ห้องสมุดประชาชนอำเภอพานทอง
ห้องสมุดประชาชนอำเภอพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี

ประวัติอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี


มารู้จักอำเภอกันเถอะ

              อำเภอพานทอง  Amphoe  Phan  tong

คำขวัญจังหวัดชลบุรี  ทะเลงาม ข้าวหลามอร่อย อ้อยหวาน จักสานดี ประเพณีวิ่งควาย

คำขวัญอำเภอ  เมืองอิฐแกร่ง   แหล่งเกษตร   เขตอุตสาหกรรม   คุณธรรมหมอพระ            ศิลปช่างทอง

ที่อยู่ที่ว่าการอำเภอ   ม.4 ถ.พานทอง - หัวไผ่ ต.พานทอง อ.พานทอง จ.ชลบุรี 20160

หมายเลขโทรศัพท์     0-3845-1110 และ 038451982

หมายเลขโทรสาร 0-3845-1110และ 038451982

ประวัติอำเภอพานทอง

         ย้อนหลังไปเมื่อประมาณ 200 ปีเศษ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าพระเจ้าตากสินได้นำทหารในบังคับบัญชาตีฝ่าวงล้อมทหารพม่าหลบหนีออกจากกรุงศรีอยุธยา และกวาดต้อนครัวเรือนรายทางมาตั้งเมือง และค่ายทหารชั่วคราวขึ้นที่ตำบลโป่งตามุข เรียกว่าเมืองโป่งตามุข เป็นเมืองควบคุมหัวเมืองชายทะเล มีเจ้าเมือง ศาล และเรือนจำ สำหรับใช้เป็นที่ปกครองชำระคดีความ  โดยมีตัวเมืองตั้งอยู่บริเวณวัดโป่งตามุข ต.หนองหงษ์ ในปัจจุบัน
         ในสมัยนั้นมีพรานป่าคนหนึ่งชื่อ ทอง เป็นชาวอยุธยา ได้อพยพครอบครัว
และญาติพี่น้องหนีพม่ามาตั้งภูมิลำเนาทำมาหากินเลี้ยงชีพในทางล่าสัตว์อยู่ที่หมู่บ้านเล็ก  ริมคลองซึ่งแยกจากคลองบางปะกง (ปัจจุบันเรียกคลองพานทอง) ตรงระหว่างตำบลบ้านเก่ากับตำบลบางนางในปัจจุบัน และพร้อมกันนั้น นายพรานทองได้ทำหน้าที่เป็นจารชนสืบข่าวของข้าศึกถวายพระเจ้าตากสิน และได้รวบรวมกำลังเข้าร่วมกับพระเจ้าตากสินกอบกู้อิสรภาพขับไล่พม่า จนกรุงศรีอยุธยาเป็นเอกราชตามเดิม เมื่อเสร็จศึกสงครามแล้ว นายพรานทองจึงได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งห่างจากหมู่บ้านของตนไปทางทิศตะวันออกประมาณ 5 กิโลเมตร   ริมคลองสายเดียวกัน ให้ชื่อว่า "วัดพรานทอง"  นัยว่าเพื่อเป็นการล้างบาปที่ตนเองมีอาชีพในทางล่าสัตว์ และได้อพยพครอบครัวมาประกอบอาชีพเป็นหลักฐานอยู่ในบริเวณใกล้วัดพรานทองนี้ชาวบ้านจึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า "หมู่บ้านพรานทอง" และเรียกคลองซึ่งแยกจากคลองบางปะกงว่า "คลองพรานทอง" ด้วย แต่ด้วยเหตุที่ชาวบ้านออกเสียงควบกล้ำ ร. ไม่ชัดเจน ฉะนั้นคำว่า "วัดพรานทอง"  "บ้านพรานทอง" และ "คลองพรานทอง"  จึงได้เพี้ยนเป็น "วัดพานทอง" "บ้านพานทอง" และ  "คลองพานทอง"  ดังในปัจจุบัน
             ต่อมาเมื่อประมาณ 70  ปีเศษนี้  ประชากรได้เพิ่มจำนวนหนาแน่นมากขึ้น จากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุได้ความว่า สภาพพื้นที่ของอำเภอพานทอง  สมัยนั้น เป็นที่ราบลุ่มคล้ายท้องกะทะ เหมาะแก่การทำไร่นา มึคลองธรรมชาติจากอำเภอพนัสนิคม ผ่านหมู่บ้านท่าตะกูด หมู่บ้านพานทอง หมู่บ้านเก่า ถึงแม่น้ำบางปะกง ผลผลิตทางการเกษตรจาก อ.พนัสนิคม จะถูกขนส่งมาทางเรือในฤดูน้ำหลาก มารวมจุดพักขนถ่ายและซื้อขายที่หมู่บ้านท่าตะกูด ส่วนหน้าแล้งประชาชนจะส่งผลผลิตทางการเกษตรมาทางล้อเลื่อน ซึ่งมีลักษณะ
คล้ายเกวียนขนาดเล็ก ใช้วัว ควาย ลากจูง ซึ่งชาวบ้านเรียกล้อเลื่อนว่า "ตะกูด" และเรียกหมู่บ้านที่เป็นชุมชนทางการค้านี้ว่า "ท่าตะกูด" บ้านท่าตะกูดนี้อยู่ห่างจากบ้านพานทองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นก็เริ่มมีโจรผู้ร้ายรบกวน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน 
และมีความจำเป็นที่ประชาชนจะต้องติดต่อราชการมากขึ้น ทางราชการ  จึงตั้งที่ว่าการอำเภอขึ้น โดยอาศัยบ้านนางเชย  สุอังคะ ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านพานทอง เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว ต่อมาได้ย้ายไปอาศัยโรงบ่อนที่บ้านท่าตะกูดเป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว และต่อมาได้ย้ายกลับมาตั้งทำการอยู่ที่เดิมอีก  โดยทางราชการ ได้ปลูกสร้างเป็นโรงไม้ขึ้น ใช้เป็นที่ว่าการอำเภอชั่วคราว  และเรียกชื่อว่า "อำเภอท่าตะกูด" จนถึงปี      พ.ศ.2451 จึงได้ปลูกสร้างที่ว่าการอำเภอถาวรหลังใหม่ขึ้น  ที่เดิม และพร้อมกันนี้ได้เปลี่ยนชื่ออำเภอใหม่เป็น "อำเภอพานทอง" สำหรับที่ว่าการอำเภอหลังปัจจุบันนี้ได้ย้ายมาตั้งเมื่อปี 2481

 ที่ตั้ง 

*  ด้านใต้  อำเภอบ้านบึง  อำเภอบ้านโพธิ์ (จังหวัดฉะเชิงเทรา)

*  ด้านตะวันออก  อำเอบางปะกง

*  ด้านเหนือ  อำเภอพนัสนิคม

*  ด้านตะวันออก   อำเภอเมืองชลบุรี

ด้านประชากร

1.  จำนวนประชากรทั้งสิ้น                  รวม 47,739   คน

2.  จำนวนประชากรชาย                     รวม 23,304   คน

3.  จำนวนประชากรหญิง                   รวม 24,435   คน

4.  ความหนาแน่นของประชากร        276.675  คน/ตร.กม.

     เนื้อที่/พื้นที่                                    173.037   ตร.กม.

ข้อมูลการปกครอง

   1.  ตำบล.......13.... แห่ง           2.  หมู่บ้าน....76.... แห่ง      

   3.  เทศบาล..2.....แห่ง              4.  อบต........11 ... แห่ง

 

การแบ่งเขตการปกครอง

อำเภอพานทอง  แบ่งเขตการปกครองออกเป็น  11  ตำบล

1.  ตำบลพานทอง

ประวัติความเป็นมาตำบลพานทองตั้งขึ้นช่วงหลังปี พ.ศ. 2440-2475 (สมัยกรุงศรีอยุธยา) ประชาชนส่วนใหญ่พูดภาษาไทยกลาง นับถือศาสนาพุทธ ตั้งอยู่ในเขตปกครองของอำเภอพานทอง ประกอบไปด้วย 10 หมู่บ้าน แบ่งเขตการปกครองเป็นเทศบาลตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล

สภาพทั่วไปของตำบลลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มแอ่งกระทะ มีคลองน้ำไหลผ่านหลายสาย มีพื้นที่ทั้งหมด 21.36 ตารางกิโลเมตร

จำนวนประชากรของตำบล  จำนวนประชากรในเขต อบต. 4,106 คน และจำนวนหลังคาเรือน 1,535 หลังคาเรือน

2.  ตำบลหนองตำลึง

ประวัติความเป็นมามีเรื่องเล่าต่อกันมาว่ามีพระรูปหนึ่ง เดินทางมาจากลาว รอนแรมมาถึงบ้านมะเขือ ขณะเดินทางมาได้ทำสตางค์ตกหายบอกว่าหนึ่งตำลึง ต่อมาพระองค์นี้ได้มาจำพรรษาที่วัดซึ่งได้สร้างขึ้นพร้อมกับชาวบ้านชื่อว่า วัดหนองตำลึง ซึ่งเป็นวัดที่มีอยู่จนปัจจุบันนี้ และชาวบ้านจึงพร้อมใจกันตั้งชื่อตำบลว่า ตำบลหนองตำลึงซึ่งเพี้ยนมาจากหนึ่งตำลึง

สภาพทั่วไปของตำบลเป็นที่ราบลุ่มดินปนทราย พื้นที่เหมาะแก่การทำการเกษตร

จำนวนประชากรของตำบลจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 7,411 คน แยกเป็นชาย 3,625 คน หญิง 3,786 คน

3.  ตำบลมาบโป่ง

ประวัติความเป็นมา :  ก่อนที่จะมีการตรวจพระราชบัญญัติสภาตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 คณะกรรมการสภาตำบลมาบโป่งได้อาคารศูนย์พัฒนาตำบลซึ่งสร้างโดยงบประมาณของกรมการพัฒนาชุมชนเป็นที่ทำการสภาตำบล อาคารศูนย์พัฒนาตำบลดังกล่าวนอกจากใช้เป็นที่ทำการสภาตำบลแล้วยังใช้เป็นศูนย์ข้อมูลประจำตำบล ศูนย์ฝึกอาชีพที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน ศูนย์เยาวชนตำบล เป็นเอนกประสงค์ เมื่อมีพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ.2537 ได้พิจารณาให้ยกฐานะเป็น อบต. สำหรับภาระกิจหน้าที่ของ อบต. ที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลมาบโป่ง ประกาศใช้สภาตำบลมาบโป่ง ดังนั้นเพื่อเตรียมความพร้อม สิ่งแรกคือการสร้างอาคาร

สภาพทั่วไปของตำบล :  เขต อบต.มาบโป่งเป็นที่ราบลุ่มประกอบด้วยความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งมีพื้นที่กว้างยาว

จำนวนประชากรของตำบล :   จำนวนประชากรในเขต อบต. 4,471 คน และจำนวนหลังคาเรือน 1,497 หลังคาเรือน

4.  ตำบลหนองกะขะ

ประวัติความเป็นมาตำบลหนองกะขะแยกมาจากตำบลมาบโป่ง ชาวบ้านมีอาชีพทำนามาแต่ดั้งเดิม (ประมาณ 100 ปีก่อน) แต่ไม่ได้ผลมากนัก เพราะพื้นที่เป็นที่ลุ่มมีน้ำมาก การสัญจรใช้เกวียนเป็นพาหนะในการเดินทาง เมื่อปี 2496 มีถนนตัดผ่านไปอำเภอท่าตะกูด (อำเภอพานทองปัจจุบัน) จึงได้แบ่งพื้นที่ตำบลมาบโป่งออกเป็นตำบลหนองกะขะอีกตำบลหนึ่ง มีพื้นที่ 52,625 ไร่ ปัจจุบันแบ่งเขตการปกครองออกเป็น 5 หมู่บ้าน

สภาพทั่วไปของตำบลพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ลุ่มเหมาะแก่การทำการเกษตร มีลำคลองหลายสาย มีดงตาลขึ้นมากมาย ชาวบ้านจึงมีอาชีพขึ้นต้นตาลและทำน้ำตาลขายเป็นอาชีพเสริม ประกอบกับพื้นที่เป็นแหล่งดินเหนียวที่ดีเหมาะสำหรับทำอิฐ จึงมีโรงงานอิฐในพื้นที่หลายโรง

จำนวนประชากรของตำบล :   จำนวนประชากรทั้งสิ้น 3,488 คน แยกเป็นชาย 1,671 คน เป็นหญิง 1,817คน

5.  ตำบลหนองหงษ์

ประวัติความเป็นมาเล่ากันว่าเดิมมีหนองน้ำแห่งหนึ่งอยู่ที่ ม.2 มีหงส์ตัวหนึ่งมาอาศัยอยู่ในหนองน้ำแห่งนี้ ต่อมาได้สูญพันธุ์ไป ชาวบ้านผู้มีฝีมือได้คิดแกะสลักหงส์ด้วยไม้เนื้อแข็ง แสดงเป็นสัญลักษณ์แทนไว้ เพื่อเป็นอนุสรณ์ เป็นรูปหงส์ 1 ตัว อยู่บนเสาสูง ประมาณ 6 ม. ปักอยู่ทางทิศใต้ของหนองน้ำ ตราบจนถึงปัจจุบันนี้

สภาพทั่วไปของตำบลลักษณะภูมิประเทศของ ต.หนองหงษ์ เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำการเกษตร

จำนวนประชากรของตำบล :   จำนวนประชากรในเขต อบต. 4,874 คน

6.  ตำบลโคกขี้หนอน

ประวัติความเป็นมาโคกขี้หนอนเป็นชื่อเรียกกันมานาน แต่เดิมมีสภาพเป็นโคกใหญ่ มีพืชพันธุ์มากมายและเป็นที่อาศัยของนกนานาชนิด ชาวบ้านเรียกหมู่บ้านแถวนี้ว่าบ้านโคกขี้หนอน และเป็นตำบลโคกขี้หนอนในเวลาต่อมา

สภาพทั่วไปของตำบลห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 10 กิโลเมตร สภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ประชาชนส่วนมากทำอาชีพเลี้ยงปลา เลี้ยงกุ้ง เพาะพันธุ์ปลา เลี้ยงไก่ และรับจ้าง

จำนวนประชากรของตำบล    จำนวนหลังคาเรือน 615 หลังคาเรือน

7.  ตำบลบ้านเก่า

ประวัติความเป็นมาตำบลบ้านเก่า มีเล่าสืบต่อกันมาว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ.2310-2313 เป็นปีที่กรุงศรีอยุธยาแตก มีราษฎรอพยพมาจากอยุธยาและช่องนนทรีแต่ในระหว่างนั้น ณ บริเวณ ตำบลบ้านเก่า มีผู้อพยพมาจากเวียงจันทร์ ประเทศลาว ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานทำกิน อยู่บริเวณคลองส่งน้ำ ซึ่งมีชื่อว่าคลองพานทอง ต่อมารัชสมัย รัชกาลที่ 1-2 แห่งราชวงศ์จักรี ได้เสด็จมาเยี่ยมราษฎร ได้เห็นว่าสถานที่ดังกล่าวนี้เป็นที่ลุ่ม ซึ่งไม่เหมาะจะเป็นที่อยู่ของคนลาวจึงโปรดเกล้าให้อพยพคนลาวให้ไปอยู่ที่ดอน และอพยพคนมอญให้มาอยู่แทน แล้วโปรดเกล้าให้สร้างวัดขึ้น ซึ่งวัดเดิมนั้นห่างจากที่ตั้งของวัดปัจจุบันประมาณ 500 เมตร และคนทั่วไปเรียกว่าวัดบ้านมอญและตำบลก็เรียกกันตามผู้ที่อยู่ คือ ตำบลมอญ ต่อมาสมัย จอมพล ป.พิบูลสงคราม รวมปี พ.ศ.2484 ได้เปลี่ยนชื่อให้เป็น ตำบลบ้านเก่า และชื่อวัดก็เปลี่ยนเป็นวัดบ้านเก่า ตามชื่อของตำบล และใช้มาถึงปัจจุบันนี้

สภาพทั่วไปของตำบลพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่ม และเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรม มีพื้นที่ทั้งหมด 7,756 ไร่ มี 7 หมู่บ้าน หรือมีพื้นที่ 11.876 ตร.กม.

จำนวนประชากรของตำบล :   จำนวนประชากรในเขต อบต. 3,269 คน และจำนวนหลังคาเรือน1,333 หลังคาเรือน

8.  ตำบลหน้าประดู่

ประวัติความเป็นมาในอดีตชาวบ้านส่วนใหญ่อพยพมาจากนครเวียงจันทร์ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ตำบลหน้าประดู่ ที่เรียกตำบลหน้าประดู่เนื่องจากมีลำคลองไหลผ่านหมู่บ้านและมีท่าเรือขนส่งทางน้ำ ที่ท่าเรือมีต้นประดู่ใหญ่ 2 ต้น จึงเรียกว่าบ้านท่าประดู่ ต่อมาเพี้ยนไปเป็นบ้านหน้าประดู่ ดังในปัจจุบัน

สภาพทั่วไปของตำบลพื้นที่ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม มีเนื้อที่ประมาณ 9,276 ไร่

จำนวนประชากรของตำบล :  จำนวนประชากรในเขต อบต. 2,401 คน และจำนวนหลังคาเรือน 634 หลังคาเรือน

 9.  ตำบลบางนาง

ประวัติความเป็นมามีตำนานเล่าว่า สมัยก่อนมีพระนางองค์หนึ่งได้อพยพหนีข้าศึกมาจากเมืองเวียงจันทร์ มาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ บริเวณนี้ อาศัยอยู่นานจนกระทั่งชาวบ้าน เรียกบริเวณนี้ว่าบ้านพระนางต่อมาเพี้ยนเป็น บ้านบางนาง

  สภาพทั่วไปของตำบล :    ต.บางนาง ตั้งอยู่ในเขต อ.พานทอง จ.ชลบุรี อยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอ ห่างจากที่ว่าการอำเภอ 5 ก.ม.และห่างจาก จ.ชลบุรี 20 ก.ม. ประกอบด้วย 9 หมู่บ้าน มีพื้นที่ประมาณ 23.82 ตารางกิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่ม มีคลองไหลผ่านหลายสาย

จำนวนประชากรของตำบล : จำนวนประชากรในเขต อบต. 5,069 คน 

10.  ตำบลเกาะลอย

ประวัติความเป็นมาตำบลเกาะลอยเดิมเป็นพื้นที่ในตำบลเกาะลอยเป็นดอนบริเวณล้อมรอบเป็นที่ลุ่ม ลักษณะจึงดูเหมือนเกาะ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อตำบลเกาะลอย

สภาพทั่วไปของตำบลมีสภาพทางกายภาพเป็นพื้นที่ราบสูง ไม่มีพื้นที่ป่าสมบูรณ์ และไม่ได้เป็นแหล่งต้นน้ำลำห้วย พื้นที่เหมาะแก่การทำการเกษตร และปัจจุบันมีการพัฒนาอาชีพทางด้านเกษตรกรรมครบวงจร

จำนวนประชากรของตำบล :   จำนวนประชากรในเขต อบต. 2,605 คน

 11.  ตำบลบางหัก

ประวัติความเป็นมาตำบลบางหักเป็นตำบลที่ไม่ใหญ่มากนัก เค้าเล่ากันว่าสมัยก่อนมีพระธุดงค์มาบิณฑบาตรเดินข้ามสะพานจนสะพานหัก เลยเรียกกันว่าบางสะพานหักเรียกไปเรียกมาเลยเป็นบางหักจนถึงปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ในตำบลนับถือศาสนาพุทธ ตั้งอยู่ในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลอย 99 หมู่ 4 ตำบลเกาะลอย อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านบางหัก บ้านหนองสองห้อง บ้านหนองฝาแฝด และบ้านเกาะกลาง

สภาพทั่วไปของตำบล

หมายเลขบันทึก: 124084เขียนเมื่อ 1 กันยายน 2007 15:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
แจ๋วมาก ๆ  เลยครับห้องสมุดพานทอง  สุดยอดเลย
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท