เรื่องนี้ท่าจะยาว...มั้ง (9): ที่มาของ The Dark Dialogue (สมบูรณ์)


ที่มาของ The Dark Dialogue

เที่ยวนี้ ทีมเชียงใหม่ (นครพิงค์และสันทราย) มาช้า เนื่องจากติดกิจที่ต้องทำ คือไปงานศพคุณพ่อแอ๊ดที่แพร่ จะเดินทางมาถึงว่าจะคืนนี้ จึงหารู้ไม่ว่าได้ขาดอะไรไป นั่นคือ ที่มาของ The Dark Dialogue (The Beginning of The End hehehehe!!)

เช้านี้เป็นวันที่สาม ซึ่งเข้าช่วงที่สองของหลักสูตรกระบวนกร นั่นคือWork with the Shadow การทำงานกับเงา กับ subpersonalities กับอะไรที่จี๊ดๆทั้งหลายแหล่อันเป็น mara path ของเหล่าเจได หรือของเหล่าผู้ใฝ่จิตตื่นรู้

ทำไมเราเข้าถึงจิตตื่นรู้ได้ จิตลุกโพลงได้ เป็นพักๆ แล้วก็หล่นมาใหม่? สติ หรือ ความคิดนั้น ลื่นไหล และฟุ้งกระจาย ไม่นิ่งเฉย ตามสิ่งแวดล้อมภายในและภายนอก ถ้าจะนิ่งได้ ด้านที่สำคัญที่สุดกลับเป็นภายใน ที่จะต้องพัฒนา สัมมาสติ สัมปชัญญะ ให้ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และมีมารผจญจำนวนมากที่จะท้าทายต่อความพยายามที่จะบรรลุซึ่งการครองสตินี้ จากสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน

บางคนก็พบว่าสามารถเข้าถึงจิตตื่นรู้ได้ หากทำปลีกวิเวก คือตัดแรงเร้า แรงกระตุ้นจากภายนอกเสียให้หมดไป ไปอยู่วัดเขา วัดป่า เข้าดง นั่งถ้ำเสีย 5 วัน 7 วัน จิตสงบลง เพราะสามารถทุ่มเทพลังเข้าควบคุมแต่สิ่งแวดล้อมภายในอย่างเดียว ไม่ต้องกังวลกับภายนอกมากเท่าที่เคย แต่แล้วก็ปรากฏว่า state of consciousness ที่สามารถทำได้ตอนปลีกวิเวกก็หล่นแอ้กลงมาทันใจ เมื่อใดก็ตามที่กลับมาสู่โลกอันวุ่นวายอีกครั้งหนึ่ง

ดังนั้นจะรักษาจิตตื่นรู้ หรือจิตลุกโพลง ดูท่าจะมีสองวิธี คือ 1) ปลีกวิเวกตลอดไป หรือ 2) ทำอย่างไรที่เราจะควบคุมจิตตื่นรู้ได้แม้ในสิ่งแวดล้อมภายนอกนั้นวุ่นวายเป็น chaos อยู่?

กุญแจสำคัญกลับมาอยู่ที่ "จิตภายใน" ของเราเอง รึเปล่า? ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็จะมีทั้งข่าวดีและข่าวร้ายมาพร้อมๆกัน ข่าวร้ายก็คือ ไม่ง่ายนักเลย ที่ใครจะควบคุมจิตให้โปร่งใส ราบนิ่ง ได้ตลอดเวลา แต่ข่าวดีก็คือ ของทั้งหมดขึ้นกับกำลังพลังจิตของเราเอง ไม่ได้พึ่งพาใครเลย ฉะนั้น เรา "น่า" จะพอควบคุมและบังคับอะไรที่จำเป็นได้มากพอสมควร มากกว่าการที่มีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้จากภายนอกมาข้องแวะ

การเขียนโลกใบใหม่

คนเราจะมองโลกเป็นแบบไหน ก็จะมองตามโลกภายในของตนเอง จะวาดโลกภายในอย่างไร ก็วาดตามที่เห็น ที่รับรู้ ที่เข้าใจ เราจะมองเห็นโลกลอยอยู่ในอวกาศ เป็นองคาพยพหนึ่งของจักรวาล หรือมองเห็น partition สี่เหลี่ยมล้อมรอบตัวเราที่ทำงานเป็นโลก ก็ขึ้นอยู่กับเราเอง การครองสติ หรือ มีจิตตื่นรู้จึงเกี่ยวพันเชื่อมโยง เนื่องไปกับการวาดโลกใบใหม่สำหรับตัวเราเอง เพื่อที่เราจะได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมภายนอกและภายในในอีกระดับหนึ่ง หลุดพ้นจากระดับเดิม เมื่อยกระดับแล้ว การมองปัญหาลงมา ก็จะมองได้ทะลุ มองได้ปรุโปร่ง 

ดังนั้นเอง จึงเป็นที่มาของโลกที่แตกต่างกันของปัจเจกบนโลกใบเดียวกันทางกายภาพนี้

  • บางคนจึงสันติสงบสุข บางคนจึงรุ่มร้อน
  • บางคนเห็นปัญหาเป็นภาระเป็นความทุกข์ บางคนมองปัญหาเป็นโจทย์ท้าทายน่าตื่นเต้น
  • บางคนมองความสัมพันธ์อย่างหวาดระแวง เกรงกลัว บางคนเสาะแสวงหาความสัมพันธ์อันยั่งยืนไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยย่อท้อ
  • บางคนมองงานคือความฝืนใจ บางคนทำงานคือการปฏิบัติธรรม
  • บางคนความสุขได้มาจากการซื้อหา ไปเที่ยว ใช้ของหรูหรา ฟุ่มเฟือย บางคนเต้นรำไปกับปากกา ปลอกหมอน ผ้าห่ม
  • บางคนได้ความไว้ใจมาด้วยการทดสอบ ลองใจ แต่บางคนได้ความไว้ใจโดยการให้การไว้วางใจไปก่อน
  • บางคนขอเกลียดจนกว่าจะถูกรัก บางคนขอรักก่อนไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น

Voice Dialogue เป็นวิธีหนึ่งที่จะ work กับ shadow หรือพลังงานที่วิ่งปั่นป่วนอยู่ข้างใน เมื่อเราจัดการพลังงานเหล่านี้ได้เหมาะสม เราจะเกิดอวัยวะใหม่สด ที่รับเหตุการณ์ภายนอกเดิมๆอย่างสดใหม่ เกิดสมดุลของพลังงานภายในและภายนอก (ผู้ใดสนใจเรื่อง voice dialogue เพิ่มเติม อาจจะหาทาง google หรือไปที่วงสนทนา วงน้ำชา (www.wongnamcha.com) หรือที่กระทู้นี้

การสนทนากับเสียงภายใน มีไว้เพื่ออะไร?

คนเรานี้เกิดมา มีอวัยวะครบ 32 นั่นคืออวัยวะภายนอก สำหรับจิต ก็มีอวัยวะเช่นเดียวกัน แต่โดยรู้ตัวบ้าง ไม่รู้ตัวบ้าง จิตที่เกิดมามีอวัยวะครบนั้น ได้ถูกริดรอนศักยภาพลงไปทีละน้อยๆ เพราะการเลี้ยงดู ตั้งแต่แรกเกิด ภายในบ้าน พี่น้อง พ่อแม่ ญาติ จะมีการเสริมและตัดรอนพลังทางจิตแต่ละอวัยวะไปโดยความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี อย่างนี้ทำได้ อย่างนั้นทำไม่ได้ อย่างนี้ทำดี มีรางวัล อย่างนั้นทำแล้วจะถูกทำโทษ

กิจกรรมที่ถูกห้ามไม่ให้ทำ ก็จะเป็นเสมือนอวัยวะที่ถูกเก็บไว้ ซ่อนไว้ ไม่เอามาฝึกปรือ เป็นกล้ามเนื้อที่ไม่ได้ใช้ นานๆเข้าก็จะใช้ไม่เป็น ลีบ แห้ง แกร็น ไม่มีพลัง ใช้แต่ละครั้งก็จะงุ่มง่าม ควบคุมพลังไม่อยู่ ไม่แนบเนียน ไม่เหมือนอวัยวะที่ใช้บ่อยๆ

กิจกรรมบางอย่างที่ถูกห้ามด้วยความหวังดี เจตนาดี แต่อาจจะพ่วงเอาศักยภาพบางอย่างหลุดไปด้วย เช่น เด็กๆอาจจะถูกห้ามไม่ให้ลองใส่ชุดแปลกๆไปงาน เพราะดูไม่เรียบร้อย แต่จิตที่ถูกห้ามนั้น อาจจะเป็นจิตแห่งการอยากรู้ อยากเห็น อยากทดลองของใหม่ ซึ่งก็มีที่ใช้ที่สร้างสรรค์ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป พอถูกห้ามบ่อยๆเข้า เด็กก็จะไม่กล้าลองของใหม่ ไม่กล้าคิดนอกกรอบ ผลก็คือหมดพลังสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ไม่มีพลังในการที่จะเดินทางใหม่ ใช้แต่เทปม้วนเก่าที่ถูกบอกว่าดี ว่าเหมาะสมแล้วเท่านั้น เป็นจิตที่ passive ไม่ active เมื่ออยู่ในสังคมก็คงจะเอาตัวรอดได้ระดับหนึ่ง แต่นี่ก็อาจจะเป็นการใช้คนไม่เต็มศักยภาพหรือไม่?

เด็กๆอาจจะถูกห้ามไม่ให้ใช้กำลังในการทะเลาะ แย่งของเล่นกับเพื่อน แม่บอกให้หลบมาซะ เข้าบ้านไป จะซื้อของเล่นมาให้เล่นคนเดียวที่บ้าน จิตที่ถูกกดไว้ก็คือพลังทางฐานกาย พลังในการคงอยู่เพื่อสิทธิของตน และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โตมาก็อาจจะเป็นคนแหย ไม่สู้คน หลีกเลี่ยงหนีปัญหา

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้แปลว่าทำอย่างนี้ แล้วจะเกิดอย่างนั้นทันทีทันใด หรือเสมอไป แต่ voice dialogue หรือการสนทนากับเสียงภายในตน เป็นเพียงการหล่อเลี้ยงพลังบริสุทธิ์ ที่อาจจะนำมาใช้ในบางสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม เป็นการเดินไปข้างหน้าของจิตที่มีอวัยวะครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่พิกลพิการขาดสมดุล เพราะการเก็บซ่อนศักยภาพที่มีมาแต่แรกไว้

จิต ศักยภาพซ่อนเร้น หรือ subpersonality ที่ถูกเก็บไว้นี้ ไม่ได้หายไปไหน แต่ถูกพลังการรู้สติของเรากดเอาไว้ไม่ให้ออกมา เนื่องจากศักยภาพเหล่านี้เป็นพลังงาน เราก็ต้องใช้พลังงานส่วนหนึ่งที่เท่ากัน หรือมากกว่า ในการที่จะควบคุมไว้ บางครั้งเมื่อสติลดพลังลง เช่น ตอนนอนหลับ ตอนจิตใจอ่อนแอ เจ็บป่วย จิตที่ถูกควบคุมไว้ก็จะแสดงออกมาได้ในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น ความฝัน การมีปิศาจ หรือพลัง หรือสัตว์อะไร อยากจะออกจากที่คุมขัง มาเคาะประตู หรือวิ่งไล่เราในความฝัน

เมื่อไหร่ก็ตามที่เราเห็นบุคลิกที่เราไม่ชอบ ที่เราเก็บกด มาปรากฏในตัวคนๆอื่น ที่เขาไม่ได้ทิ้งบุคลิกอันนี้ไป หรือแม้กระทั่งบางคนนำเอามาอวด โชว์เสียอีก เราก็จะเกิดความรู้สึก "จี๊ด" ขึ้นมาทันที เจ้าความรู้สึกจี๊ด นี้ เกิดเนื่องจากจิตที่ถูกควบคุม เก็บกดไว้ในตัวเรา ได้รับพลังเพิ่มจากภายนอก เกิดพลังงานกำทอน พลังเสริม ทำให้เราต้องเพิ่มพลังในการควบคุมมากขึ้น บางครั้งจนรู้สึกไม่สบาย หรืออึดอัดคับข้องใจ เช่นตอนเด็กๆเราถูกสั่งสอนว่าให้ใส่เสื้อผ้ามิดชิด เรียบร้อย ห้ามโชว์เนื้อหนังมังสาเด็ดขาด เป็นเรื่องไม่ดี ไม่งาม โตมาเราเห็นใครแ

แต่งตัวโป๊ๆ ก็จะจี๊ด รู้สึกเกลียด ทนไม่ได้ ยิ่งเป็นดารา นักร้อง ที่จงใจแต่ง จงใจโป๊ ยิ่งรู้สึกจี๊ดมากขึ้น พลังงานที่ตัวเรากดไว้ได้พลังเสริมจากภายนอกมากมาย

ที่น่าสนใจก็คือ คนใกล้ตัวเรา มักจะพกพาบุคลิก หรือพลังงานที่เรากดไว้นี่แหละอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นประจำ

มีกี่ครั้งที่เราเป็นคนเจ้าระเบียบ พบว่าคู่ครองของเรา หรือลูกเราช่างไร้ระเบียบ เลอะเทอะ หรือถ้าเราเป็นคนง่ายๆ ผ่อนคลาย แล้วพบว่าคู่ครองของเรา หรือลูกเรา หรือคนรอบข้างเราช่างหยุมหยิม เจ้ากี้เจ้าการ หรือเราเป้นคนใช้ตรรกะ ใช้เหตุใช้ผลมาโดยตลอด ก็พบว่าต้องมาอยู่กับคนที่เจ้าอารมณ์ เจ้าน้ำตา หรืออ่อนไหวมากมาย?

พลังงานที่จี๊ดๆนี้ไม่ได้สูญหายไปไหน แต่จะบ่มเพาะเสริมตนเองข้างใน เป็นพลังงานดิบ เป็นกล้ามเนื้อที่ไม่เคยใช้ เป็น software ที่เราไม่เคยลอง เมื่อไหร่ที่ต้องจำเป็นต้องใช้ เราก็จะใช้ไม่คล่อง ใช้โดยขาดการควบคุม

VOICE DIALOGUE COUNSELING

เราจัดกลุ่มย่อย แบ่งกันใหม่ คราวนี้ไม่ต้องทำ voice dialogue แบบ 4 ช่องให้เมื่อยตุ้มแล้ว ทุกคนทำมาคนละหลายๆครั้งกันแล้ว ลองเจาะใจ counseling ไปในตัวอย่างจริงกันเลย

กลุ่มเรามีพี่วิธาน อ.ประสาท หมอหนึ่ง คุณเรณู หมอชาย พี่แดง คุณสาว คุณประยุกต์

หมอหนึ่งยกมือ ถามว่า "เอ่อ... จริงๆก็ไม่ทราบหรอกนะ แต่ไหนแต่ไร ไม่ชอบใส่กำไลข้อเท้าเลย รู้สึกมันไม่ดี เหมือนผู้หญิงไม่ดี แต่เช้านี้เห็นของเพื่อน เกิดอยากใส่ ขอใส่มาเลย (ยื่นข้อเท้ามาให้ดู มีกำไลตุ้งติ้งสีสันหลากเส้นน้อยๆพันอยู่) อย่างนี้ใช่ประเด็นที่เราพูดกันรึเปล่าเนี่ย?"

พี่แดงเล่าบ้าง "ของพี่จะจี๊ดตอนที่เห็นสามี หรือลูก ทานข้างเสียงดัง วางช้อน วางซ่อม ดังๆ เคี้ยวดังๆ พี่ล่ะไม่ชอบเลย มันเหมือนคนไม่มีการศึกษา ไม่ได้รับการอบรม"

คุณเรณู "ปกติหนูเป็นหนู (สี่ทิศ) ไม่ค่อยมีปาก มีเสียงกับใคร ครั้งล่าสุด ประชุมความดีความชอบข้าราชการ ก็รู้สึกไม่ยุติธรรม คนทำงานไม่ได้พิจารณา คนเอาหน้าได้ประโยชน์ มองไป มองมา ไม่เห็นมีคนไหนจะกล้าพูด นึกยังไงไม่รู้ พูดโพล่งออกมาเลย คนตกใจ งงกันใหญ่ ไม่นึกว่าจะกล้าพูดออกมาตรงๆ แรงๆ ในที่ประชุมแบบนั้น"

อ.ประสาท "ผมก็เคยเหมือนคุณเรณูเลย ในที่ประชุมกลุ่มคนพัฒนาชุมชน ผมอดทนมานาน ไม่เคยกล้าพูดอะไร วันนั้นพูดตูมไป ได้เรื่องเลย มีคนพยายามจะเล่นงาน จะกลั่นแกล้ง ใส่ความใส่ร้าย จะฟ้องร้อง จะเอาเข้าคุก เป็นคดีความเป็นอะไรมาเป็นเวลาหลายปีเลย"

โอ้ โฮ อะไรจะขะไหนหนาด ว่าจะขอตัวอย่างเดียว ปรากฏว่ามีคน In จำนวนมาก เสนอมาสี่ตัวอย่างซ้อนๆ กลุ่มเราก็รวมหัวกันช่วยกันทำการบ้านกันใหญ่

กรณี 1: กำไลข้อเท้า

เราก็เริ่มกันที่ case แรกก่อน อืม.... ไม่ชอบกำไลข้อเท้า นี่ก็ช่องสองล่ะซิ เอาล่ะ ทำไมๆ มันเป็นยังไงหือ ตอนแรกเราจะไปหาช่องหนึ่งว่าใส่กำไลข้อเท้าแล้วมันดียังไงบ้าง ปรากฏว่า เอ... มันไม่ธรรมชาติ ไม่ flow เลยแฮะ ดูเหมือนคนอยากจะรู้มากกว่าว่ามันจี๊ดยังไง ยังไม่เข้าใจ มีหลายสมมติฐาน หมอหนึ่งเองก็ลองเรียบเรียงอย่างไม่แน่ใจ "เอ... ตัวเองก็ไม่ได้ serious หรือหัวโบราณอะไรหรอกน้า แต่ไม่ชอบ เพราะ... อือ.. เพราะมันดูเหมือนผู้หญิงไม่ดี เดี๋ยวนายมาเห็นจะว่า" อืม... บรรดา amateur counselor ตาลุกโพลง ไหนๆ ว่าไงนะ มันยังไงกันแน่ "ผู้หญิงไม่ดีเพราะใส่กำไลข้อเท้า" หรือว่า "กลัวนายว่า" กันแน่ ที่จี๊ด ที่ทำให้ไม่อยากใส่ เพราะมันจะเขียนเป็นช่องสามคนละเรื่องเลย แบบแรกก็ต้องเขียนว่า "แต่งตัวเป็นกุลสตรี" แต่ถ้าแบบสองก็ต้องเขียนว่า "ทำตามกฏระเบียบ หรือ ไม่ทำอะไรเสื่อมเสียชื่อเสียง หรือ ไม่เคยทำอะไรให้นายว่าได้ "

ปรากฏว่าเรา explore ได้สมมติฐานต่อเนื่องไปอีก หลายเหตุผล หนึ่งเริ่มทำหน้างงงวย ไม่ค่อยแน่ใจว่าแบบไหนกันแน่ที่เป็นรากของจี๊ด เราก็เริ่มตระหนักในความลึกซึ้งซับซ้อนของ voice dialogue ฉบับ counseling ว่ามันไม่ simple ง่ายเหมือนตอนเราเขียนกันฉับๆแบบ 4 ช่อง แต่สามารถลงลึกในตัวบุคคล ที่แน่ๆก็คือ "พื้นที่ปลอดภัย" จะต้องเต็มที่ เพื่อที่คนถูก counseling จะสามารถทิ้งตัวลงนอนเปลือยได้อย่างเต็มตัว (เป็น figure of speech ครับ ไม่ต้องฮือ ฮา แต่อย่างใด)

กรณี 2: กินข้าวเสียงดัง

พอเรามีตัวอย่างแรก เราก็กระตือรือร้นหาตัวอย่างต่อไปทันที พี่แดงก็เล่าว่าเธอจะจี๊ดเวลาคนในครอบครัวกินอาหารเสียงดัง วางช้อน วางซ่อม หรือเคี้ยว ถามดู ก็เป็นเฉพาะคนในครอบครัว คนอื่นทำก็ช่างมันปะไร อา.... แสดงว่าเกี่ยวกับ "สถานะ" ที่อาจจะเกี่ยวพันมาถึงความสัมพันธ์ ไม่ใช่ตัวกินดังอย่างเดียว ถามพี่แดงว่า ถ้าตอนไปเที่ยวกันตามลำพัง ที่เป็นส่วนตัวของครอบครัว พี่แดงยังจี๊ดเวลามีเสียงดังตอนทานข้าวอยู่รึเปล่า อืม... รู้สึกคำถามนี้จะยังไม่ได้ตอบอย่างเต็มปากเต็มคำเท่าไหร่ (.....ยังใคร่ครวญอยู่)

ผมเข้าใจว่าการทำ voice dialogue ที่แท้จริงนั้น ใช้สมาธิ หรือความผ่อนคลายมากพอสมควร beta แม้แต่เพียงไม่มาก ที่นำเอา superego หรือ social attitude มาทดแทนคำแสดงออก ก็จะทำให้เราเกิด "สัญญาวิปลาส" ว่าใช่ ทั้งๆที่ไม่ใช่ และจะทำให้เราไปจับประเด็นผิด แก้ในสิ่งที่ไม่ได้บกพร่องเสียนี่

มีสมมติฐานเรื่องนี้หลายอย่างที่ยกมา อาทิ มันแสดงถึงการศึกษา (เอ..รึเปล่าว่า) หรือการเลี้ยงดูอบรม หรือการ approve ของคนรอบข้าง ฯลฯ มีคนเสนอว่าลองให้พี่แดงเคี้ยวเสียงดังเอง กินมูมมามเลยดูซิจะรู้สึกอย่างไร (รู้สึกจะเป็นพี่วิธาน พี่แกตอนนี้กระตือรือร้นในการถีบคนลงเหวมาก...... สงกาสัยว่าจะ "โดน" มาเยอะ แฮ่ะ แฮ่ะ)

กรณีที่ 3 comment ในที่ประชุม

กรณีนี้เด็ดมาก คุณเรณูเล่ให้ฟังการประชุมครั้งหนึ่ง เรื่องเกี่ยวกับการทำงาน ตอนนั้นมีหลายๆคนคิดว่าการตัดสินคุณค่าของงานยังไม่เป็นที่ตกลงกันให้ชัดเจน ทำให้บางคนรู้สึกไม่ fair ยังไม่ได้มีการชี้แจงอะไร ที่ประชุมกำลังจะปิด คุณเรณูก็รู้สึกอึดอัด เอ... เรารึก็ นู้ หนู แต่แล้วก็โพล่งออกไป พูดในสิ่งที่ตนเองคิดออกมา คนงงกันเป็นแถบๆเลย

ถามว่า รู้สึกอย่างไร

"ดีค่ะ พูดออกไปแล้วก้รู้สึกโล่งเลย แม้ว่าผลสุด้ทายจะไม่ได้เปลี่ยนอะไรก็ตาม"

แล้วมีผลตามอะไรไหมครับ

"ก็ถูกมองแปลกๆเหมือนกัน ไม่ทราบว่าถูกหมายหัวรึเปล่า"

ต่อไปจะทำอีกไหมครับ?

"ทำค่ะ แต่คงจะทำได้ดีกว่าเดิม เนียนกว่าเดิม... มั้ง "

การโพล่งในที่ประชุมนั้น เปรียบเสมือนการเก็บไพ่กระทิง ของคนที่มี primary self เป็นหนูนั่นเอง ไพ่กระทิง หรือบุคลิกแห่งความเด็ดขาด แห่งความตั้งใจมั่น การคิดน้อยๆ ทำเยอะๆ ทำตามที่เรารู้สึกว่าถูกต้องนั่นเอง ประเด็นอยู่ที่ว่า บรรดาหนูทั้งหลาย ที่ไม่ใคร่บ่มเพาะความเป็นกระทิงของตนเอง จะไม่ได้ฝึกปรือบ่อยนักในการ feedback หรือการพูดตรงไปตรงมา บางทีคำพูด ท่าทาง หรืออะไรที่แสดงออก ก็จะทุลักทุเล ไม่เนียน ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมที่ดี จนอาจจะออกมาไม่ตรงอย่างที่ต้องการจุสื่อ แต่เต็มไปด้วยอารมณ์อย่างมาก และอาจจะเป็นการสื่อสารที่ล้มเหลวได้

แต่การแสดงออกมานั้นดี ดีเพราะเราได้ให้พื้นที่ปลอดภัยแก่การแสดงออก ถ้าเก็บไว้นานกว่านี้ รออีกสักปีสองปี พลังกระทิงที่ถูกเก็บกด อาจจะกลายเป็น demonic energy พลังเก็บกด (ไม่ว่าจะเป็นลักษณะไหน) เดิมเป็นพลังงานกลางๆ สามารถใช้ได้อย่างเหมาะสมนุ่มนวล แต่ถ้ากลายเป็น demonic energy เมื่อไหร่ก็จะควบคุมไม่ได้ ออกมาในลักษณะที่ primary self เองก็จะตกใจ เปลี่ยนบุคลิก มีตัวอย่างของหนูที่เก็บไพ่กระทิงช้าไป แสดงออกมารุนแรงในที่ประชุม เพราะใช้ไม่เป็น ไม่คุ้นเคยกับพลังงานแบบนี้ ผลก็คือถูกไล่ออกจากงาน ตกงาน ไปเลยก็มี

กรณีที่ 4 ประสบการณ์ อ.ประสาท

กรณีอาจารย์ประสาทนี้ก็เป้นอีกรูปแบบหนึง่ของหนูเก็บไพ่กระทิง ที่ consequence ออกมา อาจจะค่อนข้างน่ากลัว มีอะไรที่ตามมาเยอะ แต่ถามว่าตัวคนทำ (อ.ประสาท) เป็นยังไงบ้าง อาจรย์บอกว่าตั้งแต่นั้นมาก็รู้สึกดี และ skill ในการแสดงออก ในการ feedback ก็ดูเหมือนจะดีขึ้น ผลตามของครั้งแรกนั้นก็ค่อยๆ fade put กลายเป็นบทเรียน เป็นความทรงจำไป

การดูแลเจ้าตัวเล็กนั้น เป็นเรื่องสำคัญทีเดียว เมื่อพิจารณาว่าอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้าง หากเจ้าตัวเล็กของเรากลายเป็น demonic energy ผลอาจจะไม่ได้ตกกับตัวเราโดยตรง เพราะอำนาจ หรือตำแหน่งหน้าที่ใหญ่โตที่อาจจะมี แต่อาจจะไปลงที่คนรอบข้าง เวลา demonic energy มันแปลบปลาบ โชยเฉียดไปมา อาจจะเป็นนักเรียนของเรา ครอบครัวเราเอง ลูก ภรรยา สามี ที่ทำให้เราจี๊ด หรือเรา whine back เมื่อเราจี๊ด 

หลังทำกันรอบวง รู้สึกมันมาก ปัญหาอาจจะยังไม่ได้แก้ไข self ทั้งตัวเล็กตัวโต อาจจะยังไม่ได้ถูกดูแลเต็มที่ แต่ก็ partially ข้อสำคัญก็คือการที่เราได้สัมผัสเป็นครั้งแรกของ voice dialogue counseling แม้จะไม่เหมือนของจริงๆตามแบบ psychotherapist session แต่ก้ใกล้เคียง

ข้อได้เปรียบก็คือ การที่เรามาทำกันวันที่สาม เราได้พยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัย และบรรยากาศแห่งกลัยาณมิตรมาก่อนเป็นเวลาหลายวัน ซึ่งในการทำของ psychotherapist จริง อาจจะไมได้มีเวลาเตรียมแบบนี้ อีกประการก็คือ เป็น group voice dialogue ทำให้การสนทนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง นุ่มนวล มีความคิดหลากหลาย ช่วยชะลอการตัดสิน ชะลอการเร่งรีบหาข้อสรุป เป็นการเสริม suspension technique ที่ดี

อยากทำอีกอ่ะ

คำสำคัญ (Tags): #advanced voice dialogue#shadow
หมายเลขบันทึก: 104525เขียนเมื่อ 19 มิถุนายน 2007 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 19:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อาจารย์คะ อ่านแล้วรู้สึกว่า เรื่องจี๊ดๆๆๆ เวลาเจออะไรนี่ มันเป็นแนวระนาบของการเก็บกดในวัยเด็กแล้วมาผลุบโผล่ต่อเมื่อโตอย่างเดียว...หรือคะ

 

..แล้วที่จี๊ดๆๆ เก็บกดทางบวกมีไหมคะ...หรือว่าการเกก็บกดต้องประทุจี๊ดๆ ออกมาทางลบเสมอ

ขอบคุณค่ะ

อ.จันทรรัตน์ครับ

ก่อนอื่นต้องขออภัยที่ไม่ได้ตอบเร็วกว่านี้ ช่วงนี้ค่อนข้างมีชีวิตที่ยุ่งเหยิงเหมือนยุงตีกัน เวลาเข้า blog ไม่ค่อยลงตัว

อืม.. คำถามของอาจารย์น่าสนใจครับ ตอบได้หลายทาง เอาทางที่ผมกำลังอ่านอยู่ก็แล้วกัน คือเรื่องของ สติ และ cognitive science (epistemology) นะครับ

เวลาเรา "จี๊ด" นี่ สติเรารับรู้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มีอะไรทีเรา "ไม่ชอบ" แล้วเราก็ aware ถึงเรื่องนี้ การชอบ/ไม่ชอบ นี้จะเป็น "สัญญา" อย่างหนึ่งของขันธ์ทั้ง 5 แต่สัญญาที่ทำให้เกิดจี๊ด นั้นจะเป็นอะไรที่เรา label ว่าไม่ดี

ดี/ไม่ดี เป็น value ของกิจกรรมที่ตามมาทีหลัง แต่ตัว "พลังงาน" ที่ผลักดันนั้นเป็นกลาง ยกตัวอย่างเช่น การดูแลตนเอง เป็นพลังงานกลางๆ ถ้าเริ่มบิดเบี้ยวไป ก็กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว (ในกรณีที่เกิน) หรือเป็นคน passive ที่ทุ่มเทเพื่อคนอื่นอย่างเดียว (ในกรณีที่ขาด) ดังนั้นพลังงานเองไม่ได้เป็นตัวจี๊ด แต่เป็น เราจัดการกับพลังงานนั้นๆอย่างไร ตรงนี้การเลี้ยงดู การเล่าเรียน สังคม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งที่ที่ทำงาน กฏหมาย ฯลฯ ด้วย (ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องสมัยเด็กอย่างเดียวครับ ขอเป็นเพียง "อดีต" ที่มีผลต่อพฤติกรรมถัดไปในอนาคตก็ได้ เช่น อธิบดีที่รู้สึกไม่กล้าถามคำถาม เพราะคิดว่าจะอายที่ตนไม่รู้ ก็เป็น "ไพ่ที่ทิ้งไป" ตอนเป็นอธิบดี)

ผมไม่แน่ใจเรื่องจี๊ดๆทางบวกที่อาจารย์ถามหมายถึงอะไร แต่ฟังดุแล ถ้าอะไรที่มร disturb อุเบกขา (ฝรั่งแปล อุเบกขา ว่า equanimity หริอ still mind หรือ จิตที่นิ่ง) ผมเกรงว่า จี๊ดนั้นมีน้อยๆไว้หน่อย น่าจะดี อาจารย์อาจจะลองยกตัวอย่างอื่นมาประกอบว่าจี๊ดที่ดีเป้นเช่นไรก็ดีนะครับ เราจะได้มีประเด็นงอกงามต่อไป

อ่านคำอธิบายของอาจารย์เพลินเลยค่ะ

อาจารย์ถามเรื่องจี๊ดทางบวก.....เอ..เอางี้ค่ะ เพราะว่าพออ่านคำตอบเลยไม่ทราบว่าจะเรียกบวกไหม...ขอเล่าเรื่องที่คิดค่ะ แล้วอาจารย์คงกรุณาอธิบายว่าจะเรียกจี๊ดบวกหรือจี๊ดลบ

เช่นสมมตินะคะว่า คนๆหนึ่ง สมัยเด็กชอบมดเอ๊กซ์ ซุปเปอร์แมน หรือกลุ่มพระเอกทำนองนี้ฯลฯเพราะว่า เห็นว่าเก่งมาก สู้เหล่าร้ายได้

แต่ว่าถูกห้ามเล่นโลดโผนเพราะกลัวว่าจะหัวทิ่มเป็นอันตราย

พอโตขึ้น ไปเจอคนออกมาสู้ เรียกร้องความยุติธรรม ก็เกิดจี๊ดขึ้นมา เลยไปร่วมบนเวทีบ้าง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงบ้าง เพราะเห็นเป็นฮีโร่ เหมือนพระเอกขี่ม้าขาวออกมา

แบบนี้ค่ะ ...ขอบคุณค่ะ

อ.จันทรรัตน์ครับ

 เรื่องที่เล่ามา คนๆนี้ไม่ได้จี๊ดเรื่องการเล่นโลดโผนอย่างที่ถูกห้ามเลย (เรียกว่าถูกห้าม แต่ห้ามไม่สำเร็จรึเปล่า)

ที่แกจี๊ดมากก็เรื่อง "ความอยุติธรรม" มากกว่าไหมครับ

และผมคิดว่าบทบาทของฮีโร่ในอดีต กลายเป็นไพ่ขลิบทองของคนๆนี้เสียด้วยซ้ำไป และทำให้แกกลายเป็นผู้นำการประท้วง หรือพระเอกขี่ม้าขาว

ไหนๆก็ไหนๆ ลองมาดูว่าพระเอกคนนี้ "อาจจะ" ทิ้งไพ่อะไรไป

เรื่องที่แกจี๊ดก็คือ "ความอยุติธรรม" ฟังเผินๆดีนะครับ แต่ "รายละเอียด" เป็นอย่างไร ไม่ทราบ เพราะเวลาเราพูดเรื่องนี้ เราได้ label ไปเรียบร้อยแล้วว่าอะไรดี/ไม่ดี

ประเด็นสำคัญก็คือ "การคิดแตกต่างไปจากแกนั้น จำเป็นไหมต้องเป็นความอยุติธรรม? ความคิดของคนอื่นถูกต้อง และของแกผิดบ้างได้ไหม" พูดง่ายๆก็คือ ไพ่ที่แกจี๊ด และทิ้งไปแล้ว อาจจะเป็นเรื่องของ respect of autonomy หรือ การมี empathy หรือการเอาใจเขามาใส่ใจเราบ้าง หรือไม่เอ่ย?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท