กิจกรรมดีเลิศโรงเรียนบ้านหนองบัว


รู้แล้วบอกต่อ

กิจกรรมดีเลิศ(Best practices) ของโรงเรียนหนองบัว

กิจกรรมดีเลิศของสถานศึกษา

ชื่อสถานศึกษา   โรงเรียนหนองบัว
สถานที่ตั้ง  79 หมู่ 1 ต.หนองบัว อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์

ประเภทสถานศึกษา    จัดการเรียนการสอนช่วงชั้นที่  3-4

1.      โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ  (Best practices)

2. การจัดการเรียนร่วม (Best practices)

1.   โครงการ โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ

บทนำ               

จากกระแสโลกาภิวัตน์ อันเกิดจากความเจริญทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกอยู่ในภาวะไร้พรมแดน  และนำโลกสู่การจัดระเบียบใหม่ทางเศรษฐกิจ สังคม การเมืองระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดโอกาสและภัยคุกคามต่อคุณภาพชีวิตของพลโลกในด้านต่างๆ สังคมไทยในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกจึงต้องปรับตนเองโดยการ”พัฒนาคน” ซึ่งหมายถึงการพัฒนาคุณภาพและสมรรถนะของคนให้มีพื้นฐานในการคิดเรียนรู้ และทักษะในการจัดการและการดำรงชีวิตสามารถเผชิญกับปัญหาสังคมและเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว      สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่เป็นผลมาจากการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ทำให้วิถีชีวิตของเด็กวัยเรียนและเยาวชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนบางกลุ่มที่ได้รับอิทธิพลของแบบอย่างที่ไม่เหมาะสม จากการที่มีค่านิยมและวัฒนธรรมตามกระแสสังคมตะวันตก นำไปสู่ปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากตัวเด็กเอง ครอบครัว สังคมแวดล้อมภายในและภายนอกโรงเรียน

                สภาพปัญหาเด็กและเยาวชน หากไม่มีการป้องกันล่วงหน้า จะก่อให้เกิดความสูญเสียทางด้านสังคม เศรษฐกิจ  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญในการเร่งสร้างคุณภาพทั้งด้านการศึกษาและสุขภาพ เพื่อพัฒนาศักยภาพให้เด็กและเยาวชนเป็นผู้มีคุณภาพชีวิตที่ดีบรรลุตามความมุ่งหมายและหลักการตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 6 “การจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาเด็กไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ ภูมิปัญญา ความรู้และคุณธรรม จริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข

               สุขภาพกับการศึกษา เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไปให้เกิดการประสานเอื้ออำนวยประโยชน์และเกื้อกูลซึ่งกันและกันในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมายคือ

เด็กนักเรียน

การดำเนินการ

                จากสภาพปัญหาเด็กและเยาวชน ส่งผลถึงสุขภาพกับการศึกษาของเด็กและเยาวชนทำให้โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต 3 ดำเนินการเสริมสร้างพลังความรู้สู่สุขภาวะ โดยจัดทำโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นกระบวนการดำเนินงานเพื่อให้เกิดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทางด้าน  โภชนาการและอาหารที่ปลอดภัย การให้คำปรึกษาและสนับสนุนทางสังคม การบริการอนามัยโรงเรียน โครงการร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชน ซึ่งโรงเรียนมีขั้นตอนดำเนินการดังนี้

กระบวนการดำเนินการ               

การบริหารจัดการ
จัดตั้งคณะทำงาน ประกอบด้วย ครู จำนวน 15 คน  นักเรียนแกนนำ  จำนวน  50  คน  ผู้แทนผู้ปกครอง  ผู้นำชุมชน  หน่วยงานองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่นเจ้าหน้าที่สาธารณสุข    และในการดำเนินการมีขอบข่ายภาระงานดังนี้

1.       โครงการอาหารกลางวัน

2.       โครงการเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพ

3.       โครงการ อย.น้อย (โครงการคุ้มครองผู้บริโภค)

4.       โครงการผนึกพลังเยาวชนไทยต้านภัยโรคไข้เลือดออก

5.       โครงการพัฒนาห้องศูนย์สื่ออนามัย

6.       โครงการรักษาพยาบาลและการส่งรักษาต่อ

7.       โครงการอบรมนักเรียนผู้นำฝ่ายส่งเสริมสุขภาพ 

              ขั้นตอนการปฏิบัติงาน

1.       สำรวจสภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการ

2.       จัดทำโครงการเสนอผู้บริหาร
3.       จัดทำปฏิทินการปฏิบัติงาน และกำหนดผู้รับผิดชอบภาระงาน

4.       ดำเนินงานตามโครงการ

5.       สรุป ประเมินผลโครงการ

6.       รายงานโครงการ        

ผลการดำเนินงาน                การดำเนินงานโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ของ โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต 3 บรรลุผลตามความมุ่งหมายโดยการประเมินผลด้วยตนเองของโรงเรียน โดยให้ผู้ปกครอง/ชุมชนประเมิน และประเมินโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง        ส่งผลลัพธ์ให้โรงเรียน ดังนี้

ด้านปริมาณ(ผลผลิต)

1.  นักเรียนได้รับความรู้ ความเข้าใจ และรับบริการด้านสุขภาพ จำนวน  1,800  คน 2. รางวัลที่ได้รับ

รางวัลการดำเนินงานตามโครงการโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ     ระดับทอง  จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

ด้านคุณภาพ(ผลลัพธ์)

1. นักเรียนมีความตระหนักในเรื่องปัญหาสุขภาพ การเฝ้าระวังป้องกันและการรักษา เช่นโรคไข้เลือดออก  การคุ้มครองผู้บริโภค

2. นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถจัดทำโครงงานเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

บทสรุป

โรงเรียนหนองบัว อำเภอหนองบัว สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษานครสวรรค์ เขต 3  มีความภาคภูมิใจที่มีการบริหารจัดการ และกำหนดให้ เรื่อง โรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ เป็นกิจกรรมดีเลิศ (Best  Practices)ของโรงเรียน เนื่องจากการดำเนินการส่งผลให้โรงเรียนได้รับผลทั้ง ด้านปริมาณ(ผลผลิต) คือ  นักเรียนจำนวนได้รับความรู้ ความเข้าใจ และรับบริการด้านสุขภาพ จำนวน  1,800  คน โรงเรียนได้รับรางวัล คือ รางวัลโรงเรียนส่งเสริมสุขภาพ ระดับทอง จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ด้านคุณภาพ(ผลลัพธ์)  คือ  นักเรียนมีความตระหนักในเรื่องปัญหาสุขภาพ การเฝ้าระวังป้องกันและการรักษา เช่นโรคไข้เลือดออก  การคุ้มครองผู้บริโภคนักเรียนมีความรู้ความเข้าใจและสามารถจัดทำโครงงานในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืนนอกจากผลผลิต และผลลัพธ์ดังกล่าวแล้ว โรงเรียนยังได้รับการยอมรับจากหน่วยงานการศึกษาให้เป็นโรงเรียนต้นแบบในการจัดการเรียนการสอนโครงงาน อีกประการหนึ่งด้วย

2. การจัดการเรียนร่วม (Best practices)

บทนำ

คนพิการเป็นทรัพยากรบุคคลของสังคม หากได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง ย่อมมีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพที่จะประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเอง และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข รวมทั้งช่วยสร้างสรรค์สังคมได้เช่นเดียวกับคนทั่วไปการจัดการศึกษาเพื่อคนพิการ มุ่งเน้นการให้โอกาสการศึกษาที่เท่าเทียมทั้งการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยยึดหลักการตาม พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๐ กล่าวว่า  การจัดการศึกษา ต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเสมอกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายการจัดการศึกษาสำหรับบุคคลซึ่งมีความบกพร่องทาง

ร่างกาย  จิตใจ  สติปัญญา  อารมณ์  สังคม การสื่อสารและการเรียนรู้ หรือมีร่างกายพิการ หรือทุพพลภาพหรือบุคคลซึ่งไม่สามารถพึ่งตนเองได้   หรือไม่มี ผู้ดูแลหรือด้อยโอกาส ต้องจัดให้บุคคลดังกล่าวมีสิทธิและโอกาสได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นพิเศษ

โรงเรียนหนองบัว มีนักเรียนมีปัญหาทางการเรียนรู้ และเป็นเด็กพิเศษ ด้านหู การพูด ปัญหาพฤติกรรม สมาธิสั้น ทำให้ครูไม่สามารถจัดการเรียนการสอน จึงนำโครงการการแก้ปัญหานักเรียนมีปัญหาทางการเรียนรู้และพิการ โดยการสนับสนุนให้ครูสมัครเข้าโครงการ และได้รับการคัดเลือก จำนวน 2 คน ซึ่งครูที่เป็นแกนนำนี้ได้นำความรู้ ความเข้าใจ มาดำเนินการช่วยเหลือนักเรียน ส่งผลให้โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็น โรงเรียนแกนนำ  การจัดการเรียนร่วม

การดำเนินการ

โรงเรียนหนองบัว ได้จัดการเรียนร่วมของนักเรียนพิเศษ  ส่งผลให้นักเรียนได้รับการส่งเสริมอย่างถูกต้อง ย่อมมีความรู้ ความสามารถ มีศักยภาพที่จะประกอบอาชีพ พึ่งพาตนเอง และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข รวมทั้งช่วยสร้างสรรค์สังคมได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป ซึ่งโรงเรียนมีขั้นตอนการดำเนินการ  ดังนี้

ขั้นตอนการดำเนินการ

การบริหารจัดการ

1. แต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยครูประจำชั้น และครูผู้สอนทุกกลุ่มสาระ  และชี้แจงแนวนโยบายการจัดการเรียนร่วมของนักเรียนพิเศษ เพื่อคัดกรองนักเรียนพิเศษ

2.  จัดอบรมให้ความรู้กับครูเรื่องกาจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนที่มีปัญหาทางการเรียนรู้

3. ประชุมผู้ปกครองนักเรียน ชี้แจงทำความเข้าใจเรื่องนักเรียนมีปัญหาทางการเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการยอมรับว่ามีลูกเป็นเด็กมีปัญหาทางการเรียนรู้เพื่อโรงเรียนดำเนินการจัดการเรียนการสอนแบบพิเศษ

4.  ครูประจำชั้นและครูประจำวิชาแต่ละกลุ่มสาระ ซึ่งมีนักเรียนเรียนร่วม จัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualizen Education Progrom  :  IEP)  และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (Individual Implementation Plan : IIP) 

5.  ครูประจำชั้นและครูประจำวิชาแต่ละกลุ่มสาระส่งต่อนักเรียนเรียนร่วมทุกชั้นปี

6.  สรุปผลการจัดการศึกษา และรายงานผล

ขั้นตอนการปฏิบัติงาน

1. คัดกรองนักเรียน ดำเนินการดังนี้

         1.1    สืบประวัติจากครอบครัว

         1.2    สอบถามครูประจำชั้น

         1.3    ทดสอบโดยใช้แบบทดสอบของกระทรวงศึกษาธิการ

2. คณะกรรมการพิจารณาผลการคัดกรองนักเรียนมีปัญหาทางการเรียนรู้ และตัดสินให้เป็นเด็กมีปัญหาทางการเรียนรู้

3. ประชุมผู้ปกครองนักเรียนพิเศษ เพื่อรับทราบและอนุญาตให้นักเรียนเข้าโครงการการเรียนร่วม ด้วยความสมัครใจ

4. คณะกรรมการผู้รับผิดชอบประกอบด้วย  ครูประจำชั้นและครูประจำวิชาแต่ละกลุ่มสาระ ซึ่งมีนักเรียนเรียนร่วม จัดทำแผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (Individualizen Education Progrom  :  IEP)  และแผนการสอนเฉพาะบุคคล (Individual Implementation Plan : IIP)

5. ดำเนินการสอนตามปฏิทิน

สรุปผลการดำเนินงาน

ผลการดำเนินงาน

การดำเนินงานการจัดการเรียนร่วม ของโรงเรียนหนองบัว บรรลุผลตามความมุ่งหมายโดยการประเมินผลด้วยตนเองของโรงเรียน โดยให้ผู้ปกครอง/ชุมชนประเมิน และประเมินโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผลลัพธ์ให้โรงเรียน ดังนี้

ด้านปริมาณ(ผลผลิต)

1.  มีนักเรียนร่วมโครงการ ช่วงชั้นที่ 3 , 4 และ 3  จำนวน 28  คน

2.  ครูจำนวน 60  คน มีส่วนร่วมในโครงการนักเรียนเรียนร่วม

3. เป็นโรงเรียนแกนนำและเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้บริการสนับสนุนส่งเสริมผู้ศึกษาดูงาน จำนวน 10 โรงเรียน ต่อปีการศึกษา

ด้านคุณภาพ(ผลลัพธ์)

1. นักเรียนพิเศษมีความสุขในการเรียนรู้ และอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

2. ผู้ปกครองยอมรับและเข้าใจ การจัดการเรียนร่วมของเด็กพิเศษ

3. สามารถป้องกันปัญหาในสังคมในอนาคตได้

4. เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเอง มีทักษะในการดำรงชีวิต

5 เด็กปกติได้ฝึกการมีจิตใจที่เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น

6. ครูมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพครูมากยิ่งขึ้น

หมายเลขบันทึก: 329405เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2010 09:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ดีจังเลยนะครับ มีสิ่งดีๆและเป็นความสร้างสรรค์อยู่มากมาย เลยนำเวทีในบล๊อก GotoKnow นี้มาแนะนำไว้ในนี้สำหรับผู้สนใจด้วยเลยนะครับ จัดว่าเป็นการระดมการพัฒนาที่ขยายขอบเขตออกไปให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆหลายมิติโดยมีพื้นที่ชุมชนอำเภอหนองบัวและความเป็นชุมชน เป็นตัวตั้ง

เมื่อมีแง่มุมที่เชื่อมโยงและส่งเสริมกันและกันได้ ก็จะได้มีพื้นฐานให้เดินเสริมพลังความร่วมมือกันตากปัจจัยและความพร้อมที่และเหมาะสมที่สุด ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดพลังความร่วมมือของผู้คนได้อย่างหลากหลาย เป็นกำลังช่วยกันพัฒนาหนองบัว ทั้งมิติพัฒนาการศึกษา สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการสนองตอบต่อความจำเป็นของประเทศและของสังคมโลก ด้วยการเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงและมีพื้นฐานเดินออกจากตนเองที่ดี

เวทีเหล่านี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยกันครับ โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นแหล่งทำงานความรู้ พัฒนาเครือข่ายคนที่ทำงานส่วนรวมด้วยวิธีระดมพลังทางปัญญาในด้านที่เปิดรับการมีส่วนร่วมของคนทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นแหล่งที่จะช่วยแปรความรักความผูกพันท้องถิ่นของคนหนองบัวที่ไปอยู่ต่างถิ่นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ให้มาคิดและนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกันต่อไป.........

เชิญคนหนองบัวและผู้สนใจร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกันไปตามอัธยาศัยครับ

ดีจังเลยนะครับ มีสิ่งดีๆและเป็นความสร้างสรรค์อยู่มากมาย เลยนำเวทีในบล๊อก GotoKnow นี้มาแนะนำไว้ในนี้สำหรับผู้สนใจด้วยเลยนะครับ จัดว่าเป็นการระดมการพัฒนาที่ขยายขอบเขตออกไปให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆหลายมิติโดยมีพื้นที่ชุมชนอำเภอหนองบัวและความเป็นชุมชน เป็นตัวตั้ง

เมื่อมีแง่มุมที่เชื่อมโยงและส่งเสริมกันและกันได้ ก็จะได้มีพื้นฐานให้เดินเสริมพลังความร่วมมือกันได้ตามปัจจัยความพร้อมที่เหมาะสมและได้ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำงานความคิดมาด้วยกันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดพลังความร่วมมือของผู้คนได้อย่างหลากหลาย เป็นกำลังช่วยกันพัฒนาหนองบัว ทั้งมิติพัฒนาการศึกษา สุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรม รวมทั้งการสนองตอบต่อความจำเป็นของประเทศและของสังคมโลก ด้วยการเลือกสรรการเปลี่ยนแปลงและมีพื้นฐานเดินออกจากตนเองที่ดี

เวทีเหล่านี้จึงเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยกันครับ โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นแหล่งทำงานความรู้ พัฒนาเครือข่ายคนที่ทำงานส่วนรวมด้วยวิธีระดมพลังทางปัญญาในด้านที่เปิดรับการมีส่วนร่วมของคนทั่วไปได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นแหล่งที่จะช่วยแปรความรักความผูกพันท้องถิ่นของคนหนองบัวที่ไปอยู่ต่างถิ่นด้วยเหตุปัจจัยต่างๆ ให้มาคิดและนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกันต่อไป.........

เชิญคนหนองบัวและผู้สนใจร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้และสร้างสรรค์สิ่งต่างๆด้วยกันไปตามอัธยาศัยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท