เรื่องเล่าจากใจผู้ดูแลผู้ติดเชื้อรายแรกของประเทศไทย


รอยเท้าที่ยาวไกล เมื่อมองกลับไปบ่งบอกได้ในผลงานบางรอยอาจมีชำรุดเพราะสะดุดจุดขวากหนามฝ่าฟันจนรอยงามเก็บเป็นนิยามความภูมิใจ

เรื่องราวที่ถูกเก็บงำมาเกือบ 30 ปี ได้ถูกเปิดเผยขึ้นแล้ว

วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ตัวเองรู้สึกประทับใจ และภูมิใจกับงานที่ทำ ในงานสนับสนุนให้รพ.ได้มีการพัฒนาระบบบริการที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์  (Humanized healthcare)  ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพ รพ.ตามมาตรฐาน HA HPH ซึ่งได้เปิดโอกาสให้คนทำดีได้มีเวทีบอกเล่าเผยแพร่เรื่องราวที่ประทับใจ ทำให้เกิดความภาคภูมิใจในงานที่เขาทำ คุณพรศิริ (พอลล่าขอเรียกว่าพี่พรศิริ) พยาบาลซึ่งเป็นผู้ที่ได้ดูแลผู้ป่วยเอดส์รายแรก(ของประเทศไทย)ปฏิบัติงาน ณโรงพยาบาลบำราศนราดูร เป็นผู้เล่าเรื่องนี้ให้ทีมงานจากพรพ. ซึ่งประกอบด้วย พญ.นันทา อ่วมกุล พอ.นพ.กิฎาพล  วัฒนกูล อ.ยงยุทธ สงวนชม และพอลล่า ฟัง ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2551

รพ.บำราศนราดูร ก่อตั้งเมื่อปี 2503 ใช้ชื่อของพระบำราศนราดูร รมต.ว่าการสาธารณสุขในสมัยนั้น  ปี 2527 มีนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข ให้รพ.บำราศฯ รับผู้ป่วยเอดส์ไว้ดูแลในโรงพยาบาล รับผู้ป่วยรายแรกปี 2529 เป็นผู้ป่วยเอดส์ส่งต่อมาจากเรือนจำ เป็นคนผิวดำ ครั้งแรกที่พี่พรศิริเห็นผู้ป่วยรู้สึกสงสาร เพราะนอกจากป่วยแล้วยังถูกล่ามโซ่จองจำ ผู้ป่วยคนนี้ได้รับไว้รักษาที่ห้องแยกไม่มีพยาบาลคนใดกล้าเข้าไปให้การพยาบาล ขณะนั้นพี่พรศิริเป็นพยาบาลจบใหม่อายุน้อยที่สุดได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยจึง จำเป็นต้องดูแล ความรู้เรื่องโรคเอดส์ยังน้อย อาศัยศึกษาจากแพทย์ผู้รักษา แรกๆพี่พรศิริใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองมากมาย ตั้งแต่ hood หมวก ถุงมือ mask รองเท้าทำให้เป็นอุปสรรคต่อการให้การพยาบาลมากพอสมควร สิ่งที่ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนของทัศนคติในการดูแลผู้ป่วยเอดส์จากเดิมที่ได้รับมอบหมาย  เกิดจากเช้าวันหนึ่งที่ขึ้นปฏิบัติงานเห็นผู้ป่วยไม่มีน้ำดื่ม จึงได้ถามผู้ป่วยว่า ตลอดคืนที่ผ่านมากระหายน้ำหรือไม่และดื่มน้ำจากไหน คำตอบของผู้ป่วยทำให้คุณพรศิริ รู้สึกสงสารขึ้นมาจับใจ ผู้ป่วยตอบว่า “เดินลากโซ่ไป เพื่อดื่มน้ำในห้องน้ำ เพราะไม่มีใครเอาน้ำมาให้ดื่ม ณ จุดนั้นเองพี่พรศิริ รู้สึกว่า ในสภาพที่ถูกล่ามโซ่ เจ็บป่วยด้วยโรค และยังถูกรังเกียจแม้กระทั่งน้ำยังไม่มีดื่ม ต้องดื่มน้ำในห้องน้ำ ทำให้เกิดความรู้สึกสงสารขึ้นมาจับใจ  จากนั้นพี่พรศิริได้พูดคุยกับผู้ป่วยเป็นประจำ จนผู้ป่วยไว้ใจ เล่าเรื่องราวต่างๆให้ฟัง ได้เรียนรู้จากผู้ป่วย และถือว่าเป็นครูคนแรก ในการให้การดูแลผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่ วิธีการให้สารน้ำในสภาพเส้นเลือดที่ไม่เหมือนคนปกติทั่วไป การทำแผล การดูแลผิวหนัง การป้องกันตนเอง ต่อมาได้เรียนรู้ว่าอุปกรณ์ป้องกันที่มากมายไม่จำเป็น คงเหลือแค่ถุงมือและ mask เท่านั้น  ในปีต่อมา รพ.บำราศนราดูร รับผู้ป่วยเอดส์มากขึ้น จึงได้มีการจัดหอผู้ป่วยสำหรับับผู้ป่วยเอดส์เป็นหอผู้ป่วยไม้ สองชั้น มีการปรับสิ่งแวดล้อม ทำสนามหญ้าให้ผู้ป่วยได้เดินเล่น เมื่อมีผู้ป่วยมากขึ้นจึงจำเป็นต้องรับเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้น โดยพี่พรศิริเป็นคนคัดเลือกด้วยตัวเอง เลือกคนที่รับผิดชอบสูง มีความเสียสละ และที่สำคัญ มีความรักและศรัทธาซึ่งกันและกันเป็นพื้นฐาน เพราะจะได้ทำงานไปด้วยกันได้นาน พี่พรศิริเล่า มีพี่อ้อม พี่พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่ทำงานร่วมกับพี่พรศิริช่วยกันเล่าเสริม พี่พรศิริเล่าว่า One Stop service สำหรับตัวเองรู้จักมานานแล้ว ที่หอผู้ป่วยนี้ให้การบริการแบบ one stop service จริงๆ  เพราะเมื่อต้องการการช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น มักถูกรังเกียจ จึงจำเป็นต้องจัดการตั้งแต่ซักเสื้อผ้า ซ่อมแซมอุปกรณ์ ท่อ มุ้งลวด ทำคลอด ตลอดจนเผาศพ รพ.บำราศเป็นรพ.แรกที่มีการจัดการเผาศพในรพ. มีเตาเผาศพอยู่ในรพ.ด้วย การที่ต้องจัดการเองทุกอย่างเป็นเพราะคนอื่นกลัวจะติดเชื้อจากผู้ป่วย ดังนั้นเสื้อผ้าผู้ป่วย อุปกรณ์ ผู้ป่วยจะเป็นสีแดง เป็นสัญลักษณ์ว่าติดเชื้อเอดส์ ถูกรังเกียจ ไม่ซักให้ ตากผ้าที่ราวร่วมกันก็ไม่ได้ มีเส้นแบ่งเขตและเขียนไว้ว่า”ที่สำหรับตากผ้าผู้ป่วยติดเชื้อ”  เมื่อเจ้าหน้าที่โภชนาการมาส่งอาหาร ก็ส่งหน้าตึกไม่กล้าเข้ามาส่งในตึก เจ้าหน้าที่ต้องออกไปรับ เมื่อผู้ป่วยรับประทานเสร็จแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องล้างให้สะอาดก่อนส่งถาดกลับ สรุปว่าไม่มีใครกล้าเข้ามา ณ หอผู้ป่วยนี้เลย  แม้กระทั่งตัวเจ้าหน้าที่เองได้รับการปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่น ไม่มีใครกล้านั่งรับประทานอาหารด้วย ลูกของเจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่หอนี้ไม่มีใครเล่นด้วยต้องเล่นกับผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อ โรงเรียนไหนมีลูกเจ้าหน้าที่ที่ทำงานที่หอผู้ป่วยนี้เรียนอยู่จะถูกเชิญให้ย้ายโรงเรียน  พยาบาลที่หอนี้จะถูกแม่สามีรังเกียจ เพราะเกรงว่าจะนำเชื้อโรคเอดส์มาแพร่เชื้อ จึงถูกห้ามขึ้นชั้นบน ให้อยู่เรื่อนคนรับใช้ ให้อาบน้ำคนสุดท้าย และใช้น้ำยาฆ่าเชื้อราดทุกครั้งหลังจากอาบน้ำเสร็จ พี้อ้อม ได้ระบายความทุกข์ ความเครียดที่มีให้กับพี่พรศิริ ถึงแม้จะดึกดื่น ตีสองตีสามขอไปนอนด้วยพี่สมศิริก็ยินดีที่จะเป็นที่ปรึกษาเรื่องครอบครัวให้ และให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เสมอพี่สมปองเจ้าหน้าที่พยาบาลเล่าว่า มีผู้ป่วยติดเชื้อรายหนึ่งถูกทิ้งนอนอยู่ข้างถนน รถมูลนิธินำส่งรพ.บำราศฯ เนื้อตัวถูกยุงกัดมีแผลตุ่มหนองตามผิวหนัง วันหนึ่งสังเกตบริเวณปลายเล็บ ว่ามีปุ่มๆ นิ่มๆ จึงได้ให้พี่พรศิริช่วยดู ปรากฎว่าเป็นหนอนจำนวนมาก ทำรังอยู่ที่ปลายนิ้วทั้งสิบนิ้ว จึงรายงานแพทย์ ขณะนั้นแพทย์ที่ได้ร่วมดูแลผู้ป่วยคือ นพ.สมสิทธิ์ ได้ให้การดูแลรักษาจนจำหน่ายกลับบ้านได้  นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่ตื่นเต้นในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้อีก พี่อ้อม เล่าให้ฟังว่า สมัยนั้นผู้ป่วยกลุ่มนี้มักเป็นผู้ป่วยติดยาเสพติดและต้องคดี เมื่อไม่พอใจ โมโห จะมีอารมณ์ร้าย หาโอกาสทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่ วันหนึ่ง ขณะที่พี่อ้อมกำลังทำการพยาบาลผู้ป่วยเตียงหนึ่งอยู่ ผู้ป่วยที่หันหลังให้ ไล่แทงโดยใช้กรรไกร ที่เป็นอุปกรณ์ประจำหอผู้ป่วย จะวิ่งไปทางไหนเพื่อนๆที่หออื่นๆก็มีความกลัวไม่กล้าเปิดประตูรับ แต่สิ่งที่ทำให้พี่อ้อมรู้สึกว่าคนดี ต้องมีคนคุ้มครอง เพราะผู้ป่วยเอดส์คนอื่นๆ เป็นคนช่วยเหลือ สะกัดผู้ป่วยไม่ให้ทำร้ายพี่อ้อม ครั้งแรกญาติผู้ป่วยที่เป็นพระ มาช่วยไว้ และอีกครั้งหนึ่งเป็นผู้ป่วยที่ให้ออกซิเจนอยู่ ยอมถอดออกซิเจนออกเพื่อช่วยพี่อ้อม ทำให้พี่อ้อมรอดปลอดภัยมาสองครั้งสองครา พี่อ้อม คิดว่า มีผู้ป่วยที่รักขนาดยอมเสี่ยงชีวิตเพื่อช่วยเขา และสิ่งนี้ทำให้พี่อ้อมมีกำลังใจในการดูแลผู้ติดเชื้อขึ้นอีกหลายเท่า ปัจจุบันนี้พี่อ้อมเป็นโรคปวดหลังเนื่องจากเคยยกผู้ป่วยน้ำหนักตัวมากมาเป็นเวลานาน จากวันนั้นจนบัดนี้ เรื่องราวต่างๆ ที่เป็นแผลในใจของพี่พรศิริได้ถูกเล่าออกมา ความคับข้องใจได้ผ่อนคลายลง บางครั้งเล่าด้วยเสียงสั่นเครือ กลั้นน้ำตาไว้ไม่ไหว วันนี้ สิ่งที่อดทน อดกลั้นมาเป็นเวลานานได้กลายเป็นผลสำเร็จในการดูแลผู้ติดเชื้อ มีหอผู้ป่วยที่ขยายมากขึ้น สะอาด สวยงาม ชุดพยาบาล/ผู้ป่วย ของใช้จากที่เคยแยก สีแดง กลายเป็นม่วง จนปัจจุบันเป็นสีขาวเหมือนกับพยาบาลทั่วๆไป  ความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ ในความทุกข์ของผู้ป่วย ก่อให้เกิดนวตกรรมในการดูแลผู้ป่วยมากมาย เช่น ลดการติดเชื้อจากการเจาะหลัง ฟองน้ำมหัศจรรย์ การใช้ฟองน้ำรองบริเวณสายออกซิเจน canular การทบทวนความรู้ทางวิชาการในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อ เช่นการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยใช้หลัก SHIP Single Hand hygiene Isolation Promotion  และนวตกรรมอื่นๆ อีกมากมาย พี่อ้อมได้บันทึกผลงานไว้ในแฟ้มเพื่อเรียนรู้ ทางหอผู้ป่วยมีกิจกรรมสำหรับผู้ป่วยที่สามารถจำหน่ายได้มีประวัติ ทำเป็นทำเนียบรุ่นไว้ จะมีการพบปะสังสรรค์กันปีละครั้ง ได้รับคำชมเชยและกำลังใจจากผู้ป่วยอย่างมากมาย สิ่งนี้เองเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ทุกคนให้การดูแลผู้ติดเชื้อได้เป็นอย่างดี โดยที่แรงใจไม่มีวันหมด

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากรพ.บำราศ

·       การที่ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน จะสามารถเป็นกำลังแรงใจให้อดทนและฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆนานา ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นจากการที่ได้ทบทวนความสำเร็จจากปัญหาอุปสรรคที่ผ่านมา จนเกิดกำลังใจในการทำงาน

·       การมีผู้นำที่ดีทีมงานที่ดีส่งผลให้งานสำเร็จ

·       การทำดีย่อมได้ดีตอบแทนเสมอ อย่างน้อยคนทำงานก็มีความสุข

·       สิ่งดีๆ ที่ถูกเก็บไว้เมื่อได้พูด หรือระบายออกมา จะทำให้ทุกคนเห็นคุณค่าในงานที่ทำ ผู้เล่าเกิดความปิติ อย่างเอ่อล้น

 ·       กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียว รพ.บำราศกว่าจะดูแลผู้ติดเชื้อได้อย่างปัจจุบัน ได้ผ่านเหตุการณ์ต่างๆ มากมาย ความพยายามอยู่ที่ไหนความสำเร็จอยู่ที่นั่น งานที่เราทำทุกวันนี้คิดว่าเหนื่อยยากพอแล้ว แต่เมื่อได้เทียบกับสิ่งที่พี่ๆ ที่ดูแลผู้ติดเชื้อแล้ว เราเทียบไม่ติดเลย มีแรงต่อสู้ขึ้นมากมายหลังจากออกจากรพ. บำราศมาแล้ว สำหรับรพ.บำราศนราดูร

“มีเม็ดทรายนับไม่ถ้วนจำนวนทราย
คนทั้งหลายนับไม่ถ้วนในคุณค่า
ทรายจะแกร่งก็เพราะผ่านกาลเวลา
คนจะกล้าก็เพราะผ่านความอดทน 

คำสำคัญ (Tags): #เอื้ออาทร
หมายเลขบันทึก: 165791เขียนเมื่อ 17 กุมภาพันธ์ 2008 20:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

สวัสดีครับ

มาขออนุญาตินำบทความดีๆไปรวม ในรวมตะกอนครับ ขอบคุณมากครับ

http://gotoknow.org/blog/mrschuai/117622

สวัสดีค่ะคุณพอลล่า P

  • ดีใจที่ได้อ่านเรื่องนี้ค่ะ
  • ขอยกย่องกับความเสียสละของคนที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ป่วยด้านนี้
  • ต้องใช้ความอดทนอย่างมากทั้งต่อตนเองและคนรอบข้าง
  • ขอเป็นกำลังใจให้จนท.บำราศ ทุกคนค่ะ
  • ที่มอบความสุขให้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
  • ขอบคุณค่ะ.

สวัสดีค่ะคุณพอลล่า

หนิงขอเป็นกำลังใจให้อีกคนนะคะ

การที่เราทำงานกับคนที่ไม่มีใครต้องการหรือไม่ใส่ใจนี่  เหนื่อยเนอะ  แต่เราก็ทิ้งเขาไม่ลง

ครั้งนึงนานมาแล้ว สมัยหนิงยังอยู่ ward มีผู้ป่วยรายนึงที่ยุติการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์แล้วติดเชื้อมา  ตรวจพบผลเลือดต่างด้วย  ไม่มีญาติ ไม่ค่อยมีเจ้าหน้าที่อยากไปดูแลเพราะทราบว่าน้องเขาผลเลือดต่าง  แต่หนิงเป็นคนแรกที่คุยกับเขา เพราะadmitted เวรหนิง  ตอนนั้นยังไม่ทราบผลเลือด  แต่มาทราบภายหลังก็เลยเหมือนพันธะทางใจกันอ่ะ  อดไม่ได้จะไปถามไถ่เขา  ว่ากินข้าว-กินยาหรือยัง  จนน้องเขาถามหนิงว่า  หมอบ่อหย้านบ๊อ  คนอื่นหย้านหนูเด้..  หนิงก็ตอบตรงๆไปว่า  หย้านหยู่  แต่หย้านเลือดโตเด้อ  คุยซือๆบ่อหย้าน  สงสารน้องเขาค่ะ  ไม่มีใครอยากเป็นโรคร้าย  แต่ขณะนั้นขนาดจนท.ของรพ.ยังไม่เข้าใจเขาและเรื่องการป้องกันตนเองจากน้องเขา  รังเกียจเขา  แล้วเราจะไปหวังอะไรกับสังคมข้างอกรพ. ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจอยู่  แล้วจิตใจเขาจะเป็นอย่างไร  จะไม่ให้เขาคิดในเชิงลบได้ไง 

จนเดี๋ยวนี้  ไม่รู้ว่า ดวงหรือป่าว  ขนาดอยู่นอกรพ.แล้ว ยังป้วนเปี้ยนกับผู้ติดเชื้อ  และทำงานรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์อยู่เหมือนเดิม  ขนาดว่าเคยขอพักไปช่วงนึงแล้วนะคะเนี่ย...สุดท้ายก็กลับมาทำเนอะ  อิอิ

ขอบคุณทุกท่าน และขอบคุณแทน พี่ๆ พยาบาลรพ.บำราศ ด้วยค่ะ เป็นกำลังใจที่ดีมากๆ เลยค่ะ พี่เขาจะไปเล่าที่ National FOrum ด้วยนะคะ ใครสนใจไปฟังกันต่อได้ค่ะ

เป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ อ่านแล้วรู้สึกดีมากเลยที่มีคนเสียสละเพื่อคนอื่นได้มากขนาดนี้ อยากให้มีคนดีๆแบบนี้อีกเยอะๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท