Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ครอบครัวข้ามชาติตรงพื้นที่ระหว่างชายแดนไทย-ลาว โดย รศ.ดร.สุชาดา ทวีสิทธิ์


เอกสารนำเสนอในที่ประชุมเสวนาเรื่องบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย ณ สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒

รูปแบบครอบครัวข้ามชาติที่พบในพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว

n  รูปแบบแรก ครอบครัวที่เกิดจากการแต่งงานข้ามชาติระหว่างชาวบ้านคนไทยอีสานกับชาวบ้านคนลาว พบครอบครัวข้ามชาติแบบนี้อยู่ถึงร้อยละ 76

n  รูปแบบที่สอง ครอบครัวผู้ลี้ภัยชาวลาวที่อพยพเข้ามาในเมืองไทยช่วงลาวแตกระหว่าง พ.ศ.2517-2519

n  รูปแบบที่สาม ครอบครัวแรงงานข้ามชาติสัญชาติลาว ที่อพยพหนีปัญหาความยากจนภายในประเทศมาทำมาหากินในหมู่บ้านฝั่งไทย

ปริมาณของครอบครัวข้ามชาติ

n  พบว่าในแต่ละหมู่บ้านชายแดนฝั่งไทยที่ตั้งอยู่ชิดติดแม่น้ำโขง มักมีครอบครัวข้ามชาติทั้งสามประเภทอาศัยอยู่ในหมู่บ้านเฉลี่ยประมาณ 10-20 ครอบครัวต่อหมู่บ้าน แต่บางหมู่บ้านมีมากกว่า 60 ครอบครัว

ระลอกการอพยพเข้าสู่ประเทศไทยของครอบครัวข้ามชาติรูปแบบที่หนึ่งและที่สาม

n  ครอบครัวข้ามชาติที่ปรากฏก่อนและหลังลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2517

n  ครอบครัวข้ามชาติที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2521 ถึง พ.ศ. 2523 ตรงกับช่วงเวลาที่รัฐบาลลาวเริ่มนำแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศในระบบนารวมและสหกรณ์มาใช้ ประชาชนลาวที่ไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแบบรวมศูนย์นี้ได้ต่างพากันหลบหนีมายังประเทศไทยจำนวนมาก

n  ครอบครัวที่เกิดขึ้นหลัง พ.ศ. 2529 ซึ่งเป็นช่วง สปป. ลาว เปิดประเทศสู่โลกภายนอก

n  ครอบครัวที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2539 ตรงกับที่ประเทศไทยมีนโยบายยืดหยุ่นให้แรงงานต่างชาติ 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว และเขมรเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้ ส่วนใหญ่การอพยพระลอกหลังนี้เป็นการอพยพของคนหนุ่มสาวที่ต้องการแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าในประเทศไทย มีบางส่วนเข้ามาแต่งงานกับคนไทย หรือคนลาวอพยพที่อยู่ในประเทศไทยมาก่อนหน้าแล้ว

n  ครอบครัวข้ามชาติที่เกิดในช่วงหลัง 2539-ปัจจุบัน

ลักษณะปัญหาสถานะบุคคลของสมาชิกในครอบครัวข้ามชาติทุกประเภท

n  ลักษณะแรก เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทย มีหลักฐานแสดงตนเป็นแรงงานต่างด้าว ท.ร. 38/1[1]  เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นลาวอพยพที่ไม่มีบัตรลาวอพยพ[2] หรือจากพ่อแม่ที่เป็นแรงงานต่างด้าว พ่อแม่ไม่ได้แจ้งการเกิดของบุตรไว้ในระบบทะเบียนราษฎร์ของประเทศลาวบุคคลกลุ่มนี้ไม่เคยหรือไม่ต้องการหรือไม่มีเงินเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติลาวของตน

n  ลักษณะที่สอง เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศไทยถือบัตรแรงงานต่างด้าว แต่มีบุพการีคนใดคนหนึ่งถือสัญชาติไทย เนื่องจากไม่มีหลักฐานไปยืนยันเพราะพ่อหรือแม่ไม่ได้แจ้งเกิดไว้ในระบบทะเบียนราษฎรของไทย ซึ่งโดยข้อเท็จจริงบุคคลประเภทนี้ต้องมีสัญชาติไทยตามหลักการสืบสายโลหิตจากบุพการีคนหนึ่งที่มีสัญชาติไทย อาจเพราะประสบกับความยุ่งยากในการเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติไทย คนกลุ่มนี้จึงไม่ได้รับสัญชาติไทยและตกอยู่ในข่ายคนไร้รัฐ-ไร้สัญชาติ

n  ลักษณะที่สาม เป็นบุคคลที่เกิดในประเทศลาวจากพ่อแม่ที่เป็นคนสัญชาติไทย ถึงแม้โดยข้อเท็จจริงแล้วบุคคลดังกล่าวมีสัญชาติไทยตามหลักสืบสายโลหิต แต่เนื่องจากบิดาหรือมารดาไม่ได้แจ้งเกิดไว้ในระบบทะเบียนราษฎรไทย หรือระบบทะเบียนราษฎรของลาว บุคคลนี้จึงตกอยู่ในสถานะบุคคลไร้รัฐและไร้สัญชาติ ที่อาจถือบัตรแรงงานต่างด้าว (ท.ร. 38/1) แต่ถ้าหากได้ผ่านกระบวนการพิสูจน์สัญชาติและมีหลักฐานยืนยันชัดเจนก็ต้องมีสิทธิ์ใช้สัญชาติไทย

n  ลักษณะที่สี่ เป็นบุคคลที่มีสถานะทางทะเบียนเป็นลาวอพยพ เพราะมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในหมู่บ้านที่ศึกษาตั้งแต่ พ.ศ. 2517 และได้รับการจดทะเบียนเป็นลาวอพยพโดยกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2534 หรือเป็นบุคคลที่มีพ่อและแม่ถือบัตรคนลาวอพยพ คนกลุ่มนี้อาจถือบัตรลาวอพยพตามพ่อแม่ แต่บางคนอาจมี ท.ร.38/1 แต่ตามพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 4 พ.ศ. 2551 บุคคลที่เป็นบุตรของคนลาวที่มีบัตรลาวอพยพและเกิดในประเทศไทยก่อนวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2535 มีสัญชาติไทยแล้วโดยผลของกฎหมายตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 หากแต่การใช้สิทธิในสัญชาติไทยจะเริ่มต้นเมื่อไปร้องขอลงรายการสัญชาติไทย โดยแสดงหลักฐานแสดงการเกิดชัดเจนละน่าเชื่อถือได้ ต่อนายอำเภอซึ่งทำหน้าที่นายทะเบียนราษฎรของท้องที่ที่บุคคลมีชื่อปรากฏอยู่

n   ลักษณะที่ห้า เป็นบุคคลที่เป็นคู่สมรสของคนไทยอีสาน อพยพมาอยู่อาศัยในหมู่บ้านอย่างถาวรในระยะเวลานาน ไม่เคยกลับไปพิสูจน์สัญชาติลาว ได้สถานะเป็นแรงงานต่างด้าว ไม่มีสิทธิ์ในการขอสัญชาติไทยเพราะไม่มีหลักฐานแสดงจุดเกาะเกี่ยวกับประเทศไทย เนื่องจากไม่ได้รับการจดทะเบียนสมรสกับสามี/ภรรยาคนไทย

n  ลักษณะที่หก เป็นบุคคลที่มีบุพการีเป็นคนลาวเกิดที่ประเทศลาว อพยพมาอาศัยในหมู่บ้านฝั่งไทยกับพ่อหรือแม่ตั้งแต่เด็กเพราะพ่อหรือแม่มาแต่งงานกับคนไทย แต่บุพการีไม่ได้แจ้งเกิดในระบบทะเบียนราษฎรของลาว จึงไม่มีสถานะบุคคลทั้งในประเทศไทยและประเทศลาว

ลักษณะการถือบัตรแสดงสถานะบุคคล

n  ร้อยละ  56.0 ถือ ทะเบียนประวัติประเภท ท.ร. 38/1 อย่างเดียว[3]

n  รองลงมาร้อยละ 15.7 ไม่มีหลักฐานใดแสดงสถานะบุคคล

n  ร้อยละ 15.5 ถือบัตรลาวอพยพ[4]

n  จำนวนที่เหลือถือหลักฐานแสดงตน เช่น บัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน บัตรกำลังพลกองทัพไทยที่แสดงว่าเคยช่วยปฏิบัติการลาดตระเวนหาข่าวในฝั่งชายแดนลาวช่วงสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์ในอินโดจีนให้กองทัพไทย บัตรประจำตัวผู้ลี้ภัยที่ออกโดยองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น

n  อีกส่วนหนึ่งถือบัตรแสดงตนมากกว่าหนึ่งบัตร เช่น ถือทะเบียนประวัติประเภท ท.ร. 38/1 ควบคู่กับบัตรลาวอพยพ และส่วนหนึ่งถือบัตรแสดงตนผู้ลี้ภัยขององค์การสหประชาชาติคู่กับทะเบียนประวัติประเภท ท.ร. 38/1



[1]  ท.ร.38/1 ก็คือ ชื่อย่อของ “แบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ” ซึ่งออกตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของรัฐไทยให้แก่คนที่มาแสดงตนเมื่อมีการประกาศให้คนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายมาแสดงตนต่อนายทะเบียนราษฎรว่า ตนเป็นแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจากพม่าหรือลาวหรือกัมพูชาในความต้องการของนายจ้างซึ่งมาขึ้นทะเบียนหรือขอโควต้าจ้างงานคนต่างด้าวแล้วก่อนหน้านั้น ซึ่งระบบนี้เริ่มต้นใช้ในประเทศไทยใน พ.ศ.2547 และคนใน ท.ร.38/1 นี้จะได้รับการพิสูจน์สัญชาติตามที่กำหนดในความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและประเทศต้นทาง (ให้เชิงอรรถโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2552)

[2] ปัจจุบัน บัตรลาวอพยพได้ถูกยกเลิกไปแล้ว โดยคนกลุ่มนี้ จะได้รับการออกบัตรใหม่ คือ “บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร” โดยมีเลขประจำตัว 13 หลักขึ้นต้นด้วย 6 หากเกิดนอกประเทศไทยหรือเกิดในประเทศก่อนการเข้ารับการสำรวจสถานะลาวอพยพ หรือเลข 7 หากเกิดในประเทศไทยจากบุพการีที่มีเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข 6   บุคคลผู้เคยถือบัตรลาวอพยพเป็นราษฎรไทยประเภทชนกลุ่มน้อยที่อาศัยจนกลมกลืนกับสังคมไทย   ความเป็นไปได้ในการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยเป็นไปตามพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง 3 ฉบับ กล่าวคือ (1) พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ (2) พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ ซึ่งถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๒ และ ๓) พ.ศ.๒๕๓๕ รวมตลอดถึง พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ.๒๕๕๑ (3) พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๒๓ และโดย พ.ร.บ.คนเข้าเมือง (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๔๒ ส่วนกระบวนการพัฒนาสถานะบุคคลนี้เป็นไปยุทธศาสตร์เพื่อการจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล ซึ่งสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบในวันที่ 18 มกราคม พ.ศ.2548 อันทำให้สรุปได้ว่า ผู้เคยถือบัตรลาวอพยพซึ่งเกิดนอกประเทศไทยมีสิทธิที่จะร้องขอการพัฒนาสถานะจากคนต่างด้าวที่มีเข้าเมืองผิดกฎหมายแต่เพียงสิทธิอาศัยชั่วคราว เป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยถาวร และอาจร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยในวาระต่อไป ในขณะที่บุตรที่เกิดจากคู่สมรสสัญชาติไทย หรือบุตรที่เกิดในประเทศไทยจากบุพการีที่เป็นคนถือบัตรลาวอพยพก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 ย่อมมีสัญชาติไทยมาตั้งแต่การเกิด หากยังมีปัญหา การแก้ไขก็คือการร้องขอให้อำเภอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทยให้ถูกต้อง หากอำเภอปฏิเสธ ก็จะต้องไปร้องขอความยุติธรรมจากศาลปกครอง ในกรณีของบุตรที่เกิดในประเทศไทยจากบุพการีที่เป็นคนถือบัตรลาวอพยพตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2535 เป็นต้นมา หากว่า บิดาและมารดายังไม่ได้รับสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยถาวร ก็ยังยังมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมายแต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว และอาจเข้าสู่กระบวนการพัฒนาสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยโดยการร้องขอสัญชาติไทย ภายใต้กระบวนการตามยุทธศาสตร์ข้างต้น แต่หากบุพการีทั้งสองได้มาซึ่งสถานะคนต่างด้าวที่มีสิทธิเข้าเมืองและอาศัยถาวรแล้ว บุตรที่เกิดในประเทศไทยก็จะมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยอย่างบริบรูณ์ตั้งแต่เกิด (ให้เชิงอรรถโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2552)

[3] ถ้าคนใน ท.ร.38/1 ไปทำใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว บุคคลดังกล่าวก็จะได้รับการออกบัตรบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยตามกฎหมายการทะเบียนราษฎร (ให้เชิงอรรถโดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2552)

[4] ในกรณีนี้ เป็นเพราะยังไม่ได้ไปขอรับบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยเพื่อใช้แทนบัตรประจำตัวคนลาวอพยพ ซึ่งในเวลาต่อไป เขาก็จะมีสถานะเป็นคนถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย และถือทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว (ท.ร.13)

-----------------------------------------------------------------

เอกสารนำเสนอในที่ประชุมเสวนาเรื่องบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลตามกฎหมาย ณ สถาบันประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 269020เขียนเมื่อ 18 มิถุนายน 2009 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 07:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท