ความสำเร็จแห่งชีวิต ใน พระมหาชนก (ตอนที่ 3)


ปัญญา : ปัจจัยสนับสนุนความเพียร

                 ความจากตอนที่แล้ว   ผมได้พูดถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จของชีวิตตามแนวทางในพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" ไว้ 3 ประการคือ  ความเพียร   ปัญญา และกำลังกาย ซึ่งได้อธิบายปัจจัยที่ 1 คือ "ความเพียร" ไปแล้ว 

                 ในตอนนี้ จะได้พูดถึงปัจจัยแห่งความสำเร็จ  ปัจจัยที่ 2  นั่นคือ ปัญญา เพราะความเพียรที่ถูกต้อง  ต้องประกอบด้วยปัญญาจึงจะสนับสนุนความเพียรให้ไปสู่ความสำเร็จได้

ปัญญา   ปัจจัยสนับสนุนความเพียร

                 ปัญญา คือปัจจัยที่สนับสนุนความเพียรให้ดำเนินไปอย่างมั่นคง ต่อเนื่อง  ในพระราชปรารภกล่าว่า 

                 " ปัญญาที่เฉียบแหลม"

                 ปัญญาที่เฉียบแหลม  คือ ปัญญาที่สามารถแก้ปัญหาชีวิตได้

                 ปัญญา มี 2 ลักษณะ คือ

                  1. ปัญญาที่เกิดจากการศึกษาทางโลก

                   2. ปัญญาที่เกิดจากการเข้าใจในธรรม เข้าใจชีวิต

พระพุทธศาสนากล่าวสรรเสริญปัญญาในประการหลังมากกว่า เพราะความเข้าใจในธรรม  เข้าใจในชีวิต  จะช่วยให้เกิดความสำเร็จหลุดพ้นจากปัญหาชีวิตและหลุดพ้นจากกิเลสได้

                 ในพระราชนิพนธ์เรื่อง   พระมหาชนก  สะท้อนให้เห็นถึง ปัญญา ของพระมหาชนก  ว่ามีปัญญาที่เฉียบแหลมอย่างไร  โดยเริ่มตั้งแต่พระมหาชนกยังทรงพระเยาว์ ได้ศึกษาคัมภีร์ ไตรเพท  และศิลปศาสตร์จนเจนจบเมื่อมีพระชันษาได้เพียง 16 พระชันษาเท่านั้น  

                 ไตรเพท  เป็นคัมภีร์สำคัญของศาสนาพราหมณ์  ประกอบด้วยคัมภีร์ทั้งสาม  ได้แก่

                  คัมภีร์ ฤคเวท  - คัมภีร์ที่ว่าด้วยการสร้าวโลกและบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าทั้งหลาย

                  คัมภีร์ยชุรเวท - คัมภีร์ที่ว่าด้วยบทสวดสรรเสริญเทพเจ้าซึ่งได้รวบรวมมาจากคัมภีร์ฤคเวท

                  คัมภีร์สามเวท - คัมภีร์ที่ว่าด้วยบทสวดในพิธีบวงสรวงเทพเจ้า ซึ่งได้รวบรวมมาจากคัมภีร์ฤคเวท

                   ผู้ที่สามารถเรียนคัมภีร์ไตรเพทได้ต้องอยู่ในวรรณะกษัตริย์หรือวรรณะพราหมณ์เท่านั้น เนื้อหาในไตรเพทยากมาก ผู้เรียนต้องใช้ปัญญาและความเพียรมากจึงจะเรียนได้สำเร็จ และต้องใช้เวลามาก แต่สำหรับพระมหาชนกด้วยพระชันษาเพียง 16 พระชันษาก็สามารถเรียนสำเร็จแล้ว ถ้าเทียบกับเด็กอายุ 16 ปีในปัจจุบันก็คงอยู่ในระดับมัธยมศึกษา แต่สามารถเรียนระดับปริญญาเอกได้   ผิดกับเด็กไทยอายุ 16 ปัจจุบันยังเล่นเกมกันอยู่เลยครับ

                   ส่วน ศิลปศาสตร์ นั้น เป็นวิชาความรู้ของอินเดียโบราณมี 18 ประการ  เช่น ยิงธนู  ขี่ม้า  ฟันดาบ เป็นต้น  ศิลปศาสตร์ เป็นวิชาสำหรับกษัตริย์ต้องศึกษาให้เจนจบเพื่อใช้ในการปกครองและปกป้องบ้านเมือง ซึ่งพระมหาชนกก็สามารถเรียนจบได้ในคราวเดียวกันนี้

                  สำหรับปัญญาในการแก้ไขปัญหาชีวิตนั้น โดยเฉพาะปัญหาเฉพาะหน้า พระมหาชนกก็สามารถใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาได้ดี ดังความตอนเรือของพระองค์แล่นกลางมหาสมุทร และเผชิญกับพายุร้ายที่พัดโหมกระหน่ำจนเรือใกล้แตก พระองค์ทรงประเมินสถานการณ์ด้วยสติปัญญาว่าเรือต้องจมเป็นแน่ จึงทรงคิดหาทางเอาตัวรอดด้วยปัญญา พระองค์ไม่กลัว  ไม่ฟูมฟายร่ำไห้อ้อนวอนเทพเจ้าให้ช่วยดั่งคนบ้าเช่นพ่อค้าวานิชทั้งหลาย ดังความในพระราชนิพนธ์ว่า

                "เรือแล่นด้วยกำลังคลื่นที่ร้ายกาจ ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ แผ่นกระดานก็แตกด้วยกำลังของคลื่น น้ำเข้ามาแต่ที่นั้นๆ เรือก็จมลงในกลางมหาสมุทร มหาชนกลัวมรณภัย ร้องไห้คร่ำครวญกราบไหว้เทวดาทั้งหลาย พระองค์ทรงทราบว่าเรือจะจม"

                การพึ่งตนเองเป็นคุณสมบัติของนักปราชญ์  ดังพุทธสุภาษิตที่ว่า "อตฺตาหิ  อตฺตโน นาโถ   ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน"  พระมหาชนกทรงคิดวิธีเอาตัวรอดโดย

               "จึงคลุกน้ำตาลกรวดกับเนย เสวยจนเต็มท้อง แล้วชุบผ้าเนื้อเกลี้ยงสองผืนด้วยน้ำมันจนชุ่ม ทรงนุ่งให้มั่น ทรงยืนเกาะเสากระโดง ทรงกำหนดทิศว่า เมืองมิถิลาอยู่ทิศนี้ ก็กระโดดจากยอดเสากระโดงล่วงพ้นฝูงปลาและเต่าไปตกในที่สุดอุสภะหนึ่ง (70 เมตร)  เพราะพระองค์มีพระกำลังมาก"

              มีคำถามว่า ทำไมพระมหาชนกต้องรีบเสวยน้ำตาลกรวดกับเนยจนเต็มท้อง  ทรงเห็นแก่กินหรือ  ในขณะเกิดพายุโหมกระหน่ำอย่างนี้ยังจะมีจิตใจแสวงหาของกินอยู่หรือ? 

             ก็ต้องตอบว่า  นี่คือความฉลาดรอบรู้ของพระองค์  ทรงมีสติคิดได้ว่า  การเสวยน้ำตาลกรวดกับเนยนั้นจะให้พลังงานสูง ให้ความอบอ่นแก่ร่างกายได้เพราะพระองค์จะต้องกระโดดลงน้ำและต้องว่ายน้ำไปอีกไกลและนานแค่ไหนไม่รู้ได้ จึงต้องเสวยเอาพลังานไว้ให้มากที่สุดก่อน

          อีกคำถามหนึ่งคือ ทำไมพระองค์ต้องเอาผ้าชุบน้ำมันพันกายให้กระชับมั่น  คำตอบก็คือ  ผ้าชุบน้ำมันนั้นจะไม่ชุ่มน้ำ อมน้ำจนทำให้ตัวหนัก และยังปกป้องร่างกายไม่ให้เปียกน้ำทำให้ร่างกายสูญเสียความร้อนในร่างกายไป

         ส่วนที่พระมหาชนกปีนไปอยู่บนเสากระโดงเรือก็เพราะเสากระโดงสูงสมารถมองเห็นไปได้ไกล สามารถกำหนดทิศทางที่จะว่ายน้ำไปยังฝั่งได้  อีกประการหนึ่งพระองค์สามารถกระโดดให้ห่างไกลจากเรือที่กำลังจมซึ่งท้องมหาสมุทรเต็มไปด้วยฝูงปลาและเต่าที่จ้องจะมากินคน

         พระมหาชนกนั้นเป็นคนช่างองอาจในการเจรจา มีเหตุผล   สามารถแสดงความคิดหักล้างกับนางมณีเมขลาได้ ดังความในพระราชนิพนธ์ความว่า

        นางมณีเมขลาถามว่า  ใครมาว่ายอยู่กลางมหาสมุทร  มีประโยชน์อะไรที่ต้องมาว่ายน้ำอย่างนี้

        พระมหาชนกตอบว่า   เพราะเราเห็นประโยชน์ของความเพียรน่ะสิจึงว่ายอยู่อย่างนี้

        นางมณีเมขลาถามต่อ   มหาสมุทรลึกแค่ไหน ฝั่งก็ยังไม่เห็น ถ้าท่านจะจมน้ำตายเสียก่อนจะถึงฝั่งกระมัง

          พระมหาชนกตอบ   คนเราเมื่อมีความเพียร แม้ตายก็ไม่ติดค้างผู้ใด ลูกผู้ชายย่อมกล้าที่จะทำ ใครรู้ก็จักสรรเสริญ ไม่มีใครนินทาเราได้

           นางมณีเมขลาถามต่อ    ว่ายน้ำไปยังไม่เห็นผลสำเร็จ ตัวท่านกำลังลำบากอยู่อย่างนี้และตายไปทั้งๆ ที่ยังไม่เห็นผลสำเร็จจะมีประโยชน์อะไรเล่า

           พระมหาชนกตอบเป็นครั้งสุดท้ายว่า   คนใดรู้ว่า สิ่งที่ตนทำนั้นไม่สำเร็จจริงๆ แล้วละความเพียรก็จะเป็นคนเกียจคร้าน ไม่รู้จักรักษาชีวิต แต่สำหรับคนที่ต้องการผลสำเร็จของตน  แม้จะสำเร็จในภายหน้าหรือไม่ คนเหล่านั้นก็จะทำ  ดังผลที่ท่านเห็นอยู่ตอนนี้ พ่อค้าวานิชเหล่านั้นจมน้ำตายหมด เรารอดชีวิตเพียงคนเดียวและยังได้มาพบท่านอยู่บัดนี้  ดังนั้นเราจักทำความเพียรต่อไป

          นางมณีเมขลาจนใจไม่รู้จะถามสิ่งใดอีก  จึงกล่าวสรรเสริญพระมหาชนกแล้วอุ้มพระองค์ไปส่งถึงฝั่งเมืองมิถิลา

          นอกจากนี้พระมหาชนกยังทรงมีพระปัญญาสามารถไขปัญหาได้ถูกต้องและสามารถบอกวิธีการนำขุมทรัพย์ 16 แห่งออกมาใช้สร้างประโยชน์แก่ประชาชนได้ ด้วยเหตุนี้บรรดาอำมาตย์ข้าราชการเมืองมิถิลาจึงพากันอัญเชิญพระองค์ขึ้นเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองและได้อภิเษกกับพระราชธิดาด้วย ดังความสรรเสริญของอำมาตย์ทั้งหลายว่า

         "พระมหาชนกสามารถไขอุทานปัญหาของพระโปลชนกราชทั้งสี่ข้อ  แล้วตรัสถามว่าปัญหาอื่นอะไรยังมีอีกหรือไม่ อมาตย์ทั้งหลายกราบทูลว่า ไม่มีแล้วพระเจ้าข้า มหาชนต่างร่าเริงแล้วยินดี  แล้วว่า  โอ อัศจรรย์  พระราชาองค์นี้เป็นบัณฑิตจริงๆ"

           ปัญญาของพระมหาชนกยังมีอีกตอนหนึ่งนั้นคือทรงคิดวิธีฟื้นฟูต้นมะม่วงที่มีผลเลิศที่หักโค่นลงเพราะน้ำมือของเหล่าข้าราชบริพารได้ถึง 9 วิธี แล้วทรงดำริว่าถึงเวลาที่จะต้องสร้างสถานศึกษา นามว่า "ปูทะเลย์มหาวิชชาลัย"  ขึ้นเพื่อให้เป็นแหล่งอบรมสั่งสอนพัฒนาปัญญาแก่เหล่าข้าราชบริพารที่ยังเต็มไปด้วยโมหภูมิ โง่เขลาเบาปัญญา  พระมหาชนกจึงเปรียบเสมือนบัณฑิตแห่งมิถิลานคร

           จากความดำเนินมาโดยลำดับนี้ จะเห็นได้ชัดแจ้งว่า  เพราะมีปัญญาจึงสามารถประสบผลสำเร็จได้ 

           ปัญญา  เป็นปัจจัยสนับสนุนความเพียร เพราะถ้ามีปัญญาตามลำพังแต่ไม่มีความเพียรก็ไม่สามาระนำไปสู่ความสำเร็จได้   คนที่ปัญญาแต่เกียจคร้านจะยังความสำเร็จมาสู่ตนและชาติบ้านเมืองได้อย่างไร  สองสิ่งนี้จึงต้องเป็นปัจจัยสนับสนุนซึ่งกันและกัน ดังพระมหาชนกแห่งมิถิลานครเป็นตัวอย่าง

          เพื่อนพ้องน้องพี่ KM ครับ     Gotoknow คือขุมทรัพย์แห่งปัญญา  หากเราได้ไขออกมาใช้ย่อมยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ตนและชาติบ้านเมือง  Gotoknow  มิใช่มีเพียงปัญญาความรู้ให้เราได้ศึกษาเท่านั้น แต่ณ ที่นี้ยังมีความรัก ความห่วงใย อนาทร กำลังใจ ความสนุกสนานคลายเหงา และไมตรีที่สานสัมพันธ์ผ่านโลกไซเบอร์

          อบอุ่นเหลือเกินครับ  

         (เสียดายครับเรื่องพระมหาชนกยังมีต่ออีกตอนหนึ่งครับ โปรดติดตามตอนจบ  บทสรุปแห่งความสำเร็จของชีวิต)

หมายเลขบันทึก: 122089เขียนเมื่อ 25 สิงหาคม 2007 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 20:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
เรื่องนี้ได้ยินมานานแล้ว พึ่งมีโอกาสอ่านรายละเอียดว่าเกี่ยวกับอะไร เป็นเรื่องความเพียรพยายามนี่เอง

คุณ Little Jazz ครับ

        ขอบคุณครับที่ติดตามอ่าน  เรื่องนี้มีหลายตอนจบครับ  โปรดติดตามต่อไปนะครับ

 

ร่วมปฎิวัติการศึกษาเพื่อความเป็นไท

http://gotoknow.org/blog/plays-learns/320506

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท