ความเติบโตแห่งการบ่มเพาะ


หนึ่งปีกว่า...หรือเกือบจะค่อนๆสองปีเข้าไปแล้ว...ที่ข้าพเจ้าได้เข้ามาพัวพันในการร่วมบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความดีงามในเด็กสมาชิกศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ณ วัดป่าหนองไคร้...

หลวงปู่ประสาร สุมโนท่านเพียงเอ่ยว่า "ไปนำพาเขา ไปให้โอกาสเขา" เป็นวาทะเพียงสั้นๆ ที่ท่านเอ่ยต่อพระอาจารย์ต้อ(พระพิทยา  ทินนาโภ) จากนั้นกระบวนการแห่งการบ่มเพาะท่านก็ได้ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง จวบจนข้าพเจ้ามีโอกาสได้เข้าไปสัมผัสได้พบพลังแห่งความงดงามแห่งความเป็นมนุษย์ที่พึงเมตตาต่อมนุษย์ด้วยกัน

"ใช่แค่พูดแต่เรื่องเมตตาแต่เราต้องแสดง...

ความเมตตากรุณาผ่านการกระทำด้วย"

เป็นคำพูดของหลวงปู่ติช นัท ฮันท์ที่ทำให้ข้าพเจ้าเชื่อมั่นในหนทางแห่งมรรคและการบ่มเพาะจิตแห่งความกรุณาเรื่อยมา

"อย่าหยุดทำนะ..."

สั้นๆ จากหลวงปู่ที่ท่านเอ่ยต่อข้าพเจ้า เวลาที่เหนื่อย ข้าพเจ้าจะนึกถึงประโยคนี้ของท่านเสมอ ท่านไม่พูดอะไรที่ยาวเหยียด คำพูดที่ไร้ซึ่งการอธิบายหากแต่เกิดเป็นพลังใจที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ข้าพเจ้าได้พิสูจน์ต่อความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาของตนเอง

ความรัก(เมตตา)ความกรุณา...หากปราศจากการลงมือทำแล้วจะมีค่าได้อย่างไร

มีผู้คนมากมายทักท้วงและไม่เห็นด้วยต่อการทำงานครั้งนี้แต่หัวใจของข้าพเจ้าก็ไม่เคยย่อท้อ ทำให้นึกถึงการนำพาการทำ R2R ในองค์กรของตนเอง แต่...ด้วยความมั่นคงและมองเห็นความงามแห่งการทำ ข้าพเจ้าจึงเพียงดำรงอยู่ ณ ขณะพร้อมน้อมใจลงเรียนรู้ในการงานแห่งนี้พร้อมก้าวย่างต่อไป...

สองเดือนแห่งความกรุณา...ที่เด็กใช้ชีวิตอยู่ที่นี่

คือ...ความเติบโตในจิตใจของข้าพเจ้าด้วยเช่นกัน การที่เราอยู่กับปัจจุบัน อันเป็นปัจจุบันที่ว่า "เด็กและเยาวชน" เหล่านี้เขาอยู่เบื้องหน้าเรา เขามาให้โอกาสเราได้ฝึกฝนจิตใจแห่งความเมตตาและความกรุณา แล้วเราจะละทิ้งโอกาสนี้ไปได้เช่นไร และที่สำคัญ...เราเห็นแล้วว่าตัวเราที่เป็นอยู่นี้มีประโยชน์หรือมีต้นทุนทางมนุษย์ที่พอเกื้อหนุนเขาได้...

หลังจากสองเดือนนี้ไปที่เด็กกลับไปสู่บ้านและสังคม เราไม่อาจทราบได้ว่าเขาจะดำรงไปเช่นไร แต่...ที่แน่ๆ ณ ปัจจุบันนี้เขาอยู่กับเรา เขาอยู่เบื้องหน้าเรา...

เบื้องหน้า...แห่งการร่วมกันบ่มเพาะพลังแห่งความดีความงามของชีวิต

วันนี้...เด็กๆ ได้รับการบ่มเพาะในเรื่องการเจริญสติผ่านกิจกรรมต่างๆ มากมายนับตั้งแต่ลืมตาตื่นนอน จนเข้านอน เราไม่ใช้การกักขัง ไม่ใช้ความข่มขู่หรือกดดัน หากแต่สร้างบรรยากาศเอื้ออาทรให้คล้ายเป็นบ้านที่อยู่ร่วมกันด้วยความอบอุ่นใจ

จุดอ่อนของพวกเขาในเรื่องของ"สติ"...วินัยชีวิตและกระบวนการคิด...คือ โจทย์สำคัญที่มองเป็นความท้าทายต่อการเติมเต็มเข้าไปในชีวิต

การให้เขาได้ตื่นแต่เช้า และทำกิจกรรมอันเป็นกุศลในเรื่องของการบิณฑบาตร ทำวัตรเช้า-วัตรเย็น และการถวายอาหารตอนเช้า รวมไปถึงการทำกิจกรรมอันเป็นศาสนกิจ เช่น เป็นผู้นำในการถวายสังฆทาน...เป็นต้น

กิจกรรมที่เพิ่งเพิ่มเข้ามานานคือ การเลี้ยงสัตว์ ที่เดิมทีทางเรือนจำมีเจตนาให้แจกเด็กที่มีความประพฤติดีให้กลับไปเลี้ยงที่บ้าน แต่พระอาจารย์ท่านพิจารณาว่าเราไม่อาจคาดเดาได้ว่าเด็กจะนำไปขายหรือไปฆ่าหรือไม่ แต่...หากว่าเราเลี้ยงไว้ที่ศูนย์อย่างน้อยๆ เด็กๆ ก็จะได้เรียนรู้ความอ่อนโยนและความมีเมตตาผ่านการเลี้ยงสัตว์ ตอนเช้าๆ นำเจ้าเมฆ หมอก ตะวัน และท้องฟ้า อันเป็นชื่อที่ถูกตั้งสมมติเรียกแทนเจ้าวัว-ควายทั้งสี่ตัวไปปล่อยไว้กลางทุ่ง ตกเย็นไปหาฟางข้าวที่ชาวบ้านช่วยกันบริจาค และนำพวกเขาทั้งสี่ตัวเข้าคอกดูแลเรื่องอาหาร-น้ำ และพูดคุยด้วย

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 416661เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2010 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 ตุลาคม 2013 06:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท