ลิขสิทธิ์กับ GotoKnow.org


เรื่องที่จะเขียนนี้ เมื่อเขียนไปแล้ว คงสร้างความปั่นป่วนพอสมควร แต่ผมก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องเขียนให้อ่านครับ และสมาชิก GotoKnow.org ทั้งหมด น่าจะมีความเข้าใจที่ตรงกัน

อยากเรียนย้ำว่าทั้งหมดนี้ เป็นความเห็นส่วนตัว ไม่ได้รับรองความถูกต้อง และผมไม่ได้ทำงานที่ สคส. หรืออยู่ในทีมบริหาร GotoKnow.org ซึ่งความเห็นของผม ไม่จำเป็นที่ สคส. หรือผู้บริหาร GotoKnow.org จะต้องเห็นด้วยครับ

เรื่องสำคัญก็คือ เพลงที่เปิดเป็นแบ็คกราวน์ตามบล๊อกต่างๆ ใน GotoKnow.org น่าจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗

ประเด็นความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์: สมาชิกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ ข้อความ รูปถ่าย รูปภาพที่ได้สร้างขึ้นเอง

มาตรา ๑๔   กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร

ในกรณีของ GotoKnow.org ซึ่ง สคส.เป็นเจ้าของ และเป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนในนโยบายการให้บริการ ซึ่งสมาชิกทุกท่าน ควรจะได้อ่านและทำความเข้าใจอย่างละเอียดแล้วว่า

5. สมาชิกเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเนื้อหาของข้อมูลที่สมาชิกนั้นๆได้เผย แพร่ผ่านทาง GotoKnow หากแต่เพื่อประโยชน์ของสังคมส่วนรวมดำเนินการโดย สคส. หรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนา GotoKnow ท่านต้องยินยอมให้บุคคลดังกล่าวสามารถทำซ้ำ ดัดแปลง แก้ไข รวบรวม วิเคราะห์ และตีพิมพ์เนื้อหาดังกล่าวได้

6. สมาชิกเข้าใจและยอมรับว่า สคส. ไม่ได้มีการรับรองทางกฎหมายในข้อมูลเนื้อหาที่สมาชิกบันทึกลงใน GotoKnow และเนื้อหาของการติดต่อสื่อสารของสมาชิก และ สคส. ไม่รับผิดชอบต่อข้อมูลที่เกี่ยวเนื่องกับการขู่กรรโชก ทำร้าย ด่าทอ การรุนแรงต่างๆ อาชญากรรม หรือ การละเมิดต่อสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาของบุคคลที่สาม นอกจากนี้ สคส. จะไม่รับผิดชอบในความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ข้อมูลที่ปรากฎอยู่บน GotoKnow และ สคส. ขอสงวนสิทธิ์ในการถอดถอนข้อมูลดังกล่าวโดยไม่ต้องมีการแจ้งล่วงหน้าแก่สมาชิก

แม้ว่ามีการระบุไว้ในเงื่อนไขอย่างชัดเจนแล้ว แต่หากสมาชิกละเมิดลิขสิทธิ์และเกิดการฟ้องร้องกันขึ้น GotoKnow.org ก็อาจจะตกเป็นจำเลยร่วมในฐานะที่เป็นเครื่องมือเผยแพร่งานอันมีลิขสิทธิ์ไปด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในการนี้ อาจเกิดความขัดข้องในการให้บริการสมาชิกได้

ประเด็นการละเมิดลิขสิทธิ์: การทำซ้ำหรือดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณะชน โดยที่ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา ๒๗-๓๑ แห่ง พรบ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.๒๕๓๗ ซึ่งรวมทั้งไฟล์เสียง ภาพ อันมีลิขสิทธิ์ที่สมาชิกไม่ได้เป็นผู้สร้างสรรค์เองด้วย

ข้อยกเว้นในการละเมิดลิขสิทธิ์: เรื่องยาวที่ผู้ละเมิดตัดสินเอาเองไม่ได้ว่าละเมิดหรือไม่

ข้อยกเว้นเหล่านี้ ระบุไว้ในมาตรา ๓๒-๔๓ ซึ่งในบริบทของการใช้งานใน GotoKnow.org นั้น น่าจะพิจารณาจากมาตรา ๓๒ เป็นส่วนใหญ่ดังนี้

มาตรา ๓๒  การกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นตามพระราชบัญญัตินี้ หากไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของ ลิขสิทธิ์และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ภายใต้บังคับบทบัญญัติในวรรคหนึ่ง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ตามวรรคหนึ่ง มิให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้

(๑)  วิจัยหรือศึกษางานนั้น อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

(๒)  ใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือเพื่อประโยชน์ของตนเองและบุคคลอื่นในครอบครัวหรือญาติสนิท

(๓)  ติชม วิจารณ์ หรือแนะนำผลงานโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(๔)  เสนอรายงานข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ถึงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น

(๕)  ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏ เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจตามกฎหมาย หรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว

(๖)  ทำซ้ำ ดัดแปลง นำออกแสดง หรือทำให้ปรากฏโดยผู้สอน เพื่อประโยชน์ในการสอนของตน อันมิใช่การกระทำเพื่อหากำไร

(๗)  ทำซ้ำ ดัดแปลงบางส่วนของงาน หรือตัดทอนหรือทำบทสรุปโดยผู้สอนหรือสถาบันศึกษา เพื่อแจกจ่ายหรือจำหน่ายแก่ผู้เรียนในชั้นเรียนหรือในสถาบันศึกษา ทั้งนี้ ต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อหากำไร

(๘)  นำงานนั้นมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการถามและตอบในการสอบ

เรื่องยุ่งยากในวรรค ๑ คือส่วนที่บอกว่า "ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์" และ "ไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร" ซึ่งทั้งสองกรณี เจ้าของลิขสิทธิ์เป็นผู้ตัดสิน!

แม้สมาชิกจะคิดว่าไม่ละเมิด แต่หากเจ้าของลิขสิทธิ์คิดว่าละเมิด ก็คงเป็นการละเมิด ยกเว้นว่าท่านจะแน่ใจว่าเข้ากับ (๑) หรือ (๖) -- โดย (๖) เป็นการใช้งานสร้างสรรค์อันมีลิขสิทธิ์อธิบายความเหมือนกับเป็นการสอน-แลกเปลี่ยนกับสมาชิกอื่นๆ ซึ่งน่าจะหมายความว่าข้อความต้องมีประเด็นที่ดีและเกี่ยวข้องกับงานอันมีลิขสิทธิ์นั้น -- ส่วน (๔) ลักษณะ fair use ซึ่งใช้กันมากในวงการสื่อนั้น ผมเห็นว่าอาจพอประยุกต์ได้ แต่ลักษณะที่เห็นชัดว่าไม่เข้าตาม (๔) คือการเอาเพลง/ภาพมาใช้โดยไม่อ้างแหล่งกำเนิด ซึ่งเห็นได้ชัดในเพลงแบ๊คกราวน์ที่ใช้อยู่ตามบล๊อกหลายอัน

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ GotoKnow.org และ สคส.เดือดร้อน สิ่งใดที่คาบลูกคาบดอกว่าอาจจะละเมิด ก็ควรหลีกเลี่ยงเสีย 

ข้อแนะนำ

  1. หลีกเลี่ยงการอัพโหลดไฟล์ที่สมาชิกไม่ได้สร้างเองมาไว้บน GotoKnow.org หากต้องการใช้ ให้ลิงก์ไปแทน; ในการลิงก์ไป ได้ผลลัพธ์บนจอเหมือนกัน แต่ไม่ได้เป็นการทำซ้ำ และในกระบวนการลิงก์ ก็ยังเป็นการระบุต้นทางอีกด้วย

  2. ถ้าจะให้ปลอดภัยที่สุด เลือกเว็บที่มีการอนุญาตให้ใช้ content ของเขาได้ เช่น wikipedia หรือบล๊อกที่ระบุว่าใช้ Creative Commons license

  3. ในบล๊อกต่างๆ ของผม ผมระบุ Creative Commons license แบบ Attribution ไว้เลยเพื่อที่สมาชิก หรือผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วไป สามารถอ้างอิงบันทึกของผมได้ ให้สิทธิ์ตามมาตรา ๑๕ (๕) โดยระบุแหล่งต้นทาง ตามมาตรา ๓๒ (๔) เพื่อที่ผู้ที่นำไปใช้ จะไม่ต้องขออนุญาตทุกๆ ครั้ง ด้วยข้อความว่า:


    บันทึกที่ปรากฏในบล๊อกนี้ เป็นงานสร้างสรรค์ที่มีลิขสิทธิ์ ผู้เขียนอนุญาตให้นำงานเขียนไปใช้-ทำซ้ำ-ส่งต่อ-เผยแพร่-ต่อยอด-ดัดแปลง และอนุญาตให้ใช้ได้ในการหาประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ตราบใดที่มีการระบุต้นทางแห่งงานสร้างสรรค์ที่ใช้ วิธีทีสะดวกที่สุดคือการเชื่อมโยงกลับมายังบันทึกต้นทาง ซึ่งเมื่อเชื่อมโยงแล้ว ให้ถือว่าได้รับการอนุญาตจากผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของงานเขียนโดยปริยาย This work is licensed under a Creative Commons Attribution Works 3.0 License.

ผมไม่ใช่นักกฏหมาย และยิ่งไม่ใช่นักกฏหมายที่ชำนาญในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา จึงไม่อาจรับรองความถูกต้องของบันทึกนี้ได้ แต่จากการที่ได้ศึกษาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามาบ้าง จึงเชื่อว่ายังมีบางอย่างไม่ถูกต้องอยู่ในการใช้งาน GotoKnow.org

กฏหมายเป็นกติกาของสังคม ข้ออ้างที่ว่าใครๆ ก็ทำแบบนี้ ไม่เป็นเหตุผลที่ดีพอที่จะกระทำผิดครับ

หาก GotoKnow.org เป็นสิ่งที่มีค่าต่อพวกเราสมาชิก ก็อยากเชิญชวนให้ช่วยกันปกป้อง GotoKnow.org และ สคส.ออกจากความมัวหมองอันอาจจะเกิดขึ้นได้

อยากขอสมาชิกให้พิจารณาบันทึกนี้อย่างละเอียดครับ และขออภัยล่วงหน้าหากสมาชิกท่านใดคิดว่าผมก้าวล่วงท่านไป

หมายเลขบันทึก: 106598เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2007 22:37 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 เมษายน 2012 12:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (21)

สวัสดีครับคุณ Conductor

  • เจอบันทึกนี้จะมีใครกล้าแสดงความเห็นไหมครับเนี่ย อิๆๆๆ ผมก็ประเดิมแล้วกันนะครับ
  • ก่อนอื่นขอบพระคุณมากเลยเป็นการทำให้สะเทือนวงการเลยครับ ฮ่าๆๆๆๆ
  • เอาเป็นว่าผมก็เห็นด้วยนะครับ ว่าไม่ควรจะผิดลิขสิทธิ์ เพราะผมก็ผิดไปหลายครั้งแล้วครับ อันแรกนี่ก็เรื่องเพลงเลยครับ....น่าจะมีการศึกษาให้ชัดไปเลยครับ ว่าอะไรบ้างที่ทำได้และอะไรบ้างที่ทำไม่ได้ อาจจะออกเป็นกฏของ GotoKnow โดย สคส.ไปเลยครับ เช่น เอาเพลงมาใส่ไม่ได้แต่ลิงก์ได้ หรือว่า ห้ามเอาเพลงและผลงานคนอื่นมาใส่หรือเก็บใน Gotoknow อะไรทำนองนี้ครับ เว้นแต่ได้รับอนุญาตแล้ว แล้วหากคนหนึ่งได้รับอนุญาตแล้ว คนอื่นจะลิงก์ไปยังคนที่ได้รับอนุญาตแล้วได้หรือไม่ หรือว่าต้องไปขออนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมแสดงบทความที่ลิงก์ไปว่าได้รับอนุญาตแล้ว เพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกันครับ
  • ผมว่าบางทีห้ามเอาเพลงมาแขวนก็อาจจะดีนะครับพี่ เพราะว่าอาจจะทำให้เกิดศิลปินเกิดขึ้นใน GotoKnow อีกมากมายครับ เพราะเรามีคนแต่งเพลง แต่งกลอน โนราห์ หนังลุง เพลงพื้นบ้าน เป็นการรื้อฟื้น วัฒนธรรมไทย ก็ได้ครับ สนุกดีครับ อาจจะมีการประกวดกันสนุก อิๆ ดีไหมครับ
  • ว่าแล้ว ผมไปตัดเพลงออกก่อนครับ....เปลี่ยนเป็นเพลงที่เค้าแจกให้ฟังเป็นท่อนๆ แทนครับ....ขอบคุณมากครับผม
  • ไว้ผมแต่งเพลงก่อนครับ แล้วค่อยเล่นแล้วเอาขึ้นมาให้ฟังกัน คงวิ่งหนีกันกระจุยแน่ครับ ฮ่าๆๆๆ
  • ขอบคุณมากครับผม... สำหรับบทความผม ท่านผู้ใดพบเจอ และคิดว่าเป็นประโยชน์ เอาไปให้ได้เลยครับ ไม่ต้องขออนุญาตใดๆ ครับ แต่หากบอกไว้ก็ดีครับ เพื่อจะได้รับทราบและระวังตัวบ้างครับ ว่ามีคนเอาข้อมูลเราไปใช้อยู่นะ ต้องคิดอะไรเขียนอะไรให้รอบคอบมากยิ่งขึ้นครับ
  • ขอบคุณมากครับผม....
  • ขอบคุณครับ
  • ช่วยขยายความพร้อมตัวอย่างประเด็นของ Creative Commons License ให้หน่อยได้ไหมครับ ว่าขั้นตอนต้องทำยังไง อ่านแล้วยังงงงงน่ะครับ

คุณเม้ง P : มีเพลงใหม่ๆ บ้างก็ดีนะครับ จะได้แสดงฝีมือโดยไม่ต้องไปเป็นเหยื่อโหวตด้วย SMS

อาจารย์วิบุลย์ P : อธิบายแบบคร่าวๆ ตามความเข้าใจนะครับ ลิขสิทธิ์เกิดขึ้นทันทีที่มีการสร้างงานสร้างสรรค์ (เขียน วาด แสดง บรรเลง ระบาย ถ่าย ฯลฯ) ประกอบกับเกือบทุกประเทศทั่วโลก ลงนาม/ให้สัตยาบันในสนธิสัญญาเบิร์น ซึ่งทำให้ลิขสิทธิ์ (copyright) กลายเป็นเหมือนกฏหมายโลกไปเลย

แต่ในโลกไซเบอร์ ซึ่งอาจมีการ quote ข้อความ หรือคัดลอกบางส่วน ถ้าเจ้าของข้อความผู้มีลิขสิทธิ์ไม่ได้อนุญาตไว้ ผู้ที่นำไปใช้ก็จะละเมิดลิขสิทธิ์ทันทีแม้ไม่ตั้งใจ 

ดังนั้นก็มีกลุ่มคนที่อยากอำนวยความสะดวกให้เจ้าของลิขสิทธิ์ อนุญาตให้ผู้อื่นนำงานสร้างสรรค์ไปใช้ได้โดยไม่ยุ่งยาก ไม่ต้องไปศึกษากฏหมายระหว่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็ให้อิสระแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะอนุญาตให้ผู้อื่นใช้งานสร้างสรรค์นั้น ตามขอบเขตที่ตนกำหนด ซึ่งนั่นก็เป็นที่มาของ Creative Commons ซึ่งเป็นเหมือนสัญญาสาธารณะครับ

Creative Commons มีหลากหลายรูปแบบที่ให้เลือกใช้ ตามเงื่อนไขที่เจ้าของลิขสิทธิ์อยากอนุญาต

  • by (attribution) = มีเงื่อนไขให้ระบุแหล่งต้นทาง/เจ้าของลิขสิทธิ์/เจ้าของงานสร้างสรรค์
  • nc (no commercial) = ห้ามใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า
  • nd (no derivative) = ห้ามดัดแปลง
  • sa (share alike) = เมื่อนำไปใช้แล้ว ต้องให้สิทธิ์ผู้อื่นใช้ในแบบเดียวกันด้วย
  • sampling = ใช้เป็นตัวอย่างได้
  • publicdomain = ไม่มีข้อจำกัดใดๆ

โดยเขามีเครื่องมือให้เราเลือกว่าเราอยากจะให้สิทธิผู้อื่นในในงานสร้างสรรค์ของเราแค่ไหน

อย่างอาจารย์กมลวัลย์ P เลือกใช้ by-nc ซึ่งมีเงื่อนไขว่าให้ใช้ได้ตราบใดที่ระบุแหล่งต้นทาง (by) และไม่ใช้ในเชิงพาณิชย์ (nc)

Creative Commons เป็นเครื่องมืออันหนึ่งครับ จะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ส่วนข้อความภาษาไทย ผมเขียนเองพยายามให้มีข้อจำกัดให้น้อยที่สุด โดยดูจาก Creative Commons และกฏหมายลิขสิทธิ์ไทยครับ

ผมเลือก by โดยไม่เลือก publicdomain ก็เพราะไม่ต้องการให้ใครมั่วเอาว่าเป็นความคิดของเขา แต่ใครจะเอาไปใช้อย่างไรผมไม่สนใจครับ ตราบใดที่ลิงก์กลับมาที่ GotoKnow.org ซึ่งจะเห็นบริบทของข้อความ และจะช่วยให้ PageRank™ ของ GotoKnow สูงขึ้นโดยรวมใน Google ด้วยครับ

  • สวัสดีครับ คุณ
    P
  • ประเด็นชัดเจน และน่าสนใจมากครับ
  • สำหรับการสร้างพื้นที่ และวัฒนธรรมที่ไม่ก้าวล่วงในการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยเฉพาะด้วยความไม่เจตนา หรือพลั้งเผลอ
  • ประเด็นดีครับ
  • โดยส่วนตัวผมเห็นด้วยกับแนวทางของ Free code ที่ต้องอธิบายให้ชัดเจน ด้วยเรื่องการนำไปใช้ประโยชน์
  • ไม่ใช่อ้างว่านำไปใช้ประโยชน์ แต่อยู่บนฐานของการค้า
  • เช่นเดียวกับ บางประเด็นที่ผมเห็นด้วย ในการอธิบาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจและรับรู้ร่วมกันในข้อกฎหมายบางอย่าง
  • โดยเฉพาะปัญหาลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นประเด็นของโลกปัจจุบัน และเป็นประเด็นของอนาคตอย่างมากมายมหาศาล
  • อธิบาย และเชื่อมโยง ให้เข้าใจว่า เรื่องเล็กๆน้อยๆ เช่นแปะ เพิ่ม เติม อย่างไร ให้ถูกต้อง และไม่เป็นการก้าวล่วงต่อทรัพย์สินทางปัญญา และทรัพย์สินของงานสร้างสรรค์
  • ผมมีประเด็นเสนอนะครับ
  • เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา อ่านในบทความของ โตมร ที่เขียนใน Way ผมว่าเข้าอธิบายอีกปรากฎการณ์ในความรู้สึกของผู้บริโภค ที่มีต่อบทเพลง และลิขสิทธิ์บทเพลงได้ชัดถ้อยชัดคำมาก
  • แนะนำครับ สำหรับประเด็นลิขสิทธิ์ และพฤติกรรมทางสังคม ที่สร้างคำถาม
  • ประเด็นดีครับ สำหรับการอธิบายความเคยชิน
  • ขอบคุณมากครับ

อาจารย์คะ ขอเรียนถามเพื่อความกระจ่างในเชิงปฏิบัติค่ะ

 ตรงคำแนะนำของอาจารย์ อธิบายยกตัวอย่างที่อาจารย์ มี Creative Commons License ไว้...และบอกว่าจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่มีไว้เพื่อให้ลิ้งค์กลับมา....

และที่อาจารย์บอกว่า "แต่ในโลกไซเบอร์ ซึ่งอาจมีการ quote ข้อความ หรือคัดลอกบางส่วน ถ้าเจ้าของข้อความผู้มีลิขสิทธิ์ไม่ได้อนุญาตไว้ ผู้ที่นำไปใช้ก็จะละเมิดลิขสิทธิ์ทันทีแม้ไม่ตั้งใจ"

ดิฉันอ่านแล้วตีความว่า

ถ้าดิฉันไม่ใช้ Creative Commons License  ...ที่ระบุเงื่อนไขไว้ เท่ากับว่าดิฉันปิดทางสำหรับคนจะนำบทความไปใช้โดยไม่ขออนุญาตจากดิฉันหรือจาก สคส และผู้พัฒนาระบบ...หรืออีกความหมายหนึ่งคือ...ข้อความและบทความใน gotoknow จะเป็นข้อความที่มีลิขสิทธิ์...แม้ใครเห็นว่า คำแนะนำ วิธีการทำพัฒนางาน ..ฯลฯ เหล่านั้นดี และคิดจะนำไปใช้ในหน่วยงานของตน หากไม่ขออนุญาตเจ้าของแนวคิดหรือบทความ หรือไม่อ้างอิง ....จะผิดกฏหมายทันที...

ตีความอย่างนี้...ถูกต้องไหมคะ

 

คุณคติ P : ขอบคุณสำหรับความสนับสนุนครับ

อาจารย์จันทรรัตน์ P : เข้าใจถูกต้องครับ แต่ถ้าเรียงย้อนหลัง จะชัดเจนกว่าครับ

  • บันทึก/ความคิดเห็นมีลิขสิทธิ์คุ้มครองทันทีที่โพสครับ
  • ว่า กันตามกฏหมาย ผู้อื่นอ่านได้ แต่นำไปใช้ไม่ได้ นำไปเผยแพร่ต่อไม่ได้ถ้าผมไม่ได้อนุญาตไว้ก่อนหรือว่้าผู้ที่จะนำไปใช้/เผย แพร่ ไม่ได้ขออนุญาตผมเป็นคราวๆ ไป -- อันนี้จะเป็นอุปสรรคต่อ KM ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์หลักของ GotoKnow
  • สมมุติว่างานของผมมีค่า และมีคนอยากนำไปใช้ เนื่องจากงานในชีวิตจริงผมเยอะมาก ไม่มีเวลามาอนุญาตอยู่เรื่อยๆ และสิ่งที่ผมเขียนบน GotoKnow นั้น ผมเจตนาจะให้กับผู้อ่านอยู่แล้ว ผมจึงแปะสัญญาสาธารณะ (Creative Commons) ไว้บนบล๊อกเลย โดยเลือกแบบสัญญา "by" ซึ่งเป็นระดับที่ผมสบายใจครับ
  • ดังนั้นเมื่อผู้ใดอยากใช้ข้อความที่ผมเขียน ไม่ว่าจะทั้งข้อความหรือส่วนใดส่วนหนึ่ง ก็สามารถนำไปใช้ได้โดยไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ครับ (ตราบใดที่สร้างการเชื่อมโยงกลับมาที่บันทึกบน GotoKnow นี้) เพราะว่าได้เขียนสัญญาสาธารณะอนุญาตไว้ก่อนแล้ว
  • แม้ไม่เชื่อมโยงกลับมาตามเงื่อนไข ผมก็ไม่ว่าอะไรหรอกครับ เพียงแต่เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์ขึ้นทันทีที่นำไปใช้

ส่วนที่ผมบอกว่าใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ หมายความว่าจะใช้ Creative Commons หรือไม่ใช้ก็ได้ครับ อาจารย์จะเขียนสัญญาสาธารณะที่ไม่ใช่ Creative Commons เองก็ได้ครับ

ผมใช้เพราะคนในโลกไซเบอร์ตัวจริง เมื่อเห็นรูป Creative Commons License ก็จะเข้าใจทันทีว่าคือสัญญาสาธารณะแบบที่มีเงื่อนไขน้อยมาก (คือการลิงก์กลับมาเท่านั้น) เรื่องนี้เข้าใจตรงกันทั่วโลกครับ

สวัสดีค่ะ

พอดีถูกยกเป็นตัวอย่าง เลยจะมาเล่ามาเหตุใดจึงใช้ creative commons ค่ะ

อันดับแรกคือได้เห็นครั้งแรกที่สมุดของ อาจารย์ P มัทนา และเนื่องจากอยู่ในสายวิชาชีพอาจารย์ เลยค่อนข้างกังวลเกี่ยวกับลิขสิทธิ์และการคัดลอกค่ะ แต่ตอนนั้นเพิ่งเข้ามา ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไงถึงจะใส่ image แบบนั้นลงไปในสมุดได้

พอคุณConductor เขียนเรื่องนี้ในบันทึกก่อนหน้านี้ (จำไม่ได้ว่าเรื่องไหน ^ ^ ) ก็เลยลอง click ที่สัญลักษณ์ไปดูที่เว๊บของ creative commons แล้วก็นั่งอ่าน แล้วกดไปเรื่อยๆ ก็ได้ code ที่ตัวเองต้องการก็คือ by-nc แล้วก็กลับมาศึกษาที่ GTK อีกทีว่าจะปะ code ลงไปในสมุดอย่างไร สุดท้ายถามคุณสุนทรา (ผู้ดูแลระบบ) ถึงรู้ว่าต้องไปที่"แก้ไขบล็อค" เพื่อปะ code แล้วก็ใช้มาเรื่อยๆ จนปัจจุบันค่ะ ^ ^

สำหรับเหตุผลที่เลือกใช้ by-nc ก็เพราะต้องการให้เขาอ้างอิงเท่านั้น แต่เขาจะดัดแปลงบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ไม่อยากให้เขาเอาไปใช้ในเชิงพาณิชย์เท่านั้นเองค่ะ

ขอบคุณครับที่นำมาเสนอให้ทราบทั่วกัน

ผมเคยบันทึกไว้เหมือนกันครับ หวั่นว่าจะเกิดเรื่องละเมิด นี่แหละ

ทำให้ถูกต้องไว้ดีครับ

เรื่องละเมิดลิขสิทธิ์เพลง เคยเป็นปัญหากับคนทำเว็บให้ฟังเพลงมาแล้วค่ะ อ่านได้จาก กองปราบร่วมแกรมมี่จับเว็บละเมิดลิขสิทธิ์เพลง

เป็นการเริ่มต้นที่ดีค่ะ สนับสนุน

ขอบคุณค่ะ อาจารย์

ชอบตรงนี้ค่ะ

 

"ผมใช้เพราะคนในโลกไซเบอร์ตัวจริง เมื่อเห็นรูป Creative Commons License ก็จะเข้าใจทันทีว่าคือสัญญาสาธารณะแบบที่มีเงื่อนไขน้อยมาก (คือการลิงก์กลับมาเท่านั้น) เรื่องนี้เข้าใจตรงกันทั่วโลกครับ"

ขอบคุณที่ให้ความรู้ค่ะ

ขอแจ้งเรื่อง ฟอนต์ภาษาไทยในแผ่นซีดีที่ซื้อมาถูกต้องจากบริษัท แต่ถ้าไม่มีใบขออนุญาตใช้จะไม่สามารถนำมาใช้ประกอบในไฟล์เช่น ตัวอักษรที่ประกอบในรูปภาพที่สร้างจาก Photoshop แล้วนำมาใช้ในเวป เจ้าของเวปจะถูกฝ่ายกฏหมายทำหนังสือแจ้ง  เพื่อขอค่าสิทธิ์การใช้ฟอนต์ เกือบแสนบาท เรียนมาเพื่อทราบครับ

เรียนท่าน
P
ขอเรียนปรึกษาท่าน การดำเนินการที่ผมทำอยู่จะมีปัญหาไหมครับ  ปรึกษาท่านครับ

กับสมาชิก g2k ผมเชื่อว่าไม่ครับ เพราะทุกคนมาที่นี่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นไปตาม ม.๓๒ (๑)

ยิ่งกว่านั้นการบอกกล่าวขออนุญาตเจ้าของบันทึกก่อนน่าจะถือได้ว่ามีสิทธิ์นำไปใช้แล้ว แต่ถึงแม้ไม่มีสัญญาสาธารณะอนุญาตไว้ การลิงก์กลับไปหาต้นตอ ก็น่าจะจัดเป็น fair use ม.๓๒ (๔) ได้ครับ ถ้ามีความคิดเห็นเพิ่มเติม ก็เป็นไปตาม ม.๓๒ (๓)

ผมไม่ห่วงประเด็นความขัดแย่งกับสมาชิก g2k หรอกครับ เป็นห่วงงานอันมีลิขสิทธิ์นอก g2k มากกว่า

แต่เพื่อให้แน่ใจว่างานของเราที่ตั้งใจนำมา ลปรร.กับผู้อื่น จะไม่ทำให้ใครระแวง เขียนสัญญาสาธารณะติดไว้ตรง "เกี่ยวกับบล๊อกนี้" ก็จะทำให้ผู้คนสบายใจว่าเราจะไม่แว้งกัดครับ ขอให้ท่านสิทธิรักษ์สบายใจ

  • ขอบคุณมากครับ
  • ได้รับความรู้เพิ่มเติ่มอย่างยิ่ง

ขอเสริมคุณ Conductor ค่ะว่า งานทุกอย่างที่เกิดจากการกลั่นสมองของผู้ที่พัฒนาออกมา ไม่ว่าจะเป็น บันทึกในบล็อก งานเขียน รูปถ่าย รูปวาด งานศิลป์ งานดนตรี เป็นต้น งานพวกนี้จะได้รับลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติค่ะ

แต่เนื่องจากว่าคนทั่วไปไม่ทราบและไม่คำนึงถึงการคัดลอกงานของผู้อื่นจึงทำให้เกิดมาตรฐานกลางที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกในการเผยแพร่งานเหล่านี้ผ่านทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งเรียกว่า Creative Commons (CC) ดังที่คุณ Conductor ได้กรุณานำมาเผยแพร่ไว้ค่ะ

ซึ่งโดยทั่วไปแล้วการติด Seal ของ CC นี้เป็นการประกาศให้ทราบว่า งานเหล่านี้อนุญาตให้เผยแพร่ได้แต่ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า และการนำเผยแพร่จะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาอย่างชัดเจนค่ะเพื่อเป็นการเคารพต่อเจ้าของงาน

อย่างไรก็ตาม Creative Commons ยังแพร่หลายไม่ทั่วทั้งโลก และมีความพยายามในการกระจายมาตรฐานออกไปยังในแต่ละประเทศค่ะ แต่ยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยค่ะ แต่อย่าลืมนะค่ะ งานเหล่านี้ได้รับลิขสิทธิ์อัตโนมัติค่ะ

ส่วนใน GotoKnow เราได้ประกาศไว้ชัดถึงลิขสิทธิ์ของผู้เขียนบล็อกค่ะ อยู่ที่ นโยบายการให้บริการ ค่ะ

ขอบคุณคุณ Conductor เป็นอย่างมากสำหรับการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ด้านลิขสิทธิ์ค่ะ

 

ขอบคุณคุณ Conductor และ อ. กมลวัลย์ มากค่ะ

มัทเริ่มใช้ Creative Commons เพราะมีรูปใน Flickr อยู่มาก สมาชิกคนอื่นๆใน flickr รณรงค์กันให้ติดตราลิขสิทธ์ไว้ แล้วพอดีมีคนเคยยุว่าให้ทำ postcard ทำมือขายจากรูปพวกนี้ก็เลยคิดว่า เออติดตราไว้ดีกว่า

พอมาทำบล็อกก็เลยติดมาด้วยเพราะเคยเห็นบล็อกทั้งฝรั่งและคนไทยคนอื่นเช่น คุณ bact' และ *PRADT ใช้กัน

Creative Commons ของมัทอยู่ภายใต้กฎหมายของแคนาดาค่ะ คือใครทำที่ประเทศไหน ก็ประเทศนั้น ถ้าใครละเมิดลิขสิทธิงานของมัท ต้องมา deal กับทางแคนาดา

นี่เดี๋ยวกลับไปเมืองไทยก็ต้องเปลี่ยน label หรือมัทจะเปลี่ยนเองตาม IP ก็ยังไม่ทราบเลยค่ะ งงเหมือนกัน

Attribution-Noncommercial 2.5 Canada


มัทมีข้อเสนอแต่ไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้แค่ไหน เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับ GTK แต่ขึ้นอยู่กับคนที่จะนำงานของเราไปใช้
ใน Flickr มัทได้รับข้อความติดต่อผ่านทาง inbox ใน Flickr เรื่อยๆ ว่าขอนำภาพไปใช้ใน โปรแกรมแผนที่ online บ้าง (Schmap นี่ส่งมาบ่อยมาก) นำไปทำ brochure บ้าง แล้วเค้าก็มี link ให้เรา click ง่ายๆว่า รับหรือไม่รับ

ใน GTK ก็มี function "ติดต่อ" ผู้เขียน blog อยู่แล้ว

เดี๋ยวมัทจะ post ให้ดูนะคะ

มัทคิดว่าตัวอย่างที่มัทจะ post เป็นตัวอย่างของข้อดีของ Creative Commons เพราะเค้านำงานของมัทไปใช้ได้เลย ไม่ต้องกลัวลิขสิทธิ แต่ด้วยมารยาทที่ดี เค้าเขียนมาบอกมัทขอบคุณที่ให้งานของมัทเข้า Creative Commons แบบแบ่งกันใช้ได้ มัทก็รู้สึกดีที่เค้าเขียนมาหา ทั้งๆที่เค้าไม่ต้องเขียนมาก็ได้ มัทดีใจที่เค้าเอางานของเค้ามาให้เราดู ว่าเค้าใช้รูปของเราไปลง homepage เค้าตรงไหน

Thank you for sharing your bluefin tuna photo with the Creative Commons. I have used with a feature on the homepage of [...].

[link ไป website เค้าหน้าที่มีรูปของเรา]

It links to a paper by Greenpeace on trade and fisheries. Please let me know if I should adjust the attribution info. I wasn't quite sure what name to use.

Best wishes,
Managing Editor, [.....]

ส่วนบางราย ถึงแม้ว่าเค้าจะเอางานของมัทไปได้เลย แต่เค้าเลือกที่จะเขียนมาขออนุญาตก่อน

ตัวอย่างนะคะ

I'd like to use your photos of the Burrard Street Bridge to illustrate an article one of our contributors posted on [...].com. Please follow the link below to allow the photos to be used with the post. Give me a shout at [อีเมลเค้า] if you have any questions.

หรือ

[Mr....] is a contributor at [...].com and would like to use your photo for a story that has just been published.

[...] is a news sharing community that uses stories, photos, & videos from sources like you.

If you would like to learn more about this request, and the context in which your photo might be used, please click on this link - where you can approve or reject its use:

[link ไป website เค้า]

If you do give your permission, your photo will always remain your property, and the Creative Commons license you have specified will follow its use on [...].com

If you have any concerns about this, please contact our Quality Assurance Coordinator at quality@[.....].com

หรือ

My name is [.....] and I work for [....].com. I'm working on a story about the rapidly declining shark population and would like to use your photo to help add context to my story. Just so you're aware, the story includes my opinions about why people have largely ignored the extinction of sharks. Feel free to comment on the story or my opinions.

[.....] is a news sharing community that relies on stories, photos, & videos from people like you.

Would you be interested in sharing your work with our members? If so, or to learn more about this request please click the link below.

[link ไป website เค้า มีปุ่มให้กดว่าจะให้รูปเค้าไปใช้มั้ย]

Thanks very much for your time and if you have any questions or run into any problems please feel free to email me via [อีเมลเค้า]

Thanks,

 

 

ทีนี้เข้าประเด็น.....

ในทางกลับกัน ถ้าเราเป็นผู้ใช้งานที่คนอื่นเค้าสร้างสรรค์มา เราก็ต้องดูว่า

  • งานนั้นมี Creative Commons หรือไม่ ถ้ามีก็ดีไป เรานำมาใช้ได้ถ้าเราอ้่างถึง  แต่ยังไม่พอค่ะ...
  • ถ้ามี Creative Commons ก็ต้องดูต่อให้ชัดว่าเป็น CC แบบไหน (มีทั้งหมด แบบ) แบบเราดัดแปลงได้มั้ย หรือ เป็นแบบที่ถ้าเรานำมาใช้ blog ของเราก็ต้องใช้ CC เดียวกับที่งานต้นตอใช้หรือไม่ ถ้าไม่ทำตามก็ถือว่าละเมิดลิขสิทธิ์เหมือนกัน
  • งานที่สร้างในประเทศเหล่านี้มีการใช้ CC อย่างเป็นเรื่องเป็นราวแล้ว (ไม่มีไทยแลนด์ ของเราต้องดูพรบ.ไปค่ะ)
  • ทีนี้ถ้างานที่เราจะอ้างไม่มี CC ก็อย่างที่อ.จันบอกคือ งานพวกนี้จะได้รับลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติค่ะ
  • งั้นต้องระวัง ใช้ให้ถูกวิธี อย่างที่คุณ Conductor บันทึกไว้
  • อย่างที่คุณ Conductor เขียนไว้ค่ะว่าที่น่าห่วงคือ การที่คนใน GTK เอางานข้างนอก โดนเฉพาะนอกประเทศมาใช้
  • ถ้าเข้่าเขียนไว้ชัดๆว่ามี copyright มัทแนะนำให้ ลอก จม. ที่มัท post ไว้ ในความเห็นที่ 20 เขียนขอเค้าหน่อย
  • ถ้าลำบากมากก็อยากไปลอกของเค้ามาเลยค่ะ
  • ถ้าเค้าไม่ได้เขียน copyright ไว้ เราเอามาก็ link กลับต้นตอเดิมเสมอ อย่าลืมหรือขี้เกียจเป็นอันขาด
  • ในกรณีที่ลอกมาแปะไว้เฉยๆเพราะเห็นว่าดี ทำ link แล้วด้วยแต่ทาง GTK ลบเพราะเห็นว่าไม่เป็นการจัดการความรู้ มัทคิดว่า มีวิธีที่ดีกว่าคือให้ใช้บริการพวก google notebook แล้ว share หรือใช้ Firefox Scrapbook แทนจะดีกว่าค่ะ เพราะพวกนี้ทำมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ GTK มิได้ทำมาเพื่อการนั้น

ตอนนี้นึกได้แค่นี้ค่ะ

 

"ใน Flickr มัทได้รับข้อความติดต่อผ่านทาง inbox ใน Flickr เรื่อยๆ ว่าขอนำภาพไปใช้ใน โปรแกรมแผนที่ online บ้าง (Schmap นี่ส่งมาบ่อยมาก) นำไปทำ brochure บ้าง แล้วเค้าก็มี link ให้เรา click ง่ายๆว่า รับหรือไม่รับ"

Thanks.

ตัวอย่างจม. ขอลอกงาน

หรือถ้าลำบากนัก ก็อย่าไปลอกเค้ามาแปะเลยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท