวิต 
สั่งสอนศิษย์หญิงชายหลายสิบรุ่น
จนเหล่าศิษย์ได้ดีมีต้นทุน 
ได้เกื้อหนุนชีวาจนถาวร

๐ เป็นทั้งครูทั้งพ่อแม่แม้แต่เพื่อน 
คอยตักเตือนแนะนำพร่ำสั่งสอน
ให้รู้ชั่วรู้ดีมีขั้นตอน 
ไม่เดือดร้อนวุ่นวายทุกนายนาง

๐ แต่วันนี้ที่เห็นจำเป็นจาก 
วันเวลาพาพรากให้ไกลห่าง
ยังอาลัยเพื่อนครูผู้ร่วมทาง 
ที่เคยสร้างโลกสวยมาด้วยกัน

๐ แม้จากไปไกลห่างต่างภาระ 
ความเป็นครูผู้สละสลักมั่น
หน้าที่ครูผู้ปลูกฝังยังผูกพัน 
จิตวิญญาณช่างปั้นนั้นยังมี

๐ จากเพียงกายคล้ายกับใจไม่เหินห่าง 
จะคอยดูอยู่เคียงข้างไม่ยอมหนี
ให้ข้อคิดกำลังใจให้สิ่งดี 
แก่ผู้ทำหน้าที่นี้ต่อไป

๐ ในวาระจากกันนั้นขอฝาก 
ถึงลำบากสู้อุตส่าห์อย่าหวั่นไห
เพราะเราคือแม่พิมพ์ยิ้มภูมิใจ 
อนาคตเด็กไทยในมือเรา

๐ หากเด็กไทยไร้ครูผู้สละ 
ก็คงจะเติบโตแต่โง่เขลา
หากได้ครูเสริมต่อพอบรรเทา 
แต่ต้องคอยขัดเกลาแต่เบามือ

๐ ขออำนาจพระไตรรัตน์เป็นฉัตรกั้น 
คอยป้องกันอันตรายให้ทุกมื้อ
เกียรติยศเงินทองล้นคนเล่าลือ 
มีผู้คนนับถือทั่วหน้าเทอญ ฯ
พระมหาวินัย ๑๓.๓๐ น. : ๑ ก.ย. ๕๖

นิราศร้อยเอ็ด

๏ โอ้เคราะห์กรรมจำพรากจากสมร

ต้องจากไปไกลนุชสุดอาวรณ์ เที่ยวแรมรอนเปล่าเปลี่ยวอยู่เดียวดาย

ขึ้นสู่รถประจำทางตามอย่างเขา เพราะตัวเราก็ทุกข์ยากลำบากหลาย
คอยมองโน่นมองนี่ที่เรียงราย มีหญิงชายนักเรียนเวียนขึ้นมา

๏ ถึงท่าไคร้ใกล้ชีที่ท่องเที่ยว ช่างเปล่าเปลี่ยวเที่ยวงานกาลพรรษา

ไหลเรือไฟเรืองรองท้องธารา แข่งนาวางานประจำลุ่มน้ำชี

เห็นหนุ่มสาวคลอเคลียก็เพลียจิต เตือนให้คิดถึงตัวเราเศร้าหมองศรี

จากบังอรจรลาเหมือนวารี หรือนทีที่รินไหลออกไกลตา

๏ ถึงหวายหลึมซึมเศร้าเฝ้าคิดถึง เคยรำพึงคร่ำครวญชวนยิหวา

เคยหยอกล้ออิงแอบแนบกายา แต่ต้องมาลาร่ำสุดช้ำใจ

“บ้านหวายหลึม”แห่งนี้มีชื่อนัก คนรู้จักลือชาเรื่องผ้าไหม

ทั้งวัดวาอารามงามอำไพ หมู่บ้านใหญ่ใกล้ทางพลางชื่นชม

๏ ทุ่งเขาหลวงห่วงนักประจักษ์จิต หวนให้คิดถึงนวลนางพลางขื่นขม

กลัวนาฏน้องหมองหม่นจนระทม เมื่ออกตรมอยู่เดียวดายชายเมียงมอง

กลัวแต่น้องจะโอนอ่อนผ่อนตามเขา ลืมรักเราเฝ้าวิงวอนตอนอยู่สอง

มีหนุ่มหล่อมาเชิญชวนนวลละออง นางจะครองคำมั่นนั้นอย่างไร

ขอฝากนางกับฟ้านภากาศ ที่สามารถร้องร่ำคำขานไข

ขอฝากนางกับมิตรสนิทใจ บันดาลให้ใจนางอย่าห่างเรา

เมื่อสำเร็จเสร็จสิ้นในหน้าที่ จะเร็วรี่กลับมาอย่าอับเฉา

จะรีบทำย่ำงานมินานเนา เพราะกลัวเขาชิงรักและหักทรวง

กลัวแต่นางจะหลงใหลในคำซึ้ง เขารำพึงขานไขไร้ห้ามหวง

จะด่างพร้อยพลอยจางเป็นด่างดวง แสนสุดห่วงนวลนางผู้พร่างพราย

ทุ่งเขาหลวงมีชื่อระบือยิ่ง มีไก่ปิ้งไก่ย่างมาวางขาย

มีลูกค้าแวะเวียนเพียรทักทาย พ่อค้าชายและหญิงยิ่งดีใจ

เห็นต้นตาลเรียงรายอยู่หลายต้น ช่างหวานล้นวาจาอย่าหลงใหล

เหมือนคบคนคำหวานซ่านฤทัย ถ้าเผลอไผลจะเจ็บอกเหมือนตกตาล

๏ ต่อจากนั้นสู่หวายน้อยพลอยหมองเศร้า กลัวนงเยาว์จะหลงใหลในคำหวาน

จะลืมรักสัญญาเมื่อช้านาน เพียงชายผ่านทายทักก็รักชาย

๏ บ้านหวายน้อยไม่เห็นหวายคล้ายคำบอก หรือว่าหลอกให้เรียกนามคำว่าหวาย

เห็นมีแต่ทางเลี้ยวเสียวอันตราย ไม่ระวังอาจตายได้ทุกยาม

ก็เช่นกันกับบังอรคราจรจาก เป็นการยากจะวางใจให้เจ้าขาม

ถึงมีเชือกมีหวายรัดมัดนงราม ไม่อาจห้ามใจนางไกลห่างเรา

ได้แต่หวังให้นางซื่อถือสัจจะ ใครพบปะอย่าพอใจไปกับเขา

ให้รู้จักหลีกหนีมีหนักเบา อย่ามัวเมาคำหวานการบรรยาย

๏ ทางขวามือคือประตูสู่ราชภัฏ เห็นเขาจัดรถมือสองทดลองขาย

มีทั้งคันใหม่เก่าเนาเรียงราย ราคาคงมากมายซื้อขายกัน

๏ ณ ที่นี้ยังมีบอกว่าบ้านจาน เป็นทางผ่านธวัชดินแดงแหล่งสุขสันต์

ข้างริมชีมีแม้ค้าสารพัน ต่างแข่งขันขายของลองแวะดู

จะกล่าวถึงบ้านจานทางผ่านนี้ หมู่บ้านที่มีฝรั่งยับยั้งอยู่

มาปองรักสมัครกันฉันเนื้อคู่ อดทนสู้ความลำบากไม่จากจร

จึงก่อสร้างบ้านพักเป็นหลักฐาน อลังการใหญ่มากยากรื้อถอน

พอแค่เป็นที่พักใจได้หลับนอน กับบังอรคนอีสานบ้านนอกเรา

จะว่าไปเรื่องความรักมักประหลาด ไม่เลือกชาติศาสนาถ้ารักเข้า

ไม่เลือกแม้อายุว่ายังเยาว์ แม้แก่เฒ่าก็รักกันฉันเห็นมา

ทางพระว่าเป็นบุพเพสันนิวาส ร่วมตักบาตรจึงเห็นเป็นผลา

ถึงไกลห่างอย่างไรไม่คลาดคลา วาสนาเป็นคู่แล้วไม่แคล้วกัน

หากไม่มีบุญกรรมน้อมนำส่ง จะซื่อตรงอย่างไรได้พลัดผัน

ย่อมผิดพ้องหมองใจในสักวัน เป็นเช่นนั้นเพราะกรรมเขาแต่เก่ากาล

๏ บริเวณแห่งนี้มีอีกชื่อ นั่นก็คือโนนนกเอี้ยงเสียงเรียกขาน

จะเป็นมาอย่างไรไร้ตำนาน ใครไม่คร้านก็สอบสวนกระบวนเอา

โนนนกเอี้ยงเห็นเพียงนกกกกอดคู่ แต่เราสิอดสูดูเปลี่ยวเหงา

ต้องจำใจไกลห่างนางนงเยาว์ คิดแล้วเศร้าอนาถใจในบุญกรรม

นกมีขนคนมีเพื่อนคอยเตือนจิต ไม่ให้ผิดคิดชั่วมัวถลำ

คอยปกป้องหวังดีนี้ประจำ คิดพูดทำก็เอื้อเฟื้อช่วยเหลือกัน

เพื่อนบางคนอยู่ต่อหน้ามาสรรเสริญ บ้างบังเอิญลับหลังยังหยามหยัน

คอยนินทาด่าว่าสารพัน ริษยาตาเป็นมันนั่นก็มี

เพื่อนบางคนเพื่อนผิดสะกิดเพื่อน คอยตักเตือนห้ามปรามตามวิถี

ให้ตั้งมั่นอยู่ในแถวแนวความดี ร่วมชีวีทั้งสุขทุกข์ปลุกปลอบใจ

๏ บ้านท่าบ่อบ่อไหนไม่พบเห็น หรือแต่ก่อนนี้เป็นดังขานไข

จึงตั้งนามสถานที่ชี้ชัดไป หวังจักได้จดจำรำลึกนาน

ถึงอีกบ้านเห็นโรงเรียนเป็นเปลี่ยนร้าง ริมข้างทางบ้านใหญ่ดู่ไพศาล

ข้างโรงเรียนมีศูนย์อนุบาล เขาเพิ่งเปิดทำการไม่นานมา

ต่อจากนั้นเห็นโรงแรมที่พักผ่อน สำหรับนอนชั่วคราวเท่านั้นหนา

ทางด้านซ้ายป้ายนั้นแยกมรรคา ไปวัดป่าโนนสวรรค์บ้านเทอดไทย

ซึ่งวัดนี้เคยไปกราบไหว้พระ คนสละของเก่าพวกหม้อไห

มาประดับเจดีย์ดูอำไพ มุ่งหวังให้รู้จักรักถิ่นตน

๏ ถึงดอนวัววัวไหนมองไม่เห็น คงลำเค็ญกำเนิดสัตว์ตัดมรรคผล

เกิดชาติหน้าชาติไหนไม่ทุกข์ทน ขอเป็นคนสร้างกุศลให้ล้นใจ

๏ บ้านเก่าน้อยน้อยใจในสมร สิ้นอาวรณ์สิ้นรักแล้วผลักไส

เพียงทราบข่าวยุพดีนี้เปลี่ยนไป เรียมก็ไข้ทุกข์ร้อนนอนระทม

ตัวเจ้าเองก็มิบอกหลอกให้รัก แต่ประจักษ์ชัดเจนเห็นเหมาะสม

เพราะเพื่อนเผยหนุ่มหล่อพ่อตาคม ได้แต่ก้มหน้ารับกับความจริง

ชายคนนั้นคือใครผู้ใดหนอ จึงรูปหล่อต้องใจเจ้าเล่าแม่หญิง

ถึงเจ้าเปลี่ยนแปลงไปไม่ประวิง ได้แต่นิ่งเพราะเขลามิเท่าทัน

จะโทษใครไหนเล่าไม่เข้าท่า โชคชะตาพาไปให้แปรผัน

ตัวอรเองก็ดียิ่งทุกสิ่งอัน มีครบครันจึงมั่นใจในตนเอง

๏ บ้านฝั่งแดงเห็นแต่ฝั่งนั่งโศกเศร้า พลัดพรากเจ้าเป็นอยู่ดูโหวงเหวง

ก่อนเคยสุขกลับหม่นไหม้ไร้ครื้นเครง เพลิดเพลินเพลงร่ำร้องต้องช้ำใน

๏ บ้านอุ่มเม้ามีเนื้อสัตว์เขาจัดขาย ร้านเรียงรายขวามือซื้อดีไหม

กินลาบเลือดเนื้อสดรันทดใจ เผื่ออะไรเลวร้ายจะกลายดี

บ้านอุ่มเม้ามีอารามริมถนน นามโกศลรังสฤษฎิ์พิสิฐศรี

คิดถึงธรรมคำพระผู้ปรานี เคยตรัสชี้เรื่องไตรลักษณ์ประจักษ์เรา

ลองไม่มีสติดำริแล้ว คราคลาดแคล้วความทุกข์มาคลุกเคล้า

บางทีถ้าสติอยู่ดูบางเบา แต่ขลาดเขลาไม่ซึ้งจึงตรอมตรม

๏ ถึงป่าสุ่มป่าเปลี่ยวเป็นเดี่ยวโดด เรียมไม่โทษแม่คมขำทำขื่นขม

ไม่โทษดินโทษฟ้าเทวาพรหม โทษที่ความโง่งมมิเจียมใจ

๏ ถึงธวัชบุรีนี้นิเวศน์ อาณาเขตอำเภออันสดใส

มีสถานศึกษามากกว่าใคร สร้างยิ่งใหญ่เอาท้องฟ้ามาจำลอง

เห็นอารามนามเอกสัตย์วัดที่ผ่าน โบสถ์วิหารงามกว่าใครไม่เป็นสอง

อยู่ริมทางงามเด่นเป็นต้องมอง ด้วยศรัทธาพี่น้องของเรามี

ต่อจากนั้นเป็นป่าไม้ค่ายลูกเสือ ป่ายังเหลือให้เห็นเป็นศักดิ์ศรี

มากด้วยยางสูงใหญ่ไม้เนื้อดี สมกับที่ว่าไว้ถิ่นไม้ยาง

๏ ด้านขวามือคือโรงเรียนเวียนศึกษา ยากจนมากินอยู่พร้อมทุกอย่าง

ชื่อศึกษาสงเคราะห์อยู่ริมทาง อยู่ข้างข้างทางหลวงสถานี

๏ ถึงโรงเรียนโสตศึกษาพาให้คิด ทำใดผิดพิการเห็นเป็นสักขี

กำเนิดมาตาบอดรอดชีวี อีกอินทรีย์บกพร่องต้องทำใจ

แต่ก็ดีที่เกิดมาเป็นมนุษย์ วิเศษสุดกว่าสัตว์เป็นไหนไหน

ถึงแม้ว่าร่างกายพิการไป ก็ยังได้ชีวาอยู่เป็นผู้คน

มีโอกาสได้ศึกษาหาความรู้ ใช้ต่อสู้ตามถนัดไม่ขัดสน

โลกเขาให้สิทธิมนุษยชน ควรอดทนพากเพียรเรียนรู้ไป

๏ ถึงโรงเรียนธวัชบุรีวิทยาคม แหล่งอบรมบ่มเพราะก่อนิสัย

มีนักเรียนหญิงชายหลายหลากวัย เดินเข้าออกข้างในอยู่ไปมา

แต่ละคนแต่ละผู้ดูน่ารัก เจ้าทุกคนจงรู้จักรักศึกษา

อย่าดูเบาเกียจคร้านการวิชา จะพลอยพาลำบากกายเมื่อปลายมือ

เรื่องเทคโนโลยีนี้สำคัญ เจ้าจงรู้เท่าทันนะมือถือ

ใช้ให้เป็นให้งดงามรู้ยามมื้อ อย่าได้ดื้อโทรเล่นไม่เว้นวัน

๐ บ่ได้หวั่นแม้กระ ....... ทั่งตาย

ทุกสิ่งย่อมมลาย ......... อยู่แล้ว

อะไรหละที่หมาย ........ ชีวิต

จะกระเบื้องหรือแก้ว .... ก็ล้วนดุจกัน


๐ ต่างแต่วันจักสิ้น ..... สังขาร

ดีชั่วจักยืนนาน ......... นั่นไซร้

พยาธิสถาน .............. ที่ต่าง กันนา

คติบ่รู้ได้ .................. สู่ห้วงแห่งไหน


๐ ห้ามตายใครจักห้าม ...... ได้หรือ

ห้ามอย่างอื่นยังถือ ........... ว่าได้

ที่ดีนั่นก็คือ ...................... อย่าประมาท

เพียรก่อกุศลไว้ ............... จักย้อนมาสนอง


๐ มรณัสสติท่านซ้อง ...... สรรเสริญ

ควรคิดจะเจริญ ............. มากไว้

ถึงคราจักเพลิดเพลิน ..... ไม่พรั่น พรึงนา

มีสติกำหนดได้ ............. ดั่งนี้ดีหนา

๐ เหยียบตะปูกลางฝ่าเท้า ..... จังจัง

ดีว่ารองเท้ายัง ................... รับไว้

เพียงแค่แทรกผิวหนัง .......... นิดหน่อย

ความปวดรู้สึกได้ ................ ดั่งนี้เชียวหรือ

"..ทาง ตรง ทาง เบี่ยง.."

๐ ทาง หลวงกว้างต่อกว้าง ..... ไป่เทียว
ตรง ดิ่งฤาแลเหลียว ............. ดุ่มด้น
ทาง รกรักกันเชียว ............... ชอบฝ่า
เบี่ยง บิดติดตามก้น .............. กลับยื้อแย่งเดิน
๑๙.๑๓ น. : ๑๕ ต.ค. ๒๕๕๖

๐ ที่ จะยืนหยัดได้ ....... โดยหวัง
พึ่ง อื่นตลอดชีวัง ......... ไป่ได้
แห่ง ไหนไม่จีรัง .......... เท่าอาต- มะแฮ
ตน แหละฝึกหัดให้ ....... ชนะได้ดีหลาย
๑๙.๔๑ น. : ๑๕ ต.ค. ๒๕๕๖

"..ขานคำรำลึกคุณ.."

ถึงจะสาวแสนสวยจนล่มหล้า
ฤาจักมาเทียบแม่ผู้แก่เฒ่า
ร้อยคำขานมานสลักว่ารักเรา
ฤาจะเท่าเศษเสี้ยวแม่เหลียวแล

น้ำใจแม่กว้างใหญ่กว่าใดหมด
มิเคยลดหรือเปลี่ยนไปหลายกระแส
มีเท่าไรก็เท่านั้นมิผันแปร
มั่นคงแท้ไม่จืดจางจวบวางวาย

ปราชญ์แต่ก่อนสอนมาก็น่าคิด
ว่าร้อยชู้คู่เชยชิดมิตรทั้งหลา
ฤาจักเทียบเปรียบเมียขวัญพรรณรา
พันเมียหมายไม่เหมือนแม่แท้จริงเชียว

และโบราณยังว่าไว้เตือนใจอีก
สามวันหลีกจากนารินถวิลเที่ยว
มอบดวงใจไว้ในนางเพียงอย่างเดีย
กลับมาใหม่ไม่แลเหลียวเพียงเสี้ยวตา

ความรักแม่มีอยู่มิรู้สิ้น
ยิ่งกว่าฟ้ากว่าดินสิ้นกังขา
ประจักษ์แจ้งแก่ใจลูกทุกเวลา
อุปมาว่าไว้ยังไม่พอ

ถึงพากเพียรเขียนสารสักล้านบท
หาบรรยายได้หมดเท่าท่านก่อ
ไม่ได้แสร้งสรรเสริญเฝ้าเยินยอ
เพียงแค่ขอขานคำรำลึกคุณ ฯ
๑๙.๓๖ น. อาทิตย์ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๘

๐ ใดหรือคือสัจจ์แท้ ....... ที่หา

บุญบาปกระทำมา .......... ไม่รู้

ร่วมร้อยก็อัตตา ............. แตกดับ

ไยจึ่งหมายมุ่งสู้ ........... สิ่งนั้นสิ่งไหน

๒๐.๒๕ น. อาทิตย์ ที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๖

วันนี้ไปร่วมงานฌาปนกิจศพ คุณตาฤทธิ์ อาทิตย์ตั้ง ซึ่งเป็นโยมพ่อของพระอาจารย์ เจ้าอธิการนัดถศิลป์ เตชธมฺโม

๐ มางานศพพบอะไรใครรู้บ้าง หรือเห็นร่างคนตายและใจหาย

มองดีดีคิดให้ซึ้งถึงความตาย คือความหมายของครูผู้แสดง

(บทนี้แต่งไว้นานแล้ว แต่มานึกทบทวนอีกครั้ง)

เก็บโคลงบางส่วนที่เกิดจากการโต้ตอบระหว่างเพื่อนและลูกศิษย์มาไว้ในที่นี้ นำมาเฉพาะโคลงของตนเอง ของผู้อื่นไม่ได้ยกมา

เพื่อให้ที่นี่เป็นบันทึกที่เก็บงานเขียนเล็ก ๆ น้อย ๆ

๐ ยามทุกข์มักค่าล้ำ ....... เหลือหลาย

ยามสุขกลับห่างหาย ....... หลบหน้า

เช่นนี้พบมากมาย ........... มีอยู่ เห็นแฮ

วางเถิดใจอย่าล้า ........... อย่าเศร้าเสียขวัญ

๑๒ ก.พ. ๒๕๕๖

๐ ยามไร้ได้ดอกหญ้า ........ แซมผม
หอมบ่หอมควรชม ............ ชื่นไซร้
ดีกว่าอยู่ตรอมตรม ............ ตัวเปล่า
บุญบ่มีบ่ได้ .................... ดอกฟ้ามถนอม
๑๙.๑๘ น. : ๒ มี.ค. ๕๖

๐ แต่ฟ้ายังมืดคลุ้ม ....... บางครา
สุขทุกข์ย่อมมีมา ......... เช่นนี้
เป็นมนุษย์ธรรมดา ........ ใครรอด พ้นเฮย
ไยจึ่งหลบหลีกลี้ .......... รอดพ้นมีหรือ
๑๙.๐๘ น. : ๔ มี.ค. ๕๖

๐ กลัวใจจักเพลี่ยงพล้ำ ........ เพราะเขลา
กลัวทุกข์ท่วมทับเอา ........... อกไหม้
กลัวแย่ยากบรรเทา ............. ทนอยู่ ยากแฮ
กลัวดั่งนี้ยังได้ ................... เดือดร้อนนอนระทม
๑๙.๑๐ น. : ๕ มี.ค. ๕๖

๐ มีกรรมจึงบ่ได้ ......... ดังประสงค์
ถึงจะพยายามก็คง ....... ขัดข้อง
บ่สมเจตน์จำนง ........... ในทุก สิ่งนา
ุเป็นอยู่ดูดั่งต้อง ........... มีดร้อยรุมเถือ

๕ มี. ค. ๒๕๕๖

๐ เพราะเอื้อมเด็ดดอกฟ้า ...... มาครอง
สูงส่งยังเฝ้ามอง ................. จึ่งไข้
บ่เด็ดดอกควรปอง .............. ปฏิพัทธ์
เป็นอยู่ดูหม่นไหม้ ............... หมดสิ้นสุขเกษม

๕ มี.ค. ๒๕๕๖

๐ เขียนโคลงหวังสะท้อน ..... ความใน
สุขทุกข์พัดผ่านใจ ............. เจ็บซึ้ง
บ้างก็ไป่เป็นไร ................. รู้เท่า ทันนา
บ้างก็ดูหนักอึ้ง ................. โอดร้องลำเค็ญ
๑๙.๐๙ น. : ๖ มี.ค. ๕๖

๐ ทั้งรู้อยู่ทุกห้วง ........ ขณะใจ
มีพบย่อมพรากไป ........ สักครั้ง
แต่ยึดมั่นอาลัย ........... รอยอดีต
แลสติมิต่อตั้ง .............. จึ่งต้องทุกข์ระทม
(มาจากการเล่นล้อต่อโคลง) ๖ มี.ค. ๒๕๕๖

๐ สิ่งใดฝังแน่นแล้ว .......... ลืมไฉน
ยากยิ่งยากทำใจ ............. ยากแท้
นอกจากจะแปรไป ........... เป็นอื่น
ลองว่าลงลึกแล้ .............. เลิกร้างเป็นหรือ
(เล่นล้อต่อโคลง) ๖ มี.ค. ๒๕๕๖

๐ ดีอยู่ย่อมพูดได้ ........ ธรรรมดา
ยามเมื่อโศกเศร้ามา ..... จักแจ้ง
คนประสบสิมรณา ........ ทนยาก ยิ่งแฮ
โชคชะตากลั่นแกล้ง ..... กลัดกลุ้มรุมสนอง
(เล่นล้อต่อโคลง) ๖ มี. ๒๕๕๖

๐ ยามนี้กลับหลบลี้ ....... หนีหาย
ไม่ต่อโคลงให้พราย ...... เพริศบ้าง
พอให้ทุกข์ละลาย ........ ลงหน่อย
เป็นอยู่ดูอ้างว้าง ........... อกโอ้กรรมเรา

๖ มี.ค. ๒๕๕๖

๐ ทำดีดีไป่ไร้ ........ ผลสนอง
ทำชั่วชั่วคงครอง ..... ครอบเกล้า
สองสิ่งจุ่งเลือกปอง .. ประพฤติ
ดีชั่วติดตามเจ้า ....... จวบสิ้นสูญสลาย

๖ มี. ค. ๒๕๕๖

๐ ยามทุกข์มักเร่าร้อน ....... เพลิงรุม
เป็นอยู่ดั่งไข้คุม .............. ขัดข้อง
นั่นนี่ที่เกาะกุม ................ ใจกลับ ยึดนา
กลดั่งบ่วงคอยคล้อง ......... รัดร้อยรึงใจ

๑๐ มี. ค. ๒๕๕๖

๐ ยามสุขกลับพลาดพลั้ง ...... ลืมตน
ยึดมั่นมัวมืดมน .................. ไม่รู้
สบายเกาะกินจน ................. ใจเกียจ คร้านนา
แปรเปลี่ยนหมดทางสู้ ........... สุขร้างห่างเหิน

๑๐ มี.ค. ๒๕๕๖

๐ เกิดแก่และไป่ช้า ......... จักตาย
ทรััพย์คู่รักบุตรหลาย ........ พรากสิ้น
กรรมดีชั่วจุดหมาย ........... คงอยู่
ถึงว่าชีพดับดิ้น ............... สิ่งนี้มีสนอง

๐ ไต่ตรองให้ลึกซึ้ง .......... ธรรมดา
ยามเมื่อวันนั้นมา ............. ไป่เศร้า
ใครหรือรอดพ้นมรณา ........ ไม่หรอก
มีสติทุกค่ำเช้า ................ ฉลาดรู้สัจธรรม

๐ คำพระท่านตรัสแจ้ง ....... แสดงเผย
เป็นอยู่ไยละเลย ..............ไม่รู้
ยินแล้วไป่ทำเฉย ............ มัวมืด อยู่นา
ปฏิบัติดีกอบกู้ ................ กลับร้อนผ่อนเย็น

๐ เห็นอยู่บ่อยบ่อยครั้ง ...... ความตาย
ยังประมาทงมงาย ........... ไม่แจ้ง
ไม่ซึ่งจวบวางวาย ............เป็นเช่น นี้แล
เป็นอยู่ยังอยากแย้ง ........ ยับยั้งยังไฉน ฯ
๑๐.๒๒ น. ๑๑ มี.ค. ๕๖

๐ จวนสงบนิ่งแล้ว ....... เรื่องราว
ไป่คิดต่อความยาว ...... ยืดเยื้อ
เก็บจำแต่ดีคราว ......... ยังผูก พันนา
ห่างสนิทชิดเชื้อ ......... เช่นนี้ดีไหม

๒๘ มี.ค. ๒๕๕๖

๐ ธรรมดาดอกอย่าเศร้า ....... เสียขวัญ
สุขทุกข์รู้เท่าทัน ................ ถูกต้อง
ปล่อยวางทุกสิ่งอัน ............. ออกห่าง
จึงจิตบ่ขัดข้อง .................. ไขว่คว้าคะนึงถึง

๒ เม.ย. ๒๕๕๖

๐ บางอย่างกว่าจะรู้ ....... เท่าทัน
ก็แสดงสารพัน ............. สิ่งแล้ว
คิดไปก็ขำขัน .............. ละอายนัก
ใครเล่าจะคลาดแคล้ว .... ผิดพลั้งมีหรือ

๓ เม.ย. ๒๕๕๖

๐ ก็ไม่ได้ปล่อยให้ .......... ทุกข์ทน
รอยอดีตรบรุกจน ........... เจ็บช้ำ
ใครเล่าที่สับสน ............. ไสส่ง มานา
ดีอยู่ที่กล่าวย้ำ .............. อย่าเศร้าเสียขวัญ

๓ เม.ย. ๒๕๕๖

๐ ว่าแล้วต้องเยี่ยงนี้ ...... แหละหนา
ไม่ผิดจากวาจา ............ ว่าไว้
และแล้วก็เวียนมา ........ ประสบ
ดีอยู่ยังรับได้ ............... ดุ่มดั้นทนเอา

๔ เม.ย. ๒๕๕๖

๐ ทนเท่านั้นแหละพ้น ...... ผ่านไป
ทุกข์เทวษท่วมทับใจ ....... จักสิ้น
ปล่อยปลงทุกหวั่นไหว ...... วางเถอะ
ก่อนแต่จะดับดิ้น ............. ย่อมสิ้นโศกสนอง

๔ เม.ย. ๒๕๕๖

๐ โลกนี้ท่านว่าไว้ ....... อนิจจัง
แตกดับแล้วคงยัง ........ กลับฟื้น
ฟื้นแล้วกลับภินท์พัง ..... พรากจาก
หัวเราะแล้วสะอื้น ......... เช่นนี้มีเห็น

๕ เม.ย. ๒๕๕๖

โลกภายนอกกว้างไกลเกินไปถึง
เพียงชีวิตชีวิตหนึ่งคงไม่ไหว
จะเรียนรู้ทั่วถึงโลกทั้งใบ
ตายเกิดใหม่ร้อยชาติไม่อาจรู้

๖ เม.ย. ๒๕๕๖

๐ ถึงอากาศจะร้อน ....... เพียงไหน
ยามอยู่ขอแค่ใจ .......... สงบซึ้ง
รู้รับกับเปลี่ยนไป .......... ทุกสิ่ง
วางจิตไป่เคียดขึ้ง .........อยู่ยั้งเย็นเสมอ

๖ เม.ย. ๒๕๕๖

๐ เย็นกายหมายรู้เพราะ ........ อากาศ
เย็นจิตสงบสะอาด .............. หมั่นสร้าง
เย็นคำประสิทธิ์ประสาท ........ แต่่อ่อน หวานนา
เย็นทุกสิ่งที่อ้าง ................. อยากให้เย็นกัน

๖ เม.ย. ๒๕๕๖

๐ จริงแล้วเขาอยากให้ ...... เราดี
แต่หากเด่นทุกที ............. หมั่นไส้
เด่นได้แต่อย่ามี .............. เด่นกว่า เขานา
เตือนจิตสะกิดไว้ ............. จักพ้นริษยา

๘ เม.ย. ๒๕๕๖

๐ ห่อนเห็นยุ่งยากนั้น ....... หนักหนา
แต่คิดเห็นเป็นวิชา ........... ช่วยรู้
จักช่วยเคี่ยวปัญญา .......... ให้ยิ่ง ยวดแฮ
ใดสบใดรบสู้ .................. ไป่ท้อแท้ถอย
๒๐.๑๓ น. : ๕ มิ.ย. ๕๖

"เมื่อมือท่าน เป็นมือนักปั้น
เป็นรูปอัน อ่อนลออ ดูหล่อเหลา
ปรากฏเห็นเป็นงานดีที่งามเงา
ไฉนเล่าจึงใจร้ายหมายทุบทิ้ง

หรือน้ำเงิน จากน้ำงาน บันดาลให้
มิสมใจดังหมายจึงร้ายสิง
มาประกาศเรื่องราวกล่าวความจริง
ไยไม่ดิ่งดึงดันยึดมั่นเล่า"
"กรณีพระเณรคำ" ๑๒.๕๑ น. ๒๘ มิ.ย.๕๖

๐ คุณใดในแผ่นพื้น ............ พสุธา
เปรียบเท่าคุณมารดา ........... บ่ได้
เลือดเนื้อและชีวา ............... ท่านมอบ มาแฮ
รู้ดั่งนี้แล้วไซร้ ................... อย่าได้ดูเฉย
๑๘.๕๒ น. ๓ ก.ค. ๕๖

๐ เป็นเด็กกว่ารู้เรื่อง ....... หนังสือ
ใครหละตามฝึกปรือ ........ เปลี่ยนเจ้า
คุณครูนั่นแหละคือ ......... คนสั่ง สอนนา
เป็นอยู่ทุกค่ำเช้า ............ อย่าได้ลืมครู
๑๙.๒๙ น. : ๓ ก.ค. ๕๖

๐ ห่างโคลงมาเนิ่นแล้ว ....... หลายเพ- ลาเฮย
ก่อนนั่นเคยทุ่มเท ............. ทุกเช้า
ค่ำมามิโลเล .................... รีบแต่ง
กลัวจะหมองหม่นเศร้า ........ จึ่งร้อยเรียงดู
๑๙.๓๙ น. ๓ ก.ค. ๕๖

๐ เงินทองของสิ่งนี้ ....... ใครใคร
ต่างก็คิดหมายใจ .......... จับต้อง
รู้บ่ อสรพิษภัย ............. ร้ายยิ่ง
ลองพลาดเมื่อเกี่ยวข้อง .. จักแว้งเวียนสนอง

๔ ก.ค. ๒๕๕๖

๐ ใดใดในโลกล้วน ....... อนิจจัง
ใครเล่าจะคงยัง ............ อยู่ได้
ถึงยามย่อมภินท์พัง ........ พรากจาก
รู้ดั่งนี้แล้วไซร้ .............. สร่างสิ้นโศกศัลย์
๑๙.๑๑ น. : ๖ มิ.ย. ๕๖

๐ แต่ละรายก็ล้วน .......... บทเรียน
เหมือนอดีตที่วนเวียน ...... วกซ้ำ
นั่นสิจุ่งพากเพียร ............ อย่าประมาท
มีสติดีเลิศล้ำ ................. เรื่องร้ายมลายสูญ

กรณีเณรคำ ๘ ก.ค. ๒๕๕๖

๐ แยกแยะอย่างถี่ถ้วน ........ กระทงความ
สืบพยานหลักฐานถาม ........ ทุกผู้
ดีชั่วก็กล่าวตาม ................ แต่เหตุ ผลนา
โอกาสเปิดให้สู้ ................. ค่อยรู้เรื่องหนา
๑๕.๓๕ น. : ๙ ก.ค. ๕๖

๐ คำคนผู้มั่นแท้ ......... ทางพจน์
บ่ห่อนคิดโป้ปด .......... เปลี่ยนถ้อย
มั่นคงมิเคยคด ........... คำกล่าว
นั่นแหละงามหยดย้อย .. ย่อมต้องสรรเสริญ
๑๓.๐๐ น. : ๑๐ ก.ค.๒๕๕๖

๐ อันจิตคิดใคร่รู้ .............. เรื่องราว
ข่าวประโคมเกรียวกราว ..... กล่าวอ้าง
จากสั้นกลับกลายยาว ....... ดูยุ่ง
อีกฝ่ายจ้องจะล้าง ........... อีกข้างคอยหนี
กรณีเณรคำ ๑๓.๑๔ น. : ๑๐ ก.ค. ๕๖

๐ เห็นแปลกประหลาดแล้ว ... หลงใหล
แตกตื่นชื่นมื่นใน ................ อย่างนี้
แหนแห่กระทำไป .............. ปราศตรึก ตรองนอ
พอเถิดเปลือกกระพี้ ............ ที่ไร้แก่นสาร

๑๕ ก.ค. ๒๕๕๖

๐ ธง ชีวิตสะบัดพลิ้ว ....... เพลินลม
ชัย ชนะสง่าสม ............. เสกสร้าง
เจริญ ยิ่งธรรมอุดม ......... เผดิมชีพ
นนท์ นั่นพยาธิล้าง ......... ลุด้าวแดนสวรรค์
อาลัย อาจารย์ ดร.ธงชัย เจริญนนท์

แต่งตามคำขอของอาจารย์ ดร. อ้อม ปิยสุดา เพชราเวช

๑๒.๑๗ น. : ๑๕ ก.ค. ๕๖

๐ ใครดีมีจิตเอื้อ ...... อาทร
คอยแนะนำพร่ำสอน ..สั่งไซร้
รวมทั้งที่อาวรณ์ ....... เวียนช่วย เหลือนอ
ขอจดจำพระคุณไว้ ... ตราบฟ้าดินสูญ

๐ อนุกูลอันท่านได้ ....... ปรานี
สูงส่งเกินวจี ............... จักสร้าง
ล่วงรู้ระลึกดี ............... โดยตลอด
ได้แต่อวยพรอ้าง ......... เอ่ยอ้างพุทธคุณ

๐ อีกบุญปารเมศเบื้อง ..... บรรพกาล
จงประมวลมาบันดาล ...... เด่นห้อม
ประสิทธิอภิบาล ............ บริรักษ์ ท่านนา
จตุรพิธพรพร้อม ............ เพริศแพร้วเผชิญสมัย
๗.๒๒ น. : ๑๗ ก.ค. ๕๖

๐ ทำดีดีจักต้อง ...... ตามสนอง
ทำชั่วชั่วคงครอง ..... ครอบได้
ควรคิดพินิจตรอง ..... ตามเหตุ
รู้ดั่งนี้นั่นไซร้ ......... เสพซ้องกองกุศล
๑๙.๒๖ น. : ๑๙ ก.ค. ๒๕๕๖

๐ เอาพระอัดกรอบไว้ ....... บูชา
หวังพระจักรักษา ............. ปกป้อง
เดินทางรถไปมา .............. นำติด ตัวแฮ
ที่พึ่งคราขัดข้อง .............. คลาดพ้นไภยันตร์

๒๔ ก.ค. ๒๕๕๖

๐ อับ จนเกินจักเอื้อน ......... ออกมา
อาย กับกิริยา .................... หยาบกร้าน
ขาย โทสะสู่สา .................. ธารณะ ชนแฮ
หน้า นี่ดังสะท้าน ............... แต่ด้านเสื่อมเสีย

กรณีงานศพ ๒๘ ก.ค. ๒๕๕๖

๐ ด่า ดุบ่รู้ที่ ............. ที่ควร
ทอ ถักกักขฬะกวน ..... ก่อนแล้ว
ก่อ แต่เรื่องที่ชวน ....... เชิญเบื่อ
ทุกข์ เท่านั้นไม่แคล้ว ... ครอบเจ้าภาพงาน

กรณีงานศพ ๒๘ ก.ค. ๒๕๕๖

๐ สงสารก็แต่เจ้า ....... ภาพงาน
หวังจักใจเบิกบาน ...... กลับเศร้า
ทำใดจึ่งรังควาน ......... คอยด่า
ทุกข์ก็ยิ่งรุมเร้า .......... ยิ่งเศร้าเสียขวัญ

กรณีงานศพ ๒๘ ก.ค. ๒๕๕๖

๐ สืบ ชะตาป่าไม้ ......... เมืองไทย
นา ป่าจักสดใส ............ ไป่ร้าง
คะ นึงนึกการไกล ......... เพื่อกอบ กู้นา
เสถียร สถิตคิดครวญบ้าง .. บอกแจ้งจนสลาย
๑๒.๕๕ น. : ๑ ก.ย. ๕๖

๐ กล้วยไม้กว่าออกให้ ........ คนเห็น
ลำบากและยากเย็น ............. ใช่น้อย
งานสอนก็คล้ายเป็น ............ ดั่งว่า นี้แฮ
กว่าจะงามหยดย้อย ............ ยากแท้จริงหนา
๑๓.๐๖ น. : ๔ กันยายน ๒๕๕๖

๐ ครูคือผู้ที่ต้อง ........ อดทน
สอนสั่งนักเรียนจน ..... จักรู้
กว่าผลิดอกออกผล .... ย่อมยาก ยิ่งแล
อุปสรรคหนักหนาสู้ .... สละทั้งกายใจ
๑๓.๒๐ น. : ๔ กันยายน ๒๕๕๖

๐ ตาดีไปจับช้าง ........ ในพนา
สามคาบมือเปล่ามา ..... ไม่ได้
ตาบอดจึ่งอาสา .......... เพียงชั่ว วันแฮ
กลับขี่มากรายใกล้ ...... อวดให้คนเห็น
๑๓.๒๘ น. : ๔ กันยายน ๒๕๕๖

๐ ปางเรียมยังรุ่นรู้ ........ หนังสือ
หาใช่จักฝึกปรือ .......... ยากแท้
ครูบาย่อมนับถือ ......... เทิดท่าน ยิ่งนา
รุ่นปัจจุบันนั่นแล้ ......... ไป่รู้สั่งสอน
๑๗.๐๓ น. : ๔ กันยายน ๒๕๕๖

๐ ปัญญามีทั่วถ้วน ...... ทุกสถาน
มีอยู่ทุกเหตุการณ์ ...... กล่าวอ้าง
เพียงมีวิจารณญาณ .... ให้ยิ่ง
คงจะเกิดขึ้นบ้าง ......... บ่น้อยก็หลาย
๑๒.๕๓ น. : ๖ กันยายน ๒๕๕๖

๐ ตีหม้อตีให้ทรวด ..... ทรงงาม
หาใช่จักตีตาม .......... แตกขว้าง
คุณครูสั่งสอนความ- .... รู้ศิษย์
ตีเพื่อกำราบบ้าง ........ แต่รู้พอดี
๒๐.๑๖ น. : ๑๑ ก.ย. ๕๖

๐ ไม่รู้กลับไม่สู้ ....... ศึกษา
มีแต่เป็นพาลา ........ นั่นแล้
สั่งสอนกลับย้อนมา .. ไม่รับ
โง่นี่ยากจะแก้ ......... กลับให้ฉลาดเฉลียว
๑๕.๑๐ น. : ๑๒ กันยายนย ๒๕๕๖

๐ ควายวัวตัวชาติเชื้อ ...... ดิรัจฉาน
ฝึกหัดจัดใช้งาน ............ ย่อมได้
เป็นคนหลุดจากการ ........ เป็นสัตว์
กลับฝึกหัดยากไซร้ ........ ไป่สู้ควายวัว
๑๖.๒๕ น. : ๑๒ กันยายน ๒๕๕๖

๐ ปริศนาที่ผูกไว้ ......... หวังทาย
สุดแต่ใครจะหมาย ........ มุ่งแก้
ตีความออกหลากหลาย .. แล้วแต่ คนนา
ทั้งหมดทั้งสิ้นแล้ .......... แต่ล้วนเหตุผล

๑๘ ก.ย. ๒๕๕๖

๐ ทำดีใช่จักห้าม ...... ความตาย
ดีชั่วที่ลับหาย .......... ห่อนน้อย
มัจจุราชกล้ำกราย ..... กับทุก คนนา
ดีว่าดีจักต้อย ........... ติดต้องตัวเรา

๒๓ ก.ย. ๒๕๕๖

๐ มิตรภาพจะอยู่ยั้ง ...... ยืนยง
อยู่ที่ใจซื่อตรง ............ ตลอดไซร้
มิตรภาพจะพังลง ......... เพราะหลอก ลวงนา
รู้ดั่งนี้จุ่งได้ ................ ดุ่มด้นรักษา

๒๕ ก.ย. ๒๕๕๖

๐ จำเป็นเว้นห่างเจ้า ....... จอมใจ
จำจากพรากกันไกล ....... เนิ่นแล้ว
ป่านนี้จักเป็นไฉน .......... นุชนาฏ เรียมเอย
ใครจักปลุกปลอบแก้ว ..... เมื่อเศร้าเสียขวัญ

๒๘ ก.ย. ๒๕๕๖

๐ คิดคิดอนาถโอ้ ........... อายเขา
เพียงเพราะมืดมัวเมา ....... ไม่รู้
วิบากกรรมติดตามเผา ....... ผลาญจิต
เกินกว่าจักกอบกู้ ............ กลับย้อนคืนหลัง

๑๔ ต.ค. ๒๕๕๖

อะไรที่ยาวคนไม่ค่อยอ่าน คนปัจจุบันใจร้อน ยาวนักมักไม่อ่าน จึงเขียนสั้นๆ

๐ หน้า ตาดูดั่งไร้ ....... ความทุกข์

ชื่น นอกแต่ในอุก ...... อกเศร้า

อก หนักแต่แสร้งสุข ... สงบนิ่ง

ตรม ต่อทุกค่ำเช้า ...... เช่นนี้มนุษย์หนอ
๒๑.๔๔ น. :๒๒ ส.ค. ๕๖

เมื่อสับสนวุ่นวายจากหลายเรื่อง

ความฉลาดปราดเปรื่องก็ลดถอย

จะแต่งกลอนสะท้อนใดได้แค่คอย

หยุดฟุ้งซ่านเลื่อนลอยจึงร้อยเรียง

๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๖

วันข้างหน้าเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่
จะเปลี่ยนแปรดีร้ายหรือสร้างสรรค์
คงสุดแท้แต่บุญกรรมเป็นสำคัญ
ปัจจุบันเป็นอยู่ย่อมรู้ตัว
๑๗.๕๒ น. : ๒๑ ส.ค. ๕๖

เพราะไม่รู้แจ้งจริงสิ่งทั้งหลา
จึงวุ่นวาย ไขว่คว้าแสวงหา
ตามอำนาจโอฆะอวิชชา
จึงชั่วดีตามประสา ปุถุชน

อย่าไปโทษสิ่งภายนอกที่หลอกล่อ
ใจของเราเองหนอที่สับสน
ถึงวิจิตรเพริศพรายหลายเล่ห์กล
หากตั้งตนไว้มั่นหวั่นเกรงใด
๒๐.๓๖ น. : ๑๗ ส.ค. ๕๖

กว่าจะรู้เท่าทัน ก็หวั่นไหว
แสดงโง่ออกไปตั้งมากหลาย
คิดทบทวนย้อนหลังยังละอาย
กับเรื่องราวมากมายที่ผ่านมา

แต่ก็เป็นวิสัยในมนุษย์
ยากนักจะประเสริฐสุดไร้ปัญหา
ควรจักต้องใช้สติพิจารณา
ตรองดูว่าจะวางตนบนทางใด
๑๙.๔๖ น. : ๑๗ ส.ค. ๕๖

โลกนี้มีสรรพวิชามหาศาล
จะเรียนรู้ดูทุกด้านคงไม่ไหว
ขอเพียงเรียนอย่างหนึ่งให้ซึ้งใ
พออาศัยเลี้ยงชีวันนั้นคงพอ
๑๙.๔๔ น. : ๑๓ ส.ค. ๕๖

โลกนี้มีอะไรตั้งมากมาย
มีเรื่องราวหลากหลายให้ศึกษา
มีผู้คนมากหน้าหลายตา
แต่จะมารู้จักกันนั้นเท่าไร
๑๙.๒๒ น. : ๑๓ ส.ค. ๕๖

เพียงผ่านพบสบตาแค่คราหนึ่ง
จะบอกรู้ทั่วถึงก้นบึ้งไฉน
ปกติของคนเป็นอย่างไร
อยู่ด้วยกันนานไปรู้ได้เอง
๑๘.๓๙ น. : ๑๓ ส.ค. ๕๖

แม้นแตกกายทำลายขันธ์ลงวันไหน
เกิดชาติหน้ามาใหม่ในสงสาร
ขออย่าได้ประสบพบพวกพาล
พวกที่คอยรังควานทุกวารวัน

ที่หลอกลวงเล่นลิ้นที่ปลิ้นปล้อ
อย่าซัดเซพเนจรย้อนยังฉัน
พวกรักง่ายหน่ายเร็วก็เช่นกัน
ไม่พบปะผูกพันนั่นเป็นดี

อีกพวกหนึ่งซึ่งมิซื่อถือความสัตย์
ยามวิบัติขัดสนจนศักดิ์ศรี
มาออดอ้อนให้ช่วยด้วยไมตรี
พอลืมตาอ้าปากทีหลบหนีไกล

เห็นกันอยู่ไม่รู้อายคล้ายหน้าด้าน
มีสัญญาคราวันวานมิขานไข
เดินลอยหน้าลอยตาอ่อนล้าใจ
พูดออกไปก็อายช่างร้ายนัก
๑๖.๓๕ น. : ๓๐ ก.ค. ๕๖

หลากเรื่องราวหนาวร้อนอันซ่อนเงื่อน
คล้ายกับเตือนตัวตนสับสนไหม
หลากวีถีแนวทางระหว่างใจ
ล้วนผ่านมาพาให้ใจรวนเร

โลกก็เป็นอย่างนี้อย่างที่เห็น
ดูไม่เป็นจึงหวั่นไหวและไขว้เขว
ถ้าเพียงแต่เดินทางอย่างซัดเซ
ไร้จุดหมายจะทุ่มเทเสียเวลา
๐๙.๒๓ น. : ๗ ส.ค. ๕๖

เรียนรู้แสงแดดในยามเช้า
ชีวิตเราเริ่มใหม่ยังไม่สาย
สักวันหนึ่งคงถึงวันพรรณราย
หากมั่นคงไม่คลายความพากเพียร

๘ เมษายน ๒๕๕๖

ทั้งที่รู้ทั้งที่เห็นความเป็นไ
แต่ก็ยังเผลอใจในสิ่งเห็น
ทั้งที่รู้ว่านั้นมันยากเย็น
ก็สำคัญความเป็น ยากเปลี่ยนแปลง

๒ มี.ค. ๒๕๕๖

เหลือเวลาปีเก่าไม่เท่าไหร่
วันเวลาหมุนไปไม่ย้อนหลัง
ชีวิตคนก็ลดน้อยถอยกำลัง
ใครเล่าหรือยับยั้งได้ดังเดิม

๓๐ ธ.ค. ๕๖

วันเกิดคือ "วันแก่" กว่าแต่ก่อน
ขออวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุขหนา
ใดประสงค์สมถวิลจินตนา
ทุกทิวาราตรีมีสุขเทอญ

๑๑ ธ.ค. ๒๕๕๖

เมื่อมือท่าน เป็นมือนักปั้น
เป็นรูปอัน อ่อนลออ ดูหล่อเหลา
ปรากฏเห็นเป็นงานดีที่งามเงา
ไฉนเล่าจึงใจร้ายหมายทุบทิ้ง

หรือน้ำเงินจากน้ำงานบันดาลให้
มิสมใจดังหมายจึงร้ายสิง
มาประกาศเรื่องราวกล่าวความจริง
ไยไม่ดิ่งดึงดันยึดมั่นเล่า
กรณีเณรคำ ๑๒.๕๑ น. ๒๘ มิ.ย.๕๖

"..เรื่องน้ำใจ.."


การจะเห็นน้ำใจจากใครนั้น
ใช่จะเห็นง่ายกัน เสียที่ไหน
ต้องรู้จักเผื่อแผ่แก่เขาไป
จากส่วนลึกข้างใน ใช่แสร้งทำ

คนบางคน ก็รับรู้ อยู่อย่างเดียว
ไม่แลเหลียวกรุณา ดูน่าขำ
คนอื่นสิ เสียสละ อยู่ประจำ
กลับใจจืดใจดำ แล้งน้ำใจ

ที่พูดไปใช่ว่า มาทวงถาม
แต่หากเห็นโลกงดงาม จะดีไหม
งดงามด้วยโอบอ้อมเห่กล่อมไป
โลกหนึ่งใบ คงน่าอยู่ เพราะผู้คน

ควรที่จะซาบซึ้งตรึงมั้นจิต
รู้จักคิดถนอมย่อมเป็นผล-
ให้เขารักมั่นคงซื่อตรงตน
อย่าให้เขาเบื่อบ่น ทนกับเรา

ยามได้รับน้ำใจจากใครนั้น
สิ่งสำคัญสำนึก ระลึกเขา
แม้ไม่มีแรงช่วย อวยพรเอา
ทำได้เท่า ที่บอกนี้ ดีนักแล
๒๒.๑๓ น. : ๒๔ มิ.ย. ๕๖

"..เรา.."


เรามีแต่เดินไปไม่มีหยุด
บ้างสะดุดอุปสรรคยากหนักหนา
บ้างราบเรียบดั่งกระจกยกออกมา
บ้างเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า เวลาเดิน

เราไม่อาจย้อนหลังเส้นทางเก่า
ถึงเจ็บปวดรุมเร้า ระหกระเหิน
คงมีแต่วิริยะมุ่งเผชิญ
กับหนทางไกลเกินดุ่มเดินไป

เราไม่อาจทำคืนความผิดพลาด
สติขาดบางครั้งยังหวั่นไหว
ปัจจุบันทบทวน ควรเช่นไร
ตั้งสติทำใหม่ ไม่สายเลย

เราไม่อาจเลอเลิศประเสริฐศรี
เคยชั่วดีมาก่อน ย้อนเฉลย
หลายสิ่งอย่าง ไม่อาจกล่าวเล่าภิเปรย
แต่ละคนย่อมเคย ไม่ดีมา

เรานั่นหนะปุถุชนคนหนาหนัก
มีโลภโกรธหลงรัก กิเลสา
มีมั่นคง โลเล บางเวลา
ก็เพราะเราธรรมดา ประสาคน

เรายังต้องเรียนรู้อยู่อีกมาก
วิชาการหลายหลาก น่าสืบค้น
เราจะต้อง"กำจัดพืช" คือมืดมน
ที่ครอบคลุมท่วมท้น ตัวตนเรา

เรายังต้องท่องไปในโลกกว้าง
ตามหนทางเมืองบ้าน ผ่านป่าเขา
พบเรื่องราวมากนักทั้งหนักเบา
จงแยกแยะเก็บเอา เป็นบทเรียน

แต่ชีวิตคนเราจะเท่าไหร่
เรื่องชีวิตคิดไป ไม่เสถียร
เมื่อชีวิตยังอยู่ สู้พากเพียร
ชีวิตเปลี่ยน คิดใด ได้แค่คิด
๑๗.๓๒ น. : ๑๐ มิ.ย. ๕๖

"...เมื่อเจ้าไม่รู้อะไรเลย"


เขาให้ประเด็น"มหัศจรรย์ประเทศไทย"
ให้ ม.๑ ถึง ๓ เข้าแข่งขัน
กติกาสี่บทกำหนดกัน
ถูกต้องฉันทลักษณ์จักต้องตา

เด็กของเราใครกันเข้าขั้นนี้
ไม่เห็นมีสักคน คือปัญหา
ขาดพื้นฐานการแต่งแต่ก่อนมา
ชั่วเวลาไม่นานเชี่ยวชาญใด

คงจะต้องปลอมแปลงเสแสร้งสร้าง
ทำตามอย่างสังคมเขาน่าเศร้าไหม
เป็นเช่นนี้ ที่เห็นเป็นเพราะใคร
จะโทษครูก็ไม่ได้เด็กไร้เพียร

เพราะไม่เห็นสำคัญจึงพลันเบื่อ
ไม่เอื้อเฟื้อทอดธุระทักษะเขียน
คงจะต้องแต่งไปให้แนบเนียน
เหมือนนักเรียน มอสาม ต้องตามนั้น
๒๐.๕๑ น. ๕ มิ.ย. ๕๖

บางสิ่งบางอย่างวางลง

รู้จักปล่อยปลง
คงจักผ่อนหนักเป็นเบา

ยุ่งยากหลากหลายรุมเร้า
ไยทนหม่นเศร้า
ยึดเอามาคิดหนักใจ

เอารัดเอาเปรียบอันใด
ทั้งรู้อะไร
ยอมให้ไปเถิดช่างมัน

ตัดเรื่องยุ่งยากพัวพัน
คิดว่าเป็นกรรม์
สักวันหมดสิ้นเองนา

เมื่อนั้นแหละวาสนา
อ้าปากลืมตา
ผลานิสงส์คงมี

วันหนึ่งคงจักได้ดี
แต่มั่นขันตี
อัปรีย์ชั่วช้าอย่าทำ

พลาดผิดเพราะคิดถลำ
เรื่องนั้นจงจำ
เริ่มต้นตนใหม่ได้เอย

๒๘ ส.ค. ๕๖

"..หวานวาจา.."


หวานสิ่งอื่นดาษดื่นหวานปานผาณิ
ฤาเท่าฤทธิ์พจมานที่หวานหอม
ถึงทะเลาะก่อวิวาทขาดยินยอม
ยังออมชอมเพราะวาจาที่น่าฟัง

จะตัดใจไมตรีมีในโลก
ให้วิโยคขาดดิ้นสิ้นความหลัง
ก็จงกล่าววจีที่น่าชัง
ให้กระทบกระทั่งทุกครั้งไป

จะสั่งสอนป้อนเขาต้องเข้าหลัก
ต้องดีงามด้วยความรักใช่ผลักไส
จงอย่าเอาแต่คำพร่ำพิไร
มันไม่ได้ผลงามตามต้องการ

ต้องฉลาดโอวาทสอนสุนทรถ้อย
มีน้ำอ้อยเจือไปแล้วไขขาน
ควรเหมาะสมแก่เวลาอย่าให้นาน
พอประมาณพอสมควรกระบวนความ

ถึงเรื่องสอนจะดีไร้ที่ติ
แต่ไร้ปิยวาจาพาเหยียดหยาม
ดูดั่งเหมือนที่กล่าวนั้นมันเลวทราม
เรื่องดีงามกลับกลายเป็นร้ายไป
๒๐.๔๔ น. : ๓๐ ก.ค. ๕๖

"... ความปรารถนาฉัน.."


แม้นแตกกายทำลายขันธ์ลงวันไหน
เกิดชาติหน้ามาใหม่ในสงสาร
ขออย่าได้ประสบพบพวกพาล
พวกที่คอยรังควานทุกวารวัน

ที่หลอกลวงเล่นลิ้นที่ปลิ้นปล้อ
อย่าซัดเซพเนจรย้อนยังฉัน
พวกรักง่ายหน่ายเร็วก็เช่นกัน
ไม่พบปะผูกพันนั่นเป็นดี

อีกพวกหนึ่งซึ่งมิซื่อถือความสัตย์
ยามวิบัติขัดสนจนศักดิ์ศรี
มาออดอ้อนให้ช่วยด้วยไมตรี
พอลืมตาอ้าปากทีหลบหนีไกล

เห็นกันอยู่ไม่รู้อายคล้ายหน้าด้าน
มีสัญญาคราวันวานมิขานไข
เดินลอยหน้าลอยตาอ่อนล้าใจ
พูดออกไปก็อายช่างร้ายนัก

ถึงแผ่นดินสิ้นผู้คนบนโลกนี้
จะอยู่เดียวเปลี่ยวเอกีในศรีศักดิ์
ถึงจนตรอกไร้ทุกสิ่งจะพิงพัก
อย่าได้รักสมัครมั่นผูกพันเลย
๑๖.๓๕ น. : ๓๐ ก.ค. ๕๖

“..คุณพ่อเฉลิม..สิงห์ไกรหาญ..”


๐ ชื่อเฉลิมเติมสร้อยใส่สิงห์ไกรหาญ
คนทั่วบ้านต่างรู้จักทักทายถาม
อัชฌาสัยไมตรีนี้งดงาม
ทุกถ้อยความที่กล่าวไปล้วนไตร่ตรอง

๐ พ่อเป็นพระเป็นพรหมอบรมลูก
รู้ผิดถูกชั่วดีที่หม่นหมอง
เป็นตัวอย่างวางตนบนครรลอง
ลูกทั้งสองหลานทั้งหมดได้จดจำ

๐ การจากลาครานี้ ไม่มีกลับ
ชีวาดับขอดีชุบอุปถัมภ์
บุญกุศลหนก่อนย้อนน้อมนำ
เป็นดั่งสำ-เภาทองรองรับไป

๐ สู่สถานวิมานแมนแดนสงบ
จงประสบสุขศานติ์ผ่านสมัย
ถึงมีทุกข์ทรมานประการใด
บุญทำไว้ช่วยค้ำนำพ่อเทอญ
๑๗.๐๑ น. : ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๖

"..มาจากเรื่อง อยากได้สักบทเรียนไหม .."


ชีวิตมันไม่เหมือนถนนหลวง
แต่ละช่วงแต่ละทางเขาวางป้าย
บอกให้รู้ช่วงที่มันอันตราย
ทางเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวาก็เห็นมี

ถนนหลวงช่วงทางแต่ละแห่ง
จะแสดงป้ายบอกผู้ขับขี่
โน่นทางแยกนั่นโรงเรียนขับดีดี
โค้งข้างหน้าตรงนี้ให้ระวัง

ควรผู้ขับมีสติดำริเถิด
อย่าเตลิดเสียเวลารู้หน้าหลัง
ขับไม่ดีมีสิทธิ์ชีวิตพัง
อีกผู้นั่งไปด้วยจะซวยกัน

แต่ก็มีหลายคนวกวนอยู่
เสียเวลาเพราะไม่รู้กู่ไม่หัน
กว่าจะรู้กว่าซึ้งถึงเท่าทัน
ก็วกวนอยู่อย่างนั้นไม่ทันการณ์

ถึงทางตรงเมื่อไหร่ไม่ลังเล
จงทุ่มเทเหยียบไปให้อาจหาญ
แต่ใช่ไปอย่างเดียวต้องเชี่ยวชา
ทุกหย่อมย่านผ่านเห็นเป็นบทเรีย
๒๐.๒๗ น. ๘ ก.ค. ๒๕๕๖

" ..เตือนตน.."


ท่านว่าไว้อนิจจังทั้งนั้นแหละ
ใดข้องแวะอย่ายึดมัน นั่นรู้ไหม
เมื่อทุกสิ่งหมุนเวียนปรับเปลี่ยนไป
ก็จะได้ไม่ทุกข์ร้อนนอนระทม

ถ้ายึดมากยากจะถอนคงร้อนจิต
สักวันหนึ่งคงเห็นฤทธิ์ความขื่นขม
เป็นเพราะเราประมาทขาดอบรม
จึงต้องก้มหน้ารับกับความจริง

แต่ใครหละมีแล้วจะไม่ยึด
ย่อมประพฤติแชเชือนเหมือนผีสิง
เพราะกิเลสตัณหามาแอบอิง
จึงต้องวิ่งวุ่นวายไม่เว้นวัน

จริงอยู่ว่าเราเป็นปุถุชน
ยากจะพ้นวิปโยคและโศกศัลย์
หากเรามีสติดำริกัน
จะเป็นเกาะกางกั้นช่วยบรรเทา

อาจจะมีหลงไปในบ้างครั้ง
ก็ควรตั้งสติให้ไวเข้า
ระลึกรู้ดูออกบอกตัวเรา
ที่มัวเมาคือครู รู้ให้ทัน
๒๑.๑๔ น. : ๒๘ มิ.ย. ๕๖

"..ทัศนศึกษา.."


ทัศนศึกษาแปลว่า"เห็น"
จดจำเป็นความรู้สู่ถิ่นฐาน
ใช่ท่องเทียวสบายใจให้เบิกบาน
จะหมดเปลืองงบประมาณ เพื่อการนี้

เห็นอะไรพบอะไรให้รู้คิด
นำมาติด ต่อเติมเพิ่มศักดิ์ศรี
อีกบันทึกเรื่องราวก็ควรมี
เพิ่มทักษะทั้งสี่ ให้ชำนาญ

จึงจะเป็น "การเห็น"เป็นประโยชน์
ช่วยตอบโจทย์ที่ไปให้อาจหาญ
ทุกทุกสิ่งผ่านพบประสบการณ์
ก็มีบ้างสนุกสนาน สำราญใจ

ขออวยพรให้ ไปดีมีความสุข
อย่ามีทุกข์แผ้วพานสถานไหน
กลับถึงบ้าน เดินทาง อย่างปลอดภัย
นำกำไรที่ได้รับ กลับพัฒนา
๒๐.๒๕ น. : ๑๓ มิ.ย. ๕๖

"..แด่ครูมุก.."


เมื่อฟ้ามืดไยจะทนให้หม่นหมอง
ควรเฝ้ามองรู้เท่าทันไม่หวั่นไห
พิจารณาเหตุการณ์ที่ผ่านใจ
ปล่อยวางได้เป็นสุขทุกคืนวัน

ธรรมดาของโลกอย่าโศกเศร้า
เพียงแค่เรา" ดี"แท้ไม่แปรผัน
เป็นครูดีในดวงใจให้เห็นกัน
การนินทาว่านั้น ธรรมดา

ครูแกนนำ นำธรรมประจำจิต
ครูต้นแบบไยคิดจะถือสา
ควรมุ่งมั่นสอนสั่งยังวิชา
แก่ลูกศิษย์ลูกหาตาดำดำ

"ดิน"ทำดี ไม่เห็นงาม ก็ตาม"ฟ้า"
ที่ลอยหน้าฟ้ากลับอุปถัมภ์
ดูประหนึ่งที่เห็นไม่เป็นธรรม
คงเป็นกรรมของเราแต่เก่ากาล

หากเอนเอียงคงเลี่ยงจากเที่ยงแท
ความเป็นธรรมผันแปรทุกสถาน
บนเงื่อนไขผลประโยชน์ที่โปรดปรา
ไม่ขึ้นอยู่กับผลงาน ประการใด

แม้ไม่เห็นความดีที่มุ่งมั่น
สิ่งสำคัญทำหน้าที่ ดีกว่าไหม
ย่อมประสบพบสุขทุกวันไป
เพียงแค่ใจดวงน้อย รู้ปล่อยวาง.

..ขอให้มีความสุข

๑๙ มิ.ย. ๒๕๕๖

ล้มลงเถอะ หากล้ม เพื่อจะลุก

แล้วจงปลุก ปลอบขวัญขึ้นมาใหม่
ปล่อยวางเถิดความเศร้าที่เผาใจ
ปล่อยวางได้เป็นสุขทุกคืนวัน

ธรรมดาดอกนะ อย่าหวั่นไหว
สุขหรือทุกข์อะไร ย่อมแปรผัน
แต่ละคนย่อมประสบพบเช่นกัน
มีสติรู้เท่าทัน นั่นแหละดี
๑๙.๕๒ น. : ๑๓ มิ.ย. ๕๖

"ดาวดวงนั้น.."


ดาวดวงนั้นเป็นอย่างไรไร้ข่าวคราว
จะส่องแสงสุกสกาวแพรวพราวไหม
หรือเมฆหมอกบดบังหรืออย่างไร
หรือสดใสโสภาในราตรี

หวังว่าเจ้าจะเจิดจ้าทุกคราค่ำ
ไม่หมองคล้ำอ่อนแรงเรื่องแสงสี
ส่องสว่างกระจ่างจ้าท้าสุรีย์
สาดแสงสู่ปฐพีทุกค่ำคืน

ขออย่าได้สดับกับข่าวเศร้า
ยินว่าเจ้าหม่นหมองต้องทนฝืน
สบปัญหาอุปสรรคยากจักกลืน
แอบสะอื้นเบื่อฟ้าร่วงมาดิน

อยู่เถิดอยู่บนฟ้า ณ ราตรี
ทุกข์ใดมีคงมลายสลายสิ้น
ไม่มีหรอกสิ่งใดไม่พังภินท์
เพียงดารินรู้รับปรับใจตน

จึงฝากความทิฆัมพรสอนสั่งเจ้า
ใดคลุกเคล้ารู้รับอย่าสับสน
ตั้งแต่ฟ้ายังมีคราที่มืดมน
จงอดทนเรียนรู้ดูดีดี
๒๑.๕๑ น. : ๒๓ พ.ค. ๕๖

"..อวยพรวันเกิด.."


วันเกิดคือ "วันแก่"กว่าแต่ก่อน
ขออวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุขหนา
ประสงค์ใดในแผ่นพื้นพสุธา
จงปรากฏแก่ตาให้เชยชม

ไม่มีคู่ก็จงมีสักทีนะ
ใครพบปะหมายใจให้เห็นสม
ได้เป็นคู่อยู่ครองอภิรมย์
หนักเบาข่มปรับใจอภัยกัน
๒๑.๐๙ น. : ๕ มิ.ย. ๕๖

... จ ง รู้ เ ท่ า อ ย่ า ทุ ก ข์ ท น ..


ดั่งพิษซึมซาบแผล
ที่ลามแลบ่รู้เลือน
ยึดมั่นยิ่งดูเหมือน
ไม่มีวันจะปล่อยวาง

นั่นหรือคือความรู้
เถอะเป็นอยู่ดูทุกอย่าง
ถึงที่ก็เปลี่ยนทาง
จงรู้เท่าอย่าทุกข์ทน

ใจเจ็บจงจำแจ้ง
ถึงยามแย้งไยยินยล
ยามสบอย่าสับสน
สติต้องติดตามตัว

เมื่อมีแล้วยึดมั่น
ไม่รู้ทันให้ถ้วนทั่ว
กล้าแกร่งกลับหวาดกลัว
ยามเป็นอยู่ย่อมยากเย็น

เมื่อซึ้งแล้วจงสู้
หากหดหู่มิรู้เห็น
คับแค้นสิลำเค็ญ
รู้สึกเจ็บจงจดจำ
๒๐.๑๖ น. : ๘ มี.ค. ๕๖

"นินทา"


อันชิงชังนินทาปรามาส
ไม่เหมือนสาดน้ำกรดรดหรอกหนา
ควรอดทนอดกลั้นกิริยา
อย่าเสียท่าโกรธเขาเร่าร้อนเรา

อันคำด่าถ้าไม่รับก็เท่านั้น
ที่สำคัญมันจักย้อนไปยังเขา
ไยวิ่งเต้นตีตนทนรับเอา
มันจักเผาลนให้ได้ทุกข์นะ
๒๑.๒๑ น. : ๕ มิ.ย. ๕๖

๐ มองฟ้าคราจะสิ้น ......... แสงสุรีย์

ดูเด่นดวงดั่งสี ................. ชาดแต้ม

ระยิบระยับจับนที ............ เงานั่น

มวลหมู่พฤกษ์พรูแย้ม ....... หยอกล้อคลอเคียง

๐ เพียงมองจ้องจับภาพ ....... เพลินตา

ในภาพมีอรรถา ................. ทั่วพร้อม

พินิจพิจารณา .................... ดูหน่อย

โอปนายิกะน้อม ................ แนบเนื้อหทัยตน

๐ กรายเยือนยังโลกแล้ว ........ ครรไล

เฉกชีพเคยสดใส ................. โศกเศร้า

หมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไป ......... เป็นเช่น นี้นา

อุปมาสุขทุกข์เย้า ................. อย่าได้เสียขวัญ

๏ คำครูดูเด่นแท้ ............. ทางธรรม

ชีวิตใครจะกำ- ................ หนดได้

ความดีนี่สิสำ- ................. คัญยิ่ง

กอบก่อประโยชน์ไว้ ......... ว่าแล้วประเสริฐศรี

๐ เปรมปรีดิ์ที่เกิดขึ้น ...... เป็นคน

มีสุขทุกข์ทั่วกมล .......... ทุกผู้

รู้ระงับกับทุกผล ............ ที่เกิด

ด้วยสติปัญญาสู้ ............ สร่างสิ้นโศกศัลย์

๐ ภูกระดึงสูงเสียดโค้ง ....... คัคนานต์

ปีนป่ายกายสังขาร ............ เมื่อยแท้

ธรรมชาติพิศตระการ .......... กุก่อง

โทมนัสทัศนะแล้ .............. เลิกเศร้าสบสันต์

ทดลองแต่งดู หาได้มีเรื่องทำนองดังว่า.

๐ ดวงใจใครพรากเจ้า ................. จากใจ

เรียมร่ำพร่ำอาลัย ....................... ละห้อย

น้ำตาหยดหยาดไหล .................. รินหลั่ง

เป็นอยู่ทุกข์ฤาน้อย .................... แนบเนื้อหทัยเรียม

๐ เกรียมกรมตรมแต่เศร้า ............ โศกศัลย์

โง่เง่ามิเท่าทัน ........................... ที่แสร้ง

บทเพลงนุชจำนรรจ์ ..................... ครวญพร่ำ

ที่สุดประจักษ์แจ้ง ...................... จึ่งรู้ทันสมร

๐ คำสอนปราชญ์แต่เบื้อง ........... โบราณ

เจ็ดคาบเว้นขับขาน ................... คีตร้าง

ห้าวันอักขระลาญ ...................... ละลายหมด

สามรัตติ์จากสมรบ้าง ................. บ่รู้ความหลัง

๐ ทั้งที่รู้กฎข้อ ........................ ความจริง

ความทุกข์ก็ยังสิง ................... สู่ได้

เพราะขาดมนสิการอิง ............. เอาปฏิบัติ

จึงพิษเผาจิตไหม้ ................... หมดสิ้นสุขศานต์

๐ วารวันเอาแต่ย้อน .............. ระลึกถึง

รอยอดีตยังตราตรึง ............... ไป่ร้าง

ไม่อยากคิดคะนึง ................. แต่คิด คะนึงนา

ยามอยู่ดูอ้างว้าง .................. อยู่ว้าวังขัง

๐ น้ำตาหลั่งท่วมฟ้า .............. ฟููมฟาย

นุชนาฏลาลับหาย ................. ห่างแล้ว

เป็นอยู่ก็เหมือนตาย ............. ใจแตก สลายแฮ

เหตุไฉนแม่แก้ว ................... กลับต้องลาหนี

๐ ผีใดดลจิตให้ ................... ห่างเหิน

ฤาบาปอันหนักเกิน ............. กล่าวอ้าง

ดูเหมือนจะเผชิญ ................ เชลงบ่อย

บุญร่วมบาปจำร้าง ............... นุชร้างเรียมไกล

๐ หวังใจจักสุขซึ้ง ..... .......... หนอสมร

น่านเนิ่นเรียมพลัดจร ............. จากเจ้า

ข่าวคราวแม่บังอร .................. ก็เงียบ

คงสุขทุกค่ำเช้า .................... ชั่วฟ้าดินสลาย

๐ สายใจจงรับรู้ .................... คำเรียม

ในอกพี่ไหม้เกรียม .............. หมดสิ้น

ทุกข์เทวษยิ่งใดเทียม ......... ทุกข์พี่

ทั้งหมดไป่เล่นลิ้น ............... เรียกร้องสงสาร

๐ ขับขานโคลงสี่ไว้ ............. ในวรรณ

หาใช่มีโศกศัลย์ ................. สักน้อย

เพียงเพราะรักจึงบรร- ......... เลงเล่น

วารว่างจึงวางถ้อย .............. เทิดไว้วรรณกรรม

พระมหาวินัย ๑๓.๔๔ น. : ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๖

๐ รอยยิ้มดูหยาดเยิ้ม .......... เหลือแสน
อุระนุชคงจักแปลน ............. ปราศเศร้า
จากทุกข์เปลี่ยนสุขแทน ....... ทวีสุข
ยลยิ่งยินยังเจ้า .................. จวบหล้าฟ้าสูญ

๐ จำรูญรักสัจจ์สร้าง ............ นางถนอม
กระทบกระทั่งยอม .............. อ่อนข้อ
ขจัดสิ่งแปลกปลอม ............. ประหลาด
ทุกข์เทวษไป่พ้อ ................ เพียบพร้อมกุลสตรี

๓ มกราคม ๒๕๕๖

๐ อ้างอิงเอาเทพไท้ ........ทั้งสวรรค์
คุณพระศรีรัตนะอัน .......... เพริศแพร้ว
กรรมดีที่เคยสรรค์ ........... เสกก่อ
ขอจุ่งเป็นฉัตรแก้ว ........... ปกเกล้าเราเสมอ

๐ เผลอไผลปีเก่าครั้ง ....... คราใด
ประพฤติปฏิบัติไป ........... เปลี่ยนแก้
ประเสริฐเลิศกำไร ............ กว่าอดีต
มวลหมู่ไพรีแพ้ ............... พยาธิร้ายกรายหนี

๐ มีมิตรรักมั่นแท้ ............. นิรันดร
มีสุขสโมสร ................... ทั่วหล้า
ปิยชนก็ห่อนจร ................ จากอก
ดวงจิตจรัสจ้า ................. จวบฟ้าดินสูญ

๐ พูนเพิ่มโภคทรัพย์แก้ว ....ศฤงคาร
เกียรติยศและงาน ............ อีกพร้อม
สมมโนปณิธาน ............... ทุกสิ่ง
ญาติสนิทมิตรรักห้อม ........ ห่อนสิ้นสุขศานต์

๐ วาระกาลใหม่นี้ ............ อวยพร
งูเล็กพลัดผันจร .............. จากคล้อย
ม้าดีวิ่งเว้าวอน ................ เวียนสู่
จึงคิดประดิษฐ์ถ้อย ........... แจกผู้เห็นสาร
๑๙.๔๔ น. : ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๖

"..บอกไว้.."

ถึงพากเพียรเขียนคำทุกค่ำเช้า

ยังไม่เข้าข่ายขั้นวรรณศิลป์

คำใดเล่าจะจารได้ดั่งใจจินต์

ก็ยังยินดีจารทุกวารวัน


รู้สึกว่ายังไม่เพราะเสนาะหู

เปรียบเทียบดูธรรมดากล้าสร้างสรรค์

แสร้งเป็นโศกวิโยคบ้างพลางรำพัน

ถึงกระนั้นก็จืดจางดูห่างไกล


บางคนอาจคิดว่าฉันนั้นโศกเศร้า

ทุกข์รุมเร้าบ่นเพ้อละเมอไหน

แต่ความจริงทุกวลีมิมีใด

แสร้งแต่งไปเพื่อฝึกฝนบนทางกลอน


อย่างเช่นบทนิราศเรื่องเืมืองร้อยเอ็ด

นั้นเรื่องเท็จมากมายคล้ายหลอกหลอน

แต่หย่อมย่านผ่านไปใช่ละคร

อุทาหรณ์ยกให้เห็นเป็นเรื่องราว


เขียนตามอย่างปางก่อนท่านสอนไว้

แต่เขียนไปยังไม่จบพบหญิงสาว

เมื่อยามว่างจึงเขียนบ้างเป็นครั้งคราว

กว่าจะก้าวถึงร้อยเอ็ดอีกเจ็ดวัน


มาถึงแค่ครึ่งทางกลับวางแล้ว

เมืองเพริศแพร้วธวัชบุรีที่เขียนนั่น

จึงไม่จบลง"เอย"ดั่งเคยกัน

ด้วยเพราะฉันมีภาระต้องกระทำ


จึงบอกไว้ให้แก่คนที่ทนอ่าน

แวะเวียนผ่านอย่าบอกว่าชอกช้ำ

มองให้ดีที่สร้างสรรค์วรรณกรรม

โปรดอย่าสำคัญผิดคิดไปเอง

๒๐.๑๒ น. : ๔ ม.ค. ๒๕๕๗

ได้อ่านทั้งนิราศ ทั้งโคลง ทั้งกลอน ของท่านพระมหาวินัยแล้ว ชื่นชอบและชื่นชมครับ มีข้อคิดดีๆพร้อมสอดแทรกความฮาไปด้วยบางที่ ^__^

๐ ปางน้อยครารุ่นรู้ ...... แรกเรียน

ใครเล่าเฝ้าจุดเทียน ...... ทิตหล้า
ดวงจิตห่อนหันเหียน .... คิดห่วง
ปวงศิษย์ชีวิตจ้า ........... ก็ล้วนเพราะใคร

๐ กล้วยไม้ออกดอกช้า ... ชวนถวิล
กว่าหมู่ภุมริน ................... แวดล้อม
คุณครูท่านพรวนดิน .......... รดหลั่ง วิชช์แฮ
ดวงจิตประณตน้อม ........ นอบผู้เพียรถนอม

๑๓.๒๓ น. : ๖ มกราคม ๒๕๕๗

๐ คุณแม่มีมากพ้น .......พรรณนา
คุณพ่อก็หนักหนา ....... อนรรฆล้วน
คุณพี่ที่พึ่งพา ............. พิสิฐ
คุณครุสอนสั่งถ้วน ...... เทิดไว้เวียนถวิล
๒๐.๔๙ น. ๖ ม.ค. ๒๕๕๗

๐ เอามีดกรีดแกะไม้ ...... ปฏิมา
รูปเปรียบพระพุทธา ....... เทิดไว้
กราบไหว้อนุสรณา ......... แนบจิต
เป็นนิมิตติดตาให้ ........... ห่างห้วงอกุศล
..
เพียงเศษไม้เหลือทิ้งวางนิ่งอยู่
เอามาถูเอามาขัดตัดแต่งศิลป์
เอาศรัทธาหยั่งลงองค์พระชิน
แต่งแต้มจินตนาการผ่านมีดคม
จนเป็นรูปเป็นร่างอย่างที่เห็น
ยินยลเย็นโศกสลายคลายขื่นขม
เป็นเครื่องหมายแห่งความดีที่พร่างพรม
ยามกราบก้มบูชาเตือนตา-ใจ
กราบพระพุทธสุดประเสริฐเกิดความรู้
ที่เป็นอยู่ตื่นหรือหลง รักตรงไหน
กราบพระพุทธกราบองค์พระทรงชัย
อย่าหลับใหลให้ตื่นจะชื่นบาน
กราบพระธรรมคำสอนให้ย้อนคิด
เพ่งพินิจให้ดีที่ขับขาน
กราบไม่เป็นเห็นไหมถูกใบลาน
กราบคือการประพฤติธรรมนำชีวี
กราบพระสงฆ์ทรงผ้ากาสาวะ
ให้รู้ละเหมือนพระสงฆ์ผู้ทรงศรี
กราบคราใดกราบไปให้ถูกดี
พระสงฆ์นี้แบบอย่างทางชีวิต

๐ กราบพระใช่กราบผ้า ..... ผืนเหลือง
ปฏิปทาอาจาระเรือง ........ เลิศแล้
มิใช่เพราะประเทือง ........ ทายทัก หวยแฮ
สุปฏิปันโนแท้ ............... ที่น้อมเศียรถึง
(พระมหาวินัย) ๒๒.๓๙ น. : ๓ ก.พ. ๕๗

มือสร้างศิลป์จินตนาศรัทธามั่น
แรงกายหมั่นวาจาชอบประกอบผล
ใจจ่อจดพระไตรรัตน์พัฒน์มงคล
ประเสริฐล้นประสิทธิ์ล้ำนำความงาม (คุณครูประภัสสร โพธิจักร)

๐ เคยสะพรั่งกลับร่วงทิ้ง ......ถมดิน
เก็บกวาดทุกเช้าชิน ........... เช่นนี้
ออกใหม่ระบัดใบถวิล ........ วัฏฏะ
กฎแห่งไตรลักษณ์ชี้ .......... ช่วยเือื้ออวยกุศล

๐ คนเกิดขึ้นอยู่แล้ว .......... สลายไป
เกิดอีกภพภูมิไหน ............. ไม่แจ้ง
ดีชั่วที่อาลัย .................... เหลือระลึก
โลมโลกฤารู้แล้ง ............... ร่างไร้นามเสถียร
๑๕.๒๙ น. : ๔ ก.พ. ๕๗

๐ ชมพะยอมยามพรั่งพร้อม ....... พวงขาว
กรุ่นกลิ่นกลแก้มสาว ............... สดซึ้ง
ชื่นใจก็เพียงคราว .................. ครู่หนึ่ง
กลัวแต่คนรุมทึ้ง .................... ร่วงแล้วหอมหาย
๑๕.๔๔ น. : ๔ ก.พ. ๕๗

๐ ก่อนเจ้าอยู่ยอดเย้ย .......... ยียวน
ไยเล่าจึ่งเรรวน ................... ร่วงแล้ว
ดอมดมก็อบอวล ................. อายกลิ่น
ใครหละะจะชมแก้ว .............. เก็บขึ้นคอยถนอม
๑๕.๕๓ น. : ๔ ก.พ. ๕๗

"..ดอมดอกดื่นชื่นมาลีหลากสีสัน

ประโลมขวัญแล้วจางห่างเสมอ

บางดอกก็ไร้กลิ่นสิ้นเลิศเลอ

เพียงพลั้งเผลอผ่านแผ่วแล้วเลยลา

สายธารแห่งดวงใจในชีวิต

ไม่มีมิตรสนิทแท้ที่แลหา

เชิงตะกอนก่อนดับลับวิญญาณ์

หวังจันทน์มาวางไว้อยู่ใกล้เธอ.."

๘ ก.พ. ๕๗


ขอบคุณภาพจากเน็ต

จะบุปผาคราแรกแย้มแต้มแต่งโลก

ไม่วิโยคโศกสูญอาดูรหรือ

จะมีใดอยู่ยั้งจีรังฤา

ที่ดีคือมิพลั้งเผลอละเมอไป

กฤษณาหรือจันทน์วันสุดท้าย

ที่สุดย่อมสลายคลับคล้ายไหม

ถูกเพลิงเผาเร่าร้อนกลางก้อนไฟ

เหลืออังคารถ่านเถ้าไว้ไยคร่ำครวญ

๘ ก.พ. ๕๗

ขอบคุณภาพจากเน็ต

<p>บ่เด่นเช่นจันทร์ฉาย</p><p>คงคลับคล้ายดาวดวงน้อย</p><p>แวดล้อมบุหลันลอย</p><p>เพียงเล็กน้อยชั่วครู่ยาม</p><p>หากจันทร์อยู่โดดเดี่ยว</p><p>จันทร์แรมเสี้ยวบ่งดงาม</p><p>ดาราจะรอถาม</p><p>ลอยล่องตามศศิธร</p><p>คราใดที่จันทร์ดับ</p><p>จะลาลับทิฆัมพร</p><p>มวลหมู่ดารากร</p><p>จะสะท้อนแสงอ่อนไป</p><p>กลัวจันทร์นั้นจะเหงา</p><p>แสงโสมเศร้าเปล่าเปลี่ยวใจ</p><p>ดวงดาวสกาวใส</p><p>จะกล่อมเกลี้ยงคู่เคียงจันทร์</p><p>
</p><p>ขอบคุณภาพจากเน็ต</p><p>
</p>

แผนที่แห่งชีวิต ไยครุ่นคิดไม่เห็นหน
คงแท้แต่กรรมดล บันดาลแต่งแสดงไป
ฟากฝั่งแห่งฟ้าฝัน ที่ตรงนั้นมันที่ไหน
เวิ้งว้างระหว่างใจ อดทนอยู่สู้เผชิญ
เรื่อยเรื่อยใช่เรื่อยเปื่อย ยอมเหน็ดเหนื่อยระหกระเหิน
ถากถางเส้นทางเดิน สักวันหนึ่งถึงที่หมาย
แม้ไร้ซึ่งแผนที่ เพียรทำดีให้เฉิดฉาย
สักวันพรรณราย เห็นฟากฝั่งจีรังกาล

๐ ดิ้นรนทนไขว่คว้า ....... ความหวัง
แผนที่ชีวายัง .............. ยากรู้
ฟ้าฝันมั่นจีรัง ............... ฤาพบ
รู้เท่าเอาดีสู้ ................ สู่ฟ้าฝั่งฝัน

๐ จะดังจะเด่นได้ ..... เพราะดี

เสริมสง่าราศี .......... ประเสริฐล้ำ

การกาจเก่งคัมภี- ...... รภาพยิ่ง

กตเวทิคุณค้ำ .......... คู่ล้วนควรเกษม

๐ ปัญหามีเพื่อรู้ .......... ฝึกฝน

ยามอยู่สู้อดทน .......... กระทบบ้าง

แปรวิกฤตนั่นแหละผล ... พิเศษ

ดีกว่าจะเวิ้งว้าง .......... วุ่นแล้วสับสน

๐ เป็นคนยากหลบลี้ ....... โลกธรรม
สุขทุกข์มีประจำ ............. จิตเจ้า
มีสตินี่สิสำ- .................. คัญยิ่ง
ไยจึ่งหมองหม่นเศร้า ...... สุขร้างห่างเหิน

๐ มีเรื่องราวรับรู้......... หลากหลาย

เรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ... พี่น้อง

เรื่องโลกที่วุ่นวาย ....... เวียนกระทบ

แต่ทุกเรื่องนั่นต้อง .... . ตรึกรู้ดูเป็น

๐ พี่น้องยามไร้คู่ ........ เคียงขนาน

ยังผูกพันชื่นหวาน ....... วิลาสล้น

ยามใดแยกวงศ์วาน ..... วิภัชพวก

ยามนั่นแหละยากพ้น ... พรากสิ้นสัมพันธ์

๐ มีมืดมีสว่างแก้ ...... กลับกัน

มีทุกข์มีสุขผัน ......... ผ่านพ้น

มีเกิด,แก่,ดับ,พัน- ... ผูกอยู่

มีชั่วมีดีล้น .............. เหล่านี้มีเสมอ

๐ มีเผลอมีพลาดพลั้ง ...... ผิดไป

มีโศกมีสดใส ................ สลับบ้าง

มีมั่นและหวั่นไหว ........... เวียนสู่

มีรักมีเลิกร้าง ................ เหล่านี้มีประจำ

๐ มีขำมีโกรธขึ้ง .............. เคืองเขา

มีมืดมีมัวเมา .................. ไม่รู้

มีแบกไม่มีเบา ................ บางขณะ

มีหวั่นแล้วกลับสู้ ............. สิ่งนี้มีเห็น

๐ มีเย็นมีอบอ้าว ............. หนาวกระหาย

มีเงียบมีบรรยาย ............. หยอกเย้า

มียุ่งยากมากมาย ............ มากระทบ

มีเช่นนี้ค่ำเช้า ................. ชั่วฟ้าดินสูญ

๒๕ เม.ย. ๒๕๕๗

๐ วาดฝันอันหยดย้อย ......... เหลือแสน
วิริยะกลับเปล่าแปลน .......... แปลกแท้
ทำใดจักถึงแดน ................ ดั่งปรารถ -นานา
เห็นแต่พากเพียรแก้ ........... กอบกู้ชูฝัน

๒๖ เม.ย. ๕๗

ร้อนอากาศว่าร้อนพอผ่อนผัน
ร้อน โลภ,โกรธ,หลง, พัวพันสิหวั่นไหว
ร้อนแสงแดดแผดเผามิเท่าไร
ร้อนเพราะใจปรุงแต่งยิ่งแรงร้อน

๒๖ เม.ย. ๕๗

เพียงแสงแดดแผดเผาไม่เท่าไหร่ 

ขอเพียงใจสงบพบสุขสันต์

หลากเรื่องราวหนาวร้อนย้อนพัวพัน 

ธรรมะนั่นคือโอสถมารดริน

๒๖ เม.ย. ๕๗

ปฏิบัติขัดเกลาบนเขาใหญ่

คำอาจารย์นั่นไซร้ได้สั่งสอน

จำได้เพียงบางบท บางตอน

ยังสะท้อนในใจไม่ลืมเลย

ท่านว่า "ดูช้างให้ดูหน้าหนาว

ดูผู้สาวให้ดูหน้าร้อน" ตอนเฉลย

ก็ไม่แจ้ง ชัดใจในพังเพย

เห็นท่านเอ่ยให้ฟังยังคลาแคลง

ขอผู้รู้อธิบายขยายบ้าง

พอเป็นทางคิดเป็นให้เห็นแสง

มีนัยยะดีดีเชิญชี้แจง

จะชัดแจ้งในคำที่จำมา

๒๖. เม.ย. ๕๗

เห็นดอกฟ้าวิลาวัณย์อันสูงส่ง

จิตจำนงไขว่คว้ามาทัดหู

ติดแต่ว่าเป็นกระต่ายได้แค่ดู

รอดอกฟ้าร่วงพรูมาสู่ดิน

ได้แค่มองปองหมายหวังกรายใกล้

คงไม่ได้ชื่นชมสมถวิล

บุญบ่สมดอกฟ้ากล้ายลยิน

คงไม่สิ้นชอกช้ำระกำทรวง

"กระต่าย"


สงสารเจ้ากระต่ายน้อยคอยนานแล้ว
มองเห็นแววปราถนาอาลัยห่วง

ด้วยกลัวกลีบจะช้ำเพราะคำลวง
และกลัวร่วงสู่ดินแล้วสิ้นใจ
ขอเวลาพิสูจน์คำพูดนั่น
จะยึดมั่นทุกสิ่งจริงแค่ไหน
หากเห็นชัดสัตย์แท้ไม่แปรไป
มิอาลัยพร้อมหล่นบนลานดิน

"ดอกฟ้า"

๒๗ เม.ย. ๕๗

อนาคตเป็นอย่างไรไม่ทราบแน่
จะเปลี่ยนแปรดีร้ายหรือสร้างสรรค์
คงสุดแท้แต่บุญกรรมเป็นสำคัญ
ปัจจุบันเป็นอยู่ย่อมรู้ตัว
หนทางเดินใช่สว่างดั่งใจคิด
ถึงพากเพียรลิขิตยังสลัว
จุดประทีปปัญญาอย่าหวั่นกลัว
ดีและชั่วเลือกเฟ้นละเว้นเอา
แผนที่วางรัดกุมยังกลุ้มได้
ขาดสติปัญญาไซร้จึงโง่เขลา
ทั้งประมาทขาดขยันมาบรรเทา
ความโศกเศร้าเท่านั้นแหละแวะเวียนมา
แม้ไม่หวังสิ่งใดแต่ใจสู้
ปัจจุบันเป็นอยู่รู้ศึกษา
บุญกุศลที่ทำจะนำพา
วิริยาพรั่งพร้อมย่อมดีงาม
สิ่งที่ก่อเมื่อเต็มรอบจะมอบผล
บันดาลดลรับรองไม่ต้องถาม
คงจะเว้นที่ชั่วเกลือกกลั้วทราม
ขอเพียงพยายามทำความดี

 ๒๕ เมย. ๕๗

เป็นดอกฟ้าในป่าพนาสนฑ์
ดีกว่าทนเป็นพะยอมหอมเมืองหลวง
เด่นดอกนวลยวนใจให้ใครลวง
บานเป็นพวงร่วงไปใครจะแล
เป็นดอกฟ้าในป่าในกระท่อม
ดีกว่าเป็นพะยอมหอมหายแน่
คำโบราณสอนสั่งฝังดวงแด
ให้รู้แก้กลใจในสังคม
(คุณครูประภัสสร โพธิจักร)

เป็นดอกฟ้าในป่าใหญ่ไร้คนหอม
ก็จงยอมมาอยู่คู่เมืองหลวง
ให้คนกรุงได้เหลียวแลแม่พุ่มพวง
ดีกว่าร่วงโรยเปล่าไม่เข้าที
เป็นดอกฟ้าในป่าใหญ่ใครเห็นค่า
มอดไม้มาโค่นหักไร้ศักดิ์ศรี
อยู่เมืองกรุงจรุงกลิ่นไม่สิ้นดี
ราคานี้มากมายหลายร้อยพัน
(พระมหาวินัย)

<p><p>ยามแตกช่อเบ่งบานก็ผ่านใกล้
คอยยื่นมือยื้อไปให้มันถึง
เก็บกำดอกหอมหวนชวนคะนึง
ดอกเจ้าจึงมีค่าก็คราบาน
แต่ยามใดไร้กลิ่นก็สิ้นค่า
ไม่แวะมาลองลิ้มชิมรสหวาน
เห็นดอกใหม่ลืมดอกหลังครั้งวันวาน
ปล่อยพุ่มพวงดวงมาลย์ร้าวรานใจ (พระมหาวินัย)

ดอกเจ้าบานเเต้มกิ่งดูพริ้งเเพร้ว
กาลผ่านแล้วดอกเก่าร่วงเกิดพวงใหม่
หอมเอย…..หอมพะยอมย้อมหทัย
ขจรไกลเสน่ห์ซึ้งยังตรึงตรา
ไยจะลืมดอกเก่าที่เฝ้ารัก
ยังฟูมฟักอดีตไว้ไห้หวนหา
แม้พะยอมจางกลิ่นรินอำลา
ยังซาบซึ้งประหนึ่งว่าไม่กล้าลืม (เต็มตื่น ชื่นบาน)

เคยผ่านรักดมดอมช่างหอมหวน
เคยเย้ายวนซึมซาบแสนปลาบปลื้ม
แต่ผันผ่านกาลเวลาทำท่าลืม
กลับดูดดื่มกลิ่นใหม่ ให้ระทม (สายธาร แห่งรัก)

ก็จงจดจงจำความช้ำชอก
อย่าให้หลอกซ้ำสองต้องขื่นขม
เจ็บไม่จำซ้ำใจได้ตรอมตรม
มาภิรมย์รักแล้วคลาดแคล้วไป
เป็นเช่นนี้แหละหนาอย่าริรัก
ควรจะหนักแน่นบ้างอ้างว้างไหน
อยู่คนเดียวเปลี่ยวอุราว้าวุ่นใด
สบายใจสบายกายคลายกังวล (พระมหาวินัย)

ถ้าไม่ลองไม่รู้หนาคำว่ารัก
แค่อกหักจะเป็นไรไม่ต้องสน
โลกเรามีผู้ชายตั้งหลายคน
จงอดทนรอคอยผู้อยู่เพื่อเรา อิๆ
จะเจ็บจำกี่ครั้งช่างมันเถิด
จงก่อเกิดรักใหม่ให้สุขเศร้า
แต่ถ้าเบื่อเมื่อใดใจไม่เอา
ก็จงเฝ้าเป็นโสดอาจโปรดปราน อิๆ (เต็มตื่น ชื่นบาน)

เข้าใจว่าความรักมักก่อทุกข์
มีความสุขเล็กน้อยพลอยชื่นหวาน
ยามความรักดีอยู่ดูเบิกบาน
มองทุกด้านดีหมด มดแมงตอม
แต่เมื่อใดอนิจจังประดังเข้า
เกิดหงอยเหงาเศร้าศัลย์พลันผ่ายผอม
เพราะเผลอไผลในคำรักจักตรมตรอม
พวงพะยอมหอมหายกลิ่นคลายแล้ว (พระมหาวินัย)</p></p>

พวงพะยอมยามโรยรา
เก็บภาพมาให้เชยชม
ขาวขาวพราวพร่างพรม
ปูทั่วพื้นพลาญปูน
ดูดีมีข้อคิด
เพ่งพินิจปัญญาพูน
โศกาใจอาดูร
กลับแช่มชื่นตื่นเบิกบาน
รู้ซึ้งถึงแปรเปลี่ยน
ยามแวะเวียนมาแผ้วพาน
ใครเล่าเฝ้าอยู่นาน
ไม่ละก้านหลุดร่วงลง
คราพบประสบเข้า
ไยจะเศร้าไม่รู้ปลง
ใดใดไม่มั่นคง
ถึงคราแล้วคลาดแคล้วไป
นี่แหละพะยอมโรย
ร่วงปรายโปรย โรยเปล่าไหม
น้อมนำธรรมมาลัย
มามอบให้ไตร่ตรองกัน
พระมหาวิันัย


๐ โรยราหลุดร่วงแล้ว ......หรือไร
เก็บภาพความเป็นไป ..... เปล่าแสร้ง
ตรองตรึกนึกธรรมนัย ...... ณ ภาพ
ใครเล่าจะยื้อแย้ง .......... อยู่ยง
(พระมหาวินัย ๑๗.๒๙ น. ๕ ก.พ. ๕๗)

โรยรายกลายกายแล้ว
ยังเหลือแววมาลีหอม
เวลาเลยพลาดดอม
ก็โรยลับไปกับกาล
ชื่นเชยขณะกรุ่น
จะละมุนละไมหวาน
เต็มตื่น และชื่นบาน
เต็มทิพย์ธารเต็มลานใจ
(คุณครูประภัสสร โพธิจักร)

๐ การใดสำเร็จได้ ....... ดังหมาย
ฝันใฝ่ดาวพราวพราย ....... พร่างแล้ว
บาลีที่คมคาย ................. คอยบอก
เพียงเพื่อ"พรพิพัฒน์"แพร้ว .... รุ่งรุ้งเรียงฝัน
(.พระมหาวินัย)

รำฟ้อนดูอ่อนช้อย
วัยใช่น้อยมาฟ้อนรำ
แก่แก่แลคมขำ
จึงจดจำนำภาพมา
ประเพณีอันดีงาม
พยายามสืบรักษา
รำฟ้อนเพื่อบูชา
องค์พระธาตุชื่อเชิงชุม

หลากสีและหลากพันธุ์
บรรจงสรรลงถูกที่
ล้วนแล้วแต่ดูดี
ราคานี้มีมากมาย
ดอกไม้คราจำเป็น
เช้าชั่วเย็นเห็นหลากหลาย
จัดวางดูพร่างพราย
ไม่ช้าหายความโสภา
ให้น้ำให้ฉ่ำชื้น
เพียงเพื่อฟื้นให้คืนมา
สวยซึ้งไม่ถึงครา
ก็โรยราไม่น่ามอง  (๑๑ ก.พ. ๕๗)

จงก้าวเดินช้าช้าแต่กล้าหาญ
จงก้าวผ่านความหวั่นไหวด้วยใจสู้
ใช้สติไตร่ตรองและมองดู
ค่อยค่อยเรียนค่อยค่อยรู้สู่เส้นชัย
จงอดทนต่อขวากหนามเพื่อความฝัน
ด้วยอุตส่าห์มานะมั่นสู่วันใหม่
คนท้อย่อมไม่แท้ต้องแพ้ไป
คนแท้ไซร้ย่อมไม่ท้อต่อภัยพาล
ด้วยฉันทะมีใจรักผลักให้สู้
เร่งเรียนรู้วิริยาและกล้าหาญ
ด้วยจิตตะใจแน่วแน่ไม่แพ้มาร
วิมังสาปัญญาชาญผ่านทุกข์ทน
เอาความเพียรเป็นที่ตั้งพลังกล้า
เอาศรัทธาเป็นรากฐานตระการผล
เอาสติปัญญาอยู่เป็นผู้คน
ฟ้าจะดลความสำเร็จเพชรเม็ดงาม

๒๕ ก.พ. ๕๗

ตีนตุ๊กแกชูช่อล้อผีเสื้อ
ดูงามเหลือเมื่อแลตุ๊กแกผี
ประดับดินประดับฟ้าค่าความดี
แต่คนนี้มองเห็นเป็นรกไป
ถ้าจัดเขาลงถูกที่มีสีสัน
วัชพืชนั้นมีค่าน่าหลงใหล
เอาพองามพอประดับประทับใจ
อย่าปล่อยให้รกเรื้อเมื่อยามยล

(แต่งกลอนประกอบภาพให้คุณครูปุ๊กกี้)

๒๖ ก.พ. ๕๗

งามดั่งสีน้ำผึ้ง พึ่งเคยเห็น
ยลแล้วเย็น ตา-ใจชวนใฝ่ฝัน
ไว้กราบไหว้บูชารักษากัน
ราคานั้นสูงล้ำน่าช้ำใจ
สี่พันห้าราคาพระองค์นี้
มองอีกทีดูดั่งว่ายังใหม่
เห็นเขาว่าสมบูรณ์ดีชี้บอกไป
ทำไฉนบุญน้อยนิดคิดเสียดาย

(กลอนประกอบภาพพระแก้วสีน้ำผึ้ง)

๙ มี.ค. ๕๗

๐ วาดหวังจักถักร้อย .. เรียงฝัน
เป็นอยู่หย่อนขยัน ..... ยากแท้
ทำใดจักเพริศพรรณ- .. รายล่ะ
เห็นแต่พากเพียรแก้ .... กอบกู้ชูหวัง

๒๙ เม.ย. ๕๗


๐ มีมืดมีสว่างแก้ ...... กลับกัน
มีทุกข์มีสุขผัน ......... ผ่านพ้น
มีเกิด,แก่,ดับ,พัน- ... ผูกอยู่
มีชั่วมีดีล้น .............. เหล่านี้มีเสมอ

๐ มีเผลอมีพลาดพลั้ง ...... ผิดไป
มีโศกมีสดใส ................ สลับบ้าง
มีมั่นและหวั่นไหว ........... เวียนสู่
มีรักมีเลิกร้าง ................ เหล่านี้มีประจำ

๐ มีขำมีโกรธขึ้ง .............. เคืองเขา
มีมืดมีมัวเมา .................. ไม่รู้
มีแบกไม่มีเบา ................ บางขณะ
มีหวั่นแล้วกลับสู้ ............. สิ่งนี้มีเห็น

๐ มีเย็นมีอบอ้าว ............. หนาวกระหาย
มีเงียบมีบรรยาย ............. หยอกเย้า
มียุ่งยากมากมาย ............ มากระทบ
มีเช่นนี้ค่ำเช้า ................. ชั่วฟ้าดินสูญ

๒๕ เม.ย. ๕๗

๐ ยามเย็นอาทิตย์ล้า ......... เลือนแสง
เฉกชีพเคยแสดง ............. สุขเศร้า
ทุกสิ่งจรัสแจรง ................ ฤาจิรัฐติ์
แปรเปลี่ยนเวียนเร่งเร้า ....... หลบพ้นฤาไฉน

๒๕ เม.ย. ๕๗


๐ มิตรภาพจะเลิกร้าง ............. เลือนหาย
เห็นอยู่ไม่ทักทาย ................ ทิฐิรั้น
เดินผ่านกลับดูดาย ................ ดั่งบ่ เห็นเฮย
นี่แหละเหตุสะบั้น ................. บอกร้ายแสลงใจ

๒๕ เม.ย. ๕๗

๐ พี่น้องยามไร้คู่ ........ เคียงขนาน
ยังผูกพันชื่นหวาน ....... วิลาสล้น
ยามใดแยกวงศ์วาน ..... วิภัชพวก
ยามนั่นแหละยากพ้น ... ผิดพ้องหมองหมาง

๒๔ เม.ย. ๕๗


๐ มีเรื่องราวรับรู้......... หลากหลาย
เรื่องเกิดแก่เจ็บตาย ... พี่น้อง
เรื่องโลกที่วุ่นวาย ....... เวียนกระทบ
แต่ทุกเรื่องนั่นต้อง .... . ตรึกรู้ดูเป็น

๒๔ เม.ย. ๕๗

๐ จะดังจะเด่นได้ ..... เพราะดี
เสริมสง่าราศี .......... ประเสริฐล้ำ
การกาจเก่งคัมภี- ...... รภาพยิ่ง
กตเวทิคุณค้ำ .......... คู่ล้วนควรเกษม

๒๒ เม.ย. ๕๗

คำควบไม่แท้

๐ จริงเศร้าไซร้สระสร้าง ........ ทรงศรี

ทรวงทราบทรุดโทรมทรีย์ .... เทริดแสร้ง

สร้อยสรงพุทรามี ................. สรวงเศรษฐ์

ทรามแทรกเสริมศรัทธ์แกล้ง ..กล่าวแล้วเหลือหลาย


๐ ทรายไทรศราทธ์ทรัพย์สิ้น ..... เสร็จแสง

สรวมทรวดสรวยสรวลแรง .......... เร่งรู้

อาศรมประเสริฐแปลง ................ ประสบ

กำสรดอดศรัยสู้ ........................ สร่างสิ้นเทราสรอง


ทรีย์, ทรี มาจากคำว่า อินทรีย์ มัทรี,

สรวย มาจากคำว่า แม่สรวย เป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ,

ศรัย ตัดมาจากคำว่า ปราศรัย, เทรา มาจากคำว่า ฉะเชิงเทรา,

สรอง มาจาก เมืองสรอง ในลิลิตพระลอ

๑๒.๔๓ น. : ๒๘ พ.ค. ๕๗

๐ ไปเถิดไปสู่ฟ้า .............. ฝั่งฝัน

หาสิ่งประดับขวัญ ............. ค่าแท้

ธารทองทิพย์สัจธรรม์ ........ ถวิลเถิด

จักประเสริฐเลิศแล้ ........... โลกรู้ฤาสลาย

๒๐ ๒๑ น. : ๒๙ พ.ค. ๒๕๕๗

๐ รินรดหยดน้ำจิต ....... เจือจาน

ถ่ายทอดวิทยาการ ...... ก่อเกื้อ

สอนสั่งศิษย์คือภาร ....... พิรีย์ยิ่ง

มิใช่ชาติใช่เชื้อ ............. แต่ชี้ทางไสว

๒๙ พ.ค. ๒๕๕๗

๐ สัจจะคือค่าแท้ ....... ทุกสถาน

เจิมจิตจรดเจือจาน ......จุ่งเอื้อ

เนานิตย์นิรันดร์นาน ..... นับเนื่อง

พันธะอวยอะเคื้อ ........ โอบอ้อมเอมถวิล

๓๐ พ.ค. ๒๕๕๗

เธอจงเป็นคนดีอย่างนี้ล่ะ

มีธรรมะส่องไสวนำใจอยู่

ทุกข์เเละสุขผ่านมาพาตรองดู

เเค่ชั่วครู่ไม่นานก็ผ่านไป

บทเส้นทางที่ฟันฝ่าอย่าประมาท

เพราะอาจพลาดพลั้งลงเเล้วสงสัย

ดูทุกสิ่งปล่อยวางอย่างเข้าใจ

อย่าหวั่นไหวให้มั่นคงจงใฝ่ดี

ค่อยค่อยเรียนค่อยค่อยรู้เป็นครูสอน

เอื้ออาทรเป็นอาจิณทุกถิ่นที่

เมตตาธรรมหนุนให้มอบไมตรี

เอื้ออารีต่อคนยากอีกมากมาย

หน้าที่เธอคืออยู่เพื่อผู้อื่น

เพื่อหยิบยื่นความรักล้วนหลากหลาย

เพื่อสังคมอบอุ่นลดวุ่นวาย

เพื่อจะคลายปัญหาสารพัน

เพียงสองมือน้อยค่อยค่อยช่วย

จงร่ำรวยน้ำใจให้สร้างสรรค์

มีรอยยิ้มจริงใจยิ้มให้กัน

รู้เเบ่งปันโอบเอื้อเพื่อมวลชน

ใครจะว่าเอาหน้าบ้างก็ช่างเขา

ถ้าตัวเราไม่ใช่อย่าไปสน

มีสติปัญญานำพาตน

อย่าหวังผลคิดชอบตอบเเทนใด

มวลบุปผามาลีผลิช่อเเย้ม

เติมสุขเเต้มลบรอยโศกโลกสดใส

เธอจงงามความดีที่ข้างใน

สร้างสรรค์ให้สังคมงามด้วยความรัก

๐ ลาภยศปรากฏแล้ว ........ เลือนหาย

มีสุขมีทุกข์คลาย ............. เคลื่อนคล้อย

นินทาก็กลับกลาย ........... กล่าวชื่น ชมนา

เห็นอยู่อย่าเศร้าสร้อย ...... ซาบซึ้งถึงเหลิง

๑๙.๑๖ น. : ๔ มิ.ย. ๒๕๕๗

๐ สรรพวิทย์ในโลกล้วน ......... หลากหลาย

แต่เกิดจนตายหมาย ............... ไม่แจ้ง

รู้ซึ้งหนึ่งภายคลาย .................. ความมืด มนนา

แม้มากเพียรเรียนแล้ง ............. เลิศรู้ดูเหลว

๑๒ มิ.ย. ๕๗

๐ หลงใหลในกาพย์แก้ว ........... กลอนฉันท์

โคลงร่ายลิลิตอัน ..................... อ่อนช้อย

ไพเราะเสนาะกรรณ .................. กลกล่อม

หวานว่าหวานตาลอ้อย ............. อาจแพ้กวีหวาน

๐ "ครูผ่องพรรณ"เพริศแพร้ว ............ พรรณราย

ส่งศิษย์ถึงจุดหมาย ........................ มากแท้

"ศรีแสง"ส่องประกาย ...................... กลเพชร มณีนา

สุขสวัสดิ์พิพัฒน์แล้ ........................ เลิศล้วนชวนถวิล


ผุดผ่องพรรณ พรรณงามอร่ามสี

สู่วิถีเกียรติศักดิ์อนรรฆค่า

เดือนสกาวดาวเด่นจำเร้นลา

สิ้นสุดหน้าที่ครูผู้อาทร

คือแสงทอง"ผ่องพรรณ"อันวิจิตร

ที่อุทิศวิญญาณการสั่งสอน

"ศรีแสง"ล้ำดำรงคู่ดงดอน

คอยปลอบป้อนวิทยาอ่าอำไพ

งานประดิษฐ์งามเด่นเป็นประจักษ์

แกะสลักเลิศล้ำนำสมัย

งามประณีตขึ้นชื่อระบือไกล

ภาษาไทยรอบรู้ครูเชี่ยวชาญ

ครูผ่องพรรณ ศรีแสง เรี่ยวแรงมั่น

คือช่างปั้นคนดีศรีสถาน

"ถิ่นโนนยาง"สรรค์สร้างจิรังกาล

เป็นตำนานบ้านเมืองเรืองอนันต์

ขอครูจงไร้ทุกข์สุขสวัสดิ์

พระไตรรัตน์ปกป้องคุ้มครองขวัญ

กลับสู่บ้านสำราญใจในทุกวัน

สู่สามัญเกษียณเกษมเปรมปรีดิ์เทอญ....

๐ อำ พรโอภาสแจ้ง .............. จันทร์ฉาย

นาจ ห่อนลาลับหาย ............... ห่างฟ้า

กลาง จิตศิษย์หญิงชาย ........... ชูชื่น

บุรัมย์ รื่นรินโลมหล้า ................หลากล้วนชวนถวิล


ลุล่วงกาลเกษียณเวียนมาถึง

ให้ตราตรึงประทับจิตศิษย์ครวญหา

อุ่นความรักความจริงใจในเมตตา

สร้างสรรค์ค่าผลงานชาญก้าวไกล

คือเพชรงามน้ำหนึ่งซึ่งส่องแสง

คือเรี่ยวแรงเสาหลักมั่นมิหวั่นไหว

ทำหน้าที่ด้วยชีวิตและจิตใจ

อุดมการณ์ปูทางให้ศิษย์ได้เดิน

ครูภาษาไทยมืออาชีพแบบฉบับ

ประสานศัพท์ขับเสภาน่าสรรเสริญ

เสียงเพลงกล่อมไพเราะเพราะเพลิดเพลิน

ดนตรีเกินฝีมือครูดูเชี่ยวชาญ

ครูอำนาจกลางบุรัมย์นำวิถี

อำนาจธรรมนำความดีศรีสถาน

สู่หลักชัยเกียรติยศปรากฏการณ์

เป็นหลักบ้านหลักเมืองเรืองอนันต์

ขอครูจงไร้ทุกข์สุขสวัสดิ์

พระไตรรัตน์ปกป้องคุ้มครองขวัญ

กลับสู่บ้านอบอุ่นใจในทุกวัน

สู่วิถีสามัญอันงดงาม ฯ


พระมหาวินัย ภูริปัญโญ

และนางสาวพรพิพัฒน์ เสนจันทร์ฒิไชย

นศ.สาขาวิชาการสอนภาษาไทย คณะศึกษาศาสตร์ ม.ขอนแก่น

ร้อยกรอง

๐ จำเป็นเว้นห่างรั้ว ......... โรงเรียน

ใช่หมดไฟฝันเพียร ........... พ่ายแพ้

ลุวาระเกษียณ .................. กมลโศก

จากแต่กายไกลแล้ ........... ล่วงแล้วหวนหา


ผักกาดหญ้าโรตารี่เป็นที่รัก

แหล่งพำนักสั่งสอนอาวรณ์ถวิล

กาลเกษียณเวียนมาน้ำตาริน

จำจากถิ่นฝังจิตสถิตใจ

กันยายนวิปโยคโศกสลด

แสนรันทดหม่นหมองแกมร้องไห้

เพื่อนร่วมงานศิษย์ทั้งปวงยังห่วงใย

จะจากไกลจำลาแสนอาวรณ์

ลาเพื่อนพ้องน้องพี่ที่รักยิ่ง

ศิษย์ชายหญิงหนูหนูที่ครูสอน

ทั้งมวลมิตรมุทิตามาอวยพร

ความอาทรเอื้อเฟื้อเหลือพรรณนา

กราบพระพุทธฐิตวิริโยและโพธิ์คู่

ขอกราบผู้มอบไมตรีที่ล้ำค่า

ขอขอบคุณความหวังดีที่ตรึงตรา

ขอกราบลาทุกท่านสราญเทอญ ฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท