ข่ายวิจัยนโยบายเสริมศักยภาพ อสม สู่การพัฒนาในอนาคต


  รู้จักการสาธารณสุขมูลฐานและความเป็นมาก่อนนำมาสู่ อสม 

เมื่อปี ๒๕๒๑ (คศ. ๑๙๗๘) ประเทศไทยและกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลกทั่วโลก ได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างบูรณาการให้มุ่งไปสู่ความมีสุขภาพดีถ้วนหน้าโดยร่วมประกาศเป็นเจตนารมย์ร่วมกันที่เมืองอัลมาอตา(Alma Ata) คาซัคสถาน สหภาพโซเวียต และจากนั้นก็แปรไปสู่การดำเนินการภาคปฏิบัติโดยเน้นยุทธศาสตร์การพัฒนาด้วยกลวิธีการสาธารณสุขมูลฐาน ถึงปี ๒๕๕๓ นี้ก็นับเป็นระยะเวลา ๓๒ ปีและย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ ๔ แล้ว

ประเทศไทยในเวลานั้นอยู่ในภาวะการพัฒนาประเทศในทุกด้านเพื่อมุ่งกระจายโอกาสการพัฒนาไปสู่ชนบทและคนส่วนใหญ่ของประเทศซึ่งอยู่ในชนบทมากกว่าร้อยละ ๗๐ ดังนั้น จึงสอดคล้องกับปรัชญาและกลวิธีของการสาธาณสุขมูลฐาน ซึ่งมุ่งสนองตอบต่อความจำเป็นของคนส่วนใหญ่ อีกทั้งจัดว่าเป็นพื้นฐานของการดำเนินงานสุขภาพในทุกมิติ ทั้งการรักษาพยาบาลทางการแพทย์ (Medical Care) การป้องกันโรค ควบคุมโรค (Preventive Health) การส่งเสริมทางสุขภาพ (Health Promotion) และการบำบัดฟื้นฟู ( Health Rehabilitation) จากความบาดเจ็บ อุบัติเหตุ และความพิการ ทั้งร่างกายและจิตใจ

เพื่อบรรลุความจำเป็นหลายด้านไปพร้อมกัน เมื่อดำเนินการขึ้นในประเทศไทยจึงมีการพัฒนารูปแบบผสมผสานให้การสาธารณสุขมูลฐานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นกลวิธีหลักที่นำการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งส่งเสริมในทางอ้อมให้เกิดความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนากับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียน เกิดการระดมความร่วมมือกันอย่างกว้างขวางทั้งภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชน โดยมีคณะกรรมการระดับชาติเป็นกลไกประสานงานและระดมความร่วมมือ คือ คณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐานแห่งชาติ มีหน่วยงานและผู้แทนขององค์กรที่มีบทบาทต่อการสร้างความเคลื่อนไหวของภาคสาธารณะหลายฝ่ายเข้ามาเป็นกรรมการและคณะทำงาน ทั้งกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องกับงานด้านการพัฒนาประเทศ สำนักคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมวิเทศสหการ กรมประชาสัมพันธ์ ทบวงมหาวิทยาลัย โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรรมแห่งชาตินี้โดยตำแหน่ง

  กลวิธีสำคัญที่ทำให้การสาธารณสุขมูลฐานเป็นสุขภาพของคนส่วนใหญ่ เพื่อคนส่วนใหญ่ และโดยคนส่วนใหญ่ 

การออกแบบการจัดการทางสังคมดังกล่าว สะท้อนหลักการสำคัญในกลวิธีการสาธารณสุขมูลฐานที่มีนัยะต่อการทำให้คนส่วนใหญ่เพิ่มพูนความสามารถพึ่งตนเองและนำไปสู่การพัฒนาในมิติต่างๆที่มั่นคงยั่งยืนมากยิ่งขึ้น คือ :

    ๑. รูปแบบนวัตกรรมองค์กร : ดำเนินการโดยเครือข่ายความร่วมมือแบบผสมผสานหลายภาคส่วน (Multi-Sectorals Collaboration) ข้ามกรอบการแยกส่วนที่มีกระทรวง ทบวงกรม และภาคส่วนทางสังคมเป็นตัวตั้ง เน้นการเอาชุมชนและพื้นที่เป็นตัวตั้งและเปลี่ยนโครงสร้างเชิงอำนาจการนำการพัฒนาจากแนวดิ่งสู่ประชาชน หรือจากเบื้องบนสู่ล่าง (Vertical and Top-down Development) เป็นจากฐานรากของสังคมและชุมชนระดับต่างๆสะท้อนขึ้นสู่ภาคสาธารณะของประเทศ หรือจากฐานรากสะท้อนสู่เบื้องบน (Community-Based and Buttom-up Development Approach) ทำให้ภาครัฐลดบทบาทการคิดและทำแทนประชาชน ลดการแยกส่วน มุ่งบรรลุเป้าหมายของส่วนรวมไปพร้อมกันได้มากขึ้น โดยเฉพาะทางด้านสุขภาพ การศึกษา เศรษฐกิจและการผลิตของคนส่วนใหญ่ในภาคเกษตรกรรม การเมืองการปกครอง การสร้างความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน
    ๒. ทรัพยากรและปัจจัยดำเนินการ : เน้นการระดมทรัพยากร คน และสิ่งที่มีอยู่ในชุมชน (Local community resourses Mobilization) มาเป็นปัจจัยการพัฒนาที่เพียงพอและสนองตอบต่อความจำเป็นของชุมชนมากขึ้น สามารถแก้ข้อจำกัดของภาครัฐในการขาดแคลนทั้งกำลังคน งบประมาณ และทรัพยากร ทำให้เกิดผลดีสองด้าน คือ สังคมมีพลังในการริเริ่มการพัฒนาด้วยการพึ่งตนเองได้มากขึ้น และทรัพยากรภาครัฐที่มีขีดจำกัดอยู่ในตนเอง ก็ระดมไปสร้างความเป็นส่วนรวมให้มีประสิทธิภาพได้มากขึ้น
    ๓. เทคนิควิชาการ : มุ่งเน้นวิทยาการ ภูมิปัญญา เทคโนโลยีที่เหมาะสมและเทคโนโลยีจากท้องถิ่น ให้เป็นปัจจัยการพัฒนาที่ยั่งยืน (Local wisdom and appropriate technology utilization) ชาวบ้านสามารถพึ่งตนเองในการพัฒนา ทำให้สุขภาพเชิงรุก งานป้องกัน การดูแลตนเอง การคัดกรอง ในระบบสุขภาพมีความเข้มแข็ง เชื่อมโยงสุขภาพในขอบเขตที่กว้าง การรักษาและเทคโนโลยีที่จำเป็นนำไปใช้เพื่อกรณีที่จำเป็นได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
    ๔. การบริหารจัดการ : เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมในการพัฒนาของประชาชนและชุมชน (Community participation) ทำให้สนองตอบต่อความต้องการพื้นฐาน และเกิดกระบวนการเรียนรู้จากการแก้ปัญหา ทำให้สังคมเดินแสวงหาความร่วมกันได้มากขึ้น และทำให้มีพื้นฐาน ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาต่างๆในลำดับต่อมาอีกมากมาย กระทั่งปัจจุบัน

  การสาธารณสุขมูลฐานกับสังคมไทย 

การดำเนินงานพัฒนาอย่างผสมผสานโดยกลวิธีการสาธารณสุขมูลฐานในประเทศไทยนี้ มีกระทรวงสาธารณสุขกับมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นภาคีสนับสนุนทางวิชาการ โดยกระทรวงสาธารณสุขดูแลหน่วยปฏิบัติการและสนับสนุนทางวิชาการระดับภาค ๔ แห่ง ที่นครศรีธรรมราช ชลบุรี นครสวรรค์ และขอนแก่น ต่อมาได้ขยายเป็น ๕ แห่งที่ภาคใต้ตอนล่างที่จังหวัดยะลา ชื่อ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานระดับภาค มีการทำงานเชื่อมโยงเครือข่ายลงไปถึงชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศ ส่วนมหาวิทยาลัยมหิดลนั้นดูแลเครือข่ายระดับภูมิภาคในประเทศเชื่อมโยงออกไปยังเครือข่ายนานาชาติ โดยเน้นกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน แหลมทอง และอินโดจีน ชื่อ ศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขอาเซียน

ต่อมาเครือข่ายหน่วยงานดังกล่าวที่ดูแลโดยกระทรงสาธารณสุขนั้น ก็ได้พัฒนาเป็นศูนย์สนับสนุนสุขภาพภาคประชาชน หรือ สช  ส่วนศูนย์ฝึกอบรมและพัฒนาการสาธารณสุขมูลฐานอาเซียน ในความดูแลของมหาวิทยาลัยมหิดลที่ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ก็ได้พัฒนาเป็น สถาบันพัฒนาสาธารณสุขอาเซียน และต่อมาเป็น สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน : AIHD : ASEAN Institute for Health Development ดังปัจจุบัน

  ปัจจัยความสำเร็จของการสาธารณสุขมูลฐาน คือ อสม และพลังคุณธรรมต่อส่วนรวม 

เครือข่ายหน่วยงานดังกล่าวนี้ ประสานความร่วมมือทางวิชาการ ระดมทรัพยากร ตลอดจนสร้างยุทธศาสตร์การร่วมกันพัฒนาเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการมีสุขภาพดีถ้วนหน้า ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในระบบสุขภาพ การพัฒนาท้องถิ่น และการพัฒนาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชุมชนระดับต่างๆเป็นอย่างมาก เป็นความสำเร็จที่ได้รับการยอมรับของนานาประเทศ ซึ่งต่อมา องค์การอนามัยโลกก็จัดว่าบทเรียนการดำเนินงานพัฒนาประเทศโดยกลวิธีการสาธารณสุขมูลฐานของประเทศไทยนั้น เป็นแบบอย่างที่ดีที่สุดของโลกประเทศหนึ่ง และหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งองค์การอนามัยโลกเอง ก็ร่วมกันถ่ายทอดประสบการณ์ดังกล่าวของประเทศไทยนี้ให้กับอีกหลายแห่งของโลก

ภายใต้ความสำเร็จดังกล่าวนั้น รูปแบบการทำงานอย่างได้ผล ครอบคลุมไปถึงคนส่วนใหญ่ในชุมชนต่างๆของประเทศก็คือ การระดมพลังจิตอาสาของชาวบ้านให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาโดยใช้ชื่อว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อสม ซึ่งทุก ๑๕ ครัวเรือนในทุกหมู่บ้านจะมี อสม ๑ คน จังหวัดหนึ่งจึงจะมี อสม นับแต่ ๒-๓ หมื่นคน ไปจนถึง ๘ หมื่น - แสนคน ทั่วประเทศในปัจจุบันนี้จึงมี อสม อยู่กว่า ๑.๑ ล้านคน นับว่าเป็นศักยภาพและทุนทางสังคมที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศมาก อีกทั้งกล่าวได้ว่า ในรอบ กว่า ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้ ความเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาสุขภาพที่สำคัญที่สุดของประเทศนั้น เกิดจากบทบาทการมีส่วนร่วมของชุมชน ด้วยพลังจิตอาสาของ อสม นี่เอง

  สู่ทศวรรษที่ ๔ และความจำเป็นต่อการค้นหาอนาคตการพัฒนา 

การดำเนินงานดังกล่าวได้ผ่านไปกว่า ๓๐ ปีและเริ่มย่างเข้าสู่ทศวรรษที่ ๔ ซึ่งการพัฒนาสุขภาพก็ได้ดำเนินการไปในแนวทางที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และสนองตอบต่อความจำเป็นของการพํมนาในเงื่อนไขแวดล้อมที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ใช้รูปแบบ การพัฒนาเมืองน่าอยู่ซึ่งเป็นการนำเอาปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อมเมืองและการพัฒนาเมือง การเมือง ศิลปวัฒนธรรม มาบูรณาการกับการพัฒนาสุขภาพ (Socio-economic and Cultural Determinants in Health), การสร้างเสริมสุขภาพซึ่งเป็นการปรับกระบวนทรรศน์สุขภาพจากที่เน้นการตั้งรับและรักษาทางการแพทย์ให้หายจากความเจ็บป่วย (Illness Health) ไปสู่การเน้นสุขภาพเชิงรุกเพื่อป้องกันและส่งเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดีซึ่งเรียกว่า Proactive Health, การสร้างสุขภาวะชุมชนซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์จากเรื่องสุขภาพของปัจเจกบุคคลเป็นภาวะสุขภาพของชุมชนและความเป็นส่วนรวมมากขึ้น เหล่านี้เป็นต้น

ขณะเดียวกัน กลวิธีการสาธารณสุขมูลฐานก็ได้ลดบทบาทไปหลายด้าน คณะกรรมการสาธารณสุขมูลฐานแห่งชาติซึ่งบ่งบอกความสำคัญว่าเป็นองค์กรอิสระและเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับชาติก็ยุบ และงานสาธารณสุขมูลฐานก็เป็นหน่วยงานย่อยระดับกองในกรมสนับสนุนบริการสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข และ อสม ก็ไม่มีสถานะและบทบาทอันแน่ชัดว่าจะสลายไป หรือว่าจะพัฒนาตนเองไปในแนวทางใด ชุมชนและสังคมมีความคาดหวังอย่างไร รัฐบาลและสังคมควรจะมีแนวนโยบายสำหรับการพัฒนาไปสู่อนาคต อย่างไร

 การพัฒนานโยบายเพื่อการสนับสนุนศักยภาพ อสม สู่การบริการระบบสุขภาพชุมชน

ปัจจุบัน การดำเนินงานพัฒนาระบบสุขภาพที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ริเริ่มและดำเนินการขึ้นในประเทศก็คือระบบการบริการสุขภาพชุมชน ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดกับผลของการพัฒนาต่างๆที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและการที่จะประสบความสำเร็จได้นั้น จำเป็นที่จะต้องส่งเสริมการพัฒนาในหลายมิติ ทั้งการพัฒนารูปแบบอันหลากหลายและยืดหยุ่นต่อบริบทของชุมชนต่างๆทั่วประเทศ ใกล้บ้าน ใกล้ใจ และต้องอาศัยปัจจัยการดำเนินการที่สำคัญหลายด้าน ส่วนหนึ่งนั้นก็คือพลังการมีส่วนร่วมและระบบดำเนินการที่ภาคประชาชนจะสามารถดำเนินการอย่างพึ่งตนเองได้ องค์ประกอบดังกล่าวนี้ อสม ถือว่าเป็นทุนทางสังคม (Social Capitals) ที่สำคัญ จึงมีความจำเป็นและเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำการวิจัยและพัฒนาแนวนโยบาย ตลอดจนมาตรการต่างๆ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพ อสม ให้มีบทบาทเชื่อมโยงสู่การพัฒนาระบบการบริการสุขภาพชุมชน

  ข่ายวิจัยนโยบายการเสริมศักยภาพ อสม สู่การพัฒนาในอนาคต 

ด้วยความสำคัญและความเป็นมาที่กล่าวมาดังข้างต้น สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส) กับ กองสนับสนุนการพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน (สช) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จึงร่วมกันพัฒนาโครงการขึ้นเพื่อดำเนินการวิจัยและพัฒนานโยบายสำหรับส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพ อสม ให้เชื่อมโยงเข้าสู่การบริการระบบสุขภาพชุมชน โดยได้รับความร่วมมือเป็นผู้ดำเนินการจาก คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

                     

โครงการวิจัยดังกล่าว ดำเนินการในรูปแบบข่ายการวิจัยและประเมินอย่างมีส่วนร่วม (Participatory Rapid Appraisal : PRA) รองศาสตราจารย์ ดร.ลือชัย ศรีเงินยวง สาขาวิชาสังคมศาสตร์การแพทย์ และศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข เป็นหัวหน้าโครงการและมีกลุ่มนักวิชาการจากหลายแห่งร่วมกันเป็นทีมวิจัยหลัก พื้นที่ตัวอย่าง ๘ จังหวัด ครอบคลุม ๔ ภูมิภาค ภาคละ ๒ จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ พิจิตร โคราช ยโสธร สระแก้ว กาญจนบุรี นครศรีธรรมราช และสงขลา แต่ละจังหวัดจะสร้างทีมประสานการวิจัย และมีเครือข่ายการวิจัยในพื้นที่ไปตามความเหมาะสมโดยคำนึงถึงคุณภาพของผลการวิจัยและโอกาสการเรียนรู้ สร้างคนและทุนทางสังคมเพื่อทำงานให้กับสังคม ทุกภาคมีศูนย์ส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนเป็นเครือข่ายประสานงานกับทีมนักวิจัยส่วนกลาง

กิจกรรมสำคัญในโครงการนี้จะดำเนินการร่วมกันเป็น ๓ ระยะ โดยระยะแรก จะระดมกันวิเคราะห์และศึกษาสถานการณ์ของจังหวัดอย่างรอบด้านเพื่อดูสถานะว่าศักยภาพของ อสม ในบริบทของพื้นที่ระดับจังหวัดต่างๆเป็นอย่างไร มีรูปแบบการดำเนินงานเชิงรุกของตนเองอย่างไร ผลกระทบเชิงบวก เชิงลบ ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคเป็นอย่างไร จากนั้น ระยะที่สอง ก็จะเป็นข่ายการวิจัยร่วมกันทำกรณีศึกษาเชิงลึกของแบบอย่างที่ดีตามประเด็นสำคัญต่างๆ ระยะที่สาม จะร่วมกันจัดเวทีสาธารณะ พัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายและผลักดันการนำไปสู่การปฏิบัติใระดับต่างๆร่วมกันต่อไป โดยมีระยะเวลาดำเนินการ ๑ ปีถึงปี ๒๕๕๔

  จุดเริ่มต้น    พัฒนาเครือข่ายและพัฒนาแผนเพื่อระดมปฏิบัติการวิจัยร่วมกัน 

เมื่อวันอังคารที่ ๙ - พุธที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา โครงการข่ายการวิจัยประเมินอย่างมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนานโยบายสนับสนุนศักยภาพ อสม เข้าสู่การบริการระบบสุขภาพชุมชนนี้ ได้เริ่มสร้างทีมวิจัยของจังหวัดและพัฒนาความร่วมมือของเครือข่ายหน่วยงาน สช ของภาคต่างๆ ที่วังยางรีสอร์ต จังหวัดสุพรรณบุรี ผมร่วมเป็นทีมนักวิจัยส่วนกลาง และในเชิงพื้นที่ ก็จะทำงานร่วมกับทีมพื้นที่ของภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่และพิจิตร หลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้แล้ว ทีมจังหวัดและข่ายการวิจัยจะร่วมกันวิเคราะห์กรณีศึกษาระดับจังหวัดในระยะแรกก่อน โดยจะดำเนินการไปถึงประเมาณเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓

                    

                    

                    

                    

                    

                    

  การจัดการความรู้และบริหารจัดการข่ายการวิจัยทางไกลจากอินเทอร์เน็ต 

ทางข่ายการวิจัยขอให้ผมช่วยเปิดบล๊อกเป็นเวทีประสานเครือข่ายการทำงานให้หน่อย ซึ่งก็ตรงกับความตั้งใจของผมอยู่พอดี เลยก็เป็นที่มาของบล๊อกซึ่งเป็นเวทีข่ายการวิจัยสุขภาพชุมชนและ อสม นี้นะครับ หน้านี้เป็นหน้าแนะนำเพื่อให้เครือข่ายทุกท่าน รวมไปจนถึงประชาชนและผู้สนใจทั่วไปได้ใช้เป็นช่องทางการสื่อสารและบริหารจัดการเครือข่าย รวมทั้งเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ให้มีความหมายที่สุดอย่างที่ทุกท่านสนใจ

                                  เวทีในบล๊อกนี้เชื่อมโยงกับภารกิจของเครือข่ายการวิจัยได้อย่างไรบ้าง ?                                   

  • จัดการความรู้ สร้างความรู้ สังเคราะห์และผลิตความรู้ สนับสนุนเครือข่ายการทำงาน : ผมจะร่วมกับท่านอื่นๆช่วยกันสังเคราะห์ความรู้และจัดการความรู้ไปตามความจำเป็น ทั้งเพื่อสนับสนุนการทำงานและเพื่อเป็นโอกาสให้เครือข่ายได้เพิ่มพูนประสบการณ์วิชาการตนเอง เท่าที่คิดได้จากเนื้องานและที่เวทีเสนอแนะผมไว้ก็เช่น ระเบียบวิธีและเทคนิควิธีการวิจัยผสมผสานโดยเน้นวิจัยและปฏิบัติการเชิงสังคม | การสร้างทีมวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมในแนวประชาคม | การสร้างทีมวิทยากรกระบวนการ | การบันทึกและเก็บรวบรวมข้อมูลที่เหมาะสมและอย่างเป็นระบบ | การวาดรูปและการถ่ายรูปเพื่อบันทึกข้อมูลและถ่ายทอดสื่อสาร | การจัดกระบวนการเวทีเพื่อวิจัยและเพื่อขับเคลื่อนชุมชน | การนำเสนอและเผยแพร่การวิจัยที่มุ่งขับเคลื่อนพลังสร้างสรรค์ของชุมชน | แล้วก็เชิญทุกท่านด้วยนะครับ
  • บันทึกและสะสมความรู้จากพื้นที่ : เก็บบันทึกรวบรวมข้อมูลและเป็นช่องทางรายงานบทเรียนอันหลากหลายจากประสบการณ์ของพื้นที่และเครือข่ายจากชุมชนต่างๆของประเทศ ที่เอื้อต่อการทำได้เองของชาวบ้านและคนทำงานในหน่วยปฏิบัติการในพื้นที่
  • เวทีสื่อสาร แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และประชาสัมพันธ์โครงการ : เป็นช่องทางสื่อสาร พูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สำรวจความเคลื่อนไหวทั่วประเทศ และเผยแพร่สื่อสารกิจกรรมการเคลื่อนไหวของทุกพื้นที่จังหวัดด้วยตนเอง
  • คลังทรัพยากรวิชาการ : รวบรวมแหล่งวิทยาการ ฐานข้อมูล และข้อมูลการติดต่อประสานงานทุกชนิดของเครือข่าย ทุกพื้นที่จะได้สามารถพัฒนาเครือข่ายของตนพร้อมกับเข้าถึงทรัพยากรทางวิชาการเพื่อพัฒนางานของตนให้ดียิ่งๆขึ้น
  • ทดลองสังเคราะห์ความรู้และปฏิบัติการวิจัยระยะไกลทางเว็บ ICB / WBRN : Integrated Community-Based and Web-Based Research Net-Working : ข่ายการวิจัยนี้ครอบคลุม ๘ จังหวัดของทุกภูมิภาค อีกทั้งมีระยะเวลาอันจำกัดมาก จึงเชื่อว่า ผม ดร.ลือชัย  ทีมนักวิจัยส่วนกลางและทีมประสานการวิจัยของ สช จะไม่สามารถลงพื้นที่ได้ทั่วถึงและปฏิสัมพันธ์ได้เข้มข้นเพียงพอ ทว่า ประสบการณ์ ศักยภาพ พลังจิตใจและพลังวิชาการของเครือข่ายทุกจังหวัดก็ดีมากเป็นอย่างยิ่ง จึงคิดว่าโอกาสที่ดีที่สุดที่เกิดจากการทำงานด้วยกันนี้ จะมีบทเรียนที่ดีมากมายให้กับสังคม บล๊อกนี้จึงเป็นทางเลือกสำหรับเข้าถึงประสบการณ์อันหลากหลายและร่วมกันสังเคราะห์บทเรียน ทั้งเพื่อสะท้อนสู่วงจรการทำงาน และเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะร่วมกันไปตลอดโครงการ ผมจะเริ่มต้นให้ไปก่อนนะครับ
  • ช่วยกันแก้ปัญหาและพัฒนาวิธีทำงาน : เครือข่ายวิจัยสามารถใช้เวทีในบล๊อกนี้นำเอาความจำเป็นจากการทำงานมาโยนและแขวนไว้ เพื่อระดมประสบการณ์จากผู้อื่นมาช่วยพัฒนาการตั้งประเด็นคำถาม ปรึกษาหารือการออกแบบกระบวนการ การพัฒนาเครื่องมือและวิธีวิทยาต่างๆที่เป็นการแก้ปัญหาและปรับปรุงการทำงานขึ้นจากความจำเป็นของพื้นที่จริง ซึ่งจะทำให้งานมีความคืบหน้าควบคู่ไปกับการทำให้การวิจัยมีคุณภาพสูงทั้งทางวิชาการและความสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม

เชิญทุกท่านตามอัธยาศัยครับ ผมจะปรับปรุงรายละเอียดและเชื่อมโยงเว็บต่างๆให้มีเครือข่ายการทำงาน ส่งเสริมข่ายการวิจัยของทุกท่านให้ดียิ่งๆขึ้นในภายหลังนะครับ.

หมายเลขบันทึก: 335818เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2010 11:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (30)

แถมภาพบรรยากาศจากเวิร์คช็อปพัฒนาทีมแกนกลางของจังหวัดและพัฒนาโครงการระยะแรกของจังหวัด ที่วังยาวรีสอร์ต สุพรรณบุรี อีกครับ

                           

                           

                            

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • ปี ๒๕๒๑ ที่บ้านยังใช้ส้วมหลุมอยู่เลยนะอาจารย์ ไฟฟ้าก็ยังไม่เข้าหมู่บ้านด้วยทั้ง ๆ ที่อยู่ในเขตสุขาภิบาล(เมื่อก่อน)
  • ตอนหลังมีอสม.แต่อาตมาก็เข้ามาในวัดแล้วก็เลยไม่ทราบบทบาทหน้าที่มากเท่าไร แต่ได้ยินชื่อบ่อย ๆ
  • น้อง ๆ หลาน ๆ ญาติๆก็เห็นเป็นอสม.กันเยอะ เห็นน้อง ๆ ไปเก็บข้อมูลคนในหมู่บ้านทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีแฟ้มงานข้อมูลพื้นฐานของแต่ละคน แต่ก็ไม่ได้ดูรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร
  • ดูอยู่ห่าง ๆ ก็เห็นกระตือรือร้นเข้มแข็งทำงานกันดีมาก แม้เมื่อมีงานประชุมที่อำเภอ ก็หยุดเกี่ยวข้าวก็ยังมี
  • ก็ได้ทราบจากอาจารย์ในที่นี้ว่า อสม.ของไทยดำเนินการอย่างได้ผลจนเป็นแบบอย่างให้กับนานาประเทศได้ นับเป็นความสำเร็จของการพัฒนาสาธารณะสุขพื้นฐานที่น่าชื่นชม ไม่มีประสบการณ์ เพียงแต่ได้รับรู้มาบ้างนิดหน่อยแค่นี้เอง.

เจริญพร

เป็นคนหนึ่งในทีมวิจัยของภาคกลาง..ปรารถนาที่จะทำงานวิจัยชิ้นนี้...ให้ดีที่สุด...เพราะส่วนตัวแล้วเคยเป็นเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาตลอด เห็นว่า อสม.ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับงานสาธารณสุขมาด้วยหัวใจ..แม้ไม่มีค่าตอบแทนใดๆเลย...ดังนั้นสิ่งใดท่จะทำเพื่อตอบแทน อสม.ขอทำด้วยความเต็มใจยิ่ง..ขณะนี้ทีมงานภาคกลางกำลังดำเนินงานวางแผนการทำงานอยู่และจะเร่งทำให้ดีที่สุด...เพื่อ...ตอบแทนคุณ อสม.และแผ่นดินไทย

เชียงใหม่ขอเข้าร่วมด้วยความความยินดี แต่ขอให้การคัดเลือกอสม.ระดับชาติเสร็จสิ้นก่อนค่ะ

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

  • อันที่จริงเรื่องการสาธารณสุขมูลฐานนี้ อำเภอหนองบัวและจังหวัดนครสวรรค์ก็ถือว่ามีส่วนร่วมที่สำคัญอยู่หลายเรื่องครับ เช่น ที่อำเภอตากฟ้า และที่ตำบลห้วยร่วม อำเภอหนองบัวนั้น ก็เป็นชุมชนนำร่อง ที่มีโครงการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อพัฒนาอย่างผสมผสานกับกิจกรรมสร้างรายได้ของครัวเรือน (Nakorn-Sawan Model in Income generating Program and Health Development Program Integration) ชุมชน และกลุ่มการรวมตัวของชาวบ้าน ซึ่งใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติอย่างมีส่วนร่วมเป็นตัวขับเคลื่อน และองค์การอนามัยโลกก็เผยแพร่ให้ประเทศอื่นๆได้ใช้ด้วยทั่วโลกนะครับ ตอนนั้น มีอาจารย์ของมหาวิทยาลัยมหิดลเหมือนกันครับมาเป็นคนพาชาวบ้านทำ คือ อาจารย์ ดร.ทวีศักดิ์ เศวตเศรณี (ถึงแก่กรรมแล้ว) ชาวบ้านชื่นชอบและประทับใจท่านมากครับ
  • ที่บ้านใต้ ห้วยถั่วละแวกบ้านผมนั้น ศูนย์สาธารณสุขมูลฐานกับ อสม และกลุ่มผู้นำชุมชน ก็เป็นชุมชนตัวอย่างในหลายด้านนะครับ มีตัวอย่างดีๆและสร้างสรรค์ อยู่เยอะทีเดียวครับ

สวัสดีครับคุณนกเอี้ยงครับ

  • คุณนกเอี้ยงมัครเป็นสมาชิกของ GotoKnow แล้วนี้ ประเดี๋ยวรอให้หลายๆท่านของแต่ละจังหวัดเข้ามาสมัคร แล้วผมก็จะใส่รายการชื่อของทุกท่านเป็นลิ๊งค์ออกไปจากที่นี่นะครับ ตัวอย่างอย่างนี้ :  นางอัจจ์สุภา นกเอี้ยง รอบคอบ
    นะครับ แต่จะไปทำไว้หน้าแรก ที่นี่จะได้เชื่อมโยงข่ายเว็บและบล๊อกของทุกท่านไว้ ข้อมูลและข่าวสารต่างๆจะได้สื่อสารกันได้ทั่วถึงนะครับ
  • ประเมินดูแล้วว่าเราจะจัดประชุมได้ไม่บ่อยและต่างก็ตามไปร่วมกิจกรรมกันให้ทันตลอดไม่ได้ วิธีนี้คงจะช่วยให้ทำงานตามเจตนารมย์ของทุกท่านได้ดีขึ้นนะครับ
  • มีความสุขครับ

ไปวังยาวพี่อาจารย์ดร.วิรัตน์เห็นบ้านหลังนี้ไหม...(ภาพล่าง)

ชอบมอง..

 

สวัสดีครับคุณจิดาภาครับ

  • เชียงใหม่ ทั้งโดยสภาพพื้นที่และโดยความเป็นเมืองท่องเที่ยว ซึ่งช่วงดำเนินการระยะแรกนี้ก็จะตรงกับเทศกาลสงกรานต์พอดีอีกด้วย ก็คงจะทำให้งานและกิจกรรมต่างๆจอแจไปหมดเลยนะครับ
  • เอาเรื่องชุมชนบ้านห้วยส้ม วัดห้วยส้ม สันป่าตอง และบ้านผม ที่ผมคุยให้ฟัง มาฝากด้วยครับ
  • ขอให้ประสบความสำเร็จและมีความสุขครับ

สวัสดีครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก

  • ขอโทษทีครับ วังยางครับ วังยาง ไม่ใช่วังยา เข้าใจบอกทางอ้อมนะนี่นะ
  • เห็นรูปแล้วก็ต้องยิ้มเลยเชียว กิ่งต้นไม้ดอกที่ยื่นเข้ามาเป็นโฟร์กราวด์นั้น มันต้นเดียวกันและเป็นมุมเดียวกันกับที่ผมถ่ายรูปไว้เลยนะครับ
  • ผมจำได้เพราะผมขึ้นไปยืนบนเก้าอี้แล้วก็มองกิ่งนี้อยู่นาน แล้วก็มองบ้านหลังนี้อยู่ตั้งสองเช้านะครับ

                            

  • อย่างกับเป็นมุมจากบ้านหลังเดียวกัน ห้องเดียวกัน แล้วมุมกล้องก็เหมือนกับปีนขึ้นไปถ่ายในระดับเดียวกันอีกด้วย แต่ผมขึ้นไปยืนบนเก้าอี้น่ะครับ

เขาเรียกต้นจิก..หรืออะไรนี่แหล่ะค่ะพี่อาจารย์ดร. ห่างไกลจากชนบทมานานหลงลืมซะแล้ว...คนหนอคนทั้งๆที่บ้านน๊อกบ้านนอกฮาๆอีกแล้ว...สงสัยพี่อาจารย์จะพักห้องเดียวกันมั้งนี่..แต่คนละหน่วยงาน...คนละเรื่องฮาๆเลยตรงนี้เป็นที่พักแถวแฝดนะคะ..

  • งั้นก็คงจะใช่เลย เป็นบ้านแฝดแล้วก็น่าจะเป็นห้องเดียวกันนั่นแหละ นะครับ
  • ที่วังยางรีสอร์ตนี่เขาทำที่พักและแหล่งประชุมที่รักษาสิ่งแวดล้อมกับสภาพที่เป็นธรรมชาติของชุมชนได้ดีมากนะครับ
  • ตรงห้องที่ผมพักนั้น ทำเลเหมาะสำหรับนั่งทำงานและนั่งพักผ่อนกับธรรมชาติของแมกไม้และสายน้ำมากเลย ด้านหลังเปิดออกก็เป็นระเบียงติดกับแม่น้ำท่าจีน มองแล้วได้ทัศนียภาพมุมกว้าง
  • ผมชอบมากเลย เลยต้องเปิดม่านออกแล้วก็เอาผ้าปูเตียงไปปูกับพื้นเพื่อนอนกับพื้นที่เปิดโล่งเชื่อมออกไปเป็นหนึ่งเดียวกับแม่น้ำและสภาพแวดล้อม พอใกล้สว่างก็หอบกลับขึ้นไปนอนบนเตียง รู้สึกเหมือนได้พักผ่อนดีมากเลย

P...เช้าๆมาใส่บาตรได้ด้วยค่ะ..รีสอร์ทอยู่เลยวัด..หรือจะให้เจ้าของรีสอร์ทนิมนต์พระมาก็ได้ค่ะ..แจ้งความประสงค์ไว้..เช้าก็มีอาหารให้จ่ายเงิน..นั่งรอ เดี๋ยวพระก็มาโปรดค่ะ...พระมาทางน้ำค่ะ..

อ้าว นี่ก็บังเอิญอีกเหมือนเช่นกัน ผมไปเวิร์คช็อปเรื่องนี้ที่วังยางก็ให้นึกถึงอาจารย์กู้เกียรติพอดี เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่อง อสม กับบทบาทการทำงานระดับชุมชน แล้วก็บางกรณีก็มีเครือข่ายการทำงานเชื่อมโยงไปถึงท้องถิ่นกับหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงมหาดไทยด้วย ยังนึกถึงอาจารย์กู้เกียรติอยู่ว่าคนทำงานชุมชนของกระทรวงมหาดไทยนั้นเดี๋ยวนี้จะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้างมากน้อยแค่ไหนหรือไม่

ที่อาจารย์กู้เกียรติ quote คำพูดมานี่ ทำให้นึกถึงอัธยาศัยของเจ้าของของวังยางรีสอร์ตไปด้วยเลย เขาจะแนะนำอย่างนี้แหละครับ แต่พระมาทางน้ำนี่ ทำให้นึกถึงวิธีมาทางน้ำได้หลายๆแบบมากเลยนะครับ เอาเป็นว่าท่านมาทางเรือก็แล้วกัน

ปฏิบัติการวิจัยไปพร้อมกับการสร้างทีม : การสร้างทีมและพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือผ่านการพัฒนาประเด็นคำถาม เครื่องมือการวิจัยของพื้นที่ และการวางแผนระดมการเก็บรวบรวมข้อมูล

ลักษณะของการวิจัยนโยบาย ที่เป็นการสะท้อนเสียงของผู้ปฏิบัติโดยมี อสม และชุมชนในพื้นที่เป็นตัวตั้ง ส่วนกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆ เป็นเครือข่ายการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมศักยภาพการนำการปฏิบัติ และการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงของ อสม อย่างนี้ มีความจำเป็นหลายอย่างที่ทีมวิจัยจะต้องนำมาคิด พิจารณา ออกแบบแนวคิดและปฏิบัติการวิจัยในแนวทางใหม่ๆที่ต่างไปจากการวิจัยแบบดั้งเดิม  ที่สำคัญคือ

๑. การสร้างเครื่องมือและวางแผนทำงานจากพื้นที่ : การพัฒนาประเด็นคำถามและเครื่องมือ ที่เครือข่ายประชาชนและผู้มีส่วนร่วมจะสามารถเป็นผู้ใช้และมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์ กระทั่งนำเอาความรู้ไปแก้ปัญหาและนำเสนอสู่สาธารณะ ทั้งในเวทีผลักดันนโยบายและช่องทางต่างๆที่มีโอกาส

๒. การสร้างศักยภาพทีมวิจัยของพื้นที่ : การพัฒนาศักยภาพของทีมและเครือข่ายประชาชน นักวิจัยท้องถิ่นของจังหวัด รวมทั้ง กลุ่มประชาคมวิจัยของ อสม เพื่อเป็นชุมชนวิจัยและเป็นเครือข่ายระดมพลังการมีส่วนร่วมในการวิจัยประเมินอย่างมีส่วนร่วมในครั้งนี้

๓. การปรับบทบาทและพัฒนาแนวปฏิบัติอย่างใหม่ของนักวิจัยหลัก :  การพัฒนาวิธีคิดและการปรับบทบาทของนักวิจัยจากภาครัฐทั้งในพื้นที่และจากภายนอก ให้ลดบทบาทความเป็นนักวิจัยด้วยตนเอง สู่การเป็นกระบวนกรและวิทยากรกระบวนการ ขับเคลื่อนกระบวนการการวิจัยและการทำงานร่วมกัน ผ่านการสร้างศักยภาพการแก้ปัญหาและวิจัยประเมินโดยกลุ่มคนของจังหวัด ซึ่งเมื่อนำไปบวกกับการวิเคราะห์และสังเคราะห์ความรู้โดยทีมจัยหลัก รวมทั้งการจะต้องมีการสำรวจในภาพรวมโดยประเด็นกลางๆระดับประเทศ ก็จะทำข้อมูลและหลักฐานข้อเท็จจริงต่างๆมีความสมบูรณ์มากทั้งจากทรรศนะของคนในพื้นที่จังหวัด และจากกรอบทรรศนะของผู้อื่นที่มองเข้าไปในชุมชน

ในขั้นแรกนี้ หากทีมวิจัยของจังหวัดและศูนย์ สช ภาค รวมทั้งทีมนักวิจัยหลักจากส่วนกลาง เริ่มต้นจากการวางกรอบวิจัยประเมิน สร้างเครื่องมือตามกรอบทฤษฎีและข้อมูลที่มีมาก่อนจากแหล่งต่างๆ ด้วยการทำงานกันเองตามแนวการวิจัยดั้งเดิมแบบทั่วไป ก็จะทำให้ขาดองค์ประกอบสำคัญในการสร้างความรู้และเข้าถึงความจริงให้สะท้อนบริบทของพื้นที่จังหวัด รวมทั้งสะท้อนเงื่อนไขทางสังคมวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคต่างๆ อีกทั้งจะมีจำนวนมากมาย สามารถพัฒนาเครื่องมือให้ครอบคลุมทฤษฎีและความรู้ของนักวิชาการ แต่อาจจะก้าวล้ำประสบการณ์ของพื้นที่ไปอย่างมากมาย ไม่ได้เดินออกจากจุดที่ชุมชนยืนอยู่

ขณะเดียวกัน เนื่องจากไม่ได้สร้างขึ้นจากฐานประสบการณ์ของชุมชนและทฤษฎีที่สร้างขึ้นจากโลกทรรศน์ของชุมชน ก็จะยิ่งขาดแคลนผู้คนในพื้นที่จังหวัดที่จะมาเป็นเครือข่ายวิจัยได้ด้วยการมีส่วนร่วมของเขาเองอย่างเต็มที่ ต้องเป็นเพียงแหล่งข้อมูลและผู้ให้การสัมภาษณ์ (Key informant) และในการเป็นทีมวิจัย อย่างมากก็มีส่วนร่วมได้เพียงถือแบบสอบถามเดินไปถามประชาชนและชาวบ้านด้วยกันเอง  ซึ่งแม้พอจะอ่านหนังสือในแบบสอบถามออก แต่ก็จะก่อให้เกิดข้อจำกัดและเสียภาวะผู้นำในตนเองมากยิ่งๆขึ้นเป็นลำดับทั้งการเป็นผู้สัมภาษณ์และการเขียนบันทึก รวบรวมข้อมูล

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถึงขั้นวิเคราะห์ข้อมูลแบบนี้ คนของจังหวัดก็อาจจะไม่สามารถมีส่วนร่วมงานทางเทคนิคที่ซับซ้อนมากขึ้นได้อีกแล้ว กระบวนการต่างๆก็จะไหลลู่เข้าสู่งานของทีมวิจัยภายนอก เมื่อนำเสนอในเวทีสาธารณะและเมื่อสื่อสารกับสาธารณะ ก็จะขาดความสมดุลในการเป็นเสียงสะท้อนจากชุมชนบนความเป็นจริงในสภาพวการณ์อย่างที่ชุมชนส่วนใหญ่เป็นและดำรงอยู่

                           

ดังนั้น แนวคิดและองค์ประกอบต่างๆของการวิจัย จึงควรมีการนำมาใคร่ครวญ สร้างวิธีคิด ออกแบบวิธีดำเนินการเสียใหม่ และพัฒนาแนวการทำงานกันใหม่ของกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งการเริ่มต้นจาก ๓ องค์ประกอบในขั้นแรกนี้ แม้เป็นงานเล็กๆ แต่ก็เป็นก้าวแรกที่จะเริ่มทำให้กระบวนการทั้งหมดยืดหยุ่นต่อเงื่อนไขการปฏิบัติที่เป็นความจำเป็นของการวิจัยแนวนี้ ซึ่งจะทำให้ได้การวิจัยที่มีคุณภาพ ก่อเกิดการเรียนรู้และสร้างทุนทางสังคมให้กับสังคมในท้องถิ่น และเสริมศักยภาพเครือข่าย อสม ให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมไม่เพียงในการผลักดันแนวนโยบายในเวทีนโยบายสาธารณะ ทว่า จะสามารถนำเอากลับไปสะท้อนสู่การแก้ปัญหาทางการปฏิบัติของตนได้เองอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่จะพัฒนาเครื่องมือ แล้วค่อยหาทีม ค้นหาคน และรวบรวม ระดมพลังกันมาทำงาน จากนั้นจึงประชุมเชิงปฏิบัติการ สร้างข้อตกลง แล้วก็ใช้ความจำเป็นที่เกิดขึ้น พัฒนาหลักสูตรอบรมเพื่อสร้างศักยภาพการปฏิบัติให้แก่ทีม เหล่านี้ ดูมีหลักการดีครับ แต่เนื่องด้วยระยะเวลา ทรัพยากร ขีดจำกัดจากความเป็นจริงในการทำงานของผู้คน หากแยกส่วนออกจากกัน ทำคนละครั้ง ไม่อออกแบบกระบวนการและปรับแนวการทำงานวิจัยในแนวนี้กันใหม่ ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบมากไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้น การทำงานและการตั้งคำถามย่อยๆเพื่อเก็บบันทึกข้อมูลการวิจัยประเมินไปด้วยที่จะแก้ปัญหานี้พร้อมกับทำงานไปด้วยจึงจะมีอยู่ว่า ในระยะเวลาสั้นๆและมีข้อจำกัดหลายด้าน ขั้นแรกนี้ ทีมวิจัยของจังหวัด จะสามารถขับเคลื่อนงานอย่างบูรณาการ โดยนำเอาการตั้งประเด็นคำถาม การสร้างเครื่องมือการวิจัย การสร้างทีม การพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้มีส่วนร่วมปฏิบัติการวิจัย และการวางแผนดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปในระยะแรก มาดำเนินการด้วยกัน ให้เหมาะสมที่สุดได้อย่างไร ? ค้นหาคน และสร้างศักยภาพทีม ผ่านกิจกรรมพัฒนาประเด็นคำถาม สร้างเครื่องมือ และวางแผนปฏิบัติการวิจัย ไปด้วยกันในเวทีกระบวนการเดียวกันได้หรือไม่ ? หากได้  ดำเนินการอย่างไร ? นักวิจัยต้องปรับบทบาทและต้องพัฒนาทักษะการทำวิจัยร่วมกับชุมชนในแนวทางใหม่ๆอย่างนี้ อย่างไรบ้าง?

เชิญรวบรวมประสบการณ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล พัฒนาวิธีคิด แสวงหาความรู้และพัฒนาเทคนิคการปฏิบัติที่ดีที่สุดและให้การวิจัยมีคุณภาพดีที่สุด ในขั้นแรกเพียงเท่านี้ก่อนนะครับ ใครมีประสบการณ์อย่างไรก็นำมาถ่ายทอด แนะนำ และเผยแพร่เป็นแนวคิดให้แก่คนอื่นๆได้ครับ.

โชคดี มั่งมี ศรีสุข สุขภาพดี เฮงๆเฮงค่ะ

พี่อาจารย์เช็คเมล์ด้วยค่ะครอ้อยเล็กส่งเมล์ไปให้ประมาณ 3 ฉบับแล้วมังคะ..เช็คเมล์แล้วพี่อาจารย์จะขำค่ะ...

สวัสดีค่ะพี่ชาย อ.ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์
 

  • ในส่วนของโรงเรียน มีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน และได้รับความอนุเคาะห์จากหน่วยงานของสาธารณสุข(โรงพยาบาล)เข้ามาดูแลเรื่องทันตกรรม  ฟรี  หลายปีแล้วค่ะ
  • ตอนนี้เจ้าหน้าที่จากสถานีอนามัยและอสม.ในหมู่บ้าน ได้ตรวจคัดกรองนักเรียนชั้นป.6และนัดเป็นรายโรงเรียน ให้คุณครูพาไปทำที่สถานีอนามัยทุกวันศุกร์ค่ะ
  • สมัยก่อนนักเรียนส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสได้ไปทำฟัน เนื่องจากผู้ปกครองต้องหาเช้ากินค่ำ ไปทำงานทุกวันไม่มีเวลาดูแลลูกหลาน และประการหนึ่งคือต้องเสียตังค์ 
  • ปัจจุบันไม่ค่อยเห็นนักเรียนปวดฟัน  จากนี้ไปก็ไม่น่าเป็นห่วงเรื่องสุขภาพฟันแล้วค่ะ
  • การดำเนินงานด้านการพัฒนาสุขภาพของประชาชนคนไทย จะบรรลุผลและยั่งยืน ถ้าได้ทำต่อเนื่อง
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขคงต้องเหนื่อยหน่อยค่ะ แต่ผลคุ้มค่า

 

                                             

                

                 เมื่อวันที่ศุกร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ พานักเรียน.ชั้นป.6 เคลือบหลุมร่องฟันค่ะ

                         พอออกมาได้ก็อธิบายให้เพื่อนฟังละเอียดทุกขั้นตอน

                                ได้ความรู้จากประสบการณ์จริงค่ะ

 

                     

               ส่วนนักเรียนหญิงคนนี้ ถามเพื่อนว่าต้องวางยาสลบหรือเปล่า เจ็บไหม

                       นี่กระมัง  ที่เด็กๆกลัวเรื่องการไปหาหมอทำฟันค่ะ

  • สวัสดีปีใหม่จีนครับน้องคุณครูอ้อยเล็ก ขอให้มีความมั่งมีศรีสุข เฮง เฮง เฮง เช่นกันครับ
  • หากเป็นแถวหนองบัวและนครสวรรค์ เขาก็คงต้องเฉลิมฉลอง ทักทาย และเยี่ยมคารวะกันด้วยขนมเข่ง ขนมเทียน ไก่รวน และขนมเปี๊ยะ 
  • ขอให้น้องคุณครูอ้อยเล็ก มีกินมีใช้ สุขภาพดี มีโชคลาภ มีบารมีเหมือนปีเสือ ประสบความสำเร็จและก้าวหน้าเสมอ นะครับ
  • ประเดี๋ยวจะเข้าไปเปิดดูอีเมล์อีกครับ ช่วงนี้เวลาเปิดอีเมล์ก็ต้องจดจ่ออยู่แค่ไม่กี่เรื่อง คือ ตามอ่านและแก้การพัฒนาหัวข้อและการทำวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษาทั้งของตัวเองและร่วมทำให้คณะอื่น มหาวิทยาลัยอื่น แล้วก็แลกข้อมูลเขียนรายงานวิจัยกันกับทีมในงานที่ทำวิจัยกันอยู่และที่ต้องส่งงาน อื่นๆก็เลยจะหลุดๆไปเยอะครับ
  • ยิ่งมีเรื่องขำๆก็ต้องแวะเข้าไปดู ชอบครับ

สวัสดีครับน้องนก คุณครูจุฑารัตน์

  • สุขภาพฟันและทันตสุขภาพชุมชน ก็จัดว่าเป็นองค์ประกอบหนึ่งของสุขภาพชุมชนที่สำคัญมากเลยนะครับ เมื่อก่อนการเล่นๆกันอยู่แล้วก็ฟันหลุดเลือดกลบปากนี่ เป็นเรื่องเล็กจิ๊บจ๊อยมากสำหรับพวกเราเด็กๆ เรียกว่าซี่ไหนทำท่าโยกๆ คลอนๆนี่ ก็จัดการโยกและถอนออกมาขว้างข้ามหลังคาเล่นได้เองเลย ไม่กี่วันฟันแท้ก็งอกขึ้นมาอีก
  • แต่ที่กลัวกันอย่างไม่เป็นอันทำอะไรนี่คือการปลูกฝีครับ เวลาหมออนามัยไปโรงเรียนและพ่อแม่กับครูก็ร่วมมือคอยคุมเด็กๆมาปลูกฝีนี่ จะเหมือนเป็นวันที่เด็กๆทั้งหมู่บ้านถูกกองกำลังที่ทั้งมีอำนาจและมีสิ่งน่ากลัว ยึดกุมทุกอย่างได้หมด ต้องเดินหูตกไปให้หมอปลูกฝีจนแทบจะเป็นลมไปให้ได้ทุกที แต่ฟันหลุดและดุนเหงือกหลอกกันเล่นนี่สนุกครับ
  • เดี๋ยวนี้เด็กๆและพ่อแม่เห็นเรื่องปวดฟันและฟันหลุดเป็นเรื่องที่ต้องให้การดูแลต่างไปจากในอดีตมากครับ เมื่อไม่นานมานี้ ผมเห็นคุณแม่ครอบครัวหนึ่งพาลูกตัวเล็กๆไปถอนฟันน้ำนมออกเพราะเด็กปวดและร้องไห้ เสียตังค์ไป ๓๐๐ กว่าบาท รวมค่ารถและค่าขนมเอาใจลูกๆ รวมแล้วก็เกือบ ๕๐๐ บาท สุขภาพดีของเราเดี๋ยวนี้ควรจะถูกลง ทั่วถึง และดีขึ้นกว่าเดิม แต่กรณีอย่างนี้ กลับแพงขึ้นและกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่ถูกสร้างขึ้นใหม่
  • สวัสดีปีใหม่ และมีความสุขนะครับน้องนก : คุณครูจุฑารัตน์ครับ

สวัสดีครับ เป็นกำลังใจให้อาจารย์ครับ

ขอบพระคุณครับคุณเบดูอินครับ สบายดีนะครับ ขอสวัสดีปีใหม่จีน และขอให้มีความสุข สุขภาพดีมากๆยิ่งๆขึ้นครับ

มาส่งสุขวันแห่งความรักค่ะ..มีความสุขน่ะค่ะ

ต่อประเด็นจาก Dialogue box 2 ของพระอาจารย์มหาแล ขำสุข(อาสโย)
ส้วมหลุม สุขาภิบาล ไฟฟ้า กับสุขภาพและวิถีชีวิชนบทของสังคมไทยก่อน ๒๕๒๐

ท่านพระอาจารย์มหาแลท่านได้กรุณาสะท้อนประสบการณ์ชีวิตในช่วงโดยรอบปี ๒๕๒๐ ที่ร่วมสมัยกับการที่ก่อเกิดเจตนารมย์การสาธารณสุขมูลฐานขึ้นในเวทีการประชุมระดับโลกที่เมืองอัลมา อตา (Alma Ata) มลรัฐคาซัคสถาน ประเทศสหภาพโซเวียตรัสเซีย(ในขณะนั้น) แล้วประเทศต่างๆก็เริ่มมีความเคลื่อนไหวแปรไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งประเทศไทย อย่างที่ผมเกริ่นให้ข้อมูลไว้ในข้างต้น ท่านเป็นคนหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เช่นเดียวกับผม

พระคุณเจ้าได้ถ่ายทอดประสบการณ์หลายอย่างในลักษณะนี้ จนทำให้ผมสนใจหาวิธีเก็บรักษาเรื่องราวที่มีคุณค่าเหล่านี้ไว้ เลยเกิดเวทีสร้างความรู้และเรียนรู้ชุมชนด้วยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวของคนหนองบัว ซึ่งเป็นตัวอย่างของการค้นหาและเข้าถึงความเป็นนักวิจัยโดยธรรมชาติของคนท้องถิ่น ที่อาจจะเป็นประโยชน์แก่เครือข่ายการวิจัยพัฒนานโยบายเสริมศักยภาพ อสม ของทีมจังหวัด ลองแวะไปดูที่นี่ครับ (๑) เวทีที่ผมเปิดขึ้นเพื่อรวบรวมข้อมูลของท่านพระอาจารย์มหาแลและคนที่เข้ามาคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยกัน (๒) เวทีคนหนองบัว : ลานปัญญาของคนหนองบัว และ เวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะของคนหนองบัว ในเวทีเหล่านี้ จะเห็นแนวการค้นหาคนท้องถิ่นที่ได้จากการเรียนรู้ไปกับชุมชนด้วยว่า ชาวบ้าน เด็ก พระสงฆ์ ผู้นำในองค์กรท้องถิ่นทั้งภาครัฐและภาคประชาชน ครู รวมทั้งการแวะเวียนเข้ามาเมื่อตนเองมีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เหล่านี้ สามารถเป็นนักวิจัยในเรื่องตนอเองได้อย่างดีเมื่อได้รับเสริมศักยภาพที่จำเป็นเพียงบางด้าน

สภาวการณ์สังคมอย่างที่ท่านกล่าวถึงในยุคเริ่มต้นการสาธารณสุขมูลฐานกรณีของชุมชนอำเภอหนองบัวนั้น ลองแวะไปดูที่นี่ครับ สุขาภิบาลและสาธารณสุขชุมชนบ้านตาลิน และ แรกมีของอำเภอหนองบัว โรงหนัง โรงไฟฟ้าฯ 

                            

                            โรงไฟฟ้าแห่งแรกในยุคก่อนปี ๒๕๒๐ โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคและสภาพชุมชนท้องถิ่นของอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ อ่านเรื่องที่ได้ที่ แรกมีของอำเภอหนองบัว โรงหนัง โรงไฟฟ้าฯ วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

                            

                            ส้วมหลุม : สุขาภิบาลก่อนยุค ๒๕๑๐ เป็นส้วมหลุมอย่างดี มีหลังคาคุ้มแดดฝนและฝากำบังมิดชิดและใช้ไม้แก้งก้น เป็นภาพวาดส้วมหลุมของโรงเรียนวันครู (๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

                            

                             น้ำดื่มและน้ำอุปโภคบริโภคของโรงเรียนและชุมชน : การขุดสระโรงเรียนและสำหรับแหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน ก่อนยุค ๒๕๒๐ โรงเรียนวันครู(๒๕๐๔) อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ วาดภาพ : วิรัตน์ คำศรีจันทร์

นอกจากเป็นแนวคิดแล้ว ก็เป็นตัวอย่างวิธีเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และสร้างความรู้ร่วมกับชุมชน แล้วก็ใช้การวาดรูปเพื่อบันทึกและนำเสนอผลการวิจัย ซึ่งหลายกรณีจะให้พลังการเข้าใจได้อย่างชัดเจนดีกว่าการพรรณา แจกแจง และแสดงด้วยตาราง สื่อสารกับชาวบ้านและสร้างการเรียนรู้กับสาธารณะได้ดีกว่าวิธีการอย่างอื่น แต่เรื่องเหล่านี้ นักวิจัยมักไม่ค่อยได้ใช้และต้องพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้นใหม่ แต่จะใช้ประโยชน์ได้มากอย่างยิ่งครับ

ขอบคุณ คุณครู New.บันเทิง ด้วยครับ ขอให้ความรักงอกงาม เป็นกำลังใจ และเป็นพลังชีวิตทุกวันและทุกห้วงชีวิตเลยครับ

ส่งความสุข เทศกาลไทย - จีนค่ะ

 

มีความสุขมากๆครับน้องนก : คุณครูจุฑารัตน์

กิจกรรมวิชาการน่าสนใจสำหรับนักวิชาการ นักวิจัย นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปครับ

การบรรยายพิเศษและเสวนาวิชาการ : 
  นักสังคมศาสตร์กับการวิจัยเชิงนโยบายและระบบสุขภาพเพื่อสังคมสุขภาวะ 

บรรยายนำการเสวนาโดย นายแพทย์พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข
ผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยระบบสุขภาพ


วันพฤหัสบดี ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ เวลา ๐๙.๐๐-๑๒.๐๐ น.
ณ ห้องประชุมและห้องรับรอง  คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล

จัดโดย สาขาสังคมศาสตร์และสุขภาพ และโครงการหนังสือและตำรา

งานนี้น่าสนใจมากในหลายเรื่องครับ (๑) เรื่องสุขภาพในปัจจุบันไม่พอที่จะแก้ไขและพัฒนาด้วยมิติทางชีววิทยาการแพทย์อย่างเดียว แต่ต้องปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวลด้อม การเมือง และวัฒนธรรมด้วย นักสังคมศาสตร์ รวมทั้งสาขามนุษยศาสตร์ ศิลปศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ กำลังอยู่ตรงไหนในเรื่องสุขภาพและสังคมสุขภาวะ จะต้องทำอะไรกันเพิ่มขึ้นหรือไม่ และจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง เป็นเรื่องที่จะสามารถแลกเปลี่ยนเสวนากันในวงวิชาการได้มากมาย (๒) เรื่องสุขภาพและสุขภาวะของสังคม นอกจากกำลังเป็นวิกฤติแทบจะในทุกขอบเขตของสังคมไทยแล้ว ก็เป็นเรื่องที่จะเกี่ยวข้องกับทุกคนอยู่ตลอดไป ดังนั้น จึงนอกจากจะเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่สำคัญแล้ว ก็สามารถเป็นยุทธศาสตร์และประเด็นนำการเปลี่ยนแปลงให้กับด้านอื่นอีกด้วย จึงมีสิ่งที่จะต้องนำเสนอบทบาทเชิงรุกและชี้นำการแปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมอีกมากมาย (๓) การพัฒนาการวิจัยและงานวิชาการทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ในปัจจุบัน ในสภาพที่สังคมโลกมุ่งเอารายได้ทางเศรษฐกิจเป็นตัวตั้งนั้น บ้างก็ว่าไม่มีความสำคัญ มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกก็แทบจะต้องยุบและเลิก เพราะลงทุนไปก็ไม่เกิดกำไรและให้ผลทางเศรษฐกิจ และบ้างก็ว่ามีความเจริญก้าวหน้า สามารถชี้นำการพัฒนาสังคมได้มากขึ้น จึงได้รับความสำคัญและจะมีบทบาทต่อแนวโน้มการพัฒนาใหม่ๆมากขึ้น นักสังคมศาสตร์จึงจะจัดวางทรรศนะที่พอดีไว้ตรงไหน  และ (๔) หมอพงษ์พิสุทธิ์ นักกิจกรรมเก่านับแต่ยุคเป็นนักศึกษาแพทย์ กระทั่งปัจจุบันก็เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข จึงเป็นแพทย์และนักปฏิบัติการเชิงสังคม ที่จะพูดเรื่องนี้ทั้งสอดคล้องกับความเป็นจริงของสังคม ได้มิติทางวิชาการ และเห็นประเด็นเชิงนโยบาย ได้ดีที่สุดคนหนึ่งของสังคมไทย

ที่สำคัญคือ เวทีนี้มีความแตกต่างและมีเอกลักษณ์ความเป็นมหิดล เวทีนี้คุยกันที่มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ที่รวมเอาสาขาสำคัญๆ ทั้งทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ ศิลปศาสตร์บางสาขา ศึกษาศาสตร์ สังคมศาสตร์สิ่งแวดล้อม นิติศาสตร์และอาชญาวิทยา ไว้ด้วยกันอย่างเป็นสหวิทยาการได้มากที่สุดในหมู่มหาวิทยาลัยของประเทศ (มหาวิทยาลัยต่างๆจะแยกสาขาเหล่านี้ออกเป็นคณะวิชา) อีกทั้งเป็นสังคมศาสตร์ที่มีพัฒนาการเชื่อมโยงและใกล้ชิดกับการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพมากที่สุดของประเทศ จึงไม่เหมือนกับเวทีไหนๆ....พลาดไม่ได้ครับ

ทีมภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ โดยทีมของจังหวัดกับทีม สช.ภาคเหนือ ส่งเอกสารแผนกิจกรรมและประมาณการค่าใช้จ่ายในโครงการของทีมพื้นที่ไปให้ทีมประสานงานส่วนกลางของโครงการวิจัยแล้วครับ

จังหวัดเชียงใหม่นี้ จะมีการลงไปจัดเวทีในพื้นที่และเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามที่สร้างขึ้นกับคนในพื้นที่ให้ครอบคลุมตัวแทนสำหรับวิเคราะห์ทั้งจังหวัด และทำสัมภาษณ์กับสนทนากลุ่มเชิงลึกตามประเด็นการวิจัยที่สำคัญ ที่อำเภอสันทราย พร้าว และฮอด ระยะแรกจะเสร็จสิ้นภายในสัปดาห์แรกของมิถุนายน ๒๕๕๓ 

รวมทั้งมีตัวอย่าง เอกสารข้อมูลและการเรียนรู้เกี่ยวชุมชนบ้านสบเปิง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ส่งไปให้ด้วย มีกิจกรรมของ อสม ดีเด่นหลายกิจกรรม ทั้งทางด้านยาเสพติด การเป็นผู้นำทำเกษตรอินทรีย์ การทำโครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและโครงการสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจหลายอย่าง รวมทั้งการนำเสนอสภาวการณ์ในการทำงานสร้างสุขภาวะของชุมชนอย่างบูรณาการ ซึ่งหลายด้านมีข้อมูลที่เป็นการรวบรวมศักยภาพและทุนทางสังคมของชุมชนไว้บ้างแล้ว

ทีมจังหวัด ของจังหวัดเชียงใหม่ในเบื้องต้นนี้มี ๗ คน ประกอบด้วย : ประธาน ๑. ผชช.ว. หรือ ส. ๒. น.ส.จิดาภา พวงเพ็ชร  ๓. นายทรงยศ คำชัย  ๔. นางนุชจรินทร์ พันธุ์บุญปลูก ๕. อบจ. ๖. นายมณี อรินต๊ะ ๗. ผู้รับผิดชอบงานอำเภอ ฮอด และ พร้าว 

ผู้ประสานงานของทีมเชียงใหม่ คือ คุณอรอนงค์ ดิเรกบุษราคัม ทีมร่วมวิจัยและสนับสนุนวิชาการจากข่ายวิจัยศูนย์สุขภาพภาคประชาชนภาคเหนือ คือ คุณจิดาภา พวงเพ็ชร ครับ

พอมีเวลานั่งอ่านกระทู้พี่ๆน้องในเว็บเพาะช่าง เจอกระทู้นี้อ่านไปๆน้ำตาไหลเลย...

http://www.pohchang.org/webboard/index.php?topic=2371.0

พอๆกับบล็อกPพี่แดงเลยค่ะพี่อาจารย์...

   สุขภาพกับการเสริมสร้างพลังปัจเจกและประชากรกลุ่มพิเศษ  

 

 

ศิลปะบำบัดสำหรับผู้ป่วยเด็ก คุณภากรมาส ทำกิจการร้านขายกาแฟและสอนศิลปะที่บ้านแถวบางใหญ่-บางบัวทอง อาสาไปทำกิจกรรมบำบัดให้แก่ผู้ป่วยเด็กที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ดูเหมือนผมจะเคยอ่านจากบล๊อกที่เธอเขียนเองนี้เช่นกันว่าเป็นโรงพยาบาลศรีราชา ชลบุรี แต่ตอนที่เขียนนี้กลับไปหาข้อมูลอ้างอิงให้ยังไม่เจอ ใช้ศิลปะเป็นกิจกรรมให้เด็กทำ ในระยะหลังก็ระดมเอาลูกและคนที่มีจิตอาสาด้วยกัน ไปช่วยกันทำ ผมเพิ่งจะคุยกับน้องๆนักวิจัยของผมว่าเราน่าจะหาเวลาหยุดตั้งสติสักพัก แล้วก็ไปหย่อนใจ หาอาหารใจและหาแรงบันดาลใจให้กับชีวิตกันบ้าง ซึ่งผมเสนอให้พากันไปเที่ยวเมืองโบราณ สัจธรรมปราสาท แล้วก็ชวนแวะไปบ้านกาแฟของคุณภากรมาสนี่เอง อ้างอิงภาพ : ภากรมาส | pagornmars : เว็บบล๊อกเครือข่ายศิษย์เก่าเพาะช่าง http://www.pohchang.org/webboard/index.php?topic=2371.165 

ทุกรายการพรรคพวกเห็นชอบหมด แต่ในที่สุดก็จัดเวลากันได้แค่ชั่วโมงกว่า เลยไปที่หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตต์ ไปถึงก็กลายเป็นวันหยุดของหอศิลป์เสียนี่ เลยจำต้องเปลี่ยนใจเดินไปพิพิธภัณฑ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีที่กรมโยธาเดิมและอยู่ใกล้ๆกัน ไปถึงก็ปิดอีกเพราะเป็นเวลาเลิกงานไปแล้ว ที่สุดก็เดินขึ้นภูเขาทองไปไหว้พระบรมธาตุ แล้วก็ได้ยืนรับลมและดูวิวกรุงเทพฯ จากนั้นก็เดินไปโลหะปราสาท วัดราชนัดดา

  เรียนรู้และหาแนวคิด 

งานจิตอาสาของคุณภากรมาสนี้ ติดตามอ่านแล้วก็คงต้องนั่งซึมทั้งสงสารเด็กและประทับใจการสะท้อนความคิดจิตใจของคนทำคือคุณภากรมาสเอง เด็กๆกลุ่มผู้ป่วยที่คุณภากรมาสไปทำกิจกรรมศิลปะบำบัดนี้ เป็นกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งขั้นวิกฤติ เด็กบางคนเจ็บป่วย หยุดสื่อสารกับโลกภายนอก และทำท่าจะหยุดพัฒนาการอีกหลายอย่าง คุณภากรมาสก็ใช้ศิลปะและกระบวนการต่างๆที่ออกมาจากการปฏิสัมพันธ์กับเด็กด้วยตัวคุณภากรมาสเอง ที่สุดก็ช่วยเด็กๆให้มาอยู่กับงานศิลปะและทำให้เด็กได้มีวิธีฟื้นฟูจิตใจ มีความสุข และทำให้การดำเนินชีวิตอย่างเป็นปรกติได้เป็นธรรมชาติการเยียวยาตนเองอย่างเป็นองค์รวมให้แก่เด็กอีกทีหนึ่ง

กระบวนการที่ทำนี้ช่วยทำให้การบำบัดรักษาและดูแลเด็กทางการแพทย์ ได้ผลดีขึ้น มีการวิจัยและสังเกตการณ์ในทางวิชาการเข้าช่วยด้วย รวมทั้งมีทีมผู้ช่วยเป็นพี่เลี้ยงและครูให้แก่เด็กช่วยด้วยคือลูกสาวของคุณภากรมาสเอง อ่านการถ่ายทอดความคิดและบันทึกรายงานจากข้อสังเกตตนเองของคุณภากรมาสแล้ว ก็เห็นพลังของความเป็นแม่ที่ใส่เข้าไปในการทำกิจกรรมแบบจิตอาสานี้ให้กับเด็กๆ

คุณภากรมาสเป็นศิษย์เก่าของเพาะช่าง ดูเหมือนจะเป็นรุ่นน้องผมหลายปี มีประสบการณ์ในการทำงานทั้งในและต่างประเทศ ประสบความสำเร็จในชีวิตและอิ่มเต็มพอสมควรแก่ชีวิตแล้ว ความคิดหลายอย่างเลยค่อนข้างลงตัวและมีพลังมากครับ

อ้างอิงภาพ : อาจารย์ I_dears  จากเว๊บเพาะช่างหัวข้อเดียวกันhttp://www.pohchang.org/webboard/index.php?topic=2371.165  

  ศิลปะกับพัฒนาการเด็กและการเสริมสร้างทักษะปฏิบัติของปัจเจก 

ในหัวข้อบล๊อกที่คุณภากรมาสเข้าไปคุยไว้นั้น เจ้าของกระทู้ที่เปิดหัวข้อคุยเผยแพร่เรื่องศิลปะกับการบำบัดเด็กพิเศษ ใช้นามแฝงว่า I_dear เป็นอาจารย์สอนศิลปะในโปรแกรมนานาชาติอยู่ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์บางเขน  หากลองคลิ๊กเข้าไปอ่านเอกสารในเว๊บบล๊อก ก็จะบอกว่าชื่อจริงคือ อาจารย์คมกฤษ เมฆหมอก แต่ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึงคนเดียวกันหรือเปล่า แต่ดูรูปแล้วจำได้ครับ เคยได้เจอและคุยกันเมื่อปี ๒๕๕๒ ตอนที่ผมกับเพื่อนๆไปแสดงงานที่หอศิลป์จามจุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์มาแนะนำตนเองว่าเป็นรุ่นน้องผมที่เพาะช่าง ห่างรุ่นปีกันไม่กี่ปี ดูเหมือนจะเป็นครูศิลปะถวายงานให้กับคุณพุ่มด้วยครับ เป็นคนเก่ง มีวิธีคิดเป็นตัวของตัวเองและสุภาพอ่อนน้อมเหมือนคนไม่มีอะไร

  การพัฒนาเป็นแนวริเริ่มทำงานในระบบบริการสุขภาพชุมชน 

การพัฒนาแนวคิดและค้นหาเพื่อระบุกลุ่มประชากรสำหรับทำงานสุขภาพเชิงพื้นที่ในกรอบแนวคิดใหม่ๆ ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจและจะทำให้การทำงานสุขภาพในมิติต่างๆของชุมชนเข้มแข็งมากยิ่งๆขึ้นนะครับ ลักษณะงานอย่างนี้สามารถริเริ่มและพัฒนาระบบบริการสุขภาพได้ในทุกระดับ ทั้งในและนอกโรงพยาบาลกับหน่วยบริการสุขภาพ อีกทั้งสามารถไปทำในครอบครัวผสมผสานกับรูปแบบ Home Ward ที่เน้นเรื่องสุขภาพใกล้บ้านใกล้ใจ และคนทำงานเชิงสังตมและขับเคลื่อนชุมชนก็สามารถพัฒนากิจกรรมในศูนย์สุขภาพชุมชนหรือเวทีชุมชน  

กิจกรรมศิลปะอย่างในตัวอย่างของคุณภากรมาสและอาจารย์ไอเดียร์ที่น้องคุณครูอ้อยเล็กลิ๊งค์มาชวนกันดูนี้ ไม่เพียงจะช่วยให้ปัจเจกมีพลังการพึ่งตนเองเพื่อบำบัดฟื้นฟู เผชิญความเจ็บป่วย และสามารถมีสุขภาวะ มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นทั้งกายและจิตใจเท่านั้น แต่จะทำให้ปัจเจกและกลุ่มคนที่ร่วมทำกิจกรรมด้วยตนเอง มีทักษะการคิดและได้รับการพัฒนาการแสดงออกเป็นกลุ่ม ซึ่งความเป็นชุมชนและความเป็นกลุ่มก้อนที่ปฏิสัมพันธ์กันด้วยกิจกรรมเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติที่เป็นระบบอย่างนี้ ก็จะมีพลังฟื้นฟูและสร้างความสมดุลในจิตใจ ทำให้ธรรมชาติมีกำลังที่จะทำงานและดูแลตนเองได้ดีขึ้น การทำงานสร้างนำซ่อมและงานเชิงรุก ที่เน้นสร้างเสริมสุขภาพและพัฒนาทักษะการดูแลตนเองในชุมชนต่างๆก็จะมีประสทิธิภาพมากขึ้น

น่าสนใจ และหลายพื้นที่ที่สนใจก็สามารถพัฒนาทีม พัฒนาแนวคิด สำรวจ วิเคราะห์ศักยภาพ และพัฒนาการมีส่วนร่วมของทุนทางสังคมในด้านนี้ที่มีอยู่ในชุมชน ให้เป็นเครือข่ายปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ได้อีกด้วยกระมังครับ พื้นที่จังหวัดไหนและภูมิภาคไหนมีบทเรียนอยู่บ้างก็อาจจะช่วยถ่ายทอดแบ่งปันให้กันได้นะครับ

อย่างจังหวัดสงขลานั้น เท่าที่ผมทราบก็มีอยู่มากมายทั้งระดับที่ทำกันเป็นกลุ่มท้องถิ่นและกลุ่มที่มีเครือข่ายถึงนานาชาติเลย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีศิลปินพื้นบ้านจำนวนหนึ่งที่เป็น อสม.ด้วย เป็นเครือข่ายสร้างการเรียนรู้และพัฒนาการปฏิบัติที่ส่งเสริมสุขภาพ และสร้างสุขภาวะชุมชนได้อย่างกลมกลืนและสอดคล้องกับวิถีท้องถิ่นมากจริงๆครับ

ขอบคุณน้องคุณครูอ้อยเล็กที่นำเอาลิ๊งค์เพาะช่างมาให้ได้แวะเข้าไปเยี่ยมนะครับ ผมเองนั้นก็เข้าไปดูเป็นระยะๆเหมือนกัน แต่เว๊บมักล่มอยู่เรื่อย เลยไม่ค่อยกล้าเขียนและเอารูปไปโพสต์ไว้ ยังไม่ได้กลับไปลองดูอีกเลยครับว่ายังโพสต์รูปได้อยู่อีกไหม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท