ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

เมล็ดพันธุ์แห่งศานติ:เรียนรู้อย่างไร้ความรุนแรง


       เมื่อวันที่ ๑๖-๑๗-๑๘ กรกฎาคม ๒๕๕๓  ผู้เขียนได้รับนิมนต์จากท่านคณบดีคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร  และอาจารย์วิชาญ ฤทธิธรรม พร้อมคณะ เพื่อไปบรรยายใน "โครงการค่ายเมล็ดพันธุ์แห่งศานติ : เรียนรู้อย่างไร้ความรุนแรง" โครงการชลประทานสกลนคร (ห้วยเดียก)  ซึ่งดำเนินการจัดโดย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ในโครงการนี้ มีนิสิตเข้าร่วมโครงการโดยสมัครใจจำนวนทั้งสิ้น ๑๑๓ ท่าน และมีคณาจารย์พร้อมทั้งวิทยากรกระบวนการกลุ่มประมาณ ๓๐ ท่าน http://www.snru.ac.th/components/contents/view.php?id=1113

      สำหรับหัวข้อที่ได้รับนิมนต์ไปบรรยายในครั้งนี้ คือ "เปิดประตูสู่สันติ-แนวคิด ความเข้าใจเกี่ยวกับสันติวิธี”  และ “ความหลากหลาย-ความขัดแย้งและการจัดการด้วยสันติวิธี” 


เปิดประตู่สู่สันติ-แนวคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับสันติวิธี


      สำหรับหัวข้อแรกนั้นใช้เวลาบรรยายทั้งสิ้นชั่วโมงครึ่ง เป็นการนำนิสิตทุกคนรวมถึงคณาจารย์ที่นำกระบวนการกลุ่มได้เข้าสู่ประตูแห่งสันติภาพทั้งสองความหมาย คือ สันติภาพภายใน และสันติภาพภายนอก  วัตถุประสงค์หลักในการบรรยายหัวข้อนี้ก็เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นิสิตและคณาจารยได้ประจักษ์ว่า "สันติภาพ" มีคุณค่าแก่ชีวิตและสังคมอย่างไร ทำไมเราจึงพร่ำเพรียกเรียกหาสันติภาพภายนอก และค้นหาสันติภาพภายในที่ซ่อนตัวอยู่ในใจของเรา  เพราะการตระหนักรู้จะมีผลต่อวิถีชีวิตและการดำเนินชีวิตของนิสิตและคณาจารย์ทุกท่านในวันนี้และวันต่อๆ ไป

     ยิ่งไปกว่านั้น ผู้เขียนได้นำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสันติวิธีทั้งในแง่ของความหมายที่คนทั่วไปเข้าใจ และมายาคติที่มีต่อสันติวิธี  ความหมายที่คนทั่วไปมักจะเข้าใจต่อสันติวิธี คือ (๑) สันติวิธีคือการไม่ใช้กำลัง (๒) สันติวิธีคือการที่เราต้องเชื่อฟัง (๓) สันติวิธีคือการไม่ก่อความวุ่นวาย และ (๔) สันติวิธีคือการที่เราต้องทำตามกฎหมาย

     ในขณะที่มายาคติที่แต่ละคนมีต่อสันติวิธีนั้น ประกอบด้วยสาระสำคัญดังนี้ (๑) สู้การใช้อาวุธไม่ได้ (๒) ใช้เวลานานเกินไป (๓) ยอมจำนน (๔) เป็นวิธีสำหรับคนขี้ขลาด (๕) ไม่ใช่อาวุธ เพราะไม่มีโอกาสจะใช้ (๖) ไม่สามารถประกันความสำเร็จได้ (๗) เรา (ผู้ใช้สันติวิธี) ต้องชนะ แต่ผู้ไม่ใช่ต้องพ่ายแพ้

ความหลากหลาย-ความขัดแย้งและการจัดการด้วยสันติวิธี

     ผู้เขียนได้ย้ำให้เห็นถึงประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับความหลากหลายว่า "ในความเป็นจริงทุกความเชื่อล้วนมีคุณค่า – มีประโยชน์ต่อผู้ที่เชื่อด้วยกันทั้งสิ้น" จึง "เป็นไปไม่ได้ที่เราจะหาลู่ทางในการหลีกเลี่ยงแนวคิดแบบพหุนิยม (Pluralism)" ด้วยเหตุนี้

     (๑) เราจึงมีความจำเป็นต้องเคารพในตัวตน และความแตกของผู้อื่น และสัมพันธ์กับผู้อื่นในฐานะที่ "เขาเป็นเขา" และอย่าพยายามที่จะเอาเขามาเป็นเราโดยเด็ดขาด

     (๒) เราควรคิดว่าความเชื่อ วัฒนธรรม และวิถีการดำเนินชีวิตของทุกคนล้วนมีคุณค่า และทำให้ชีวิตของคนคนนั้น มีความสุขได้เช่นกัน

      ฉะนั้น เราจึงหันกลับมาพิจารณาข้อเท็จจริงที่ยากต่อการปฏิเสธที่ว่า (๑) ถ้าเราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเราอย่างไร  เราก็ต้องปฏิบัติต่อเขาอย่างนั้น (๒) ถ้าเราไม่ต้องการให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเราอย่างไร  เราก็ต้องไม่ปฏิบัติต่อเขาอย่างนั้นเช่นเดียวกัน ซึ่งสอดคล้องกับหลักของพระพุทธศาสนาที่ว่า "อัตตานัง  อุปมัง กเร" คือ "เอาใจเข้ามาใส่ใจเรา"

เครื่องมือในการจัดการความขัดแย้ง

     ผู้เขียนได้นำเสนอเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะการนำเสนอ "กฎทอง" เช่น กฎ I message กับ You message  กฎว่าด้วยการแยกแยะ กฎว่าด้วยการรักษาความสัมพันธ์ด้วยการบริหารความคาดหวัง กฎว่าด้วยการฟังอย่างมีสติ กฎว่าด้วยการรักและการรักตอบ และวิธีการในการจัดการความขัดแย้งในรูปแบบต่างๆ  เช่น การหลีกเลี่ยง การโอนอ่อนผ่อนตาม และการประนีประนอม

ได้รับเกียรติจากอาจารย์วิชาญให้เป็นประธานในการมอบเสื้อ "เมล็ดพันธุ์แห่งศานติ" แก่นิสิตที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจในทุกครั้งที่เผชิญกับสถานการณ์ของความขัดแย้งจะไม่ใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา แต่จะเลือกใช้สันติวิธี ซึ่งเป็นวิธีนำสันติสุขมาสู่สังคมได้ยั้งยืนกว่า

ถ่ายรูปร่วมกับอาจารย์วิชาญในฐานะผู้ดำเนินการหลัก พร้อมญาติธรรมที่เป็นวิทยากรกระบวนการนำนิสิตได้เรียนรู้ในฐานต่างๆ โดยมุ่งหวังว่า เราจะได้ร่วมกายและใจหวานเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพให้งอกงามอยู่ภายในใจของนิสิตเหล่านี้ เพื่อว่า จะได้ส่งต่อเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพเพื่อนำไปปลูกให้เป็นร่มเงาของความสุข สงบ เย็นและเป็นสันติสุขสืบต่อไป

 อนุโมทนาขอบคุณ และชื่นชมอาจารย์วิชาญ ฤทธิธรรมและคณะ ที่ตระหนักรู้และเห็นความสำคัญของการบ่มเพาะและหวานเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพให้เจริญงอกเงย และงอกงามภายในใจของเยาชนรุ่นใหม่ เพื่อว่าน้องเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะนำเมล็ดพันธุ์แห่งสันติภาพไปปลูกในครอบครัว มหาวิทยาลัย และสังคมไทยในโอกาสต่อไป

 

ขอเชิญอ่านบทความเรื่อง "การจัดการความขัดแย้งโดยสันติวิธี" ได้ที่
http://www.mcu.ac.th/site/articlecontent_desc.php?article_id=1160&menutype=1&articlegroup_id=187

หมายเลขบันทึก: 378506เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2010 01:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

นมัสการพระคุณ เจ้า พระธรรมหรรษา "โครงการค่ายเมล็ดพันธุ์แห่งศานติ : เรียนรู้อย่างไร้ความรุนแรง"

มาร่วมสร้างสันติด้วยความตั้งใจและจริงใจตรงตามหลักอิสลาม....สันติครับ

ท่านผู้เฒ่า

สันติ นับเป็นหัวใจสำคัญของทุกศาสนา ไม่ว่าจะเป็นหลักการ กระบวนการ และเป้าหมายสูงสุดก็เป็นไปเพื่อสันติทั้งเชิงปัจเจกและสังคม  หากพวกเราแต่ละศาสนิกหันไปศึกษา เข้าใจ และปฏิบัติตนให้สอดรับหลักศาสนา  สังคมจะได้รับผลานิสงส์จากพวกเราอย่างยิ่งใหญ่

นมัสการ  พระคุณเจ้าค่ะ...

มาเรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือในการจัดการความขัดแย้งค่ะ...ขอบพระคุณค่ะ...

โยมบุษยมาศ

อนุโมทนาขอบใจที่แวะมาเยี่ยมเยียนและแบ่งปันประสบการณ์ที่ดี  อาตมาได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมงานของโยมเกี่ยวกับความขัดแย้ง ถ้าเป็นไปได้ อาตมาอยากจะอ่านประสบการณ์ของโยมที่เกี่ยวกับความขัดแย้ง และการจัดการความขัดแย้ง เพื่อจะได้นำไปขยายความต่อไป

ด้วยสาราณียธรรม

 

นมัสการครับ

กราบขอบพระคุณที่แวะไปโพสกิจกรรมของห้องเรียนวัดพระแก้ว

นอกจากนี้ห้องเรียนวัดพระแก้วได้จัดกิจกรรมพิธีถวายเทียนพรรษาและคารวะพระเถระระดับเจ้าคณะอำเภอ  

อาจารย์ ดร.ฤทธิชัย

กิจกรรมที่ห้องเรียนได้ทำถือว่า "เป็นกิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรม" และ "บริการวิชาการแก่สังคม" ผลพลอยได้ที่จะเกิดก็คือ คงได้รับการการประกันคุณภาพในระดับที่ดีและภาคภูมิใจของคณะทำงาน  ขออนุโมทนาทุกท่าน

กราบนมัสการพระคุณเจ้า

ถือเป็นกุศลที่ท่านแวะมาให้คำแนะนำ และเป็นนิมิตที่ดีงาม ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ในมุมมองที่แตกต่าง ในการบริหารความขัดแย้งภายในองค์กรการศึกษา ของผู้บริหาร

ที่จะนำพาองค์กรสู่เป้าหมาย

กราบขอบพระคุณที่แนะนำ แหล่งเรียนรู้ที่มีคุณค่าให้ค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

ติดตามYou tubeของท่านจากบันทึกของท่านยูมิ

น่าสนใจมากค่ะ

เรื่องราวสอนใจค่ะ ทำเหตุ จึงเกิดเหตุ

พรุ่งนี้จะเปิดให้เด็กน้อยชม ไม่ทราบจะดูทันไหม

แต่ตอนท้ายๆเริ่มชัดเจนมากขึ้นค่ะ

กราบนมัสการขอบพระคุณที่ผลิตสื่อดีๆอย่างนี้ค่ะ

นมัสการพระคุณเจ้าธรรมหรรษา

ตามคุณ krutoiting ข้างบนมาแบบเกาะหลังกันมาเลยหนานี่...

ชื่นชมในวิธีคิด วิธีนำเสนอในรูปแบบทันสมัยเข้ากับยุค IT นะครับ

ขออนุโมทนาบุญ หนุนนำพุทธธรรมออกสู่ชาวโลกอย่างนี้นะครับผม...

ครูต้อยติ่ง และอาจารย์ ดร.ยูมิ

ขอบคุณมากที่กรุณาแวะเข้าไปชม Youtobe ที่ http://www.youtube.com/hansa1536 และหวังว่าจะได้ประโยชน์จากสื่อดังกล่าว  หากมีสิ่งใดที่จะแนะนำเพื่อให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น รบกวนอาจารย์ทั้งสองด้วย

นมัสการพระคุณเจ้าครับ

ลูกศิษย์ของกระผมทั้งหลายที่ร่วมโครงการฯ

มีความประทับใจในการบรรยายของพระคุณเจ้าอย่างมาก

อีกทั้งกล่าวกันว่าพระคุณเจ้าทันสมัยในการใช้สื่อจูงความสนใจ

....ผู้บริหารที่ไปนั่งฟัง กล่าวกับกระผมว่าอยากมีโอกาสนิมนต์

พระคุณเจ้าบรรยายที่หอประชุมใหญ่อีกสักครั้งหนึ่งในโอกาสข้างหน้า

ลูกศิษย์สองสามคนบอกว่า ออกจากค่ายนี้แล้วรู้สึกว่าตนเอง

ใจเย็นและเข้าใจคนอื่นมากขึ้น...

เท่านี้ กระผมและทีมงานก็สุขใจแล้วครับ

ขอกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าที่แม้มีงานล้นมือ

ก็ยังอุตส่าห์ให้ความกรุณานะครับ

นมัสการ/ วิชาญ ฤทธิธรรม/ คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.รภ.สกลนคร

อาจารย์วิชาญ

สุดท้ายอาจารย์ก็ตามอาตมามาจนถึง "คลังแห่งความรู้" อาตมาเองก็ต้องขออนุโมทนาอาจารย์ที่เปิดโอกาสให้อาตมาได้มีโอกาสไปพบกิจกรรมที่ดีและมีคุณค่าและนักสันติภาพ ได้พบทีมงานที่เปี่ยมไปด้วยพลังแห่งสันติภาพ อาตมากำลังให้ทีมงานส่งดุษฏีนิพนธ์ปริญญาเอกไปให้ห้องสมุดประจำคณะของอาจารย์ และหวังว่าจะได้รับโดยเร็ววัน ในการนี้ ขอฝากความปรารถนาดีไปยังกัลยาณมิตรทุกท่านด้วย

ด้วยสาราณียธรรม

สานุ มหัทธนาดุลย์

เข้ามาแสดงความยินดีกับผู้เข้าร่วมโครงการทุกท่านครับ

เป็นวาสนาของทุกท่านที่ได้รับฟังธรรมบรรยายจาก พระอาจารย์ผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในเรื่อง "สันติวิธีเชิงพุทธ" อย่างโดดเด่น (ผมว่ายุคนี้หาคนเทียบท่านยากครับ)

ขอร่วมอนุโมทนาบุญกับ "โครงการค่ายเมล็ดพันธุ์แห่งศานติ : เรียนรู้อย่างไร้ความรุนแรง" ในครั้งนี้ด้วยนะครับ

ช่วงนี้ไม่ได้เรียนกับพระอาจารย์รู้สึกคิดถึงท่านนะครับ

สานุ มหัทธนาดุลย์, นิสิตป.โทภาคพิเศษสาขาพระพุทธศาสนารุ่น๒๒/๕๒

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท