มัทนา
มัทนา (พฤกษาพงษ์) เกษตระทัต

คนจนก็เหมือนต้นบอนไซ | ศาสตราจารย์ยูนูส


เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าฟังการบรรยายจากศาสตราจารย์ โมฮัมมัด ยูนูส เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี คศ. 2006

ทางมหาวิทยาลัยเชิญท่านมารับรางวัลดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขากฎหมาย นักเรียนอย่างเราๆก็พลอยโชคดีไปด้วยเพราะนี่เป็นบุคคลสำคัญที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพท่านที่ 5 แล้วที่ผู้เขียนได้มีโอกาส เห็นตัวจริง และ ฟังบรรยาย (ฟรีด้วย) เพราะทาง UBC เชิญมา

อีก 4 ท่านคือ

ศาสตราจารย์ยูนูสบรรยายชั่งโมงกว่าๆ ผู้เขียนทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน (เหนื่อยขนาดต้องของีบ 40 นาทีก่อนตื่นมาอาบน้ำเพื่อมาฟังบรรยายตอน 2 ทุ่ม!) แต่เหนื่อยแค่ไหนก็หายเป็นปลิดทิ้ง หูตาเปิดตลอดชั่วโมงกว่านั้น ท่านเป็นคนที่พูดแล้วมีมุข แถมยิ้มแล้วมีกระแสเมตตาแผ่ออกมาก

ผู้เขียนกลับบ้านมาลองหาวีดีโอคลิปใน youtube ก็พบว่ามีอยู่หลายคลิป เนื้อหาเหมือนกับที่ท่านบรรยายเมื่อคืนนั้น ใครสนใจฟังได้ที่คลิปด้านล่างนี้ค่ะ

(ของ google campus จะยาวสุดฟังได้ 44 นาที)

------------------------------------------------

บันทึกนี้ผู้เขียนขอยกแค่ส่วนเดียวของการบรรยายครั้งนี้ที่คิดว่าอยากช่วยเผยแพร่

นั่นก็คือเรื่อง ต้นบอนไซกับคนจน

http://cache1.asset-cache.net/xt/bldtr040152.jpg?v=1&g=BLD&s=1 http://cache2.asset-cache.net/xt/56443836.jpg?v=1&g=PHA&s=1  http://cache4.asset-cache.net/xt/73537127.jpg?v=1&g=PHA&s=1

[ภาพจาก royalty-free getty images]

------------------------------------------------

ศาสตราจารย์ยูนูส เล่าให้ฟังว่าหนึ่งในความสำเร็จของธนาคารการมีนคือเรื่องการศึกษา รุ่นลูกรุ่นหลานของลูกหนี้ของธนาคาร เป็นเรื่องที่น่ายินดีมากที่เด็กๆที่แทบจะต้องตายเพราะขาดอาหาร ได้มีโอกาสเรียนหนังสือจนจบสูงๆ

ท่านยูนูส หยุดบรรยาย 3 วินาที แล้วก็ถามว่า แล้วเด็กพวกนี้ ต่างอะไรกับพ่อแม่เค้า?

ที่รุ่นนั้นจนขนาดไม่มีกินนั้นไม่ได้เกี่ยวกับว่าเค้าไม่มีสมองหรือความสามารถ ไม่ได้มีปัญหาทางพันธุกรรมซะหน่อย

แล้วท่านก็เปรียบว่าคนจนก็เหมือนต้นบอนไซ

ลองคิดดู ถ้าท่านเข้าไปในป่านที่อุดมสมบูรณ์มากๆ ต้นไม้งาม ต้นสูงใหญ่ แล้วไปเก็บเมล็ดมาจากต้นที่งามที่สุดสูงที่สุดมา

ถึงเลือกเมล็ดที่ดีที่สุดมาปลูกในกระถางเล็กๆ คุณก็จะได้ต้นไม้ต้นเล็กๆ

กระถางยิ่งเล็ก ดินยิ่งน้อย ต้นก็ยิ่งเล็ก

ท่านบอกว่า นั่นแหละ สถานการณ์ของคนจน

เหตุปัจจัยต่างๆรอบๆตัวเค้านั่นแหละที่ไม่ให้ "พื้นที่" ให้พวกเข้า "เจริญ"

ระบบเศรษฐกิจที่พวกเราสร้างกันขึ้นมาเอง ระบบสังคมที่เราสร้างกันขึ้นมาเองนี่แหละที่ทำให้มีความจนขนาดนั้นเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นถ้าจะทำให้ความจนหายไปเราต้องให้ พื้นที่ นั้นๆ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้ความคิดสร้างสรรค์และความสามารถของพวกเขาเกิดขึ้นเองโดยที่ทางเราก็ไม่ได้ กำหนดว่าเค้าควรทำอะไรอย่างไรด้วย แต่ที่ธนาคารกรามีนประสบความสำเร็จมากๆก็เพราะพนักงานของธนาคารไปคุยกับผู้ยืมอย่างลึกซึ้ง ไปเข้าใจชีวิตของพวกเขาจริงๆ เช่นไปคุยกับขอทานจนเข้าใจว่า ณ จุดในของชีวิตที่เป็นจุดพลิกผันทำให้เขาตัดสินใจว่า ต่อไปนี้จะขอทานอย่างเดียวไม่ทำอะไรแล้ว

นอกจากนี้พนักงานของกรามีนยังออกไปพบผู้ยืมถึงบ้าน สัปดาห์ละครั้ง เรียกได้ว่ารู้จักกันจริงๆ มิน้าลูกหนี้เกือบทั้งหมดถึงได้คืนเงินครบ แถมสถิติคนจนของประเทศบังคลาเทศถึงได้ลดลงทุกปีปีละ 1-2% เรื่อยไม่หยุดมา 31 ปีแล้ว! นี่ขนาดบังคลาเทศทีไซโคลนมีน้ำท่วมทุกปี แถมมีรัฐบาลที่คอรัปชั่นมากที่สุดที่นึงในโลกนะเนี่ยะ!

 

หมายเลขบันทึก: 171221เขียนเมื่อ 17 มีนาคม 2008 01:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

UBC จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่นักศึกษาได้ดีมากเชียวครับ ผมพูดทีเล่นทีจริงกับใครต่อใครเสมอว่าถ้ามีโอกาสไปทำ postdoc จะไปที่ UBC เพราะเคยไปเยี่ยมแล้วประทับใจมากครับ

มหาวิทยาลัยที่ดีต้องมีกิจกรรมให้ความรู้แก่นักศึกษาที่หลากหลายเช่นนี้นี่เองครับ

สิ่งที่ศาสตราจารย์ยูนูสกล่าวถึงคนจนเหมือนต้นบอนไซนั้นเป็นการเปรียบเทียบที่น่าประทับใจมากครับ เพราะเป็นอุปมาที่ได้ภาพชัดเจนครับ

คนจนในประเทศไทย "โต" ไม่ได้เพราะไม่มี "โอกาส" ให้เขาโต แล้วพอคนจนในประเทศไทยจะโตก็กลับถูกขัดขวางจากคนในวรรณะสูงกว่าด้วยเหตุผลที่ว่าคนโง่โตแล้วก็มีปัญหาดังนั้นคนโง่ไม่ควรโต หรือถ้าโตก็ต้องโตแบบบอนไซ

ปัญหาที่กลุ่มการเมืองในประเทศไทยต้องแก้ให้ได้คือเลิกมองว่าความจนกับความโง่เป็นสิ่งเดียวกันครับ

สวัสดีค่ะคุณมัท

ดร.ยูนุสเป็นคนหนึ่งที่เบิร์ดชอบแนวคิดและการปฏิบัติของเค้ามากเลยล่ะค่ะ  และเห็นด้วยว่าการเปรียบเทียบว่าคนจนเหมือนบอนไซนั้นตรงเป๊ะเลย

หลักคิดของกรามีนแบงค์หรือธนาคารคนจนนี้เราก็เอามาทำ SML และกองทุนหมู่บ้าน แต่เราเอามาแบบลอกแต่ไม่ได้เอาจิตวิญญาณมาด้วยทำให้มีปัญหาตามมามากมายเลยนะคะ

ธนาคารคนจนหรือธนาคารกรามีน (Grameen Bank) เค้าปล่อยสินเชื่อให้กับคนจนและคนด้อยโอกาส โดยเฉพาะที่เป็นสตรีถึง 95% เลยนะคะทั้งผู้หญิงที่ประกอบอาชีพไม่งามในสายตาคนทั่วไปและขอทาน ซึ่งไม่มีองค์กรการเงินใดให้กู้ พร้อมใช้กุศโลบายต่าง ๆ ให้คนเหล่านี้ เลิกอาชีพดังกล่าวและรู้จักมีศักดิ์ศรีในตนเอง จนได้รับสมญานามว่า นายธนาคารขวัญใจคนจน

ซึ่งหลักการในการดำเนินการคือเข้าใจ เข้าถึงและช่วยกันคิดแก้ปัญหาตลอดจนวางแผนการใช้เงินร่วมกันกับลูกหนี้ โดยเชื่อว่าความซื่อสัตย์ยังมีในโลก สิ่งที่ทำเป็นธุรกิจดำเนินไปอย่างมีคุณธรรมและสร้างสรรค์ ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นในศักยภาพการชำระหนี้ของคนยากจนหรือคนด้อยโอกาสในสังคมยังสามารถพัฒนาตนเองได้โดยให้กู้ทีละน้อยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มทีและส่งทยอยคืน มุ่งให้พึ่งตนเองได้

และดร.ยูนุส พบว่าคนจนเหล่านี้สามารถใช้หนี้คืนได้เกือบทั้งหมด หากได้รับโอกาสที่เหมาะสมและเชื่อว่าตราบใดผู้คนยังยากจนอยู่ความสงบสุข สันติภาพย่อมเกิดไม่ได้..เท่ห์ชะมัด โอ่อ่า สง่างามและเปิดเผยดีจังเลยนะคะ

สำหรับประเทศไทยก็มีปราชญ์ชาวบ้านที่ได้อุทิศแรงกาย แรงใจ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า

ดร.มูฮัมหมัด  ยูนูส เหมือนกันค่ะคุณมัท และทำเรื่องที่คล้ายคลึงกัน คือ คุณชบ  ยอดแก้ว, คุณเคล้า  แก้วเพ็ชร,

คุณอัมพร  ด้วงปาน, คุณลัภย์   หนูประดิษฐ์  ค่ะ

แต่จะขอพูดถึงผลงานของคุณชบ  ยอดแก้วนะคะ 

..เรียกกันติดปากว่าครูชบ  ผู้ทรงภูมิปัญญาด้านการเงินชุมชนที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของภาคใต้  โดยริเริ่ม

การออมทรัพย์ร่วมกันโดยใช้ สัจจะ  เป็นกฎข้อบังคับค่ะ จึงเรียกว่า สัจจะออมทรัพย์  ซึ่งเป็นองค์กรการเงินนอกกฎหมายในกลุ่มของประชาชน  พัฒนาครบวงจรชีวิตมีการจัดสวัสดิการที่ครอบคลุมตั้งแต่เกิดจนตาย

ใช้ความรู้จัก คุ้นเคย สายสัมพันธ์ของคนในชุมชนเป็นกรอบในการควบคุมซึ่งกันและกัน  มีกฏกติกา

ทางสังคมที่ไม่เป็นทางการ ชุมชนดูแลให้เกิดการลงโทษทางสังคมแก่สมาชิกกองทุนที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบ ซึ่งประสบผลสำเร็จ มีกองทุน มีการออมทรัพย์ขึ้นในระดับชุมชน ใช้กระบวนการเรียนรู้มาจัดการในลักษณะของจุลภาคหลาย ๆ จุลภาคมารวมกันเป็นเครือข่าย เพื่อร่วมกันสร้างพลังผลักดันให้มีการขยายแนวคิดไปทั่วประเทศ ต่อมาได้มีการผลักดันเข้าสู่ระบบการศึกษาเป็นหลักสูตรเศรษฐกิจชุมชนพึ่งตนเองตามแนวตะวันออกค่ะ

                  

จะเห็นได้ว่าทั้งดร.มูฮัมหมัด  ยูนูส  และครูชบ  ยอดแก้ว  ทำในเรื่องเดียวกันคือเรื่องของเศรษฐศาสตร์ชุมชนนะคะ มุ่งช่วยเหลือให้คนยากจน และด้อยโอกาสให้สามารถช่วยตนเองได้อย่างยั่งยืนถึงแม้วิธีการดำเนินการต่างกันบ้าง แต่หลักใหญ่เหมือนกัน คือ ใช้การแก้ปัญหาแบบทุนนิยม ( การให้กู้โดยไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันแต่ต้องใช้คืน สร้างวินัยทางการเงินมากกว่าที่ชาวบ้านพูดๆกันอยู่ว่าไม่ต้องใช้หรอกเงินของ... เดี๋ยวก็ยกหนี้ให้ อิ อิ อิ ) ไม่ใช่แบบการกุศลหรือสังคมสงเคราะห์ 

และมีลักษณะการทำงานที่เชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานของผู้ทรงภูมิปัญญาในท้องถิ่น ซึ่งใช้องค์ความรู้และระบบการบริหารจัดการ ขับเคลื่อนกิจกรรมเป็นการทำงานลักษณะองค์รวม

ซึ่งทั้งสองท่านมองและแก้ปัญหาจากฐานล่างของประเทศหรือส่วนที่เป็นปัญหาของประเทศนะคะ.. ช่วยเหลือชุมชน ผู้ด้อยโอกาสที่มีจำนวนมากให้ได้รับโอกาส ทั้งเข้าถึงองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพนั่นคือเช่น ดร.ยูนูส เน้นให้โอกาสแก่ผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย เมื่อเกิดการพึ่งพาตนเองได้แล้วก็เกิดการพึ่งพาซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างสังคมให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข..เบิร์ดถึงว่าเราเอามาแต่รูปแบบ แต่เราไม่ได้เอาจิตวิญญาณมาด้วยทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในหลายๆกองทุน  ^ ^

คิดถึงค่ะ

 

 

ผมเห็นด้วยกับคุณเบิร์ดครับ การทำของรัฐบาลที่ผ่านมานั้นเป็นการทำใน large scale ต่างกับการดำเนินงานของครูชบซึ่งทำใน micro scale ซึ่งเปิดโอกาสให้จัดการในรายละเอียดได้เยอะกว่าครับ

ผมเชื่อว่ากว่าจะเป็นในวันนี้ของ ศ.ยูนูสและครูชบนั้น ทั้งคู่ก็ต้องลองผิดลองถูกมาไม่น้อย เพียงแต่เราได้มีโอกาสได้ทราบข้อมูลของความสำเร็จเป็นหลักเท่านั้นครับ

ผมจึงเชื่ออีกว่าความผิดพลาดของโครงการของรัฐที่ผ่านมานั้น ถ้าเราเปิดโอกาสให้เขาแก้ไขปรับตัวเราอาจได้เห็นสิ่งที่ดีขึ้นมาบ้างครับ

ปัญหาของคนไทยชนชั้นกลางกับโครงการภาครัฐเพื่อคนไทยชนชั้นล่างคือเราคาดหวัง a silver bullet ที่ทำทีเดียวได้ผลแน่ โดยเราลืมคิดไปว่าธรรมชาติของการจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องเรียนรู้จากความล้มเหลวเสมอ

ดังนั้นผมสนับสนุนให้เราส่งเสริมให้ภาครัฐเรียนรู้จากความผิดพลาดเพื่อปรับปรุงไปหาความสำเร็จครับ ผมไม่สนับสนุนให้ทับถมความผิดพลาดจนไม่เปิดโอกาสให้แก้ไขข้อผิดพลาดนั้นครับ เพราะไม่ว่ารัฐจะเป็นใครมาจากวรรณะไหน คนที่จะได้หรือเสียผลประโยชน์ที่แท้จริงคือประชาชนชนชั้นล่างครับ

สงสัยครับว่าในกรณีที่คนฐานะดีมีความเป็นอยู่สุขสบายมาตลอดชีวิตอย่างคุณหมอมัทนา เวลาพูดถึงปัญหาความยากจนนี่มีความรู้สึกร่วมลีกซึ้งขนาดไหน  ได้ยินอยู่เสมอเรื่องคนรวยสงสารและเห็นอกเห็นใจคนจนนี่ แต่ไม่รู้ว่าจริงใจขนาดไหน สงสัยว่าถ้าประเทศเรามีปัญหาแบบประเทศคิวบา รัฐบาลเข้ายีดครองจัดการแบ่งสมบัติของคนรวยมาแบ่งปันให้คนจน พวกคนมีอันจะกินที่เคยมีที่ท่าว่าชอบช่วยเหลือและเข้าใจนั้นจะเห็นดีด้วย และยินดีแบ่งปันโดยไม่มีการต่อต้านหรือไม่

อ. ธวัชชัย: มัทก็รู้สึกว่าโชคดีมากๆที่ทาง UBC จัดกิจกรรมดีๆให้เข้าร่วมเสมอค่ะ : )

เรื่อง silver bullet นี่ใช่เลยค่ะ การแก้ปัญหาแบบ quick fix ก็จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกต่อเนืิองไปเรื่อยๆ ไม่ได้แก้ตาม ธรรมชาติของปัญหา อีกทั้งเรื่องนโยบายที่จัดการแก้ปัญหาระดับชาติ เป็น top-down หมู่บ้านไหนตำบลไหนก็ใช้วิธีเดียวกันหมด

แต่มัทว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากนั้น เรามีหวังกันมากขึ้นนะคะ

เพราะเรื่องการแก้ปัญหาจากล่างขึ้นบน แล้วก็ค่อยๆทำให้ตรงบริบทของแต่ละที่มีมากขึ้น (อยากน้อยในทางทฏษฎีก็อยากให้เป็นไปทางนั้น)

คนเราใจร้้อนเนอะคะ อยากเห็นผลเร็วๆ แต่ไอ้ที่ทำกลายเป็น ว่าทำให้ยิ่งช้า (counter-productive) ไป

 

คุณเบิร์ดค่ะ

คิดถึงเช่นกันค่ะ แล้วก็ขอบคุณมากๆที่มาช่วยกันต่อยอด มาเล่าเรื่องปราชญ์ชาวบ้านบ้านเราให้ฟัง : ) ชอบใจมากๆค่ะ

ดร.ยูนูส เล่าเรื่องการทำงานของทีมงานกรามีน
ให้ฟังแล้วเข้าใจเลยว่า ที่เค้าทำสำเร็จเนี่ยะ มันแรงกายแรงใจมากกว่าแรงเงิน

ให้เงินเฉยๆนี่ไม่มีทางสำเร็จเลย ต้องไปคุยไปจุดประกายความคิดให้ผู้ยืมคิดเองให้ได้ว่าจะทำอะไรในชีวิตที่ตรงกับที่ใจอยาก ไม่ใช่แค่ไปให้ความรู้ด้วย

ฟังบรรยายวันนั้นแล้วประทับใจและมองอะไรใหม่ๆได้เพิ่ม เช่น เรื่อง social business ว่ามันยั่งยื่นกว่าโครงการที่รับบริจาคอย่างเดียว ไว้มัทจะบันทึกเรื่องนี้อีกที จะยกตัวอย่างธุรกิจโยเกิร์ตกรามีน-ดานอน มาเล่าให้ฟังค่ะ คงเป็นสุดสัปดาห์หน้านะคะ : )

ขอบคุณอีกครั้งค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ Bonsai

ขอตอบว่าเห็นใจคนทั้งคนจนและคนรวยค่ะ

แต่ละคนก็มีความทุกข์ที่ต่างกัน ทั้งที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัวว่าความทุกข์นั้นมันเกิดขึ้นเพราะอะไร

เพราะเหตุปัจจัยรอบๆตัว หรือเพราะความเข้าใจหรือการมองโลกที่เป็นภัยต่อเราเอง

บางคนคิดว่าตัวเองจนทั้งๆที่จริงไม่ได้จนจริง

บางคนรวยแต่ไม่คิดจะพอ เอาเปรียบคนอื่น

--------------------------------------------

ความจริงใจของมัทในเรื่องนี้ มัทขอให้การกระทำของมัทเป็นเครื่องพิสูจน์ดีกว่าค่ะ

มัทคิดว่าคนที่อยู่ดีกินดีมีฐานะนั้น จะเข้าใจเพื่อนร่วมโลกที่เกิดมามีโอกาสที่ต่างกันได้ ก็ต่อเมื่อ "ได้เห็นและสัมผัส" ค่ะ คนรวยหลายๆคนก็น่าเห็นใจที่ไม่มี "พื้นที่" ที่จะไปเห็นว่าคนอื่นเค้าอยู่กันอย่างไร

มัทโชคดีหน่อยที่เลือกทางเดินวิชาชีพมาทาง ทันตกรรมชุมชนและทันตกรรมผู้สูงอายุ มีอาจารย์มีเพื่อนร่วมงาน และได้ทำงาน ที่ทำให้ได้เห็นอะไรที่ไม่มีทางจะได้เห็นถ้าทำแต่คลินิกในเมือง คบเพื่อนกลุ่มเดิมๆที่เรียนด้วยกันมาแต่เด็กๆ

นอกจากนี้มัทต้องขอบคุณที่บ้านที่เลี้ยงลูกมาแบบไม่ฟุมเฟือย แล้วก็ยังให้เห็นชีวิตนอกเมืองมาตลอด ทั้งพ่อและแม่เป็นตัวอย่างที่ดีในการ "ให้โอกาสคน"  มัทว่าสำคัญกว่าการให้เงินเฉยๆอีกค่ะ

--------------------------------------------

ส่วนเรื่องคนรวยแบ่งให้คนจนนั้น ไม่ต้องรอนานค่ะ มัทอยู่แคนาดามา 5  ปี การเป็นนักเรียนที่นี่ เงินเดือนที่ได้แต่ละเดือนนั้นและเงินในธนาคารอยู่ใน poverty line ค่ะ

มัทได้เงินภาษีที่คนรวยแบ่งมาให้มัททุกปี (tax refund) ระบบประกันสุขภาพได้มาก็เพราะภาษีคนอื่นแบ่งมา รถเมล์ที่นั่งก็ภาษีคนอื่นแบ่งมา จนมาปีนี้มันได้มีโอกาสเข้าทำงานเป็นทันตแพทย์ประจำบ้าน เงินเดือนมากหน่อย ปีนี้แหละที่มัทต้องเสียภาษีมากขึ้นมากเพื่อแบ่งให้คนอื่นบ้าง เพราะฉะนั้นที่คุณ Bonsai ถาม ว่าจะยินดีหรือต่อต้าน มัทก็ตอบได้เต็มปากเลยค่ะว่ายินดีค่ะ ทั้งนี้ก็เพราะที่แคนาดานี้โปร่งใสมากเรื่องการจัดการเงินภาษี

อาจารย์ที่ปรีกษาของมัทนี่แหละค่ะที่เป็นตัวอย่างที่ดีมากๆท่านบอกเสมอ เวลามีคนบ่นว่าภาษีที่นี่แพงมากๆ ท่านบอกว่าท่านเต็มใจจ่ายภาษีที่นี่ เพราะท่านคิดว่าท่านมี"พอ"แล้ว เมื่อพอแล้วก็แบ่ง แต่มันไม่จบแค่นี้นะคะ ท่านสนใจติดตามการเมืองด้วยก็เพราะต้องการให้แน่ใจว่าเงินฉันไปเป็นประโยชน์จริงๆหรือเปล่า

นี่เป็นอีกประการที่ทำให้คนที่นี่ไปมีส่วนร่วมกับการเมืองอีกทั้งทางรัฐก็ต้องโปร่งใส ไม่งั้น"โดน"ประชาชนเอาเรื่องแน่นอนค่ะ

--------------------------------------------

คนรวยที่เป็นคนดี เห็นใจคนจนไม่จำเป็นต้องมานอนกระต๊อบ เหมือนที่นายกคนหนึ่งของไทยเคยออกมาทำให้ดู ไม่ต้องแบ่งให้ทุกคนเท่ากันหมด (equality กับ equity ต่างกันตรงนี้ค่ะ)

การเกิดการมีของสิ่งๆหนึ่งในโลกมันมีหลายเหตุจัย ขอแค่เราต้องไม่ลืมที่จะมีเมตตาให้เพื่อนร่วมโลก ควรจะ"มีอย่างไม่เป็นของกู หาได้แล้วใช้ไป" มีพอแล้วก็แบ่งและที่สำคัญคือให้พื้นที่ ให้โอกาส คนอื่นให้เติบโต งานนี้ไม่ง่ายค่ะ แบ่งให้เงินเฉยๆง่ายกว่า

ที่มัทประทับใจดร. ยูนูสมากๆก็เพราะท่านไม่สนับสนุนการให้เงินเฉยๆนี่แหละค่ะ 

ไว้มัทจะมาเขียนต่อว่ามีวิธีช่วยกันได้อย่างไรบ้าง

ไม่ทราบว่ามัทตอบตรงคำถามมั้ยคะ

คุยกันมาตั้งนาน อยากเสริมไว้ก่อนไปว่า

1. "ฐานะที่ดี มีความเป็นอยู่สุขสบาย"

ไม่สำคัญเท่า ความพอดี คนที่ไม่ได้มีเงินมากมาย ไม่ได้ข้าวของอะไรมากมาย แต่มีความสุข น่าอิจฉามากกว่าอีกเนอะค่ะ

2. ขอสั้นๆว่า แบ่งเงินอย่างเดียวไม่พอ ต้องแบ่งแรงกาย แรงใจและโอกาสด้วย

แค่นี้แหละคะ : ) ขอบคุณสำหรับคำถามค่ะ

 

สำหรับประเทศไทยก็มีกรณีศึกษา ที่จังหวัดยโสธร   มีการ ใช้เบี้ย กุดชุม อะไรทำนองนี้นะครับ (เกือบติดคุกกันซะแหล่ว)

สวัสดีค่ะSasinanda

ได้อ่านงานและประวัติของ ท่านศาสตราจารย์ โมฮัมมัด ยูนูส ซึ่งได้รับรางวัลรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเมื่อปี คศ. 2006 มาบ่อยๆค่ะ รู้สึกทึ่งและชื่นชมท่านมากค่ะ

ธนาคารแบบ ธนาคารกรามีน (กรามีนเป็นภาษาบังกลาเทศ แปลว่า ชนบทหรือหมู่บ้าน) ก็คงคล้ายกับ นโยบายกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองของประเทศเรา นะคะ

 หมู่บ้าน และชุมชนเมืองแต่ละแห่ง ได้รับจัดสรรเงินจำนวน 1 ล้านบาทจากรัฐบาล เป็นเงินกองทุนหมุนเวียน มีคณะกรรมการกองทุน ที่มากจากภายในหมู่บ้านหรือชุมชนดูแล ตอนนี้ ก้ยังมีอยู่

แต่งานที่  ท่านยูนูสและธนาคารกรามีน ทำนั้นประสบความสำเร็จมาด้วยดีตลอดระยะเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2519 จนกระทั่งปัจจุบัน

นับว่าเป็นตัวอย่างอันดีมากๆค่ะ

พี่เองเคยเห็น ชีวิตในชนบทมาหลายปีค่ะ มีคำถามมากมาย บางทีไม่ได้คำตอบ ต้องตอบเอง....

เห็นมาทั้งด้านดีและด้านต้องปรับปรุงค่ะ

เพิ่งได้ยินเรื่องเบี้ย กุดชุมก็วันนี้ ขอบคุณคุณกวินทรากรมากค่ะ

อ่านแล้วยังไม่เข้าใจชัดเท่าไหร่ คงต้องไปหาอ่านต่อ : )

 


สวัสดีค่ะพี่ศศิ (Sasinanda)

ขอบคุณมากค่ะที่มาช่วยเสริมทำให้บันทึกสมบูรณ์ขึ้น

โดยเฉพาะเรื่องความหมายของคำว่า กรามีน ที่ดร.ยูนูสแปลว่า หมูบ้าน

ท่านตั้งชื่อ กรามีน เพราะ โครงการทั้งหมดเกิดขึ้นได้เพราะหมูบ้านที่อยู่รอบๆมหาวิทยาลัยที่ท่านสอนอยู่

ท่านเล่าให้ฟังว่า ที่เริ่มโครงการต่างๆเนี่ยะไม่ใช่เพราะเป็นคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาหรอก แต่เพราะมันทนไม่่ได้ มองเห็นปัญหาอยู่ตรงหน้าทุกวันๆ

มหาวิทยาลัยที่บังคลาเทศจะอยู่ไกลเมืองหลวง (ท่านเล่าทีเล่นที่จริงว่าเป็นแผนของรัฐให้นักศึกษาอยู่ไกลๆจะได้ไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง) มหาวิทยาลัยอยู่แทรกกลางหมู่บ้านที่คนล้มตายเพราะไม่มีกิน (famine) ท่านเห็นดังนั้นแล้วก็หมดศรัทธาในสิ่งที่ตัวเองสอนอยู่ นั้นคือทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ต่างๆที่นำมาใช้กับปัญหาใกล้ตัวไม่ได้

ท่านตกใจมาเมื่อไปคุยกับชาวบ้านแล้วทราบว่า หนี้ที่ติดไม่ยอมหลุดนั้น
เป็นเงินแค่ $27 ท่านเคยแต่วิเคราะห์งบประมาณระดับชาติเป็นเงินร้อยล้านพันล้าน ท่านต้องคิดหนักว่าปัญหาในหมู่บ้านนั้นมันคืออะไรกันแน่ ทำไมวงจรอุบาทว์ถึงวนไปวนมา หลุดออกมาไม่ได้ซักที

วิธีการที่ธนาคารกรามีนใช้จะต่างไปในรายละเอียดเมื่อเทียบกับนโยบายกองทุนหมู่บ้าน และชุมชนเมืองของประเทศเราค่ะ ไว้ว่างๆมัทจะลองมายกตัวอย่างให้ดูชัดๆ เพราะมันน่าสนใจมากว่าทำไมมันถึงประสบความสำเร็จขนาดที่เค้าประกาศแล้วว่าในปี  คศ. 2015 ที่จะถึงนี้เป็น Millennium Development Goal

บังคลาเทศจะลดปัญหาความยากจนลงไปได้ 50%

อัตราความยากจน (poverty rate)ที่วัดโดยธนาคารโลก ของบังคลสเทศนั้นลดลงจาก 74% ในปี1973-73 เป็น

49% ในปี 2000 และ 40% ในปี 2005

ดร. ยูนูสคาดดารไว้ว่าเป้าหมายที่วางไว้เป็นจริงได้แน่นอนเพราะมันลดมาเรื่อยๆทุกปีไม่มีหยุด

ข้อมูลของเมืองไทยเมื่อ พศ. 2547 นั้นยังไกลจากบังคลาเทศมากค่ะ เค้ามีปัญหาทั้งรัฐบาลทั้งภัยธรรมชาติ

Poverty line คนไทยอยู่ที่ 1,230 บาท/เดือน

สัดส่วนคนจนต่อประชากรทั้งสิ้นอยู่ที่ 12%

[แหล่งข้อมูล: service.nso.go.th

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท