แอลกอฮอล์กับไวรัสตับอักเสบซี


การดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้การจำลองตัวของไวรัสตับอักเสบซีเพิ่มขึ้น ทำให้ระดับของไวรัสในผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีสูงขึ้น ทำให้อาร์เอ็นเอของไวรัสในเซลล์เพาะเลี้ยงมากขึ้น

เวลาดื่มแอลกอฮอล์ เซลล์ของร่างกายจะสลายแอลกอฮอล์ด้วยเอ็นไซม์แอลกอฮอล์ ดีไฮดรอจีเนส (alcohol dehydrogenase) ที่อยู่ในไซโตพลาสมเกิดเป็นอะเซตัลดีฮัยด์ (acetaldehyde) และ NADH นอกจากนี้แอลกอฮอล์ยังถูกย่อยด้วยเอ็นไซม์ชื่อไซโตโครม พี450 (cytochrome P450 ชื่อย่อคือ CYP2E1) ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่อยู่ในเซลล์ที่บริเวณเอ็นโดพลาสมิคเรติคิวลัม (ER) ที่ผลิตมากขึ้นตามปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มมากขึ้นๆ ทำให้เกิด อะเซตัลดีฮัยด์ NADP+ และอนุพันธ์ของอ็อกซิเจนที่ว่องไวในปฏิกริยาออกซิเดชั่น (Reactive oxygen species, ROS)  สารพวกอะเซตัลดีฮัยด์จะถูกเปลี่ยนเป็นอะซีเตทและ NADH อย่างรวดเร็วด้วยเอ็นไซม์ อัลดีฮัยด์ ดีไฮดรอจีเนส (aldehyde dehydrogenase)


มีการทดลองยับยั้งเอ็นไซม์ที่เกี่ยวข้อง (CYP2E1 และ aldehyde dehydrogenase) พบว่าสามารถลดผลของแอลกอฮอล์ต่อการเพิ่มจำนวนไวรัสได้ สารพวกอะซีเตท อะซีโตน ไอโซโพรพานอล ก็ให้ผลเพิ่มการจำลองตัวของไวรัสตับอักเสบซี โดยผลสารเหล่านี้จะเกิดเมื่อระดับอัตราส่วนของ NADH/NAD+ ต้องสูงด้วย เนื่องจากแอลกกอฮอล์ อะเซตัลดีฮัยด์ อะซีโตน และอะซีเตทต่างทำให้ปริมาณโฆเลสเตอรอลในเซลล์สูงขึ้น และการทดลองใช้ยาลดไขมันสามารถลดผลการเพิ่มจำนวนของไวรัสตับอักเสบซีที่เป็นผลจากแอลกอฮอล์และสารต่างๆเหล่านั้นได้ ดังนั้นเมตาบอลิสมของไขมันและการเปลี่ยนแปลงระดับของ อัตราส่วนของ NADH/NAD+ น่าจะเกี่ยวข้องกับกลไกที่แอลกอฮอล์ทำให้ไวรัสนี้เพิ่มจำนวน และเมตาบอไลท์พวก ROS ไม่เกี่ยวข้องเนื่องจากการทดลองพบว่า ROS ไปลดการเพิ่มจำนวนของไวรัสตับอักเสบซี


อ้างอิง
Seronello S, Ito C, Wakita T, Choi J.
J Biol Chem. 2009 Nov 12. [Epub ahead of print]
Ethanol enhances hepatitis C virus replication through lipid metabolism and elevated NADH/NAD+

หมายเลขบันทึก: 314334เขียนเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2009 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เรียนท่านพันคำ

ทำไมผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง จึงถูกห้ามดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์คะ

และจริงไหมที่เบียร์มีแอลกอฮอล์น้อยกว่าเหล้า

รออ่านคำตอบนะคะ

เพราะครูต้อยตอบคำถามเพื่อนร่วมแก๊งค์เบาหวานบ่ได้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณครู krutoiting

ถ้าจะให้ถูกต้องทันสมัยกับข้อมูลเรื่องนี้ต้องปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบต่อมไร้ท่อครับ แต่ตรงนี้เป็นข้อมูลเท่าที่ทราบครับ มีหลายประเด็นที่ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกเหนือจากทำให้เมา ขาดสติ ควบคุมตนไม่ได้ดีแล้ว ก็เป็นเพราะ

  1. คนเหล่านี้มักจะอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินอยู่แล้ว แล้วเมตาบอลิสมในคนอ้วนก็มีแนวโน้มที่จะเป็นเบาหวาน ที่นี้แอลกอฮอล์เป็นสารที่ให้แคลอรี่ต่อกรัมสูงกว่า ทำให้มีแคลลอรี่เกินต้องการจะนำไปสู่การสะสมยิ่งขึ้น
  2. แอลกอฮอล์ยับยั้งกระบวนการสร้างไกลโคเจน (วิกิพีเดีย) ซึ่งเป็นกลไกนำกูลโคสจากเลือด
  3. โอกาสเกิดปฏิกิริยากับยาเบาหวาน บางอย่างทำให้การเกิดภาวะน้ำตาลต่ำจากยาเบาหวานมากขึ้น ปฏิกิริยากับยาเบาหวานพวกซัลโฟนิลยูเรียทำให้เกิดอาการได้ยาไดซัลฟิแรม (คือมีการยับยั้งการสลายอะเซตัลดีฮัยด์ไปเป็นสารไม่มีพิษ ดังนั้นทำให้เกิดพิษจากอะเซตัลดีฮัลย์ซึ่งมีอาการมากมายรวมทั้งการหน้าแดง วูบวาบ อาการมึน)
  4. เว็บนี้ http://diabetes.wikia.com/wiki/Alcohol ว่าจะทำให้เกิดภาวะน้ำตาลตกในผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้อินสูลิน
  5. น่าจะมีอีก แต่เท่านี้ก็เห็นสมควรไม่ดื่ม หรืออาจดื่มเล็กน้อยโดยปรึกษาแพทย์ผู้รักษา

ต่อครับ

ถูกต้องครับ แอลกอฮอล์มากหรือน้อยในเครื่องดื่มดูได้จากที่ฉลากระบุ alcohol content ครับโดยมากเป็นเปอร์เซ็นต์ในหน่วยปริมาตร เช่น เบียร์มี 4-6 % (เบียร์สิงห์มี 6 เปอร์เซ็นต์ ส่วนเบียร์ลาร์เกอร์ของชาติต่างๆมัก 5 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าของพี่ไทยคอแข็ง) ก็คือ 100 มิลลิลิตร มี เอธานอล 4-6 มิลลิลิตรครับ ส่วนเหล้านั้นมักจะมีเปอร์เซ็นต์สูง 20 % ขึ้นไป อย่างเหล้าขาว 40 ดีกรี ก็ 40 % สมัยผมเด็กๆ แฟนๆเหล้าขาวมักแวะไปเติมดีกรีครั้ง 1 ถ้วยเล็กๆก็รู้สึกกระชุ่มกระชวยแล้ว ส่วนไวน์อยู่ในช่วงประมาณ 9-12 % (สปาไวน์คูลเลอร์มีแอลกฮอล์ต่ำพอๆกับเบียร์ครับ)

เพิ่มเติมอาการพิษของ อะเซตัลดีฮัยด์ ครับ

นอกจากมีอาการร้อนวูบวาบ หน้าและผิวหนังแดง (ที่เห็นในผู้ดื่มแอลกฮอล์ตอนแรกๆ) อาการอื่นก็มี ปวดหัวตึบๆๆ มึนๆ หัวใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน เห็นภาพเบลอ เป็นลมเมื่อเปลี่ยนท่าทาง หรือถีงขั้นระบบไหลเวียนล้มเหลว

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท