Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

นายพูนผล แซ่เจียม หรือนายเจียม ต้าวชวง : คนเกิดในไทยใน พ.ศ.๒๔๘๐ ซึ่งแพ้คดีร้องขอพิสูจน์สัญชาติไทยใน พ.ศ.๒๕๔๓


นายเจียม ต้าวชวง เป็นตัวอย่างของคนเกิดในไทยก่อนระบบทะเบียนราษฎรของรัฐไทยที่เคยใช้สิทธิที่ร้องขอความยุติธรรมต่อศาลไทยเพื่อให้ยืนยันว่า เขามีสิทธิในสัญชาติไทย แต่ศาลฎีกาใน ฎ.๒๒๓๙/๒๕๔๓ ตอบว่า ศาลยอมรับว่า นายพูนพลตามข้อเท็จจริงเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่ศาลไม่เชื่อว่า ผู้ร้องคือนายพูนพล ??? เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยมากแก่คนที่เกิดก่อนระบบทะเบียนราษฎร เรื่องดังกล่าวนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายนักวิจัยด้านกฎหมายพยาน คุณอริยะ และอาจารย์ไผ่ อภิชิต น่าจะรับคำท้านะคะ

             ผู้ร้องอ้างว่า ตนชื่อนายพูนผล แซ่เจียม หรือนายเจียม ต้าวชวง อ้างว่า เป็นคนสัญชาติไทยเกิดเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๒ ที่ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส จากนางฮอนเหยงหรือฮอนเผ็งหรือฮันเองหรือฮวนเย้ง แซ่ลี และนายตุ่นกุ่ย แซ่เจียม ทั้งนี้ นายพูนผลได้อ้างสูติบัตรมาเป็นพยานเอกสารเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว

           ผู้ร้องอ้างอีกว่า บิดาและมารดาเป็นคนสัญชาติจีนและเชื้อชาติจีนที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๖๕ และปี พ.ศ.๒๔๖๘ ตามลำดับ และได้แต่งงานกันที่อำเภอบางรัก กทม. เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ โดยมีบุตรด้วยกัน ๕ คน คือ (๑) นางสมประสงค์ แซ่เจียมหรือนางเจียม ยิ่งหง ซึ่งเกิดในปี พ.ศ.๒๔๗๙ (๒) นายเกยูร แซ่เจียม หรือนายเจียม ต้าวเต๋อ ซึ่งเกิดในปี พ.ศ.๒๔๘๐ ในขณะที่บิดามารดาย้ายไปอยู่นราธิวาสเพื่อประกอบอาชีพครูสอนภาษาจีน ทั้งนี้ โดยมีสูติบัตรแนบมาเป็นพยานเอกสาร (๓) นายพูนผล หรือนายเจียม ต้าวชวง (๔) นางวาสนา แซ่เจียม หรือนางเจียม หลิงยี้ ตามสูติบัตรซึ่งแนบมาเป็นพยานเอกสาร (๕) นางไสว แซ่เจียม หรือนางเจียม หลีหมิง

             ผู้ร้องอ้างว่า ในวัยเด็ก ตนได้อยู่อาศัยและเรียนหนังสือที่โรงเรียนซินหมิน จังหวัดนราธิวาส แต่ต่อมา ในปี พ.ศ.๒๔๘๐ บิดาถึงแก่กรรม นายพูนผลจึงเดินทางมาอาศัยอยู่กับนายเฮงเต็งหรือเม่งกวง แซ่เจียม ซึ่งเป็นปู่ และพี่ชายที่อำเภอมีนบุรี จังหวัดพระนคร และในปี พ.ศ.๒๔๙๐ จึงได้เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนซินหมิน เขตมีนบุรี กทม. (ในปัจจุบัน โรงเรียนซินหมินเปลี่ยนชื่อมาเป็น "มีนประสาทวิทยา")  โดยเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ และเรียนภาษาจีนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ ตามภาพถ่ายวันรับประกาศนียบัตรที่แนบมาเป็นพยานเอกสาร แต่เนื่องจากเกินกว่า ๑๐ ปีแล้ว จึงไม่สามารถนำหลักฐานการศึกษามาแสดงได้ ตามหนังสือชี้แจงประวัติโรงเรียนมีนประสาทวิทยาที่แนบมาเป็นพยานเอกสาร

               เมื่อจบการศึกษา นางพูนผลได้ช่วยมารดาทำงานจนถึงปี พ.ศ.๒๔๙๖ ซึ่งมารดาของนายพูนผลถูกตั้งข้อหาว่า เป็นผู้เผยแพร่ลัทธิคอมมิวนิสต์และถูกเนรเทศตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย ดังปรากฏตามเอกสารที่แนบมาเป็นพยานเอกสาร นายพูนผลและญาติทั้งหมดจึงเดินทางไปอยู่ที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

               ก่อนที่นายพูนผลจะไปประเทศจีน เขาได้ไปถ่ายรูปที่ร้านจิตรกร วังบูรพา ตามภาพถ่ายที่แนบมาเป็นพยานเอกสาร

                ในปี พ.ศ.๒๔๙๗ นายพูนผลเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่เมืองกวางเจา แต่เนื่องจากโรงเรียนกำหนดอายุผู้เข้าเรียนว่า ต้องมีอายุ ๑๒ ปี มารดาจึงแจ้งว่า นายพูนผลเกิดในปี พ.ศ. ๒๔๘๘ เพื่อให้อยู่ในเกณฑ์อายุที่เข้าเรียนได้ เมื่อจบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ในปี พ.ศ.๒๔๙๘ นายพูนผลได้ย้ายไปเรียนชั้นมัธยมปีที่ ๒ ที่เมืองเทียนสินจนจบหลักสูตรชั้นมัธยมศึกษาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ แล้วศึกษาต่อจนจบชั้นอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งบรอดคาสติ้งอินสติติวในปี พ.ศ.๒๕๐๘

                 ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ นายพูนผลสอบชิงทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเมื่อสำเร็จการศึกษา ก็ได้มาทำงานเป็นอาจารย์

                  ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ นายภู่ ศักดิ์มังกร ซึ่งเป็นเพื่อนของบิดาของนายพูนผลได้เดินทางไปดูงานที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้พบนายพูนผลและมารดา

                 ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ นายสุรินทร์ ศิริยกุล ไปเยี่ยมมารดาผู้ร้องที่ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้ชักชวนผู้ร้องให้มาเที่ยวประเทศไทย

                   ในปี พ.ศ.๒๕๓๔ นายพูนพลได้รับแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยปักกิ่งบรอดคาสติ้งอินสติติว

                    ในวันที่ ๑๘ มีนาคม พ.ศ.๒๕๓๕ นายพูนผลเดินทางเพื่อกลับมาอยู่ในประเทศไทย โดยใช้หนังสือเดินทางซึ่งระบุว่า นายพูนผลเกิดที่ไหหลำ ทั้งนี้ นายพูนผลอ้างว่า มิฉะนั้น ทางการของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนจะไม่ออกหนังสือเดินทางให้

                      ในวันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๓๕ เขาจึงได้ยื่นคำร้องขอพิสูจน์สัญชาติว่า เป็นคนไทยต่อกองตรวจคนเข้าเมือง กรมตำรวจ แต่เจ้าพนักงานมีคำสั่งยกคำร้องเมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๖

                        จะเห็นว่า ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๒ ซึ่งเป็นวันที่เอกชนอ้างว่า เป็นวันเกิดของนายพูนผล โดยกฎหมายสัญชาติที่มีผล ก็คือ พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ การที่บุตรของบิดามารดาต่างด้าวจะได้สัญชาติไทยในยุคนี้ก็ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า บุคคลนั้นเกิดในประเทศไทย[1] ดังนั้น ในการต่อสู้คดีเพื่อให้ศาลเชื่อว่า ตนได้สัญชาติไทย ผู้ร้องจึงต้องพิสูจน์ให้ศาลเชื่อว่า ตนเกิดในประเทศไทย

                        ผู้ร้องจึงได้ร้องขอพิสูจน์สัญชาติตามมาตรา ๕๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ โดยขอให้ศาลนี้มีคำสั่งว่า "ผู้ร้องเป็นคนสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทยตามมาตรา ๗(๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕"

                         แต่ขอให้สังเกตว่า ทนายความของผู้ร้องมีความเข้าใจผิดในข้อกฎหมาย หากศาลฟังว่า ผู้ร้องเกิดในประเทศไทย สัญชาติไทยที่ผู้ร้องจะได้รับ ก็คือ สัญชาติไทยตามมาตรา ๓(๓) พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลในขณะที่ผู้ร้องเกิด มิใช่สัญชาติไทยตามมาตรา ๗(๒) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย มาตรา ๔ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีผลในขณะที่มีการพิจารณาคดี หากศาลรับฟังข้ออ้างของผู้ร้อง ก็หมายความว่า ผู้ร้องย่อมมีสัญชาติไทยมาตั้งแต่เกิดในประเทศไทย มิใช่จะเพิ่งมามีสัญชาติไทยเมื่อศาลมีคำสั่งตามคำร้อง

                          หากศาลฟังว่า ผู้ร้องเกิดในประเทศไทย ผู้ร้องก็จะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็น "คนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด" และมีสิทธิทุกประการที่คนสัญชาติไทยพึ่งมี โดยเฉพาะสิทธิที่จะเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะเด็ดขาด (absolute right) แต่หากศาลฟังว่า ผู้ร้องมิได้เกิดในประเทศไทย ผู้ร้องก็จะมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็น "คนต่างด้าว" ซึ่งจะมีสิทธิที่จะเข้าเมืองและอาศัยอยู่ในประเทศไทยในลักษณะที่มีเงื่อนไข (relative right) กล่าวคือ (๑) มีคุณสมบัติที่จะเข้าเมืองได้ตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ และ (๒) มีคำสั่งของฝ่ายปกครองที่มีอำนาจตามกฎหมายให้เข้าเมืองได้ เท่านั้น

                        แต่พนักงานอัยการคัดค้านว่า (๑) ผู้ร้องไม่ใช่คนสัญชาติไทยโดยการเกิดในราชอาณาจักรไทย แต่เป็นคนเชื้อชาติจีน สัญชาติจีน เกิดที่มณฑลไหหนาน(ไหหลำ) ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน มีชื่อว่า นายเจียม ต้าวชวง (๒) ผู้ร้องมิใช่บุคคลคนเดียวกับเด็กชายพูลพล แซ่เจียม ตามสูติบัตรท้ายคำร้องหมายเลข ๑ (๓) ผู้ร้องไม่เคยอยู่ในประเทศไทย เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่า ถือหนังสือเดินทางของประเทศไทยและได้เดินทางออกจากประเทศไทยไปประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน (๔) ผู้ร้องไม่เคยจบการศึกษาจากโรงเรียนในประเทศไทย ไม่มีประกาศนียบัตรหรือใบสุทธิของโรงเรียนมาแสดง (๕) ภาพถ่ายท้ายคำร้องไม่ใช่ภาพถ่ายของนักเรียนและครูโรงเรียนซินหมินหรือโรงเรียนมีนประสาทวิทยา ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลที่ ๑ ตามภาพถ่าย และ (๖) นายตุ่นกุ่ย แซ่เจียม และนางฮอนเหยง แซ่ลี มิใช่บิดามารดาของผู้ร้อง ดังนั้น พนักงานอัยการจึงขอให้ศาลยกคำร้อง

                   จะเห็นว่า อัยการเห็นว่า ผู้ร้องมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็นเพียง "คนต่างด้าว" เท่านั้น  สิทธิที่จะเข้าเมืองและอาศัยอยู่ภายในประเทศไทยโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องจึงขึ้นอยู่กับ  พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ นั่นก็คือ ผู้ร้องจะต้องเดินทางออกไปจากประเทศไทย หากไม่มีการอนุญาตให้ผู้ร้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยอีกต่อไป ซึ่งเงื่อนไขและเงื่อนเวลาเป็นไปตามมาตรา ๓๔ และ ๓๕ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒

                    ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับเป็นว่า ผู้ร้องเป็นบุคคลสัญชาติไทย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ ผู้คัดค้านฎีกา ศาลฎีกาพิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ

                     โดยพิจารณาการโต้แย้งเหตุผลระหว่างผู้ร้องและอัยการข้างต้น  จึงสรุปได้ว่า ไม่มีข้อโต้แย้งในเรื่องข้อกฎหมายว่าด้วยการได้สัญชาติไทยโดยการเกิดโดยหลักดินแดนใน ฎ.๒๒๓๙/๒๕๔๓ นี้เลย ข้อโต้แย้งประการเดียวที่มี ก็คือ ข้อโต้แย้งในความมีอยู่ของข้อเท็จจริงที่ว่า นายพูนผล แซ่เจียม หรือนายเจียม ต้าวชวง ผู้ร้อง เกิดในประเทศไทยหรือไม่

                     โดยหลักกฎหมายสัญชาติที่มีผลในสถานการณ์เช่นนี้ บุคคลที่เกิดใน พ.ศ.๒๔๘๒ จะได้สัญชาติไทยโดยการเกิดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่า ผู้ร้องเกิดในประเทศไทยหรือไม่ เนื่องจากข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงตามข้อกำหนดของกฎหมายสัญชาติไทยที่มีผลบังคับในขณะที่เอกชนผู้ร้องเกิด กล่าวคือ มาตรา ๓(๓) แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๔๕๖ และนอกจากนั้น บุคคลดังกล่าวก็จะไม่เสียสัญชาติไทยในวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ เมื่อมีการประกาศใช้ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ ๓๓๗ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๕ หากว่าบุคคลนั้นมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยในลักษณะถาวร

                      จะเห็นว่า นายพูนผลตามข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องกล่าวอ้างย่อมจะได้สัญชาติไทยและไม่อาจเสียสัญชาติไทยตามหลักกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะยอมรับว่า ในปัจจุบัน นายพูนผลยังคงมีสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็น "คนสัญชาติไทยโดยหลักดินแดนโดยการเกิด"

                     แต่ในทางข้อเท็จจริง ผู้ร้องจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า ตนเป็นบุคคลคนเดียวกับนายพูนผลตามข้อเท็จจริงที่ศาลรับฟัง ประเด็นแห่งคดีจึงเป็นการต่อสู้ในทางข้อเท็จจริง มิใช่ข้อกฎหมาย เป็นเรื่องของการยอมรับวิธีการพิสูจน์สัญชาติไทยและการชั่งน้ำหนักพยานที่นำมาพิสูจน์นั่นเอง

                       สรุปที่นายพูนพลแพ้คดี ก็เพราะ ศาลไม่เชื่อว่า ผู้ร้องคือนายพูนพล

                        ผู้บันทึกขอตั้งข้อสังเกตว่า ความยุติธรรมที่จะต้องเกิดในคดีนี้ ก็คือ ความยุติธรรมที่ให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีอายุ ๖๒ ปี เขาอ้างว่า เขาเกิดในประเทศไทย แต่กระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ตำรวจจนถึงศาลไม่เชื่อในข้อเท็จจริงที่เขากล่าวอ้าง ด้วยเหตุผลหลักๆ ที่ว่า เขาไม่มีพยานเอกสารที่เพียงพอที่จะทำให้เชื่อถือได้และเขาไม่มีพยานบุคคลที่รู้จักเขาอย่างดีตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันมาให้ปากคำ

                         ในความเห็นด้วยต่อการให้เหตุผลของศาลในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานในคดีนี้ ผู้เขียนยังมีข้อที่ติดขัดในใจถึงความเป็นไปได้หลายประการ

                        ในประการแรก จะเป็นธรรมหรือไม่ที่จะเรียกร้องให้บุคคลที่เกิดใน พ.ศ.๒๔๘๒ มีเอกสาร อาทิ สูติบัตร ทะเบียนบ้าน ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว ใบสุทธิ ในลักษณะเดียวกับที่คนในปี พ.ศ.๒๕๔๓ มีอยู่ เราจะเห็นว่า ใน พ.ศ.๒๔๘๒ นั้น แม้ว่าจะเกิดมีอำเภอเพื่อดูแลงานทะเบียนราษฎรขึ้นแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ระบบทะเบียนบุคคลของรัฐไทยก็เพิ่งจะเกิดขึ้นในพระนครซึ่งเป็นเมืองหลวง[1] แม้ในปัจจุบัน เอกสารพิสูจน์ตนที่รัฐจะต้องออกให้แก่ประชาชนก็ยังทำไม่ได้อย่างสมบรูณ์ในหลายพื้นที่ของประเทศไทย โดยเฉพาะตามแนวชายแดนซึ่งทุรกันดารและประชาชนเหล่านั้นไม่มีความเข้าใจในความสำคัญของการแจ้งเกิดและการมีทะเบียนบ้าน เหตุการณ์ตามข้อเท็จจริงใน ฎ.๒๒๓๙/๒๕๔๓ เกิดขึ้นที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๒ ความน่าสงสัยที่เกิดขึ้นว่า ระบบทะเบียนราษฎรของรัฐได้จัดทำขึ้นอย่างสมบรูณ์แล้วหรือในพื้นที่นั้นในเวลานั้น ความรับรู้ต่อความสำคัญของเอกสารดังกล่าวในเวลานั้นเหมือนกันคนในสมัยนี้ไหม การที่บุคคลในสถานการณ์นั้นยังไม่มีสูติบัตรและทะเบียนติดตัว หรือไม่ได้แจ้งย้ายทะเบียนบ้านจากนราธิวาสมาพระนคร จึงอาจจะเป็นเรื่องที่ไม่แปลกเลยสำหรับปี พ.ศ.๒๔๘๒ - ๒๔๙๖ ก็เป็นได้ ในส่วนเกี่ยวกับปัญหาที่ใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวไม่มีรูปติดอยู่ ก็ทำให้คิดว่า ความสะดวกที่จะแสวงรูปมาติดเอกสารราชการในปี พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นเช่นใด 

                    ความติดขัดในประการที่สอง ก็คือ ผู้ร้องไม่มีพยานบุคคลที่รู้จักเขาอย่างดีตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบันมาให้ปากคำรับรองว่า เขาเกิดในประเทศไทย จะเห็นว่า ปัญหาของผู้ร้องก็คือ เขาอ้างว่า เขาถูกเนรเทศออกไปจากประเทศไทยใน พ.ศ.๒๔๙๖ และเขาก็ได้ไปจากประเทศไทยเกือบ ๔๐ ปี  จึงเป็นที่แน่นอนว่า บุคคลในสถานการณ์เช่นเขาจะต้องขาดความสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างในช่วงการปฏิวัติระบอบการปกครองในประเทศจีนซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างประเทศไทยกับประเทศจีน การคาดหวังว่า จะมีพยานบุคคลที่ติดต่อ รู้จัก และจำผู้ร้องได้อย่างชัดเจน จึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ เพราะโดยความเป็นจริง ความสัมพันธ์เช่นนั้นเกิดขึ้นไม่ได้

                        ผู้เขียนก็เห็นว่า ศาลฎีกาได้พิจารณาอย่างดีที่สุดแล้วเมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏมาเพียงเท่านั้น แต่ผู้เขียนใคร่ขอให้กระบวนการยุติธรรมทั้งกระบวนการตระหนักในปัญหาการให้ความยุติธรรมต่อข้อเท็จจริงในอดีต ไม่เฉพาะแต่ศาล ยังรวมย้อนไปถึงทนายความที่จะมีแนวคิดในทางสังคมที่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย เมื่อจะต้องทำคดีเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในอดีต อาทิ ปัญหาการเกิดในประเทศไทยใน พ.ศ.๒๔๘๒ ของผู้ร้องใน ฏ.๒๒๓๙/๒๕๔๓ เป็นต้น สิ่งที่ถูกต้องยุติธรรมในเวลานี้ ก็อาจจะไม่ใช่ในช่วงเวลาอดีต การแสวงหาพยานและการชั่งน้ำหนักพยานสำหรับกรณีดังกล่าวจึงไม่อาจทำเสมือนหนึ่งเหตุการณ์นั้นเกิดในปัจจุบัน

 โปรดอ่านต่อ

คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๓๙/๒๕๔๓

ผู้ร้อง  นายพูนผล แซ่เจียม หรือนายเจียม ต้าวชวง

ผู้คัดค้าน        พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด

เรื่อง    ความเป็นไทยโดยสัญชาติของบุตรที่เกิดในประเทศไทยจากบิดาและมารดาสัญชาติจีนที่เข้าเมืองก่อน พ.ศ.๒๔๗๐

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

หมายเหตุโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ใน:คำพิพากษาศาลฎีกา พ.ศ.๒๕๔๓ เล่มที่ ๙, สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ, กระทรวงยุติธรรม, น.๓๑-๔๗

http://gotoknow.org/file/archanwell/view/155077

หมายเลขบันทึก: 168448เขียนเมื่อ 1 มีนาคม 2008 15:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 17:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อาจารย์ครับผมคงจะต้องทำให้อาจารย์ลำบากซะแล้วเพราะอาจารย์กำลังทำเรื่องที่ผมอยากรู้  อยากเอามาสอนเป็นกรณีศึกษา  หาก อ.ยินดี ผมจะติดต่อไปครับ

อาจารย์ครับ ผมขอความช่วยเหลือจากอาจารย์ให้คุณพูลผล แซ่เจียม

๑) ช่วยเขียนนามสกุลเป็นภาษาจีนครับ ผมมีแซ่เดียวกันกับคุณพูลผล ปู่ของผมมาจากเกาะไฮเหลำ ผมต้องการทราบนามสกุลของผมครับที่ถูกต้อง ผมถามคนหลายคนที่รู้ภาษาจีนกลางเขาว่าคำว่า เจียม ไม่มีครับ คงเป็นภาษาท้องถิ่นของเกาะไฮเหลำ

๒) ถ้าหากคุณพูลผล จะกรุณาเขียนชื่อของผมเป็นภาษาจีนให้ด้วยจะเป็นพระคุณยิ่งครับ ชื่อจีนของผมคือ เจียม ซุ่นเซิ่น (อาจจะไม่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ออกเสียงคล้ายอย่างนี้ครับ)

ขอบพระคุณอาจารย์มากครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท