Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ประกาศกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒ เรื่อง การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม


ขอบคุณวีนัสและกระทรวงมหาดไทยค่ะ สำหรับความก้าวหน้าของการจัดการสิทธิขั้นพื้นฐานของคนเลข ๐ การกระทำของรัฐไทยครั้งนี้เป็นการสร้างความเข้มแข็งของนโยบายรับรองสิทธิเดินทางของคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล อยากขอให้ อ.วีนัส จำเอาไว้สำหรับการทำรายงานเสนอสหประชาชาติให้ ICCPR Report ในรอบ ๒๕๕๒ – ๒๕๕๕ แต่เราก็แอบใส่ใน footnote ของรอบนี้ ก็ได้นะคะ แต่ประกาศนี้ยังรับรองให้สิทธิอาศัยชั่วคราวของคนเลข ๐ ชัดขึ้น ใครช่วยจัดเวทีสรุปข้อกฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับคนเลข ๐ หน่อยซิ

โดยที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๙ ได้มีมติให้ความคุ้มครองดูแลกลุ่มบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้รับการสำรวจตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลซึ่งได้สำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวเสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้งตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้ชนกลุ่มน้อยผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย (เข้ามาหลังวันที่ ๙ มีนาคม ๒๕๑๙) ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา (เข้ามาหลังวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๒๐) ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา ลาวอพยพ และผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าโดยให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้อาศัยอยู่ในประเทศไทยชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับ และอนุญาตให้ออกนอกเขตที่อยู่อาศัยเพื่อไปทำงานตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๒๑ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ ไปแล้ว

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๙ ออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

------

ข้อ ๑ 

-------

คนต่างด้าวบางจำพวกที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับตามประกาศนี้ หมายถึง คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรก่อนวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘ ดังต่อไปนี้

                   (๑) คนต่างด้าวที่ได้รับการสำรวจเพื่อจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘

                   (๒) คนต่างด้าวที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘

                   (๓) คนต่างด้าวซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ที่มีรายการในฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร และได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัว ดังต่อไปนี้

                        (ก)  ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยที่เข้ามาหลังวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙

                         (ข)  ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา ที่เข้ามาหลังวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐

                         (ค)  ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากกัมพูชา

                         (ง)  ลาวอพยพ

                         (จ)  ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่า

                        คนต่างด้าวตาม (๓) หมายความรวมถึง ผู้ที่ได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อยเดิม และผู้ที่ได้รับการจัดทำบัตรประจำตัวให้ใหม่ตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการจัดทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย พ.ศ. ๒๕๔๗

-------

ข้อ ๒  

-------

บรรดาประกาศ  คำสั่ง หรือหนังสือสั่งการใด ๆ ซึ่งขัดหรือแย้งกับประกาศนี้       ให้ใช้ประกาศนี้

-------

ข้อ ๓  

-------

เขตพื้นที่ควบคุมคนต่างด้าว หมายถึง กรุงเทพมหานคร จังหวัด อำเภอ หรือ     กิ่งอำเภอ อันเป็นพื้นที่ที่ได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวตามข้อ ๑

-------

ข้อ ๔  

-------

ให้คนต่างด้าวอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมตามข้อ ๓ และให้มีการรายงานตัวเพื่อการควบคุมตรวจสอบตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด

เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมเพื่อปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ เป็นพยานศาล ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน มีหนังสือเรียกตัวจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อการรักษาพยาบาล หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น คนต่างด้าวจะออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมได้โดยยื่นคำขอออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมได้ต่อผู้มีอำนาจ  เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนและไม่อาจรอการขออนุญาตได้ให้ออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมได้ แต่จะต้องแจ้งให้ผู้มีอำนาจทราบโดยด่วน

คนต่างด้าวจะออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมเพื่อไปทำงานให้ยื่นคำขอต่อผู้มีอำนาจ

การเปลี่ยนแปลงหรือย้ายภูมิลำเนาจากเขตพื้นที่ควบคุมหนึ่งไปอีกเขตพื้นที่ควบคุมหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะกรณีต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย หรือตามนโยบายที่ทางราชการกำหนด

-------

ข้อ ๕  

-------

คนต่างด้าวจะออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมได้ เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้

                    (๑) ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในเขตท้องที่กรุงเทพมหานครหรือระหว่างจังหวัด

                   (๒) ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในเขตท้องที่จังหวัด

                   (๓) นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในเขตท้องที่อำเภอ หรือกิ่งอำเภอ

                   ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามแนวทางท้ายประกาศ

-------

ข้อ ๖

-------

ให้คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวสิ้นสุดเป็นการเฉพาะรายในกรณีดังต่อไปนี้

          (๑) ได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาล เว้นแต่ความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือ

          (๒) คนต่างด้าวตามข้อ ๑ (๑) มิได้ผ่านกระบวนการจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัวผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียนตามระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ตามแนวทางที่กำหนด

(๓) เดินทางไปนอกราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด

 เมื่อการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวสิ้นสุดเป็นการเฉพาะรายให้คนต่างด้าวผู้นั้นส่งคืนหลักฐานแสดงตน หรือหนังสืออนุญาตต่อผู้มีอำนาจในเขตท้องที่คนต่างด้าวผู้นั้นได้จัดทำทะเบียน หรือได้รับอนุญาตให้ออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมและให้ผู้มีอำนาจแจ้งนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่คนต่างด้าวผู้นั้นมีภูมิลำเนาเพื่อจำหน่ายชื่อออกจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร หรือแจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่  แล้วแต่กรณี

-------

ข้อ ๗  

-------

ให้ระยะเวลาในการอนุญาตให้คนต่างด้าวตามข้อ ๑ อยู่ในราชอาณาจักรได้    เป็นการชั่วคราวเป็นอันสิ้นสุดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

-------

ข้อ ๘  

-------

ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายมีอำนาจเพิกถอนการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้เป็นการชั่วคราวของคนต่างด้าวในกรณี ดังต่อไปนี้

(๑)     กรณีที่หน่วยงานด้านความมั่นคง หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยรายงานว่า  คนต่างด้าวดังกล่าวมีพฤติการณ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าเป็นภัยต่อสังคมหรือจะก่อเหตุร้ายให้เกิดอันตรายต่อความสงบสุข หรือความปลอดภัยของประชาชน หรือความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร

(๒)     ออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาตตามแนวทางท้ายประกาศ

(๓)     ไม่มารายงานตัวตามที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดโดยไม่มีเหตุสมควร

-------

ข้อ ๙  

-------

ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามประกาศนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยสั่งการเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศนี้

                      ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่  ๑ ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๕๒

                      ประกาศ  ณ วันที่  ๑  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๕๒

                                 (ลงชื่อ)     ชวรัตน์   ชาญวีรกูล

                                                  (นายชวรัตน์  ชาญวีรกูล)

                                                 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

---------------------------------------------

แนวทางการขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง  การอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม  ลงวันที่  ๑  ตุลาคม  พ.ศ. ๒๕๕๒

---------------------------------------------

การออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมของคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวให้ถือปฏิบัติดังนี้

๑. การยื่นคำขอ

                       (๑) ในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ให้ไปแจ้งความจำนงโดยยื่นคำขอต่อปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ณ กรมการปกครอง  กระทรวงมหาดไทย ถนนอัษฏางค์ เขตพระนคร กรุงเทพฯ

                        (๒) ในท้องที่จังหวัดอื่น

                              (ก)  กรณีออกนอกเขตจังหวัดให้ไปแจ้งความจำนงโดยยื่นคำขอต่อนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ณ ที่ทำการปกครองอำเภอหรือกิ่งอำเภอแล้วแต่กรณี และให้นายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอเสนอความเห็นให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อพิจารณาต่อไป

                             (ข) กรณีออกนอกเขตอำเภอ หรือกิ่งอำเภอให้ไปแจ้งความจำนงต่อนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ณ ที่ทำการปกครองอำเภอหรือกิ่งอำเภอแล้วแต่กรณี

                       ในการยื่นคำขอต้องมายื่นก่อนวันที่ต้องการจะขออนุญาตออกนอกพื้นที่อย่างน้อย ๓ วันทำการในวัน เวลาราชการ พร้อมทั้งแนบรูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว จำนวน ๒ รูป พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้แก่เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบเพื่อใช้ประกอบการอนุญาต

๒. การอนุญาตให้ออกนอกเขต

                      (๑) กรณีเมื่อมีเหตุจำเป็นต้องออกนอกเขตพื้นที่ควบคุม เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายระเบียบ ข้อบังคับ เป็นพยานศาล ได้รับหมายเรียกจากพนักงานสอบสวน มีหนังสือเรียกตัวจากหน่วยงานของรัฐเพื่อการรักษาพยาบาล หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น จะอนุญาตให้ออกนอกพื้นที่ได้ครั้งละไม่เกิน ๑๕ วัน

                      กรณีขออนุญาตออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมเกิน ๑๕ วั  ให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้ได้รับมอบหมายในเขตท้องที่จังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายในเขตท้องที่อำเภอ กิ่งอำเภอแล้วแต่กรณี พิจารณาอนุญาตเป็นรายๆ ไป ส่วนในกรณีเพื่อการรักษาพยาบาลให้เป็นไปตามความเห็นของแพทย์ที่ทำการรักษา

                      (๒) กรณีออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมเพื่อไปทำงาน ระยะเวลาในการอนุญาตให้อยู่ในดุลพินิจของปลัดกระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายแล้วแต่กรณี โดยให้พิจารณาจากระยะเวลาที่ผู้นั้นได้รับอนุญาตให้ทำงานจากกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงงาน เป็นสำคัญ

                      (๓) การอนุญาตออกนอกเขตควบคุมนอกเหนือ (๑) (๒) ให้เสนอปลัดกระทรวงมหาดไทย พิจารณาเป็นรายๆ ไป

๓. การรายงานตัว

                           (๑) กรณีออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมเกินเจ็ดวัน ให้ไปรายงานตัวต่อผู้มีอำนาจดังต่อไปนี้ ภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับตั้งแต่วันที่เดินทางไปถึง

                             (ก) กรุงเทพมหานคร ให้รายงานตัวต่ออธิบดีกรมการปกครอง หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย และให้แจ้งผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ

                             (ข) จังหวัดอื่นให้รายงานตัวต่อนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายและให้แจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจท้องที่ทราบ

                          (๒) กรณีได้รับอนุญาตให้ออกนอกเขตพิ้นที่ควบคุมเกินหกเดือน ให้รายงานตัวต่อผู้มีอำนาจตาม (๑) ทุกหกเดือน

                          (๓)  เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมให้กลับไปรายงานตัวต่อ   ผู้มีอำนาจที่ออกหนังสืออนุญาตภายในสามวันนับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาการอนุญาต

๔. เงื่อนไขการอนุญาต

                          คนต่างด้าวที่ออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมโดยไม่ปฏิบัติตามประกาศนี้ ให้ถือว่าเป็น ผู้ออกนอกเขตพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีความผิดตามมาตรา ๘๑ หรือ ๘๒ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. ๒๕๒๒ แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ เมื่อได้ดำเนินการตามกฎหมายแล้วส่งตัวให้พนักงานเจ้าที่หรือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด   หรือนายอำเภอ หรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้าประจำกิ่งอำเภอที่คนต่างด้าวคนนั้นมีภูมิลำเนาทราบเพื่อดำเนินการต่อไป

---------------------------------------

หมายเลขบันทึก: 306004เขียนเมื่อ 15 ตุลาคม 2009 02:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ผมขอเป็นกำลังใจให้ นะครับ อยากให้ สำเร็จและเป็นแนวทาง สำหรับ บุคคลที่ได้รับบัตร เลข 0 มาก่อน 2519 ซึ่งเขาเหล่านั้น มาด้วยความบริสุทธิ และ ประกอบบ้านเมืองเรา เป็นที่อยู่อาศัยแห่งชีวิต ครอบครัวเขาได้ สู้ สู้นะครับ

เรื่อง  หารือการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ลงวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

ตามที่กระทรวงมหาดไทยได้ใช้อำนาจตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ออกประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการอนุญาตให้คนต่างด้าวบางจำพวกเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับและกำหนดเขตพื้นที่ควบคุม ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ เพื่อรองรับการดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในประเทศไทยตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ และวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๔๙ ซึ่งนับว่าเป็นผลดีต่อการคุ้มครองดูแลสิทธิมนุษยชนและสิทธิที่จะได้รับการพิสูจน์ตนอย่างมีประสิทธิภาพของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนและชนกลุ่มน้อยอื่นตามที่ระบุไว้ในประกาศฉบับดังกล่าว อาทิ ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทยที่เข้ามาหลังวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๙  ผู้อพยพเชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง กัมพูชา ที่เข้ามาหลังวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๐ ลาวอพยพ เป็นต้น นั้น

คลินิกกฎหมายแม่อาย และเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนต้องขอขอบคุณท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครองที่เล็งเห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาสิทธิในสถานะของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือถูกบันทึกว่าไม่ได้สัญชาติไทยให้สามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้อย่างถูกต้อง  อย่างไรก็ตาม คลินิกกฎหมายแม่อายและเครือข่ายองค์กรสิทธิมนุษยชนยังมีข้อสงสัยข้อความบางข้อของประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับดังกล่าวซึ่งอาจเป็นเหตุแห่งการเลือกปฏิบัติและทำให้บุคคลกลุ่มเป้าหมายเกิดการปฏิบัติผิดพลาดได้ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องเขตพื้นที่ควบคุม และการย้ายหรือเปลี่ยนแปลงเขตพื้นที่ควบคุม  ฉะนั้น เพื่อให้เกิดความชัดเจน ถูกต้องและเป็นธรรม จึงขอหารือการปฏิบัติตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ลงวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๒ ดังนี้

๑. ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๓ ได้นิยามว่า   เขตพื้นที่ควบคุมคนต่างด้าว หมายถึง “กรุงเทพมหานคร จังหวัด อำเภอ หรือ กิ่งอำเภอ อันเป็นพื้นที่ที่ได้ดำเนินการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติและบัตรประจำตัว” ขอทราบว่าเขตพื้นที่ควบคุมนั้นมีอาณาเขตหรือขอบเขตเช่นไร กรณีของกรุงเทพมหานครกับจังหวัดเหมือนกันหรือไม่ เพราะถ้าพิจารณาจากข้อความดังกล่าวเข้าใจได้ว่า ถ้าเป็นกรุงเทพมหานคร เขตพื้นที่ควบคุมหมายถึงพื้นที่กรุงเทพมหานครทั้ง ๕๐ เขต แต่ถ้าเป็นจังหวัด เขตพื้นที่ควบคุมหมายถึงเฉพาะอำเภอที่ชนกลุ่มน้อยหรือบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนจัดทำทะเบียนประวัติไว้ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ย่อมเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม เพราะถ้าบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนรายใดได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติไว้ที่เขตใดเขตหนึ่งของกรุงเทพมหานคร บุคคลนั้นย่อมสามารถเดินทางไปมาระหว่างเขตต่างๆ ในกรุงเทพมหานครได้โดยไม่ต้องขออนุญาตออกนอกเขตควบคุม ในขณะที่บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนรายใดได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติไว้ที่อำเภอใดในจังหวัดใด บุคคลนั้นย่อมไม่สามารถเดินทางไปมาระหว่างอำเภอต่างๆ ในจังหวัดนั้นได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตให้ออกนอกเขตควบคุม จึงใคร่ขอความชัดเจนในประเด็นนี้เป็นเรื่องแรก

๒. ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ข้อ ๔ วรรคท้าย กำหนดว่าการเปลี่ยนแปลงหรือย้ายภูมิลำเนาจากเขตพื้นที่ควบคุมหนึ่งไปอีกเขตพื้นที่ควบคุมหนึ่ง ให้กระทำได้เฉพาะกรณีต้องปฏิบัติตามระเบียบ กฎหมาย หรือตามนโยบายที่ทางราชการกำหนด แต่ไม่ได้แจ้งแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร ยื่นคำร้องต่อใคร ที่ไหน ผู้มีอำนาจอนุมัติหรืออนุญาตคือใคร ใช้ระยะเวลาดำเนินการตลอดกระบวนงานกี่วัน นอกจากนี้ คำว่าตามนโยบายที่ทางราชการกำหนดนั้นมีความหมายและขอบเขตอย่างไร เช่น ต้องไปประกอบอาชีพหรือทำงานต่างท้องที่ หรือต้องไปศึกษาเล่าเรียนต่างจังหวัด สามารถขอย้ายภูมิลำเนาจากเขตพื้นที่ควบคุมหนึ่งไปอีกเขตพื้นที่ควบคุมหนึ่งได้หรือไม่ เป็นต้น จึงใคร่ขอความชัดเจนในประเด็นนี้เป็นเรื่องที่สอง

อนึ่งคลินิกกฎหมายแม่อายหวังเป็นอย่างยิ่งว่า  จะได้รับความอนุเคราะห์และคำชี้แจงจากท่านเพื่อความกระจ่างในประเด็นปัญหาดังกล่าว และขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ

(นางวรรณทนี   รุ่งเรืองสภากุล)

สวัสดีครับ

ผมก็คนหนึ่งที่สนใจในเรื่องของบัตรหมายเลข 0 แต่ทว่าผมก็ไม่ค่อยเข้าใจในเรื่องของการเดินทางออกนอกพื้นที่

เหมือนกัน ซึ่งโดยปกติผมจะเป็นบัตรสีต่างๆที่ กำหนดสิทธิการเดินทางชัดเจนข้างหลังบัตร ว่าต้องขออนุญัติออกนอก

พื้นที่ในกรณีต้องการออกนอกพื้นที่ แต่ในบัตรหมายเลข 0 ไม่มีข้อความนี้ซึ่งผมไม่เข้าใจว่ามันสามารถเดินทางออก

นอกพื้นที่ได้หรือไม่ โดยไม่ต้องขออนุญัติ ดั่งนั้น ผู้ใดที่มีความรู้ช่วยตอบที

ขอบคุณครับ

ไปขอคำอธิบายที่อำเภอค่ะ

ตอนนี้ไม่มีเวลาอธิบาย

มีประกาศกระทรวงมหาดไทยอธิบายอย่างชัดเจนเช่นกัน

อยากทราบว่าถ้าขออนุญาตออกนอกพื้นที่ควบคุมแจ้งบ้านเลขที่ในเขตอำเภอเมืองแต่จะไปที่อำเภออื่นอีกในเขตจังหวัดเดียวกันได้รึเปล่าค่ะอยากทราบ

สวัสดีคับด้วยความเคารพอย่างสูง

    ผมยากทราบว่าทำไมอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ทำไมถึงไม่ถ่ายบัตรบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้

สักทีทางอำเภอบอกว่าไม่มีโปรแกรมถ่ายและผมต้องรออีกนานเท่าไรจึงยากขอคำแนะแนวหน่อยคับ

อยากจะทราบข้อมูลเกี่ยวกับการขอออกนอกพื้นที่เพื่อจะไปทำงาน ว่าต้องใช้เอกสารอะไรบ้างเกี่ยวกับโรงงานที่จะไปทำ ทางโรงงานต้องมีเอกสารอะไรบ้างคะ

พอดีอยาก รู้ เรื่อง ของ บัตร หน่อยครับ

บัตร หัว 0   แต่หลัก ที่ 6-7 เป็นเลข 00

จะขอขออนุญาตทำงานได้ มั้ยครับ แล้วขอออกนอกพื้นที่ได้มั้ย ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท