ที่มาที่ไป โครงการ แผนที่คนดี


แผนที่คนดี people mapping ที่มาที่ไป ความเป็นมา วัตถุประสงค์


-ที่มาและที่ไปของโครงการแผนที่คนดี-
 เริ่มต้นก้าวที่ ๑: อาสาสมัครรุ่งอรุณ กับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ


หลังจากเกิดเหตุการณ์โศกนาฎกรรมธรณีพิบัติ (Tsunami) ใน ๖ จังหวัดภาคใต้ เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา คณะครู ผู้ปกครอง ผู้บริหาร และพนักงานโรงเรียนรุ่งอรุณ ตระหนักถึงความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อันประเมินค่ามิได้ ที่เกิดขึ้นกับพี่น้องร่วมชาติ จึงรวมตัวกันเพื่อจะเป็นหนึ่งในกำลังกาย กำลังใจที่จะช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเริ่มจากการสำรวจเบื้องต้น และติดต่อภาคีเครือข่ายเพื่อประสานความร่วมมือในระยะยาว

(Tsunami)


“อาสาสมัครรุ่งอรุณ” จึงก่อตัวขึ้นภายใต้ โครงการ ร่วมมือ..สานฝัน..อันดามัน..ฟื้น ที่ดำเนินการเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ๑ ปี มีผู้สนับสนุนหลักคือ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และได้ดำเนินการใน ๓ พื้นที่ ได้แก่
๑.     บ้านทุ่งดาบ เกาะพระทอง จังหวัดพังงา
๒.     บ้านปากจก เกาะพระทอง จังหวัดพังงา
๓.     บ้านหน้านอก เกาะหาดทรายดำ จังหวัดระนอง


เมื่ออาสาสมัครได้ลงพื้นที่จริงเพื่อเข้าไปสำรวจข้อมูล จึงได้ทำความเข้าใจถึงสถานการณ์จริงมากขึ้น เพราะที่ลงไปเผชิญนั้น ผิดจากที่คาดการณ์เอาไว้อย่างสิ้นเชิง และหากใครได้ลงพื้นที่ในตอนนั้น ก็จะพบว่าสถานการณ์มีความอ่อนไหวและเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน เพราะเหตุว่า มีองค์กรหลากหลายองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ในประเทศ และต่างประเทศ ที่เข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ ซึ่งในบางครั้งรู้ไม่เท่าทันสถานการณ์ จึงทำให้เกิดความขัดแย้งทั้งระหว่างชาวบ้าน และในระดับองค์กรด้วยกันเอง คนที่อยู่ในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น ชาวบ้าน ผู้นำชุมชน NGO อาสาสมัคร ผู้บริจาค ฯลฯ ล้วนก็ตกอยู่ในความตึงเครียดทั้งจากปัญหาเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ และปัญหาที่ต่อเนื่องจากการให้ความช่วยเหลือที่ไม่ตรงตามความต้องการของชาวบ้าน


ครูโม่ได้เล่าถึงเหตุการณ์ตอนที่ลงไปสำรวจพื้นที่ บ้านหน้านอก เกาะหาดทรายดำ จังหวัดระนอง ให้ฟังว่า “...วันแรกที่เข้าไปที่บ้านหน้านอก เจออุปสรรคเยอะ มีทั้งผู้มีอิทธิพล ผู้หวังผลประโยชน์ ฯลฯ กว่าจะไปถึงบ้านของชาวบ้านที่ประสบภัยจริงๆ ก็เย็นแล้ว ชาวบ้านจึงชวนทานข้าวเย็นที่บ้าน ก็นั่งคุยกัน กินไปคุยไปเรื่อย ก็คุยถึงปัญหา ของบ้านหน้านอกที่ชาวบ้านเขาอึดอัดใจต่อผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ เราจึงนั่งฟังกัน ฟังไปสักพักก็เริ่มคุยกันถูกคอมากขึ้น พอสังเกตอีกทีก็เริ่มมีคนเดินมาจากทิศทางต่างๆ ลงจากภูเขามาบ้าง อะไรบ้าง เข้ามายืนพูดคุยล้อมวงรอบๆ ตัวเราเต็มไปหมด และแย่งกันพูดใหญ่เลย ปัญหาเขามันหนัก ไม่ใช่เรื่องสึนามิอย่างเดียว มันมีหลายปัญหาทับซ้อนกันอยู่ แล้วเหมือนชาวบ้านเขาขาดคนรับฟังมานาน พอเขาได้ระบายกับเรา เขาก็รู้สึกดีขึ้น ยิ้มได้ รู้สึกไว้ใจเราไปเลย...


จากเรื่องเล่าที่บ้านหน้านอก ครูโม่ก็เสนอว่า “เราน่าจะ ฟัง ชาวบ้านมากๆ หน่อย เพราะรู้สึกว่าเขาขาดคนรับฟัง เขาต้องการพูดแต่เขาพูดกับผู้นำที่อยู่ในหมู่บ้านไม่ได้ เขาก็ขาดความมั่นใจที่จะพูดอะไรต่อไปอีก ทีนี้พอมีคนฟังเขาจริงๆ เขาก็เกิดรู้สึกดีขึ้นมาเพราะได้ระบายข้อคับข้องใจ รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญมากขึ้น มีคนฟัง เขาก็มีแรงกลับไปทำงานอื่นๆ ต่อได้”

ครูสมชายยังพบเจอประสบการณ์จากการลงพื้นที่ บ้านทุ่งดาบ เกาะพระทอง และได้เข้าไปพูดคุย รับฟังปัญหาของชาวบ้าน และพบว่าชาวบ้านแต่ละคนมีความรู้ ความสามารถที่เป็นประโยชน์ต่อการเอาไปใช้แก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นปัญหาที่อยู่ในบริบทของพื้นที่นั้นๆด้วย และยังค่อนข้างแปลกใจที่พบว่า ชาวบ้านไม่ค่อยชื่นชม และเห็นคุณค่าในความรู้เหล่านั้น
           
จากตรงนั้นเองที่ชุมชนรุ่งอรุณตระหนักถึง “พลังของการฟัง” โดยตัดสินใจเริ่ มต้นจากการเข้าไปเป็น “เพื่อน ที่รับรู้ และรับฟังเรื่องราวของเพื่อน” อย่างเข้าใจ และทำให้พบว่า “ความเข้าใจ” นี้เอง เป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่ต้องเผชิญกับความสูญเสีย และความทุกข์ยากในการหันกลับมายอมรับความจริงและตระหนักรู้ให้ถึงสภาวะความเจ็บปวด ความทุกข์ที่ท่วมท้นจิตใจ เพราะเมื่อเราเป็นทุกข์ เราก็ย่อมต้องการ “เพื่อน” ที่คอยรับฟังปัญหา แม้เพื่อนจะไม่มีคำตอบ หรือไม่สามารถแก้ปัญหาให้เราได้ แต่ก็เป็นกำลังใจให้เราฝ่าฟันปัญหาเหล่านั้นจนผ่านพ้นไปได้

            “” “”


นอกจากนั้น ท่าทีของการลงไปมีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้านในชุมชนผู้ประสบภัยของอาสาสมัครรุ่งอรุณ ก็ไปด้วย “ท่าทีของการเรียนรู้” เพราะหากลำพังฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในสถานการณ์นั้น ก็คงจะมีกำลังไม่พอที่จะแก้ปัญหาใดๆ ได้ ฝ่ายชาวบ้านก็ทุกข์ร้อนขาดกำลังใจ ฝ่ายอาสาสมัครก็ไม่เข้าใจถึงปัญหาและบริบทในพื้นที่


การเรียนรู้จึงเป็นการทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นไปพร้อมๆ กัน รู้ให้ทันสถานการณ์ที่อยู่ตรงหน้า และเป็นการเรียนรู้ทุกข์เพื่อจะนำไปสู่การหาทางออกจากทุกข์ร่วมกัน
การเรียนรู้ ที่แม้จะเริ่มต้นจาก “ความไม่รู้” แต่ก็ทำให้เรามีท่าทีที่เป็นแบบอย่างเฉพาะของชุมชนเรา แม้เราจะไม่ได้นำสิ่งของปัจจัยไปแก้ปัญหา แต่ก็พาออกจากปัญหาโดยมีวิธีการตั้งแต่การสร้างความสัมพันธ์ อย่างเท่าเทียม และเป็นกัลยาณมิตร ที่ชวนคิด ชวนคุย ให้เขาสามารถ “ย้อนนึก” เรียบเรียงปัญหา และมั่นใจในการนำเอาปัญญานั้นมาแก้ไขปัญหาของตัวเองได้โดยไม่ต้องรอคอยหรือแสวงหาความช่วยเหลือจากที่ไหน จนกว่าเขาจะสามารถลุกขึ้นยืน ดิ้นรนเพื่อหาทางออกของตัวเองได้ซึ่งจากแนวทางนี้เองที่ทำให้ชาวบ้านผู้ประสบภัย ต่างก็เริ่มคิดพึ่งพาตนเองมากขึ้น
การเรียนรู้ในบริบทใหม่นี้ จึงเป็นการเรียนรู้เพื่อจะเข้าใจ “ความแตกต่าง” ของ “ชีวิต” ที่เติบโตมาในบริบท สังคม สภาพแวดล้อมแตกต่างกัน ยอมรับเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ตระหนักรู้ถึงคุณค่า ความดีงามและความสามารถในการใช้สติปัญญาขบคิดแก้ปัญหาของตนเองและชุมชน ซึ่งเมื่อเราได้ทำความเข้าใจในความแตกต่างอันนี้แล้ว เราก็จะสามารถเรียนรู้ได้ในทุกเรื่อง ทุกที่ และทุกเวลา การเรียนรู้จึงไม่หยุดนิ่ง และเป็นสิ่งที่ชุมชนรุ่งอรุณได้เรียนรู้อย่างมากมายจากการเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิในครั้งนี้ และเป็นที่ประจักษ์แก่ใจคนในชุมชนรุ่งอุรณ “การเรียนรู้ที่มิได้จำกัดอยู่เพียงแค่การเรียนรู้ภายในโรงเรียนเท่านั้น”


การเรียนรู้ที่ (ถูก) ทำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
กลุ่มบุคคลที่ ๒: คณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ


“...ถ้าไปชวนใครเป็นภาคี สถาบันอะไรมาทดลองวิจัยกันสักหนึ่งตำบล แล้วทำหมดทุกคนเลยทั้งตำบล ทั้ง ๕,๐๐๐  คน ทำข้อมูลว่าลุง ป้า น้า อา แกเก่งอะไรบ้าง บางคนทำกับข้าวเก่ง บางคนร้องเพลงเก่ง บางคนทำอะไรเก่งนี้ถือว่าทุกคนเป็นคนเก่งหมด แต่เก่งต่างกัน แล้วไปเอาข้อมูลมาทำระบบข้อมูลคือ ต้องไปเรียนรู้ว่ามันทำยังไงวิธีนี้ ถ้ามันทำได้ แล้วมีระบบข้อมูลของคนทุกคนในตำบลคนเหล่านั้นก็จะภูมิใจมาก มันจะเปลี่ยนไปเลย เพราะเขาไม่เคยมีเกีย รติ ชาวบ้านไม่เคยมีเกียรติ เขาจะกลายเป็นคนมีเกียรติ ว่าสิ่งที่เขารักเขาชอบ เขาทำขนมเก่ง เขาแต่งเพลงเก่ง เขาแก้ความขัดแย้ง หรืออะไรก็ได้ ทุกคนเป็นคนเก่งหมด ทำระบบข้อมูล electronic เลย ผมว่ามันจะเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของคนตรงนี้แล้วมันเป็นศีลธรรมพื้นฐาน ศีลธรรมพื้นฐานหมายถึง เคารพศักดิ์ศรี คุณค่าความเป็นคนของทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน การเคารพความรู้ ที่มีอยู่ในตัวเขา ผมคิดว่ามันเป็นศีลธรรมพื้นฐานเพราะเราไม่เคยเคารพสิ่งนี้ เราเคารพแต่คนชั้นสูง คนข้างล่างไม่เคยมีเกียรติ คนขายก๋วยเตี๋ยว เขาไม่เคยมีเกียรติ แต่จริงๆ เขามีเกียรติ เขาขายก๋วยเตี๋ยวเป็นเขาทำก๋วยเตี๋ยวเป็น ครูยังทำไม่เป็นเลย ถ้าทำได้สักตำบล คือเรียนรู้วิธีทำไป และต่อไปพอมันมีอย่างนี้ แล้วมีคนเอาอย่าง หนักเข้านี่ทำทุกตำบล คือทั่วประเทศไทย คนทั้งประเทศ กลายเป็นคนมีเกียรติไปหมด ต่อไปมันจะเปลี่ยนเป็นเรื่องศีลธรรม เรื่องอะไรนี่จะเปลี่ยนเพราะคนทุกคนมีเกียรติหมด มันก็อยากทำดี ถ้าคนถูกบีบคั้น ไม่มีทางออก ไม่มีเกียรติเลย ไม่มีศักดิ์ศรีเลย มันทำอะไรก็ได้ อย่างนั้นน่ะ แล้วก็ตัวความรู้ที่มีอยู่ในตัวคน มันก็จะเข้ามา แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันแล้วจะมีแหล่งเรียนรู้ เยอะเชียว เต็มไปหมดเลย”
 (ศาสตราจารย์เกียรติคุณนายแพทย์ประเวศ วะสี)


 “...ถ้าเราไปค้นพบ ไปค้น social capital ในทุนทางสังคมอย่างนั้น แล้วก็ไม่ใช่ทุนแบบนอนอยู่นิ่งๆ แต่เป็น “ทุนความสัมพันธ์” แล้วเรามี Intervention อย่างไร จึงจะทำให้ทุนอันนั้นของชาวบ้านมันเพิ่มขึ้นใน sense ของเขา ที่จริงอันนี้รัฐบาลพยายามทำเยอะนะ แต่เขาพยายามจะทำให้เกิด เข้าใช้คำว่าอะไร คือเขามองอีกแบบหนึ่ง เขาพยายามที่จะเอาทุน ทางสังคม ทางวัฒนธรรม ให้กลายเป็นแบงค์ เป็นเงิน เป็นเงินทุน ขึ้นมา แต่ผมมองว่าถ้าทำอย่างนั้นโอกาสที่ชาวบ้านขาดทุนมีเยอะ ถ้ามองอีกมุมหนึ่งมันใกล้กัน เหมือนกันหมด แต่ว่ามองที่ชาวบ้านเป็นหลัก แล้วก็ทำให้ชาวบ้านนี่ก็สามารถ จะเพิ่มคุณค่าของสิ่งที่เขามี แล้วผมคิดว่าสิ่งที่เขามี มันคือตัวปฏิสัมพันธ์ ความสัมพันธ์ระหว่างคน ถ้าจะมีการทำจริงๆ นะ ผมว่าทางอาศรมศิลป์ จะทำได้ดี เพราะว่าจะมองด้านมิติของความเป็นมนุษย์ได้ลึก คือถ้าเรา ไปให้ทางมหาวิทยาลัยทำนี่มิติของความเป็นมนุษย์แทบไม่มี สมมติว่ามหาวิทยาลัยไหนเกิดฟิตทำ มันจะเป็น material ไปหมด ก็อยากเห็นสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในอาศรมศิลป์...”
(ศาสตราจารย์นายแพทยวิจารณ์ พานิช)


                ถอดความจากการประชุมประจำปีมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๔๘
เมื่อได้รายงานผลการดำเนินงานให้กับคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณได้ทราบถึง “การเรียนรู้บทใหม่” จากการลงปฏิบัติงานอาสาสมัครในโครงการ ร่วมมือ..สานฝัน..อันดามัน..ฟื้น ในการประชุมประจำปี ๒๕๔๗

               


ภาพของกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนรุ่งอรุณขยายชัดเจนยิ่งขึ้นในหลากหลายมิติ โดยคณะที่ปรึกษาได้ช่วยกัน “ระบุ” การเรียนรู้ของอาสาสมัครรุ่งอรุณ และยังแนะนำถึงการขยายผลในส่วนที่สามารถฟื้นคืน คุณค่า และศักดิ์ศรีของชุมชนให้กลับคืนมา โดยใช้วิธีการจัดทำข้อมูลความดี ความถนัด ความสามารถของคนในชุมชนทุกคนให้ไปปรากฏสู่สาธารณะ เพื่อให้คนในชุมชนเกิดความมั่นใจในคุณค่าของตัวเอง พร้อมทั้งเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของผู้อื่น และสามารถนำความรู้ความสามารถของตัวเองนั้นมาแก้ไขปัญหาของตัวเองและชุมชนได้อีกด้วย
นอกจากนั้น ยังได้แนะนำแนวทางในรูปแบบของ “การวิจัย” เพื่อบันทึกผลการเรียนรู้อย่างเป็นระบบมีขั้นตอน และง่ายสำหรับการนำเอาองค์ความรู้ไปพัฒนาต่อยอดในอนาคต เพื่อเป็นโยชน์ต่อสาธารณชนในวงกว้างได้


แม้ว่าจากการฟังอย่างผิวเผินจะรู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ใช่การนำไปสู่การแก้ปัญหาชุมชน หรือยุทธศาสตร์แก้ปัญหาระดับชาติ แต่หากเราพิจารณาให้ดีแล้ว จะเข้าใจว่า “คน” เป็นส่วนประกอบที่ย่อยที่สุด แต่ก็เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของชุมชน


กระแสการพัฒนาในปัจจุบันได้มุ่งเน้นไปยังชุมชน โดยปราศจากการยกระดับจิตใจของ “คน” ที่เป็นฐานที่สุดของชุมชน การพัฒนาจึงไปได้ไม่ถึงแก่นแท้ของสังคม


ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะในระดับมหภาค การวัดผลทางด้านจิตใจของคนนั้น เป็นเรื่องนามธรรมที่ไม่สามารถวัดตัวเลขบ่งชี้การพัฒนาประเทศขึ้นมาได้ เราจึงหันไปเน้นการพัฒนาชุมชนที่วัดผลได้ทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันก็ผลักภาระหน้าที่ของการพัฒนาคน ไปสู่เรื่องของ “การศึกษา”
ยิ่งไปกว่านั้น เราจะเห็นนโยบายการพัฒนาขององค์กรต่างๆ ที่แบ่งแยก “การพัฒนา” และ “การศึกษา” ออกจากกัน ผู้ที่เกี่ยวข้องทางด้านงานพัฒนา ก็มุ่งงานพัฒนาไป ส่วนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ก็มุ่งพัฒนาการศึกษาไปอย่างแยกส่วน ทำให้ผู้ที่อยู่ในหน้าที่พัฒนา ก็ลงไม่ถึงการพัฒนาคนอย่างแท้จริง และผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษา เช่น นักเรียน และนักศึกษา ก็มิได้เอาความรู้ที่ตนมีไปเป็นประโยชน์ในการคิดใคร่ครวญแก้ปัญหาให้กับชุมชนได้ ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน แต่เป็นเรื่องเดียวกันที่มีนโยบายแยกส่วน


ในขณะเดียวกัน สังคมไทยในปัจจุบันก็มิได้ตกอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม และการบริโภคนิยมเท่านั้น แต่ยังตกอยู่ภายใต้ระบบโลกาภิวัตน์ที่แฝงเอาการครอบงำความคิดเพื่อเปลี่ยนคุณค่าที่เป็นนามธรรมทั้งหลายให้มาเป็นสินค้า ที่มีค่าเป็นตัวเงิน และมุ่งพัฒนาสินค้าต่างๆมาแข่งขันกัน  โดยปราศจากการพัฒนาไปถึงคุณค่าที่แท้จริง สิ่งเหล่านี้เป็นการลดทอนคุณค่าและความหมายของ ความจริง ความดี และความงาม โดยสนับสนุนให้มนุษย์มุ่งสนใจเพียงเฉพาะตัวเงิน และพัฒนาแข่งขันกันให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกัน ก็สร้างความแปลกแยกให้กับคนที่ไม่เท่าทันกระแสแห่งการแย่งชิงเพื่อเป็นเจ้าของพื้นที่ และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเสริมฐานะและความมั่งคั่งให้แก่ตัวเอง ทั้งเป็นการปลูกฝังนิสัยแห่งความเป็น “ปัจเจก”ให้หลงใหลยึดติดอยู่กับความเป็นบริโภคนิยม สิ่งเหล่านี้มิได้เพียงแค่เบียดเบียนผู้อื่น แต่ยังทำให้เราหลงลืมจิตใจตัวเอง ปล่อยให้ กิเลส ความต้องการเป็นเจ้าของ เข้าไปครอบครองและกัดกร่อน “สติ” ที่จะให้ระลึกรู้ถึงการมีอยู่ของสิ่งต่างๆรอบตัว ไม่ว่าจะเป็น ต้นไม้ สรรพสัตว์ ทรัพยากรธรรมชาติ หรือแม้แต่มนุษย์ด้วยกันเอง และเอาตนเองเป็นใหญ่ และหลงลืมที่จะระลึกรู้ถึง “คุณค่า” ที่มีอยู่อย่างหลากหลาย แต่กลับเลือกที่จะรับรู้เพียงเฉพาะสิ่งที่ตนเห็นว่าเป็นประโยชน์เฉพาะส่วนตนเท่านั้น


หากการศึกษาที่อยู่ในระบบจะเป็น “คำตอบสุดท้าย” ของการพัฒนา”คน” การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันนี้ ก็นับว่ายังมีอยู่น้อยนักที่จะสามารถพัฒนาให้เกิดความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันของคน แต่กลับเอาองค์ความรู้ที่คนทั่วไปตีตราบัญญัติว่าเป็น “ความรู้มาตรฐาน” ที่คนในสังคมยอมรับ และนำเอาความรู้เหล่านั้น มาเพิ่มอัตตา เสริมสร้างกำแพงและชนชั้นของตัวเองให้ยิ่งห่างออกจากมิติของการสัมผัสมนุษย์ด้วยกันอย่างไม่มีเงื่อนไข

“” ”” “”


ในขณะที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งพยายามเอา “ความรู้มาตรฐาน” มาตัดสินคุณค่า และนำมาเสริมฐานะทางสังคมของตน และนำเอา “มูลค่า” มาตัดสินความเป็นมนุษย์ด้วยกันนั้น มนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งก็ถูกเบียดบัง ซ้ำเติมและลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ด้วย “ความรู้มาตรฐาน” ที่มาแบ่งชนชั้นและตัดสินว่า คนเล็กคนน้อยอย่างพวกเขาไม่มีค่าในสายตาของคนในสังคมอย่างเลี่ยงไม่ได้
หากเราจะตั้งคำถามว่า “ความรู้มาตรฐาน” เหล่านั้น ได้ช่วยให้เรามี “คุณค่าแท้” หรือไม่? และคุณค่าที่เราตัดสินแล้วแท้จริงคืออะไร? คุณค่าของมนุษย์เราเล่าหายไปไหน? หรือแท้จริงแล้วสิ่งที่มาบดบังคุณค่าของมนุษย์อาจเป็นเพียง “เส้นผม” เพียงเส้นหนึ่งที่บัง “ภูเขา” หรือเป็น “ความรู้” และ “อัตตา” ของเรา ที่บดบัง “ภูเขาแห่งความรู้” ที่มาจากคุณค่าและประสบการณ์ที่สั่งสมภายในตัวคนแต่ละคน แม้ว่าจะเป็นคนเล็กคนน้อยในสังคมก็ตาม
             
การเรียนรู้ที่เชื่อมโยงสู่ประสบการณ์การปฏิบัติจริง
กลุ่มที่ ๓: สถาปนิกชุมชน กับงานด้านการพัฒนา

หลังจากที่ได้นำเอาแนวคิดเรื่องคุณค่าของคนในชุมชนจากคณะกรรมการมูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ มาเชื่อมโยงเข้ากับประสบการณ์ของอาสาสมัครรุ่งอรุณที่ได้ไปสัมผัสพื้นที่จริง ทำให้ภาพของโครงการชัดเจนยิ่งขึ้นในรูปแบบของ งานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research; PAR) ภายใต้ชื่อ โครงการแผนที่คนดี หรือ People Mapping อันเป็นโครงการที่เข้าไปค้นหาคุณค่าความดีงามในตัวคนของชุมชน เพื่อให้คุณค่าเหล่านั้นก่อตัวขึ้นเป็นพลังแห่งความดีงามของชุมชน


ในขณะเดียวกัน โครงการฟื้นฟูวิถีชุมชนดั้งเดิมเกาะลันตาและการจัดการระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนเกาะลันตา โดยความสนับสนุนของ UNDP หรือ United Nations Development Program ซึ่งมีมูลนิธิชุมชนไทย เป็นหลักในการสรรหาภาคีเครือข่ายประสานความร่วมมือลงมาทำงานในพื้นที่ และได้เชื้อเชิญรองศาสตราจารย์ประภาภัทร นิยม ในนามของสถาบันอาศรมศิลป์ (มูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ) ร่วมเป็นคณะกรรมการบริหารโครงการ (Project Steering Committee)


โครงการฟื้นฟูวิถีชุมชนดั้งเดิมเกาะลันตาฯ เป็นโครงการที่ดำเนินการต่อเนื่องจากการฟื้นฟูทางกายภาพจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติ (Tsunami) โดยมีเป้าหมายที่จะดำเนินงานภายในระยะเวลา ๖ เดือน โดยมีเป้าหมายของโครงการดังต่อไปนี้


๑.          ก่อตั้งพันธมิตรพหุภาคี ในทุกระดับเพื่อการระดมทรัพยากรและบุคลากรสำหรับการดำเนินกิจกรรม
๒.          ฟื้นคืนวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนให้กลับคืนมาและฟื้นฟูสภาพความเสียหายจากผลกระทบของ สึนามิ
๓.          ศึกษา บันทึก รวบรวม และจัดระบบมรดกทางวัฒนธรรมของลันตา เพื่อให้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเอกลักษณ์ของเกาะ.
๔.          สนับสนุน ส่งเสริมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนของชุมชน เพื่อรักษาความมั่นคงของทรัพยากรทางทะเลอันเป็นฐานทรัพยากรในการประกอบอาชีพประมง  และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

๑.          ๒.          ๓.          .๔.         


รศ.ประภาภัทรจึงเล็งเห็นถึงประโยชน์ของ โครงการแผนที่คนดี หรือ People Mapping ต่อโครงการฟื้นฟูฯ และเสนอโครงการในส่วนที่เป็นการสร้างกระบวนการแสวงหา และประยุกต์ใช้ “ทุนทางสังคม” ซึ่งเกิดจาก “ความชำนาญส่วนบุคคล” ที่มีแนวโน้มที่จะสูญหายไปจากชุมชน อันเนื่องมาจากกระแสสังคมอันเชี่ยวกรากที่ส่งผลให้คนในปัจจุบันเพียรมองแต่เรื่องที่อยู่เพียงภายนอก และหลงลืมที่จะพินิจกลับมาถึง “คุณค่าที่แท้จริงภายใน” ตนเอง และให้ความสำคัญกับการพัฒนา “คน” ให้เข้มแข็ง อันจะเป็นการส่งเสริมให้เกิด “ชุมชนเข้มแข็ง” สามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง เกิดการรู้จักตัวเอง รู้จักเคารพความรู้ที่มีอยู่ในปัจเจกแต่ละคน รู้จักชุมชน และสามารถบูรณาการความรู้จากภายนอกตามตำราหรือทฤษฎี มาจัดการให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและสร้าง “องค์ความรู้ใหม่” อันเป็นองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนนั้นๆ อย่างแท้จริง
เมื่อพิจารณาถึงภาพรวมของโครงการซึ่งเป็นความร่วมมือในเชิงพหุภาคี (Multi-Stakeholder) ทำให้เห็นถึงความสำคัญของการประสานงาน และหน่วยงานกลางที่จะเชื่อมโยงประสานพันธมิตรต่างๆ เข้ามาทำงานร่วมกัน


ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมานึกถึงเนื้อหาในกระบวนการของโครงการแผนที่คนดี ที่ตั้งใจไว้ว่าจะสร้างทีมงานวิจัยโดยมี ชาวบ้านมาเป็นสัดส่วนในทีมให้มากที่สุด และเนื้องานหลักคือการพูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำข้อมูลพื้นฐานค่อนข้างมากนั้น จึงได้คิดต่อไปว่าทีมงานแผนที่คนดีนี้ น่าจะกลายมาเป็นทีมที่เชื่อมโยงประสานระหว่างทีมงานที่ปรึกษาจากภายนอก และเป็นทีมงานหลักที่จะอยู่ที่พื้นที่เพื่อประสานงานภายในพื้นที่ได้ตลอด ซึ่งจะทำให้ดำเนินงานสะดวกกว่ามาก และยังเป็นโอกาสอันดีที่ทีมงานกลุ่มนี้จะได้มีโอกาสเข้ามาเรียนรู้ และฝึกฝนทักษะจากการปฏิบัติงานจริงจากโครงการ เพื่อที่จะได้นำทักษะนั้นๆ ไปใช้ช่วยเหลือประสานงานให้กับชาวบ้านในพื้นที่ต่อไป เมื่อโครงการสิ้นสุดลง


โครงการแผนที่คนดี จึงมีจุดเริ่มต้นจากคน ๓ กลุ่มที่กล่าวถึงในข้างต้น คือ
๑.  คณะครู พนักงาน ผู้บริหาร และผู้ปกครองโรงเรียนรุ่งอรุณ ผู้มีจิตเป็นกุศลร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากสึนามิในโครงการร่วมมือ..สานฝัน..อันดามัน..ฟื้น และเป็นผู้จุดประกายเบื้องต้นที่พลิกให้นำเอา “ท่าทีการเรียนรู้” และ “การฟัง” มาใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับคนในชุมชน
๒. คณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่ได้ขยายภาพการเรียนรู้ให้ชัดเจนอย่างเป็นลำดับขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้เป็นรูปแบบของงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research; PAR) และสามารถนำเอางานวิจัยนั้นไปพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ต่อไปอีกได้
๓.  โครงการฟื้นฟูวิถีชุมชนดั้งเดิมและการจัดการระบบนิเวศน์ที่ยั่งยืนเกาะลันตา
นอกจากกลุ่มบุคคลทั้ง ๓ กลุ่มข้างต้นที่เป็นประกายสำคัญของการพัฒนาโครงการแผนที่คนดี โดยมีวัตถุประสงค์การดำเนินงานดังต่อไปนี้


วัตถุประสงค์การดำเนินการวิจัย
·       การสร้างวัฒนธรรมของการหันหน้าเข้าหากันด้วยการเชื่อมคนเข้ามาสัมพันธ์กันด้วยแง่มุมด้านบวก อันเป็นการสร้างความคุ้นเคยกับชาวบ้าน และการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุข
·       การพัฒนา “คน” ด้วยหลักของความเป็น “กัลยาณมิตร” โดยการนำพาให้เห็นสิ่งดี ที่มีอยู่ในตัวบุคคลนั้นๆ อยู่แล้ว และให้เขาสามารถนำสิ่งนั้นมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและชุมชนได้
·       การนำ “ทักษะการสื่อสาร” เข้ามาเปิดข้อมูลและขั้นตอนความคืบหน้าในระหว่างการทำงานของทีมงานโครงการ และชาวบ้าน เพื่อให้ชุมชนรู้จักเทคนิคการใช้สื่อ และนำกระบวนการ “การสื่อสาร” อย่างสร้างสรรค์ เข้าไปสร้างกระแสการมีส่วนร่วมในชุมชน และเปิดเวทีการเรียนรู้ชุมชนซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างคนในชุมชน นอกจากนั้น ยังสามารถนำเทคโนโลยีของสื่อมาเป็นเครื่องมืในการนำเสนอเรื่องราวที่ดี ที่เกิดขึ้น เพื่อเชิดชูแบบอย่างของชุมชนในเชิงคุณธรรมและจริยธรรม
·       เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณค่าของตนเอง รู้จักเข้าใจตนเอง บนพื้นฐานของปัญญา เกิดการยอมรับในคุณค่าและศักดิ์ศริของตนเองและชุมชน ให้สมาชิกในชุมชนมีที่ยืนโดยเปิดโอกาสให้สมาชิกชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการ คิด การกำหนดนโยบาย เป้าหมาย ทิศทาง ในการสร้าง “อนาคต” ของชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของสมาชิกในชุมชน
·       การสร้างทีมงานชาวบ้านที่จะเข้ามาเป็นผู้ช่วยผู้วิจัยในพื้นที่ และเป็น “ชุมชนผู้ประสานงาน” ที่จะจัดการเกี่ยวกับข้อมูลพื้นฐาน และเชื่อมโยงทีมงานอื่นๆ เข้าด้วยกัน


หลักการและลักษณะการดำเนินงาน: วิธีการดำเนินการวิจัย


เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Parcitipatorial Action Research) โดยนำงานวิจัยมาเป็นเครื่องมือในการจัดการความรู้ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเอาพื้นที่เป็นตัวตั้ง และ “ชุมชน” เป็นหลักสำคัญในงานวิจัย กล่าวคือ ให้สมาชิกในชุมชนได้เรียนรู้วิธีการและกระบวนการวิจัยพื้นฐานผ่านทางการฝึกอบรม และเป็นผู้สำรวจข้อมูลทั้งหลายที่อยู่อย่างกระจัดกระจายในชุมชน เพื่อให้รู้ว่าเรามีรากเหง้าความภูมิใจ มีความเด่น ความสามารถในด้านต่างๆ ซึ่งสมาชิกชุมชนเองอาจจะมองข้ามความสำคัญและเห็นว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากแต่เมื่อนำความรู้เหล่านั้นมาตีความ และสื่อสารด้วย เมตตาธรรม สาราณียธรรม แล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโครงสร้างความคิด มุมมอง และระบบคุณค่า ทั้งนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดฝึกอบรมเบื้องต้นเพื่อปรับวิสัยทัศน์ให้กับคณะทำงานทั้งหมด รวมทั้งทีมชาวบ้านซึ่งจะก้าวมาเป็นนักพัฒนาท้องถิ่นต่อไป             
            ทั้งนี้ กระบวนการ ๓ ส่วนสำคัญในงานวิจัยชิ้นนี้ คือ
๑.     การสำรวจเชิงมานุษยวิทยา ด้วยสาราณียธรรม ได้แก่ การมีปฏิสันถาร และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัย และชาวบ้าน เพื่อรวบรวมประสบการณ์ องค์ความรู้ ทั้ง Tacit Knowledge และ Explicit Knowledge ของบุคคลทุกครัวเรือนในชุมชน
๒.     ศิลปะการสื่อสาร คือการใช้เทคโนโลยีเพื่อบันทึกข้อมูล และการใช้ “สื่อสารธารณะ” เพื่อสร้างความเข้าใจ และเปิดโอกาสให้คนในชุมชนเดียวกันรู้จักกัน ในมิติที่สร้างสรรค์ และเห็นศักยภาพซึ่งกันและกัน ด้วยการเปิดเวที แสดงนิทรรศการภาพถ่าย หรือวีดีทัศน์ เพื่อนำเสนอข้อมูล บุคคล และการเชื่อมโยงความเกี่ยวช้องของคนในชุมชน
๓.     การจัดการความรู้ คือ การจัดแบบแผนของข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการนำไปใช้ในชีวิต เมื่อข้อมูลที่ดี ถูกเปิดเผย และได้รับรู้ ยอมรับซึ่งกัน และการเปิดเวทีเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนเรื่องราวที่สร้างสรรค์ ทั้งแบบไม่เป็นทางการ หรือรูปแบบที่สอดคล้องกับพิธีการทางศิลปวัฒนธรรชุมชน การมีสถานที่ลานชุมชน ศูนย์วิจัยวัฒนธรรมชุมชน ที่ชุมชนมาจัดกิจกรรม และสร้างเวทีสื่อสารกันเองจนเกิดความเป็นเจ้าของ
           
นอกจากนั้นแนวทางในการฝึกอบรม “การใช้สื่อ” และ “การสื่อสาร” จำเป็นต้องมีเครื่องมือและอุปกรณ์มากมาย ซึ่งหลังจากฝึกอบรมจนกระทั่งเสร็จสิ้นโครงการแล้ว อุปกรณ์เหล่านี้จะเป็นประโยชน์สำหรับชุมชนต่อไป โดยชุมชนเป็นเจ้าของอุปกรณ์เหล่านั้น


สมมติฐานการวิจัย
การมีส่วนร่วมของชุมชนบนพื้นฐานของปัญญา นำไปสู่การพัฒนาอันยั่งยืนนั้นต้องมาจากหน่วยที่เล็กที่สุดของชุมชน ซึ่งก็คือ สมาชิกแต่ละคนของชุมชน โดยคนในชุมชนต้องรู้สึกมั่นใจในคุณค่าของตนเองในเกียรติ ในศักดิ์ศรีและภูมิปัญญาของตนเองและชุมชน ทั้งนี้ในตัวบุคคลล้วนมีคุณค่าและองค์ความรู้มากมายอยู่แล้ว หากแต่ถูกกระแสสังคมในปัจจุบัน ทำให้คนหลงลืมในคุณค่าของตน ดังนั้น “การปฏิสันถารและการบันทึกข้อมูลอย่างง่ายๆ” จะสามารถทำให้บุคคลบอกเล่าถึงคุณค่าของตนเองได้ นอกจากนั้นยังสามารถใช้สื่อเพื่อขจัดข้อจำกัดทางด้านภาษาและวัฒนธรรม และสื่อสารความรู้สึกนึกคิด และมุมมองของตนต่อชุมชน อันเป็นการนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างกันของคนในชุมชน


ขอบเขตการดำเนินงานและพื้นที่โครงการ
สำหรับขอบเขตพื้นที่การวิจัยนั้น จะเริ่มดำเนินการที่ ต. เกาะลันตาใหญ่ จังหวัดกระบี่ เป็นโครงการนำร่องเพื่อวัดผลจากกระบวนการวิจัยท้องถิ่น ที่ใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการฟื้นฟูจิตใจ และเสริมความเข้มแข็งให้ชุมชน โดยเริ่มโครงการนำร่องใน ๓ พื้นที่ ดังต่อไปนี้:
๑.  บ้านสังกาอู้ หมู่ ๗ ต. เกาะลันตาใหญ่
๒. บ้านศรีรายา หมู่ ๒ ต. เกาะลันตาใหญ่
๓. บ้านหัวแหลม หมู่ ๑ ต. เกาะลันตาใหญ่


วิธีการในการเก็บข้อมูล
            กระบวนการสุนทรียสนทนา (Dialogue) คือ การสนทนาอย่างเป็นธรรมชาติ โดยไม่ตั้งประเด็นการสนทนาไปก่อน แต่ไปค้นหาจากการพูดคุย ณ เวลานั้นเลย
         

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 7728เขียนเมื่อ 24 พฤศจิกายน 2005 13:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

//-ขอบคุณที่ มอบสิ่งดีๆให้แก่แนวคิดบริหารจัดการชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม

ขออุนุญาต เอาไปฝากแฟนบอร์ด

ในกระทู้ มุมกาแฟ18

มีความคืบหน้าโครงการ ช่วยเอาไปลงเวบบอร์ดด้วยนะครับ

http://www.thairadio-cm99.com/

http://www.212cafe.com/boardvip/list3.php?user=cm99

ขออนุญาต นำไปใช้จริงโดยบูรณาการกับกระบวนการลูกเสือเดินทางไกล ๒๕-๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๔ ณ ค่ายลูกเสือวัดผดุงธรรม อ.ภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา งานชุมนรุมคุณธรรม เฉลิมพระเกียรติ ๘๔ พรรษา ๑๐๐ ปี ลูกเสือไทย"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท