ชื่อหัวข้อวิจัยเหมือนกันเกือบทุกตัวอักษร แต่เปลี่ยน "ตัวแปร" บางตัว ก็เป็นเรื่องใหม่ คิดอย่างไร ?


ความฉุกใจในเรื่องนี้แล้วอยากมาเขียนเป็นบันทึกสอบถามความคิดเห็นของเพื่อน ๆ กัลยาณมิตรทุกท่าน ... สาเหตุจากการที่ผมนั่งทำหลักสูตรปริญญาตรีครู 5 ปีแล้วมีอยู่หัวข้อหนึ่งคือ รายชื่อและผลงานวิชาการของอาจารย์พิเศษ

หัวหน้าสาขาวิชาให้นำชื่อและผลงานของอาจารย์พิเศษที่เคยยื่นใบสมัครไว้มาใส่ประกอบในแบบเสนอหลักสูตร

 

ผู้ยื่นท่านหนึ่ง ทำวิทยานิพนธ์ตอนเรียนปริญญาโท

หัวข้อ "การสร้างไฮเปอร์บุ๊ค กระบวนวิชา ........................................."

<< เป็นกระบวนวิชาหนึ่งในการเรียนระดับปริญญาโท >>

 

แรก ๆ ก็คิดว่า คงเป็นท่านนี้คงเรียนแผน ข (2) คือ ตัวจบเป็น IS หรือ การศึกษาค้นคว้าอิสระ

 

พอกำลังจะเริ่มพิมพ์อีกท่าน

หัวข้อ คือ "การสร้างไฮเปอร์บุ๊ค กระบวนวิชา ........................................."

<< เป็นคนละกระบวนวิชากับท่านแรก >>

 

โห !!! เป็นการพัฒนานวัตกรรมเดียวกันเลย แต่เปลี่ยนแค่เนื้อหาที่เลือกทำ

ทำให้ความทรงจำผมผุดขึ้นมาว่า อืมม เคยเห็นนักศึกษาปริญญาโทรุ่นนี้ทั้งรุ่น มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ทำหัวข้อเรื่องเดียวกันนี้ทั้งรุ่น เปลี่ยนเฉพาะชื่อกระบวนวิชาเท่านั้น

สมัยก่อนตอนที่ผมเรียนปริญญาโท ตอนที่ผมค้นคว้าหาข้อมูลมาทำวิทยานิพนธ์ ผมก็เคยเห็นนักศึกษารุ่นเก่า ๆ ทำแบบนี้ครับ ทั้งรุ่นทำเรื่องเดียวกัน แต่เปลี่ยนตัวแปรบางตัว ก็เป็นเรื่องใหม่ไปแล้ว

เช่น "สภาพ ปัญหา และความต้องการการใช้สื่อการสอนของบุคลากรโรงเรียน ............................." << เปลี่ยนเฉพาะโรงเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น >>

เป็นแบบนี้ทั้งรุ่น ... มันน่าภาคภูมิใจตรงไหนไม่ทราบ

 

ถามว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบบความคิดแบบนี้ครับ ???

  • เป็นไปได้ไหมว่า ... งานวิจัยแต่ละเรื่องนี้เป็นงานวิจัยย่อยในโครงการใหญ่ของอาจารย์สักคนที่ขอทุนวิจัยเอาไว้
  • เป็นไปได้ไหมว่า ... วิทยานิพนธ์เป็นแค่แบบฝึกหัดวิจัยของนักศึกษาระดับปริญญาโท ทำให้ทำเรื่องอะไรก็ได้ ไม่สนใจ ไม่แคร์คนอื่น
  • เป็นไปได้ไหมว่า ... บุคคลเหล่านี้มีอุดมการณ์ที่แรงกล้าว่า "เอาตัวรอด (จบปริญญาโท) เป็นยอดดี"
  • เป็นไปได้ไหมว่า ... บุคคลเหล่านี้มีอุดมการณ์ที่แรงกล้าว่า "ทำอะไรง่าย ๆ ก็ได้ จบไว ๆ ไว้ก่อน"
  • ฯลฯ

 

หากผมได้มีโอกาสถามเขาเหล่านี้ ผมอาจจะได้คำตอบ ...

  • อาจารย์ที่ปรึกษาให้หัวข้อมา
  • สิทธิ์ของผม/ดิฉัน
  • ทำแบบนี้จบเร็วดี
  • วิทยานิพนธ์จะเอาอะไรกันนักกันหนา
  • ฯลฯ (สารพัดคำเอ่ยอ้าง)

 

ผมมองด้วยความเห็นส่วนตัวว่า ... ผมคงยอมรับวิธีการคิดแบบนี้ได้ยาก ผมคิดว่า มันไม่สร้างสรรค์และไม่ได้แสดงศักยภาพของความเป็นบัณฑิตศึกษาแต่อย่างใด แถมบางทีอาจจะนั่งทำวิทยานิพนธ์กันเป็นกลุ่ม ๆ อีก ลอกกันไป ลอกกันมา เพราะเนื้อหาหลายส่วนเหมือนกัน ปรับแค่ส่วนที่ไม่เหมือนกับเพื่อนเท่านั้น

หากเป็นการจบการศึกษาระดับปริญญาโท ก็คงหวังว่า การเรียนต่อระดับปริญญาเอกคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป แล้วคุณว่า ประเทศชาติและสังคมของเราจะได้คนแบบไหนเป็นมันสมองของประเทศ ?

ผมมองอีกว่า ะปัญหานี้หมักหม่มมานานแสนนาน คู่กับวงการการศึกษาระดับสูงของประเทศนี้มานาน น่าจะมาช่วยกันหาทางแก้ไขกันนะครับ จึงเลือกเขียนบันทึกนี้ขึ้นมา

 

ผมอาจจะเป็นคนคิดมากและเป็นแค่คนส่วนน้อยที่คิดขวางโลกแบบนี้ ... ขออภัยด้วยใจจริงครับ

ขอพูดคุยและต่อยอดคำถามและความคิดเห็นด้วยความสุภาพเท่านั้นนะครับ

ขอบคุณครับ :)

หมายเลขบันทึก: 237780เขียนเมื่อ 26 มกราคม 2009 17:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 12:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (43)

ตรงใจเป๊ะเลยครับ

ถ้าการศึกษาของไทยเป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ อนาคตประเทศไทยน่าหดหู่ครับ

ทุกวันนี้เด็กในระดับมัธยมก็ไม่มีความต้องการอนาคต ไม่รู้จักคำว่าการศึกษาคืออะไร และบางทีก็ต้องโทษครูผู้สอนและผู้ปกครองด้วย

สมัยก่อน เด็กรุ่นผมจะเกเรอย่างไรก็มีความต้องการจบการศึกษาตามระดับ จะโดดจะเรียนอย่างไรก็ขอให้จบ ม.ศ.๓ หรือ ม.ศ.๕ คือมีหลักอยู่

เด็กเดี๋ยวนี้ไม่สนใจ ติด ร. กี่วิชา ครูตามให้ไปสอบก็ไม่ไป ครูให้ส่งรายงานก็ไม่ส่ง ไม่เคยสนใจเลยว่าถ้าไม่จบระดับนี้อนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไร จนครูก็ทนไม่ได้ทำให้เสร็จ แล้วก็ให้คะแนนไปเพื่อมันจะได้จบๆเสียที แถมผู้ปกครองก็อีก ครูไปจ้ำจี้จ้ำไชลูกมากก็ไม่ได้โกรธครูเสียอีก เดี๋ยวนี้ที่ภูเก็ตครูคนไหนให้การบ้านมาก ผู้ปกครองก็ช่วยลูกด่าครูอีก เวรกรรม...เฮ้อ..

สวัสดีครับ ท่าน อัยการชาวเกาะ :)

หดและหู่มากเช่นกันครับท่าน ... การศึกษาภาพรวมทุกระดับของเราไม่ค่อยประทับใจครับ มีปัจจัยหลาย ๆ อย่างที่เป็นตัวต้นเหตุของ "วิธีคิด" เอาแต่ตัวเองแบบนี้

"ครูดี" ก็เหนื่อย เพราะครูทั่วไปจะบอกว่า "ทำไปทำไมเหนื่อยเปล่า ๆ"

สงสาร "ครูดี" ครับ ... เสียกำลังใจกันหมด

เคยส่งนักศึกษาไปฝึกสอนโรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่ง ... เด็กเกเรมาก บอกลูกศิษย์ผมว่า เดี๋ยวจะบอกพ่อให้เอาครูออกจากโรงเรียน

ดูมานครับ ... อันนี้ประถมศึกษานะครับ

ดังนั้น ไม่ต้องห่วงภาพที่เกิดขึ้นที่ระดับบัณฑิตศึกษาครับ ... เละเทะเกินจะเชื่อได้ หากไม่ได้สัมผัสจริง

ขอบคุณครับ ท่าน อัยการชาวเกาะ :) ด้วยความจริงใจ

สาเหตุมาจากหลายปัจจัยและมองได้หลายมิติครับ

<<<ผู้วิจัย>>>

1.เป็นไปได้กับระบบแนวคิดแบบที่ว่า

2.ความสำคัญระดับต้นๆ คือ "จิตใต้สำนึก" ของคนที่จะทำวิจัย จรรยาบรรณมีมั๊ย ถ้ามีแล้วระบบแนวคิดที่ว่าก็คงเกิดแต่อาจจะเกิดน้อยหน่อย การคัดลอกงานวิจัยด้วยแล้วยิ่งน่ากลัว

3.ถามว่าจะทำวิจัยเพื่อ(แค่)จบหรือว่าต้องดีเลิศ ตอบว่าจะทำทั้งสองอย่าง

4.คำสบประมาท "จบได้ไง" ไม่รู้เรื่องอะไรสักอย่าง สงสัยจ้างคนอื่นทำหรือทำ “เอกสารประกอบการจบ” แหง๋...

5.คงจะไม่มีใครมาว่าเราแน่นอน อย่างน้อยต้องรู้เรื่องที่ตัวเองทำมากกว่าคนอื่นๆ

<<<อาจารย์ที่ปรึกษา>>>

1.หัวข้อวิจัยที่ทำต้องผ่านการปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาแน่นอน

2.แสดงว่าทั้งสองคนเห็นด้วย แต่อย่าลืมว่า นศ.ป.โท ด้อยประสบการณ์เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยหรือถ้ามีก็น้อย และแต่ละคนมีศักยภาพแตกต่างกัน

3.ยังคงจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำ คอยชี้แนะในทางที่ถูกที่ควรจากอาจารย์ที่ปรึกษา “แม่พิมพ์” ที่ดี ผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ต่างจากแม่พิมพ์ครับ ขออภัยที่แสดงความเขลาครับอาจารย์

มิเขลาแต่ประการใดครับ คุณ ไทบ้านผำ :)

ชอบใจอย่างยิ่ง ที่ได้วิเคราะห์และเรียบเรียงอย่างตรงไปตรงมา ครับ

"แม่พิมพ์" ที่ดีหรือครับ ... ไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องปกติ ครับ

จิตสำนึก อุดมการณ์ จุดยืน สำคัญมากสำหรับผู้เรียนระดับสูง ครับ ผมเชื่ออย่างนั้นจริง ๆ ครับ

ด้วยจิตคารวะในความคิดนี้

ขอบคุณมากครับ :)

บรรทัดฐานจิตใต้สำนึกของแต่ละบุคคลต่างกันค่ะอาจารย์

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น..ถ้าประเทศเรามีระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานเดียวกัน

ศักดิ์และศรีของความเป็นคนหรือแม้กระทั่งสัตว์ย่อมเท่าเทียมกัน..

ขอบคุณค่ะ

ขอภาวนา อย่าให้การศึกษากลายเป็นธุรกิจเลยค่ะ

ประเทศชาติจะล่มจม

กลัวว่าคนทำดี จะท้อแท้

ลูกหลานจะกลายพันธุ์

อยากพูดพูด..

อึดอัด คับข้องใจ อีกหลายเรื่อง....

เกรงใจอาจารย์

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณมากครับ คุณ ครูแม่มด :) ...

ขอโฟกัสชัด ๆ เลยครับ

"บรรทัดฐานจิตใต้สำนึกของแต่ละบุคคลต่างกัน"

ความเป็นจริงที่เจ็บปวดนะครับ

หากประเทศใดมีคนที่มีจิตใต้สำนึกดี ๆ ประเทศนั้นคงเจริญก้าวหน้าและสงบสุขแล้วนะครับ

คุณครูจุฑารัตน์ NU 11 ครับ ... มีสิ่งใดอยากระบายระบบที่มันน่าคับข้อง ก็พูดเถอะครับ ... แต่ให้คำแนะนำว่า นำศิลปะการเขียนที่แนบเนียนมาใช้ จะทำให้แรงกระแทกมันเบาลงนะครับ

สำหรับวิธีการเขียนของผม ... อิ อิ ... เลียนแบบไม่ได้ครับ มันเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีนักสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่

เรารู้จักกันมาเป็นเวลานับปีแล้วครับ น่าจะรู้จักผมบ้างเนอะ ตรงไปตรงมา น่าคบหามากกว่าครับ

(วันพุธนี้ ผมจะไปแข่งเปตองที่นครสวรรค์นะครับ อิ อิ ... พบกันตามโชคชะตาและวาสนานะครับ)

ไม่ต้องเกรงใจครับ :)

เราก็รู้จักกันมานับปีจริงๆค่ะ เปลี่ยนเรื่องคุยดีกว่านะคะ

โฮ ..สนามเปตองมีหลายสนามนะคะ

ต้องการกรรมการหรือพี่เลี้ยงหรือเปล่า

ขอบอกว่าเป็นนักกีฬาเปตอง nu นว.นะคะ

กรรมการเปตอง กีฬาต้านยาเสพติด ของอบต. นักเรียน - เยาวชน หุหุ...

ตามไปเชียร์ก็ได้ค่ะเดี๋ยวจะชวนน้องๆที่ มรภ.นว.ไปด้วย 555

สวัสดีครับ

ผมค้นจาก ThaiLIS เจอแบบนี้เหมือนกัน

ก็สงสัยอยู่ ว่าทำไมหัวข้อมันมาพิมพ์เดียวกันหมด ทั้งรุ่นเลย

แต่ว่า ไม่ใช่เรื่องไฮเปอร์บุ๊ค อิๆๆ

หุ หุ คุณครูจุฑารัตน์  NU 11 ... ทราบที่แข่งเสียด้วย

เออคือว่า ไม่ต้องเชียร์หรอกครับ โยนให้ใกล้แก่นอย่างเดียว ตีไม่เคยโดนสักกะที อิ อิ :)

ขอบคุณ อาจารย์ ธ.วั ช ชั ย :)

แหม ค้นจาก ThaiLIS กันเลยหรือครับ ...

ผมเองก็งงเหมือนอาจารย์ครับ เป็นมา 20 - 30 ปีแล้วครับ

ปัจจุบันคนที่อยู่ในกลุ่มนี้ได้ดิบได้ดีหลายคนครับ

บางคนเรียนจนจบปริญญาเอก บางคนมีตำแหน่งวิชาการ เป็น ผศ. รศ. แต่หากกลับไปดูงานตอนเรียนปริญญาโท จะตกใจกับความเหมือนเปี๊ยบมาก ครับ

ขอบคุณครับ ไม่ใช่ ไฮเปอร์บุ๊คก็ดีแล้วครับ อิ อิ ไม่งั้นผมโดนต่อว่าแน่ ๆ

สวัสดีค่ะอาจารย์  ^_^

  • เข้ามาหลายรอบ  อิอิอิ  เม้นดีไม๊น๊า 
  • ขอไปคิดก่อนแล้วกัน  เขียนยังไงไม่ให้แรง  555
  • จะเป็นไรไปไหมคะหากจะบอกว่าโดนใจจังเลยค่ะ  อีกครั้ง  อิอิ
  • เคยพบเจอมาเหมือนกันค่ะ  เวลาสืบค้นงานวิจัย  (เห้อไม่อยากเอ่ยเลย...)
  • อิอิอิ  เผอิญว่าเป็นคนรั้นนิดๆดื้อหน่อยๆนะคะ  ไม่ทำ.. แหะๆเลยลำบากหน่อยคะ  แต่ก็สู้คร๊า  :)
  • เป็นไปได้ตามประเด็นที่อาจารย์ว่ามา  (เพิ่มเติมอีกอย่างนะคะ  อาจารย์ที่มีโควต้ารับเป็นที่ปรึกษานักศึกษามีน้อย...งานเยอะ  การทำเรื่องคล้ายๆกัน ดูแลง่าย ฯลฯ ไว้ในฐานที่เข้าใจนะคะ  อิอิ
  • มีความสุขกับวันทำงานที่ดีอีกวันค่ะ  (^_^)

สวัสดีครับ น้องคุณครู เทียนน้อย :)

ประเด็นที่เสนอมา :

"อาจารย์ที่มีโควต้ารับเป็นที่ปรึกษานักศึกษามีน้อย...งานเยอะ  การทำเรื่องคล้าย ๆ กัน ดูแลง่าย"

ใช่นะครับ ถือเป็นการบริหารและความรับผิดชอบของอาจารย์ผู้นั้น

แต่บริหารอย่างไรถึงไม่คิดถึงผลที่ตามมา เยอะเกินไป คุณภาพก็ต่ำลง เพราะดูแลไม่ทั่วถึงใช่ไหมครับ

แบบนี้ผมก็เห็นนะ อย่างที่มอนี่ ท่านหนึ่งมีโควต้าไม่เกิน 5 คน (แต่ไม่รวมมหาวิทยาลัยข้างนอกอ่ะดิ แบบนี้เกินแหง ๆ)

เก่งมาก ๆ เลยนะ ชอบ ๆ

ขอบคุณครับ :)

  • สวัสดีค่ะอาจารย์ Wasawat แวะมาตามคำชวน อาจารย์เขียนเรื่องจึ้ใจดำ อีกแล้ว ปัญหาเรื่องลอกไม่ลอก เหมือนไม่เหมือน ยอมไม่ยอม(ให้เหมือน)...นี้มีมานานมากจนคนทั่วไปมองว่าเป็นเรื่องปรกติแล้วค่ะ
  • จากคำถามข้อแรก...เป็นไปได้ไหมว่า ... งานวิจัยแต่ละเรื่องนี้เป็นงานวิจัยย่อยในโครงการใหญ่ของอาจารย์สักคนที่ขอทุนวิจัยเอาไว้ ...อาจารย์เข้าใจถูกต้องค่ะ เพราะงานวิจัยเหล่านี้จะเป็นโครงการวิจัยย่อยๆ ในโครงการวิจัย ใหญ่ ชื่อเรื่องจึงเหมือนกัน ตัวแปรเดียวกัน เปลี่ยนเฉพาะกลุ่มตัวอย่าง เช่นเรื่องนึงเป็นนักเรียน ช่วงชั้นที่ 2 อีกเรื่อง เป็น ปวช. ต้องมาดูบริบทในเล่มเต็มๆ ที่นำเสนอ ไม่ควรเป็นไฟล์เดียวกัน...(หุหุ เจอแบบเป็นไฟล์เดียวกันบ่อย)ดังนั้นก็จะมีการเปลี่ยนโน่นนี่ ...อ้าว...แล้วเราจะได้อะไรจากงานวิจัยเหล่านี้ละ...ผู้รู้ท่านบอกว่าที่ต้องการทำซ้ำๆ เพื่อยืนยันทฤษฎี และเพื่อหาข้อสรุปเป็นองค์ความรู้...(แล้วผลการวิจัยก็ขึ้นหิ้งไป...เอวัง)
  • จากคำถามข้อสอง...นักศึกษาอยากทำเรื่องนี้เองเพราะ...ง่ายค่ะ... ก็มีตัวอย่างให้ดูให้เลียนแบบมากมาย รุ่นพี่ ทำเรื่องนี้มาตั้ง 10 กว่าคนแล้ว จึงอยากทำมั่ง...จะคิดใหม่ทำใหม่ให้ปวดหมองทำไม...เอา 10 เล่มนั่นแหละเป็นตัวตั้ง โยกโน่นย้ายนี่ ก็ไม่เหมือนแล้ว...ง่ายจบเร็วดี
  • จากคำถามข้ออื่น...เป็นผลมาจากการเอาปริมาณเป็นตัวตั้ง...ผู้บริหารมองแต่เม็ดเงินที่จะได้...ไม่ได้มองว่าจะควบคุมคุณภาพกันยังไง...รับนักศึกษา เป็นร้อยเป็นพัน คนดูแลมีเพียงหยิบมือเดียว...จะดูแลทั่วถึงได้อย่างไร...และนักศึกษาเองก็อยากจบเร็วๆ เพราะค่าเรียนแพงนี่หนา...ทำเรื่องง่ายๆดีที่สุดเมื่อก่อนไม่มี Thailis นักศึกษาก็จะทำซ้ำกันในหมู่ของตัวเอง...แต่ตอนนี้ซ้ำไปทั่วถึงแล้วค่ะ แค่ชื่อเรื่องซ้ำนี่ไม่เป็นไร แต่ในเล่มซ้ำนี่สิคะ ยอมไม่ได้ค่ะ...
  • นี่คือข้อเสียของ อินเทอร์เน็ต หากผู้ใช้ไม่มีจริยธรรม...การลอกเลียนผลงานของคนอื่นจึงเกิดขึ้นเสมอ...ต้องโทษกูเกิลค่ะ...ที่ช่วยให้การหาไฟล์งานวิจัย 5 บท ที่เป็น Ms word ทำได้ไม่ยากแล้วตอนนี้...กูเกิลแสนรู้สุดๆค่ะ...อะไรที่อยู่บนเน็ตเพื่อนล้วงมาให้ได้หมด...บางครั้งเจ้าของไฟล์ไม่รู้หรอกค่ะว่าไฟล์ที่ตัวเองซ่อนแอบไว้มิดชิดจะถูกมือดีทั่วโลก Save ไปแล้วอ้อ...หลายคนไม่รู้ค่ะว่ากูเกิลสำรองไฟล์ไว้ด้วย (แต่สำรองแค่ 18 เดือนในขณะที่ G2K เก็บไว้ 90 วัน...ดังนั้นบางบันทึกที่ถูกลบไปจาก G2K หรือจากเว็บทั่วไปก็ยังจะเปิดได้จากการคลิกผ่านไฟล์สำรองของกูเกิลค่ะ...แหะๆ...ขอไม่บอกวิธีทำค่ะ)
  • อาจารย์ขา เคยเจอหนักกว่าของอาจารย์ค่ะ ชื่อเรื่องไม่เหมือนกันเลย แต่ ข้อมูลที่เป็น ตัวเลข เหมือนกันหมดเลย คือลอกบทที่ 4 และคะแนนในภาคผนวกของมหาวิทยาลัยอื่น แล้วเหมือนแบบที่ไม่มีการสลับตำแหน่งด้วย...ผลของเคสนี้หรือคะคนที่จับได้ว่านักศึกษาลอกถูกเด้งออกจากการเป็นประธานในการสอบจบทันที...ข้อหา...รู้มากไปหน่อย...ว่างนักหรือมานั่งจับผิดนักศึกษา...ส่วนนักศึกษาก็แค่แก้ไขข้อมูลนิดหน่อย...ก็จบได้
  • การลอกเลียนระบาดหนักในสังคมไทยค่ะดูภาพประกอบค่ะ นี่คือผลงานอาจารย์ 3 รุ่นที่ผ่านมา ผู้ส่งคนนึงเป็นผู้ชาย ส่ง ม.5อีกคนเป็นผู้หญิง ส่ง ม.2 อ้อเขาอยู่คนละเขตค่ะเลยไม่รู้ว่าคนรับจ้างทำ ทำแบบชุ่ยๆ แล้วคนรับจ้างก็กระไร คิดสั้นๆว่าคนตรวจ เขต 1 คง ไม่ตรวจเขต 3...เฮ้อกรรมของนักเรียน

  • คนนี้ไม่ใช่ครู แต่เป็น...ตัวแทนความซื่อสัตย์ของสังคมที่ดังมากๆ

  • ด้านล่างนี่ก็ไม่ใช่คนธรรมดา เป็นถึงระดับศาตราจารย์และมีอาชีพที่คนยกย่อง ตีพิมพ์ในวารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ดูออกไหมคะว่าใครลอกใคร

  • หากอยากเห็นภาพใหญ่แบบเต็มๆ ของทั้ง 3 ภาพ ตามไปดูและอ่านต่อแบบถึงพริกถึงขิงได้ที่นี่ค่ะPANTIP.COM : X7106413 การคัดลอกผลงาน การขโมยความคิด ในงานวิจัย ++ ...
  • 3 ตัวอย่างข้างต้นนั่นเป็นการคัดลอกแบบล้าสมัยไปเลยค่ะหากเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นสดๆร้อนๆ คนเดียวลอกแล้วยังกล้าส่งประกวด 3 ชิ้น และ 2 ชิ้นได้รางวัลใน งาน Motor Expo design award 2008 บ้านเราเมื่อเดือนธันวาที่ผ่านมา(งง...กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ตัดสินไม่เคยเห็นรถต้นแบบมาสด้าคันล่าง ที่มีมาตั้งแต่ปี 2007 ได้ไง out มากๆ...งานนี้คงโทษเด็กไม่ได้ ก็ผู้ใหญ่ข้างบนเป็นตัวอย่างที่ดีซะเมื่อไหร่)

รางวัลชนะเลิศ รูปซ้ายมือคือต้นฉบับ จากงาน CarDesignNews เมื่อเดือน ก.ค. 2008  ขวามือของเด็กไทย ส่วนคันสีส้มด้านล่างก็อบมาสด้า ที่เซ็งคือเป็นเด็กคนเดียวกัน...ทำไมกล้าขนาดนี้(อ่านต่อได้ที่นี่ค่ะจริยธรรมทางการออกแบบ?)

  • ยังๆไม่พอการ ก็อบ ระบาดไปทุกวงการโดยเฉพาะวงการหนังและเพลง ทั้งค่ายยักษ์ใหญ่ แต่ที่แย่คือระบาดมาถึงเด็กมัธยม อ่านได้ที่(

    PANTIP.COM : A7262343 คุยกับสองหนุ่ม "เฟี้ยว"เจ้าของรางวัล“iDream ...

  •  

    ตอนนี้ทำใจแล้วค่ะว่าเป็นแค่เสียงเล็กๆเสียงนึงที่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงโลกทั้งใบได้...คงต้องรอให้เวรกรรมเป็นเรื่องตัดสิน...ความลับไม่มีในโลกอินเทอร์เน็ตค่ะ...เราเตือนคุณแล้ว

โห ไม่ผิดหวังเลยที่ผมส่งเทียบเชิญให้อาจารย์ naree suwan มาร่วมตลุยประเด็น เหมือน "ชายโง่ย้ายภูเขา" กันสองคนหรือเปล่า 555

ผมมองเห็น "ความกล้าบ้าบิ่น" อย่างผิดของผู้มีการศึกษาทุกระดับและทุกอาชีพ ... เห็นความคิดเห็นอาจารย์ สมบูรณ์กว่าบันทึกอีกครับ

ข้อมูลที่อาจารย์เก็บรวบรวมมานี้ สมบูรณ์มากนะครับ

อนาคตรัฐบาลจะเชิญอาจารย์ไปอยู่ฝ่ายตรวจสอบผลงานวิชาการและงานวิจัยแห่งประเทศไทย อิ อิ

หากที่ทำงานผม มีผู้บริหารที่สนใจเรื่องพวกนี้บ้างสักคนก็คงจะดี ... มั่วแต่ไปชิงไหวชิงพริบกับเก้าอี้ตัวใหม่ ๆ กันอยู่ ...

"ชายโง่ยังขอเพียรพยายามย้ายภูเขา" อยู่ไม่เปลี่ยนแปลง ครับ

ขอบคุณอาจารย์มากครับ :)

  • มาอีกรอบค่ะช่วงนี้งานยุ่งค่ะเลยไม่ค่อยได้ปรากฏตัว
  • เอ้อ ขอมองซ้ายมองขวาก่อน ไม่น่าหลวมตัวเลยค่ะอาจารย์
  • ขอให้กำลังใจ ชายโง่ยังขอเพียรพยายามย้ายภูเขา ดีใจที่อาจารย์เปิดประเด็น อัดอั้นตันใจเรื่องนี้มานาน เพราะการปล่อยปละละเลย ของคนรุ่นก่อน เด็กๆรุ่นใหม่จึงคิดว่า การลอกและการเลียนแบบเป็นเรื่องปรกติ
  • ปัญหาอยู่ที่ว่า กรรมการที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ หรือกรรมการตัดสินการประกวด รู้ลึกรู้จริง หรือไม่
  • เฮ้อ...ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์หลายคนไม่เคยใช้เน็ตเลย แล้วจะรู้ได้ไงว่าชาวโลกเขาล้ำหน้าไปถึงไหนแล้ว แค่รู้ในศาสตร์ของตัวเองอย่างเดียวไม่พอค่ะ ต้องรอบรู้ด้วยมิฉะนั้นจะโดนเด็กหลอก
  • ขออภัยค่ะ ลืมตัวคิดว่าเป็นบันทึกของตัวเอง เลยยกแม่น้ำทั้ง 5 มาเลย
  • เพราะรู้มากเกินไปค่ะ จึงโดนเขี่ยออกจากการเป็นกรรมการประเภทประกันประเมิน...ฮ่าๆแต่ดีใจค่ะที่ไม่ต้องมานั่งปั้นตัวเลขหลอกใคร...อิๆ

ไม่ใช่เฉพาะวิทยานิพนธ์หรอกค่ะอาจารย์ แม้แต่แผนปฎิบัติการประจำปีของโรงเรียน แผนกลยุทธิ์ของโรงเรียนถ้าดูกันจริงๆ เปลี่ยนแค่ชื่อโรงเรียนค่ะ อะไรจะวางแผนได้เหมือนกันขนาดนั้น แต่เราผึ้งงาน 1 ตัว หรือจะสู้นางพญาผึ้งและองค์พิทักษ์ความชอบได้ ให้กำลังใจค่ะท่าน

หุ หุ ก็ว่าอาจารย์ naree suwan คงยุ่ง เพราะเห็นได้หายหน้าไป :)

กะว่า ส่งเทียบเชิญไป อีกสักเดือนค่อยแวะมาดูคำตอบ อิ อิ ไฉนเร็วรี่ขนาดนี้ อิ อิ

อาจารย์ครับ ... อัตตา หัวโขน ตำแหน่ง อำนาจ วาสนา ทำให้คนที่ได้รับโอกาสเป็นกรรมการหลงลืมไปครับ นึกว่า อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ตนเองทั้งหมด

โลกเรา... ส่งยานอวกาศขึ้นอยู่ดวงจันทร์แล้วครับ

เด็กเดี๋ยวนี้เจ้าเล่ห์เพทุบายพอที่จะหลอกครูบาอาจารย์ได้ แค่คำว่า เอาตัวรอดเป็นยอดเลว แค่นั้นเองครับ

ครูรู้ไม่ทัน ก็บอกว่า ครูใจดี ครูรู้ทัน ก็บอกว่า ครูใจร้าย

ผม ... ใจร้าย ครับ

อาจารย์ท่องโลกหามุมมองใหม่ ๆ ดีแล้วครับ กรรมการอะไรนั้น ไม่เป็นก็สบายแล้ว เพื่ออาจจมีคำตอบของชีวิตอยู่ในภายภาคหน้าไงครับ

ขอบคุณครับ อาจารย์ :)

 

ใครทำชั่วทำไม่ดีเอาไว้ เราก็เลือกไม่ทำตามไงครับ คุณครู ทรายชล :)

เลือกทำแต่กรรมดี ความดีก็จะอยู่ที่ตัวเรา :)

...

ทำจาย ค่ะ ครูเสือใจร้าย แต่ให้อภัยได้ เพราะ :)  ๆ แยะ ๆ

เป็นตั้งแต่ ระดับมัธยม ในรร. เมือง ระบาด ถึง ชนบท เลยค่ะ

...

มารอ ผล การแข่งขัน โยนลูกเหล็ก ของอ. เป็นไงบ้างคะ

ว่าแล้ว ทำไมวันนี้อ. เสือ เงียบ ผิดปกติ อิ อิ ... :)

...

อย่าเครียดนะคะ เดี๋ยวน้ำหนักลด ...  ไปวิ่งรอบต้นไม้กับปูดีกว่าค่ะ

ที่นี่คะ    

 

  • ชื่นชมคนขวางโลกค่ะ ถ้าไม่มีคนขวางไว้ ก็คิดว่าที่ทำไปถูกเสียหมด เพราะเคยชินกับการทำอะไรผิด ๆ ด้วยสำคัญผิดว่าถูก...เรื่องนี้ก็เหมือนกันค่ะ สมัยนี้คนฉลาดในทางที่ผิด "เนียน" กันเยอะ จับผิดยากจริง ๆ ค่ะ หรือถึงจับได้เพราะ sense แต่ก็ยากแก่การพิสูจน์ค่ะ
  • ขอบพระคุณที่จุดประเด็นให้คิดตามและคิดต่อค่ะ

 

พยายามทำอยู่นะนี่ คงไม่ใช่เพื่อหน้าที่เพราะหน้าที่หรอกนะ แต่ทำเพื่อดี ที่มีอยู่ อย่าท้อเลย

กลัวอะไร

หวั่นอะไร

เหมือนเราก็มีเยอะ

เหมือนเช่นเขาก็มีเยอะ

สร้างเราเป็นพวกเขาเพื่อทดแทนน้ำขุ่นข้น ให้ออกไป

ด้วยกำลังใจที่มี

ด้วยแรงแห่งศัทธา

ในขณะที่ก้าวย่าง ก็ชำเลือง แลพวกมัน เป็นอาจม ของสังคมไป

ขอบคุณครับ คุณ poo ที่แวะมาเน้นย้ำ "ความใจร้าย" ให้เป็นที่ประจักษ์ :) แหม ... เปตองแพ้เรียบครับ สู้ความเอาจริงเอาจังของสถาบันอื่นเค้าไม่ได้ ... จริงจังจนดูความสัมพันธ์จะเป็นเรื่องรองไป น่าเสียดาย

ขอบคุณครับ คุณ Sila Phu-Chaya ...

คนเดี๋ยวนี้ ยิ่งเรียนสูง เรียนโตขึ้น ยิ่งมีงานทำใหญ่โต มักจะไม่ค่อยยอมรับความคิดเห็นของคนอื่น โดยเฉพาะคนอื่นที่พูดแล้วไม่ถูกใจตนเอง ครับ ... เจอมาเยอะ จนเบื่อหน่ายพอสมควร จะเลือกที่ไม่พูดดีกว่า ... ใช้สำนวน "ไม่เห็นโรงศพ ไม่หลั่งน้ำตา" ของโกวเล้งแทน ครับ

ขอบคุณกำลังใจจากท่าน ผู้อำนวยการ วาสนา คชไกร ... ก็คงต้องร่วมมือกันทำทุก ๆ ฝ่าย ครับ :)

เรื่องที่อาจารย์ตั้งมานั้นเป็นเรื่องที่พี่พบมากจนทึ่งเลยค่ะ ทั้งในความตื้นเขินทางความนับถือตนเองและจนปัญญาของศิษย์ และความไร้สำนึกในการสร้างคนให้เป็นพลังของสังคมและประเทศชาติ ปล่อยปละละเลย หรือรู้น้อยไม่ทันเด็กของอาจารย์ที่ปรึกษา

อาจารย์ P naree suwan ยกมาแจงได้อย่างละเอียดทุกแง่มุมอย่างคนที่อยู่วงในได้กระทบความหยาบทางการเรียนการสอน ทางปัญญา ทางจริยธรรมด้วยตนเอง เป็นภาวะที่บั่นทอนจิตใจในการทำงานของผู้ที่พยามเข็นครกขึ้นภูเขาหรือย้ายภูเขานะคะ พี่ว่าการที่อาจารย์ยกมาเขียนนี่ดีหลายอย่าง นอกจากเป็นการเปิดเผยตีแผ่การกระทำแล้วยังเป็นการให้กำลังใจระหว่างกันของครูบาอาจารย์ที่มีความสำนึกในความเป็นครูอยู่เต็มเปี่ยมไม่ใช่แค่นักค้าวิชาการนะคะ

ตราบใดที่สังคมไทยยังอยู่ในแนวธุรกิจการศึกษาและให้การนับถือคนที่เปลือกวิชาการ ว่าคนนี้จบปริญญาโท ปริญญาเอก ก็จะยังมีการผลิตบัณฑิตไร้ปัญญาที่ไม่ได้มีความฉลาดเชี่ยวชาญมากขึ้นกว่าเมื่อจบระดับปริญญาตรี แถมยังหลงตัวเองว่าวิเศษเพราะมีใบปริญญาสูงๆประดับ ทำลืมวิธีการตื้นเขินโง่ๆบวกไร้ความอายในการลอกเลียนงานวิชาการคนอื่นในครั้งนั้นไปสิ้น

เราจึงมีนักวิชาการ ครูอาจารย์ไม่น้อยในสังคมที่ทั้งหลงทางและหลงตน และจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ขอแต่คนดี มีคุณภาพต้องมุ่งมั่นต่อไป สร้างเครือข่ายคุณภาพขึ้นให้แข็งแกร่ง สู้โดยลำพังคงหมดแรงไปก่อนค่ะ

 

ขอบพระคุณ พี่อาจารย์ คุณนายดอกเตอร์ :) ... ที่แวะให้ความรู้และประสบการณ์ตามเทียบเชิญที่ได้ขอร้องไว้ ครับ

ผมสรุปคีย์สำคัญนะครับ

... ความตื้นเขินของการนับถือตนเอง

... ความจนปัญญาของศิษย์

... ความไร้สำนึกของการสร้างและผลิตบัณฑิตของชาติ

... การไม่พัฒนาตนเองของอาจารย์ที่ทำให้ไม่รู้ทันความนึกคิดของศิษย์

... การนับถือเปลือกวิชาการ ใบปริญญาที่ไม่มีคุณค่าจริง สำหรับคนไม่มีคุณค่า

... ฯลฯ

เวลาที่ผมอยู่ในสังคมอุดมศึกษามหาวิทยาลัยท้องถิ่น ... ผมเห็น ... ดอกเตอร์ใหม่ จากมหาวิทยาลัยดัง ... ผู้ช่วยศาสตราจารย์คนใหม่ ... รองศาสตราจารย์คนใหม่

เท่าที่สัมผัสมาหลายท่าน สมควรได้รับเกียรติเหล่านั้น หากแต่มีอีกจำนวนมากที่ยังอยู่ในความคลุมเครือ ไม่แน่ใจ ไม่มั่นใจ เพราะพฤติกรรมการทำงานวิชาการส่วนใหญ่ยังน่าเป็นห่วง เขาจะสร้างสรรค์ผลงานวิชาการเหล่านั้นอันควรแก่ตำแหน่งฤา ... บางที่ก็คิดมากเลยเถิดไปว่า หากมีการตรวจสอบผลงานวิชาการเหล่านั้น เชื่อแน่เหลือเกินว่า มีโอกาสพบการโจรกรรมทางวิชาการอย่างมากทีเดียว

ทำให้เกิดความรู้สึกว่า หากผู้ได้รับตำแหน่งทางวิชาการ เรียนจบสูง ๆ เหล่านั้น หากทำงานร่วมกัน กลับไม่ได้แสดงศักยภาพออกมาให้เห็น คงได้นับถือเฉพาะความเป็นผู้อาวุโสมากกว่าตำแหน่งทางวิชาการที่ดูเหมือนไม่สมควรได้

หากเชิญคนเหล่านี้ไปเป็นวิทยากร ... กลับพบความนับถือเปลือกวิชาการอย่างหนัก ยกตน ทำให้ดูเหนือกว่าผู้อื่น ทั้ง ๆ ที่คนในอยากหัวเราะให้ฟันหักว่า เค้าควรได้เป็นจริง ๆ น่ะหรือ

เล่ห์เหลี่ยมทางวิชาการ หรือเรียกเพราะ ๆ ว่า เทคนิคการเข้าสู่ตำแหน่ง ... บางคนใช้ระบบอุปถัมภ์เข้ามา บางคนใช้วิธีการ Lobby บางคนใช้วิธีคัดลอก โจรกรรม มั่วนิ่มมา สารพัดวิธีไม่สะอาด

น่าเป็นห่วงสำหรับสังคมไทยที่ยังเลือกนับถือเปลือกกันอยู่ และน่าเป็นห่วงวงการตรวจสอบระบบเหล่านี้ว่า เมื่อไหร่จะเข้มแข็งเสียที โอนไปเอนมา จนหามาตรฐานไม่ได้

แต่ถึงเป็นแค่เฟืองตัวน้อย ก็คงยังต้องสู้เพื่อความถูกต้องกันต่อไปครับ

ขอบคุณมากครับอาจารย์ :)

มาต่ออีกนิดค่ะอาจารย์ พี่มีเพื่อนอยู่ในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีการรับนักศึกษาปริญญาโทของคณะจำนวนมาก พอเขาบอกจำนวนนั้นพี่ร้อง "หา!!!" เลยค่ะ เขาขอให้พี่ช่วยอยู่ในทีมอาจารย์ที่ปรึกษา พี่ก็ไม่อยากปฏิเสธเพื่อน ขอรับแค่สองคน ยังหืดขึ้นคอ เพราะเหตุผลหลายอย่าง เห็นมาตรฐานการยอมรับได้ในงานนักศึกษาที่อาจารย์ท่านอื่นๆปล่อยผ่านได้ พี่เป็นคนนอกอึ้งมากค่ะ เดี๋ยวนี้เลยคิดหนักในการรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

เมื่อกระแสหลักเป็นอย่างนั้น การประเมิน การตรวจสอบเขาก็มักทำให้คนส่วนใหญ่ไม่เกิดปัญหา คนที่ไปสะกิดแผลก็กลายเป็นต้องรับเคราะห์หรือกระเด็นจากวงจรของเขาด้วยซ้ำไป

คิดอย่างธรรมะก็ต้องใช้วิธีเชิดชูยกย่องคนทำดี ส่งเสริมคนที่ทำดี ให้ตัวเราได้อยู่ในแวดวงความดี จะได้มีกำลังใจ นักศึกษา หรือนักวิชาการที่เรียนต่อปริญญาโท-เอกที่เป็นคนมีความตั้งใจดี สนใจว่างานตนจะไปเกิดผลต่อการนำไปใช้ประโยชน์ในสังคมก็ยังพอมีอยู่มากเรามาช่วยกันส่งเสริมคนแบบนี้ให้จิตเราเบิกบานนะคะ 

ขอบคุณครับ พี่อาจารย์ คุณนายดอกเตอร์ ... ร้อง หา !!! สำหรับตัวเองนี้ ช่วงหลัง ร้องบ่อยเหลือเกินครับ ... ได้แต่ยิ้มแบบเศร้า แต่สมองต้องครุ่นคิดถึงวิธีการแก้ไขปัญหา การปฏิบัติตนเองให้สอดคล้องกับจุดยืนและอุดมการณ์ภายในใจของตนเองว่า ยังทำได้ไหม ยังเข้มแข็งพอไหม หรือควรอ่อนไหว ไหวเอนไปกับสายลมแห่งความผิดพร่อง หมองใจ สายลมแห่งเงินทุน ผลประโยชน์ หรือ อำนาจของความอยากได้อยากมี

ผมถือพระราชดำรัสของในหลวงในเรื่อง "การเลือกทำดี และไม่ให้คนไม่ดีมีอำนาจ หรือ โอกาสที่จะทำไม่ดี เราต้องควบคุมเขาให้ได้ เพราะเราอาจไม่สามารถเปลี่ยนเขาได้"

ขอให้จิตใจเราเบิกบานในการทำความดีอย่างที่พี่อาจารย์ คุณนายดอกเตอร์ ได้อวยพรมา ครับ

  • ขออนุญาตมาแลกเปลี่ยนอีกครั้งค่ะท่านอาจารย์ Wasawat Deemarn
  • โดยบังเอิญหลังจากอ่านบันทึกนี้ ก็ไปเจอคนรู้จักกันเขา ก็เลยทักทายถามเขาว่า เรียนโท (กฎหมาย) ใกล้จะจบหรือยัง เขาบอกว่ารายงานเยอะมาก กำลังจ้างคนอื่นทำให้อยู่ เพราะงานที่ทำงานเยอะมาก  ค่าจ้างทำรายงานละ 1500 -5000 บาท ไม่แพง
  • ส่วนวิทยานิพนธ์ต้องมาคุยราคากันอีกที แล้วแต่ความยากง่ายของข้อมูล
  • เขาพูดแบบเป็นเรื่องปกติค่ะ...อย่างนี้ไม่รู้จะว่าอย่างไร "โทษคนหรือโทษระบบการศึกษาดี" คะ
  • ขอบพระคุณค่ะ

ทุกปัจจัยมีส่วนรับผิดชอบครับ คุณ Sila Phu-Chaya :)

สถาบัน อาจารย์ผู้สอน อาจารย์ที่ปรึกษา ตัวนักศึกษาเอง ระบบการศึกษา ฯลฯ

น่าเหนื่อยใจนะครับ :(

แต่เคยเห็นบางคนที่จบมาบอกไม่ต้องทำเอง จ้างเค้าทำ สองปีจบ

 เรารู้สึกว่ามันไม่น่าภูมิใจเลยแบบนี้เอาเปรียบคนที่เค้าทำเลือดตาแทบกระเด็นกว่าจะจบ

เราทำแทบตายทั้งยากเหนื่อยแต่พอได้ยินคนพูดแบบนี้รู้สึกว่าเค้าจะภูมิใจที่พูดออกมาไหมนี่

ขอบคุณมุมมองของคุณ ดุจดาว มาก ๆ ครับ :)

คุณค่าของคนเหล่านี้อยู่ที่ "กระดาษใบเดียว" ครับ เป็นกระดาษที่เค้าคิดว่า ทำให้เขามีเงินทองมากมายมากขึ้น

กระดาษอาจทำให้ได้เงินทอง แต่คุณค่ายังสู้คนที่หาเช้ากินค่ำยังไม่ได้สักกะผีก ครับ

สวัสดี ครับ อาจารย์ Wasawat

ผมมาอ่านมันทึก ฉบับนี้ แล้ว โดนใจ มาก

ชอบ ที่ อาจารย์ นำเสนอ และตีแผ่

มันทำให้ หัวใจ ใคร หลาย ๆ คน แฟบลง

และหัวใจ ใตร หลายๆ คน ฟ่อลง

ถ้าคิดได้....ต้องย้อนกลับมาดูตัวเอง เพราะยังไม่สาย ครับ

การศึกษา ...เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

ขอบพระคุณ มากครับ

กับข้อ คิด ดี ดี ก่อนทำงาน

ชอบ ที่ อาจารย์ นำเสนอ และตีแผ่

มันทำให้ หัวใจ ใคร หลาย ๆ คน แฟบลง

และหัวใจ ใตร หลายๆ คน ฟ่อลง ฟองโต

ขอบคุณมากครับ คุณ แสงแห่งความดี :)

ถือเป็นกำลังใจ และดัชนีวัดความถูกต้องของสังคมว่า ยังมีคนคิดเหมือนผมหรือเปล่าน่ะครับ :)

ไม่มีอะไรที่สายเกินไป หากกลับตัวทัน ครับ

สวัสดีค่ะ

  • ตอนพี่คิมเป็นเด็กนะคะ
  • ฝันและชื่นชมว่า..ในชีวิตนี้เราจะได้เรียนจนจบได้รับปริญญากับเขาบ้างไหม
  • เพราะคนที่มีปริญญานั้น..คงเป็นคนที่มีความรู้สูงสุดยอด
  • แต่..เมื่อพี่คิมมีโอกาสได้เรียนปริญญาตรี..ได้เกรดเฉลี่ยน้อยมาก แถมเรียนรีเกรดอีกตั้ง ๒ ภาคเรียน..เรื่อง ป.โทนั้นอย่าหวัง
  • และ..ยังมองว่า..คนที่จบปริญญาโทก็สุดยอดอีกเช่นกัน  มีคะแนนสูงจาก ป.ตรี มาอีกด้วย
  • คนจบป.โทขึ้นจะต้องเป็นมันสมองของประเทศชาติแน่นอน ทำอย่างไรเราจะมีโอกาสบ้างหนอ
  • ภายหลังมีโอกาสเรียน..เพราะเขาไม่คัดเกรด  ก็เป็นโอกาสดีที่ได้เคาะสนิมที่เกรอะกรัง
  • แต่พี่คิมมีความรู้สึกว่า..กว่าจะได้ วิทยานิพนธ์ ๑ ฉบับถึงกับไปเรียนกับอาจารย์ว่า..ขอหยุดก่อนสักระยะ  แล้วจะมาทะเบียนในภาคเรียนใหม่   แต่อาจารย์ให้สู้ ๆ ๆ ๆ ๆ ไม่ง่ายค่ะ
  • ภายหลังมหาวิทยาลัยได้ติดตาม..ประเมินพี่คิมทุกปีนะคะ
  • แบบที่อาจารย์..ว่าก็มีไม่น้อยค่ะ..ทำ IS แค่ ๑ สัปดาห์ ก็จบ ป.โท ได้เช่นเดียวกัน

ฟังเรื่องของคุณ ครูคิม แล้ว รู้สึกชื่นชมครับ

คุณ ครูคิม ... เพชรอยู่ที่ไหนก็คือเพชร ครับ เขาจะรู้ว่า ความสุจริตใจ คืออะไร ไม่เดินทางที่เป็นอโคจรอย่างแน่นอน ครับ

ขอบคุณมากครับ :)

มาขอแลกเปลี่ยนความคิดเห็นนะคะ

แอมมี่เรียนจบโททั้งจากไทย (วิทยานิพนธ์) และอเมริกา (ไม่มีวิทยานิพนธ์)

ก็เลยรู้สึกว่า วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาโท มันจำเป็นจริงหรือเปล่า ???

ป.โท MBA ที่อเมริกา แน่นอนว่า รายงานเยอะมากค่ะ และก็ต้องเลือกเรื่องที่สนใจเอง เพื่อนร่วมห้องส่วนหนึ่งก็ทำงานอยู่แล้วด้วย แต่เค้าก็ให้เวลากับการทำรายงานที่มีคุณภาพมากพอสมควร (เพราะทำในเรื่องที่กำลังสนใจอยู่)

แล้ว อจ.ก็ไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ ค่ะ ก็มักจะบอกว่า เขียนมาไม่ต้องเกิน 10 หน้านะ เอาเนื้อๆ มาเลย และการแสดงความคิดเห็นของตัวเราเอง ต่อเรื่องนั้นๆ จะสำคัญที่สุด

บางครั้งก็คิดนะคะ ทำ thesis มา ก็ไม่ค่อยจะได้ใช้ประโยชน์จากมันเท่าไหร่ และ ทำไมอาจารย์แต่ละท่านจะต้องให้ทำเรื่องที่ต้องตั้งชื่อยากเย็น น่าเบื่อ

ทั้งที่ จริงๆ แล้ว มันคือ การทำวิจัยเพื่อค้นหาในสิ่งที่ตัวเราอยากจะรู้

อีกคำถามคือ ถ้าหลักสูตร ป.โท เป็นแบบ ไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ เลย แล้วมันจะเป็นยังไง???

แค่ความคิดขวางโลก เหมือนกันค่ะ ^^

ประเด็นความคิดของท่าน dr-ammy ;)...

วิทยานิพนธ์ ระดับปริญญาโท มันจำเป็นจริงหรือเปล่า ???

และ

ถ้าหลักสูตร ป.โท เป็นแบบ ไม่ต้องทำวิทยานิพนธ์ เลย แล้วมันจะเป็นยังไง???

นำเสนอให้เขียนเป็นบันทึกโดยด่วน ! ครับ ... เป็นประเด็นที่ต้องการความหลากหลายในความคิดพอสมควรเลย ;)

แต่ที่แน่ ๆ ผมได้รับความรู้จากท่าน dr-ammy ครับว่า ... อาจารย์ที่ต่างประเทศอยากได้ "บทความ" หรือ "รายงาน" ที่เข้มข้น ผ่านกระบวนการประมวลผล วิเคราะห์ สังเคราะห์จากสิ่งที่เราเก็บสะสมเอาไว้มาเขียน

ผมชอบอ่านแบบนี้เช่นกันครับ ... มันระบุระบบความคิดของเด็กได้ว่า เข้าใจ หรือ ไม่เข้าใจ

เชียร์เขียนบันทึกครับ ;)

เพิ่งเจอกับตัวเอง และเพิ่งเจอกระทู้นี้ เลยขอแชร์

เขียนขอทุนไปกับหน่วยงานนึง ปรากฏว่าได้รับการปฎิเสธ ไม่นานนัก ก็ได้ทราบว่ามีการอนุมัติทุนให้นักวิจัยท่านอื่น

ในหัวข้อที่ใกล้เคียงกับของเรามาก แค่เปลี่ยนตัวแปรบางตัว ตอนแรกก็ไม่แน่ใจ

รอบใหม่มีอบรม และให้ทุนหน่วยงานเดียวกับครั้งก่อน เค้าให้เขียนเสนอหัวข้อไปอีกแต่คราวนี้เค้าให้เสนอหัวข้อคร่าวๆ เลยใส่หัวข้อที่ได้ทุนแล้วจากอีกแหล่งทุนลงไป(กลัวโดนลอก) ปรากฏว่าเค้าปฎิเสธไม่สามารถให้เข้าร่วมอบรมได้

ไม่นานก็มีคนที่เข้าอบรมมาถามเรื่องหัวข้อวิจัยดังกล่าว บอกว่าทำเรื่องนี้(หัวข้อที่เราเสนอไป)ที่อบรม OK. ให้ทำ โอ ไม่อยากเชื่อ แถมมาถามขอคำแนะนำว่าจะทำอย่างไร ใช้เครื่องมืออะไร ก็เลยแนะว่า ไม่ควรทำเรื่องนี้ แม้จะเปลี่ยนตัวแปรเพราะหัวข้อนี้ได้รับทุนแล้ว ที่สำคัญคือชั้นทำอยู่ เค้าก็ไม่พอใจว่าขอคำปรึกษา ทำไมไม่บอก ก็ยังต้องย้ำอีกว่านี่แหละคำปรึกษาที่จะให้ก็ให้ไปเปลี่ยนหัวข้อซะ เฮ้อ ทั้งหน่วยงาน ทั้งนักวิจัย มีความละอาย หรือจรรยาบรรณบ้างหรือเปล่า ครั้งที่สองนี่ชัดเจนมากเลย

เวรกรรมจริง ๆ เลยนะครับ คุณซัน ;)...

อยากให้กำลังใจให้สู้ต่อไปนะครับ

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท