Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ. ๒๕๔๘ ... กฎหมายที่รัฐไทยใช้ในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่บุคคลที่ประสบความไร้รัฐในประเทศไทย


          ด้วยคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่  ๑๘  มกราคม  ๒๕๔๘  เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลไร้สถานะที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยทุกกลุ่ม  โดยให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนบุคคลที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎร  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ (๑) วรรคสอง  และมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร  พ.ศ. ๒๕๓๔  ผู้อำนวยการทะเบียนกลางออกระเบียบเกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนราษฎรไว้  ดังนี้

-------

ข้อ  ๑ 

-------

ระเบียบนี้เรียกว่า  “ระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  พ.ศ. ๒๕๔๘

-------

ข้อ  ๒ 

-------

ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่  ๑  พฤษภาคม  ๒๕๔๘  เป็นต้นไป

-------

ข้อ  ๓ 

-------

ในระเบียบนี้

          “บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน” หมายถึง บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแต่ไม่มีรายการในทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๓ และ ท.ร. ๑๔) เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิดหรือประวัติของบุคคลหรือมีหลักฐานไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ทั้งนี้ไม่รวมถึงคนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ  หรือรัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ

          “ทะเบียนประวัติ” หมายความว่า  ทะเบียนสำหรับลงรายการของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนซึ่งจัดทำเป็นรายหมู่บ้านหรือชุมชน

          “บัตรประจำตัว” หมายความว่า  เอกสารที่นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นออกให้กับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ได้จัดทำทะเบียนประวัติแล้ว  สำหรับใช้เป็นหลักฐานแสดงตัว

-------

ข้อ  ๔ 

-------

ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นจัดให้มีการสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ขณะสำรวจอยู่ในเขตของสำนักทะเบียนนั้น ๆ ตามแบบ ท.ร. ๓๘ ก  และบันทึกข้อมูลไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ของสำนักทะเบียน

-------

ข้อ ๕ 

-------

การลงรายการในทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก) ให้นายทะเบียนจดบันทึกโดยละเอียดตามที่ได้รับแจ้ง  รายการใดไม่ทราบให้เขียนข้อความว่า  “ไม่ทราบ”  แต่อย่างน้อยต้องมีรายการชื่อตัว  ชื่อสกุล (ถ้ามี) ที่อยู่  เลขประจำตัว  และวันเดือนปีเกิด  หรืออายุ  (ถ้าทราบ)

          รายการชื่อตัว  ชื่อสกุล  และวันเดือนปีเกิด  หรืออายุของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนกลุ่มที่มีความผิดปกติหรือพิการทางสมองให้ลงรายการตามที่ผู้อุปการะดูแลแจ้ง

          รายการที่อยู่ตามวรรคหนึ่ง  ให้ลงเลขที่บ้านของบ้านซึ่งบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนพักอาศัยในช่วงเวลาที่มีการสำรวจหรือยื่นคำร้องขอลงทะเบียน  ไม่ว่าจะเป็นการพักอาศัยเป็นประจำหรือชั่วคราว  สำหรับบุคคลซึ่งไม่มีที่พักอาศัยเป็นหลักแหล่งให้ลงรายการเฉพาะชุมชน  หรือหมู่บ้าน  ตำบล

-------

ข้อ ๖

-------

เพื่อความสะดวกในการจัดทำทะเบียนประวัติหรือปรับปรุงฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ให้นายทะเบียนอำเภอและนายทะเบียนท้องถิ่นกำหนดเลขประจำตัวประชาชนให้บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนคนละหนึ่งเลขไม่ซ้ำกัน

          เลขประจำตัวของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน ประกอบด้วยเลข ๑๓ หลักตามที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนดไว้ท้ายระเบียบนี้

-------

ข้อ ๗

-------

เมื่อนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นได้จัดทำทะเบียนประวัติตาม ข้อ ๔ แล้ว ให้จัดทำบัตรประจำตัวตามแบบท้ายระเบียบนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด  มอบให้บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเก็บไว้เป็นหลักฐานแสดงตัว

-------

ข้อ ๘

-------

ให้สำนักทะเบียนกลางจัดเก็บข้อมูลทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนไว้ในระบบคอมพิวเตอร์  โดยแยกต่างหากจากฐานข้อมูลการทะเบียนราษฎรของคนที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน  (ท.ร. ๑๓  และ  ท.ร. ๑๔)

          รายการทะเบียนประวัติที่จัดเก็บในฐานข้อมูลอย่างน้อยต้องมีรายการตามทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก) ลายพิมพ์นิ้วมือ  และภาพใบหน้า และจะมีข้อมูลที่จำเป็นอื่น ๆ อีกก็ได้

          กรณีหน่วยงานของรัฐมีความจำเป็นต้องการขอใช้ข้อมูลทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติงาน  สามารถร้องขอเชื่อมโยงข้อมูลได้ ทั้งนี้ตามวิธีการที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

-------

ข้อ ๙

-------

การรับแจ้งการเกิดบุตรของคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ให้นายทะเบียนเรียกหลักฐานเพื่อตรวจสอบว่าเด็กที่เกิดได้สัญชาติไทยหรือไม่  หากพบว่าเป็นคนสัญชาติไทยหรือเป็นคนไม่มีสัญชาติ  ให้ปฏิบัติในการรับแจ้งการเกิดและเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้านตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕  แต่หากไม่สามารถวินิจฉัยสัญชาติของเด็กได้  ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรให้ตามแบบ  ท.ร. ๐๓๑  และเพิ่มชื่อเด็กในทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก)  ฉบับที่บิดาหรือมารดาของเด็กมีชื่ออยู่

          กรณีเด็กเกิดต่างท้องที่ เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งออกสูติบัตรตามแบบ ท.ร. ๐๓๑ ให้ตามวรรคหนึ่งแล้ว  ให้คัดสำเนารายการสูติบัตรฉบับดังกล่าวแจ้งไปยังนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอหรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่บิดาหรือมารดาของเด็กมีชื่ออยู่เพื่อดำเนินการเพิ่มชื่อเด็กลงในทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก) ฉบับเดียวกับบิดาหรือมารดาของเด็ก

-------

ข้อ  ๑๐ 

-------

การรับแจ้งการตายของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ให้ใช้แบบพิมพ์ใบรับแจ้งการตาย (ท.ร. ๔  ตอนหน้า) และเมื่อรับแจ้งการตายแล้วให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งออกมรณบัตรให้ผู้แจ้งตามแบบ  ท.ร. ๐๕๑  และจำหน่ายรายการของบุคคลที่ตายในทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก)  ที่ผู้นั้นเคยมีชื่ออยู่

          กรณีการตายต่างท้องที่  เมื่อนายทะเบียนผู้รับแจ้งออกมรณบัตรใหตามวรรคหนึ่งแล้ว  ให้คัดสำเนารายการมรณบัตรฉบับดังกล่าว  แจ้งไปยังนายทะเบียนประจำสำนักทะเบียนอำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่นแห่งท้องที่ที่ผู้ตายมีชื่ออยู่เพื่อดำเนินการจำหน่ายรายการบุคคลในทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก)

-------

ข้อ ๑๑

-------

กรณีการตายของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเป็นการตายโดยผิดธรรมชาติ  หรือเกิดจากโรคติดต่ออันตราย  ให้นายทะเบียนถือปฏิบัติเช่นเดียวกับกรณีของคนไทยหรือคนไม่มีสัญชาติไทยตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕

-------

ข้อ ๑๒

-------

บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนที่ประสงค์จะย้ายที่อยู่  ถ้าเป็นผู้ที่อยู่ในการสงเคราะห์ดูแลของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานเอกชนหรือบุคคลใด จะต้องได้รับความยินยอมจากหน่วยงานหรือบุคคลที่ทำหน้าที่สงเคราะห์หรือดูแลบุคคลดังกล่าว  โดยในการแจ้งย้ายที่อยู่สำหรับบุคคลที่ป่วยเป็นโรคทางจิตประสาทหรือพิการทางสมอง  หรือเด็ก  ให้ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบหน่วยงานหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย หรือผู้อุปการะ แล้วแต่กรณี เป็นผู้ทำหน้าที่แจ้งย้าย

-------

ข้อ ๑๓

-------

การรับแจ้งการย้ายที่อยู่ของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ให้นายทะเบียนผู้รับแจ้งการย้ายออกและย้ายเข้าดำเนินการ  ดังนี้

          ก. การย้ายออก

          (๑)  ให้เรียกตรวจหลักฐานของผู้แจ้งและผู้ที่จะย้ายที่อยู่  ได้แก่  บัตรประจำตัวผู้แจ้งหลักฐานการยินยอมให้ย้ายที่อยู่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)  บัตรประจำตัวหรือแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ข) ของบุคคลที่จะย้ายที่อยู่  และหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้อง  (ถ้ามี)

          (๒)  ตรวจสอบรายการบุคคลผู้แจ้ง  และบุคคลที่จะย้ายที่อยู่จากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรในระบบคอมพิวเตอร์

          (๓)  เมื่อพบว่าบุคคลดังกล่าวมีรายการถูกต้อง  ให้ออกใบรับแจ้งการย้ายที่อยู่ตามแบบ  ท.ร. ๐๗๑  ตอนที่ ๑  และตอนที่  ๒  มอบให้แก่ผู้แจ้ง

          (๔)  หมายเหตุการแจ้งย้ายที่อยู่ในทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก) ของสำนักทะเบียน

          (๕)  เมื่อได้รับใบรับแจ้งการย้ายที่อยู่  ท.ร. ๐๗๑  ตอนที่  ๒  จากสำนักทะเบียนปลายทาง  ให้จำหน่ายรายการของบุคคลที่ย้ายที่อยู่ในทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก) ของสำนักทะเบียน

          ข.  การย้ายเข้า

          (๑)  ให้เรียกตรวจหลักฐานใบรับแจ้งการย้ายที่อยู่ตามแบบ ท.ร. ๐๗๑ ตอนที่ ๑ และตอนที่ ๒ จากผู้แจ้ง  บัตรประจำตัวผู้แจ้ง  บัตรประจำตัวหรือแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติ (ท.ร. ๓๘ ข) ของบุคคลที่ย้ายที่อยู่  หลักฐานการยินยอมให้อาศัยอยู่ในบ้านจากเจ้าบ้าน  (ถ้ามี)

          (๒)  เพิ่มรายการบุคคลของผู้ย้ายที่อยู่ในทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก) ของสำนักทะเบียน

          (๓)  ส่งใบรับแจ้งการย้ายที่อยู่  ท.ร. ๐๗๑  ตอนที่ ๒  คืนสำนักทะเบียนต้นทาง

-------

ข้อ ๑๔ 

-------

บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนผู้ใดได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน  ท.ร. ๑๓  หรือ ท.ร. ๑๔ แล้วแต่กรณี   ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการบุคคลและเลขประจำตัวของผู้นั้นในทะเบียนประวัติ  (ท.ร. ๓๘ ก) และฐานข้อมูลในระบบคอมพิวเตอร์

-------

ข้อ ๑๕

-------

ให้นายทะเบียนตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนประวัติให้ถูกต้องเป็นปัจจุบันอยู่เสมอ  หากตรวจพบหรือได้รับแจ้งจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่ารายการในทะเบียนประวัติของผู้ใดไม่ถูกต้อง  หรือมีการแจ้งรายการซ้ำซ้อน  ให้นายทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติม  จำหน่ายหรือดำเนินการอื่นใดให้ข้อมูลดังกล่าวมีความถูกต้อง

-------

ข้อ ๑๖ 

-------

การจำหน่ายชื่อและรายการบุคคล และการแก้ไขรายการในทะเบียนประวัติเอกสารการทะเบียนราษฎรอื่นและฐานข้อมูลทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนให้นายทะเบียนปฏิบัติตามระเบียบสำนักทะเบียนกลาง ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๕  โดยในส่วนของทะเบียนประวัติให้ดำเนินการเช่นเดียวกับทะเบียนบ้าน

-------

ข้อ ๑๗ 

-------

บัตรประจำตัวของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนและแบบพิมพ์การทะเบียนราษฎรสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ให้เป็นไปตามแบบท้ายระเบียบนี้  ดังนี้

(๑) 

ท.ร. ๐๓๑  เป็นสูติบัตร  ใช้สำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

(๒) 

ท.ร. ๐๕๑  เป็นมรณบัตร  ใช้สำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

(๓) 

ท.ร. ๐๗๑  เป็นใบแจ้งการย้ายที่อยู่  ใช้สำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

(๔) 

ท.ร. ๓๘ ก  เป็นทะเบียนประวัติสำหรับลงรายการบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

(๕)

ท.ร. ๓๘ ข  เป็นแบบรับรองรายการทะเบียนประวัติของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ซึ่งคัดจากฐานข้อมูลทะเบียนประวัติด้วยระบบคอมพิวเตอร์

ประกาศ  ณ  วันที่  ๓๑  มีนาคม  พ.ศ. ๒๕๔๘

                                              (นายสุจริต  ปัจฉิมนันท์)

                                                ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง

 

หมายเลขบันทึก: 308024เขียนเมื่อ 23 ตุลาคม 2009 19:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 กรกฎาคม 2012 17:36 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

เรียน archanwell ผมยังไม่เข้าใจว่า บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรแต่ไม่มีรายการในทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๓ และ ท.ร. ๑๔) เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิดหรือประวัติของบุคคลหรือมีหลักฐานไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน และ คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือรัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ ต่างกันอย่างไรครับ  เป็นกฎหมายที่ไม่เคยรับรู้มาก่อน อ่านแล้วทำให้มีความรู้และมีเรื่องให้ขบคิดต่อดีครับ

  1. คำว่า "บุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร" หมายถึงทั้งคนสัญชาติไทยและคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยตามกฎหมายคนเข้าเมือง  
  2. ซึ่งถ้าเป็นคนสัญชาติไทยและคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรก็มีสิทธิที่จะได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยประเภท ท.ร.๑๔ (ทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร) ในขณะที่คนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวย่อมมีสิทธิที่จะได้รับการบันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยประเภท ท.ร.๑๓ (ทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว)
  3. โดยข้อเท็จจริง ปรากฏว่า มีคนที่มีสิทธิอาศัยในไทยตามกฎหมายไทย แต่ไม่มีรายการในทะเบียนบ้าน (ท.ร. ๑๓ และ ท.ร. ๑๔) เนื่องจากไม่ปรากฏหลักฐานยืนยันถิ่นกำเนิดหรือประวัติของบุคคลหรือมีหลักฐานไม่เพียงพอที่นายทะเบียนจะพิจารณาเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน
  4. เพื่อแก้ไขปัญหาของบุคคลดังกล่าว ระเบียบนี้จึงกำหนดให้บันทึก "บุคคลที่อ้างว่า มีสิทธิอาศัยแต่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎรไทย" ในทะเบียนราษฎรไทยก่อน กล่าวคือ ทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘ ก. ในระหว่างที่ยังพิสูจน์สิทธิอาศัยไม่ได้ โดยเรียกบุคคลดังกล่าวว่า "บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน"  และออกบัตรประจำตัวเพื่อการพิสูจน์ตนต่อสาธารณะ
  5. แต่เพื่อมิให้มีการใช้ระเบียบนี้ในลักษณะที่กว้างขวางและไม่รัดกุม ระเบียบจึงระบุชัดว่า คนที่ไม่มีสิทธิอาศัยตามกฎหมายไทยจึงไม่อาจจะเข้าสู่การบันทึกในทะเบียนราษฎรในสถานะ "บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน" โดยระเบียบนี้เรียกบุคคลที่ไม่มีสิทธิอาศัยนี้ว่า "คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ หรือรัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ"
  6. "คนต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่ไม่อยู่ในความควบคุมของทางราชการ" ก็คือ คนที่เข้าเมืองโดยมิได้รับอนุญาต จึงเป็นการเข้าเมืองโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และไม่มีเหตุอันควรที่จะอาศัยอยู่ในไทย ก็ต้องส่งออกนอกประเทศไทย ซึ่งการกระทำอย่างนี้ของรัฐ ก็เป็นทางปฏิบัติปกติของนานาอารยประเทศ แต่หากรัฐฟังได้ว่า คนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายหนีภัยความตายจากประเทศต้นทาง ยกตัวอย่าง คนจากพม่าในค่ายผู้ลี้ภัย ๙ ค่ายตามแนวชายแดน อย่างนี้ แม้เข้าเมืองผิดกฎหมาย รัฐไทยก็อาจยอมรับบุคคลดังกล่าวให้อาศัยและควบคุมตัวไว้ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเพื่อรอการส่งกลับเมื่อปลอดภัยที่จะกลับ ในสถานการณ์นี้ ระเบียบ ๒๕๔๘ นี้ก็ให้อำนาจกรมการปกครองที่จะสำรวจและบันทึกใน ท.ร.๓๘ ก ได้ 
  7.  "คนต่างด้าวที่รัฐไม่มีนโยบายผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ" คำแบบนี้ก็เป็นปกติประเพณีของรัฐไทยที่จะยอมรับให้คนต่างด้าวที่ยังไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทยยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทย อาทิ คนต่างด้าวที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่หนีภัยความตายมานานแล้ว อาจกลับประเทศต้นทางได้ เนื่องจากไม่มีภัยความตายในประเทศต้นทางแล้ว แต่เนื่องจากคนต่างด้าวดังกล่าวได้มีความกลมกลืนทางสังคมและวัฒนธรรมกับสังคมไทยแล้ว ดังนั้น หากรัฐไทยมีนโยบายผ่อนผันให้อาศัย กรมการปกครองก็อาจใช้ระเบียบนี้ในการบันทึกใน ท.ร.๓๘ ก ในระหว่างการจัดการสิทธิของบุคคลในขั้นตอนต่อไป
  8. สรุป ระเบียบนี้มุ่งที่จะขจัดปัญหาความไร้รัฐของมนุษย์ที่ปรากฏตัวบนแผ่นดินไทย  คนใน ท.ร.๓๘ ก. ก็ถือเป็น "คนมีรัฐไทยเป็นเจ้าของตัวบุคคล (Personal State)" มิใช่คนไร้รัฐอีกต่อไป อาทิ น้องหม่อง ทองดี ก็คือ คนใน ท.ร.๓๘ ก ซึ่งการจัดการสิทธิในขั้นตอนต่อไป ก็อาจเกิดขึ้นโดยรัฐที่มีจุดเกาะเกี่ยวกับน้องหม่อง อันได้แก่ (๑) รัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดของน้องหม่อง หรือ (๒) รัฐพม่าซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่เกิดของบิดาละมารดาของน้องหม่อง 

ขอบพระคุณครับ Archanwell ผมได้รับความรู้เพิ่มขึ้นอีกแล้วครับ ดีใจกับตัวเองจริง ๆ

สวัสดีครับท่านอาจารย์ครับ ผมอยากทราบว่า หากคนที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนอยากจะย้ายทะเบียนบ้านโดย ฐานข้อมูลอยู่อีกอำเภอหรืออีกจังหวัด ย้ายไปอีกอำเภอหรืออีกจังหวัด จะสามาถรย้ายได้หรือไม่ครับ เพราะว่า เวลาจะไปสมัคงานมันยุ่งยากมากครับ
แล้วผมควรตำเนินงานอย่างไรครับ อ้อลืมบอกว่า ผมถูกจักในประเภพทะเบียนกลางครับ แล้วจะขอใบอณุญาตทำงานก้อยากด้วยเพราะบัตรผมมันเพิ่งทำได้ปีนี้เอง แล้วอีกอย่างตอนนี้ผมไม่มีงานทำเลยเดือดร้อนมากครับ เราะผมไม่มีญาติที่ไหนเลย ช่วยหน่อยนะครับท่านอาจารย์ เดือดร้อนจริงๆครับ

                                                               ด้วยความนับถือ
                                                                                       ขอขอบคุณอย่างยิ่งครับ

ตอบคุณ "คนมาไกล" ค่ะ

การที่คุณถือบัตร "บุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน". ก็แปลว่า คุณยังไม่มี "ทะเบียนบ้่าน" คุณมีแค่ทะเบียนประวัติ ซึ่งเป็นเอกสารประเภทหนึ่งที่รับรองว่า คุณมีชื่อในทะเบียนราษฎรไทยโดยยังไม่มีสิทธิใดๆ ตามกฎหมายคนเข้าเมือง และกำลังรอการพิสูจน์สิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายไทยต่อไป การอยู่ในพื้นที่เพื่อรอการพิสูจน์จึงจำเป็น การออกนอกพื้นที่เพื่อทำงานทำได้ค่ะ เมื่อมีใบรับรองจากนายจ้างว่า รับทำงานแล้ว ก็ไปขอนุญาตจากอำเภอที่ออก ท.ร.38 ข ให้ค่ะ พยายามจัดการตัวเองนะคะ จะเป็นผลดีในการพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลต่อไปค่ะ

เป็นคนที่มาจากประเทศใดล่ะคะ ?

ครอบครัวผมตังฐานอยู่ที่พม่า แต่แม่ผมเองก้อยังไม่ได้สัญชาติทางพม่าเลย เพราะ ตระกูลผมมาจากจีนครับ แต่ญาติๆทั้งหลาย ได้ใช้ชีวิดอยู่ที่เมือไทย แล้วได้ถือสัญชาติไทยเรียบร้อยแล้ว แต่ตัวผมมาอยู่เมืองไทย เมื่อ พ.ศ 2547 ตอนนี้ผมอายุ30แล้วครับ แต่ว่า เพิ่งทำบัตรหมายเลข 0 ได้ปีนี้เอง ก่อนหน้านี้ผมก้อทำงานอยู่ทางใต้ แต่ก้อไม่มีปัญหาอะไรในเรื่องสมัรคงานครับ แต่ว่า ลองมาคิดๆดูแล้ว หากไม่มี บัตรอะไร ก้อจะเป็นคนไร้สัญชาติทั้งชีวิด จึงหาทางทำบัตรหมายเลข 0 จนได้ แต่ว่า กลับทางใต้ลำบากครับ ก็เลยอยากจะกลับไปทำงาน ที่ ทางใต้หรือ กทม เพราะว่าตอนนี้ผมได้งานที่ กทม เรียบร้อยแล้ว แล้วนายจ้างผมเองก้อรับเรีบยร้อย ส่งเอกสารมาให้พร้อม แต่ไม่สามาถรออกนอกผื้นที่ได้เลย เพราะทางอำเภอจำกัดไว้ว่า บัตรที่พิ่งทำใหม่ห้ามออกจากผื้นที่ (รอการตรวจสอบ)ก้อเลยเดือดร้องอยู่อย่างนี้ครับ

                                                                                    ด้วยความนับถือ
                                                                                                        ขอบคุณอย่างยิ่ง

ผมอยู่เมืองไทยมาทั้งชีวิตเรียนหนังเสือไทยตอนนี้ผมอายุ25แล้ว ผมได้จดทะเบียนประวัติ ท.ร.38 แล้ว ตอนนี้ผมอยากได้บัตรประชาชนไทย ไม่รู้ว่าจะทำได้มั้ย เพาะไปทำงานที่ไหนก็อยากมาก เดือดร้อนมากครับ ใครก็ได้ช่วยผมหน่อย 0943139352 ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท