(บาง) มุมสะท้อนของ Social Networking แบบบ้าน ๆ


บันทึกนี้ต่อจากบันทึกเมื่อวาน เมื่อ "ความช้า" กำลังจะมีราคาและเป็นของหายาก ... (หนุ่มเมืองจันท์) ในประเด็นคิดที่น่าสนใจของคุณ "หนุ่มเมืองจันท์" จากการแปลงบทสัมภาษณ์ในนิตยสาร aday BULLETIN มาเป็นข้อเขียนสั้น ๆ

บางมุมที่เกี่ยวกับ Social Networking เช่น Twitter หรือ Facebook

 

ยกข้อเขียนที่ ๕

"มาร์ค" ไม่ใช่ "พ่อ"

 

การที่เราสื่อสารกันผ่านทวิตเตอร์ เฟซบุ๊กได้เร็ว จะทำให้คนรู้อะไรเร็วมากขึ้น เพราะคนมันต้องการรู้เร็ว แต่จริงหรือไม่จริงไม่รู้ แล้วมันกระซิบกันทีมันรู้กันเยอะมาก

ความรุนแรงที่เห็นในเว็บบอร์ดก็เยอะขึ้น คนไม่รู้จักกันเลย สามารถด่ากันต่าง ๆ นานาได้เต็มไปหมด บางทีก็ไม่รู้เรื่องนั้นดีพอ แต่เห็นคนอื่นด่า เราก็เข้าร่วมด้วย

แต่ที่แปลกก็คือ ความละเอียดอ่อนของการกลั่นกรองข้อมูลของมนุษย์ยุคใหม่มันน้อยลง ความเร็วมันทำให้คนเชื่อง่าย

อย่างกรณี "แพรวา" ที่ข้อความ "บีบี" โผล่ขึ้นมาทำนองว่า "ขับรถชนคนตาย ไม่รู้ว่าตายกี่คน อิ อิ" ด้วยวิจารณญาณพื้นฐาน เราน่าจะพอประเมินได้ว่าจริงหรือเปล่า

ไม่ต้องสรุปทันทีว่า "ไม่จริง" แต่อย่างน้อยก็ควรมี "คำถาม" แวบขึ้นมาว่า เด็กอายุ ๑๖ ปี ใจคอจะโหดร้ายขนาดนี้เชียวหรือ??

เรื่องวิพากษ์วิจารณ์เหมือนกัน เมื่อก่อนมีอะไรเราคุยกันในวง ๓ - ๔ คน ระบายอารมณ์ไปมันก็อยู่แค่ ๓ - ๔ คน แต่พอไปดูในทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก แป๊บเดียวมันไปแล้ว

ทัศนะที่คุณคุยอยู่บนโต๊ะ ซึ่งเป็นเรื่องคุยกันสนุก ๆ แต่มันแพร่หลายทันทีถ้าคุณเอาไประบายในเฟซบุ๊ก หรือในสื่อต่าง ๆ กลายเป็นคุณคิดอย่างนั้นจริง ๆ แล้วมันได้มีการรับรู้อย่างกว้างขวางมาก

เฟซบุ๊กนี่มันทำให้ผมคิดว่า เอ๊...คนเราคิดอะไรอยู่ เรายังต้องบอกคนอื่นแบบนี้เลย เหรอ สมัยก่อน คิดแล้วมันก็อยู่ในใจนะ แต่ status มันสั่งว่าคิดอะไรอยู่ต้องเขียน

ผมอยากจะบอกน้อง ๆ ว่า อย่าไปเชื่อเจ้า "มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก" มากนัก

ขนาดพ่อของเรา เรายังไม่บอกในสิ่งที่เราคิดทั้งหมดเลย

แล้วเจ้ามาร์คเป็นใคร ทำไมเราต้องบอกมัน

การคิดแล้วบอกเลยนี่ต้องระวัง เพราะทุกอย่างมันสามารถเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ทั้งสิ้น อย่างกรณี มาร์ด V ๑๑ เป็นต้น โพสต์แล้วเป็นเรื่องเป็นราว

ดังนั้น ทุกครั้งที่จะเขียน ให้คิดเสมอว่า ถ้าในอนาคตเราโด่งดัง มีคนรู้จักทั้งประเทศ

วันหนึ่งเราจะเป็น "ณเดชน์" เราจะเป็น "พลอย เฌอมาลย์"

เวลาจะเขียน จะได้ระวังขึ้น

แต่ผมไม่แน่ใจว่า เด็กรุ่นใหม่เขาอาจจะมีภูมิคุ้มกันมากกว่าเราก็ได้ คือ เขาจะคิดว่า มันเป็นเรื่องธรรมดาที่คนเราคิดแล้วก็โพสต์ไว้ ผ่านไปแล้วก็ช่างมัน ชีวิตมันดำเนินต่อไป

ทัศนะแบบนั้นอาจเป็นเรื่องถูกสำหรับวันนี้ก็ได้นะ มันเป็นเรื่องของยุคสมัยไง เราอาจไม่ชินเอง

ผมไม่ได้ซีเรียสอะไร เพราะผมสนุกกับการมองความเปลี่ยนแปลง

ถามว่ากลมกลืนไปกับมันไหม

ไม่ "กลืน" ครับ

แค่ "เคี้ยว"

 

........................................................................................................

 

ความรุนแรงที่เห็นในเว็บบอร์ดก็เยอะขึ้น คนไม่รู้จักกันเลย สามารถด่ากันต่าง ๆ นานาได้เต็มไปหมด บางทีก็ไม่รู้เรื่องนั้นดีพอ แต่เห็นคนอื่นด่า เราก็เข้าร่วมด้วย

เดี๋ยวนี้เรามองเห็นประเด็นนี้เป็นเรื่องธรรมดาเกินไปหรือเปล่า

ทุกครั้งที่เราเข้าไปบริโภคเว็บบอร์ด เราก็เจอคนแบบนี้ทั่วหัวระแหง

อาจจะจริงที่หนุ่มเมืองจันท์ว่า "คนเรามีความรู้เพิ่มขึ้น แต่มีวิจารณญาณน้อยลง"

เราเลือกที่เชื่อข่าวสารโดยไม่ต้องกลั่นกรอง แต่รู้ไว้เพื่อจะได้ไปคุยกับคนอื่นได้อย่างที่รู้สึกว่า "ไม่ตกข่าว"

"ไร้สาระสิ้นดี" คำนี้ผมเคยบ่นกับเพื่อนผมที่ชอบเข้าไป "อัพเดทข่าวสารจากเว็บบอร์ด" ที่วัน ๆ หนึ่งว่างมากจนไม่รู้จะทำอะไรมากกว่าไป เข้าไปเชื่อข้อมูลที่ไม่ได้คัดกรองขนาดนี้ (นี่เรียนปริญญาเอกนะ)

ที่นี่ในเรื่องแปลกประหลาดที่หนุ่มเมืองจันท์ได้ตั้งคำถามว่าไว้ "เวลาคนเราคิดอะไร เราต้องบอกให้คนอื่นรู้ไปกับเราด้วยจริง ๆ เหรอ"

ผมก็ว่าจริง แปลกดี หลังจากที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปทดลองใช้ดูสักระยะหนึ่ง

คนมีวุฒิภาวะทางจิตใจหน่อย ก็ใช้เหตุผลว่า คิดแล้วต้องเขียน จะได้ไม่ลืม อะไรประมาณนั้น

แต่เท่าที่เห็นนักศึกษาใช้งานเฟซบุ๊กกันก็คือ "ที่ระบายอารมณ์" บางทีติดหยาบคาย เอาสันดานดิบติดเข้ามาใช้ด้วย

ถึงได้มีคนว่า คนเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเรียนระดับไหน ต่างใช้ "สันดานดิบ" เหนือ "การมีเหตุผลใคร่ครวญ" ทั้งสิ้น

เรียนจบปริญญาเอกเป็นผักปลา แต่กลับไม่ได้ใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมา ก่อประโยชน์อะไรมากกว่าไปกอบและโกย

ถึงกับมีคนใช้คำว่า "พวกมีความรู้ แต่ไม่มีการศึกษา"

 

Social Networking เป็นเพียงเครื่องมือเท่านั้น แต่ไม่ใช้สำหรับการยกระดับจิตใจของมนุษย์ให้มีคุณธรรม จริยธรรมขึ้นแต่อย่างใด

เหตุผลที่เลือกใช้ตอบคำถามนี้ คือ มัน คือ Social และ Social คือ สังคม ดังนั้น สังคมก็ย่อมมีทั้งคนดีและคนเลว เป็นปกติของสังคม

คนดีใช้ ย่อมดี

คนเลวใช้ ย่อมเลว

มนุษย์ผู้มีภูมิคุ้มกันนั้น ไม่น่าเป็นห่วง

แต่มนุษย์ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำ อันนี้มีปัญหาแน่

วิจารณญาณเหมือนจะหายไปเรื่อย ๆ กับความเร็วปานสายฟ้าของข่าวสาร

ฐานข้อมูลใหญ่มหึมา แต่กลับค้นหาวิจารณญาณแทบไม่เจอ

 

ผมแค่อ่านแล้วคิด คิดแล้วเขียน

เขียนเพื่อลองใคร่ครวญความเท่านั้น

เหรียญมีสองด้าน เป็นเรื่องปกติ

เพียงแค่หามุมมองในการเลือกที่จะสอนนักศึกษาต่อไปเท่านั้น

 

บุญรักษา มนุษย์ยุคใหม่ทุกท่านครับ ;)

 

........................................................................................................

 

ขอบคุณแง่คิดดี ๆ จากหนังสือ...

หนุ่มเมืองจันท์.  ให้โอกาสกับสิ่งที่เราไม่รู้.  พิมพ์ครั้งที่ 3.  กรุงเทพฯ: มติชน, 2554.

 

หมายเลขบันทึก: 438721เขียนเมื่อ 10 พฤษภาคม 2011 00:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:43 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เหรียญมีสองด้าน เป็นเรื่องปกติ

ถูกใจพี่มากเลยค่ะ..เห็นด้วยอย่างยิ่ง ทุกประการ

  • สวัสดีค่ะ
  • เราพบเห็น อ่าน.....เรื่องราวความไม่ดี ความรุนแรงต่างๆที่เกิดขึ้นกับคน  แล้วเรามักปล่อยผ่านเห็นว่าช่างเถอะ....(ช่างมัน) แล้วต่อๆมาเรื่องนั้นๆกลายเป็นเรื่องปกติที่แต่ละคนเห็นว่าไม่ได้ผิด ...ไม่บาป...นำไปปฏิบัติ และใช้กันอย่างแพร่หลาย....ถ้าเราไม่ช่วยกันคงแย่ยิ่งขึ้นๆนะคะ
  • เฮ้อ....จะทำอย่างไรกันดี....

สวัสดีค่ะ

พี่คิมอ่านบันทึกนี้ก็เห็นด้วยค่ะว่า  การพูดหรือการคิด  ย่อมออกมาจากความเป็นคนของคนนั้น ๆ นะคะ

คนเราถนัดแต่พูดหรือสนใจในเรื่องที่จะให้คนอื่นติดลบ  หากตัวเองจะติดลบกับการพูด การเขียนของตนเองบ้างไม่เคยคิด

การคิดเห็นอกเห็นใจคนอื่น  การมีจิตสำนึกร่วมรับผิดชอบก็คงหาได้ไม่ยากในสังคมบางกลุ่ม

เรื่องแบบนี้หากได้รับการสอนให้ฝึกคิด ชี้แนะ  ชี้นำ ตั้งแต่ในครอบครัว ในโรงเรียน  และนำสื่อมาให้เด็กได้วิเคราะห์บ้าง  ก็น่าจะฝึกได้นะคะ

อ่านจบแล้วทำให้พี่คิมต่อยอดได้หลายเรื่องค่ะ

ผมก้เป็นคนนึงครับ ที่ใช้เวลากับ เว็บบอร์ดต่างๆ เยอะพอสมควร .. แต่ไม่ได้เข้าไปเชื่อนะครับ เข้าไปศึกษาปรากฏการณ์

บางคนเป็นพนักงานบริษัทที่ต้องให้บริการลูกค้า บางวันงานมากๆ อารมณ์เสีย เขียนบ่นลูกค้าบ้าง นินทานายบ้าง ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีกับตัวเองซักนิดเดียว น่าสงสาร

ขอบคุณมากครับ พี่คุณ ครู ป.1 ;)...

เหรียญมีสองด้าน บ้านมีสองหลัง

เปิดสอนกรณีศึกษา "การใช้วิจารณญาณสำหรับการประเมินค่าความเป็นคน" กันครับ ท่าน ศน.ลำดวน ;)...

อย่าให้ความเคยชินมาลดคุณค่าความเป็นคนของเรา ... ครับ

สวัสดีครับ พี่ คิม นพวรรณ ;)...

คำพูดส่อภาษา กิริยาส่อสกุล ใช่ไหมครับ

การสอนต้องสอนตั้งแต่ที่บ้าน ไปสัมพันธ์กับทางโรงเรียน

ขอบคุณนะครับพี่ ;)...

ขอบคุณครับ คุณ บีเวอร์ ;)...

ชอบครับ คำว่า "ไม่ใช่เข้าไปเชื่อ แต่เข้าไปศึกษาปรากฎการณ์"

จะด้วยเหตุใด เงื่อนไขใดก็ตามเเต่

เราจำเป็นต้องเรียน เเม้ในสถานที่ที่ไม่สมควรที่สุด ยังเห็นมุมมองบางอย่างให้เราได้เรียนรู้

การสื่อสารผ่านเครือข่ายทางสังคมออนไลน์ ในฐานะคนทำงานพัฒนา ในฐานะคนศึกษาด้านประชากร ผมกลับมองว่าตรงนี้เองเป็นโอกาสอย่างมาก สำหรับการดูปรากฏการณ์ทางสังคมเเล้วนำมาวิเคราะห์ เรียนรู้...

ผมไม่เคยอคติกับเครือข่ายสังคมทุกแบบ เเละใช้ทุกอย่าง ได้ประโยชน์จากเครือข่ายเหล่านี้ หลายเรื่องเป็นเรื่องเหลือเชื่อ หลายเรื่องราวจากที่คิดกลายเป็นจริงได้ ไม่ยากนัก

ผมอีกคนที่ใช้ช่องทางการสื่อสาร อ่านเวบบอร์ดต่างๆตามสมควร อ่านเพื่อเรียนรู้ อ่านเพื่อรู้เท่าทัน เเละ ผมก็คิดออกไปดังๆ หากต้องการการเเลกเปลี่ยน...เเละได้ผลพอสมควร

 

ขอบคุณครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ;)...

มันเป็น "ที่สังเกตปรากฎการณ์ของคนในสังคม" ตามที่คุณเอกว่านั่นแหละ

ปรากฎการณ์ที่มีทุกอย่างอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นที่มีหลายมุมที่สามารถมองเห็นได้

หากเรามีวิจารณญาณมากพอ มิเป็นปัญหาใด ๆ ครับ แต่หากเราขาดหรือมีน้อย

ตัวเราเองก็จะสั่นไหวไปกับปรากฎการณ์บางอย่างได้ง่ายเช่นกันครับ

อย่างน้อย ผมคนหนึ่งล่ะที่ "สั่นไหว" ง่าย เพราะหัวใจเป็นก้อนเนื้อครับ อิ อิ

แวะมาอ่านบันทึก

และมาแจ้งข่าว โรงเรียนในสังกัดสพท.เชียงใหม่ ต้องการรับครูสอนคอมพิวเตอร์หลายอัตรา ด่วนๆ

สนใจติดตามข่าวใน เว็ปสพท.เชียงใหม่ เขต 1 นะคะ

ขอบคุณมากครับ คุณ ครูเอ ;)...

น่าจะมาส่งข่าวที่คณะนะครับเนี่ย ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท